หน้าแรก บทความสาระ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย-บทเรียนสำหรับประเทศไทย
คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ และคุณทิพย์ศริน ภัคธนกุล นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา (University of Canberra) กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย
16 ธันวาคม 2555 21:16 น.
 
เครือรัฐออสเตรเลีย (The Commonwealth of Australia) เป็นประเทศหนึ่งที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย และสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria) ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia Constitution Act) เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐)[๑] รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ซึ่งถือเป็นวันที่รัฐต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรได้รวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ ก่อนมีผลบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชนชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในอาณานิคมทั้ง ๖ แห่งซึ่งปัจจุบัน คือ รัฐทั้ง ๖ รัฐของออสเตรเลีย ประกอบด้วย รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales-NSW), รัฐวิคตอเรีย (Victoria-VIC), รัฐแทสเมเนีย (Tasmania-TAS), รัฐออสเตรเลียใต้ (South Australia-SA), และรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland-QLD) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙)[๒] ส่วนรัฐออสเตรเลียตะวันตก (Western Australia-WA) จัดการลงประชามติเป็นรัฐสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) ผลการลงประชามติปรากฏว่า ประชาชนในรัฐออสเตรเลียตะวันตกร้อยละ ๖๙.๔๗[๓] สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งผลให้รัฐออสเตรเลียตะวันตกได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในหกรัฐของประเทศออสเตรเลียในที่สุด
       
       รัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย กำหนดกระบวนการขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในหมวด ๘ มาตรา ๑๒๘ เริ่มแรก รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาตามลำดับ แต่ในท้ายที่สุด ก่อนที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะมีผลบังคับใช้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะแก้ไขเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะแก้ไขเพิ่มเติมเพียงมาตราเดียวหรือหลายมาตรา หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสถาบันการเมืองหรือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ล้วนต้องผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชนชาวออสเตรเลียผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนทั้งสิ้น[๔]  ถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้รับความเห็นชอบของสภาใดสภาหนึ่งเพียงสภาเดียว เช่น สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ แต่วุฒิสภาลงมติคัดค้าน รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของออสเตรเลีย (Governor-General) ซึ่งทำหน้าที่ประมุขของออสเตรเลียแทนสมเด็จพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรเป็นผู้ตัดสินว่าจะนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนั้นไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติหรือไม่ [๕]
       
       หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติของออสเตรเลียนั้น รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะมีผลบังคับใช้เมื่อผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากสองระดับ (Double Majority)
       ระดับแรก จำนวนคะแนนเสียงที่เห็นด้วยของประชาชนทั้งประเทศต้องสูงเกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนผู้ไปลงประชามติทั้งหมด (ไม่นับบัตรเสีย) การตัดสินในระดับนี้จึงเป็นการตัดสินเสียงข้างมากโดยนับคะแนนรวมของประชาชนชาวออสเตรเลียทั้งประเทศไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐไหนก็ตาม ตัวอย่างเช่น ในการออกเสียงประชามติครั้งหนึ่ง มีประชาชนชาวออสเตรเลียลงมติเห็นด้วย ๑๐๐ เสียง ไม่เห็นด้วย ๕๐ เสียง มีบัตรเสีย ๕๐ ใบ ฐานที่นำมาใช้คำนวณ คือ ๑๐๐ + ๕๐ คือ ๑๕๐ เสียงเท่านั้น ร้อยละ ๕๐ ของ ๑๕๐ คือ ๗๕ เสียง ในกรณีนี้ มีผู้ลงมติเห็นด้วยถึง ๑๐๐ เสียง จึงผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากในระดับแรกนี้ไปได้
       ระดับที่สอง คือ เสียงข้างมากของรัฐ กล่าวคือ ในบรรดารัฐทั้ง ๖ รัฐของออสเตรเลีย ต้องมีประชาชนเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ไปลงประชามติทั้งหมด (ไม่นับบัตรเสีย) ใน ๔ รัฐขึ้นไปเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ถ้ามีประชาชนเพียง ๓ รัฐที่เห็นด้วย แม้ว่าคะแนนรวมทั้งประเทศในระดับที่หนึ่งจะเกินร้อยละ ๕๐ ก็ถือว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนั้น ไม่ผ่านการลงประชามติ ส่วนคะแนนเสียงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลีย (Australian Capital Territory-ACT) และ เขตปกครองทางตอนเหนือ (Northern Territory-NT) นั้น จะนับรวมกับคะแนนเสียงของประชาชนทั่วประเทศในระดับแรกเท่านั้น เนื่องจากเขตปกครองทั้งสองไม่มีสถานะเป็นรัฐ จึงไม่นับรวมในการพิจารณาเสียงข้างมากระดับที่สอง อธิบายง่ายๆ คือ แม้ว่าประชาชนเสียงข้างมากในเขตปกครองทั้งสองแห่งจะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใด แต่ถ้าประชาชนเสียงข้างมากในอีก ๔ รัฐจาก ๖ รัฐที่เหลือเห็นด้วย ก็ถือว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนั้น ผ่านหลักเกณฑ์เสียงข้างมากของรัฐในระดับที่สอง ด้วยเหตุที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียเป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จเพราะต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ มากมาย และต้องอาศัยเสียงสนับสนุนในระดับที่สูงมากทั้งในรัฐสภา และจากประชาชน นักการเมืองของออสเตรเลียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงไม่สามารถสมรู้ร่วมคิดกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้
       นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ. ๑๙๐๑) เป็นต้นมา มีการลงประชามติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ๔๔ เรื่อง (หลายเรื่องมีการลงประชามติในวันเดียวกัน) แต่มีเพียง ๘ เรื่องเท่านั้นที่ประชาชนชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ และนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่สุด[๖]
       
       ในบรรดาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ๘ ประเด็นที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนชาวออสเตรเลียนั้น มีอยู่ ๒ ประเด็นที่น่าสนใจ การลงประชามติทั้ง ๒ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันการเมืองที่สำคัญสถาบันหนึ่งของออสเตรเลีย คือ วุฒิสภา มิได้เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง เรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับกับสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลีย และเขตปกครองทางตอนเหนือในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียหลังปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗)
        
       การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง
        
       กรณีของวุฒิสภา ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของออสเตรเลียว่างลงด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม จะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม อำนาจการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่เป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติของรัฐที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง เช่น สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ลาออก สภานิติบัญญัติของรัฐนิวเซาท์เวลส์ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ สภานิติบัญญัติของรัฐต้องเลือกสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่จากพรรคการเมืองเดิมของสมาชิกวุฒิสภาที่พ้นจากตำแหน่งไป อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๕) เกิดเหตุการณ์ที่สภานิติบัญญัติของรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ ได้ลงมติเลือกสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่ที่มิได้มาจากพรรคการเมืองเดิมแทนตำแหน่งที่ว่าง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ดุลอำนาจในวุฒิสภาของออสเตรเลียจะเปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์เดิมของประชาชนที่ได้แสดงออกผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง นอกจากนี้ อำนาจของวุฒิสภาของออสเตรเลียนั้นมีมากเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ[๗] กล่าวคือ ถ้าร่างกฎหมายใด ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภาลงมติคัดค้าน ก็ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ ดุลอำนาจในวุฒิสภาจึงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ และการผลักดันนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุผลทั้งสองประการดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียในขณะนั้นนำโดยนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เฟรเซอร์ (Malcolm Fraser) ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับให้สภานิติบัญญัติของรัฐต่างๆ ต้องเลือกสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่จากพรรคการเมืองเดิมของสมาชิกวุฒิสภาที่พ้นจากตำแหน่งไป ทั้งนี้เพื่อรักษาดุลอำนาจของพรรคการเมืองต่างๆ ในวุฒิสภาไว้ดังเดิม
       
        เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) ประชาชนชาวออสเตรเลียทั้ง ๖ รัฐ คือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิคตอเรีย รัฐแทสเมเนีย รัฐออสเตรเลียใต้ รัฐควีนส์แลนด์ และรัฐออสเตรเลียตะวันตก ได้ออกเสียงประชามติสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้โดยมีผู้เห็นด้วยรวมทั้งประเทศ๕,๔๗๗,๗๗๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๓.๓๒[๘] โดยมีผู้ไปออกเสียงประชามติถึงร้อยละ ๙๒.๓๔ ผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากทั้งสองระดับ ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองทางตอนเหนือ และเขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลีย ยังไม่มีสิทธิออกเสียงประชามติในเวลานั้น
       
       กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดซึ่งเป็นผลจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น คือ สมาชิกวุฒิสภาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ สังกัดพรรคเลเบอร์ (Australian Labor Party) ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (ค.ศ. ๒๐๑๒) ที่ผ่านมา[๙] พรรคเลเบอร์ได้เสนอชื่อสมาชิกพรรคเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง คือ นายโรเบิร์ต จอห์น คาร์ (Robert John Carr) ซึ่งสื่อมวลชนออสเตรเลียเรียกขานว่า บ๊อบ คาร์ (Bob Carr) อดีตมุขมนตรี (Premier)[๑๐] ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ สภานิติบัญญัติของรัฐได้มีมติรับรองเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (ค.ศ. ๒๐๑๒) ที่ผ่านมา[๑๑] สมาชิกวุฒิสภาท่านใหม่นี้ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (ค.ศ. ๒๐๑๒) อีกด้วย[๑๒] การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างในครั้งนี้ ส่งผลให้ดุลอำนาจในวุฒิสภาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พรรคเลเบอร์ยังคงมีสมาชิกวุฒิสภา ๓๑ คนจากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น ๗๖ คน น้อยกว่าพันธมิตรระหว่างพรรคลิเบอร์รัล (The Liberal Party of Australia) และพรรคแนชั่นแนล (The National Party of Australia) ซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภา ๓๔ คน [๑๓]
        
       
       สิทธิของประชาชนในเขตปกครองทางตอนเหนือ และเขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลียในการออกเสียงประชามติกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
                         
       ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองทางตอนเหนือ และเขตปกครอง นครหลวงของออสเตรเลียไม่มีสิทธิในการออกเสียงประชามติกรณีมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เฟรเซอร์ ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนในเขตปกครองทั้งสองแห่งได้มีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียในอนาคต การลงประชามติเกิดขึ้นในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) เช่นเดียวกัน ผลการลงประชามติปรากฏว่า ประชาชนชาวออสเตรเลียทั้ง ๖ รัฐลงมติสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ด้วยคะแนนเสียงรวม ๗,๖๐๕,๘๘๒ ต่อ ๕,๘๐๕,๖๖๙ คิดเป็นร้อยละ ๗๗.๗๒[๑๔] ประชาชนในเขตปกครองทั้งสองแห่งได้มีโอกาสออกเสียงประชามติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. ๑๙๘๔)[๑๕] อนึ่ง คะแนนเสียงของประชาชนในเขตปกครองทั้งสองแห่งจะนับรวมเพื่อพิจารณาเสียงข้างมากระดับแรกเท่านั้น การพิจารณาเสียงข้างมากระดับที่สองยังคงนับคะแนนจากทั้ง ๖ รัฐเหมือนเดิม
        
        
       
       บทเรียนสำหรับประเทศไทย   
        
       จากที่อธิบายมาทั้งหมด การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียทุกครั้งล้วนต้องผ่านการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวออสเตรเลียเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายทั้งสิ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาบันทางการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกรณีตัวอย่างสองกรณีข้างต้น ยิ่งไปกว่านั้น หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการออกเสียงประชามติยังเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองระดับ ทำให้นับแต่ก่อตั้งประเทศออสเตรเลียมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียประสบความสำเร็จเพียง ๘ ประเด็น จากความพยายามทั้งสิ้น ๔๔ ประเด็น      
          
       เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญของประเทศไทย ในบรรดารัฐธรรมนูญ ๑๘ ฉบับที่มีผลใช้บังคับ มีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) เพียงฉบับเดียวที่ผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนชาวไทยก่อนที่จะมีผลใช้บังคับ การออกเสียงประชามติของประชาชนชาวไทยเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ๑๔,๗๒๗,๓๐๖ เสียง ไม่เห็นชอบ ๑๐,๗๔๗,๔๔๑ เสียง[๑๖] ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนชาวไทยผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ แต่อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาโดยอาศัยเพียงเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาในการประชุมร่วมกันเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายเสมือนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย[๑๗]  
       
       บทบัญญัติในลักษณะนี้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ สมัคร สุนทรเวช พยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภาในขณะนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๔๘๐ คน และสมาชิกวุฒิสภา ๑๕๐ คน รวมสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น ๖๓๐ คน กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่ากับ ๓๑๕ เสียง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น ๓๑๖ เสียงขึ้นไป รัฐบาลในขณะนั้นมีเสียงสนับสนุน ๓๑๖ เสียงพอดี สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย และไม่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด ความพยายามครั้งนั้นนำไปสู่การชุมนุมประท้วงต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) ยาวนานถึง ๑๙๓ วัน กลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนชาวไทยก่อนมีผลบังคับใช้เยี่ยงรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียแล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่จำเป็นต้องชุมนุมประท้วง หรือใช้วิธีการรุนแรง แต่สามารถไปรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นอย่างสันติวิธี ความชอบธรรมในการชุมนุมประท้วงและการใช้ความรุนแรงย่อมหมดลงทันที
       เมื่อประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพสูงอย่างประเทศออสเตรเลียยังกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสูงสุดของประเทศ และได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งดังที่ได้อธิบายไปแล้ว เหตุใด ประเทศไทยจะมีบทบัญญัติเช่นนี้บ้างไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาที่เริ่มมีกระแสเกี่ยวกับการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ต้องการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในวาระที่ ๓ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีเสียงท่วมท้นในสภาผู้แทนราษฎรและนำเสนอนโยบายว่าด้วยการปรองดองมาโดยตลอด ควรพิจารณาถอยหนึ่งก้าว ด้วยการลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ ๓ ก่อน จากนั้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลสามารถคงบทบัญญัติต่างๆ ไว้ตามเดิมได้ แต่เพิ่มบทบัญญัติอีกมาตราหนึ่งโดยมีสาระสำคัญว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ ๓ แล้ว ต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อนมีผลบังคับใช้
       
       ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามที่ผู้เขียนเสนอ รัฐบาลก็มีสิทธิรณรงค์ให้ประชาชนเห็นด้วยกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี ฯลฯ ก็สามารถไปรณรงค์ให้ประชาชนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้ประชาชนลงประชามติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต้องชุมนุมประท้วง โอกาสที่จะเกิดความรุนแรง และวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่อันเนื่องมาจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญย่อมลดน้อยลงทันที รัฐบาลเองย่อมได้รับการยกย่องจากคนไทยทุกฝ่ายว่า เป็นรัฐบาลที่ต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ และเป็นรัฐบาลที่เคารพหลักการประชาธิปไตย คือ เคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
       
        
       ในระยะยาว ไม่ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีบทบัญญัติอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในอนาคตจะสำเร็จได้ ต้องผ่านการลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศโดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้วิกฤติการณ์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
                        
                                      
       

       
       

       
       

       [๑] “Commonwealth of Australia Constitution Act”,
       [http://www.aph.gov.au/About_Parliament/Senate/Powers_practice_n_procedures/Constitution/preamble], ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๒] “Federation Fact Sheet 1 - The Referendums 1898-1900”, [http://www.aec.gov.au/About_AEC/publications/Fact_Sheets/factsheet1.htm], ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๓] “1900 - Popular Referendum on Australian Federation”, [http://www.waec.wa.gov.au/elections/state_referendums/referendum_details/1900%20-%20Popular%20Referendum%20on%20Australian%20Federation/], ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๔] Attorney-General’s Department and Australian Government Solicitor, Commonwealth of Australia, The Constitution as in force on 1 June 2003 together with Proclamation Declaring the Establishment of the Commonwealth, Letters Patent Relating to the Office of Governor-General, Statute of Westminster Adoption Act 1942, Australia Act 1986 with Overview, Notes and Index (Canberra: Attorney-General’s Department, 2003), ๕๗

       
       

       [๕] เรื่องเดียวกัน

       
       

       [๖] “Referendums Overview”, [http://www.aec.gov.au/elections/referendums/Referendums_Overview.htm], ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๗] John Summers, “Parliament and Responsible Government”, in Government, Politics, Power and Policy in Australia, eds.Dennis Woodward,Andrew Parkinand John Summers, 9th ed.(Frenchs Forest, NSW: Pearson Australia, 2010), ๗๕

       
       

       [๘] Parliamentary Library, Department of Parliamentary Services, 43rd Parliament: Parliamentary Handbook of the Commonwealth of Australia, 32nd ed. (Canberra: Parliamentary Library, Department of Parliamentary Services, 2011), ๓๙๒

       
       

       [๙] Emma Griffiths, “Mark Arbib resigns from Parliament”, 28 February 2012, [http://www.abc.net.au/news/2012-02-27/arbib-resigns-from-parliament/3855488], ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๑๐] หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลของแต่ละรัฐของออสเตรเลีย คล้ายๆ กับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐต่างๆ (Governor) ของสหรัฐอเมริกา

       
       

       [๑๑] “Bob Carr endorsed as NSW senator”, 6 March 2012, [http://www.abc.net.au/news/2012-03-06/bob-carr-endorsed-as-nsw-senator/3872094], ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๑๒] “Carr sworn in as Foreign Affairs Minister”, 13 March 2012, [http://www.abc.net.au/lateline/content/2012/s3452668.htm], ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

       
       

       [๑๓] Norman Abjorensen, “The Senate game-change”, 1 June 2011, [http://inside.org.au/the-senate-game-change/], ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
       
       

       
       

       [๑๔] Parliamentary Library, Department of Parliamentary Services, 43rd Parliament: Parliamentary Handbook of the Commonwealth of Australia, ๓๙๓

       
       

       [๑๕] เรื่องเดียวกัน, ๓๙๔

       
       

       [๑๖] ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔๕ ก วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ หน้า ๘

       
       

       [๑๗] ดูมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔๗ ก วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ หน้า ๑๑๗

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544