หน้าแรก บทความสาระ
คำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการหยุดทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath day) (หน้าสอง)
คุณวรรณา สุพรรณธะริดา เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 6 ว
21 ตุลาคม 2555 18:15 น.
 
14.  ค.ศ.  1963  คดี  Trans World Airlines, INC. v. Hardison[1] 
                       ประเด็นที่ศาลพิจารณา  คือ  บริษัทกระทำการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานที่ไม่ให้เลือกปฏิบัติเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  โดยไม่ได้กระทำการเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ต้องการหยุดงานใน
       วันเสาร์ที่เป็นวันศักดิ์สิทธิ์หรือไม่  ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า  กรณีนี้ไม่พบเจตนาในการเลือกปฏิบัติในการใช้ระบบอาวุโสของบริษัทนายจ้าง  และนายจ้างไม่มีหน้าที่ตามบทบัญญัติในส่วนที่  7  ที่ต้องกำหนดข้อยกเว้นพิเศษ  เนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  ในกรณีทางเลือกในการอำนวยประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ต้องการหยุดงานใน
       วันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาในคดีนี้นั้น  ศาลพบว่า  “เป็นภาระเกินสมควร”  แก่นายจ้าง  อาทิ  การไม่ใช้ระบบอาวุโสเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่การปฏิบัติศาสนาของลูกจ้าง  หรือการที่นายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างทำงาน  4  วันต่อสัปดาห์  ก็จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในแต่ละรอบงานที่ลูกจ้างต้องหยุดเป็นประจำ
       ทุกสัปดาห์  และทางเลือกให้ผู้ควบคุมงานทำงานแทนหรือจ้างลูกจ้างรายอื่นทำแทน  ก็จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างให้กับนายจ้างหรือประสิทธิภาพในงานตำแหน่งอื่น ๆ จะลดลง  ซึ่งการเรียกร้องให้บริษัทต้องแบกภาระมากกว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ (de minimis cost) เพื่อให้ลูกจ้างไม่ต้องทำงานในวันเสาร์นั้นถือเป็นภาระเกินสมควร 
                       ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยมีความเห็นแย้งว่า  นายจ้างอาจอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง โดยจ่าย
       ค่าล่วงเวลาให้แก่บุคคลที่สมัครใจทำงานแทน  โดยคาดว่าบางคนอาจเต็มใจทำงานในวันเสาร์เพื่อได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น  และให้ลูกจ้างเป็นผู้ชำระค่าล่วงเวลานั้นแทน  หรือตามที่ลูกจ้างเสนอ  คือ  ขอทำงานล่วงเวลาในวันอื่นโดยได้รับค่าจ้างปกติ  หรือนายจ้างอาจโอนลูกจ้างกลับไปทำงาน  ณ  ตำแหน่งงานเดิมที่มีอาวุโสมากพอที่จะได้เลือกรับรอบงานที่ไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ได้ตามที่ลูกจ้างร้องขอ  ซึ่งการดำเนินการข้างต้นอาจกระทบต่อข้อตกลงเรื่องการเจรจารวมกัน (collective bargaining agreement) เพราะว่าข้อสัญญากำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานเกินกว่า  40  ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น  (premium pay)  และในส่วนหลังข้อตกลงห้ามการโอนลูกจ้างมากกว่า  2  ครั้ง  ภายในหกเดือน  แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักการความอาวุโสหรือไม่เป็นการพรากสิทธิของลูกจ้างภายใต้สัญญาจ้างงาน  ไม่ถือว่าการอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างในคดีนี้เป็นการสร้างภาระที่เกินสมควร 
                       15.  ค.ศ.  1985  คดี  Estate of Thornton v. Caldor[2] 
                       ประเด็นที่ศาลพิจารณา  คือ  กฎหมายคอนเนตทิคัต ละเมิดหลักการสถาปนาศาสนาหรือไม่  กรณีที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ที่จะไม่ทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ (Sabbath) ศาลเห็นว่า  กฎหมาย
       คอนเนตทิคัตละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  เพราะให้น้ำหนักไปทางกลุ่มผู้ปฏิบัติ  Sabbath  หรือแม้แต่กลุ่มศาสนาอื่นโดยทั่วไป  ให้อยู่เหนือกลุ่มผลประโยชน์อื่น  เป็นผลให้เกิดการส่งเสริมศาสนาและการพัวพันระหว่างศาสนาและรัฐมากเกินไป
                       กฎหมายคอนเนตทิคัตได้แก้ไขปรับปรุงประเภทกิจการที่สามารถเปิดดำเนินการได้ในวันอาทิตย์  และกำหนดห้ามการจ้างงานที่เกินหกวันต่อสัปดาห์  และกำหนดให้บุคคลที่อ้างว่าตนไม่สามารถทำงานได้ในวันใดเป็นพิเศษในสัปดาห์เพราะเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาแล้ว  นายจ้างไม่สามารถให้ทำงานได้  หากลูกจ้างปฏิเสธที่จะทำงานในวันดังกล่าวไม่ถือเป็นเหตุผลของการให้ออกจากงาน  Donald E. Thornton ซึ่งเป็น
       ผู้นับถือศาสนาเพรสไบทีเรียนได้เริ่มทำงานเป็นผู้ตรวจสอบของร้าน Caldor Department Store ในเขต
       นิวอิงแลนด์  ในขณะนั้นมีกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์  และต่อมาในปี  ค.ศ.  1977  รัฐได้ปรับปรุงกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์  ทำให้  Thornton  ต้องทำงานในวันอาทิตย์  เพื่อทำงานให้ทันต่องานนั้น  โดยผู้จัดการถูกกำหนดให้ต้องทำงานในวันอาทิตย์ที่  3  หรือที่  4  ของเดือน  จนกระทั่งปลายปี  ค.ศ.  1979  Thornton  ได้ยื่นขอหยุดงานในวันอาทิตย์โดยอ้างว่าเพื่อการปฏิบัติศาสนา  บริษัทได้ปฏิเสธการขอหยุดงานทุกวันอาทิตย์ของ  Thornton  และเสนอให้เขาโยกย้ายไปทำงานที่สาขาอื่นในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีนโยบายในการปิดร้านวันอาทิตย์  ซึ่งเขาปฏิเสธการโยกย้าย  บริษัทได้เสนอให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้จัดการ  และลดค่าจ้างในการทำงานลง  ซึ่ง  Thornton  ได้ปฏิเสธการไปทำงานในตำแหน่งอื่น
                       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐเห็นว่า  กฎหมายคอนเนตทิคัตที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิอย่างสมบูรณ์และ
       ไม่เหมาะสม  (absolute and unqualified right)  ที่จะไม่ทำงานในวันใดเนื่องจากการปฏิบัติทางศาสนาโดยเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดวันทำงานดังกล่าวได้ฝ่ายเดียว  นั้น  ละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  (Establishment Clause)  เพราะกฎหมายให้น้ำหนักไปทางกลุ่มผู้ปฏิบัติศาสนาอยู่เหนือกลุ่มผลประโยชน์นายจ้างและลูกจ้างคนอื่นในสถานที่ทำงาน  โดยไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายหรือผลประโยชน์ของนายจ้างหรือลูกจ้างคนอื่น  ที่ไม่ได้มีวันศักดิ์สิทธิทางศาสนา  นายจ้างและบุคคลอื่นต้องปรับปรุงกิจการตามที่กฎหมายกำหนดทุกครั้ง  เมื่อมีการเรียกร้องให้นายจ้างต้องปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว  โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้  กฎหมายดังกล่าวได้สร้างภาระทางเศรษฐกิจต่อนายจ้างหรือสร้างภาระต่อลูกจ้างคนอื่นที่ต้องทำงานแทนลูกจ้างที่ต้องการหยุดงานเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  และยิ่งกว่านั้น  กฎหมายไม่คำนึงถึงว่านายจ้างได้ดำเนินการอย่างใดมาบ้าง  เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่
                       16.  ค.ศ.  1987  Hobbie v. Unemployment Appeals Commission of Florida[3]
                       ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือ  มลรัฐฟลอริดาละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่  ในกรณีปฏิเสธไม่จ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้กับบุคคลที่ถูกให้ออกจากงาน  เนื่องจากปฏิเสธการทำงานในบางรอบเวลางาน  เพราะความเชื่อทางศาสนา
                       ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า  Paula Hobbie  เป็นลูกจ้างบริษัทอัญมณี Lawton ตั้งแต่ปี  ค.ศ.  1981  โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ตำแหน่งพนักงานฝึกหัดจนถึงได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท  ใน ปี  ค.ศ.  1984  Hobbie  ได้แจ้งหัวหน้างานว่า  ตนได้เข้ารับความเชื่อในศาสนาคริสต์นิกาย  Seventh-day Adventist Church  และด้วยเหตุผลทางศาสนาทำให้ไม่สามารถทำงานได้ในวันศักดิ์สิทธิ์  (Sabbath)  ตั้งแต่ระหว่างเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินในวันศุกร์ถึงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์  ซึ่งหัวหน้างานได้ทำการเปลี่ยนกะงานกับเธอแทน  จนกระทั่งผู้จัดการทั่วไปของบริษัทได้ทราบเรื่องดังกล่าว  และได้มีการพูดคุยระหว่าง  Hobbie  และบาทหลวงของศาสนานิกายดังกล่าว (minister)  ต่อมาผู้จัดการได้แจ้งให้  Hobbie  เลือกระหว่างการทำงานตามรอบงานของตนเองกับการลาออกจากงาน  Hobbie  ปฏิเสธที่จะเลือก  บริษัทจึงได้ไล่เธออกจากงาน  ต่อมา  Hobbie  ได้ยื่นคำร้องขอค่าชดเชยการว่างงาน  (unemployment  benefits)  จากกระทรวงแรงงานมลรัฐฟอริดา  (Department of Labour and Employment Security)  ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายของ
       มลรัฐฟอริดา  ผู้ที่จะได้รับค่าชดเชยดังกล่าวต้องเป็น  “ผู้ไม่มีงานทำ  ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตนเอง”  ซึ่งบริษัท Lawton  แจ้งว่า  Hobbie  เป็นผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับงาน  (misconduct connected with her work)[4]  Hobbie  ถูกปฏิเสธไม่ได้รับค่าชดเชยการว่างงาน  และศาลอุทธรณ์ของมลรัฐฟอริดายืนตามความเห็นของคณะกรรมการ  (Unemployment Appeals Commission) 
                       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า[5]  รัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่ 1  คุ้มครองเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของลูกจ้างที่หันมานับถือศาสนาหรือเปลี่ยนแปลงศาสนาภายหลังจากได้ถูกจ้างงานไปแล้ว  การเปลี่ยนศาสนาภายหลังของ  Hobbie  ไม่ใช่สาระสำคัญในการพิจารณาว่ามีการกีดกันทำให้เกิดอุปสรรคกับ  Hobbie  ในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่  ซึ่งในคดี  Sherbert  และคดี  Thomas  และคดีนี้  ลูกจ้างถูกบังคับให้เลือกระหว่างความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อทางศาสนาของตนกับการยังคงมีงานทำต่อไป  การลงโทษด้วยการไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน  ทำให้เกิดการบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และปฏิเสธว่าการให้สิทธิประโยชน์กับ  Hobbie  คือ  การละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  ซึ่งศาลเห็นว่า  ศาลได้ยอมรับมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานแล้วว่า  ในบางครั้งรัฐต้องอำนวยประโยชน์ต่อการปฏิบัติศาสนาและการกระทำของรัฐในลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นการละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  เช่น  ในคดี Wisconsin v. Yoder  และคดี  Walz v. Tax Commission  รัฐต้องแสดงประโยชน์ของรัฐที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  (Compelling state interest)  ในการดำเนินการดังกล่าว
                       17.  ค.ศ.  1989  คดี  Frazee  v.  Illinois[6]  
                       ประเด็นที่ศาลพิจารณา  คือ  สามารถยกข้ออ้างเรื่องการปฏิบัติศาสนามาเป็นเหตุวินิจฉัยว่า  บุคคลขาดคุณสมบัติในการขอรับสิทธิผลประโยชน์จากการว่างงาน  เพราะบุคคลปฏิเสธที่จะสมัครงานที่เหมาะสมหรือยอมรับตำแหน่งงานที่เหมาะสมที่ได้รับการเสนอ  นั้น  ตามกฎหมายประกันการว่างงาน  (The  Illinois  Unemployment  Insurance  Act)  ของมลรัฐอิลลินอยส์  อันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาหรือไม่  
                       ศาลวินิจฉัยว่า  “ความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคล อย่างจริงใจ”  ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ   แม้บุคคลไม่ได้ปฏิญาณตนเป็นสมาชิกของศาสนาที่ได้รับการจัดตั้ง  (established church) ที่มีหลักคำสอนหรือข้อบัญญัติห้ามการทำงานในวันอาทิตย์  แต่มีความเชื่อโดยจริงใจว่า  ศาสนาที่ตนนับถือห้ามไม่ให้มีการทำงานใด ๆ ในวันอาทิตย์  การปฏิเสธสิทธิประโยชน์จากการว่างงานเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  และศาลไม่พบผลประโยชน์ของรัฐที่มากเพียงพอที่จะบังคับใช้อำนาจรัฐเหนือเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาในคดีนี้  ซึ่งคดีนี้  Frazee  ผู้ร้อง  ได้ยืนยันว่าเขาเป็นคริสเตียน  แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของนิกายใด ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีหลายนิกายของศาสนาคริสต์ที่ไม่มีข้อบังคับในการห้ามทำงานในวันอาทิตย์  แต่ความเป็นจริงนี้ก็ไม่เป็นการ  “ลดทอน”  การคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของ  Frazee  
                       ศาลอธิบายว่า  การเป็นสมาชิกในกลุ่มนิกายศาสนาโดยเฉพาะกลุ่ม  ที่มีข้อบัญญัติเฉพาะที่ห้ามสมาชิกทำงานในวันอาทิตย์นั้นเป็นการง่ายในการวินิจฉัยหาข้อสรุปปัญหาเรื่อง  “ความเชื่ออย่างจริงใจในการปฏิบัติตามหลักศาสนา”  แต่ในกรณีการปฏิเสธรับงานของ  Frazee  นั้นอยู่บนหลัก  “ความเชื่อทางศาสนาอย่างจริงใจส่วนบุคคล”  ซึ่งได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ  ศาลไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของมลรัฐอิลลินอยส์ที่ว่า  จริงอยู่ที่การปฏิบัติตามความเชื่อของ  Frazee  ถือว่าเป็นการปฏิบัติทางศาสนา  แต่ไม่เพียงพอที่จะนำมากล่าวอ้างเพราะการปฏิบัติตามความเชื่อนั้น  ไม่ได้เป็นไปตามข้อบัญญัติหรือหลักคำสอนทางศาสนาที่  Frazee เป็นสมาชิก 
                       18.  ค.ศ.  1990  คดี  Petit v. Minnesota[7] 
                       ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือ  กฎหมายทั่วไปของมินนิโซตา  มาตรา  6513[8]  ที่ตราขึ้นในปี  ค.ศ.  1894  บัญญัติห้ามการเปิดร้านตัดผมในวันอาทิตย์เพราะไม่ใช่การงานที่จำเป็นหรือการกุศล  นั้น  ศาลเห็นว่า  “การงานที่จำเป็น”  นั้น  ไม่จำต้องรวมร้านตัดผม  ซึ่งเจตนารมณ์ในการห้ามทำงานในวันอาทิตย์นั้น  เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้ปลอดจากการทำงานและให้ได้รับการพักผ่อนแบบเต็มวัน  ถ้าอนุญาตให้เปิดกิจการได้ลูกจ้างก็ต้องมาทำงานต่อไป  ซึ่งศาลเห็นว่า  กิจการร้านตัดผมมักเปิดจนกระทั่งเวลาเย็นทุกวันและตลอดวัน  ซึ่งลูกจ้างทำงานมากกว่ากิจการประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะต้องทำงานหนักในวันเสาร์กลางวันและเย็น  และผู้ชายมักมีนิสัยชอบผัดผ่อนการตัดผมมาจนถึงวันอาทิตย์  หากร้านเปิดวันอาทิตย์ได้  ลูกจ้างก็ต้องถูกพรากสิทธิในการได้รับวันพักผ่อน  ซึ่งศาลเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ทำเกินกรอบอำนาจในการกำหนดห้ามร้านตัดผมเปิดทำการในวันอาทิตย์ 
                       ซึ่งในคดีนี้ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐได้เทียบเคียงคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดคดี  Hennington v. Georgia  ว่า  ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจออกหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ความสะดวกสบาย  ความสุข  และสุขภาพของประชาชน  ในเรื่องการกำหนดวันทำงานภายในมลรัฐ  และประเภทการงานที่จำเป็นและการกุศล  ที่เป็นข้อยกเว้น  ซึ่งศาลเห็นว่า  การที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดร้านตัดผมไว้ว่าไม่สามารถเปิดทำการได้วันอาทิตย์ได้ก็เพื่อเกิดความชัดเจนให้ไม่ต้องตีความว่า  “ร้านตัดผม”  เป็นกิจการที่จำเป็นหรือไม่  ซึ่งไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด  และแนววินิจฉัยคดีของประเทศอังกฤษ  (House of Lord)  ที่วินิจฉัยว่า  การตัดผมในวันอาทิตย์ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นหรือการกุศลแต่อย่างใด  และคำพิพากษาของหลายมลรัฐก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
        
       3.  บทสรุป           
                       กฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์  (Sunday Closing Laws)  เป็นที่ยอมรับว่ามีรากฐานที่มาจากเรื่องศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย  จากบทบัญญัติที่  4  ในบทบัญญัติ  10  ประการ  ที่กำหนดให้มีวันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า  ที่ห้ามการทำงานทุกชนิดเพื่อให้ทาส  สัตว์  ทุกชนิดได้มีโอกาสพักผ่อนหนึ่งวันต่อสัปดาห์  ซึ่งศาสนายูดายมักถือวันเสาร์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์  ส่วนศาสนาคริสเตียนมักถือเอาวันอาทิตย์เป็นวันหยุด  ในอดีตการห้ามทำกิจกรรมในวันอาทิตย์เป็นเรื่องที่เคร่งครัดมาก  ถึงขั้นกำหนดให้กิจกรรมที่กระทำในวันอาทิตย์เป็นโมฆะและไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่กระทำในวันอาทิตย์  แต่ปัจจุบันได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก  บางมลรัฐได้กำหนดกิจกรรมเป็น  2  ลักษณะ  คือ  กิจกรรมที่อนุญาตให้กระทำได้กับกิจกรรมที่ไม่อนุญาตให้กระทำ  โดยอาจกำหนดเขตพื้นที่และช่วงเวลาที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ทำได้  เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวันศักดิ์สิทธิ์  ให้มีบรรยากาศที่เอื้อให้บุคคลได้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา  เช่น  งดกิจกรรมบริเวณรอบศาสนสถาน  ห้ามกิจกรรมที่ป่าเถื่อนโหดร้ายขัดต่อหลักศาสนา  ห้ามขายสุรา  เป็นต้น  โดยเป็นอำนาจระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่นในการกำหนดวันหยุดพร้อมกันในสัปดาห์  (common period of rest)  ในหลายมลรัฐจึงมีกฎหมายหยุดทำงานในวันอาทิตย์ของตนเองถือเป็นการกำหนดให้หยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแตกต่างกันไปได้  และไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว  แม้แต่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เอง  ประเด็นดังกล่าวจึงมักถูกหยิบยกขึ้นพูดจากันเป็นระยะ  ถึงบางขณะมีการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเสียเลย    
                       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาได้วางหลักไว้ว่า  กฎหมายหยุดงานวันอาทิตย์  นั้น  แม้มีจุดกำเนิดมาจากเรื่องทางศาสนา  แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนกลับเป็นประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาด้วย  และดูเหมือนจะเป็นประโยชน์มากกว่าทางศาสนา  กลายเป็นกฎหมายสวัสดิการสังคมที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อกำหนดวันหยุดงานของประชาชนอย่างพร้อมเพรียง  เพื่อบรรยากาศของการสันทนาการ  ความสดใส  การปล่อยวาง  ความสนุกสนานและการพัฒนาสุขภาพของประชาชน  ซึ่งประโยชน์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น  หากรัฐอนุญาตให้บุคคลเลือกวันหยุดหนึ่งวันในสัปดาห์โดยไม่พร้อมกัน  แม้มีกิจการบางประเภทหรือนายจ้างบางคนต้องเสียประโยชน์จากการต้องหยุดงานในวันอาทิตย์บ้างก็ตาม  แต่ก็ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในหลักเสรีภาพทางศาสนาและหลักสถาปนาศาสนา  ตามรัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  1  (McGowan v. Maryland, Two Guys v. McGinley, Braunfeld v. Brown, Gallagher v. Crown Kosher Market, Arlan’s Department Store v. Kentucky, Petit v. Minnesota)  และยังวางหลักให้ลูกจ้างสามารถได้รับสิทธิค่าชดเชยจากกองทุนประกันการว่างงาน  ในกรณีการถูกเลิกจ้างเนื่องจากปฏิเสธที่จะทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์ได้  (Sherbert v. Verner, Hobbie v. Unemployment Appeals Commission of Florida, Frazee v. Illinois)
                       ปรัชญาในการกำหนดให้บุคคลและสัตว์ต้องได้รับวันพักผ่อนดังกล่าว  ได้พัฒนามาเป็นหลักกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานในนานาอารยประเทศที่นายจ้างไม่อาจปฏิเสธสิทธิของลูกจ้างในการต้องมีวันพักผ่อนอีกต่อไป  แต่อย่างไรก็ตาม  การอ้างเหตุผลทางศาสนามาเป็นเหตุหยุดงานนั้น  ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา
       เห็นว่า  ไม่อาจกำหนดให้ลูกจ้างรายใดรายหนึ่งสามารถกำหนดวันหยุดงานได้ด้วยตนเองจากเหตุผลทางศาสนา  โดยผลักภาระไปให้นายจ้างและลูกจ้างรายอื่นจนเกินสมควรได้  (Trans Worls Airlines, Inc. v. Hardison, Estate of Thornton v. Caldor)
        
       ______________________________
        
        
       ภาคผนวก
       McGowan v. Maryland
       366 U.S. 420 (1961)
       ข้อเท็จจริง
       ลูกจ้างของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  ที่ตั้งอยู่บนถนนไฮเวย์  ในเขตการปกครองท้องถิ่น  Anne Arundel County  มลรัฐแมริแลนด์  ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายสินค้าบางประเภท  ได้แก่  วัสดุสำหรับเข้าเล่ม  วัสดุเคลือบผิวพื้น  เครื่องเย็บกระดาษ  ลวดเย็บกระดาษและของเล่นในวันอาทิตย์  (Sunday Closing Laws)  และถูกปรับเป็นจำนวน  5  ดอลลาร์  โดยสินค้าที่กฎหมายอนุญาตให้ขายได้ใน
       วันอาทิตย์  เช่น  บุหรี่  นม  ลูกอม  ขนมปัง  ผลไม้  แก๊สโซลีน  น้ำมันรถ  น้ำมันหล่อลื่น  ยา  หนังสือพิมพ์และวารสาร  และปัจจุบันกฎหมายเพิ่มสิ่งที่อนุญาตให้จำหน่ายได้อีก  อาทิ  อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาล 
       ของที่ระลึก  อุปกรณ์สำหรับรถยนต์และเรือ  และยกเว้นร้านค้าปลีกที่จ้างลูกจ้างไม่เกินหนึ่งคนนอกเหนือจากเจ้าของกิจการสามารถเปิดกิจการได้ในวันอาทิตย์  กฎหมายหลายมาตราของมลรัฐแมริแลนด์ห้ามกิจกรรมบางประเภทในวันอาทิตย์หรือจำกัดกิจกรรมบางประเภทให้สามารถกระทำได้ในเฉพาะบางช่วงเวลา  สถานที่  และเงื่อนไขบางประการเท่านั้น  ลูกจ้างในคดีดังกล่าวโต้แย้งว่า  กฎหมายละเมิดหลักความเสมอภาคและกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย  (Equal Protection and Due Process Clause)  เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  14  และหลักการสถาปนาศาสนา  ตามรัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  1 
       คำพิพากษา
       ศาลพิพากษา[9]ว่า  กรณีกฎหมายมาตรา  27,  521[10]  บัญญัติห้ามการใช้แรงงาน  การประกอบธุรกิจ  และกิจกรรมทางการค้าต่าง ๆ ในวันอาทิตย์  ผู้ฝ่าฝืนที่มีโทษทางอาญา  และการจัดกลุ่มสินค้าและกิจกรรมต่าง ๆ กฎหมายดังกล่าว  ขัดต่อหลักการความเสมอภาค (Equal Protection) หรือกฎหมายดังกล่าวกว้างขวางเกินไปที่จะทำให้ทราบได้ว่ากิจกรรมใดเป็นสิ่งต้องห้ามและละเมิดกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย  (Due process)  และกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนา  (Establishment Clause)  หรือหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  (Free Exercise Clause)  หรือไม่ 
       ศาลเห็นว่า  ในการพิจารณากฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณากฎหมายมาตราอื่นประกอบด้วย  เช่น  มาตรา  492[11]  ที่กำหนดห้ามบุคคลทำการงานใด ๆ หรือการใช้แรงงานในวันอาทิตย์  และห้ามเด็กหรือลูกจ้างทำงานในวันดังกล่าว  หรือห้ามทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการตกปลา  การล่าสัตว์  และการทำงานแบบ
       ไม่เต็มเวลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หรือสันทนาการต่าง ๆ เว้นแต่  เป็นงานที่จำเป็นและเป็นการกุศล  มาตรา  522[12]  ไม่อนุญาตให้เปิดหรือใช้สถานที่เพื่อการเต็มรำ  การแสดงละครเวที  การโยนโบว์ริง  หรือร้านตัดผม 
       ในวันอาทิตย์  และมาตรา  509[13]  ที่กำหนดยกเว้นเฉพาะเขตการปกครองท้องถิ่น  Anne Arundel County  ที่สามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอาบแดด  ห้องอาบน้ำ  สถานที่เต้นรำ  และสวนสนุก  รวมถึงกิจกรรม
       ที่เกี่ยวเนื่องและการค้าปลีกที่โดยจารีตแล้วจำหน่ายในบริเวณดังกล่าว  และการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและธุรกิจดังกล่าว  มาตรา  90  ห้ามจำหน่ายสุราในวันอาทิตย์  แต่อย่างไรก็ตาม  ภายหลังมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว  ให้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ได้บางประเภท  ในบางเวลา  ในบางพื้นที่  และกฎหมายมาตราอื่น ๆ ที่กำหนดข้อยกเว้นในเรื่องดังกล่าวในแต่ละเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นในมลรัฐ  ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมที่อนุญาตในบางพื้นที่ให้ทำได้ในวันอาทิตย์  เช่น  กีฬา  ฟุตบอล  เบสบอล  กอล์ฟ  เทนนิส  โบว์ริง  ฯลฯ  การร้องเพลง  การเล่นดนตรี  การจัดแสดงภาพยนตร์  การเต้นรำ  กิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ซึ่งในบางพื้นที่กิจกรรมทุกประเภทถูกห้ามทั้งหมดตลอดวัน  บางพื้นที่ห้ามจนกระทั่งภายหลังเที่ยงหรือในเวลาเย็น  เนื่องจากผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้องไปโบสถ์ในวันอาทิตย์  2  ครั้ง  คือ  เวลาเช้าและเวลาเย็น  บางพื้นที่ห้ามดำเนินกิจกรรมใกล้โบสถ์ในระยะที่กำหนดในขณะที่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  โดยเห็นว่า 
       ประเด็นที่  1  กรณี  มาตรา  27,521  เป็นบทบัญญัติที่ละเมิดหลักความเสมอภาค  ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  14  หรือไม่  ศาลเห็นว่า  รัฐธรรมนูญให้มลรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในการตรากฎหมายที่มีผลกระทบต่อบุคคลบางกลุ่มแตกต่างกัน  รัฐธรรมนูญคุ้มครองเฉพาะกรณีที่เป็นการจัดกลุ่มมาจากมูลฐาน  ที่ไม่เกี่ยวกับวิธีทาง  ที่ทำให้เจตนารมณ์ในการตรากฎหมายของมลรัฐบรรลุผลได้  และศาลเห็นว่า  การจัดกลุ่มของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในวันอาทิตย์ตามมาตราดังกล่าว  ไม่อาจกล่าวได้ว่าปราศจากเหตุผลและความสำคัญที่เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายนิติบัญญัติ  หรือเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่กว้างขวาง  โดยเฉพาะในกรณีที่อนุญาตเฉพาะร้านค้าปลีกในเขตการปกครองท้องถิ่น  Anne Arundel County  จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการอาบแดด  สวนสนุก  นั้น  ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่าง
       ไม่เป็นธรรมต่อร้านค้าปลีกในเขตการปกครองท้องถิ่นอื่นในมลรัฐแมริแลนด์  โดยฝ่ายนิติบัญญัติได้มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน  และเพิ่มบรรยากาศของการสันทนาการในวันอาทิตย์ และต้องการเครื่องดื่มต่าง ๆ และครอบครัวที่เดินทางไปนอกเมืองย่อมต้องการน้ำมันรถเช่นกัน  สำหรับกรณี
       ที่กฎหมายกำหนดห้ามกิจกรรมแตกต่างกันในบางพื้นที่นั้น  ศาลเห็นว่า  ความเสมอภาคเกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างบุคคล  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่และความเหมือนกันตลอดเขตพื้นที่  ซึ่งการใช้ดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติดังกล่าวไม่พบว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม
       ประเด็นที่  2  กรณี  มาตรา  27,521  เป็นบทบัญญัติที่ละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  และหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาตามรัฐธรรมนูญ  หรือไม่  ศาลเห็นว่า เนื่องจากผู้ร้องอ้างเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจ  โดยไม่ได้อ้างถึงการละเมิดเสรีภาพทางศาสนา  จึงไม่มีประเด็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่ประการใด
       ศาลอธิบายว่า  จริงอยู่ที่จุดกำเนิดของกฎหมายการหยุดงานวันอาทิตย์เกิดจากความพยายามในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์และเป็นการคุ้มครองวันสักการะของคริสตศาสนิกชน  แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนกลับเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ฆราวาส  (secular purpose)  มากกว่าผลประโยชน์ทางศาสนา และกลายเป็นหนึ่งในกฎหมายสวัสดิการสังคมที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการกำหนดวันหยุดของประชาชนอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อการสร้างบรรยากาศของการสันทนาการ  ความสดใส  การปล่อยวาง  ความสนุกสนานและการพัฒนาสุขภาพของประชาชน  ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐอนุญาตให้ประชาชนเลือกวันหยุดหนึ่งวันในแต่ละอาทิตย์เพื่อพักผ่อนจากงาน 
       ศาลได้ทบทวนความเป็นมาของกฎหมายปิดกิจการวันอาทิตย์ว่า  เริ่มมาจากกฎหมายของประเทศอังกฤษ  ในปี  ค.ศ.  1237  พระเจ้าเฮนรี่ที่  3  ห้ามมีตลาดค้าขายในวันอาทิตย์  ค.ศ.  1354  เอ็ดเวิร์ดที่  3  ห้ามจำหน่ายไหมทอผ้าจากขนสัตว์  ค.ศ.  1409  เฮนรี่ที่  4  ห้ามเล่นเกมส์ที่ไม่ถูกกฎหมายในวันอาทิตย์  ค.ศ.  1444  เฮนรี่ที่  6  ห้ามมีตลาดในลานของโบสถ์ในวันอาทิตย์  และสี่ปี  ต่อมา  กำหนดห้ามการค้าและการทำตลาดทุกชนิดหรือจัดแสดงสินค้า  พระเจ้าเอ็ดเวิรด์ที่  6  ห้ามการทำงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานทุกประเภท  ใน  ค.ศ.  1625 สมัยพระเจ้าชาร์ลที่  1  มีการห้ามกีฬาและงานรื่นเริง  ฯลฯ 
       สำหรับการหยุดงานในวันอาทิตย์  ในยุคอาณานิคมอเมริกันนั้นเริ่มแต่ปี  ค.ศ.  1650  ในอาณานิคมพลีมัธห้ามการทำงานที่ใช้แรงงาน  หรือการเดินทางที่ไม่จำเป็น  กีฬา  การขายเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ใน
       วันพระเจ้าและกำหนดให้บุคคลต้องไปโบสถ์  ซึ่งในอาณานิคมแมสซาชูเซตส์  คอนเนตทิคัต  นิวเฮแวน  มีบทกฎหมายใกล้เคียงกัน  กฎหมายในลักษณะดังกล่าวได้ใช้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  1 
       ต่อมา  ภายหลังศตวรรษที่  18  เริ่มมีความเห็นว่า  การกำหนดให้หยุดงานหนึ่งวันในวันอาทิตย์นั้นไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะเรื่องศาสนาเท่านั้น  ยังเป็นเรื่องของการพักผ่อนและการฟื้นฟูร่างกายด้วย  เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์  เพื่อช่วยคนชั้นล่าง  เพื่อมิให้ถูกความทารุณโหดร้ายหรือความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรงของจิตวิญญาณแห่งความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ใช้แรงงานโดยไม่มีวันหยุด  โดยให้ยังคงสามารถประกอบอาชีพของตนได้  โดยมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข  และในปี  ค.ศ.  1679  กฎหมายอาณานิคมโรดไอแลนด์ให้เหตุผลในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวว่า  เพื่อเป็นการป้องกันบุคคลที่มีจิตใจชั่วร้าย  มักจะถือโอกาสที่จะใช้งานลูกจ้างของตน  เกินกว่าความจำเป็นเสมอ  และในเวลาต่อมาเริ่มมีการตัดคำว่า  “Lord’s day”  ออกไปและใช้คำว่า  Sunday  แทน  ใน  ค.ศ.  1785  เจมส์  แมดิสัน  ได้เสนอกฎหมายลงโทษผู้ที่ไม่หยุดงานในวันศักดิ์สิทธิ์โดยมีโทษปรับ[14]
       ภายหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ครั้งที่  1  (1791)  แล้ว  บทบัญญัติกฎหมายที่บังคับบุคคลให้ไปโบสถ์ก็ถูกยกเลิกไป  และต่อมาในประเทศอังกฤษ  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่  1  คณะกรรมการตรวจสอบสุขภาพผู้ทำงานในโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายงานว่า  จะเกิดผลผลิตสูงสุด  ต้องกำหนดให้มีการพักหนึ่งวันต่อสัปดาห์  และบนพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจการพักผ่อนประจำสัปดาห์ควรเป็นวันอาทิตย์  ซึ่งภายหลังต่อ ๆ มา  กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มการค้าก็สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว 
       ซึ่งเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหยุดวันอาทิตย์ไปในหลากหลายรูปแบบ  พบว่าปัจจุบัน  เกือบทุกมลรัฐมีระบบกฎหมายเกี่ยวกับหยุดงานวันอาทิตย์และเกือบ  40  มลรัฐ  เป็นระบบกฎหมายหยุดงานวันอาทิตย์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์  ซึ่งหลายมลรัฐบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยกระทรวงแรงงาน  (Department of Labour) 
       จากพัฒนาการกฎหมายปิดงานวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลายศตวรรษ  พบว่าในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องทางโลกมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนา  และไม่พบความสัมพันธ์กับหลักการสถาปนาศาสนาตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา  ซึ่งที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลสหรัฐและมลรัฐมักดำเนินการในเรื่องใด ๆ เพื่อประโยชน์ในเรื่องสุขภาพ  ความปลอดภัย  สันทนาการ  และความอยู่ดีของประชาชน  ซึ่งเป็นกรณีของกฎหมายปิดกิจการวันอาทิตย์เช่นกัน 
       สำหรับกฎหมายวันหยุดในวันอาทิตย์ของมลรัฐแมริแลนด์เดิมที่มาจากเหตุผลทางศาสนาเช่นกัน  โดยบัญญัติครั้งแรกในปี  ค.ศ.  1649  บัญญัติให้เป็นความผิดอาญาในการดูหมิ่นพระเจ้า  โดยการกล่าวคำหยาบ  การเมา  หรือการสันทนาการที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยหรือป่าเถื่อน  หรือโดยการทำงานในวันดังกล่าวโดย
       ไม่จำเป็น  ค.ศ.  1692  ห้ามมีการทำงานในวันอาทิตย์  ค.ศ.  1723  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใกล้เคียงกับ
       ในปัจจุบัน  โดยยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการกล่าวคำหยาบและการเมาสุรา 
       ความเห็นแย้ง
       ผู้พิพากษา Douglas แสดงความเห็นแย้งว่า  ปัญหาคือรัฐบังคับกฎหมายนี้โดยกำหนดโทษทางอาญาต่อคนส่วนน้อยที่ไม่ใช่คริสเตียน  ที่มีพิธีการสักการะบูชาทางศาสนาในวันที่แตกต่างกันหรือมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันออกไปจากความเชื่อทางศาสนาของเสียงส่วนใหญ่  รัฐไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับให้พลเมืองละเว้นจากการกระทำที่ไม่ผิดในการค้าขายในวันอาทิตย์  เพียงเพราะการกระทำนั้นเป็นการละเมิดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาคริสต์  เพราะรัฐธรรมนูญห้ามรัฐในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปรัชญาทางศาสนาหรือจารีตประเพณีใด  รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง  ประชาชนมีเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  มีสิทธิที่จะเชื่อ  พูด  เขียน  สื่อ  และสนับสนุนที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในศาสนาใด  และกฎหมายที่เกิดมาจากประเพณีทางศาสนาไม่สามารถจะอ้างว่าเป็นกฎหมายฆราวาสได้
       เห็นว่า  ที่มาของกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์มาจาก  บทบัญญัติ  10  ประการ  ของศาสนาคริสต์  ในบทที่  4  ที่ว่า 
       "Remember the sabbath day, to keep it holy.
       "Six days shalt thou labour, and do all thy work:
       "But the seventh day is the sabbath of the LORD thy God: in it thou shalt not do any work, thou, nor thy son, nor thy daughter, thy manservant, nor thy maidservant, nor thy cattle, nor thy stranger that is within thy gates:
       "For in six days the LORD made heaven and earth, the sea, and all that in them is, and rested the seventh day: wherefore the LORD blessed the sabbath day, and hallowed it."
       Exodus 20:8-11.
        
       Braunfeld v. Brown
       366 U.S.599 (1961)
       ข้อเท็จจริง
                       กลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายยิว  ออธอดอกซ์  ได้คัดค้านกฎหมายปิดกิจการวันอาทิตย์ที่สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มของตนอย่างรุนแรง  โดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการบังคับใช้กฎหมายอาญาของมลรัฐเพนซิล
       เวเนีย  ที่บัญญัติขึ้นในปี  ค.ศ.  1959  ห้ามการขายของอุปโภคบริโภคที่ระบุในวันอาทิตย์[15]  โดยเห็นว่า  กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนา  (establishment of religion)  และเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของตน  (Free Exercise)  และหลักความเสมอภาค  (equal protection)
       โจทก์  Abraham Braunfeld  เป็นนักธุรกิจในเมืองฟิลาเดลเฟีย  ประกอบกิจการค้าปลีกจำพวกเสื้อผ้าและของตกแต่งบ้าน  ซึ่งอยู่ในรายการที่กฎหมายระบุห้ามการค้าขายในวันอาทิตย์  โจทก์เป็นผู้นับถือศาสนา  Orthodox Jewish  ที่มีข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ต้องหยุดทำงานในวันศักดิ์สิทธิ์  ที่เรียกว่า  Sabbath  คือ  การปิดกิจการและเว้นการทำงานอย่างสิ้นเชิง  (total abstention)  นับตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกดิน
       วันศุกร์จนถึงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์  โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอคำสั่งถาวรเพื่อไม่ให้บังคับใช้กฎหมาย  1959  ที่ขัดต่อหลักเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา (free exercise) ตามรัฐธรรมนูญ  ในคำร้องได้กล่าวหาว่า  ก่อนหน้านั้น  โจทก์ได้เปิดกิจการในวันอาทิตย์เพื่อชดเชยที่ต้องปิดกิจการในวันเสาร์  และการปิดกิจการในวันอาทิตย์เป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อการทำมาหากินและทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากโจทก์ได้สูญเสียเงินลงทุน  (capital investment)  ทำให้โจทก์สูญเสียทางธุรกิจอย่างมาก  และเป็นผลดีต่อคู่แข่งที่ไม่ต้องหยุดทำการงานในวันศักดิ์สิทธิ์  กฎหมายได้บังคับให้โจทก์ต้องเลือกระหว่างการสูญเสียทางเศรษฐกิจถ้าโจทก์ต้องหยุดทำการงานในวันศักดิ์สิทธิ์กับการยกเลิกการปฏิบัติในวันศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ  นอกจากนั้น  โจทก์ยังได้กล่าวหาว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคต่อศาสนา  Orthodox Jewish  ในการชักจูงบุคคลให้มาเป็นสมาชิกของศาสนา  และข้อโต้แย้งที่สำคัญ  คือ เสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของโจทก์ได้รับอุปสรรคจาการถูกกีดกันจากการดำเนินการของรัฐ
       คำพิพากษา
       ศาลพิพากษา[16]ว่า  กฎหมายหยุดวันอาทิตย์ของมลรัฐเพนซิลวาเนียไม่ขัดรัฐธรรมนูญ  ผู้พิพากษา Warren  เป็นผู้เขียนคำพิพากษาในคดีนี้  ได้อธิบายว่า  (1)  กฎหมายการปิดกิจการวันอาทิตย์เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์กิจกรรมทางฆราวาส  (2)  กฎหมายไม่ได้ห้ามการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาและไม่ได้บังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาหรือให้กล่าวหรือเชื่อในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาของตน (3)  กฎหมายไม่ได้ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อผู้ปฏิบัติ  Orthodox Jewish faith  ทุกคน  นอกจากบุคคลที่ต้องการจะทำงานในวันอาทิตย์  และ  (4)  โจทก์ยังมีทางเลือกต่าง ๆ  ในการดำเนินธุรกิจ
       ผู้พิพากษา  Warren  ได้อธิบายความเป็นมาของการวิวัฒนาการของกฎหมายการปิดกิจการ
       วันอาทิตย์  (Sunday Closing Laws)  โดยอ้างคดี  McGowan  ว่า  เป็นความพยายามในการกำหนดวันเพื่อความสงบสุข  การพักผ่อนและสันทนาการ  ให้เป็นวันที่มีบรรยากาศแห่งความสงบและสบายจาก  6  วัน  ที่มีการค้าขายตลอดสัปดาห์  ทั้งนี้  เพื่อประโยชน์เรื่องสุขภาพ  ความปลอดภัย  จริยธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง  เพื่อให้วันที่ความวุ่นวายทั้งหมดของสังคมสงบลงและเกิดบรรยากาศที่รื่นรมย์แทนที่  เป็นเวลาที่สมาชิกในครอบครัวและชุมชนจะมีโอกาสใช้เวลาร่วมกัน  เป็นวันที่เพื่อนฝูงและญาติจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนกันที่ไม่มีเวลาว่างในวันทำงานปกติ  และเป็นหนึ่งวันในสัปดาห์ที่ผู้ใช้แรงงานจะได้พักผ่อนเพื่อเรียกพลังงานกลับคืนมาอีกครั้ง  ซึ่งเหล่านี้คือ  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกังวลของรัฐที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม  ในกรณีที่โต้แย้งว่า  อาจมีวิธีการอื่นที่รัฐอาจบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้  ศาลได้กล่าวว่า  ประเด็นดังกล่าวได้ชี้แจงแล้วในคดี  McGowan  จึงจะไม่กล่าวในที่นี้อีก  ซึ่งเห็นว่าวิธีอื่นอาจไม่บรรลุเป้าหมายเท่ากับวันหยุดพร้อมกันนี้  
       ต่อประเด็นที่โต้แย้งว่า  รัฐอาจกำหนดข้อยกเว้นสำหรับผู้หยุดในวันศักดิ์สิทธิ์ในวันอื่นแล้ว  สามารถทำกิจการในวันอาทิตย์ได้นั้น  ศาลเห็นว่า  อาจเป็นการฉลาดที่จะทำเช่นนั้นและหลายมลรัฐก็มีการกำหนดข้อยกเว้นเช่นว่านั้น  แต่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว  ซึ่งการกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวอาจทำให้วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ไม่บรรลุได้ในกรณีการจำกัดบรรยากาศของการวุ่นวายกิจกรรมทางการค้า  และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็จะลำบากว่าผู้ใดละเมิดกฎหมายนี้บ้าง  แทนที่ตำรวจต้องตรวจสอบเพียงวันเดียวก็ต้องตรวจสอบทั้งสองวัน  และการอนุญาตให้บุคคลใดหยุดวันอื่นนอกเหนือจากวันอาทิตย์เพื่อเปิดทำกิจการค้าก็อาจมีข้อโต้แย้งจากผู้ที่ต้องหยุดงานวันอาทิตย์ว่า  ตนต้องเสียประโยชน์ในการค้าแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของตนได้ทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติ  ดังนั้น  เพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดวันอาทิตย์  บุคคลเหล่านั้นก็อาจหลีกเลี่ยงไปหยุดวันอื่นแทนได้  และกรณีนี้อาจทำให้รัฐจำต้องสืบหาความเชื่อโดยจริงใจของบุคคลในการปฏิบัติศาสนาได้  ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าวอาจทำให้รัฐละเมิดรัฐธรรมนูญได้  และท้ายที่สุด  เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการให้มีวันหยุดงานหนึ่งวันต่อสัปดาห์  นายจ้างที่ได้รับการยกเว้นอาจต้องว่าจ้างลูกจ้างที่ได้รับข้อยกเว้นให้ไม่ต้องทำงานในวันอาทิตย์เช่นกันเนื่องจากความเชื่อทางศาสนา  ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวรัฐอาจรู้สึกว่าเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐในการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน 
       ศาลเชื่อว่า  ผู้บัญญัติกฎหมายไม่สามารถคาดถึงว่าจะเกิดผลกระทบทางอ้อมในความเสียหายทางธุรกิจที่อาจจะเกิดต่อบางกลุ่มศาสนา  เพราะประเทศชาติมีหลากหลายกลุ่มศาสนาและแนวปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกันซึ่งเป็นมรดกของชาติที่สำคัญ  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบัญญัติกฎหมายที่ไม่ทำให้เกิดภาระในการปฏิบัติศาสนาของบางกลุ่มศาสนา  ถ้าวัตถุประสงค์และผลกระทบของกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนาหรือเป็นการเหยียดหรือกีดกันศาสนา  กฎหมายฉบับนั้นละเมิดหลักเสรีภาพทางศาสนา  (free exercise clause)  ภายใต้รัฐธรรมนูญถึงแม้อุปสรรคจะเพียงส่งผลทางอ้อม  แต่หากรัฐบัญญัติกฎหมายภายในอำนาจของรัฐ  วัตถุประสงค์และผลกระทบเพื่อการจรรโลงเป้าหมายของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา  กฎหมายฉบับนั้นไม่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ  แม้กฎหมายจะสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการปฏิบัติศาสนา เช่น  ในคดี  McGowan  ที่รัฐมีอำนาจในการกำหนดวันพักผ่อนสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกคนในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อสมาชิกครอบครัวและชุมชนจะได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันและเพื่อพัฒนาตนเอง 
       นอกจากนั้นแล้ว  เสรีภาพในการปฏิบัติทางศาสนาไม่ได้หมายถึงบุคคลมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากข้อจำกัดต่าง ๆ  ของกฎหมายและบุคคลไม่อาจละเว้นจากข้อจำกัดของกฎหมายเมื่อกิจกรรมทางศาสนานั้นละเมิดหน้าที่ต่อสังคมหรือระเบียบอันดีของสังคมหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์สาธารณะ  เช่น  ในคดี Reynolds ที่ศาลพิพากษาว่า  การมีภรรยาหลายคนตามความเชื่อของศาสนานิกายมอรมอนเป็นความผิดเพราะเป็นการละเมิดหน้าที่และระเบียบเรียบร้อยอันดีของสังคม  หรือในคดี  Prince  ที่กฎหมายกำหนดห้ามเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า  18  ปี  ขายหนังสือพิมพ์  หนังสือรายปักษ์หรือค้าขายใดในสถานที่สาธารณะขณะที่
       ผู้นับถือ  Jehovah’s Witnesses  เชื่อว่า  กิจกรรมดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเด็กผู้หญิง  กฎหมายไม่ได้ขัดแย้งกับหน้าที่ในการปฏิบัติศาสนาของ  Braunfeld  เพียงแต่กฎหมายทำให้เขาต้องจ่ายแพงมากขึ้นในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา  นอกจากนั้น  ไม่ใช่ผู้นับถือศาสนา  Orthodox Jews ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย  ยกเว้นผู้ที่ต้องการทำงานในวันอาทิตย์เท่านั้น
        
       ความเห็นแย้ง
       ผู้พิพากษา Harlan และผู้พิพากษา Brennan  เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในส่วนที่ว่า  กฎหมายมลรัฐเพนซิลเวเนียไม่ขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนาและหลักความเสมอภาค  แต่ขัดต่อหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา 
       โดยเห็นว่า  คุณค่าของรัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่  1  มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลมากกว่าความสำเร็จหรือจุดมุ่งหมายของส่วนรวม  ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของร้านค้าปลีกเล็ก ๆ  และยอมหยุดงานในวันศุกร์กลางคืนและวันเสาร์ที่เชื่อว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในการทำการค้า  เพื่อปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตน  และมาเปิดชดเชยในวันอาทิตย์  ซึ่งความสามารถในการเลี้ยงตัวดำรงชีพของโจทก์ถูกทำลายอย่างยิ่งในการที่ต้องหยุดงานวันอาทิตย์อีกหนึ่งวัน  ซึ่งในคดีนี้ศาลไม่ได้พิจารณาให้เห็นระหว่างกฎหมายนี้กับวัตถุประสงค์ที่ชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ  หรือสาระและความสำคัญของประโยชน์ของรัฐและความชอบด้วยเหตุผล  ซึ่งหากอนุญาตให้มีข้อยกเว้นสำหรับการทำงานในวันอาทิตย์ได้  ก็อาจจะมีเสียงดังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
       ในพื้นที่  และทำให้ตำรวจหรืออัยการทำงานยากขึ้นอีกสักหน่อย  แต่ก็เป็นความจริงด้วยที่ว่า  21  จาก  34  มลรัฐ  มีข้อยกเว้นเช่นที่กล่าวมานี้  แต่ก็ไม่ได้ถือว่ารัฐทั้งหลายนั้นมีเสียงดังเพิ่มขึ้นและตำรวจมีภาระที่เพิ่มมากขึ้นกว่ามลรัฐเพนซิลเวเนีย  แม้แต่ในประเทศอังกฤษ  ที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญบังคับเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ด้วยอิทธิพลในเรื่องความเป็นธรรม  ก็มีข้อยกเว้นสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ไม่ต้องหยุดงานในวันอาทิตย์อาจได้รับข้อได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม  ก็เสมือนกับการได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารของผู้ที่เชื่อว่าการเกณฑ์ทหารขัดแย้งทางมโนธรรมของตน 
       ผู้พิพากษา Douglas แสดงความเห็นแย้งว่า  กฎหมายการปิดกิจการวันอาทิตย์ไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้  และการบังคับกฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนาและเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา
        
       Sherbert  v.  Verner
       374  U.S.  398  (1963)
       ข้อเท็จจริง
       โจทก์  Adell  Sherbert  เป็นผู้นับถือศาสนา  เซเว่นเด  แอทแวนทีส  ปฏิเสธรับงานที่นายจ้างเสนอให้  เนื่องจากเธอไม่สามารถทำงานในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา  (Sabbath Day)  ตามข้อบัญญัติทางศาสนาที่เธอนับถือ  จึงถูกนายจ้างให้ออกจากงาน  โดยโจทก์เป็นสมาชิกของนิกายศาสนานี้ตั้งแต่ปี  ค.ศ.  1957  และโรงงานทอผ้าที่ทำงานอยู่นั้นกำหนดให้ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์  จนกระทั่งในปี  ค.ศ.  1959  การทำงานถูกกำหนดให้เป็นหกวันต่อสัปดาห์แทน  ซึ่งรวมถึงวันเสาร์ด้วยสำหรับการทำงานทั้งสามรอบงาน  และโจทก์พยายามไปหางานที่โรงงานทอผ้าอื่นแล้วแต่ทั้งหมดก็มีเงื่อนไขเดียวกัน 
       ในการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการจัดหางานนั้น  โจทก์ได้ทำข้อเสนอว่ายินดีในการไปทำงานที่โรงงานอื่น  หรือในอุตสาหกรรมประเภทอื่น  หากไม่มีการทำงานในวันเสาร์  ซึ่งจากหลักฐานพบว่าผู้ที่เป็นสมาชิกของนิกายนี้จำนวนประมาณ  150  คน  หรือมากกว่า  ที่อาศัยในเขตพื้นที่  Spartanburg  มีเพียงสองคนเท่านั้นรวมถึงโจทก์ในคดีนี้  ที่ไม่สามารถหางานที่ไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ได้  ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงานภายใต้กฎหมายการชดเชยการว่างงานของมลรัฐเซาท์แคลโรไลนา (South Carolina Unemployment Compensation Act) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่สามารถขอรับการชดเชยการว่างงานว่า  “บุคคลผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน  ต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำงานและพร้อมที่จะทำงาน”  และเพิ่มเติมว่า  “บุคคลจะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์นี้ได้  ถ้าบุคคลปฏิเสธที่รับงานที่เหมาะสม  ที่ได้รับการเสนอจากสำนักจัดหางานหรือนายจ้าง  โดยปราศจากเหตุผลที่ดี”  คณะกรรมการจัดหางาน  (Employment Security Commission)  พบว่า  การไม่สามารถทำงานได้ของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอรับสิทธิประโยชน์  เพราะการไม่สามารถทำงานวันเสาร์เป็นการขาดเหตุผลที่ดีในการปฏิเสธที่จะรับ  “งานที่เหมาะสมที่เสนอโดยกรมจัดหางานหรือนายจ้าง”  โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นและศาลสูงสุดมลรัฐเซาท์คาโรไลนาว่า  การปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงานของคณะกรรมการ  เป็นการละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  ศาลสูงสุดมลรัฐยืนตามความเห็นของคณะกรรมการที่ว่า  การปฏิเสธสิทธิการได้รับค่าชดเชยไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของโจทก์
       คำพิพากษา
       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาพิพากษาด้วยมติ  7  ต่อ  2[17]  กลับคำพิพากษาศาลสูงสุดมลรัฐ  โดย 
       ผู้พิพากษา  Brennan  เป็นผู้เขียนคำพิพากษาในคดีนี้ว่า  กฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการขาดคุณสมบัติการขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงานของกฎหมายเซาท์แคโรไลนานี้  เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาภายใต้หลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (free exercise clause) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา  โดยได้อธิบายหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา (Free Exercise Clause) ตามรัฐธรรมนูญว่า  เป็นเสมือนประตูที่ปิดอย่างแน่นหนาต่อการกำหนดกฎเกณฑ์ของรัฐที่ต่อต้านความเชื่อทางศาสนา  ห้ามรัฐกำหนดบทลงโทษหรือกีดกันบุคคลหรือกลุ่มบุคคล  เนื่องจากมุมมองทางศาสนาที่ต่อต้านอำนาจของรัฐ  ห้ามรัฐใช้อำนาจทางภาษีแทรกแซงการเผยแพร่มุมมองทางศาสนา  อย่างไรก็ตาม  หลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาไม่หมายถึงการให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติศาสนาที่ละเมิดกฎหมายของรัฐ  ถ้าการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้ามนั้นคุกคามต่อความปลอดภัย  ความสงบและระเบียบอันดีของสาธารณะ
       การที่คณะกรรมการจัดหางานปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์จากการว่างงานของโจทก์  เนื่องจากการ  “ขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนด”  ที่เกิดจากการปฏิบัติตามแนวทางศาสนา  เท่ากับเป็นการปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์จากการชดเชยการว่างงานซึ่งโจทก์ควรจะได้รับ  จึงเป็นการกำหนดทางเลือกที่  “สร้างภาระ”  ในการปฏิบัติศาสนาอย่างเสรีให้แก่โจทก์  เพราะกฎเกณฑ์ได้บังคับให้โจทก์เลือกระหว่างการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาที่ศรัทธากับการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับโดยการละทิ้งแนวปฏิบัติทางศาสนา  ถึงแม้ผลที่เกิดจากการกำหนดคุณสมบัติการขอรับสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติศาสนา  เป็นเพียงผลโดยอ้อมที่เกิดจากกฎหมายสวัสดิการของรัฐที่รัฐมีอำนาจในการบัญญัติ  แต่  “ถ้าวัตถุประสงค์หรือผลกระทบของกฎหมายเป็นการสร้างอุปสรรคต่อทุกศาสนาหรือบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาหรือเป็นการกีดกันอย่างไม่ยุติธรรมระหว่างศาสนา  กฎหมายฉบับนั้นถือว่าละเมิดหลักรัฐธรรมนูญถึงแม้ว่าจะเป็นผลกระทบโดยอ้อม” 
       มลรัฐเซาท์แคโรไลนาได้ปกป้องผู้สักการะทางศาสนาในวันอาทิตย์  จากการต้องตกอยู่ในสภาวะการต้องเลือกระหว่างการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาและการรักษาสิทธิผลประโยชน์ที่ลูกจ้างควรได้รับ  โดยการที่คณะกรรมการแรงงานของรัฐกำหนดกฎเกณฑ์ห้ามบังคับลูกจ้างให้ทำงานในวันอาทิตย์  หากลูกจ้างคัดค้านจากมโนธรรมส่วนบุคคล  การปฏิเสธที่จะทำงานวันอาทิตย์ไม่เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติการขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน  เพราะนายจ้างไม่สามารถฟ้องร้องลูกจ้างในการละเมิดกฎหมายนี้ได้  การที่รัฐปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์จากการชดเชยการว่างงานแก่กลุ่มชาวยิวที่ประสงค์จะหยุดพักผ่อนในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์  (Sabbatarian)  เพราะ  “ขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนด”  เนื่องจากปฏิเสธการรับงานที่เหมาะสมที่ต้องทำในวันเสาร์  จึงถือเป็นการกีดกันทางศาสนา
       ศาลได้พิจารณาว่า  ผลประโยชน์ของรัฐที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการบังคับใช้กฎหมาย (compelling state interest) ข้อกำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ของมลรัฐเซาท์แคโรไลนานั้น  ละเมิดสิทธิของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญ  ศาลอธิบายว่า  ในทุกคดีที่เกี่ยวกับหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  กำหนดให้รัฐต้องแสดงผลประโยชน์ของรัฐที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการบังคับใช้กฎหมาย  (compelling government interest)  ก่อนที่จะปฏิเสธการชดเชยสิทธิประโยชน์จากการว่างงานแก่บุคคลที่ถูกไล่ออก  หรือปฏิเสธรับงานที่ถูกเสนอเพราะงานนั้นขัดแย้งกับความเชื่อศาสนา  ในคดีนี้  ศาลพบว่าผลประโยชน์ของรัฐไม่เพียงพอที่จะนำมากล่าวอ้างในประเด็นตามรัฐธรรมนูญที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง  รัฐอ้างเพียงความเป็นไปได้ที่โจทก์อาจจะยื่นข้ออ้างที่หลอกลวงว่าเป็นการคัดค้านด้วยเหตุผลทางศาสนาในการไม่ทำงานวันเสาร์  ซึ่งเป็นการคุกคามเงินกองทุนชดเชยการว่างงานของรัฐและเป็นอุปสรรคในการวางแผนงานของนายจ้างในกรณีที่การทำงานในวันเสาร์เป็นสิ่งจำเป็น  ศาลชี้แจงว่าประเด็นความกังวลของรัฐนี้  ขาดหลักฐานที่เพียงพอที่จะรับรองความจำเป็นในการละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  ศาลอธิบายว่า  รัฐมีหน้าที่ในการปรับกฎเกณฑ์ที่จะไม่ให้มีการกระทำความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ  โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  
       ในคดีนี้  ศาลได้กำหนดบททดสอบ  (Sherbert Test)  เพื่อกำหนดเกณฑ์การกระทำของรัฐ  ที่นำไปสู่การละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของบุคคล  โดยประกอบด้วย  4  มาตรการ  ที่ศาลต้องพิสูจน์เป็นรายบุคคล  คือ  (1)  บุคคลมีความจริงใจในการปฏิบัติศาสนาหรือไม่  (2)  การกระทำของรัฐบาลได้สร้างภาระอย่างยิ่ง  (substantial burden)  ให้แก่บุคคลในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาหรือไม่  ถ้าคดีที่เกี่ยวกับหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนามีองค์ประกอบทั้ง  2  เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ว่า  (3)  การกระทำของรัฐเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐในการที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  (compelling state interest)  และ  (4)  วิธีการที่รัฐเลือกใช้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐนั้น  ได้สร้างข้อจำกัดหรือภาระต่อการปฏิบัติศาสนาของบุคคลน้อยที่สุดแล้ว  หรือไม่
       ศาลสรุปว่า  คำพิพากษาของศาลในวันนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการสถาปนาศาสนาเซเว่นเดแอทแวนทีส  ในมลรัฐเซาท์แคโรไลน่า  โดยการขยายสิทธิประโยชน์การว่างงานให้แก่กลุ่มชาวยิวที่ประสงค์จะหยุดพักผ่อนในวันเสาร์เช่นเดียวกับกลุ่มที่ขอหยุดงานในวันอาทิตย์เนื่องจากศาสนา  แต่ศาลแสดงให้เห็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นกลางของรัฐ  ในการเผชิญปัญหาความแตกต่างทางศาสนา  และการยอมรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของโจทก์  ไม่ได้เป็นการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของบุคคลอื่น  แต่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคล  ที่ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานที่มีสาเหตุการว่างงานจากการปฏิบัติตามข้อบัญญัติศาสนา  เพราะบุคคลเหล่านี้มิใช่สมาชิกที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม  ศาลยอมรับว่ารัฐมีอำนาจในการบัญญัติรูปแบบของการขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน  แต่รัฐไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติ
       ผู้ขอรับประโยชน์โดยการบังคับให้บุคคลละทิ้งข้อบัญญัติทางศาสนาที่กำหนดวันพักผ่อนของสมาชิกศาสนาได้  ศาลย้ำหลักการที่ว่า  “ห้ามรัฐบัญญัติกฎหมายกีดกันบุคคล  เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาในการขอรับสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการสังคม”
       ความเห็นแย้ง
       ผู้พิพากษา  Harlan  ผู้พิพากษา  White  แสดงความเห็นแย้งว่า  กฎหมายชดเชยการว่างงานของมลรัฐเซาท์แคโรไลนาตราขึ้นในปี  ค.ศ.  1936  เนื่องจากปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่รุนแรงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ที่เกิดจากปัญหาการว่างงานซึ่งมีผลคุกคามสุขภาพ  ศีลธรรมและสวัสดิการของประชาชนในมลรัฐ  โดยผลักดันให้นายจ้างพยายามจ้างงานและ
       ทำให้งานนั้นมีความมั่นคง  และกำหนดให้มีการส่งเงินเข้ากองทุนในระหว่างเวลาที่ทำงานเพื่อประโยชน์ในช่วงเวลาที่ต้องว่างงาน  เพื่อรักษาอำนาจในการจับจ่ายและลดปัญหาทางสังคมที่ตามมาเนื่องจากความยากจน  ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจและสังคม
       ในช่วงเวลาที่งานหายาก  และไม่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือบุคคลเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว  (personal circumstances)  ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้  ซึ่งศาลสูงสุดแห่งมลรัฐได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว  ซึ่งโรงสีในเขตพื้นที่  Spartanburg  เปิดกระทำการเป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์  เมื่อโจทก์ไม่สามารถทำงานได้จึงไม่ได้ค่าชดเชยในการว่างงาน  ซึ่งการไม่อาจทำงานได้เพราะเหตุผลทางศาสนาจึงไม่เกี่ยวข้องกับการตีความของศาลมลรัฐในการบังคับใช้กฎหมายนี้  จึงไม่มีกรณีรัฐเลือกปฏิบัติเนื่องจากความเชื่อทางศาสนา 
       ซึ่งเห็นว่าในคดี  Braunfeld v. Brown  ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า  ไม่เป็นการละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  จากกรณีที่รัฐได้ให้ผู้ที่หยุดงานในวันศักดิ์สิทธิ์อื่น  (Sabbatarian)  ต้องหยุดทำงานในวันอาทิตย์ด้วย  ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาในคดีนี้ชัดเจนกว่าคดีดังกล่าว  เพื่อคุ้มครองเศรษฐกิจ  และการต้องเสียหายทางการเงินในคดีนี้  เป็นการเสียหายโดยอ้อมเป็นจำนวนเล็กน้อยมากกว่าเมื่อเทียบกับคดี  Braunfeld  ที่ต้องหยุดทำงานทั้งกิจการ  แต่คดีนี้เป็นเพียงการได้รับผลประโยชน์ชั่วคราว  คือ  ค่าชดเชยการว่างงานที่ไม่เกิน  22  สัปดาห์เท่านั้น  และยิ่งกว่านั้น  หากรัฐยกเว้นการชดเชยการว่างงานเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  ก็จะเป็นการที่รัฐให้ความคุ้มครองศาสนามากกว่าเหตุผลอื่นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน  ซึ่งก็มีบางสถานการณ์ที่รัฐสามารถอำนวยประโยชน์ต่อศาสนาได้  ซึ่งเห็นว่า  ในคดีนี้ไม่อาจจะมาสู่ข้อสรุปเพื่อให้รัฐกำหนดข้อยกเว้นทางศาสนาเพื่อโจทก์ในคดีนี้ได้  เพราะคดีนี้เป็นเรื่องผลกระทบโดยอ้อม  ห่างไกลและไม่มีสาระต่อการปฏิบัติศาสนาของโจทก์และเป็นการช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงต่อศาสนาเช่นคดีนี้
       (หมายเหตุ  ความเห็นพ้องของผู้พิพากษา  Stewart  เห็นว่า  ปัญหาข้อกฎหมายในคดี  Braunfeld  นั้น  หนักกว่ากฎหมายในคดีนี้   เพราะมีโทษทางอาญาด้วย) 
        
       Trans World Airlines, Inc. v. Hardison
       432 U.S. 63 (1977)
       ข้อเท็จจริง
       บริษัท  Trans World Airlines (TWA)  ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเครื่องบิน 
       มีฐานอยู่ที่เมืองแคนซัส  เป็นลักษณะของงานที่มีความสำคัญมาต่อกิจการต้องเปิดดำเนินการตลอด  24  ชั่วโมง  ตลอดปี  365  วัน  และเมื่อมีตำแหน่งงานของลูกจ้างว่างลง  ต้องมีการส่งบุคคลอื่นจากส่วนงานอื่นมาแทน  หรือหัวหน้าผู้ควบคุมงานต้องลงปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งนั้น  แม้จะทำให้งานด้านอื่นต้องได้รับผลกระทบจากการขาดผู้ทำงาน  ระบบการทำงานคำนึงถึงระบบอาวุโสในการต่อรองแบบลักษณะกลุ่มระหว่าง  TWA  และสหภาพแรงงานของ  International Association of Machinists & Aerospace Workers  ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดมีโอกาสในการเลือกตำแหน่งงานและรอบการทำงานเมื่อว่างก่อนผู้ที่อาวุโสน้อยกว่า  คนอาวุโสน้อยที่สุดถูกกำหนดให้ต้องทำงานแทน  เมื่อเกิดกรณีขาดแคลนผู้ทำงานในตำแหน่งหรือช่วงเวลาใด 
       ค.ศ.  1967  Hardison  เป็นลูกจ้างของบริษัท  มีหน้าที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องบิน  ต่อมาในปี  ค.ศ.  1968  Hardison  ได้เริ่มศึกษาศาสนานิกาย  The Worldwide Church of God  ซึ่งมีข้อบัญญัติส่วนหนึ่งเกี่ยวกับวันศักดิ์สิทธิ์  (Sabbath)  ห้ามทำการงานตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์
       ตกดินในวันศุกร์จนถึงพระอาทิตย์ตกดินในวันเสาร์  และยังมีข้อห้ามในการทำงานในวันหยุดทางศาสนาบางวันด้วย  ซึ่งในช่วงแรกได้มีการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อเขาได้เปลี่ยนรอบเวลาทำงานมาที่  23.00  นาฬิกา  ถึง  7.00  นาฬิกา  และต่อมา  Hardison  ได้ย้ายไปในตำแหน่งงานใหม่ที่มีตำแหน่งความอาวุโสเกือบน้อยที่สุดในตำแหน่งนั้น  เมื่อ  Hardison  ขอหยุดงานในวันศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนคนมาทำงานแทน  ซึ่ง  TWA  อนุญาตให้สหภาพแรงงานหาตำแหน่งงานอื่นแทน  แต่สหภาพไม่สามารถเลือกตำแหน่งให้ได้เพราะจะทำให้ต้องละเมิดระบบอาวุโส  และHardison  ยังมีอาวุโสไม่เพียงพอที่จะเลือกรอบงานที่ไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ได้  ภายหลังจาก  TWA  ปฏิเสธที่จะให้  Hardison  ทำงาน  4  วันต่อสัปดาห์  เพราะเห็นว่าเกิดผลกระทบอันสำคัญต่อการดำเนินกิจการของเครื่องบิน  ไม่มีการจัดการอำนวยความสะดวกอื่นใดให้อีกและ  Hardison  ถูกให้ออกจากงานเนื่องจากปฏิเสธที่จะทำงานในวันเสาร์  Hardison  ดำเนินการทางฝ่ายปกครองภายใต้กฎหมายสิทธิพลเมืองในส่วนที่  7  (Title  VII of the Civil Rights Act of 1964)  โดยอ้างว่า  ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการเลือกปฏิบัติทางศาสนาละเมิดบทบัญญัติกฎหมายที่  703  (a) (1)[18]  และคำแนะนำของคณะกรรมการเพื่อโอกาสในการจ้างงานที่เสมอภาค  ค.ศ.  1967[19]  (Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) guidelines)  ที่กำหนดให้  นายจ้างมีหน้าที่  หากกรณีไม่เป็น  “ภาระเกินสมควร”  ในการ  “อำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล”  ต่อความจำเป็นทางศาสนาของลูกจ้าง  ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับในส่วนที่  7  ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี  ค.ศ.  1972 
       ศาลชั้นต้นตัดสินว่า  ข้อเสนอของ  EEOC  มีผลบังคับใช้กับ TWA  และสหภาพ  และหน้าที่ในการอำนวยประโยชน์ให้แก่ความเชื่อทางศาสนาของลูกจ้าง  ไม่หมายความว่าต้องให้ละทิ้งระบบอาวุโส  และ  TWA  ได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลแล้ว  และหากอำนวยความสะดวกที่มากไปกว่านั้นก็จะเป็นภาระที่เกินสมควร  ศาลอุทธรณ์  เห็นว่า  TWA  กระทำการขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานที่ไม่ให้เลือกปฏิบัติเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  โดยไม่ได้กระทำการเพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการเพื่อโอกาสในการจ้างงานที่เสมอภาค  โดยเหตุผลสามประการ  ภายใต้ระบบอาวุโส  TWA  อาจอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานสี่วันในสัปดาห์  โดยการใช้ผู้กำกับงานอื่นหรือลูกจ้างอื่นที่ทำงานอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวแทน  หรือ  TWA  อาจให้รอบการทำงานของ Hardison  แก่บุคคลอื่นที่ว่างอยู่ 
       แม้กรณีดังกล่าวทำให้ต้องมีการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาเพิ่มมากขึ้น  หรืออาจให้มีการเปลี่ยนรอบทำงานกับลูกจ้างคนอื่นหรือวันศักดิ์สิทธิ์  แม้การดำเนินการดังกล่าวจะขัดต่อหลักอาวุโส
        
        
        
       คำพิพากษา
       ศาลสูงสุดโดยมติ  7  ต่อ  2[20]  และผู้พิพากษา  White  เป็นผู้เขียนคำพิพากษาในคดีนี้  โดยกลับ
       คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า  กรณีนี้ไม่พบเจตนาในการเลือกปฏิบัติในการใช้ระบบอาวุโส  เพราะระบบอาวุโสเกิดไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อมีเจตนารมณ์ในการต่อต้านศาสนาหรือเพื่อจำกัดสมาชิกของศาสนานิกายใดในรูปแบบใด ๆ ที่ทำให้เสรีภาพทางศาสนาถูกจำกัด  แต่เป็นกรณีบังเอิญที่ระบบอาวุโสในคดีนี้มีผลเพิ่มเติมต่อเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของ  Hardison และ  TWA  ไม่มีหน้าที่ตามบทบัญญัติในส่วนที่  7  ที่ต้องกำหนดข้อยกเว้นพิเศษ  เนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  สำหรับระบบอาวุโสเพื่อช่วยการปฏิบัติศาสนาของ  Hardison  การที่  TWA  ต้องอนุญาตให้  Hardison  ทำงาน  4  วันต่อสัปดาห์  จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในแต่ละรอบงานของ  Hardison  เป็นประจำทุกสัปดาห์  และทางเลือกให้ผู้ควบคุมงานทำงานแทนหรือจ้างลูกจ้างรายอื่นทำแทนก็จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างให้กับ  TWA  หรือประสิทธิภาพในงานตำแหน่งอื่น ๆ  ซึ่งการเรียกร้องให้  TWA  ต้องแบกภาระมากกว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ  (de minimis cost)  เพื่อให้  Hardison  ไม่ต้องทำงานในวันเสาร์นั้นถือเป็นภาระเกินสมควร  เช่นเดียวกับกรณีที่ไม่นำระบบอาวุโสมาใช้  ทำให้  TWA  ต้องแบบภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกจ้างมีโอกาสเลือกวันหยุดงานเองทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากศาสนา 
       ความเห็นแย้ง
                       ผู้พิพากษา  Marshall  และผู้พิพากษา  Brennan  แสดงความเห็นแย้งว่า  TWA  อาจอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง  โดยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่บุคคลที่สมัครใจทำงานแทน  โดยคาดว่าบางคนอาจเต็มใจทำงานในวันเสาร์เพื่อได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น  และให้  Hardison  เป็นผู้ชำระค่าล่วงเวลานั้นแทน  หรือตามที่  Hardison  เสนอ  คือ  ขอทำงานล่วงเวลาโดยได้รับค่าจ้างปกติ  หรือ  TWA  อาจโอนลูกจ้างกลับไปทำงาน  ณ  ตำแหน่งงานเดิมที่มีอาวุโสมากพอที่จะได้รับรอบงานที่ไม่ต้องทำงานในวันเสาร์ได้ตามที่ลูกจ้างร้องขอ  ซึ่งการดำเนินการข้างต้นอาจกระทบต่อข้อตกลงเรื่องการเจรจารวมกัน  (collective bargaining agreement)  เพราะว่าข้อสัญญากำหนดให้นายลูกจ้างที่ทำงานเกินกว่า  40  ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น  (premium pay)  และในส่วนหลังข้อตกลงห้ามการโอนลูกจ้างมากกว่า  2  ครั้ง  ภายในหกเดือน  แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักการความอาวุโสหรือไม่เป็นการพรากสิทธิของลูกจ้างภายใต้สัญญา
       จ้างงาน  ไม่ถือว่าการอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างในคดีนี้เป็นการสร้างภาระที่เกินสมควร 
        
        
       Estate of Thornton v. Caldor
       472 U.S. 703 (1985)
       ข้อเท็จจริง
       กฎหมายคอนเนตทิคัตได้แก้ไขปรับปรุงประเภทกิจการที่สามารถเปิดดำเนินการได้ในวันอาทิตย์  และกำหนดห้ามการจ้างงานที่เกินหกวันต่อสัปดาห์  และกำหนดให้บุคคลที่อ้างว่าตนไม่สามารถทำงานได้ในวันใดเป็นพิเศษในสัปดาห์เพราะเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาแล้ว  นายจ้างไม่สามารถให้ทำงานได้  หากลูกจ้างปฏิเสธที่จะทำงานในวันดังกล่าวโดยไม่ถือเป็นเหตุผลของการให้ออกจากงาน[21]  ค.ศ.  1975  Donald E. Thornton ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาเพรสไบทีเรียนได้เริ่มทำงานเป็นผู้ตรวจสอบของร้าน Caldor Department Store  ในเขตนิวอิงแลนด์  ในขณะนั้นมีกฎหมายห้ามไม่ให้เปิดกิจการในวันอาทิตย์  และต่อมาในปี  ค.ศ.  1977  รัฐได้ปรับปรุงกฎหมายปิดกิจการในวันอาทิตย์  ทำให้  Thornton  ต้องทำงานในวันอาทิตย์  เพื่อทำงานให้ทันต่องานนั้น  โดยผู้จัดการมีหน้าที่ต้องทำงานในวันอาทิตย์ที่  3  หรือที่  4  ของเดือน  ซึ่ง  Thornton  ได้ทำงานมาแล้วในวันอาทิตย์เป็นจำนวน  31  ครั้ง  ระหว่างปี  ค.ศ.  1977-1978  และต่อมาในปี  ค.ศ.  1978  ได้ถูกย้ายไปทำงานที่  สาขาในเมืองทอริงตัน  มลรัฐคอนเนตทิคัต  ในตำแหน่งผู้จัดการ  โดยได้ทำงานในวันอาทิตย์มาตลอดปี  ค.ศ.  1979  จนกระทั่งปลายปี  ค.ศ.  1979  Thornton ได้ยื่นขอหยุดงานในวันอาทิตย์โดยอ้างว่าเพื่อการปฏิบัติศาสนา  บริษัทได้ปฏิเสธการขอหยุดงานทุกวันอาทิตย์ของ Thornton และเสนอให้เขาโยกย้ายไปทำงานที่สาขาอื่นในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีนโยบายในการปิดร้านวันอาทิตย์  
       ซึ่งเขาปฏิเสธการโยกย้าย  บริษัทได้เสนอให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้จัดการ  และลดค่าจ้างในการทำงานลง  ซึ่ง  Thornton  ได้ปฏิเสธการไปทำงานในตำแหน่งอื่น
       Thornton ได้ยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการเยียวยาของมลรัฐ คณะกรรมการตัดสินเป็นคุณแก่ Thornton  ให้บริษัทรับ Thornton  กลับเข้าทำงานและจ่ายสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้รับคืนให้ด้วย  ต่อมา
       ศาลสูงสุดมลรัฐกลับคำสั่งของคณะกรรมการ  โดยเห็นว่า  กฎหมายดังกล่าวขาดวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่ชัดเจน  (unclear secular purpose)  กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิเลือกวันหยุดงานใน
       วันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาด้วยตนเอง  ศาลเห็นว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อศาสนา  เพราะให้ผลประโยชน์อย่างชัดเจนโดยเหตุผลทางศาสนา  เฉพาะลูกจ้างที่กำหนดวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาไม่จำเป็นต้องทำงานในวันใดเฉพาะและไม่ถูกลงโทษด้วย  และการที่คณะกรรมการต้องเข้ามาตัดสินว่าวันใดเป็นวันศักดิ์สิทธิ์  เพื่อหาความจริงใจของลูกจ้าง  นั้นคือการตรวจสอบจากรัฐที่ก่อให้เกิดการพัวพันระหว่างรัฐและศาสนามากเกินไป  กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการสถาปนาศาสนา  (Establishment Clause)  ตัวแทนของ Thornton อุทธรณ์ไปยังศาลสูงสุดแห่งสหรัฐภายหลังการเสียชีวิตของ Thornton ในปี ค.ศ. 1982 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐรับคำร้อง
       คำพิพากษา
       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐพิพากษาด้วยมติ 8-1[22] ว่า  กฎหมายคอนเนตทิคัตที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิอย่างสมบูรณ์และไม่เหมาะสม  (absolute and unqualified right)  ที่จะไม่ทำงานในวันใดเนื่องจากการปฏิบัติทางศาสนา  โดยเป็นผู้มีสิทธิในการกำหนดวันทำงานดังกล่าวได้ฝ่ายเดียว  นั้น  ละเมิดหลักการสถาปนาศาสนา  (Establishment Clause)  เพราะกฎหมายให้น้ำหนักไปทางกลุ่มผู้ปฏิบัติศาสนาอยู่เหนือกลุ่มผลประโยชน์นายจ้างและลูกจ้างคนอื่นในสถานที่ทำงาน  โดยไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายหรือผลประโยชน์ของนายจ้างหรือลูกจ้างคนอื่น  ที่ไม่ได้มีวันศักดิ์สิทธิทางศาสนา  นายจ้างและบุคคลอื่นต้องปรับปรุงกิจการตามที่กฎหมายกำหนดทุกครั้ง  เมื่อมีการเรียกร้องให้นายจ้างต้องปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว  โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้  กฎหมายดังกล่าวได้สร้างภาระทางเศรษฐกิจต่อนายจ้างหรือสร้างภาระต่อลูกจ้างคนอื่นที่ต้องทำงานแทนลูกจ้างที่ต้องการหยุดงานเนื่องจากเหตุผลทางศาสนา  และยิ่งกว่านั้น  กฎหมายไม่คำนึงถึงว่านายจ้างได้ดำเนินการอย่างใดมาบ้าง  เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่
       ผู้พิพากษา  O’Connor  และผู้พิพากษา  Marshall  แสดงความเห็นพ้องในคำพิพากษา  โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการรับรองศาสนาที่ไม่อาจกระทำได้  (impermissible endrosement)  และเกิดผลกระทบที่ไม่อาจกระทำได้ในการส่งสารว่า  เป็นการยอมรับในเรื่องของการปฏิบัติเกี่ยวกับวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา  โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์ในเรื่องจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาอย่างอื่นหรือการปฏิบัติของลูกจ้างรายอื่น  แต่เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลนี้ไม่ได้รวมถึงการอำนวยประโยชน์ทางศาสนาตามบทบัญญัติในส่วนที่  7  ของกฎหมายสิทธิพลเมือง  ปี  ค.ศ.  1964  ที่จะทำให้กฎหมายดังกล่าวสิ้นผลไปด้วย  เพราะบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของบุคคล  และกำหนดให้นายจ้างเอกชนอำนวยความสะดวกโดยสมเหตุสมผลในการปฏิบัติศาสนาของลูกจ้าง  เว้นแต่  เป็นการสร้างภาระเกินสมควรในการประกอบกิจการของนายจ้าง  ซึ่งคล้ายคลึงกับกฎหมายวันศักดิ์สิทธิ์ของมลรัฐคอนเนตทิคัต  ในส่วนที่  7  ของกฎหมายสิทธิพลเมืองพยายามที่จะยกเลิกภาระในการปฏิบัติศาสนาที่ถูกบังคับโดยนายจ้าง  ที่ไม่มีลักษณะของการอำนวยความสะดวกตามบทบัญญัติเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  กฎหมายในส่วนที่  7  นี้จึงมีเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาและมีผลใช้บังคับได้ตามบทบัญญัติการสถาปนาศาสนา  (Establishment Clause)  ซึ่งในส่วนที่  7  เป็นเรื่องการไม่รับรองการจ้างงานที่เลือกปฏิบัติเนื่องจากชาติพันธุ์  วรรณะ  ศาสนา  เพศ  หรือถิ่นกำเนิดซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาที่ต้องการประกันโอกาสได้รับการจ้างงานสำหรับทุกกลุ่มในสังคมที่หลากหลายนี้  เป็นเรื่องของการมีเหตุมีผล  (reasonable)  มากกว่าการอำนวยประโยชน์โดยเด็ดขาด  (absolute accommodation)  และมีการขยายกรอบสำหรับความเชื่อทางศาสนาในทุกเรื่องไม่เฉพาะเรื่องวันศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
        
       Frazee  v.  Illinois
       489  U.S.  829  (1989)
       ข้อเท็จจริง
       มลรัฐอิลลินอยส์ได้บัญญัติกฎหมายประกันการว่างงาน  (The Illinois Unemployment Insurance Act) กำหนดว่า  บุคคลจะขาดคุณสมบัติในการขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน  ถ้าบุคคลนั้น  โดยปราศจากเหตุผลอันดี  ปฏิเสธที่จะสมัครงานที่มีตำแหน่งว่าง  ที่เหมาะสมเมื่อได้รับการเสนอ[23]  ในเดือนเมษายน  ค.ศ.  1984  William Frazee ได้ปฏิเสธตำแหน่งพนักงานขายชั่วคราวที่สำนักงานบริการเคลลี่  (Kelly Services)  เนื่องจากตำแหน่งงานนั้นกำหนดให้เขาต้องทำในวันอาทิตย์ 
       Frazee  แจ้งสำนักงาน ฯ ว่า  เขาเป็นคริสเตียน  ไม่สามารถทำงานได้ในวันของพระเจ้า  (the Lord’s day)  Frazee  ได้แจ้งมายังกรมการจัดหางาน  (Department of Employment Security)  เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานและอ้างว่าเป็นเหตุผลอันดี  ในการปฏิเสธการทำงานในวันอาทิตย์  กรมการจัดหางานได้ปฏิเสธใบคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์ของเขา 
       Frazee  จึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการ  (Board of Review)  ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยว่า  Frazee  ได้ปฏิเสธการเสนองานที่เหมาะสมกับเขาโดยปราศจากเหตุผลอันดี  คณะกรรมการได้กล่าวว่า  “การปฏิเสธข้อเสนองานที่เหมาะสมบนหลักความศรัทธาทางศาสนานั้น  ต้องอยู่บนหลักของข้อบัญญัติหรือคำสอนศาสนาที่ได้รับการยอมรับโดยบุคคลของบางศาสนา  นิกายหรือสำนักศาสนา  การปฏิเสธรับงานที่ได้รับการเสนอโดยอ้างหลักความเชื่อส่วนบุคคลเฉพาะ  (personal professed religious belief) ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่มีการบังคับตามข้อบัญญัติศาสนา  ไม่ถือเป็นเหตุผลที่ดีในการปฏิเสธงาน”  
       ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งเรื่องหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของ  Frazee  เนื่องจากการปฏิเสธการรับงานของเขาอยู่บนหลักความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคล  (personal professed religious belief) และไม่เกี่ยวกับประเด็นความจริงใจทางศาสนา  Frazee  ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนาหรือนิกาย
       ที่ได้รับการสถาปนาขึ้น  เขาไม่ได้อ้างเหตุผลจากคำสอน  ข้อบัญญัติหรือความเชื่อทางศาสนา  การอ้างว่าเป็นคริสเตียนและรู้สึกผิดในการทำงานวันอาทิตย์นั้นจึงไม่ใช่  “เหตุผลที่ดี”  (good cause)  ตามข้อกำหนดของกฎหมายที่จะนำมากล่าวอ้าง  “การสั่งห้ามทำงานวันอาทิตย์จะต้องมีอยู่ในหลักคำสอนหรือข้อบัญญัติของศาสนาที่ได้รับการสถาปนา  ซึ่งศาลพบว่า  โจทก์ไม่ได้ปฏิญาณตนเป็นสมาชิกของศาสนาที่มีหลักคำสอนหรือข้อบัญญัตินั้น ๆ”  ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ปฏิเสธคำร้องของ  Frazee
        
       คำพิพากษาศาลสูงสุด
       ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มลรัฐอิลลินอยส์โดยมติเอกฉันท์[24]  ผู้พิพากษา  White  เป็นผู้เขียนคำพิพากษาในคดีนี้ว่า 
       ศาลเริ่มโดยการกล่าวถึงการพิจารณาในคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการที่รัฐปฏิเสธการชดเชยสิทธิประโยชน์จากการว่างงานให้แก่บุคคลที่ว่างงาน  เนื่องจากการปฏิเสธรับงานที่เหมาะสมด้วยเหตุผลทางศาสนา  ศาลกล่าวถึงคดี Sherbert v. Verner ที่ศาลพิพากษาว่า  มลรัฐไม่ได้ตีความกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ  ในการบังคับใช้กฎหมายผ่าน  “โครงการชดเชยการว่างงาน”  ที่เป็นการบังคับให้ลูกจ้างต้องทำงานใน
       วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนตามข้อปฏิบัติทางศาสนา  ในคดี  Thomas v. Board of Indiana  ที่ศาลพิพากษาว่า  การปฏิเสธการชดเชยสิทธิประโยชน์จากการว่างงานของรัฐให้แก่บุคคลที่พ้นสภาพการว่าจ้าง  เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาที่ห้ามการมีส่วนร่วมในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น  ขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  (Free Exercise Clause)  และในคดี  Hobbie v. Unemployment  ศาลได้พิพากษาว่า  การปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานของมลรัฐฟลอริดา  แก่ลูกจ้างที่ปฏิเสธการทำงานใน
       วันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา  ตามข้อบัญญัติทางศาสนาเป็นการละเมิดหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  ศาลอธิบายว่าในคดีเหล่านี้  ผู้ยื่นคำร้องได้ถูกบังคับให้เลือกระหว่างความศรัทธาต่อศาสนาและการจ้างงาน  ซึ่งเป็นการสูญเสียสิทธิพลเมืองที่ควรได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานตามกฎหมายกำหนด  ศาลจึงพิพากษาว่าการปฏิเสธการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา
       ตามที่ศาลมลรัฐอิลลินอยส์ได้อ้างความเห็นของศาลสูงสุดสหรัฐว่า  ผู้ยื่นคำร้องในคดีเหล่านี้ 
       ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของศาสนาเฉพาะที่มีข้อบัญญัติทางศาสนาในการห้ามการทำงาน  ตามที่ผู้ยื่นคำร้องกล่าวอ้าง  คำพิพากษาในคดีเหล่านี้ได้ยึดหลักความจริงที่ว่า  ผู้ยื่นคำร้องมีความศรัทธาอย่างจริงใจว่าศาสนาต้องการให้พวกเขาละเว้นจากการปฏิบัติงานดังกล่าว  แต่ศาลสูงสุดสหรัฐไม่ได้แนะนำว่าถ้ากรณีผู้ยื่นคำร้องไม่ได้เป็นสมาชิกของนิกายศาสนาใดเฉพาะที่มีข้อบัญญัติศาสนาห้ามการทำงานตามที่ผู้ยื่นคำร้องกล่าวอ้าง  ความเชื่ออย่างจริงใจ  จะต้องถูกนำมาพิจารณาว่าเป็นความศรัทธาส่วนบุคคลอย่างบริสุทธิ์ใจ  (purely personal preference) ซึ่งอยู่เหนือกว่าความเชื่อทางศาสนา  ในคดี Thomas v. Board of Indiana  แม้จะไม่มีข้อตกลงระหว่างสมาชิกในกลุ่มนิกายที่กำหนดว่าการทำงานในโรงงานอาวุธเป็นบาปหรือไม่  แต่ศาลมองว่าไม่ใช่เป็นประเด็นหลักที่ศาลต้องนำมาพิจารณา  แม้ความเชื่อของผู้ยื่นคำร้องจะไม่ถือเป็นความเชื่อทางศาสนา  แต่ผู้ยื่นคำร้องมีความเชื่ออย่างจริงใจว่าศาสนาห้ามเขาทำงานเช่นนั้น  ผู้ยื่นคำร้องควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญบนหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  ซึ่งกรณีไม่ต้องสงสัยเลยว่า  “ความเชื่อที่มีรากจากศาสนาเท่านั้น  ที่ได้รับการคุ้มครองจากหลักเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  (Thomas,  supra  at  713)  มุมมองฆราวาสที่บริสุทธิ์นั้น  ไม่เพียงพอที่จะนำมากล่าวอ้าง  (United States v. Seeger,  380  U.S.  163  (1965),  Wisconsin  v.  Yoder,  406  U.S.  205,  215  -  216  (1972)) 
       ศาลไม่ได้ประเมินต่ำเกินไปถึงความยากในการแยกความแตกต่างระหว่าง  “ข้อบัญญัติทางศาสนา”  และ  “แนวปฏิบัติทางฆราวาส”  ที่เกิดจากความศรัทธาต่อศาสนา  (religious and secular conviction)  และความยากในการกำหนดว่าความเชื่อนั้น ๆ เป็นความเชื่ออย่างจริงใจหรือไม่  ในช่วงแรกของรายงานของคณะกรรมอุทธรณ์  (Board of Review)  ระบุว่า  การปฏิเสธทำงานวันอาทิตย์ของ  Frazee  เนื่องจากข้อบัญญัติทางศาสนา  เพราะ  Frazee  ได้อ้างถึงพระคัมภีร์ไบเบิลที่กำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนห้ามทำงาน  ขณะที่ศาลอุทธรณ์สรุปว่าการปฏิเสธทำงานวันอาทิตย์ของ  Frazee  เนื่องจาก  “ความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคล”  (personal professed  religious belief)
       Frazee  ได้ยืนยันว่าเขาเป็นคริสเตียนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของนิกายใด ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีหลายนิกายของศาสนาคริสต์ที่ไม่มีข้อบังคับในการห้ามทำงานในวันอาทิตย์  แต่ความเป็นจริงนี้ก็ไม่เป็นการ  “ลดทอน”  การคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนาของ  Frazee  ศาลอธิบายว่า  การเป็นสมาชิกในกลุ่มนิกายศาสนาโดยเฉพาะกลุ่ม  ที่มีข้อบัญญัติเฉพาะที่ห้ามสมาชิกทำงานในวันอาทิตย์นั้น 
       เป็นการง่ายในการวินิจฉัยหาข้อสรุปปัญหาเรื่อง  “ความเชื่ออย่างจริงใจในการปฏิบัติตามหลักศาสนา”  แต่ในกรณีการปฏิเสธรับงานของ  Frazee  นั้นอยู่บนหลัก  “ความเชื่อทางศาสนาอย่างจริงใจส่วนบุคคล”  ซึ่งได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ  ศาลไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของมลรัฐอิลลินอยส์ที่ว่า  จริงอยู่ที่การปฏิบัติตามความเชื่อของ  Frazee  ถือว่าเป็นการปฏิบัติทางศาสนา  แต่ไม่เพียงพอที่จะนำมากล่าวอ้างเพราะการปฏิบัติตามความเชื่อนั้น  ไม่ได้เป็นไปตามข้อบัญญัติหรือหลักคำสอนทางศาสนาที่  Frazee เป็นสมาชิก  ศาลมองว่าคำอธิบายดังกล่าวนั้นยืนอยู่บนหลักการที่ผิด  มลรัฐได้สร้างภาระให้แก่  Frazee  โดยการปฏิเสธสิทธิประโยชน์จากการว่างงานที่ลิดรอนสิทธิในการปฏิบัติศาสนา
       นอกจากนั้น  ศาลยังไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของศาลอุทธรณ์มลรัฐอิลลินอยส์ที่ว่า  “ทุกวันนี้ 
       วันอาทิตย์ไม่เพียงเป็นวันสำคัญทางศาสนา  แต่ยังเป็นวันเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและร่างกาย  การแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่ถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์  ศูนย์การค้า  ศูนย์บริการต่าง ๆ ยังคงเปิดให้บริการประชาชนในวันอาทิตย์  โรงงานต่าง ๆ ยังคงปล่อยควันและผลิตสินค้าต่าง ๆ ในวันอาทิตย์”  และสรุปว่า  “ถ้าคนอเมริกันทุกคนต้องหยุดงานในวันอาทิตย์  ความวุ่นวายคงจะเกิดขึ้น”  ศาลไม่เชื่อว่า  ถ้า  Frazee  ชนะตามคำร้อง  จะเกิดมวลชนเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงานในวันอาทิตย์  ศาลอ้างว่าภายหลังการพิพากษาคดี  Thomas  ไม่มีหลักฐานอ้างอิงจำนวนของประชาชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์การเลือกระหว่างสิทธิประโยชน์และความเชื่อทางศาสนา  ที่มากพอที่จะสร้างสภาวะการว่างงานที่แผ่ขยายออกไปหรือแนวโน้มว่าเป็นเช่นนั้น  และไม่มีสัญญาณบอกเหตุใดที่ศูนย์การค้า  ศูนย์บริการหรือการแข่งขันกีฬาจะหยุดดำเนินการอันเป็นผลมาจากการพิพากษาของศาลในคดีนี้  ผลประโยชน์ของรัฐที่มากเพียงพอที่จะบังคับใช้อำนาจรัฐเหนือเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา  แต่ศาลไม่พบผลประโยชน์ของรัฐในคดีนี้
        
       ____________________
       

       
       

       

       [1] 432 U.S. 63 (1977).
       

       

       [2] 472 U.S. 703 (1985)
       

       

       [3] 480 U.S. 136 (1987)
       

       

       [4]  Fla. Stat. 443.036 (24) Z1985) The Florida statue defines “misconduct” as follows:
       ‘Misconduct’ includes, but is not limited to, the following, which shall not be construed in pari material with each other:
       (a)                 Conduct evincing such willful or wanton disregard of an employer’s interests as is found in deliberate violation or disregard of standards of behavior which the employer has the right to expect of his employee; or
       (b)                 Carelessness or negligence of such a degree or recurrence as to manifest culpability, wrongful intent, or evil design or to show an intentional and substantial disregard of the employer’s interests or of the employee’s duties and obligations to his employer. 
       

       

       [5]  เสียงข้างมาก  ได้แก่  Brennan, White, Marshall,  Blackmun, O’Connor, Scalia, Powell, Stevens 
         เสียงข้างน้อย  ได้แก่  Rehnquist
       

       

       [6]  489  U.S.  829  (1989)
       

       

       [7]  177 U.S. 164 (1990).
       

       

       [8] All labor on Sunday is prohibited, excepting the works of necessity or charity, In works of necessity or charity is included whatever is needful during the day for good order health, or comfort of the community: Provided, however, That keeping open a barber shop on Sunday for the purpose of cutting hair and shaving beards shall not be deemed a work of necessity or charity.
       

       

       [9] เสียงข้างมาก ได้แก่ Earl Warren, Hugo BlackFelix Frankfurter, William O. DouglasTom C. Clark, John M. HarlanWilliam J. Brennan, Charles E. WhittakerPotter Stewart 
       เสียงข้างน้อย ได้แก่  Douglas
       

       

       [10] " 521. - Sale, etc., of merchandise on Sunday; exceptions.
       "(a) Sunday sales of merchandise prohibited; excepted articles. - No person in this State shall sell, dispose of, barter, or deal in, or give away any articles of merchandise on Sunday, except retailers, who may sell and deliver on said day tobacco, cigars, cigarettes, candy, sodas and soft drinks, ice, ice cream, ices and other confectionery, milk, bread, fruits, gasoline, oils and greases.
       "(b) Additional excepted articles in Anne Arundel County; certain establishments excepted. - In Anne Arundel County, in addition to the articles of merchandise  hereinbefore mentioned, retailers may sell, barter, deal in, and deliver on Sunday the following articles of merchandise: butter, eggs, cream, soap and other detergents, disinfectants, vegetables, meats, and all other food or food stuffs prepared or intended for human consumption, automobile accessories and parts, boating and fishing accessories, artificial and natural flowers and shrubs, toilet goods, hospital supplies, thermometers, camera films, souvenirs, surgical instruments, rubber goods, paper goods, drugs, medicines, patent medicines, and all other articles used for the relief of pain or prescribed by a physician; provided, however, that nothing in this subtitle shall be construed to prevent the operation of any retail establishment on Sunday, the operation of which does not entail the employment of more than one person, not including the owner or proprietor.
       "(c) Penalty for violation; second and subsequent offenses; revocation of license. - Any person violating any one of the provisions of this section shall be liable to indictment in any court in this State having criminal jurisdiction, and upon conviction thereof shall be fined a sum of not less than twenty nor more than fifty dollars, in the discretion of the court, for the first offense, and if convicted a second time for a violation of this section, the person or persons so offending shall be fined a sum not less than $50 nor more than $500, and be imprisoned for not less than 10 nor more than 30 days, in the discretion of the court, and his, her or their license, if any was issued, shall be declared null and void by the judge of said court; and it shall not be lawful for such person or persons to obtain another license for the period of twelve months from the time of such conviction, nor shall a license be obtained by any other person or persons to carry on said business on the premises or elsewhere, if the person, so as aforesaid convicted, has any interest whatever therein, or shall derive any profit whatever therefrom; and in case  of being convicted more than twice for a violation of this section, such person or persons on each occasion shall be imprisoned for not less than thirty nor more than sixty days, and fined a sum not less than double that imposed on such person or persons on the last preceding conviction; and his, her or their license, if any was issued, shall be declared null and void by the court, and no new license shall be issued to such person or persons for a period of two years from the time of such conviction, nor to anyone else to carry on said business wherein he or she is in anywise interested, as before provided for the second violation of the provisions of this section; all the fines to be imposed under this section shall be paid to the State.
       "(d) Apothecaries: sale of newspapers and periodicals. - This section is not to apply to apothecaries and such apothecaries may sell on Sunday drugs, medicines, and patent medicines as on week days; and this section shall not apply to the sale of newspapers and periodicals.
        
       

       

       [11] "Sabbath Breaking.
       " 492. - Working on Sunday; Permitting children or servants to game, fish, hunt, etc. - No person whatsoever shall work or do any bodily labor on the Lord's day, commonly called Sunday; and no person having children or servants shall command, or wittingly or willingly suffer any of them to do any manner of work or labor on the Lord's day (works of necessity and charity always excepted), nor shall suffer or permit any children or servants to profane the Lord's day by gaming, fishing, fowling, hunting or unlawful pastime or recreation; and every person transgressing this section and being hereof convicted before a justice of the peace shall forfeit five dollars, to be applied to the use of the county."
        
       

       

       [12] " 522. - Keeping open or using dancing saloon, opera house, tenpin alley, barber saloon or ball alley on Sunday. - It shall not be lawful to keep open or use any dancing saloon, opera house, tenpin alley, barber saloon or ball alley within this State on the Sabbath day, commonly called Sunday; and any person or persons, or body politic or corporate, who shall violate any provision of this section, or cause or knowingly permit the same to be violated by a person or persons in his, her or its employ shall be liable to indictment in any court of this State having criminal jurisdiction, and upon conviction thereof shall be fined a sum not less than fifty dollars nor more than one hundred dollars, in the discretion of the court, for the first offense; and if convicted a second time for a violation of this section, the person or persons, or body politic or corporate shall be fined a sum not less than one hundred nor more than five hundred dollars; and if a natural person shall be imprisoned, not less than ten nor  more than thirty days in the discretion of the court; and in the case of any conviction or convictions under this section subsequent to the second, such person or persons, body politic or corporate shall be fined on each occasion a sum at least double that imposed upon him, her, them or it on the last preceding conviction; and if a natural person, shall be imprisoned not less than thirty nor more than sixty days in the discretion of the court; all fines to be imposed under this section shall be paid to the State."
       

       

       [13] " 509. - Beaches, amusement parks, picnic groves, etc., in Anne Arundel County. - It shall be lawful to operate, work at, or be employed in the occupations of operating any bathing beach, bathhouse, amusement park, dancing saloon, the sale or selling of any novelties, souvenirs, accessories, or other merchandise essential to, or customarily sold at, or incidental to, the operation of the aforesaid occupations and businesses, at retail, picnic groves, amusements, games, amusement rides, amusement devices, entertainments, shows and the hiring or renting of boats, tables, chairs, beach umbrellas, on the first day of the week, commonly called Sunday, within Anne Arundel County, and 492, 521 and 522 of this article are repealed, in so far and to the extent that they prohibit the operating of and/or the working of or employment of persons in the operation of any bathing beach, bathhouse, amusement park, dancing saloon, the sale or selling at retail of any merchandise, essential to or customarily sold or incidental to the operation of the aforesaid occupations or businesses, picnic groves, amusements, games, amusement rides, amusement devices, entertainments, shows, and the hiring and renting of boats, tables, chairs, beach umbrellas, on the first day of the week, commonly called Sunday, in Anne Arundel County."
       

       

       [14] "If any person on Sunday shall himself be found labouring at his own or any other trade or calling, or shall employ his apprentices, servants or slaves in labour, or other business, except it be in the ordinary household offices of daily necessity, or other work of necessity or charity, he shall forfeit the sum of ten shillings for every such offence, deeming every apprentice, servant, or slave so employed, and every day he shall be so employed as constituting a distinct offence."
       

       

       [15]  "Selling certain personal property on Sunday
       "Whoever engages on Sunday in the business of selling, or sells or offers for sale, on such day, at retail, clothing and wearing apparel, clothing accessories, furniture, housewares, home, business or office furnishings, household, business or office appliances, hardware, tools, paints, building and lumber supply materials, jewelry, silverware, watches, clocks, luggage, musical instruments and recordings, or toys, excluding novelties and souvenirs, shall, upon conviction thereof in a summary proceeding for the first offense, be sentenced to pay a fine of not exceeding one hundred dollars ($100), and for the second or any subsequent offense committed within one year after conviction for the first offense, be sentenced to pay a fine of not exceeding two hundred dollars ($200) or undergo imprisonment not exceeding thirty days in default thereof.
       "Each separate sale or offer to sell shall constitute a separate offense.
       "Information charging violations of this section shall be brought within seventy-two hours after the commission of the alleged offense and not thereafter."
        
       

       

       [16] เสียงข้างมาก ได้แก่ Hugo Black, Felix Frankfurter, Thomas Clark, Earl Warren, John Harlan, William Brennan, Charles Whitaker,
       เสียงข้างน้อย  ได้แก่  William Douglas, Potter Stewart,  William Brennan, John Harlan  (บางส่วน)
       

       

       [17] ผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ได้แก่  Hugo  Black,  William  Douglas,  Thomas  Clark,  Earl  Warren,  William  Brennan,  Potter  Stewart,  Arthur  Goldberg
       ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย  ได้แก่  John  Harlan,  Byron  White
       

       

       [18]  (a) It shall be an unlawful employment practice for an employer-
                   (1)  to fail or refuse to hire or to discharge any individual, or otherwise to discriminate against any individual with respect to his compensation, terms, conditions, or privileges of employment, because of such individual’s race, color, religion, sex, or national origin.
       

       

       [19]  To make reasonable accommodations to the religious needs of employees and prospective employees where such accommodations can be made without undue hardship on the conduct of the employer’s business.
       

       

       [20]  เสียงข้างมาก  ได้แก่  ผู้พิพากษา  White,  ผู้พิพากษา  Burger,  ผู้พิพากษา  Stewart,  ผู้พิพากษา  Blackmun,  ผู้พิพากษา Powell,  ผู้พิพากษา  Rehnquist,  ผู้พิพากษา  Stevens
                    เสียงข้างน้อย  ได้แก่  ผู้พิพากษา  Marshall  ผู้พิพากษา  Brennan
       

       

       [21] No person who states that a particular day of the week is observed as his Sabbath may be required by his employer to work on such day.  An employee’s refusal to work on his Sabbath shall not constitute grounds for his dismissal.
       

       

       [22] เสียงข้างมาก  ได้แก่  Brennan, Marshall, White, Blackmun, Burger, Powell, Steven, O’Connor 
       เสียงข้างน้อย  ได้แก่  Rehnquist
       

       

       [23] An individual shall be ineligible for benefits if he has failed, without good cause, either to apply for available, suitable work when offered him …
       

       

       [24]  Rehnquist, Brennan, White, Marshall, Blackmun, Stevens, O’Connor, Scalia, Kennedy
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544