การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อ คนไม่พิการ โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ |
|
|
|
อาจารย์อานนท์ มาเม้า
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
๑.บทนำ
สภาพการณ์ในสังคมไทยแสดงให้เห็นว่า คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไปมาตั้งแต่อดีต ดังนั้น ในเวลาต่อมาประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อคนพิการโดยมิใช่เพียงเพราะเห็นว่าคนพิการเป็นบุคคลผู้น่าสงสารหรือผู้ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อน แต่เพราะเห็นว่าคนพิการเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นบุคคลที่จำต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั้งหลายซึ่งมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นหลักประกัน เพราะฉะนั้น ความสำคัญของคนพิการที่รัฐจำต้องให้ความคุ้มครองจึงแปรผันจากแนวคิดแบบความเวทนาปรานี (compassion) มาเป็นความสำคัญตามแนวคิดแบบสิทธิ (right)
ความตระหนักถึงคนพิการในมุมมองเชิงสิทธินำไปสู่การรับรองและบัญญัติมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการอย่างมีนัยสำคัญไว้ในหลายฉบับ รวมถึงท่าทีของประเทศไทยกฎหมายระหว่างประเทศ ดังปรากฏให้เห็นจากการให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ของสหประชาชาติ (United Nation) เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ และมีผลใช้บังคับเมื่อ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ ตัดสินว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า ...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคสาม โดยเหตุผลสำคัญคือ บทบัญญัติในส่วนดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการ
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕ มิได้เป็นคำวินิจฉัยที่มีผู้เห็นพ้องต้องตามโดยปราศจากข้อโต้แย้ง หากแต่มีความเห็นทางวิชาการที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับหลักกฎหมายมหาชนบางประการ และอาจนำมาซึ่งผลที่ไม่พึงควรจะเกิดขึ้นในระบบกฎหมายไทยตามมาในอนาคต แต่ผู้เขียนจะไม่กล่าวโดยละเอียดในที่นี้ ถึงกระนั้น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้เน้นย้ำให้เห็นถึงท่าทีของประเทศไทยซึ่งพยายามแสดงบทบาทว่าสนับสนุนสิทธิคนพิการมากขึ้นกว่าในอดีต
ท่าทีที่น่าสนใจเมื่อไม่นานมานี้ คือ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกประกาศลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ ชื่อว่า ประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๒ อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระดับ ๓ จำนวน ๑ อัตรา และตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ ๓ จำนวน ๑ อัตรา ทั้งนี้ ทั้งสองอัตราที่ประกาศนั้น ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ เป็นคนพิการ (ล่าสุด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ปิดรับสมัครและประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแล้ว โดยการสอบจะมีขึ้นในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖)
๒.บทวิเคราะห์
ข้อที่ชวนให้สงสัยว่า เงื่อนไขของคุณสมบัติที่ผู้สมัครต้องเป็นคนพิการเท่านั้น จะถือเป็นการกีดกันมิให้ คนไม่พิการ มีสิทธิสมัครเข้าแข่งขันโดยขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ หรือไม่อย่างไร ผู้เขียนมีความคิดเห็นดังนี้
การที่จะพิจารณาว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่นั้น ในเบื้องต้น จำเป็นที่จะต้องตระหนักว่า รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่งได้รับรองไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ประเด็นปัญหาของประกาศฉบับดังกล่าวมีอยู่ว่า คนพิการ กับ คนไม่พิการ มีความเท่าเทียมกันหรือไม่ภายใต้เงื่อนไขการรับสมัครเฉพาะแต่คนพิการของประกาศฉบับนี้ ลำพังเพียงเห็นว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเลือกรับเฉพาะแต่คนพิการเข้าสอบแข่งขัน ไม่อาจด่วนสรุปได้ ความสำคัญของการวิเคราะห์คือ การพิจารณาว่าสาระสำคัญของตำแหน่งข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้ประกาศรับสมัครนั้นคืออะไร และในระหว่าง คนพิการ และ คนไม่พิการ มีความแตกต่างในสาระสำคัญเกี่ยวกับการเข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้ประกาศหรือไม่
เหตุที่ต้องพิจารณา สาระสำคัญ ก็เพราะเหตุว่า หลักความเสมอภาคในทางกฎหมายมีสารัตถะคือ หลักกฎหมายที่เรียกร้องให้รัฐ ...ต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน การปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนกันในสาระสำคัญแตกต่างกันก็ดี หรือการปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกันก็ดี ย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาค... ดังที่ได้อรรถาธิบายไว้โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๔๒/๒๕๔๗ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางทฤษฎีและสอดรับกับคติบทว่าด้วยความยุติธรรมของอริสโตเติล อีกทั้ง สารัตถะนี้ยังพบให้เห็นจากการใช้และตีความกฎหมายในทางปฏิบัติของไทยอีกมากมายในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.๑๔/๒๕๔๘, คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๙/๒๕๕๒ หรือคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๕๑/๒๕๕๓ และความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๓๒๕/๒๕๔๗
จากข้อเท็จจริง ตำแหน่งข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศรับสมัครมี ๒ ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระดับ ๓ และตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ ๓ โดย หน้าที่ความรับผิดชอบ ปรากฏอยู่ในข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ ของประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ข้อ ๒.๑ กำหนดว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง เช่น ช่วยทำหน้าที่ในการค้นหา รวบรวมข้อมูลกฎหมายและวิชาการ และจัดเก็บประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจรับคำร้องเรื่องที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา การให้บริการข้อมูลต่างๆ และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปนั้น ข้อ ๒.๒ กำหนดว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง เช่น งานธุรการ งานบุคคล งานจัดระบบงาน งานงบประมาณ งานการเงินและบัญชี งานพัสดุ งานสถานที่และยานพาหนะ งานจัดพิมพ์และแจกจ่ายเอกสาร งานระเบียบแบบแผน งานรวบรวมสถิติ งานสัญญา งานนโยบายและแผน ร่างโต้ตอบหนังสือ จดบันทึกและเรียบเรียงรายงานการประชุมทางวิชาการ และรายงานอื่นๆ ทำเรื่องติดต่อหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ติดตามผลการปฏิบัติตามมติของที่ประชุม ศึกษารายละเอียดของงานที่ได้รับการวิเคราะห์ จัดระบบและวางแผน เขียนคำสั่งให้เครื่องจักร ประมวลผล ทดสอบความถูกต้องของคำสั่ง ควบคุมและให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์และโสตทัศนูปกรณ์ พิจารณาจัดหาและคัดเลือกหนังสือ ให้เลขหมู่หนังสือ ทำดัชนี บรรณานุกรม ควบคุมตรวจสอบ จัดทำจดหมายเหตุศาลรัฐธรรมนูญ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ติดต่อประสานกับหน่วยงานอื่นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง กำหนดไว้ในข้อ ๓.๒ ของประกาศฉบับดังกล่าวว่า ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้อง ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางกฎหมายหรือรัฐศาสตร์หรือทางรัฐประศาสนศาสตร์ หรือทางอื่น ที่ อ.ศร. กำหนดให้ใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้ และสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปนั้นจะต้อง ๑. ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางการบริหาร หรือทางอื่น ที่ อ.ศร. กำหนดให้ใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้ หรือ ๒. ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับอื่นที่ อ.ศร. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้
ผู้เขียนเห็นว่า หน้าที่ความรับผิดชอบ และ คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการพิจารณาบุคคลเข้ารับตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด เนื่องจากหน้าที่ความรับผิดชอบย่อมกำหนดบทบาทและภาระในการปฏิบัติงานเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ และคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งก็เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อเลือกเฟ้นคุณสมบัติของบุคคลให้เหมาะสมกับแต่ละงาน
จาก หน้าที่ความรับผิดชอบ และ คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของงานดังที่ปรากฏในประกาศฉบับนั้น ย่อมจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นที่มีลักษณะเฉพาะตัวเช่นใดก็ตาม สาระสำคัญย่อมอยู่ที่ความสามารถและความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปได้ อีกทั้งหากพิจารณาเกี่ยวกับ หลักสูตรและวิธีการสอบ ซึ่งปรากฏในข้อ ๕ ของประกาศ ทั้ง ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และ ภาคความเหมาะสมสำหรับตำแหน่ง ย่อมจะพบว่าเป็นการสอบวัดความรู้ที่บุคคลโดยทั่วไปผู้มีความรู้ทางวิชาการตามที่ประกาศกำหนดและมีความเหมาะสมต่อตำแหน่ง ก็ย่อมสามารถเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุในตำแหน่งทั้งสองได้อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น เมื่อสาระสำคัญของงานอยู่ที่ ความรู้ความสามารถ และ ความเหมาะสม ต่อตำแหน่งของงาน การเป็น คนพิการ หรือ คนไม่พิการ จึงไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญของการประกาศรับสมัครเพื่อให้ได้บุคคลเข้ามาบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่ง ผู้เขียนเห็นว่า คนพิการ ที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ และไม่มีความเหมาะสม ตลอดจนไม่มีความรู้ที่จะสามารถผ่านการทอดสอบได้ เช่น ไม่สามารถกระทำการตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ประกาศกำหนดไว้ได้ หรือได้รับวุฒิการศึกษานอกเหนือจากที่ประกาศกำหนด หรือมีลักษณะไร้ความสามารถ เช่น เป็นอัมพาตทั้งร่าง เช่นนี้แล้ว การเป็น คนพิการ ที่มีลักษณะดังกล่าวย่อมไม่คู่ควรกับตำแหน่ง เช่นเดียวกันกับ คนไม่พิการ ที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ และไม่มีความเหมาะสมหรือไม่มีความรู้ที่จะสามารถผ่านการทอดสอบได้ ย่อมไม่อาจเข้ารับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวได้เช่นกัน
เมื่อการเป็น คนพิการ หรือการเป็น คนไม่พิการ มิใช่สาระสำคัญที่แท้จริงของเงื่อนไขของตำแหน่งดังกล่าว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจนำเอาเรื่องที่มิใช่เป็นสาระสำคัญอย่างการเป็น คนพิการหรือการเป็น คนไม่พิการ มากำหนดเป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลเป็นปฏิเสธ คนไม่พิการ มิให้เขาสมัครสอบได้ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสม ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนพิการหรือเป็นคนไม่พิการก็ตาม บุคคลนั้นพึงมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือก ประกาศฉบับนี้จึงขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ประเด็นมีข้อพิจารณาว่า การที่ประกาศเลือกที่จะรับเฉพาะ คนพิการ และปฏิเสธ คนไม่พิการ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อ คนไม่พิการ อันขัดต่อหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคสามหรือไม่ นั้น เห็นว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนคือ ความไม่พิการ เป็นเหตุแห่งความแตกต่างที่รัฐไม่อาจเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ เนื่องจาก ความไม่พิการ มิได้เหมือนกรณี ความพิการ ซึ่งได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในวรรคสามของมาตราดังกล่าว
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การตีความเรื่องข้อห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรมนั้น พึงเข้าใจว่า ข้อห้ามดังกล่าวสืบสาวมาจากหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ที่เรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันให้ไม่เหมือนกัน เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเรื่องเป็นหลักจึงเท่ากับว่า เหตุต่างๆ ที่พรรณนาไว้จึงเป็นเพียงตัวอย่าง เมื่อเป็นเพียงตัวอย่าง จึงทำให้ข้อห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่อาจถูกจำกัดเท่าจำนวนที่ปรากฏชัดแจ้งในตัวบทเท่านั้น ข้อห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจึงอาจห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่ง ความไม่พิการ ก็ได้ การตีความรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคสาม จึงต้องตีความจากสารัตถะที่แท้จริงของหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ประเด็นต่อไปคือ ประกาศรับแต่ คนพิการ นี้ ถือเป็นกรณีตามวรรคสี่ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ ที่ว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม หรือไม่
จากข้อเท็จจริง ภายใต้สาระสำคัญอย่างเดียวกันในประกาศนี้เห็นได้ชัดว่าคนพิการก็สามารถเข้าสอบแข่งขันกับคนไม่พิการได้ตามปกติ เนื่องจากสาระสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความรู้ความสามารถที่วัดกันโดยข้อเขียนทางวิชาการและความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ การประกาศเช่นนี้ต่างหากที่สร้างสิทธิพิเศษให้คนพิการมีเหนือคนไม่พิการภายใต้สาระสำคัญอย่างเดียวกัน คนพิการที่มีคุณสมบัติที่เป็นสาระสำคัญของตำแหน่งย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถสมัครสอบแข่งขันได้ และหากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธว่า คนพิการรายใดไม่มีสิทธิสมัครสอบ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญย่อมอาจถูกคนพิการฟ้องร้องต่อศาลว่าการใช้ดุลพินิจไม่รับสมัครสอบนั้นเป็นดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งนำไปสู่การระงับข้อพิพาทและการเยียวยาสิทธิของคนพิการต่อไป
เพราะฉะนั้น คุณสมบัติตามประกาศรับสมัครตำแหน่งดังกล่าวสามารถทำให้คนพิการมีโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องประกาศคุณสมบัติของ ความพิการ เข้าไปด้วยแต่อย่างใด เนื่องจากภายใต้คุณสมบัติเรื่องความรู้และความสามารถตามประกาศนี้ไม่มีทางทำให้ คนไม่พิการได้เปรียบ คนพิการ สาระสำคัญที่ตั้งอยู่ที่ความรู้ความสามารถที่เหมาะกับตำแหน่งงาน (ที่รัฐจำเป็นต้องได้คนที่มีคุณภาพตามตำแหน่ง) จึงเปิดทางให้คนพิการที่มีสาระสำคัญดังกล่าวมีสิทธิสมัครได้โดย ไม่มีอุปสรรคที่จะต้องไปขจัด และ ไม่จำเป็นต้องส่งเสริม เพื่อให้คนพิการสามารถ ใช้สิทธิได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น กรณีนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจอ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคสี่ได้
ระหว่างการวิเคราะห์ประกาศฉบับนี้ ผู้เขียนฉุกคิดว่า ที่สุดแล้ว กรณีนี้ช่างน่าสงสัยว่าเรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่อง อาชีพ หรือ สวัสดิการสาธารณะ กันแน่
ก่อนที่จะนำไปสู่คำถามว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่อง อาชีพ (occupation) หรือ สวัสดิการสาธารณะ (public welfare) ผู้เขียนขอเสนอให้ลองวิเคราะห์ว่า กรณีการรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการสามารถเทียบได้กับกรณีรับสมัครนักเรียนผู้พิการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ซึ่งเปิดรับเฉพาะการแข่งขันกันเองระหว่างนักเรียนผู้พิการ) ได้หรือไม่
คำตอบของผู้เขียน คือ การรับสมัครสอบให้นักเรียนผู้พิการแข่งขันกันเองก็เพื่อให้โอกาสในการศึกษาขยายไปยังกลุ่มคนพิการให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการไม่นำเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นมาตรฐานหลักมาตัดสิน แต่ในขณะที่การรับสมัครเจ้าหน้าที่ของรัฐมีภาษีอากรของประชาชนที่ต้องจ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อแลกกับการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้น ซึ่งรัฐจำเป็นที่จะต้องได้บุคคลที่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่เพื่อให้ภารกิจของรัฐบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด โดยความเหมาะสมดังกล่าวก็คือความรู้และความสามารถที่เหมาะกับแต่ละตำแหน่งนั่นเอง
ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น อาชีพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเหมาะสมและมีความรู้ความสามารถตามแต่ละกรณี อีกทั้งรัฐธรรมนูญฯ ก็ให้หลักประกันเรื่องความเสมอภาคตามกฎหมาย โดยไม่ว่าจะเป็น คนไม่พิการ หรือ คนพิการ หากมีศักยภาพเพียงพอต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันได้อย่างเสมอภาคกัน (เว้นแต่ว่าการใช้สิทธิที่จะเข้าแข่งขันนั้น คนพิการประสบอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิสมัครเข้าสอบแข่งขัน อาทิเช่น การเดินทางมาสมัครสอบมีความยากลำบากเพราะอุปสรรคเรื่องความพิการ รัฐก็ต้องไปแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดอุปสรรคเรื่องการเดินทางของคนพิการ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการใช้สิทธิสมัครสอบ มิใช่ว่าคนพิการไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้มีคุณสมบัติสำหรับการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้) อีกทั้ง การที่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น อาชีพ ย่อมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญประการหนึ่งที่บุคคลได้รับการรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการ...ประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๓
ในที่สุด หากจะถือว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น สวัสดิการสาธารณะ เช่นเดียวกับกรณีการเปิดรับสมัครนักเรียนคนพิการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะกลายเป็นว่า คนพิการย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมในการสมัครสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษระหว่างคนพิการด้วยกัน และการได้มาซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐจากช่องทางการเปิดรับสมัครเฉพาะคนพิการ ย่อมไม่จำเป็นที่จะได้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป หากยอมรับทัศนะที่ว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสวัสดิการสาธารณะของคนพิการ ต่อจากนี้ไป สังคมไทยอาจจะต้องยอมรับโดยดุษณีว่า เราจะมีการเปิดรับสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งครู อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการทูต และอัยการหรือผู้พิพากษาตุลาการ ฯลฯ ที่มาจากการกำหนดคุณสมบัติของการเป็นคนพิการโดยเฉพาะเจาะจง
๓.บทสรุป
จริงอยู่ที่สังคมไทยสั่งสมปัญหาเรื่องสิทธิและความเสมอภาคของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลิดรอนที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความชอบธรรมที่ประเทศไทยจะดำเนินการรับรองสิทธิคนพิการอย่างชัดแจ้งและดำเนินการใช้บังคับกฎหมายและกำหนดท่าทีของรัฐต่อประชาคมโลกอย่างจริงจัง เพื่อให้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นแก่คนพิการซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตจำต้องจบสิ้นลง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐพยายามกำจัดความอยุติธรรมในอดีตนั้น จำเป็นต้องระลึกว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีตไม่อาจก่อให้เกิดความชอบธรรมที่จะสร้างความอยุติธรรมในปัจจุบันและในอนาคตได้ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการจึงจำเป็นต้องระมัดระวังมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนไม่พิการด้วย
ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากประกาศของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นอุทาหรณ์ที่น่าสนใจและสร้างคำถามแปลกใหม่ให้แก่แวดวงกฎหมายมหาชน และจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเห็นว่าประกาศฉบับนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาของประกาศฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งอาจถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้โดย คนไม่พิการ ผู้ถูกกระทบสิทธิ หรือโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้เขียนจึงเห็นว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญควรประกาศรับสมัครโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น คนพิการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทต่อไป
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|