มองการจัดการแข่งขันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ผ่านกฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006 |
|
|
|
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร
อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk |
|
|
|
|
|
|
|
|
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬายิ่งใหญ่ ที่จัดขึ้นประจำทุกๆ 4 ปี โดยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศผ่านการแข่งขันกีฬาระหว่างนักกีฬาแต่ละชนิดกีฬาที่เป็นตัวแทนของชาติต่างๆ แล้ว การแข่งขันกีฬาดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการออกกำลังกายและประโยชน์ของการประกอบกิจกรรมกีฬาหรือนันทนาการประเภทต่างๆ ทั้งนี้ การจัดการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศหรือระดับโลกจำต้องอาศัยองค์กรทางการกีฬาของรัฐหรือองค์กรกีฬาอาชีพของแต่ละชนิดกีฬา (Sports Governing Bodies) ที่กำหนดนโยบายและข้อบังคับประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมทางการกีฬาปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่องค์กรทางการกีฬาของรัฐหรือองค์กรกีฬาอาชีพของแต่ละชนิดกีฬาได้กำหนดเอาไว้ เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Movement)
ด้วยว่าการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมากในทั้งภาครัฐที่ต้องการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมรณรงค์หรือ Olympic Delivery Authority เพื่อสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรคและภาคเอกชนที่อาจเป็นองค์กรที่แสวงหากำไรหรือประโยชน์จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรืออาจเป็นองค์กรที่อาสามาจัดกิจกรรมรณรงค์โดยไม่แสวงหากำไร ด้วยเหตุนี้ ผลที่อาจตามมาจากความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้รัฐบาลอังกฤษได้ตรากฎหมายเฉพาะ ได้แก่ กฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006[1] ขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการกำหนดแนวทางการปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นเวลาล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2006 ก่อนที่พิธีเปิดและการแข่งขันจะเริ่มขึ้นในปี 2012 นอกจากจะเป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติการแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่เฉพาะสำหรับองค์กรของรัฐเพื่อกำหนดการกระทำทางกายภาพหรือการกระทำทางปกครองเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตัวอย่างเช่น การโฆษณาของภาคเอกชน (Advertising) การค้าต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Trading) การจัดการทรัพย์สินทางปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์โอลิมปิก (Olympic Symbol) เป็นต้น
ทั้งนี้ กฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006 ประกอบด้วยมาตรการเฉพาะหลายประการที่สนับสนุนหรือเอื้อให้การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นอย่างสงบเรียบร้อยและปราศจากอุปสรรคจากการปฏิบัติงานของภาครัฐและอุปสรรคจากการค้าหรือการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมขององค์กรเอกชน โดยรัฐอาศัยมาตรการทางปกครองและความมั่นคง เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมพิเศษทางการกีฬา ตัวอย่างเช่น การเตรียมพัฒนาและวางผังเมืองบางส่วนให้สอดคล้องกับพื้นที่การจัดกิจกรรมกีฬาโอลิมปิก (Planning) การเตรียมการด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับการจัดกิจกรรรมการแข่งขันที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย (Security) การเตรียมสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับความสะอาดของท้องถนนและไฟถนนเพื่อสัญจร (Street Lighting and Cleaning) และการมอบอำนาจให้หน่วยงานเฉพาะ ได้แก Olympic Delivery Authority ในการสั่งการหรือดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยสิน สิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ (Transfer Schemes) เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่จำกัดเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้าของภาคเอกชนบางประการ เพื่อไม่ให้ภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์มากระทบต่อกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตัวอย่างเช่น การสร้างบทสันนิษฐานความรับผิดในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Presumption of Infringement) และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการเอารัดเอาเปรียบของภาคธุรกิจในการขายบัตรเข้าชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Sale of Olympic Ticket) ที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
นอกจากกฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006 ได้สร้างมาตรการเฉพาะไว้หลายประการดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดแนวทางในการบูรณาการการประสานความร่วมมือ (Integrated Co-operation) ระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมกีฬาโอลิมปิก เช่น มหานครลอนดอน (Grater London Authority) การผังเมืองลอนดอน (London Development Agency) และการขนส่งลอนดอน (Transport for London) เป็นต้น เพื่อให้การการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินไปได้อย่างดีและสามารถบริการประชาชนได้สอดรับกัน
จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อาจเห็นได้ว่านำมาตรการทางกฎหมายปกครองด้านการสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะหรือมาตรการทางกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ มาบัญญัติเป็นกฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006 ย่อมส่งผลดีหลายประการทั้งในแง่ของการมอบอำนาจเฉพาะให้กับองค์กรในการจัดการหรือสั่งการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในระยะเวลาที่มีการจัดการแข่งขันกีฬา การกำหนดความร่วมมือระหว่างภาครัฐในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติและกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องและการที่รัฐเข้าแทรกแซงเพื่อความเป็นธรรมทางการค้า ซึ่งบทพิสูจน์ว่าการเตรียมการของประเทศอังกฤษเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีประสิทธิภาพและทำให้สาธารณะชนได้ประโยชน์จากการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขนาดไหนหรือกฎหมาย London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006 จะสามารถสร้างหรือส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับบทพิสูจน์จากการจัดการแข่งขันที่แท้จริงตั้งแต่เริ่มพิธีเปิดจนกระทั้งถึงพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
[1] UK Legislation, London Olympic Games and Paralympic Games Act 2006, available online at http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2006/12/contents
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|