หน้าแรก บทความสาระ
วิพากษ์การตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
คุณพอเจตน์ วิชาวุฒิพงษ์ น.บ.,น.บ.ท. , นักกฎหมายอิสระ
13 สิงหาคม 2555 14:25 น.
 
มีคำกล่าวของนักปราชญ์โรมันผู้ยิ่งใหญ่นาม Celsus ว่า “Scire legis non hoc est verba earum tenere sed vim ac potestatem” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “การทำความเข้าใจกฎหมายมิได้หมายความถึงการยึดติดอยู่กับถ้อยคำ หากแต่หมายถึงการหยั่งรู้ถึงพลังและอำนาจแห่งถ้อยคำนั้น” ดังนั้น หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ ๑๘ - ๒๒/๒๕๕๕ เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไปเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แล้ว เมื่อคำวินิจฉัยกลางฉบับทางการออกเผยแพร่  เหตุและผลแห่งการตีความกฎหมายในคำวินิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการ นักกฎหมาย นักการเมือง ตลอดจนประชาชนผู้มีความสนใจในทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนมีความเห็นว่าคำวินิจฉัยในบางประเด็นเป็นที่น่าศึกษาและควรตั้งข้อสังเกตทั้งในเชิงในหลักการและวิธีการตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้วิเคราะห์และวิพากษ์ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งไว้เฉพาะใน ๒ ประเด็นแรก ดังต่อไปนี้
       ประเด็นที่ ๑ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ หรือไม่
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา ๖๘ วรรคสอง ให้สิทธิผู้ร้องยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยให้เหตุผลโดยสรุปว่า
       ๑.เจตนารมณ์ของมาตรา ๖๘ เป็นไปเพื่อการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๙ เนื่องจากการที่ศาลฯจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๘ ได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่บังเกิดผล หาไม่แล้วคำวินิจฉัยของศาลฯตามมาตรา ๖๘ วรรคสองนี้ก็จะพ้นวิสัย ไม่สามารถใช้บังคับได้ ทั้งสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘ นี้มีหลักการมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯและการเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองและเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นได้ เพราะหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้ เช่นนี้แล้ว ประชาชนผู้ทราบเหตุตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ย่อมสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิใช้สิทธิของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี
                 บทวิพากษ์
                   ผู้เขียนเห็นว่า แม้เจตนารมณ์ของมาตรา ๖๘ จะมีหลักการให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลไว้ก็ตาม แต่กระบวนการหรือวิธีการใช้สิทธิย่อมต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่สามารถใช้สิทธิได้โดยเสรีโดยไม่อยู่ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า กรณีตามคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฉบับนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขของมาตรา ๖๘ เนื่องจาก
                   ก. กรณีไม่ใช่การ “ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในหมวด ๓ คือ ตั้งแต่มาตรา ๒๖ ถึงมาตรา ๖๙ เท่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้ “อำนาจ” ของรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ในมาตรา ๒๙๑ อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งแม้ประเด็นนี้จะมีผู้ถูกร้องอย่างน้อย ๔ ราย[1]ได้โต้แย้งไว้ แต่ก็ไม่ปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยกลางแต่อย่างใด
                   ข.หากเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาตีความตัวบทกฎหมายทั้งในแง่ของหลักภาษาและตีความโดยค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว[2] ผู้เขียนเห็นว่า เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวแม้จะมีขึ้นเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯก็ตาม แต่ก็ต้องพิจารณาในบริบทของวิธีการหรือเงื่อนไขในการใช้สิทธิประกอบด้วย หากตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิประชาชนไว้ ๒ ทาง โดยทางแรก คือการยื่นต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ และทางที่สอง คือประชาชนผู้ทราบการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเองได้ทันที เช่นนี้ ย่อมทำให้การยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติเลย เพราะเมื่อผู้ร้องสามารถใช้สิทธิได้โดยตรงต่อศาลแล้ว หากผู้ร้องใช้สิทธิโดยมีความเห็นหรืออ้างเหตุต่อศาลว่า “กรณีการกระทำของผู้ถูกร้องนั้น หากปล่อยให้เกิดการกระทำขึ้นหรือหากมีการกระทำต่อไปจะเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ประกอบกับโดยลักษณะของการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองฯคงไม่มีกรณีใดที่ไม่เร่งด่วน กรณีย่อมเป็นการชักช้าแก่คดีที่จะยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้เขียนเห็นว่า หากกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ก่อให้เกิดผลประหลาดเช่นนั้น คงไม่กำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิเอาไว้ว่าต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน ในทางตรงข้ามผู้เขียนกลับเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิเอาไว้ก็เพื่อให้อัยการสูงสุดในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการตรวจสอบกลั่นกรองและวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเบื้องต้น เนื่องจากข้อหาล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นข้อหาที่ร้ายแรง มีบทลงโทษทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ วรรคสามถึงขั้นยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมือง ทั้งไม่ตัดสิทธิในการดำเนินคดีอาญาซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ซึ่งมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตได้อีกด้วย หากปล่อยให้ประชาชนผู้อ้างว่าได้ทราบการกระทำดังกล่าวมีโอกาสใช้สิทธิต่อศาลโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ก็อาจเกิดการฉกฉวยโอกาสดังกล่าวเพื่อเป็นช่องทางกลั่นแกล้งกล่าวหากันในทางการเมืองได้ง่าย ทั้งมีผลทำให้คดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเพียง ๙ คนเท่านั้น ซึ่งต่างจากระบบศาลอื่นที่รัฐธรรมนูญมิได้จำกัดจำนวนผู้พิพากษาหรือตุลาการเอาไว้ ดังนั้น เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา ๖๘ จึงไม่อาจพิเคราะห์ในบริบทด้านสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพียงประการเดียวเท่านั้นได้ หากแต่ยังต้องพิเคราะห์ในบริบทของการป้องกันมิให้มีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองและในบริบทระบบของรัฐธรรมนูญเองควบคู่กันไปด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้องค์กรอัยการเข้ามามีบทบาทโดยตรงในเรื่องนี้เพื่อทำหน้าที่ช่วยศาลรัฐธรรมนูญในการกลั่นกรองข้อมูลในชั้นต้นก่อน ทั้งการตีความเช่นนี้ก็สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายทั่วไปที่จะต้องตีความไปในทางที่เป็นผลมากกว่าในทางที่ไร้ผล[3]และหลักการตีความโดยเล็งผลเลิศ(The golden rule)ที่มีหลักการสำคัญว่าในกรณีที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นอาจแปลความหมายได้เป็นสองนัยหรือมากกว่านั้น ศาลย่อมจะตีความไปในทางที่มีความหมายอันควรและมิใช่ไปในทางที่ไม่ควรจะเป็นหรือบังเกิดผลประหลาด(a manifest absurdity)[4]อีกด้วย
       ค. Celsus เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะวินิจฉัยตีความส่วนหนึ่งส่วนใดของกฎหมายโดยไม่พิจารณากฎหมายทั้งมวล” อันถือได้ว่าสอดคล้องกับการตีความกฎหมายด้วยหลักความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย[5] ซึ่งกรณีนี้หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฯทั้งฉบับแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิแก่ประชาชนโดยตรงที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ มีเพียงข้อยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือกรณีตามมาตรา ๒๑๒ เท่านั้น  ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็กำหนดเงื่อนไขไว้ในวรรคสองว่าต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นๆไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้แล้วเท่านั้น ซึ่งกรณีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่อาจแปลความได้ว่ากรณีเข้าเงื่อนไขของบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่ “บุคคล” ใดถูกละเมิด “สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้” และ การแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ก็มิใช่การแก้ไข “บทบัญญัติของกฎหมาย” ตามความหมายของมาตรา ๒๑๒ เพราะคำว่า “บทบัญญัติของกฎหมาย” ดังกล่าว หมายความถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติที่มีค่าบังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติเท่านั้น[6]การตีความให้ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดก่อนนั้น จึงน่าจะขัดต่อหลักการตีความโดยยึดหลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ผู้ตีความรัฐธรรมนูญต้องพิเคราะห์รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างเป็นเอกภาพ โดยจะต้องตีความบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกันเอง[7]
       ง. ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔(๑) ประกอบมาตรา ๙๕ แล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการอันต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔(๑) ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญฯ[8]เอาไว้อย่างชัดเจนโดยกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลโดยหลักต้องเป็น “อัยการสูงสุด” เท่านั้น เว้นแต่กรณีที่อัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องจึงจะให้สิทธิแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีที่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนพรรคการเมืองและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดไม่อาจหาข้อยุติได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันตั้งคณะทำงาน โดยหาได้บัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชนผู้ใดผู้หนึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไม่ ซึ่งแม้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกทั้งบทบัญญัติมาตรา ๙๔ และมาตรา ๙๕ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในเรื่องการ “ยุบพรรคการเมือง” เท่านั้นซึ่งโดยหลักแล้วไม่อาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตีความรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ถือว่าเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่สามารถนำมาพิจารณาประกอบกับเหตุผลหลักให้หนักแน่นยิ่งขึ้นได้ว่า โดยระบบของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ แล้ว นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๒ การที่ประชาชนจะใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจกระทำได้โดยตรง แต่ต้องกระทำโดยผ่านการกลั่นกรองหรือตรวจสอบในเบื้องต้นจากองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เสียก่อนเท่านั้น
       จ. ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่ศาลอ้างถึงบทบัญญัติมาตรา ๖๙ นั้นเป็นไปด้วยตรรกะใด แต่หากเป็นการอ้างถึงสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้ว แม้อาจกล่าวได้ว่าบทบัญญัติมาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ มีเจตนารมณ์สอดคล้องต้องกันคือ การให้สิทธิแก่ประชาชนในการกระทำการเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญหรือระบอบการปกครอง แต่บทบัญญัติทั้งสองก็มีบริบทในวิธีการใช้สิทธิที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กรณีตามมาตรา ๖๘ นั้น เป็นเรื่องของการ “ใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะ แต่กรณีตามมาตรา ๖๙ เป็นเรื่องการ “ใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี” ซึ่งหมายความถึงการใช้สิทธิในรูปแบบอื่นซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอาจรวมถึงการ “ใช้สิทธิทางศาล” ในกรณีอื่นที่มิใช่การใช้สิทธิตามมาตรา ๖๘ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการ “เฉพาะ” ก็ได้ เช่น นายเขียวกับพวกกำลังเตรียมการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล นายเหลืองกับพวกทราบเรื่องดังกล่าว เช่นนี้ นอกจากนายเหลืองจะมีสิทธิพูด เขียน โฆษณา หรือชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อต่อต้านการกระทำของกลุ่มนายเขียวดังกล่าวแล้ว นายเหลืองยังอาจดำเนินการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลยุติธรรมในข้อหากบฏหรือตระเตรียมการเพื่อเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ หรือมาตรา ๑๑๔ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิในการต่อต้านการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ อันเป็นสิทธิที่มาตรา ๖๙ ให้การรองรับไว้ก็ได้ แต่หากนายเหลืองจะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้กลุ่มนายเขียวเลิกการกระทำดังกล่าว นายเหลืองก็ต้องใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ อันเป็นวิธีการเฉพาะที่บัญญัติไว้เป็นเอกเทศโดยมิได้อาศัยบทบัญญัติมาตรา ๖๙ ดังนั้น ลำพังการอ้างบทบัญญัติมาตรา ๖๙ เพื่อมารองรับหรือสนับสนุนให้ศาลมีอำนาจรับคำร้องที่ยื่นตามมาตรา ๖๘ โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดได้นั้นจึงดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก
       ๒.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการมีอยู่ของมาตรา ๖๘ และ ๖๙ เป็นไปเพื่อรักษาหรือคุ้มครองรัฐธรรมนูญเอง ตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองหรือกำหนดกรอบไว้ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองของชาติ คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และป้องกันการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในประการนี้ต่างหากที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญที่จะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
                 บทวิพากษ์
                 ในเรื่องวิธีการตีความกฎหมายโดยการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายนั้น หลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรของอังกฤษซึ่งใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี(Common law system) นั้นจะถือเคร่งครัดว่ารายงานการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นไม่ถือว่าเป็นเครี่องมือในการช่วยตีความกฎหมาย จึงห้ามมิให้อ้างอิงถึงรายงานการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายในการตีความนั้น โดยศาลอังกฤษถือหลักว่า ศาลจำเป็นต้องค้นหาเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติจากตัวบทกฎหมายนั้นเองเป็นสำคัญ ส่วนรายงานการอภิปรายกับร่างกฎหมายของรัฐสภานั้น ถ้าหากจะให้อ้างอิงได้ ย่อมจะเสียเวลาของคู่ความแต่ละฝ่ายในการค้นคว้าเป็นอันมากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง รายงานการอภิปรายของคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายนั้นก็มิได้มีการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ[9]ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการตีความกฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบลายลักษณ์อักษร(Civil law system) คือ ในการตีความกฎหมายทั่วไปนอกเหนือจากกฎหมายอาญาและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรแล้ว การตีความกฎหมายในระบบนี้มุ่งประสงค์จะใฝ่หาเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายโดยอาศัยประวัติกฎหมายอันได้แก่ รายงานการร่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรตลอดจนรายงานการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นๆในสภานิติบัญญัติ[10] แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้กฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษรหรือ Civil law แต่แนวโน้มวิธีการตีความกฎหมายกลับยึดแบบอย่างของประเทศอังกฤษเป็นหลัก โดยเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “หลักใหญ่ในระบบการศาลยุติธรรมก็คือว่า ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้แปลกฎหมาย “การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ” ฉะนั้น ถ้ายอมให้ผู้อื่นมาตีความให้ศาลฟัง ก็เท่ากับว่าผู้อื่นนั้นเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี หาใช่ศาลไม่”[11]ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าศาลไทยยังคงยึดถือระบบการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรแบบของอังกฤษเป็นหลัก
                   จากหลักการที่ได้นำเสนอข้างต้นผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับหลักการและเหตุผลบางส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากจะเติมแต่งให้เหตุผลนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้นั้น ศาลจำต้องพิเคราะห์ถึงอำนาจและภารกิจขององค์กรอื่นตามรัฐธรมนูญประกอบด้วย องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องไม่ตีความอำนาจหน้าที่ของตนให้ขัดกับหลักการแบ่งแยกภารกิจตามรัฐธรรมนูญหรือที่เราเรียกกันว่า “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” ซึ่งในเรื่องนี้ ขอให้ดูประกอบบทวิเคราะห์ในส่วนของประเด็นที่ ๒ ต่อไป ลำพังเพียงเหตุผลที่ศาลวินิจฉัยไว้นี้ ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการที่จะตีความให้ผู้ทราบการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ยื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงโดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยอัยการสูงสุดได้
       ๓. ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งในฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ และในฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีเจตนาร่วมกันอยู่ที่การจะให้ประชาชนสามารถร่วมกันใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๓ และ ๖๘ การตีความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเสนอคำร้องต่อศาลฯจึงต้องตีความไปในแนวทางยอมรับสิทธิมิใช่จำกัดสิทธิ เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้สมเจตนารมณ์ของบทบัญญัติทั้งสองดังกล่าว ทั้งตามข้อเท็จจริงในคำร้องหากปล่อยให้รัฐสภามีการลงมติในวาระ ๓ ไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องให้ศาลฯวินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยมิชอบตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ก็จะไม่สามารถบังคับเพื่อวินิจฉัยทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้ ศาลฯจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง
        
        
                 บทวิพากษ์
                   ปัญหานี้ ผู้เขียนเห็นว่า การตีความในรูปแบบที่ให้บุคคลผู้ทราบการกระทำต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดก่อนนั้น ก็หาเป็นการตีความจำกัดสิทธิของบุคคลผู้ทราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่มีเงื่อนไขในการใช้สิทธิเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการที่จะป้องกันพิทักษ์รัฐธรรมนูญและในขณะเดียวกันก็เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของระบบในรัฐธรรมนูญและเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองจากการใช้ข้อหาที่ร้ายแรงกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามในอีกทางหนึ่งด้วยดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น การตีความในรูปแบบดังกล่าวนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการตีความที่จำกัดสิทธิดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิทธิของประชาชนในการที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างไรก็คงยังมีอยู่ครบถ้วนอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่การใช้สิทธิดังกล่าวก็ควรจะมีเงื่อนไขหรือวิธีการกำกับอยู่ด้วย
        
       ประเด็นที่ ๒ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
                   ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแก้ไขโดยยกเลิกทั้งฉบับไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า
       “อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชนอันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจที่ให้ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรที่ใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐธรรมนูญนั้นเอง กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการแก้ไขกฎหมายธรรมดาสำหรับประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายที่ยึดหลักความเป็นสูงสุดของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป
                 การตรารัฐธรรมนูญพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตามแต่การแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๙๑เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑”           
       บทวิพากษ์
       ต่อปัญหานี้ ผู้เขียนมีความเห็นในเชิงโต้แย้งดังต่อไปนี้
       ๑. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่ เนื่องจากประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีอยู่เพียงว่า การกระทำของผู้ถูกร้องต้องด้วยข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ หรือไม่เท่านั้น ซึ่งการจะวินิจฉัยต้องอาศัยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ เท่านั้น ประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเพียง ๓ ประเด็น ดังนี้
       ก.ศาลมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
       ข.หากศาลมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาแล้ว การกระทำของผู้ถูกร้องเข้าข่ายต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๖๘ หรือไม่ และ
       ค.หากการกระทำของผู้ถูกร้องเข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมาย จะถือเป็นเหตุให้ศาลต้องมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือไม่
       ดังนั้น ปัญหาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่นั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยไว้ ทั้งเป็นกรณีตามมาตรา ๒๙๑ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาโดยตรง ประกอบกับบทบัญญัติดังกล่าวก็หาได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ไม่ หากแต่กำหนดเพียงว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้จะดำเนินการแก้ไขทั้งฉบับ หากแต่มิได้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการได้
       ๒.ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับ “หลักการ” ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของ ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ไว้ดังนี้
       “การที่จะถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เราจะแตะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสียใหม่ไม่ได้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริงทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง          ในทางกฎหมายก็คือว่ารัฐธรรมนูญเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นโดยเจตนาของฝ่าย เดียวเช่น รัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่ราษฎรหรือเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยการตกลงด้วยเจตนาร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น          รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งย่อมเหมาะสมแก่สภาพของประเทศในสมัยนั้นเพราะผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญย่อมพิจารณาวางบทบัญญัติลงไปตามที่ตนเห็นสมควรในขณะนั้น แต่ภายหลังเมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาช้านานสภาพความเป็นอยู่ของประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงไป          ฉะนั้นจะให้ฐานะในทางการเมืองและทางสังคมของประเทศต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้บทกฎหมาย ฉบับหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล          ในทางการเมืองนั้น การที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น ถ้าหากว่าสภาพความเป็นอยู่ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงผิดไปจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งล่วงพ้นสมัยแล้วรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นแต่เพียงตัวหนังสือไม่มีการปฏิบัติตามและในไม่ช้าก็จะเกิดมีการปฏิวัติขึ้น          ฉะนั้นในทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ราษฎรก่อการปฏิวัติจึงจำเป็นที่จะต้องไม่ประกาศออกมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้และจะต้องมีบทบัญญัติบอกวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไว้เพื่อสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมัยอยู่เสมอ”[12]
                   นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ไพโรจน์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบอันใดอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ บทบัญญัติเช่นนี้จะมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่เอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
       “ในบางครั้งผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญต้องการที่จะให้รูปการปกครองที่ตนสร้างขึ้นมั่นคงถาวรอยู่ชั่วกาลนาน แม้จะยอมให้แก้ไขในเรื่องอื่นๆ ได้ก็ดีโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในทางที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของประเทศ เช่น ตามมาตรา ๙๐ของรัฐธรรมนูญบราซิล ลงวันที่ ๒๔กุมภาพันธ์ค.ศ.๑๙๘๑หลังจากที่ได้กล่าวถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วได้ห้ามไว้ว่าไม่ให้แก้รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐและแบบสหพันธ์ของประเทศ          รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ลงวันที่ ๒๑มีนาคม ค.ศ.๑๙๑๑ได้กล่าวไว้ในมาตรา ๘๒ว่าห้ามมิให้เสนอแก้ไขรูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของประเทศรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสฉบับก่อน ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายลงวันที่ ๑๔สิงหาคมค.ศ.๑๘๘๔มาตรา ๒มีว่า "รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสนั้นไม่อาจจะเป็นวัตถุประสงค์แห่งการเสนอขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้"          ทั้งนี้ก็เพราะในเวลานั้นพวกนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายมีเสียงข้างมากในสภามากขึ้นและเพื่อที่จะป้องกันมิให้กลับไปมีพระมหากษัตริย์ปกครองอีกก็เลยรีบฉวยโอกาสขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติถ้อยคำเหล่านี้ลงไปทันที
                   ทั้งนี้เป็นความจริงว่าบทบัญญัติเหล่านี้เพียงแต่เป็นสิ่งแสดงความปรารถนาของผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญให้บุคคลรุ่นหลังๆ ทราบเท่านั้นแต่หาได้มีค่าในทางกฎหมายเป็นการบังคับให้พวกเหล่านี้พึงปฏิบัติตามไม่”[13]
                 “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกใช้แทนฉบับเก่านั้นย่อมจะทำได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม แต่บางทีรัฐธรรมนูญหนึ่งก็มีบทบัญญัติกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ทั้งฉบับไว้โดยเรียบร้อย นอกจากนี้อาจมีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรได้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ใหม่”
                 “อย่างไรก็ดี การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งนั้นอาจทำได้เสมอ แม้เมื่อไม่มีบทบัญญัติกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น...”[14]
                   และ “ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้อาจสรุปลงได้ว่า.รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้.การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะทำได้ทุกๆส่วนของรัฐธรรมนูญตามความจำเป็น.การแก้ไขเพิ่มเติมจะทำได้ทุกขณะไม่ว่าเวลาใด.การแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติไว้”[15]
                   นอกจากนี้ อำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น โดยหลักการเฉพาะในการตีความรัฐธรรมนูญแล้วย่อมไม่อาจให้ศาลใดศาลหนึ่งมีอำนาจวินิจฉัยได้ ในการตีความรัฐธรรมนูญองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องตระหนักถึงภารกิจที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ก่อน และจะต้องเคารพอำนาจและภารกิจทางรัฐธรรมนูญขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ตีความอำนาจหน้าที่ของตนให้ขัดกับหลักการแบ่งแยกภารกิจตามรัฐธรรมนูญหรือหลักการแบ่งแยกอำนาจ[16] ศาลต้องไม่เข้าไปก้าวล่วงแสดงเจตจำนงในการบัญญัติกฎหมายแทนองค์กรนิติบัญญัติเสียเอง
       ศาลเป็นผู้พิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มีอยู่ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หากให้ศาลวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกกรณี ย่อมมีข้อจำกัดที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในขณะนั้นซึ่งอาจเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ได้ เช่น รัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารบัญญัติขึ้นมาโดยมีข้อความห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หากต่อมาคณะรัฐประหารสิ้นสภาพและประชาชนต้องการที่จะแก้ไข แต่ศาลกลับใช้อำนาจวินิจฉัยได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับที่ต้องการจะแก้ไขหรือไม่ ศาลย่อมมีข้อจำกัดในการวินิจฉัย เพราะต้องพิจารณาจากข้อกฎหมายที่มีในขณะนั้น ศาลย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากวินิจฉัยว่าแก้ไขไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหารดังกล่าวโดยประชาชนหรือรัฐสภาย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงไม่อาจขึ้นอยู่กับการตีความของศาลได้ ประกอบกับโดยหลักแล้ว การจะวินิจฉัยยับยั้งกฎหมายหรือร่างกฎหมายใดต้องมีบทบัญญัติให้อำนาจศาลไว้โดยตรงเท่านั้น เช่น กรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๑,๑๕๔,๑๘๔,๑๘๕ และมาตรา ๒๑๑ เป็นต้น แต่กรณีของการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น หาได้มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลตรวจสอบไว้ดังเช่นกรณีที่กล่าวมาไม่
       ๓.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แม้ได้มาโดยการลงมติของประชาชน แต่มติดังกล่าวถือเป็นมติที่น่าเคลือบแคลงและมีปัญหาในความชอบธรรม เนื่องจากการลงมติของประชาชนในขณะนั้นมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ ดังนี้
                   มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการออกเสียงประชามติตามมาตรา ๓๑ ประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่... ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จ...และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป”
                   เงื่อนไขของบทบัญญัติดังกล่าวโดยสรุปก็คือ ในการลงประชามตินั้น หากประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐  คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญที่เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วมาปรับปรุงเพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้ทันที เช่นนี้ หากพิจารณาโดยตรรกะแบบอธิบายง่ายๆก็คือ ประชาชนมีสิทธิ ๒ ทาง คือ หากประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็จะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนถึงสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงระบอบการปกครอง โครงสร้างของประเทศที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่หากเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประชาชนย่อมเสี่ยงที่จะถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติตัดสินใจแทนโดยนำเอารัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดก็ได้มาปรับปรุงตามความต้องการของตนเองโดยที่กฎหมายให้อำนาจแล้วประกาศใช้บังคับต่อไป ประชาชนไม่อาจมองเห็นสิทธิ เสรีภาพ ระบอบการปกครอง หรือโครงสร้างของประเทศได้เลย หากผลลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ย่อมเท่ากับอนาคตถูกฝากไว้ในมือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกเป็นอื่นได้อีกเท่ากับประชาชนถูกบีบให้ต้องเลือกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยทางอ้อม หากเปรียบเป็นสำนวนก็เสมือนว่าประชาชนถูกบีบให้เลือก “กำขี้ดีกว่ากำตด” (Something is better than nothing)เช่นนี้แล้ว จะถือเป็นมติมหาชนที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริงได้อย่างไร
       ๔. แม้รัฐสภาจะเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งหรือสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๙๑ ก็บัญญัติให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ “รัฐสภา”  โดยมีเงื่อนไขตามมาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง เพียงว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะเสนอมิได้” ทั้งตัวรัฐธรรมนูญฯเองก็กำหนดกฎเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าการแก้ไขกฎหมายทั่วไปอยู่แล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑ แล้ว ก็ไม่ปรากฎว่าได้บัญญัติห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่อย่างใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกทั้งฉบับจึงเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมาในอดีตแต่อย่างใด ตรรกะที่ว่า “เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญเองกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญธรรมดา” จึงน่าเคลือบแคลงและฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด และหากรัฐสภาเลือกใช้วิธีการแก้ไขเป็น “รายมาตรา” ไปจนครบทั้งฉบับ ก็น่าคิดว่ากรณีจะแตกต่างกับการแก้ไขทั้งฉบับไปเสียทีเดียวอย่างไร
       ๕.ในส่วนของเหตุผลที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มาโดยการลงมติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
                   บทวิพากษ์
       ก.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีนั้นมีบทบัญญัติ มาตรา ๒๙๑/๑๓ ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ทำการยกร่างเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อรัฐสภา แล้วให้ประธานรัฐสภาส่งร่างฯดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ หากประชาชนลงมติไม่เห็นชอบ ก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป เช่นนี้ ถือได้ว่า กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ จะต้องผ่านกระบวนการประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงมติก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่แต่อย่างใด เพราะหากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมแปลความได้ว่าประชาชนไม่เห็นควรที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นเดียวกัน ทั้งการให้ประชาชนลงมติก่อนว่าจะแก้หรือไม่ ย่อมไม่มีตัวเปรียบเทียบ ผลที่เกิดขึ้นก็อาจคล้ายกับกรณีที่จูงใจให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๕๐ หรือหากจะให้มีการลงมติถึง ๒ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรก ให้ลงมติว่าจะแก้ไขหรือไม่ หากผ่าน ก็ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ให้ประชาชนลงมติในครั้งที่สองซึ่งก็คือการลงมติว่าจะรับหรือไม่ ก็เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐโดยไม่จำเป็นที่สุดทั้งที่ผลที่ออกมาจะไม่แตกต่างจากรูปแบบที่จะใช้โดยร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑/๑๓ เลย
       ข. ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยแนะนำคู่ความในคดีได้ ดังนั้นแม้สิ่งที่ศาลวินิจฉัยมาในประเด็นนี้ อาจอ้างได้ว่าเป็นเพียงคำแนะนำ ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะ[17] แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจไว้ โดยหลักการทั่วไปของการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ศาลสามารถวินิจฉัยได้เพียงประเด็นแห่งคดีเท่านั้น ไม่อาจวินิจฉัยในเรื่องอื่นหรือวินิจฉัยเกินคำขอได้ หรือหากแม้มีคำขอ แต่เมื่อไม่อยู่ในประเด็นแห่งคดี ศาลก็ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ศาลมีอำนาจวินิจฉัยตามกฎหมายเพียงว่า คู่ความในคดีทำถูกหรือผิดกฎหมาย ทำได้หรือทำไม่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ “เฉพาะ” ไม่ได้มีเขตอำนาจ “ทั่วไป” ดังเช่นศาลยุติธรรม[18] การที่ศาลจะวินิจฉัยในเรื่องใดประเด็นใดได้นั้น จึงต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้จึงมีสภาพเป็นเพียงคำแนะนำที่กฎหมายมิได้บัญญัติรองรับสถานะไว้ กรณีจึงมิใช่ “คำวินิจฉัย” ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้าที่จะเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐได้
                   ท้ายนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งอาจไม่อยู่ในประเด็นที่ได้วิพากษ์นี้โดยตรง คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนกระทั่งบทบัญญัติมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งเป็นที่มาของบทบัญญัติมาตรา ๖๘ นี้ไม่อาจป้องกันได้อย่างทันท่วงที จะเห็นได้ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บทบัญญัติในทำนองนี้ไม่เคยใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติเลย ทั้งจะย้อนกลับไปแก้ไขใดๆให้กลับดีดังเดิมก็ไม่ได้ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้ หากจะ “แก้ไข” เรื่องนี้และทำให้บทบัญญัติมาตรา ๖๘ มีผลบังคับได้อย่างจริงจัง คงต้องปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักและหวนแหนอำนาจอธิปไตยของตนเองมากกว่าที่เป็นอยู่โดยต้องถือว่าการ “รัฐประหาร” เป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยมีวิธีการแก้ปัญหาของตนเองโดยโครงสร้างอยู่แล้ว แม้อาจต้องใช้เวลาบ้าง อาจล้มลุกคลุกคลานบ้าง อาจเกิดความเสียหายขึ้นบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกันต่อไป การยอมรับให้มีการรัฐประหารที่อ้างว่ากระทำขึ้นเพื่อตัดตอน “ความชั่วร้าย” ของนักการเมือง ย่อมมีสภาพไม่ต่างไปจากการนำเอาสิ่งโสโครกมาใช้ล้างสิ่งโสมม และ “ตัดตอน” กระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจในปัญหาและวิธีการแก้ไขหรือหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางประชาธิปไตยของประชาชน การรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ และ “ศาล” ก็เป็นส่วนหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ศาลย่อมมีภารกิจตามรัฐธรรมนูญที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญเองและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผู้เขียนขอยกเหตุผลบางตอนในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง[19]มาอ้างไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นข้อคิดและข้อเตือนใจในการปฏิบัติตามภารกิจของศาลในทุกระบบเพื่อการปกป้องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังต่อไปนี้
                   “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธะกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติ หรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ นานาอารยประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์”
       ----------------------------------
       

       

       

       [1] ตามประเด็นคำชี้แจงของผู้ร้องที่ศาลได้สรุปไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๘ - ๒๒/๒๕๕๕ ได้แก่ ผู้ร้องที่ ๑,ที่ ๒,ที่ ๓ และที่ ๕

       

       [2] ดูบทความเรื่อง “การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐” ของผู้เขียน ได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1745

       

       [3] คือหลักการตีความกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ut res magis valeat quam pereat”(it is better for a thing to have effect than to be made void) ซึ่งมีบทบัญญัติกฎหมายที่ใกล้เคียงกับหลักนี้คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐ ที่บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็นสองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ท่านให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล”

       

       [4] ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ วิชา มหาคุณ, การตีความกฎหมาย พิมพ์ครั้งที่ ๒ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๒๓ หน้า ๙

       

       [5] การใช้การตีความกฎหมาย, งานวิชาการรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ในหัวข้อเรื่อง “การตีความกฎหมายมหาชน” โดย รองศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์  หน้า ๓๒๕

       

       [6] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๕๑

       

       [7]  การใช้การตีความกฎหมาย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๔๕

       

       [8] สุริยา ปานแป้น และ อนุวัฒน์ บุญนันท์, คู่มือสอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรับปรุงใหม่ ๒๕๕๓, เชิงอรรถ หน้า ๒๑๑

       

       [9] ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ วิชา มหาคุณ ,อ้างแล้ว ,หน้า ๒๑

       

       [10] ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ วิชา มหาคุณ, อ้างแล้ว, หน้า ๓๓

       

       [11] ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร , “การอ้างอิงเพื่อตีความ” , บทบัณฑิตย์ เล่ม ๒๐ ตอน ๒ ,เมษายน ๒๕๐๕ หน้า ๒๓๘

       

       [12] ไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๑ ข้อความเบื้องต้นและหลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๔๙๗  หน้า ๔๒๓ - ๔๒๔

       

       [13] ไพโรจน์ ชัยนาม, อ้างแล้ว, หน้า ๔๒๗

       

       [14] ไพโรจน์ ชัยนาม, อ้างแล้ว, หน้า ๔๓๘

       

       [15] ไพโรจน์ ชัยนาม, อ้างแล้ว, หน้า ๔๒๙

       

       [16] การใช้การตีความกฎหมาย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๔๖

       

       [17] การแถลงข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: ข่าวมติชนออนไลน์www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1342179231&grpid=&catid=01&subcatid=0100)และความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หน้า ๔

       

       [18] ดู รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๘

       

       [19] นายกีรติ กาญจนรินทร์ ,ความเห็นส่วนตัวในการวินิจฉัยคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ ๙/๒๕๕๒

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544