สภาพลเมืองกับประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
10 กุมภาพันธ์ 2556 18:31 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
แม้ว่าร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯจะยังไม่ได้มีผลออกมาบังคับใช้เพราะยังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภาฯ แต่สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของเชียงใหม่มหานครในร่าง พรบ.ฯได้มีการทดลองนำมาปฏิบัติแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคพลเมืองเชียงใหม่
สภาพลเมืองคืออะไร
สภาพลเมือง(Civil Juries หรือ Citizen Juries) เป็นรูปแบบที่ใช้ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 70s โดยมีการคัดเลือกลุกขุนมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณากิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลามากน้อยแล้วแต่ภารกิจ โดยสภาพลเมืองนี้จะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ(Interest Groups) โดยคณะลูกขุน(ซึ่งในร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯใช้คำว่า สภาพลเมืองแทนเพื่อมิให้สับสนกับคำว่าลูกขุนในระบบศาล)จะทำหน้าที่ฟังการอภิปรายหรือการชี้แจงของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งซักถามและฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย โดยเรื่องราวต่างๆที่จะเข้าสู่สภาพลเมืองนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่จะต้องร่วมกันตัดสินใจโดยใช้หลักของการมีฉันทามติร่วมกัน(concencus)แทนการโหวตเพื่อเอาแพ้เอาชนะ
สภาพลเมืองในร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯบัญญัติไว้เพื่อคอยถ่วงดุล ตรวจสอบ ฝ่ายบริหารหรือผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร และฝ่ายออกข้อบัญญัติหรือสภาเชียงใหม่มหานคร พร้อมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของเชียงใหม่มหานคร ตลอดจนปัญหาที่เกิดหรือจะเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะ โดยมีศักดิ์ศรีเท่ากับอีก 2 ฝ่าย คือผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร และสภาเชียงใหม่มหานคร แต่มีที่มาแตกต่างจาก 2 ฝ่ายนั้นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่สภาพลเมืองมาจากการคัดเลือกหรือเลือกตั้งจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆซึ่งแล้วแต่กลุ่มต่างๆจะมีวิธีการได้มาอย่างไร ในลักษณะของการทำงานด้วย จิตอาสา ที่สำคัญก็คือจะมาตอบโจทย์สำหรับคนที่เบื่อหน่ายประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy) โดยใช้วิธีที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative democracy)(สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1515)
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคืออะไร
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative democracy) มีชื่อเรียกในภาษาไทยหลากหลาย เช่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือแบบมีวิจารณญาณ, ประชาวิจารณญาณ, ประชาธิปไตยแบบใคร่ครวญ, ประชาธิปไตยแบบถกแถลง, ประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง, ประชาธิปไตยแบบสานเสวนาหาทางออก ฯลฯ แต่ผมชอบใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเพราะมีความหมายค่อนข้างตรงตัวและกระชับ
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นพัฒนาการของประชาธิปไตยที่จะปิดช่องว่างหรือจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประชาชนมีส่วนร่วมเฉพาะเพียงขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเท่านั้นโดยหลังจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนที่ตนเลือกเข้าไปโดยไร้อำนาจการต่อรองหรือบทบาททางการเมืองอื่นใดและมีปัญหาในเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างมากมายในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในรูปแบบของการประชุม New England town meeting โดยมีการใช้รูปแบบของการปรึกษาหารือ(Deliberative Practices) มาใช้ในการจัดเวทีพูดคุย(Club and Forum Series) แต่ก็ต้องหยุดชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันได้หวนกลับมาใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมในการพูดคุยสนทนาและปรึกษาหารือ(Dialogue and Deliberation)
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคือการสนทนาหรือแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเลือก มิใช่การโต้แย้งเพื่อเอาชนะ โดยการทำให้การตัดสินใจในเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆของสาธารณะทุกระดับผ่านกระบวนการไตร่ตรองบนทางเลือกที่รอบด้านของผู้มีส่วนได้เสีย และคนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอทางเลือกหรือทางออกนั้นเกิดจากพื้นฐานของข้อมูล ความรู้และข้อเท็จจริง มิใช่เป็นเพียงความเห็นลอยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ(Credible Results)และต้องเป็นการกระทำที่เปิดเผยและเป็นสาธารณะ(Public Act)
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นการมาคิดร่วมกัน ทำให้ต้องฟังว่าผู้มาร่วมสนทนานั้นคิดอย่างไร เพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ๆ ทั้งด้านความคิด มุมมอง เพื่อหาจุดที่จะมีความคิดเห็นร่วมกัน แม้ในบางครั้งอาจจะยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เกิดความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานคร
สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครได้ทดลองเปิดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ในหัวข้อที่เกี่ยวกับวาระขนส่งสาธารณะ ซึ่งก็ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์และสามารถนำไปปฏิบัติได้ และจะมีการเปิดประชุมอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16.00 น.ที่อาคารพุทธสถานเชียงใหม่ ในหัวข้อ จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่อะไร ซึ่งจะเป็นร่วมกันหาทางออกในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและยังมีข้อโต้แย้งมากมายจากการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้รื้อถอนอดีตเรือนจำเชียงใหม่ที่สร้างทับเวียงแก้วที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชวังเดิมของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ว่าควรจะมีทิศทางไปในแนวทางใด เพราะบ้างก็อยากให้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้างก็อยากให้สร้างเป็นพุทธอุทยานคล้ายๆพุทธมณฑล บ้างก็อยากให้สร้างเป็นสวนสาธารณะ บ้างก็อยากให้ทำเป็นข่วง(ลาน)เอนกประสงค์ ฯลฯ หาข้อยุติไม่ได้
ฉะนั้น จึงจะได้มีการเปิดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครในประเด็นดังกล่าวนี้ โดยจะได้เชิญผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ มาให้ความรู้ก่อนสั้นๆประกอบการนำเสนอญัตติที่จะเสนอโดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น แล้วจึงเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันคนละไม่เกิน 3 นาที หากมีประเด็นที่จะต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายก็จะมีการแทรกเป็นระยะๆ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นการเปิดห้องเรียนประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือจะสามารถนำฉันทามติจากประชุมไปเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ประชาธิปไตยระดับระดับชาติเข้มแข็งโดยประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นยังไม่เข้มแข็งหรอกครับ
การ คืนอำนาจให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการตนเองที่ชาวเชียงใหม่พยายามจัดทำร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯซึ่งประกอบไปด้วยสภาพลเมืองนี้ แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่นับได้ว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการบริหารราชการแผ่นดินไทยนับแต่การปฏิรูปฯ พ.ศ.2435 เลยทีเดียว
-----------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|