หน้าแรก บทความสาระ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันนำไปสู่คดีขอให้ยุบพรรคการเมืองในตุรกี
คุณปฐมพงษ์ พิพัฒนธนากิจ นักวิชาการอิสระ
29 กรกฎาคม 2555 20:57 น.
 
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีคำวินิจฉัยที่  18-22/2555  ลงวันที่  13  กรกฎาคม  พ.ศ.  2555  ที่ผ่านมา  กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่  ผลแห่งคดีสรุปว่า  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  มาตรา  291  แต่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ  เมื่อไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ  จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
                       คดีของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยดังกล่าวทำให้ชวนนึกถึงคดีที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีเมื่อปี  ค.ศ.  2008  ซึ่งประเทศตุรกีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ  โดยมีอำนาจหน้าที่อย่างชัดแจ้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  และพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง  รวมทั้งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา  5  ปี  สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกี  คดีแรกเป็นประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อข้อห้ามแห่งบทบัญญัติที่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้  อันนำไปสู่คดีที่สองกรณีขอให้ยุบพรรคการเมืองที่ละเมิดข้อห้ามดังกล่าวตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตุรกี  ในที่นี้จะได้กล่าวถึงหลักกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีทั้งสองและเนื้อหาสาระสำคัญของคดีทั้งสองดังนี้
                       1.  หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                       รัฐธรรมนูญตุรกีฉบับปี  ค.ศ.  1982[1]  ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับจนถึงปัจจุบันนี้[2]  มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหลายครั้ง  แต่เนื่องจากคดีที่จะกล่าวถึงทั้ง  2  คดีนั้นเกิดขึ้นในปี  ค.ศ.  2008  ในที่นี้จึงกล่าวถึงเนื้อหาของกฎหมายก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี  ค.ศ.  2010  ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในทั้ง  2  คดีไปแล้ว
       1.1 องค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญตุรกี  ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน  11  คน  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสำรอง  (substitute member)  อีก  4  คน[3]  ในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดี  องค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก  10  คน  รวมเป็น  11  คน  คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีโดยทั่วไปต้องกระทำด้วยมติเสียงข้างมาก  ส่วนคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองต้องกระทำด้วยมติเสียงข้างมากสามในห้า[4]  นั่นคือ  ต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  7  คน  ลงมติเห็นชอบให้เพิกถอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือให้ยุบพรรคการเมือง
                       1.2 อำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วทั้งในด้านรูปแบบและด้านเนื้อหา  รวมทั้งด้านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติของตุรกี  นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ด้วย  โดยมีข้อจำกัดในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ให้กระทำได้เฉพาะความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในทางรูปแบบเท่านั้น  ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้  ศาลรัฐธรรมนูญตุรกีมีคำวินิจฉัยในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว  เช่น  คำวินิจฉัยที่  1987/15  ลงวันที่  8  มิถุนายน  ค.ศ.  1987[5]  และคำวินิจฉัยที่  E.  2008/16,  K. 2008/116  ลงวันที่  5  มิถุนายน  ค.ศ.  2008[6]
                       1.3 อำนาจยุบพรรคการเมือง  การยุบพรรคการเมืองของตุรกีจะกระทำได้ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น  ตามคำร้องที่เสนอโดยอัยการสูงสุดแห่งสาธารณรัฐ  อันเนื่องมาจากการที่พรรคการเมืองกระทำละเมิดต่อบทบัญญัติอันเป็นข้อห้ามของรัฐธรรมนูญด้วยการกระทำดังต่อไปนี้
       1)  ข้อบังคับพรรคการเมืองและแผนการดำเนินงานของพรรคการเมือง
       2)  การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
       3)  การรับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากต่างประเทศ  องค์กรระหว่างประเทศ  บุคคลหรือนิติบุคคล
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ข้อบังคับพรรคการเมืองและแผนการดำเนินงานของพรรคการเมือง  รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องไม่ขัดแย้งต่อเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้
       1) เรื่องเอกราชของรัฐ 
       2) บูรณภาพอันไม่อาจแบ่งแยกได้ด้วยเขตการปกครองและชาติ 
       3) สิทธิมนุษยชน
       4) หลักความเสมอภาคและหลักนิติธรรม 
       5) อำนาจอธิปไตยของชาติ
       6) หลักของความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นสาธารณรัฐฆราวาส  (secular republic)[7]
       นอกจากนั้น  พรรคการเมืองต้องไม่มีมุ่งหมายที่จะคุ้มครองหรือจัดตั้งการปกครองแบบเผด็จการชนชั้นใดหรือเผด็จการอย่างใด  ๆ  ทั้งสิ้น  อีกทั้งพรรคการเมืองต้องไม่ปลุกระดมให้ประชาชนก่ออาชญากรรม
       การวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองใดที่กระทำละเมิดต่อเรื่องดังกล่าวข้างต้นจะกระทำได้ก็แต่โดยกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า  พรรคการเมืองนั้นเป็นศูนย์กลางสำหรับการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว  และพรรคการเมืองใดจะถูกถือว่าเป็นศูนย์กลางของการกระทำดังกล่าวก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นได้ดำเนินการไปอย่างเข้มข้นโดยสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น  หรือพฤติการณ์การมีส่วนร่วมโดยปริยายหรือโดยชัดแจ้งในการประชุมของพรรคการเมืองหรือในการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  หรือเมื่อกิจกรรมเหล่านั้นได้ดำเนินการไปโดยพรรคการเมืองโดยตรง 
       การกระทำของพรรคการเมืองเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การร้องขอโดยอัยการสูงสุดของสาธารณรัฐตุรกีเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง  และตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา  5  ปี  นับจากวันที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา
       ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยไม่ยุบพรรคการเมืองนั้น  แต่วินิจฉัยให้พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องถูกตัดความช่วยเหลือทางการเงินที่สนับสนุนพรรคการเมืองจากรัฐลงทั้งหมดหรือบางส่วนโดยสอดคล้องกับระดับความรุนแรงของการกระทำที่ถูกนำมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลแทนก็ได้[8]
        
       2.  คดีของศาลรัฐธรรมนูญตุรกีที่เกี่ยวข้อง
       เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีเมื่อมี  ค.ศ.  2008  เริ่มจากการที่ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรค  Justice and Development ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว  จากนั้นมีผู้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้  และนำไปสู่คดีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมืองที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว  บรรยากาศทางการเมืองในตุรกีช่วงนั้น  อยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง  และมีการกล่าวหาโจมตีฝ่ายตุลาการอย่างต่อเนื่องว่า  การพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองนั้นเป็นการทำรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการ[9] อันเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายตุลาการในที่สุด[10]  สาระสำคัญของคดีทั้งสองมีดังนี้
       2.1 คดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ[11]
       ร่างกฎหมายหมายเลข  5735  ซึ่งเป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตุรกีในมาตรา  10  และมาตรา  42  โดยวัตถุประสงค์ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีการให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อยกเลิกมาตรการห้ามนักศึกษามหาวิทยาลัยสวมผ้าคลุมศีรษะของหญิงมุสลิมที่เรียกว่าฮิญาบ  ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอโดยพรรคการเมือง  2  พรรค  คือ  พรรค  Justice and Development (AKP)  และพรรค  Nationalist Movement  (MHP)  รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นอีก  ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน  411  เสียง  จากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมด  550  คน  ด้วยการลงคะแนนลับ
       หลังจากนั้น  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน  110  คน  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้  โดยโต้แย้งว่ากรณีเป็นการฝ่าฝืนหลักความเป็นรัฐฆราวาสที่กำหนดไว้ในมาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญ  โดยที่มาตรา  4  ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นเรื่องลักษณะเฉพาะของสาธารณรัฐ  เป็นบทบัญญัติที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้  และไม่อาจเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้  รวมทั้งคำร้องยังโต้แย้งว่ารัฐสภาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมือง  (Constituent power)  ไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของมาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญได้  จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นโมฆะและให้เพิกถอนเสีย
       ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในประเด็นเบื้องต้นว่า  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่  ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า  ภายใต้มาตรา  148  ของรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเรื่องจำนวนเสียงข้างมากที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวรวมไปถึงการตรวจสอบเรื่องการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย  โดยที่มาตรา  4  ของรัฐธรรมนูญ  บัญญัติห้ามการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา  1  ถึงมาตรา  3  ของรัฐธรรมนูญ  ด้วยเหตุนี้  รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว  ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ภายในเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ทำการเปลี่ยนแปลงโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่  อย่างไรก็ตาม  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านมีความเห็นแย้งในประเด็นนี้ว่า  รัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา  และคดีนี้ก็ไม่อาจทำคำวินิจฉัยได้โดยปราศจากการพิจารณาในทางเนื้อหา
       ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า  วัตถุประสงค์ของการร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ปรากฏออกมาทั้งจากการให้เหตุผลทางกฎหมายและระหว่างการอภิปรายของรัฐสภาถึงการยกเลิกมาตรการห้ามสวมผ้าคลุมฮิญาบในมหาวิทยาลัย  นอกจากนั้น  ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดี  Leyla Sahin ว่ามาตรการห้ามสวมผ้าคลุมฮิญาบถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้น  ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า  การยกเลิกมาตรการห้ามสวมผ้าคลุมฮิญาบในมหาวิทยาลัยขัดต่อหลักความเป็นรัฐฆราวาส  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา  10  และมาตรา  42  เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญโดยทางอ้อม  ซึ่งมาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญ  เป็นบทบัญญัติที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้  ด้วยเหตุนี้  ร่างกฎหมายหมายเลข  5735  จึงไม่ชอบด้วยมาตรา  4  และมาตรา  148  ของรัฐธรรมนูญ  และให้เพิกถอนบทบัญญัติของร่างกฎหมายหมายเลข  5735  นั้นเสีย
       2.2  คดียุบพรรคการเมือง[12]
       อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณายุบพรรค  Justice and Development (AKP)  ผู้ถูกร้อง  ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  มาตรา  68  มาตรา  69  และมาตรา  149  ประกอบกับพยานหลักฐานต่าง  ๆ  แล้วเห็นว่า  การดำเนินกิจกรรมฝ่าฝืนต่อมาตรา  68  วรรคสี่  ของรัฐธรรมนูญได้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น  และได้การกระทำโดยหัวหน้าพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคผู้ถูกร้อง  รวมทั้งพรรคผู้ถูกร้องเป็นศูนย์กลางของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม  ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความต้องการของสังคมที่จะยกเลิกมาตรการห้ามสวมผ้าคลุมฮิญาบในมหาวิทยาลัย  การจำกัดอายุเกี่ยวกับการเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน  และข้อจำกัดเกี่ยวกับโรงเรียนสอนศาสนา  ซึ่งพรรคผู้ถูกร้องไม่ได้ดำเนินการในทางการเมืองต่อประเด็นเหล่านี้ในแนวทางที่แข็งกร้าว 
       ในส่วนของมาตรการลงโทษต่อกิจกรรมที่ขัดต่อหลักการของประชาธิปไตยและหลักรัฐฆราวาส  ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า  นับแต่พรรคผู้ถูกร้องเข้าสู่อำนาจในปี  ค.ศ.  2002  พรรคผู้ถูกร้องมีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้  แต่พรรคผู้ถูกร้องไม่ได้จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและโครงสร้างของรัฐแบบฆราวาส  หรือที่จะทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญด้วยการใช้ความรุนแรง  หรือไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในจุดมุ่งหมายเหล่านี้  ระดับความร้ายแรงของกิจกรรมเหล่านั้นไม่ปรากฏว่าอยู่ในระดับที่จะต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ใช้มาตรการลดเงินสนับสนุนพรรคผู้ถูกร้องลงครึ่งหนึ่ง
       อย่างไรก็ตาม  คดีนี้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  6  คน  ลงมติให้ยุบพรรค  AKP  จากองค์คณะทั้งหมด  11  คน  อันที่จริงแล้วเป็นคะแนนเสียงข้างมาก  แต่คำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็แต่โดยคะแนนเสียงมากข้างสามในห้า  กล่าวคือ  ต้องได้รับความเห็นชอบจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า  7  คน  ให้ยุบพรรคการเมือง  ดังนั้น  ในคดีนี้  พรรค  Justice and Development  จึงรอดพ้นจากการถูกยุบพรรคไปได้
       หลังจากเสร็จสิ้นคดีดังกล่าวแล้ว  ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรค  Justice and Development  ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง  โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและการยุบพรรคการเมืองด้วย  เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี  ค.ศ.  2010  ก็ได้รับความเห็นชอบทุกมาตรา  ยกเว้นเฉพาะร่างมาตรา  69  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองให้กระทำได้ยากยิ่งขึ้น  ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่  2  ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องให้ประชาชนลงประชามติ  แต่ก่อนที่จะมีการลงประชามติ  ได้มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า  การเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญละเมิดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  การลงประชามติจึงได้ดำเนินไปและผลปรากฏว่า  ประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว[13]  
       จะเห็นได้ว่า  ผลกระทบของคดีทั้งสองนั้นนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญตุรกี  เริ่มต้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและคดีขอให้ยุบพรรครัฐบาล  จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนศาลรัฐธรรมนูญใหม่  และความพยายามจะจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในคดียุบพรรคการเมืองให้กระทำได้ยากยิ่งขึ้น  สิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วก็คือการแก้ไขจำนวนคะแนนเสียงให้ยุบพรรคการเมือง  จากเดิมที่ต้องใช้มติสามในห้า  แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก้ไขเป็นต้องใช้มติถึงสองในสาม  อันแสดงให้เห็นถึงการโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายการเมืองผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารกับฝ่ายตุลาการนั่นเอง
       กรณีของตุรกีดังกล่าวไม่ต่างจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงนี้  หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว  ก็มีความเห็นแตกต่างกันถึงเรื่องปัญหาการดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ  สถานะ  บทบาท  และอำนาจหน้าที่ต่าง  ๆ  ของศาลรัฐธรรมนูญไทย  ปัญหานี้ทั้งหมดนี้ควรพิจารณากันโดยตั้งอยู่บนเหตุผลและหลักวิชาที่ถูกต้องบนพื้นฐานของประโยชน์แห่งมหาชนอย่างละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง  สุดท้ายแล้ว  กรณีของประเทศไทยจะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป
       

       
       

       

       [1]รัฐธรรมนูญตุรกี  ฉบับปี  ค.ศ.  1982  แก้ไขเพิ่มเติมปี  ค.ศ.  2001  [Online], Available URL:  http://www.anayasa.gov.tr/images/loaded/pdf_dosyalari/THE_CONSTITUTION_OF_THE_REPUBLIC_OF_TURKEY.pdf, 2555  (กรกฎาคม,  26).
       

       

       [2]รัฐธรรมนูญตุรกีฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากการรัฐประหารที่นำโดยคณะทหาร  ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน  และในขณะนี้ประเทศตุรกีได้ทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับนี้  เมื่อปี  ค.ศ.  2010  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญตุรกี  โปรดดู  วิศรุต  คิดดี,  “ศาลรัฐธรรมนูญตุรกีภายหลังการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ  ค.ศ.  2010  ตอนที่  1,”  จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ  ปีที่  13,  ฉบับที่  3  (พฤษภาคม  -  มิถุนายน  2554)  :  หน้า  12-13.
       

       

       [3]รัฐธรรมนูญตุรกี  มาตรา  146.
       

       

       [4]รัฐธรรมนูญตุรกี  มาตรา  149.
       

       

       [5]อ้างใน  Kemal Gözler, op.cit,  pp.  47-48.
       

       

       [6][Online], Available URL:  http://www.anayasa.gov.tr/index.php?l=content&lang=en&id=141, 2555  (กรกฎาคม,  26).
       

       

       [7]หลักการความเป็นรัฐฆราวาสเรียกร้องให้รัฐและองค์กรของรัฐทั้งปวงต้องเป็นกลางในทางศาสนา  กล่าวคือ  ประการแรก  ต้องไม่แทรกแซงเรื่องความเชื่อ  ประการที่สอง  ต้องรับรองความเสมอภาคให้ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือความเชื่อใด  แต่ความเป็นรัฐฆราวาสจะเป็นเช่นใดยังน่าสงสัยอยู่  ใน  ปิยบุตร  แสงกนกกุล, เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสตลอดปี  2004, [7][Online], Available URL:  http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=735, 2555  (กรกฎาคม,  26).
       

       

       [8]รัฐธรรมนูญตุรกี  มาตรา  68  และมาตรา  69.
       

       

       [9][Online], Available URL:  http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/7528085.stm, 2555  (กรกฎาคม,  26).
       

       

       [10]Bülent Algan, Dissolution of political parties by the Constitutional court in Turkey, An everlasting conflict between the court and the parliament?, Ankara Üniversitesi Hukuk Fakültesi Dergisi, 60 (4) 2011: 809-836.
       

       

       [11]คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตุรกีที่  E.  2008/16,  K. 2008/116  ลงวันที่  5  มิถุนายน  ค.ศ.  2008.
       

       

       [12]คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตุรกีที่  E.  2008/1 (SPK),  K. 2008/2  ลงวันที่  30  กรกฎาคม  ค.ศ.  2008.
       

       

       [13]วิศรุต  คิดดี,  “ศาลรัฐธรรมนูญตุรกีภายหลังการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ  ค.ศ.  2010  ตอนที่  จบ,”  จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ  ปีที่  13,  ฉบับที่  4  (กรกฎาคม  -  สิงหาคม  2554)  :  หน้า  12-13.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544