หน้าแรก บทความสาระ
การกำกับสื่อใหม่: แนวทางและนโยบายของของรัฐไทยในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี
คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9 กันยายน 2555 21:17 น.
 

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารนานาชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและมีลักษณะเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน รวมถึงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน เราสามารถเห็นจำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ (new media)[1] ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเป็นสื่อใหม่ที่ผู้ใช้มีเสรีภาพสูงในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการใช้ประโยชน์ หรือที่เราอาจเรียกว่ามันมีลักษณะความเป็นสาธารณะโดยส่วนตัว (Personic = public+person) ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของผู้ใช้แต่ละคน จึงมีประเด็นสำคัญซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับวิธีการหรือแนวทางการใช้ของผู้ใช้แต่ละคนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษกับสังคม ในกรณีหากมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมอันก่อให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของรัฐ รัฐในฐานะเป็นผู้ดูแลและบริการสาธารณะต่างๆแก่ประชาชนก็ต้องดำเนินการจัดการผ่านมาตรการการกำกับดูแลหรือกำหนดนโยบายต่างๆที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน และนี่เองที่น่าจะเป็นจุดเร่งให้เกิดกฎหมายใหม่สำหรับสื่อใหม่ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี และการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ การกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อใหม่ยุคแห่งการหลอมรวมเทคโนโลยี จึงกลายเป็นประเด็นทางนโยบายที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ
       

ในอดีต สื่อสารมวลชนโดยลักษณะของพวกมันจะมีความแตกต่างกันอันทำให้เราสามารถแยกออกพวกมันจากกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ หนังสือ วิดีโอและภาพยนตร์ ฯลฯ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตอลจากประเภทของเนื้อหา จากภาพ เพลง วิดีโอที่สามารถแพร่กระจายในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือผ่านทางอินเทอร์เน็ต ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘การหลอมรวมสื่อเทคโนโลยี’ (Convergence Technology Media) ขึ้น โดยนัยของมันไม่เพียงแต่หมายความว่ารูปแบบที่แตกต่างกันของสื่อที่มาบรรจบกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารโทรคมนาคมที่จะบรรจบกันอีกด้วย
       

เคยมีนักวิชาการด้านสื่อท่านหนึ่ง ชื่อ Jenkins ได้อธิบายเกี่ยวกับการเข้าสู่ยุคของการหลอมรวมเทคโนโลยี ในหนังสือของเขา Convergence Culture: Where Old and New Media Collide (2006) ว่า: “...เป็นการหลอม รวมของเนื้อหาของสื่อหลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงพฤติกรรมการ ผู้บริโภคสื่อซึ่งมีความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมสื่อหลายๆ รูป แบบ เช่น การให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่แตกต่างกัน เช่นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์โทรทัศน์ โทรศัพท์ และ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ”
       

โดยเหตุผลสำคัญของการหลอมรวมเข้าหากันดังกล่าว คือ เรื่องการมุ่งสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ธุรกิจ แต่หากเราหันมามองจากอีกข้างหนึ่งด้วยมุมมองของผู้บริโภคแล้ว การหลอมรวมเข้าหากันของเทคโนโลยีได้สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่น่าสงสัย พร้อมกันนั้นผู้บริโภคต่างมีความต้องการ และมีความเข้าใจในการบริโภคเทคโนโลยีมากขึ้นการบริโภคเทคโนโลยีเหล่านี้ก่อให้เกิด สื่อชนิดใหม่ (New Media) จำพวกสื่อดิจิทัล ซึ่งแต่ละชนิดต่างมีข้อเด่นแตกต่างกันไป ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของ การเปลี่ยนแปลงที่จะมีการหลอมรวมสื่อทางด้านโทรคมนาคม รวม ถึงวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดที่ต้องผัน ตัวเองเข้าสู่ระบบดิจิทัล
       

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในยุคของการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) หลายประเภทอย่างที่กล่าวมา ทั้งสื่อด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และสื่อบรอดแคสติ้ง การจะจัดแยกประเภทของสื่อจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและสับสนยิ่งขึ้น การกำกับดูแลตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ก็มีความยุ่งยากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการกำกับดูแลการใช้สื่อนั้นแยกออกจากกันได้ยากว่าเป็นชนิดใดจะใช้กฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ฉบับใดกำกับดูแล ขณะที่กฎหมายก็ยังมีช่องโหว่มากมายที่ใช้ได้เพียงการกำกับดูแลเฉพาะสื่อบางสื่อเท่านั้น เมื่อมีการตอบสนองด้วยสื่อใหม่มากขึ้น ทำให้การเติบโตของสื่อกระแสหลักมีรายได้ลดน้อยลง  ยกตัวอย่าง เรื่องโฆษณาที่หันไปใช้บริการสื่อใหม่ ปัญหาคือการโฆษณาไม่มีการกลั่นกรอง เพราะนำเสนอได้โดยง่าย และยังมีการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต การละเมิดลิขสิทธิ์และการกระทำผิดกฎหมายทางด้านสื่อ โดยใช้ ช่องว่างที่ไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมารองรับการเกิดสื่อใหม่ และ พ.ร.บ. ฉบับเดิมๆ ก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
       

ในการนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว รัฐจึงจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้กฎหมายสามารถดูแลครอบคลุมการกระทำละเมิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้น เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสื่ออื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อการดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยให้ กสทช. จัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่เพื่อปรับการนำไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลในอนาคตและกฎหมายจะต้องสามารถรองรับยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพราะคงไม่สามารถปล่อยให้สื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งแบบในระบบ หรือนอกระบบโดยไม่มีกฎหมายมารองรับได้
       

องค์การสื่อที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกำกับการทำงานให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณของสื่อ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็เริ่มคิดถึงการกำกับดูแลสื่อใหม่ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในฐานะที่เป็นสมาชิก และต้องปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ในขณะที่ยังไม่มีการตราข้อบังคับ หรือหลักปฏิบัติเรื่องจริยธรรมสื่อใหม่ที่ชัดเจน ผู้ประกอบวิชาอาชีพสื่อจะต้องเข้าใจสถานะความเป็นสื่อมวลชนในการใช้สื่อใหม่ ตัวอย่างเช่น การใช้เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่อาจได้รับความเชื่อถือมากกว่าสื่อบุคคลโดยทั่วไปแม้จะส่งผ่านข้อความที่เป็นส่วนตัวได้ แต่ในพื้นที่ข่าวหรือความคิด เห็นยังต้องเคารพหลักการ “พูดความจริง” เพื่อมิให้พื้นที่สาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นเพียงพื้นที่ในการกระจายข่าวร้าย หรือเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น
       

ประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสื่อใหม่หลายด้าน รวมถึงมีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ อันส่งผลให้เมื่อพิจารณาในด้านของการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีจึงต้องทำงานด้วยความระมัดระวังและรับผิดชอบมากขึ้น เพราะโอกาสในการกระจายข่าวสารข้อมูล ก็คือโอกาสในการถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในขณะเดียวกันผู้นำเสนอข้อความ หรือเจ้าของงานเขียนหรือบทความที่อาจถูกส่งผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก็จะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายคดีหมิ่นประมาท บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ ที่มีส่วนรู้เห็นในข้อความหมิ่นประมาท อาจต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม ในขณะที่การกำกับดูแลสื่อในประเทศไทยแต่ละประเภทจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลสื่อสื่อใหม่ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี
       

 
       

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับสื่อใหม่ 
       

เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลามีส่วนในการผลักดันให้รัฐต้องปรับตัวรองรับโดยการกำหนดนโยบายและกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางหนึ่ง และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง สำหรับประเทศไทยนั้น มีกฎหมาย แผนและนโยบายระดับชาติที่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอยู่หลายฉบับ เช่น
       

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)
       

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) มุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” คำนึงถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งในด้านโอกาสและภัยคุกคาม
       

2. กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544 - 2553 (Information Technology Policy Framework 2001-2010: IT 2010)
       

กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553ให้ความสำคัญกับบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในฐานะเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเน้นถึงการประยุกต์ใช้ในสาขาหลักที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างคำนึงถึงความสมดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม นวัตกรรม ความรู้ การวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมซึ่งหากได้มีการพัฒนาตามกลยุทธ์ 5 ด้าน โดยพัฒนาฐานที่เป็นปัจจัยเชื่อมโยงไปพร้อมกัน ก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
       

 
       

กฎหมายเกี่ยวกับสื่อใหม่
       

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือนำไปใช้กับสื่อใหม่ได้จำนวนหลายฉบับ ตัวอย่างเช่น
       

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47
       

มาตรา 47 ระบุว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือ การครอบงำระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
       2. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
       พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มีบท บัญญัติหลักๆ เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม บทกำหนดโทษ การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม มาตรฐานของโครงข่ายโทรคมนาคมและอุปกรณ์ สิทธิของผู้รับใบ อนุญาต สิทธิของผู้ใช้บริการ สัญญาให้บริการโทรคมนาคม ค่า ธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม การกำกับดูแลต่อ มาได้มีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ขึ้นใน พ.ศ. 2549 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถถือหุ้น โทรคมนาคมในสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังต้อง พึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศในการประกอบกิจการ โทรคมนาคมบางประเภท
       3. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ กิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543
       พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีเนื้อหาแบ่ง เป็น 2 หมวดหลัก คือ หมวด 1 ว่าด้วยองค์กรด้านกิจการกระจาย เสียงและกิจการโทรทัศน์ หมวด 2 ว่าด้วยองค์กรด้านกิจการ โทรคมนาคม ในแต่ละหมวดจะกล่าวถึงคณะกรรมการกิจการใน ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการบริหารคลื่นความถี่ การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการและการ บริหารงานด้วย
       4. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
       

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ และ กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งใน แต่ละส่วนเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ การบริหารสถานี การป้องกันการผูกขาด และรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
       

5. พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
       

พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มีความครอบคลุมปัญหาที่เกิดกับสื่อใหม่หลายประการ เช่น แบบนิติกรรมสัญญา การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการปรับใช้ เป็นต้น
       

6. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
       

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดองค์ประกอบของการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไว้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฯนี้ ระบบคอมพิวเตอร์หมายความถึง “…อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์ หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ…” ดังนั้น การ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติฯ นี้ จึงครอบคลุมถึงโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหลายด้วย อย่างไรก็ดี ถึงแม้การมีกฎหมายฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐสามารถกำกับ ดูแลสังคมออนไลน์ให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อผู้ใช้ด้วยกัน แต่ก็มีการถกเถียงในสังคมถึงเนื้อหาที่คลุมเคลือของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้
       

 
       

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลสื่อในประเทศไทยแต่ละประเภท มีกฎหมายเฉพาะจนทำให้เกิดช่องว่างในการกำกับดูแลสื่อบางประเภทเช่นในทุกวันนี้ จนเกิดแนวทางว่าไม่ว่าอะไรทันสมัยเข้ามาเรารับไว้ ก่อนแล้วค่อยคิดหาทางแก้ไขและรับมือกับผลกระทบกันภายหลัง ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่จะมีการหลอมรวมสื่อ ทางด้านโทรคมนาคม รวมถึงวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ อีกทั้งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของ การเปลี่ยนผ่านที่จะรวมคณะกรรมการเข้าด้วยกันตามรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนของ กสทช. เองมีหน้าที่โดยตรงในการจัดกิจกรรมเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการหลอมรวมสื่อ และนำไปสู่การนำไปดำเนินการปฏิบัติกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในหลายๆ ประเทศมีวิธี การปฏิบัติ และการแก้ไขที่หลากหลาย จึงน่าที่จะนำนโยบายกรณี เหล่านี้มาศึกษาเพื่อที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ประเทศไทยต้องมาเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ถูก และผิดด้วย การมีกฎหมายเรื่องดังกล่าวนี้ สำหรับประเทศไทยก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งกฎเกณฑ์ และรายละเอียดต่างๆ ที่มีระบุไว้ยังไม่ชัดเจนนัก เราจำเป็นจะต้องศึกษา เรียนรู้และเปรียบเทียบกับนโยบาย กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก
       

ส่วนของกฎหมาย มีประเด็นหลายอย่างที่ขัดแย้งกับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน อาทิ การกำกับด้านเสรีภาพของสื่อมากจนเกินไป จนกระทั่งบางทีสื่อฯ ขยับตัวทำสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยได้ ทั้งยังต้องทำงานภายใต้กรอบที่ถูกวางไว้ ทำให้ไม่สามารถเสนอข่าวสารที่เป็นกลาง หรือเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้คือปัญหาด้านหนึ่งของกฎหมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการออกกฎหมาย จะต้องคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรถึงจะทำให้กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่กำกับดูแลให้ การทำงานด้านสื่อสารมวลชนเป็นไปได้อย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เหมือนงานด้านโทรคมนาคม เพราะสื่อสารมวลชนเป็นงานที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และเป็นงานที่ไม่ใช่การขายสินค้า แต่การทำงานของสื่อเป็นงานที่เสนอข่าวสารออกไปสู่มวลชน เพื่อให้ทราบข่าวความเป็นไปของสังคม ซึ่งควรจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นธรรมอย่างแท้จริง ในขณะที่โลกกำลังหลอมรวมสื่อ ต้องก้าวไปถึงจุดนั้นด้วยอย่างแน่นอน ทั้งนี้กฎหมายก็ต้องสนับสนุนให้เกิด รวมถึงต้องดูแลเพื่อไม่ให้ไปกระทบกระเทือน กับวิถีของวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นอยู่เดิม และให้เสรีในการนำเสนอข่าวสาร ในฐานะที่วิทยุชุมชนคือ สื่อมวลชนอีกแขนงหนึ่ง เมื่อสื่อมีการหลอมรวมเกิดขึ้น ซึ่งช่องทางเหล่านี้เป็นช่องทางที่ส่งข่าวสารต่างๆ ออกไปได้อย่างมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องมากำหนดกันว่าเราจะทำอย่างไรให้การใช้งานนั้น คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
       


       
       

       

       [1] สื่อใหม่ (New Media) มีความหมายครอบคลุมถึงการ เกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี เครือข่าย หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในช่วงปลาย ศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีที่ถูกนิยามว่าเป็นสื่อใหม่ส่วนมากมักจะ มีคุณลักษณะที่ถูกจัดการได้ (Manipulated) เชื่อมต่อเป็นเครือ ข่ายได้ (Networkable) ทำให้หนาแน่น (Dense) และบีบอัด สัญญาณได้ (Compressible) มีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) และมี ความเป็นกลาง (Impartial) ดังนั้น “สื่อใหม่” จึงหมายความถึง อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ มัลติมีเดีย เกมส์คอมพิวเตอร์ ซีดีรอม และ ดีวีดี และ“สื่อใหม่” จึงไม่ได้หมายความถึงรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วารสาร หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆ
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544