หน้าแรก บทความสาระ
ระบบเผด็จการทหาร และ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ต่างก็ ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” ด้วยกัน (หน้าที่ 2)
ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
25 กุมภาพันธ์ 2556 15:02 น.
 
( ตอนที่ ๓ )
       ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มี “ทิศทาง” ของกฎหมายมหาชน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต  เพราะประเทศไทย ไม่รู้จัก “กฎหมายมหาขน”         
                 ท่านผู้มาฟังการบรรยาย  อาจจะแปลกใจ  ที่ผมพูดว่า  “ประเทศไทย ไม่รู้จัก กฎหมายมหาขน” ;   ท่านอาจคิดว่า เป็นไปได้อยางไร ที่ประเทศไทยจะไม่รู้จักกฎหมายมหาชน   ในเมื่อเรามีผู้ได้รับ “ปริญญากฎหมายหรือปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต”อยู่มากมาย   เต็มบ้านเต็มเมือง  และ  เราก็มีผู้ที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีชื่อเสียง    อยู่ไม่น้อย   แต่ทำไมผมจึงมาพูดเช่นนั้น  
                   ผมขอเรียนว่า  “ความรู้”  กับการได้รับ  “ปริญญา” นั้นไม่เหมือนกัน  ผู้ได้รับปริญญา  หมายถึง  ผู้ที่ได้ผ่านการสอบของมหาวิทยาลัยมาแล้ว   ;  แต่ผู้นั้นจะมี “ความรู้” มากหรือน้อย เพียงใด  ก็ย่อมแล้วแต่คุณภาพและความเข้มงวดของ มหาวิทยาลัย”    ที่ผู้นั้นไปศึกษาเล่าเรียนมา ไม่ว่า มหาวิทยาลัยนั้น  จะเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หรือมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ
        
       อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ ฯ ที่ได้รับ “ปริญญา”ของเรา มีความรู้มากน้อย  เพียงใด
                     ในตอนต้นของการบรรยายนี้   ผมได้ตั้ง “ปัญหา” ถามท่านผู้ที่มาฟังคำบรรยายไว้ว่า   ทำไม “อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐ   จึงไม่บอกกับเรา ว่า   ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญของเรา   เป็นรัฐธรรมนูญ  ประเทศเดียวในโลก”
                     ผมอยากจะขอให้ท่านผู้ที่มาฟังคำบรรยาย โปรดคิดทบทวนด้วยตัวท่านเอง ว่า แม้ในขณะนี้  เดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๕๕๖
                   ท่านเคยได้ยิน  อาจารย์กฎหมายของเราท่านใด  บ้าง  (รวมทั้ง  ผู้ที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ)    บอกกับท่านว่า  รัฐธรรมนูญของไทย (ตามบทบัญญัติปัจจุบัน) เป็น รัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก  ที่เขียนเช่นนี้  หรือไม่   (?)
                    สำหรับผม  ผมไม่เคยได้ยิน: และถ้าท่านไม่เคยได้ยิน   ท่านก็คงจะรู้ว่า  ใน “การสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ    เขาสอนกันแต่ว่า “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย”  (เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง / เสรีภาพในการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง / ส.ส.มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม - conscience ของตนโดยไม่อยู่ในอาณํติและการมอบหมายใด ๆ)  มีอย่างไร ;  แต่อาจารย์หรือตำราของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  เขาคงไม่ได้สอนว่า   รัฐธรรมนูญของ ประเทศไทยมีบทบัญญํติอย่างไร    เพราะเขาไม่ทราบ จะมีประเทศใดในโลก ที่เขียนบทบัญญัติที่ขัดกับ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย”
                     การที่ประเทศไทย  มีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญํติที่ขัดกับ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย”  อันเป็นหลักสากล    แต่ “อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ไปเล่าเรียนจากต่างประเทศมา  ” มองไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างรัฐธรรมนูญไทย  กับ  หลักการของความเป็นประชาธิปไตย  และไม่ได้นำ “ความแตกต่าง”นี้ มาสอนนักศึกษา ของเรา  ;  ผมก็คงต้องขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย   คิดและตอบแก่ตัวท่านเองว่า  อาจารย์กฎหมายที่ได้รับ “ปริญญา” จากต่างประเทศ    มี “ความรู้”  หรือไม่  
                  ยิ่งไปกว่านั้น ท่านที่มาฟังการบรรยายบางท่าน อาจจำได้ว่า  ผมได้เคยเขียน “บทความ” บทหนึ่ง และในบทความนั้น ผมได้อ้าง“ข้อเท็จจริง”เรื่องหนึ่ง ว่า  ได้มีผู้ที่ได้จบ“ปริญญาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ” ที่มีชื่อเสียงบางคน  ได้บอกแก่ประชาชน  อย่างเปิดเผยว่า   “ระบบรัฐสภา ของประเทศไทย” เหมือนกับ “ระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ”   ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  ท่านผู้นั้น  นอกจากตนเองจะ“ไม่มี ความรู้”  แล้ว   ยังทำให้คนไทยทั้งประเทศ  เข้าใจผิด ไปด้วย
        
                ต่อไปนี้  ขอให้เรากลับมาพิจารณา ในปัญหา ว่า  “กฎหมายมหาชน” และ”นิติปรัชญา”  คือ  อะไร
       ----------------------------------------------------------------------
        (๓.๑)  “กฎหมายมหาชน” และ”นิติปรัชญา”  คือ  อะไร
               
                     เราทราบกันดี  อยู่แล้ว ว่า  กฎหมายมหาชนประกอบ กฎหมายสาขาสำคัญ  ๒ สาขา  คือ  “ กฎหมายรัฐธรรมนูญ”  และ “กฎหมายปกครอง”  (กฎหมายว่าด้วย  กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ - อัยการ - ตุลาการ / กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการประจำ / และ กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ) ;  แต่ก่อนที่เราจะมาดูว่า  เรา (คนไทย) มี “ความรู้” ในสาระสำคัญของ กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และ กฎหมายปกครอง กัน  มากน้อยเพียงใด   ผมขอทำความเข้าใจกับ “วิธีคิดทางกฎหมาย” หรือ “นิติปรัชญา”  กันก่อนว่า  นักกฎหมายในประเทศที่พันาแล้ว  เขา “คิด” กันอย่างไร    และ ทำไม “กฎหมายมหาชน”จึงได้เกิดขึ้น  และ แยกออกเป็นสาขา ต่าง ๆ
            
           = นิติปรัชญา แห่ง  ยุคศตวรรษ ที่ ๑๙ - ๒๐  คือ  อะไร
                       ผู้เขียนคงไม่สามารถเอาตำรา  “วิชานิติปรัชญา”   อันเป็นวิชาที่ว่าด้วยวิธีคิดทางกฎหมาย  เป็นเล่ม ๆ    มาย่อและบรรยายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้หมด ในการบรรยาย นี้ 
                       แต่ผู้เขียนคิดว่า  วิธีที่ง่ายที่สุด และสั้นที่สุด   ที่เราจะสามารถทำความเข้าใจ “วิชานิติปรัชญา” ให้กับ ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายนี้ได้   ด้วยการอ้างถึง “ถ้อยคำสั้น ๆ”  เพีบงประโยคเดียว ;  ซึ่งเป็น “ประโยค”   ที่ผมเชื่อว่า   ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายจำนวนมากในที่นี้  เคยได้ยินมาแล้ว  ไม่มากก็น้อย  
                      ประโยคนั้น  คือ “นักกฎหมาย  เป็น วิศวกรสังคม  -  social engineer”  
                      ประโยคนี้  เป็นประโยคที่อาจารย์ที่สอนวิชานิติปรัชญาของเรา  ใช้อ้างอิงกันเป็นประจำในการสอนวิชานิติปรัชญาแก่นักศึกษากฎหมาย    ;  เพราะ ในตำรา (ว่าด้วยนิติปรัชญา) ของต่างประเทศ    นักปราญช์ทางนิติปรัชญาของโลก หลายท่านได้ให้ความสำคัญของ “บทบาทของนักกฎหมาย”  ในโลกยุคปัจจุบัน ศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐  โดยทำการเปรียบเทียบ ไว้ว่า    “นักกฎหมาย  เป็น วิศวกรสังคม - social engineer”   
        
                    คำว่า  “วิศวกร - engineer” นี้  ผมเชื่อว่า  ทุกท่านคงทราบและเข้าใจความหมายของ  คำว่า  “วิศวกร ” กันแล้ว เป็นอย่างดี  ;  วิศวกร  ก็คือ   “นักคิด”  เพื่อออกแบบและสร้าง “สิ่งก่อสร้าง” โดยสิ่งก่อสร้างนั้น   จะต้องมีความมั่นคง และนำไปใช้งานได้ สมตามความมุ่งหมายของการสร้าง  ;  นักกฎหมาย   ที่เป็น   “วิศวกรสังคม -  social engineer”  ก็เช่นเดียวกัน   คือ  นักกฎหมายต้องเป็น  “นักคิด”  ในออกแบบกฎหมาย  เพื่อสร้าง “กลไกทางกฎหมาย”  ที่เป็นระบบ และมีหลักการที่แน่นอน  โดยเมื่อนำ (บทกฎหมาย) มาใช้บังคับแล้ว    จะต้องคาดหมายได้ว่า   บทกฎหมายที่ตนออกแบบ และนำมาใช้บังคับนั้น   จะเกิดผลตามความมุ่งหมายของการตรากฎหมาย  คือ   การบริหารประเทศ (ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย)มีประสิทธิภาพ    สมตามความมุ่งหมาย  คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
        
                ความแตกต่างที่สำคัญ   ระหว่าง “วิศวกร(ก่อสร้าง)”  กับ  “วิศวกร(สังคม)”  ก็คือ  วัสดุก่อสร้าง ;  “วัสดุก่อสร้าง”  ของวิศวกร(ก่อสร้าง)  ได้แก่  สิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุ  (เช่น อิฐ หิน ปู ทราย เหล็ก ฯลฯ)   และ วิศวกร(ก่อสร้างจะ)  จะต้องใช้วัดถุหล่านั้น  สร้างให้เป็น ตึกรามบ้านช่อง ที่ใช้ประโยชน์ได้ ตามแบบที่กำหนดไว้  
                   แต่ “วัสดุก่อสร้าง”  ของวิศวกร(สังคม)  หรือ นักกฎหมาย   ได้แก่  “ คน”  (ไม่ว่า  “คน” นั้น  จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐ  หรือ “คน” นั้น  เป็น จะประชายน ที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์จากบทกฎหมายที่รัฐตราขึ้น ) ; และคนในสังคมนั้น  ประกอบด้วย  กลุ่มผลประโยชน์หลากหลาย  โดยแต่ละกลุ่มต่างมีประโยชน์ของตนเอง และต่างขัดแย้งซึ่งกันและกัน  
               วิศวกร(สังคม) หรือ “นักกฎหมาย”   จะต้องสร้าง “กฎเกณฑ์ (บทกฎหมาย)”  ให้เป็นวินัยของสังคมในการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมาก   โดยกฎเกณฑ์(บทกฎหมาย)เหล่านั้น  จะต้องสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างเหมาะสม     (ทั้งพฤติกรรม ของคนที่เป็น “เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐตามบทกฎหมาย”  และพฤติกรรมของคน ที่เป็น “ประชาชนที่จะได้สิทธิและประโยชน์ตามบทกฎหมาย” )   เพื่อให้ “การบังคับใช้บทกฎหมาย”  เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม  (ให้มากที่สุด)
        
               นิติปรัชญา (วิธีคิด) ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐   เกิดขึ้นมา พร้อมกับ  ลัทธิประชาธิปไตย  และ “กลไก”ของระบอบการปกครองของ รัฐสมัยใหม่ - modern state    และในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น  ก็คือ  การก่อกำเนิด ของ วิชาสังคมวิทยา (วิชาว่าด้วยพฤติกรรมของคนและของชุมชน)   ;  นิติปรัชญา) ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐  เป็น “วิธีคิด”   ที่เรียกกันว่า  “sociological approach” 
               ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (รัฐสมัยใหม่ - modern state)    “ กฎหมาย  เป็นเครื่องมือของสังคม” ;   งานของวิศวกร(สังคม)  เป็นงานที่ยากกว่างาน ของ วิศวกร(ก่อสร้าง)    เพราะวิศวกร (สังคม) หรือนักกฎหมาย    จะต้องสร้าง (ออกแบบ)กฎหมาย   ที่ทำให้ “กลไก  -  mechanism  ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ของ รัฐสมัยใหม่ - modern state)   “ทำงาน”  ให้เกิดผล   ตรงตามความมุ่งหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  คือ เพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม”  ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ;    ไม่ว่า “กลไก”นั้น  จะเป็นกลไก (ระบบสถาบันการเมือง) ใน “กฎหมายรัฐธรรมนูญ  -  constitutional  law”   หรือ  เป็นกลไกใน “กฎหมายปกครอง -  administrative  law”  (กฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม - ตำรวจ - อัยการ - ตุลาการ / กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการประจำ / กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิน)
                  นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐  สอนให้นักกฎหมาย ในฐานะที่เป็น  “วิศวกรสังคม -  social engineer”   เขียน (ออกแบบ) กฎหมาย  และใช้กฎหมาย  โดยมี “จุดมุ่งหมาย” เพื่อแก้ปัญหาให้สังคม  ; นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐  ไม่ได้สอนให้ “นักกฎหมาย”  เป็นนัก เล่นสำนวน  หรือเป็น ศริธนญไชย   เพื่อหลีกเลี่ยงผลบังคับใช้ของ(บท)กฎหมาย
        
                       สิ่งที่เป็น “ปัญหา” ของประเทศไทย   ก็คือ   เรามี “อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ  ที่สอนวิชานิติปรัชญา  คือ  สอนให้นักศึกษากฎหมายของเรา รู้ว่า    ในยุคปัจจุบันนี้     “นักกฎหมาย” มีความสำคัญ   และมีบทบาทในสร้างกฎเกณฑ์(วินัย) ของสังคม   จนถือกันว่า  “นักกฎหมาย เป็น  “วิศวกรสังคม -  social engineer”     
                    แต่ ปัญหาของเรา   ก็คือ  เราไม่มี  “อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ   ที่จะสอนกฎหมาย ให้ “นักศึกษากฎหมาย” ของเรา  มีความสามารถ  เป็น “วิศวกรสังคมsocial engineer” ได้  ;  แม้แต่อาจารย์ผู้ที่สอนวิชานิติปรัชญา  เอง   ก็ยังเป็นที่สงสัยว่า   ตนเองจะมีความสามารถพอ  ทีจะ เป็น วิศวกรสังคม social engineer”  ให้คนไทย  ได้หรือไม่
        
              ในช่วงเวลา ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา    ภายไต้วิธีคิดของนิติปรัชญา ของรัฐสมัยใหม่  ในตวรรษ ที่ ๑๙ - ๒๐  ประเทศที่พัฒนาแล้ว   ได้มีการปรับเปลี่ยน “แนวความคิดทางกฎหมาย”  /  พัฒนา “วิธีการศึกษาวิจัยกฎหมาย”  (กฎหมายเปรียบเทียบ - comparative law ) /  และได้เปลี่ยนแปลง “กลไก” ในกฎหมายมหาชนมากมาย  ทั้ง “กลไก” (ระบบสถาบันการเมือง)ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกลไกในกฎหมายปกครอง  ซึ่งเป็นพื้นฐานของการบริหารประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ;  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้    อาจารย์กฎหมาย และ นักกฎหมายของเรา  ตามไม่ทัน
                   อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ของเรา มี “ปัญหา”ในการเข้าถึง - access  (การอ่าน) ตำรากฎหมายภาษาต่างประเทศ   เพราะประเทศไทยมีภาษาไทยของเราเอง  และไม่เคยตกอยู่ภายไต้อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ   และ  เราเขียน(ออกแบบ )”กลไก”ในบทกฎหมายของเรา ด้วยความคิดของเราเอง   ผิดบ้างถูกบ้าง  เพราะเราไม่มี “พื้นฐาน”ในการทำการวิจัยกฎหมาย 
                  ผมไม่แน่ใจว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีหรือโชคร้าย   ในการที่เราได้เป็นประเทศเอกราชมาโดยตลอด  และเพราะการที่ประเทศไทยเป็นเอกราชมาตลอดนี้เอง    ที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอด “รูปแบบ” ของบทกฎหมาย (ที่เขา “คิดวิเคราะห์” มาแล้ว ) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว  มาใช้ในประเทศของเรา     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การถ่ายทอดรูปแบบ  กฎหมายที่เกี่ยวกับ ”กฎหมายปกครอง” (กฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม - ตำรวจ - อัยการ - ตุลาการ / กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการประจำ / กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิน)  ที่เป็นพื้นฐานของ การใช้อำนาจรัฐ  ของ “ระบบสถาบันการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้ง   ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย   
        
                    เรารู้ได้อย่างไรว่า  อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเรา    ไม่มี “ความสามารถ “  พอที่จะเป็น “วิศวกรสังคม -  social engineer”  ให้แก่คนไทยได้   (?)  (?)  ;  และ “ใคร” จะเป็นผู้ตอบคำถามนี้    
                      ตามพฤติกรรมทางสังคมวิทยา    คงไม่มี “อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเรา”   ท่านใด   ที่จะออกมาพูดว่า  ตนเองไม่มีความรู้  หรือ ไม่มี “ความสามารถ” ;  แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่า  อาจารย์กฎหมาย ฯ  ของเรา    ไม่มี “ความสามารถ “  พอที่จะเป็น “วิศวกรสังคม -  social engineer”  ให้แก่คนไทย
                    คำตอบ  ก็คือ  เราสามารถรู้ได้   โดยตรวจดู  จาก “ผลงาน(จริง)” ขอวอาจารย์ กฎหมายในคณะนิติศาสต์ ฯ
          
                      “ ผลงานจริง”  ของอาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์    ได้แก่   ตำรา   งานวิจัย   บทความ ของท่านอาจารย์ ฯ เหล่านี้   รวมตลอดไปถึง   ผลและประสิทธิภาพของ (บท)กฎหมาย ที่ประเทศได้ตราขึ้นใช้บังคับ   ที่อาจารย์กฎหมายมีส่วนร่วมในการเขียน (ออกแ บบ)กฎหมาย   ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม 
                     และแน่นอน   สิ่งที่จะชี้วัด ว่า  “ ผลงานจริง” ของอาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์เหล่านี้   มี “คุณภาพ” หริอไม่   คงไม่ใช่เป็น การเปรียบเทียบ  ระหว่าง “ผลงาน” ของอาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐภายในประเทศ ด้วยกันเอง  ;  แต่ต้องเปรียบเทียบ  กับ  “ผลงาน” ตามมาตรฐานของ   อาจารย์กฎหมาย ของ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ;  เพราะ  การชี้วัดคุณภาพ ฯ  ด้วยการเปรียบเทียบกับผลงาน ฯ ภายในประเทศ ด้วยกันเอง    เราคงไม่สามารถมองเห็นความแตกต่าง  ของ “ความรู้กฎหมาย” ของท่านอาจารย์เหล่านี้ได้     เพราะเป็นการเปรียบเทียบ   ผลงานที่อยู่ภายใน “กะลา” เดียวกัน
                   ถามว่า  ท่านที่ฟังการบรรยายในวันนี้  ท่านเคยอ่าน “เอกสารวิจัยกฎหมาย” ของนักวิชาการกฎหมายของต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว   บ้างหรือไม่  ; ท่านเคยทราบหรือไม่ว่า  กฎหมายว่าด้วย การบริหาร(ข้าราชการ)  “ตำรวจ”  “อัยการ” “ตุลาการ”  ฯลฯ  เขามีหลักการอย่างไร  มีบทบัญญัติแตกต่างกับกฎหมายของเราอย่างไร (โดยยังไม่ต้องพิจาณาว่า  กฎหมายของเรา  เราควรจะเขียนอย่างไร เพราะเหตุใด)
         
               ต่อไปนี้  จะเป็น “หัวข้อ” ที่จะพิจารณาถึง  ผลงานจริง ของ “อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ”  และของบรรดา “นักกฎหมาย”  ที่เป็น “ผลผลิต” จาก  การเรียนการสอนวิชากฎหมาย ของ “อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ”   ตลอดเวลา ๘๐ ปี  นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ของเรา
                และสำหรับปัญหาว่า  ใครจะเป็นผู้ตอบ “ คำถาม” ( เรารู้ได้อย่างไรว่า  อาจารย์กฎหมาย ฯ  ของเรา    ไม่มี ความสามารถพอที่จะเป็น “วิศวกรสังคม -  social engineer”  ให้แก่คนไทย) ;  ผู้ที่จะตอบคำถามนี้  คงจะได้แก่ “คนไทย” ทุกคน  รวมทั้งท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนี้ด้วย    และสำหรับผม    ผม ก็เป็นเพียง “ ผู้ทีให้ความเห็นคนหนึ่ง”   
        
                      =============================================
       

        
       ๓.๒) (ทำไม ผมจึงพูดได้ว่า )  อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐของเรามี “ความรู้ (กฎหมายมหาชน)” ล้าหลังประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า ๑๐๐ (หนึ่งร้อย) ปี
       

       ------------------------------------------------
       (๓.๒) (ก) วิวัฒนาการของ  “ตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของประเทศไทย”
        
                   “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  (ประเทศเดียวในโลก)   เกิดขึ้นในประเทศไทย  ได้อย่างไร   ในช่วง ๘๐ ปี  ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ 
                   เราทราบกันดี อยู่แล้ว ว่า  กฎหมายมหาชนประกอบ กฎหมายสาขาสำคัญ  ๒ สาขา  คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง  (กฎหมายว่าด้วย  กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ - อัยการ - ตุลาการ) / กฎหมาวว่าด้วยการบริหารราชการประจำ  และ กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ)
        
                  ผมได้กล่าวแล้วว่า  ผมเห็นว่า  ประเทศไทย  กำลังต้อง  “จ่ายราคา  สำหรับการที่เราเป็นเอกราช”ในสมัยรัชกาล ที่ ๕   เพราะการเป็นเอกราช ทำให้เราไม่ได้รับการถ่ายทอดประสพการณ์และรูปแบบการพัฒนาประเทศ จากระบบกฎหมายมหาชนของ “ประเทศมหาอำนาจที่พัฒนาแล้ว”    และในขณะเดียวกัน   อาจารย์กฎหมาย ฯของเราไม่มี   “ความรู้ ”พอ  ที่จะพัฒนาระบบกฎหมายมหาชน (กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง)ที่ดี   ให้กับคนไทย
                      “กฏหมายปกครอง”ของเราในขณะนี้  กล่าวได้ว่า  เป็นระบบที่พิกลพิการ  และสร้างปัญหาการบริหารให่เราอยู่ไม่น้อย   ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วัน ;  ระบบ (กฏหมาย)บริหารราชการประจำและการกระจายอำนาจให้แก่ทัองถิ่นของประเทศ  ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่มีการเขียน (ออกแบบ) กฎหมายที่ดีพอ   ที่จะเป็นพื้นฐานรองรับการใช้อำนาจรัฐของสถาบันการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้  ;  ซึ่งแตกต่างกับ “ประเทศเพื่อนบ้านของเรา” (ที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ) หลายประเทศ  ที่มีพื้นฐานทางกฎหมายปกครองดีกว่าเรา    
                  สำหรับ (กฎหมาย)รัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นการออกแบบ  “ระบบสถาบันการเมือง”  ก็ปรากฎว่า  อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ และนักวิชาการของไม่มี “ความรู้”   และไม่ขวนขวายแสวงหาความรู้  (แตกต่างกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น  ในสมัยพระเจ้ามัตสุฮิโต) ;  การเขียน (ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ - form  of  government  ของเรา แต่ละฉบับ  เป็นการเขียนเพื่อที่จะเอา “อำนาจรัฐ” มาให้กับตนเอง (ผู้ให้รัฐธรรมนูญไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
                ดังนั้น   การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕   จึงมิใช่เป็น “การแก้ปัญหาการบริหารประเทศ ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช”   แต่ได้กลายเป็น  การเริ่มต้นของการสร้างปัญหาการบริหารประเทศ  ในระบอบการปกครองที่อ้างว่า เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ” ; การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแต่ละฉบัย  เป็นการแย่ง “อำนาจรัฐ”  ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์  (บางครั้งก็แย่งอำนาจระหว่างทหารด้วยกันเอง  และหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็ฯการแย่งอำนาจระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง  และการรัฐประหารโดยทหาร)    และในปัจจุบัน  เราจบลงด้วย “ระบบเผด็จการ  โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  ประเทศเดียวในโลก
                ในการบรรยายนี้   ผมจะพูดถึง ปัญหาของ ระบบสถาบันการเมือง - form  of  government (กฎหมายรัฐธรรมนูญ)   เป็นประการสำคัญ โดยจะยังไม่พูดถึง ปัญหาการปฏิรูประบบกฎหมายพื้นฐานของการบริหาร (กฎหมายปกครอง)  ;  เพราะถ้าเรา (คนไทย) ไม่สามารถแก้ “ปัญหาระบบสถาบันการเมือง”ได้    เรา(กนไทย) ก็คงจะไม่สามารถแก้ “ปํญหากฎหมายปกครอง “ ได้   เพราะ “สถาบันการเมือง”  เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการตรากฎหมายของประเทศ   และดังนี้น  ถ้าเราไม่ได้ “คนดี” มาปกครองประเทศ  เราก็คงไม่มี “คนดี”  ที่จะมาแก้กฎหมาย(ปกครอง) ให้เรา
        
                 ผมขอเริ่มต้น ด้วยการตรวจดู “วิวัฒนาการ ของ  รัฐธรรมนูญ”  ฉบับต่าง ๆ ของเรา  เพื่อหาสาเหตุ ว่า  “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  (ประเทศเดียวในโลก)   เกิดขึ้นในประเทศไทย  ได้อย่างไร  ในช่วง ๘๐ ปี  ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ 
        
                  ขณะนี้   ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหมดรวม ๑๙ ฉบับ (ไม่ใช่ ๑๘ ฉบับ ตามที่พูด ๆ กัน)  โดยเป็น “ธรรมนูญการปกครอง” อย่างสั้น ๆ  ที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ๗ ฉบับ และเป็นรัฐธรรมนูญที่เต็มรูปแบบ  ๑๒ ฉบับ 
               ในที่นี้ เราจะพิจารณาเฉพาะ “รัฐธรรมนูญฉบับที่เต็มรูปแบบ”  เท่านั้น  โดยจะพิจารณาเรียงกันไปตามลำดับ  เพื่อตรวจดู  วิวัฒนาการ (ความเปลียนแปลง)  ของ  “แนวความคิด(ทางกฎหมายมหาชน)”  ของอาจารย์กฎหมายและนักกฎหมาย ที่มีส่วนสำคัญในการเขียน(ออกแบบ)  ระบบสถาบันการเมือง -  form of  government   ที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของเรา
             
               ในตอนที่ ๑ ของคำบรรยายนี้     เราได้เรียนรู้ “หลักการ ของ ความเป็นประชาธิปไตย - the  principle of democracy”  จากบทบํญญัติของรัฐธรรมนูญของต่างประเทศมาแล้ว    ;   ต่อไปนี้  เราจะลองมาตรวจดูว่า รัฐธรรมนูญของเราฉบัยใดบ้าง  ที่ยึดถือ   “หลักการ  ของความเป็นประชาธิปไตย”  และฉบับใดบ้าง  ที่ออกนอกกรอบ “หลัการสากล” ดังกล่าวนี้  ;  และขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย  โปรดสังเกต  “ความแตกต่าง” ของหลักการและถ้อยคำ ที่ปรากฎอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของเรา   เพราะสิ่งเหล่านี้   เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่แสดงให้เห็นถึง  “มาตรฐานความรู้” ของ อาจารย์กฎหมายและวงการวิชาการ  ของประเทศไทย
        
        --------------------------------------------------------------------------
        
                        เมื่อเราเอา “รัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับ” มาเรียงลำดับกัน   เราก็จะพบว่า  “แนวความคิด(ทางกฎหมายมหาชน)” ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี  คือ   ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. ๒๔๗๕  จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ (ค.ศ. ๒๐๑๓)    สามารถแยกได้เป็น ๓ ช่วงระยะเวลา  คือ  (๑) ช่วงระยะที่หนึ่ง  เป็น รัฐธรรมนูญที่ไม่มีบทบัญญัติให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค  ;  (๒) ช่วงระยะที่สอง  เป็น รัฐธรรมนูญ  ที่เริ่มมีบทบัญญัติบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ; และ (๓) ช่วงระยะที่สาม  เป็น รัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน  ในระบบรัฐสภา”  เป็นประเทศแรกและเป็นประเทศเดียวในโลก
                ต่อไปนี้  ผมจะเอาตัวบทรัฐธรรมนูญของเรา  เพียง ๒ มาตรา  คือ  เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับ “สถานภาพ ของ ส.ส.”  และ “คำปฎิญาณ ของ ส.ส.” มาเรียงลำดับไว้    เพื่อแสดงให้เห็นว่า   เราเริ่มออกนอกกรอบ  “ หลักการของ ความเป็นประชาธิปไตย  -  the  principle of democracy” ตั้งแต่เมื่อใด (รธน. ฉบับใด)   และ หลังจากที่เราออกนอกกรอบหลักการของความเป็นประชาธิปไตย  ด้วยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองแล้ว   บทมาตราทั้งสอง (ซึ่งเป็นมาตราสำคัญอย่างยิ่งของระบอบประชาธิปไตย  ที่กำหนดให้ “ส.ส. มีความอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส ได้โดยอิสระตามมโนธรรมของตน  และไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายใด ๆ” )    ได้มีการเปลียนแปลง “ถ้อยคำ” ไปอย่างไร
        
        ช่วงระยะที่หนึ่ง  (เป็น รัฐธรรมนูญที่ไม่มีบทบัญญัติให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค)
                     ช่วงระยะที่หนึ่ง  คือ  รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒)  จนถึง พ.ศ.๒๕๑๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) รวมเวลา  ๓๑ ปี  ;โดยในช่วงระยะนี้  เรามีรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ อยู่ ๖ ฉบับ โดยไม่นับรวมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ฉบับที่เป็นฉบับแรกของประเทศไทย
                       [หมายเหตุ  เราทราบกันอยู่แล้วว่า   รัฐธรรมนูญ ใน ปี พ.ศ.๒๔๗๕  ของเรา นั้น   มีอยู่ ๒ ฉบับ คือ  พระราขบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕   และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ;  แต่ในที่นี้   ผู้เขียนจะเริ่ม ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ฉบับที่สอง ซึ่งเป็น“รัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย”ฉบับแรกของประเทศไทย  เป็นต้นไป  
                      สิ่งที่แปลกก็คือ   เรา(คนไทย)ไม่ค่อยได้ทราบว่า รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ฉบับแรก ของเรา มี ”ที่มา” อย่างไร และมี “รูปแบบ”มา จากไหน  เพราะไม่มีการสอนในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย   และไม่มีอยู่ใน  ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่อาจารย์กฎหมาย ใช้สอนในมหาวิทยาลัย [หมายเหตุ  จะเป็นเพราะเหตุผลประการใด  ก็ขอให้ท่านที่มาฟังการบรรยาย คิดเอาเอง ]
                   รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ คือ “ พระราขบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”  ของเรา  (มี ๓๙ มาตรา  ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ.  ๑๙๓๒)จนถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕  เป็นเวลา ๕ เดือนเศษ ; มีบทบัญญัติสำคัญ  ที่น่าสังเกต ดังต่อไปนี้
                   มาตรา ๒๘ (ของ หมวด ๔ “คณะกรรมการราษฎร” )  คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจและหน้าที่  ดำเนิรการให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภา
                   มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือก เป็นผู้แทนประเภทที่ ๑  คือ  (๑) สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตร ซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้ ;   (๒) ......................  ฯลฯ  ; (๖)  เฉพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นขอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑  เสียก่อน ว่า  เป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย
                    “กลไก ของระบบสถาบันการเมือง - form of government”  ตามรัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญติธรรมนูญฯ )ฉบับแรกของเรานี้   แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ของประเทศไทยทุกฉบับ   และเห็นได้ชัดว่า  ได้ลอกเลียนรูปแบบระบบสถาบันการเมือง   มาจาก รัฐธรรมนูญของประเทศรัสเซึย ฉบับ ปี ค.ศ. ๑๙๑๘ (พ.ศ. ๒๔๖๑)  คือ  (๑) ประการแรก  รัฐธรรมนูญฉบับนี้(มาตรา ๒๘)     เรียกชื่อ “คณะรัฐมนตรี” (สถาบันฝ่ายบริหาร)  ว่า   “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่ง “คำ” คำนี้  ตรงกับรัฐธรรมนูญของประเทศรัสเซีย ฯ  ที่เรียก “คณะรัฐมนตรี” ในยุคนั้น ว่า  “ the people ‘s  commissar”  และเรามีนายกรัฐมนตรี  ที่เรียกว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร”  และ  (๒)ประการที่สอง   รัฐธรรมนูญฉบับนี้(ตาม มาตรา ๑๑ (๖)  และ มาตรา ๑๐)   กำหนดให้  “ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง” ต้องได้รับความเห็นชอบจาก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ ๑” (ซึ่งได้แก่ “คณะบุคคล  จำนวน  ๗๐นาย  ที่”คณะราษฎร” แต่งตั้งขี้น)  ก่อน  ซึ่งอำนาจนี้  เป็นอำนาจเช่นเดียวกับ อำนาจของ “พรรคคอมมูนิสต์ของรัสเซ๊ย”  ; ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้  เรามีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา -   ก้อน หุตะสิงห์  เป็น ประธานคณะกรรมการราษฎร  คือ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย   
                  แต่อย่างไรก็ตาม    สิ่งที่พระราชบัญญัติธรรมนูญฯ ฉบับนี้ของเรา   แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญของรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๑๘) ในสาระสำคัญ  ก็คือ   พระราชบัญญติธรรมนูญฯ ดังกล่าว   ได้บัญญัติให้ประเทศไทย มี “สถาบันกษัตริย์”   ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญของรัสเซีย  ;  รัฐธรรมนูญรัสเซีย ฉบับ  ปีค.ศ. ๑๙๑๘ นี้  ได้ถูกยกเลิกไป  โดยรัฐธรรมนูญของรัสเซียฉบับต่อมา ใน ปี ค.ศ. ๑๙๓๖  (พ.ศ. ๒๔๗๙)  และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัสเซีย  ได้กลับมาเรียกชื่อ  สถาบันฝ่ายบริหาร ว่า เป็น “คณะรัฐมนตรี - the council of ministers”  ตามแบบอย่างของประเทศในยุโรป ]
        
        (๑) รัฐธรรมนูญ  พ.ศ.๒๔๗๕ (รธน. ฉบับที่ ๒) 
                   มาตรา ๒๐  (สถานภาพ)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนฉะเพาะผู้ที่เลือกตนข้นมา  ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย  ใด ๆ
                   มาตรา ๑๙ (คำปฏิญาณ)  ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภา  ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้
        
        (๒) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙ (รธน. ฉบับที่ ๓)
                 มาตรา ๓๖ (สถานภาพ) สมาชิกพฤฒสภาและ สภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ  และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                 มาตรา ๓๕(คำปฏิญาณ)  ก่อนเช้ารับหน้าที่  สมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทน  ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า  จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้
        
       (๓) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๐  ฉบับชั่วคราว (รธน. ฉบับที่ ๔)
                มาตรา ๔๔  (สถานภาพ)  สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทน  ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ  และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                มาตรา ๔๓(คำปฏิญาณ)  ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน  ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า  จะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
        
       (๔) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒  (รธน. ฉบับที่ ๕) 
                  มาตรา ๑๐๑  (สถานภาพ)  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ  และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                  มาตรา ๑๐๒ (คำปฏิญาณ)  ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน  ต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                  “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ “
        
        (๕) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕  (รธน. ฉบับที่ ๖)
                ถ้อยคำในบทมาตรา  คงเป็นเป็นไป ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕  แต่แก้ไข “เลขมาตรา” จากมาตรา ๑๙ และ มาตรา ๒๐  เป็น มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙  ตามลำดับ  
                [ มาตรา ๔๙ (สถานภาพ)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนฉะเพาะผู้ที่เลือกตนข้นมา  ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ
                   มาตรา ๔๘  (คำปฏิญาณ)  ปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภา  ว่าจะรักษาไว้และนี้ ]
        
        (๖) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๑  (รธน. ฉบับที่ ๘ ) (มีคำว่า  “จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ”  ทั้งสองมาตรา)
                  มาตรา ๙๗  (สถานภาพสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทน ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ   และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                มาตรา ๙  (คำปฏิญาณ ) ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ “  
        --------------------------------------------------------------------------
       ช่วงระยะที่สอง  (รัฐธรรมนูญ  ที่เริ่มมีบทบัญญัติบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง  แต่ยังไม่เป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ฯ  ที่สมบูรณ์แบบ)        
                     ช่วงระยะที่สองนี้  ได้แก่  รัฐธรรมนูญของประเทศไทย  ที่ใช้บังคับ ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๑๗  (ค.ศ. ๑๙๖๔)  จนถึง ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๕  (ค.ศ. ๑๙๙๒) รวมเวลา  ๑๘ ปี  โดยในช่วงระยะนี้  เรามีรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ อยู่ ๓ ฉบับ
               
       (๑)  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗  (รธน. ฉบับที่ ๑๐ , ยกร่างโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญ  ที่แต่งตั้งโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ตามธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๑๕ - คณะปฏิวัติ) 
                  มาตรา ๑๒๗ (สถานภาพ)  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
                  มาตรา ๑๒๘ (คำปฏิญาณ)   ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
                 [●  การบังคับสังกัดพรรคการเมือง   ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง   จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคเดียว (มาตรา ๑๑๗ (๓) )
                   การพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.    สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ (๑) ลาออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง   และ (๒) เมื่อพรรคการเมืองมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิก(ของพรรคการเมือง) และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน ๖๐วันนับแต่วันที่พรรรคการเมืองมีมติ  (มาตรา ๑๒๔ (๗) (๘)) ]
        
        (๒)   รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑   (รธน. ฉบับที่ ๑๓ , ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการ   ที่แต่งตั้งโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ตามธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๒๐ - คณะปฏิวัติ ) 
                มาตรา ๑๐๖  (สถานภาพ)   สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
                มาตรา ๑๐๗   (คำปฏิญาณ)  ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                   “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
                    [● การบังคับสังกัดพรรคการเมือง      ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง  ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ฯ  พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง   แต่พรรคเดียว (มาตรา ๙๔ (๓))
                      การพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.   สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ  (๑) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก    (๒) พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  มีมติ ฯ ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  (มาตรา ๑๐๓ (๗))   (หมายเหตุ รธน. ฉบับนี้  ไม่เปิดโอกาสให้ไปเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้  เหมือน รธน. พ.ศ. ๒๕๑๗) ]
        
       (๓)   รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔   (รธน. ฉบับที่ ๑๕ , ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการ ที่แต่งตั้งโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ตามธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๓๔  - คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)   
                  มาตรา ๑๑๗  (สถานภาพ) สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                  มาตรา ๑๑๘   (คำปฏิญาณ)  ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
                   [● การบังคับสังกัดพรรคการเมือง   ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง  ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ฯ พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง   แต่พรรคเดียว  (มาตรา ๑๐๕ (๓)   
                     การพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.   สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ (๑) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  (๒) พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก (มาตรา ๑๑๔ (๗) ]  
                
        
         
       
        อ่านต่อหน้าที่ 3


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544