หน้าแรก บทความสาระ
บทความวิจัย เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชน โดยวิธีการทางกฎหมายแห่งรัฐ
คุณสุชัย เลยะกุล นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ (หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง) สำนักงานขนส่งจังหวัดอุทัยธานี (รป.บ.,น.บ.,ป.บัณฑิตกฎหมายมหาชน)
6 ตุลาคม 2555 18:09 น.
 
(1)  บทนำ                                                                                                                          

       (1.1) ความสำคัญของปัญหา
       จากการที่การตรวจสภาพรถของประเทศไทย ได้มีการบัญญัติกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก โดยเปิดช่องทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสภาพรถ เพื่อช่วยรัฐจัดทำบริการสาธารณะได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 74  แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522[1] ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2535)[2]  โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) เพื่อรับรองสภาพรถ  ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง (เป็นข้าราชการประจำ) ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว จำนวน  2  แนวทาง คือ 
       แนวทางที่ 1 : เป็นการดำเนินการในระยะแรกๆ โดยกรมการขนส่งทางบก ได้มีการออกประกาศเชิญชวนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจจะดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนในจังหวัดที่กำหนด ให้ยื่นคำขอตามแบบ และต้องจัดเตรียมอาคารสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์  และต้องยื่นภายในเวลาตามที่กำหนด
        แนวทางที่ 2 : เป็นการดำเนินการในระยะปัจจุบัน โดยกรมการขนส่งทางบก ได้มีการออกระเบียบเป็นการทั่วไป เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจจะดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนในจังหวัดต่างๆ มีสิทธิยื่นคำขอตามแบบเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่ต้องจัดเตรียมอาคารสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ ตามที่กำหนด เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกเห็นว่าเป็นเสรีภาพของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนประกอบการตามเงื่อนไขที่กำหนด ไม่สามารถออกกฎมาจำกัดเสรีภาพได้เพราะเกรงว่าจะเป็นการกระทำทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
        จากแนวทางการจัดตั้งดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติของภาครัฐขาดความแน่นอนชัดเจนในการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติ  เพราะแนวทางแรกเอกชนจะเข้ามาดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถได้ต่อเมื่อรัฐได้มีการออกประกาศเชิญชวน ส่วนแนวทางที่สอง เอกชนสามารถเข้ามายื่นคำขอเพื่อจัดตั้งเมื่อใดก็ได้หากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการควบคุมจึงทำให้เกิดสถานตรวจสภาพรถเอกชนในจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก (โดยรวมจนถึงวันที่มีข้อพิพาท[3] จำนวนทั้งสิ้น 2,107 ราย) และสร้างความยุ่งยากในการควบคุม กำกับดูแล เพื่อควบคุมคุณภาพทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เพราะบางพื้นที่ได้ขออนุญาตจัดตั้งในเขตพื้นที่เดียวกันจำนวนมากไม่สมดุลกับปริมาณรถที่จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปี
       (1.3) วัตถุประสงค์
       (1.3.1)  เพื่อวิเคราะห์ แนวความคิด เกี่ยวกับ สิทธิ และเสรีภาพ ในการประกอบอาชีพ ตามหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       
        
        (2) ระเบียบวิธีการศึกษา
       การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยทางเอกสาร โดยการศึกษาแนวความคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพ และรูปแบบของการดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนของต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  มาเลเซีย  หรือสิงคโปร์ กับประเทศไทยเพื่อสร้างข้อความคิดทางกฎหมาย อันเป็นแนวทางสำหรับการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง  การกำหนดมาตรฐาน  และการควบคุมกำกับดูแล  สถานตรวจสภาพรถเอกชน ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และมีความสอดคล้องกับสังคมไทยต่อไป
       (3)  ผลการศึกษา
       จากการศึกษาแนวความคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ  รูปแบบของการดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนของแต่ละประเทศ  สภาพทางกฎหมายของการจัดตั้งและควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถของต่างประเทศ คือประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผู้วิจัยพบว่า มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนในการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนโดยเสรี ปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ชัดเจนเฉกเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และมาเลเซีย สำหรับประเทศสิงคโปร์นั้น กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติได้บัญญัติถ้อยคำที่ไม่ค่อยชัดเจน เหมือนกับประเทศไทย เพียงแต่รูปแบบการปกครองของสิงคโปร์เป็นแบบสภาเดียว และบริหารประเทศด้วยพรรคเดียว การบัญญัติกฎหมายที่ไม่ค่อยชัดเจนจึงไม่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมากนัก ไม่ควรนำมาเป็นบรรทัดฐานในการบัญญัติกฎหมายในประเทศไทย  แต่ประเทศที่ควรนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานตรวจสภาพรถเอกชนในประเทศไทยมากที่สุดควรจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการร้อยเรียงข้อความคิดทางกฎหมาย ตั้งแต่การจัดตั้ง การควบคุมกำกับดูแล และการยกเลิกเพิกถอนไว้เป็นอย่างดี รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือได้ว่า มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งในระดับพระราชบัญญัติได้ค่อนข้างชัดเจนกว่าประเทศใดๆ
        นอกจากนั้นในการควบคุมการดำเนินงานของสถานตรวจสภาพรถเอกชน ทุกประเทศที่เลือกศึกษาก็ได้มีการวางหลักในการควบคุมตรวจสอบ และความผิดของผู้ใช้รถที่ฝ่าฝืนไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติได้ชัดเจนกว่าประเทศไทย เพียงแต่เหตุในการยกเลิกเพิกถอนมีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ นอกนั้นจะให้อำนาจผู้มีอำนาจไปออกกฎหมายลำดับรองมาใช้บังคับเหมือนกับประเทศไทย ความแตกต่างในรายละเอียดของการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถดังที่กล่าวมาแล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชนของประเทศไทย ได้หลายประการซึ่งมีข้อพิจารณาในแต่ละประเด็น ดังนี้
       ประเด็นที่ 1 : การให้สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       สิทธิและเสรีภาพมาจากข้อความคิดพื้นฐานทางกฎหมายที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ สิทธิตามธรรมชาติ และสิทธิที่มีพื้นฐานมาจากข้อตกลง โดยสิทธิใดเป็นสิทธิตามธรรมชาติก็จะมีผลใช้บังคับกับประชาชนเป็นการทั่วไป ส่วนสิทธิที่มีพื้นฐานมาจากข้อตกลงก็จะมีผลใช้บังคับเฉพาะกับชนชั้นกลางตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
        จากข้อความคิดพื้นฐานดังกล่าวมีผลต่อการพัฒนาข้อความคิดทางกฎหมายมาโดยลำดับ จนเกิดแนวความคิดให้มีการแยกอำนาจนิติบัญญัติออกจากอำนาจบริหาร และการจำกัดอำนาจรัฐ แนวความคิดดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อมาจนนำไปสู่การประกาศสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสหรัฐอเมริกา และในฝรั่งเศส  ซึ่งตามประกาศสิทธิมนุษย์ และสิทธิพลเมืองได้กล่าวถึงความผูกพันขององค์กรนิติบัญญัติต่อสิทธิและเสรีภาพ  สิทธิและเสรีภาพมีผลผูกพันต่ออำนาจรัฐทั้งหมด โดยได้กล่าวถึงหลักการที่สำคัญ อาทิเช่น เสรีภาพทั่วไปในการกระทำการ สิทธิในกรรมสิทธิ์ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักอธิปไตยของปวงชน และแนวความคิดเรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ที่อาจกระทำได้โดยบัญญัติของกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของมหาชน
        จากหลักการดังกล่าว มีอิทธิพลต่อประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมด และประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้มีการนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา 26 ที่ว่า  “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”   มาตรา 27 ที่ว่า  “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”  และ มาตรา 28 วรรคแรกที่ว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” และวรรคสองที่ว่า“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิ ทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”   จึงถือได้ว่า สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวมิได้เป็นเพียงประกาศอุดมการณ์ของรัฐเท่านั้น หากแต่มีฐานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่มีผลใช้บังคับโดยตรงแก่องค์กรของรัฐ หาจำต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติยืนยันอีกชั้นหนึ่งไม่
        ดังนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองไว้จะพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพไว้ในมาตรา 43  วรรคแรกที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” โดยให้รัฐมีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 วรรคสอง ที่ว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” และมาตรา 29 ที่ว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  เฉพาะ เพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น  และจะกระทบกระเทือน สาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้” 
        โดยสรุป  ผู้วิจัยจึงเห็นว่า รัฐมีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่างบางประการได้ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หากมีความจำเป็นต้องจัดระเบียบการประกอบอาชีพ คุ้มครองผู้บริโภค สวัสดิภาพของประชาชน  ป้องกันการผูกขาด และขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม   เพียงแต่การออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพนั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเกี่ยวกับลักษณะของกฎหมายที่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 5 ประการคือ
        1.)  กฎหมายที่จำกัด หรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป
        2.)  กฎหมายที่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ต้องมีความแน่นอนชัดเจน
       3.)  กฎหมายที่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ต้องไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลัง  
        4.)  กฎหมายที่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักความได้สัดส่วน 
       5.)  กฎหมายที่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎร ต้องไม่จำกัดหรือให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรจนกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ นั้น
       ประเด็นที่ 2 : การจัดตั้ง และการควบคุมการดำเนินงาน สถานตรวจสภาพรถเอกชน ของประเทศไทยกับต่างประเทศ
        จากการศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชนของประเทศไทย และต่างประเทศคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  มาเลเซีย และสิงคโปร์  ผู้วิจัยพบว่า ประเทศที่เลือกศึกษามีข้อความคิดพื้นฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้ง และการควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชนแตกต่างไปจากประเทศไทยอย่างชัดเจนทุกประเทศ  ถึงแม้จะมีรูปแบบการดำเนินการที่เหมือนกัน คือกฎหมายให้อำนาจเอกชนเป็นเจ้าของและดำเนินการได้ (Private Ownership and operation) โดยประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการสถานตรวจสภาพรถเอกชนแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป เฉกเช่นประเทศไทย แต่กลับมีการควบคุมจำนวนผู้ประกอบการ ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะเข้ามามีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ จึงทำให้เอกชนที่เข้ามาดำเนินการเป็นองค์การขนาดใหญ่ โดยความแตกต่างดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้หลายประการ ดังนี้
       2.1      การจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ
        ประเทศไทย เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐเดียว ด้วยระบบรัฐสภาเหมือนประเทศอังกฤษและมาเลเซีย และมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสิงคโปร์  โดยได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา 43 วรรคแรกความว่า     “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” และได้บัญญัติข้อจำกัดไว้ในวรรคสองความว่า “ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”  ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นว่าการจะตีความสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพเกินเลยไปถึงขนาดที่รัฐไม่มีอำนาจที่จะบัญญัติกฎหมายมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนในประเทศไทยได้เลย จึงไม่น่าจะถูกต้อง  แต่เมื่อมาพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชน จึงพบว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถกำหนดไว้ไม่ชัดเจนทั้งในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองคือ กฎกระทรวง กล่าวคือ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  มาตรา 74 วรรคแรกได้บัญญัติว่า “ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง” และวรรคสอง ได้บัญญัติว่า “การขออนุญาต และการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” และกฎกระทรวงฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2535) ได้กำหนดในเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งไว้ในข้อ 2  ความว่า “ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐาน ...”  โดยกำหนดลักษณะของอาคารสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จะต้องมีตามมาตรฐานไว้ในข้อ 3  ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายแล้ว ผู้วิจัยพบว่า มิได้มีข้อกำหนดอันใดที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการขออนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนได้เลย หากผู้ที่ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่มีเหตุอันใดที่กรมการขนส่งทางบกจะไม่พิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนได้ จึงส่งผลให้สถานตรวจสภาพรถเอกชนในประเทศไทยมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ไม่สมดุลกับปริมาณรถที่จะต้องทำการตรวจสอบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการตรวจสภาพรถ ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
        จากสภาพปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยเห็นว่าควรนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ของประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยรูปแบบสหพันธรัฐ โดยได้ประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ และมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นแห่งแรกของโลก และถือได้ว่าเป็นประเทศที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ก็มิได้มีข้อความคิดทางกฎหมายที่จะให้โอกาสแก่ประชาชนในการเข้ามาจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนได้อย่างเสรี รวมถึงไม่ได้บังคับให้ทุกรัฐต้องดำเนินการเหมือนกันทุกรัฐ โดยรัฐบาลกลางได้มีการบัญญัติกฎหมายกลางเพื่อวางหลักเกี่ยวกับมาตรฐานและกำกับดูแล ความปลอดภัยของรถยนต์ ตั้งแต่เริ่มแรกคือ ผู้ผลิตรถยนต์ และได้วางหลักเรื่องการตรวจสภาพรถไว้ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการของแต่ละรัฐ อาทิเช่น การตรวจสอบระบบเบรก ไฮดรอลิค, พวงมาลัย, ระบบช่วงล่าง, ล้อและยาง
        แต่เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ผู้วิจัยจึงได้เลือกทำการศึกษาข้อความคิดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพรถเฉพาะรัฐเท็กซัส (TEXAS) ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่า รัฐเท็กซัสได้มีการบัญญัติกฎหมาย โดยวางหลักเกี่ยวกับมาตรฐาน และการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนี้ไว้ใน ประมวลกฎหมายด้านการขนส่ง เรื่องที่ 7:รถยนต์ และการจราจร หัวเรื่องย่อย ซี : กฎ ของถนน ตอนที่ 548 : ข้อบังคับการตรวจสอบของรถ [4]  โดยกฎหมายได้ให้อำนาจกรมความปลอดภัยสาธารณะดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อตรวจสภาพด้านความปลอดภัยของรถที่ใช้งานบนถนน ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา (ADVISORY  COMMITTEE) ภายใต้โครงการการตรวจสอบรถ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งที่ดีที่สุด และกระจายการจัดตั้ง โดยจะต้องให้การรับรองสถานีตรวจสอบอย่างน้อยหนึ่งสถานีตรวจสอบสำหรับแต่ละเขตปกครอง (มาตรา 548.003)  ซึ่งการรับรองอาจจะรับรองทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน รวมถึงได้บัญญัติถึงการยอมรับใบรับรองการตรวจสอบของรัฐอื่น หรือที่ดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นยังได้ให้มีการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อตรวจสอบมลภาวะ
       โดยมาตรา 548.304 (a ) ได้วางหลักเกี่ยวกับสถานีที่จะได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบมลภาวะไว้ว่า “กรมอาจมอบอำนาจ และให้ใบอนุญาตสถานีตรวจสอบตามความจำเป็นกับความต้องการโครงการตรวจสอบมลภาวะรถยนต์ และการบำรุงรักษาที่จัดตั้งขึ้นตามตอนย่อยนี้ (subchapter) หากสถานีตรงตามข้อกำหนดการรับรองของกรม ” [5] 
        ดังนั้นการที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นกับความต้องการของสังคม มิใช่เป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะให้ประชาชนประกอบอาชีพได้โดยเสรี แม้จะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ตาม  หน่วยงานทางปกครองของรัฐ ยังจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการในการตรวจสอบรถ
       ภายในรัฐเท็กซัสด้วย  จึงเป็นกรณีที่ตรงกันข้ามกับข้อความคิดพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศไทยที่เปิดช่องให้ประชาชนมายื่นคำขอโดยตรงกับ หน่วยงานทางปกครองของรัฐ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะปฏิเสธการขอจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชนของประชาชนไว้ในกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
        2.2  การควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถ
       ประเทศไทยมิได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อวางหลักเกี่ยวกับการควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเหมือนต่างประเทศ จึงส่งผลต่อการใช้อำนาจควบคุมมาตรฐานของสถานตรวจสภาพรถเอกชนในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษา  ผู้วิจัยพบว่ารัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐอเมริกาได้บัญญัติ “  ให้มีผู้อำนวยการโครงการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพ การประสานงาน การจัดตั้ง การประเมินผล การบังคับใช้บทบัญญัติ และการรายงานผล ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 548.008 รวมถึงให้มีการจัดทำแบบพิมพ์การตรวจสอบ ซึ่งควบคุมด้วยเลขอนุกรมในใบรับรองการตรวจสอบ  กำหนดให้มีการเก็บรักษาพร้อมทั้งรายงานผล และให้สิทธิเข้าไปภายในอาคารเพื่อตรวจสอบ การตรวจสอบลึกลับ หรือการตรวจสอบแอบแฝง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 548.251 - 253   และมาตรา 548.4035  และยังได้บัญญัติความผิดสำหรับประชาชนที่ไม่แสดง หรือปลอมแปลงใบรับรองการตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 548.603 ”  และ “ ได้ให้อำนาจกรมความปลอดภัยสาธารณะในการปฏิเสธคำขอของบุคคลที่ขอจัดตั้ง การเพิกถอน หรือการระงับชั่วคราว หากมีความล้มเหลวในการดำเนินการตรวจสอบ หรือออกใบรับรอง ดังที่บัญญัติไว้ในตามมาตรา 548.405 ”  ซึ่งแตกต่างไปจากระบบกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชนของประเทศไทย
       ประเด็นที่ 3 : สภาพทางกฎหมายของการจัดตั้ง การดำเนินการและผลของคำสั่งต่าง ๆ ของสถานตรวจสภาพรถเอกชนในประเทศไทย
        จากการที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการถ่ายโอนอำนาจมหาชนจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ดังปรากฏถ้อยคำใน พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 74 วรรคแรก  ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง” และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การขออนุญาต และการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”  นอกจากนั้นแล้วใน พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 (2)  ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายกลางเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองยังได้บัญญัติว่า “ “เจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม”  รวมถึงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า  “ “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง”  ดังนั้น จึงส่งผลให้การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจทางปกครอง คือ การให้ผ่านหรือไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ ของสถานตรวจสภาพรถเอกชน เป็นการกระทำทางปกครองที่จะต้องถูกควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครองเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของกฎหมายดังกล่าว ส่วนผลของคำสั่งอื่น ๆ ที่เกิดจากการบริหารงานภายในของสถานตรวจสภาพรถเอกชน อาทิเช่น การจัดซื้อ จัดจ้าง  การบริหารงานบุคคล ซึ่งไม่ออกไปกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก ไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐ
       ประเด็นที่ 4 : การประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชนกับหลักเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
        จากการศึกษาหลักทั่วไปของสิทธิและเสรีภาพ และหลักเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ ผู้วิจัยพบว่า เสรีภาพในการประกอบอาชีพมิใช่เสรีภาพ (Liberty) ที่จะกำหนดตนเอง (Self determination)  โดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากหากปล่อยให้การประกอบอาชีพทุกอย่างในสังคมเป็นไปโดยเสรี อาจจะส่งผลกระทบต่อคนในสังคมและประโยชน์สาธารณะ อันมิอาจแก้ไขได้ก็เป็นได้ จึงเกิดข้อความคิดพื้นฐานทางกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญที่สำคัญในอันที่จะยินยอมให้รัฐมีอำนาจจัดระเบียบการประกอบอาชีพของราษฎรในรัฐนั้น ๆ ได้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา 43 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” และวรรคสองที่ว่า “ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”
       ดังนั้น เมื่อพิจารณาหลักเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพกับการประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชนแล้วเห็นว่า การดำเนินการตรวจสภาพรถ แท้จริงแล้วควรเป็นการดำเนินการโดยรัฐ เนื่องจากจะมีการใช้อำนาจมหาชน หรืออำนาจทางปกครอง ในการพิจารณาให้ผ่านหรือไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ ซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่สามารถได้ใบรับรอง เพื่อไปดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถ อันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของรถที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ ไม่สามารถเสียภาษีรถประจำปี  ทำให้ไม่สามารถนำรถไปใช้งานบนท้องถนนโดยทางอ้อมเช่นเดียวกัน  เพราะหากฝ่าฝืนนำรถที่ภาษีขาดต่ออายุไปใช้งานบนท้องถนนก็จะถูกเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายได้  แต่เนื่องจากเป็นการลดภาระทางด้านการคลังและงบประมาณของรัฐจึงได้ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ดังนั้น การที่ประชาชนจะกล่าวอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ รัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซง จึงต้องไปพิจารณาที่อาชีพนั้น ๆ ว่า  ถ้าหากรัฐปล่อยให้มีการประกอบกิจการนั้นๆ ไปจะส่งผลกระทบต่อสังคมหรือประโยชน์สาธารณะมากหรือน้อยเพียงใด เพราะหากส่งผลกระทบมากก็จะมีข้อเรียกร้องจากคนในสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ให้รัฐเข้ามาออกกฎเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองป้องกันการประกอบกิจการนั้น ๆ เช่นเดียวกัน 
        โดยสรุป ผู้วิจัยจึงเห็นว่า  การประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชนเป็นการดำเนินการแทนรัฐ และมีการใช้อำนาจมหาชน หรืออำนาจทางปกครอง จึงมิอาจอ้างหลักเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพมาคุ้มครองป้องกันตนเองให้เป็นผู้ที่มีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐไม่
        (4)  บทสรุปและข้อเสนอแนะ
        จากการศึกษา ผู้วิจัยเห็นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับสถานตรวจสภาพรถเอกชนของประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ประชาชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และไม่เห็นประโยชน์ของการตรวจสภาพรถ จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องทำให้ประชาชนในสังคมเห็นคุณค่าของการตรวจสภาพรถ มิใช่เห็นคุณค่าเพียงแต่เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ป้ายวงกลม)  เพราะถ้าเจ้าของรถเห็นคุณค่าของการตรวจสภาพรถ ก็จะไม่หลีกเลี่ยงไม่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรถจริง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยเห็นว่า ทางราชการ ควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ให้มีความแน่นอนชัดเจน ดังนี้
        (1.) ควรบัญญัติให้ “ รัฐมนตรี มีอำนาจไปออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดคุณลักษณะ และจำนวนของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ รูปแบบมาตรฐานของสถานี เครื่องหมาย ระยะเวลา และประเภทของรถที่จะต้องตรวจสอบ ค่าธรรมเนียม รวมถึงพื้นที่ที่จะบังคับให้ต้องมีการตรวจสอบ ภายใต้การให้คำปรึกษา แนะนำของ คณะกรรมการที่ปรึกษา” ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และเศรษฐกิจ
        (2.) ควรบัญญัติให้ “ อธิบดี มีอำนาจในการอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด รวมถึงการควบคุมกำกับดูแล และลงโทษผู้ฝ่าฝืน ” ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพื่อควบคุมคุณภาพ
        (3.) ควรบัญญัติให้มี “ คณะกรรมการที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ” ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพื่อให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ
        (4.) ควรจะมีการบัญญัติ“ โทษปรับทางปกครอง  การระงับชั่วคราว หากมีความล้มเหลวในการดำเนินการตรวจสอบ หรือออกใบรับรอง ” ก่อนที่จะถึงการใช้อำนาจยกเลิกหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชน ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
        (5.) ควรจะมีการบัญญัติ“ เหตุแห่งการยกเลิกเพิกถอน อาทิเช่น สถานี หรือผู้ดำเนินการตรวจสอบ ล้มเหลวในการดำเนินการตรวจสอบ หรือออกใบรับรอง ” ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
        (6.) ควรจะมีการบัญญัติ“ ความผิด และโทษของผู้ฝ่าฝืน ”ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพื่อควบคุมคุณภาพ และป้องกันการปลอมแปลง
        
        
       บรรณานุกรม
       บรรเจิด  สิงคะเนติ  (2546)  เอกสารประกอบการบรรยายวิชา น.561 : สิทธิและเสรีภาพ กรุงเทพมหานคร  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                           . (2552)  หลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       พิมพ์ครั้งที่ 3  พุทธศักราช  2552  กรุงเทพมหานคร  วิญญูชน
       วรพจน์  วิศรุตพิชญ์  (2543)   สิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540  กรุงเทพมหานคร  วิญญูชน
       วรพจน์  วิศรุตพิชญ์  (2538)  หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง  พิมพ์ครั้งที่ 2   กรุงเทพมหานคร  โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    
       วรเจตน์  ภาคีรัตน์  (2546)  หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง พิมพ์ครั้งที่ 2   กรุงเทพมหานคร  วิญญูชน
       สุรพล  นิติไกรพจน์  (2546)  เอกสารประกอบการบรรยายวิชา น.567 : กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ  กรุงเทพมหานคร  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       “รวมกฎหมายการขนส่งทางบก”   กรมการขนส่งทางบก  กรุงเทพมหานคร
       http://www.satutes.legis.state.tx.us/docs/tn/htm/tn.548.htm  ค้นคืนวันที่  17  สิงหาคม 2553
       http://www.satutes.legis.state.tx.us/index.aspx  ค้นคืนวันที่  24  สิงหาคม 2553
       http://www.motinfo.gov.uk/htdocs/index.htm  ค้นคืนวันที่  24  สิงหาคม 2553
       http://kedah.jkr.gov.my/gendirec/rta./act333.htm  ค้นคืนวันที่  7  กันยายน 2553
       http://www.agc.sg  ค้นคืนวันที่  18  กันยายน 2553
       http://statutes.agc.gov.sg/  ค้นคืนวันที่  23  กันยายน 2553
       http://www.krisdika.go.th/  ค้นคืนวันที่  3  มกราคม 2554
       --------------------------------
       

       
       

       

       [1] “ มาตรา 74  ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเพื่อรับรองสภาพรถตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง 
       การขออนุญาต และการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
       

       

       [2] กฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2535)  มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
        “ ข้อ 2 ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบกพร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
       (1)          บุคคลธรรมดา
       (ก)        ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ..............ฯ
       (ข)        สำเนาทะเบียนบ้าน หรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน
       (ค)        แผนที่แสดงที่ตั้งสถานตรวจสภาพรถ ............ฯ
       (ง)          แบบ ขนาด และรายละเอียดของเครื่องตรวจสภาพรถ
       (2)          ห้างหุ้นส่วนสามัญ..............ฯ
       (3)          ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด..............ฯ
       (4)          บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด..............ฯ
        ข้อ 3 สถานตรวจสภาพรถที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งต้องมีลักษณะและเหมาะสมสำหรับตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย
       (1)          อาคารสถานที่ตรวจสภาพรถ สำหรับใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องตรวจสภาพรถ และเป็นที่ทำการตรวจสภาพรถ
       (2)          เครื่องตรวจสภาพรถและอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการตรวจสภาพรถ ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       ลานจอดรถสำหรับรอการตรวจสภาพรถซึ่งมีพื้นที่พอสมควร ….ฯลฯ”
       

       

       [3] คดีหมายเลขดำที่ อ.311/2552
       (1.3.2)  เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง และควบคุมการดำเนินงานสถานตรวจสภาพรถเอกชน ของประเทศไทย กับ ต่างประเทศ
       (1.3.3)  เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพทางกฎหมายของ  การจัดตั้ง  การดำเนินการ และผลของคำสั่งต่างๆ ของสถานตรวจสภาพรถเอกชน
       (1.3.4)  เพื่อวิเคราะห์ และเปรียบเทียบ การประกอบกิจการสถานตรวจสภาพรถเอกชน กับหลักเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
       (1.3.5)  เพื่อเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชน ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และมีความสอดคล้องกับสังคมไทย
       

       

       [4] TRANSPORTATION CODE  TITLE 7. VEHICLES AND TRAFFIC  SUBTITLE C.RULES OF THE ROAD  CHAPTER 548 .COMPULSORY INSPECTION OF VEHICLES                               
       

       

       [5] section 548.304 (a ) The department may authorize and certify inspection stations as necessary to implement the emissions-related inspection requirements of the motor vehicle emissions inspection and maintenance program established under this subchapter if the station meets the department's certification requirements.
        
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544