4 วิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมิให้บทบัญญัติและกฎหมายใด ๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น นับได้ว่าเป็นหน้าที่หลักของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารจัดทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้ผู้มีอำนาจจัดทำกฎหมายใช้อำนาจเกินขอบเขตอำนาจและเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเอาไว้ไม่ให้ถูกกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจจัดทำกฎหมาย ดังนั้น ประเทศที่ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจึงยอมรับและเคารพต่อสถานะความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องมีการควบคุมมิให้บทบัญญัติและกฎหมายใด ๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
 
ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศสเป็นระบบการควบคุมแบบป้องกัน (preventif) คือ กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญควบคุมร่างกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้ จึงทำให้หน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในส่วนนี้มิใช่มีหน้าที่ดังเช่นศาลที่จะชี้ว่าบทบัญญัติใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่เป็น "มาตรการ" ในการป้องกันมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งเท่านั้น
 
ประเทศฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ แต่มีบทบัญญัติของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสอยู่ 4 ประเภท คือ
 
1. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ถึงมาตรา 63 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 61 ที่เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและร่างข้อบังคับรัฐสภา
 
2. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติ
ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดองค์กรและการดำเนินการของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนพิจารณาและการกำหนดระยะเวลาในการเสนอข้อขัดแย้งต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวออกมา คือ รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ซึ่งผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วอีก 4 ครั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวแบ่งเป็น 3 หมวด คือ องค์ประกอบ การดำเนินงานและบทบัญญัติอื่น ๆ เฉพาะในหมวด 2 เท่านั้นที่กล่าวถึงการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ
 
3. กฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร รัฐกฤษฎีกา (decret) ที่ 59-1293 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 ซึ่งออกตามความในมาตรา 15 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการตุลาการ มีการกำหนดถึงการรับเรื่องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย
 
4. กฎเกณฑ์ภายใน ไม่ปรากฏว่ามีกฎเกณฑ์ภายในเกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญเอาไว้30 มีเพียงกฎเกณฑ์ภายในเกี่ยวกับกระบวนการ พิจารณาเกี่ยวกับความถูกต้องของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น 31
 
วิธีการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้วใน หัวข้อ 1.3.1 ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
4.1 วิธีพิจารณาของการควบคุมขอบเขตการใช้อำนาจนิติบัญญัติระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร
 
ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า อำนาจในการจัดทำกฎหมายมิได้มีเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันได้มอบอำนาจในการจัดทำกฎหมายให้กับฝ่ายบริหารด้วย และเพื่อให้การจัดทำกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างถูกต้อง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงได้รับมอบอำนาจจากรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่ควบคุมขอบเขตการใช้อำนาจนิติบัญญัติระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร
 
4.1.1 กระบวนการตามมาตรา 37 แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดขอบเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการจัดทำกฎหมาย ในขณะที่มาตรา 37 บัญญัติให้เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติให้ถือว่าอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะจัดทำเป็นกฎหมาย
 
เมื่อพิจารณาจากมาตรา 37 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า "รัฐบัญญัติซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ที่อยู่ในอำนาจการจัดทำกฎหมายของฝ่ายบริหารอาจแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายหลังจากที่ได้รับความเห็นจากสภาแห่งรัฐแล้ว รัฐบัญญัติซึ่งมีลักษณะดังกล่าวที่ใช้บังคับภายหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้รัฐบัญญัติบังคับจะแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐกฤษฎีกาได้ก็ต่อเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ประกาศว่ารัฐบัญญัตินั้นกำหนดหลักเกณฑ์ที่อยู่ในอำนาจการตรากฎหมายของฝ่ายบริหารตามความในวรรคก่อน" จะเห็นได้ว่าประกอบด้วยหลัก 2 ประการ คือ
 
ก. การเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายที่จัดทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ 4 ตุลาการ ค.ศ. 1958 ได้ หากปรากฏว่า กฎหมายนั้นอยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
 
การแก้ไขดังกล่าวจะต้องจัดทำเป็นกฤษฎีกาของสภาแห่งรัฐ (decret en Conseil d' Etat) ซึ่งหมายความว่า ได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐในฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลแล้ว
 
ข. ในกรณีที่กฎหมายซึ่งประกาศใช้หลังวันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับและถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายบริหารสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยกฤษฎีกา (decret) ของรัฐบาล
 
กระบวนการในมาตรา 37 นี้ ไม่ถือว่าเป็นการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ถือว่าเป็นการ "ชี้ขาด" ถึงขอบเขตของกฎหมายว่ากฎหมายนั้นอยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร
 
มาตรา 37 มิได้กำหนดวิธีพิจารณาเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เรื่องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ในมาตรา 24 ได้บัญญัติไว้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนในกรณีปกติ หรือภายใน 8 วันสำหรับกรณีที่รัฐบาลขอให้ดำเนินการเป็นกรณีฉุกเฉิน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
 
มาตรา 26 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังได้กำหนดรูปแบบของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นการชี้ว่า เรื่องที่นำมาสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายที่อยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร จากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้อง แจ้งผลการวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีทราบและต้องประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (journal officiel) ด้วย
 
4.1.2 กระบวนการตามมาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า
"มาตรา41
 
ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย หากปรากฏว่าร่างกฎหมายที่เสนอใหม่หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของสมาชิกรัฐสภาไม่อยู่ในเขตอำนาจการตรารัฐบัญญัติหรือขัดกับการมอบอำนาจให้ตรารัฐกำหนดตามความในมาตรา 38 รัฐบาลอาจเสนอไม่ให้สภารับร่างดังกล่าวไว้พิจารณาได้
 
ในกรณีที่เกิดความเห็นขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและประธานสภาที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องทำการวินิจฉัยชี้ขาดภายในแปดวัน"
 
บทบัญญัติในมาตรา 41 นับได้ว่าเป็นอีกบทบัญญัติหนึ่งซึ่งมีขึ้นเพื่อรักษาขอบเขตของการจัดทำกฎหมายระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร โดยมีการขยายความถึงขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 41 ไว้ในรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เรื่องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ถึงมาตรา 29
 
เนื้อหาสาระของมาตรา 41 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการยุติข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภากรณีเกี่ยวกับขอบอำนาจในการจัดทำกฎหมาย โดยกำหนดวิธีดำเนินการได้ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
 
ก. รัฐบาลเท่านั้นที่จะยกประเด็นว่าร่างกฎหมายซึ่งสภาใดสภาหนึ่งกำลังพิจารณาอยู่นั้น ไม่อยู่ในอำนาจการจัดทำของสภา แต่อยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายบริหาร โดยรัฐบาลสามารถยกประเด็นได้ตลอดเวลาที่ร่างกฎหมายนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาใดสภาหนึ่ง
 
ข. ประธานสภาซึ่งกำลังพิจารณาร่างกฎหมายนั้นอยู่และรัฐบาลได้ยกประเด็นขึ้นมา จะต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามความเห็นของรัฐบาลหรือไม่ หากประธานสภาเห็นด้วยกับรัฐบาลว่าร่างกฎหมายนั้นอยู่ในอำนาจการจัดทำของฝ่ายบริหาร ประธานสภาจะต้องสั่งการให้เลิกการพิจารณาเพราะร่างกฎหมายไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะจัดทำ แต่ถ้าหากประธานสภาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ประธานสภาจะสั่งระงับการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อนและส่งเรื่องไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยผู้ส่งเรื่องอาจเป็นประธานสภาหรือนายกรัฐมนตรีก็ได้
ค. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 8 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง จากนั้นจะต้องแจ้งผลการวินิจฉัยให้ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีทราบรวมทั้งต้องประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาด้วย คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าร่างกฎหมายนั้นอยู่ในขอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารที่จะจัดทำ
 
4.2 วิธีพิจารณาของการควบคุมที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ให้ต้องทำ
 
รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 61 ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องทำการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อบังคับสภา (les reglements des assemblees parlementaires) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (les lois organiques) ก่อนที่จะประกาศใช้บังคับ
 
4.2.1 ข้อบังคับสภา มาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ก่อนที่จะประกาศใช้ข้อบังคับสภา จะต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อบังคับนั้นก่อน
 
ข้อบังคับที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขในมาตรา 61 นี้ ได้แก่ ข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับวุฒิสภา และข้อบังคับรัฐสภา
 
เหตุผลในการกำหนดให้ข้อบังคับสภาต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้บังคับก็เนื่องมาจากข้อบังคับสภานั้นถือว่าเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของกระบวนการนิติบัญญัติและเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล ดังนั้น จึงสมควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อบังคับนั้นจัดทำขึ้นโดยเคารพขอบเขตในการจัดทำกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารหรือไม่
 
รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เรื่องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวไว้ในมาตรา 17 วรรคสอง ว่า ข้อบังคับหรือข้อบังคับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว ให้ประธานสภาซึ่งเป็นเจ้าของข้อบังคับนั้นส่งเรื่องไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยมิได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวเมื่อไร ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญ คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยภายในกำหนดระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง เว้นแต่ในกรณีเร่งด่วนตามที่รัฐบาลร้องขอ ก็ให้วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 8 วันนับแต่วันได้รับเรื่อง
 
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ คือ ชี้ว่าข้อบังคับนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องส่งเรื่องกลับไปยังสภาที่เป็นเจ้าของข้อบังคับนั้นให้พิจารณาแก้ไขต่อไป คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา
 
4.2.2 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 32 มาตรา 61 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้บัญญัติถึงการที่จะต้องมีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้ การตรวจสอบนี้เป็นลักษณะพิเศษที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากกฎหมายธรรมดาเพราะรัฐธรรมนูญได้ "บังคับ" เอาไว้ว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ "ต้อง" ได้รับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ในขณะที่กฎหมายธรรมดา "อาจ" ถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้
 
วิธีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้บัญญัติถึง "ลักษณะบังคับ" (caractere obligatoire) ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้ว่าจะต้องส่งไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้ ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านกระบวนการตราตามปกติ คือ ตามมาตรา 46 จะต้องส่งไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน โดยมีรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนี้
 
ก. รูปแบบในการตรวจสอบ รูปแบบในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เรื่องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
 
(1) การบังคับให้ต้องตรวจสอบก่อนประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้
ความสำคัญของกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรม
นูญโดยได้บัญญัติไว้ในมาตราที่เกี่ยวข้องถึง 2 มาตรา คือ ในมาตรา 61 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติถึงรายชื่อกฎหมายที่ "ต้อง" ส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้ ซึ่งก็รวมถึงร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย และในมาตรา 46 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายว่า "กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้บังคับได้ภายหลังจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกาศว่าร่างกฎหมายนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ"
 
การบังคับให้ต้องตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก่อนที่จะประกาศใช้บังคับนั้น เป็นแนวความคิดของ นาย Michel Debre ประธานคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการสร้างระบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้แตกต่างจากระบบกฎหมายธรรมดา ซึ่งต่อมานาย Francois Luchaire หนึ่งในคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ นำเสนอแนวความคิดดังกล่าวในร่างมาตราหนึ่งว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องตรวจสอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก่อนการประกาศใช้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากนายเดอเบร และเป็นข้อเสนอที่ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เมื่อการร่างได้แล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจนกระทั่งรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับก็ได้มีการตรารัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เรื่องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดวิธีการดำเนินการในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ด้วย
 
(2) การส่งให้ตรวจสอบ มาตรา 17 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติไว้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาส่งไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และหากกรณีเป็นเรื่องเร่งด่วน (urgence) ก็ให้ระบุไว้ในหนังสือนำส่ง (la lettre de transmis-sion) ด้วย
 
(3) ระยะเวลาในการส่ง ไม่มีบทบัญญัติใดระบุไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อใด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากโดยปกติกฎหมายจะต้องประกาศใช้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา33 ดังนั้น จึงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยเร็วภายในกรอบเวลาดังกล่าว และระยะเวลาดังกล่าวในการประกาศใช้กฎหมายตามมาตรา10 ก็จะหยุดลงจนกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยถึงผลการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
 
(4) ระยะเวลาในการตรวจสอบ มาตรา 61 วรรคสาม บัญญัติไว้ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่ถ้าหากเป็นกรณีเร่งด่วนตามที่รัฐบาลร้องขอ ก็จะต้องทำการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในแปดวัน
 
ข. ขอบเขตในการตรวจสอบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะ "ต้อง" ส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อนประกาศใช้ ดังนั้น จึงสมควรพิจารณาถึง "ขอบเขต" ในการตรวจสอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าจะมีอยู่อย่างไร
 
มาตรา 61 วรรคแรก มิได้บัญญัติถึงขอบเขตในการตรวจสอบกฎหมายประกอบ
รัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ เพียงแต่กล่าวถึงการ "วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" (conformite a la Constitution) เอาไว้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับในมาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติถึงการที่บุคคลบางประเภทสามารถร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติก่อนประกาศใช้ได้
 
การตรวจสอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีต่อกฎหมายธรรมดากับกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญนั้นมีความแตกต่างกันตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ เพราะในการพิจารณาว่ากฎหมายธรรมดาจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผู้ขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องให้เหตุผลว่าบทบัญญัติในร่างกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องอธิบายเหตุผลดังกล่าวไว้ในคำขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา ส่วนในกรณีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1958 เกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แต่เพียงว่าการส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาจะต้องมีหนังสือนำส่ง (lettre de transmission) จากนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าจะต้องแจ้งว่ามีประเด็นใดที่ขัดหรือแย้งหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร
 
ขอบเขตในการตรวจสอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ในทางปฏิบัติคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบทั้งรูปแบบและเนื้อหาของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นว่ามีส่วนใดที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่34 โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบประเด็นหลัก 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
 
ก. ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตราขึ้นอย่างถูกต้องตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 46 หรือไม่
 
ข. ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระอันอยู่ในขอบอำนาจ (domaine de competent) ของการตราเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้หรือไม่ และ
 
ค. ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขัดหรือแย้ง หรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
เมื่อตรวจสอบเสร็จ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะจัดทำคำวินิจฉัย (decision)โดยหากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวสอดคล้อง (conforme) กับรัฐธรรมนูญ ส่วนในกรณีที่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยว่ามีบทบัญญัติใดที่ไม่สอดคล้อง (non conforme) กับรัฐธรรมนูญ 35
 
กล่าวโดยสรุปก็คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดลักษณะบังคับของการตรวจสอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ดังนั้น เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้อง "รีบ" ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นก่อนประกาศใช้ โดยการตรวจสอบนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบทั้ง "รูปแบบ" และ "เนื้อหา" ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่
 
4.3 วิธีพิจารณาของการควบคุมที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าสามารถทำได้ มี 2 กรณี คือ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาและการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ
 
4.3.1 การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดา การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาเป็นการควบคุมก่อนประกาศใช้กฎหมายเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่ากฎหมายซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเวลาอันใกล้นั้น มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาเป็นการควบคุมที่อาจทำได้และไม่ได้มีลักษณะเป็นการควบคุมที่ต้องบังคับให้ทำดังเช่นการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
 
ก. เงื่อนไขในการตรวจสอบ กฎหมายธรรมดาที่อาจถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้นั้น จะต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเสร็จเรียบร้อยจากรัฐสภาแล้ว กรณีดังกล่าวมีที่มาจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 89-268 ลงวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1989 ซึ่งกล่าวไว้ว่า เนื่องจากมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติ ไว้ว่า "ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐบัญญัติ" ดังนั้น กฎหมายที่จะร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ในวันที่ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบจะต้องมีสภาพ "เกือบ" เป็นกฎหมาย คือ เสร็จสิ้นจากกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติเรียบร้อยแล้ว ส่วนกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับไปแล้วนั้น คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 78-96 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1978 ก็ได้กล่าวไว้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับไปแล้ว
 
ข. ผู้มีสิทธิเสนอขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จะจำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ในมาตรา 61 วรรคสอง คือ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 60 คน สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 60 คน
 
เดิมนั้นมีการจำกัดเฉพาะ 4 คนแรกเท่านั้น แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1974 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มกลุ่มบุคคล 2 ประเภทหลังเข้าไปด้วย
 
สำหรับประชาชนโดยทั่วไปนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเอาไว้ จึงไม่สามารถร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้ยืนยันไว้ในคำวินิจฉัยที่ 82-146 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982
 
ค. รูปแบบในการร้องขอให้ตรวจสอบ รัฐธรรมนูญมิได้กล่าวถึงรูปแบบหรือวิธีการในการร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติที่มีมาสำหรับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา จะใช้วิธีทำเป็นจดหมายถึงประธานตุลาการรัฐธรรมนูญหรือเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (secretaire general du conseil constitutionnel) ส่วนการร้องขอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 60 คนนั้น มาตรา 18 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ร้องอาจทำเป็นจดหมายหลายฉบับหรือฉบับเดียวลงลายมือชื่อครบทั้ง 60 คนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องลงชื่อให้ครบ 60 คน จึงจะถือว่าครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
 
เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว เลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะทำการตรวจสอบคำร้องและตรวจสอบจำนวนสำหรับกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภา 60 คน จากนั้นเลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็จะต้องแจ้งถึงการร้องขอให้ตรวจสอบไปยังประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ซึ่งประธานสภาทั้งสองจะต้องแจ้งให้สมาชิกในสภาของตนทราบโดยเร็ว
 
การร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะทำให้ระยะเวลาในการประกาศใช้บังคับกฎหมายสะดุดหยุดลงชั่วคราวดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 วรรคท้ายแห่งรัฐธรรมนูญ
 
ง. วิธีพิจารณา เมื่อมีการรับคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาและมีการตรวจสอบคำร้องเรียบร้อยแล้ว ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญจะแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเจ้าของเรื่อง (rapporteur) ดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 19 แห่งรัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1958 เกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
หน้าที่ของตุลาการเจ้าของเรื่อง คือ การศึกษาเรื่องทั้งหมดจากเอกสารที่เลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจัดเตรียมให้ จากนั้นก็จะจัดทำร่างคำวินิจฉัยเพื่อเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อไป
 
การทำงานของตุลาการเจ้าของเรื่องจะใช้วิธีศึกษาเรื่องจากเอกสารและจากการสอบถามจากบรรดาผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวซึ่งจะต้องติดต่อผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (secretaire general du Gouvernement)
 
เมื่อตุลาการเจ้าของเรื่องทำการศึกษาเสร็จแล้ว จะต้องเสนอความเห็นของตนต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่อไป
 
การพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีลักษณะเป็นการประชุมปรึกษาหารือในระหว่างคณะตุลาการรัฐธรรมนูญด้วยกันเองฝ่ายเดียว ซึ่งแตกต่างจากระบบศาลทั่วๆไปที่คู่กรณีจะมีสิทธิเข้าร่วมในการพิจารณาด้วย ที่เป็นดังนี้เพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสมีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมือง (organe politique) จึงมิได้ใช้ชื่อว่า ศาล (Cour) แต่ใช้คำว่า สภา (Conseil) แทน โดยมีลักษณะองค์กรที่เป็นรูปแบบเดียวกับคณะกรรมการทั้งหลาย ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมิได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ คงบัญญัติไว้แต่เพียงในมาตรา 63 ที่ว่า "ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดองค์กรและการดำเนินการของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตลอดทั้งกระบวนวิธีพิจารณาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดระยะเวลาในการเสนอข้อขัดแย้งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" ซึ่งต่อมาก็ได้มีการตรารัฐกำหนดประกอบรัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ออกมาขยายความบทบัญญัติในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ สรุปความได้ว่า เมื่อตุลาการเจ้าของเรื่องได้เสนอเรื่องพร้อมทั้งความเห็นของตนต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาแล้ว เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม คือ อย่างน้อย 7 คนขึ้นไป ก็จะเริ่มทำการพิจารณาปัญหาที่ถูกเสนอเข้ามา เมื่อทำการพิจารณาเสร็จแล้วก็จะต้องลงมติซึ่งในกรณีปกติจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาถึงความเป็นคนไร้ความสามารถของประธานาธิบดีเท่านั้นที่จะต้องมีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
 
4.3.2 การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกลักษณะหนึ่งซึ่งแตกต่างจากการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดา การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 54 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อความดังนี้ "ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยตามคำร้องขอของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐหรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาใดสภาหนึ่ง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหกสิบคนหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหกสิบคน และได้มีมติว่าพันธกรณีระหว่างประเทศใดมีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ การอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันหรือให้ความเห็นชอบต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว"
 
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพันธกรณีระหว่างประเทศจะต้องทำก่อนที่สภาจะตรากฎหมายมาให้สัตยาบัน (loi de ratification) พันธกรณีระหว่างประเทศนั้น ส่วนผู้มีสิทธิเสนอขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตรวจสอบรูปแบบในการร้องขอให้ตรวจสอบ และวิธีพิจารณาก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีของการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญและในรัฐกำหนดประกอบ รัฐธรรมนูญที่ 58-1067 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958 ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายธรรมดา
เชิงอรรถ
30. Guillaume DRAGO, Procedure du controle de constitutionalite, Juris-Classeur fascicule 1414, Paris 1996, p.5..[กลับไปที่บทความ]
31. กฎเกณฑ์ดังกล่าวประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา เมื่อ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1959และได้รับการแก้ไขอีกหลายครั้งโดยมีที่มาจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่นการแก้ไขในปี ค.ศ. 1986, 1987, 1991 และ ค.ศ. 1995[กลับไปที่บทความ]
32. นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส : ข้อคิดเพื่อการปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไทย, สถาบันนโยบายศึกษา, พ.ศ. 2541, หน้า 104-112.[กลับไปที่บทความ]
33. มาตรา 10 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายภายในสิบห้าวันนับจากวันที่รัฐบาลได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว
ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีสามารถขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นใหม่ทั้งหมดหรือเพียงบางมาตราก็ได้ รัฐสภาจะไม่พิจารณาคำขอของประธานาธิบดีไม่ได้
[กลับไปที่บทความ]
34. Favoreu, Philip, Les grandes decisions du Conseil Constitutionnel, Dalloz 8e edition, Paris 1995, p.201.
[กลับไปที่บทความ]
35. Favoreu, Philip, หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (34), หน้า 195.
[กลับไปที่บทความ]
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544
|