หน้าแรก บทความสาระ
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา: ปัญหาและสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
15 กรกฎาคม 2555 21:33 น.
 
1.       ความเป็นมา       
                          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550   ได้บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวน 150 คน  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 คน  และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนที่เหลือ  ที่ผ่านมาได้มีการสรรหา ส.ว. มาแล้ว 2 ครั้ง  ครั้งแรกเมื่อปี 2551  และครั้งที่สองเมื่อปี 2554  โดยขณะนี้มี ส.ว. ที่มาจากการสรรหาจำนวนรวม 73 คน  เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 77 จังหวัด
                          คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธาน กกต.  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ประธาน ปปช.  ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน  และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน  โดยมีสำนักงาน กกต. ทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
                          คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ  ภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาควิชาชีพ  และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา  โดยองค์กรต้องลงทะเบียนตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการลงทะเบียนขององค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ที่ กกต. กำหนด  และองค์กรต้องแสดงหลักฐานการเป็นองค์กรภาคใดภาคหนึ่งเพียงภาคเดียว  องค์กรมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์กร  หรือ  ปฏิบัติหรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร  เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. องค์กรละหนึ่งคน
                          มติในการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย  และต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเท่าที่มีอยู่  โดยในการสรรหาให้คำนึงถึงความรู้  ความเชี่ยวชาญ  หรือประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาเป็นสำคัญ  และให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน  โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ  สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคที่ใกล้เคียงกัน  รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม  ผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด  และให้ส่งให้ กกต. ประกาศผล
                          ในการสรรหา ส.ว. ชุดแรกปี 2551  และชุดที่สองปี 2554  มีจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรในแต่ละภาค และจำนวน ส.ว. ที่ได้รับการสรรหาในแต่ละภาคตามตารางดังนี้
        
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

        
       

       ภาควิชาการ
       

          ภาครัฐ 
       

        ภาคเอกชน 
       

        ภาควิชาชีพ
       

           ภาคอื่น
       

             รวม
       

        ปี 2551  จำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อ   
       

             123
       

             114
       

             443
       

             152
       

             225
       

           1,057
       

                      จำนวนสมาชิกวุฒิสภา       
       

               15
       

               14
       

                15
       

               15
       

               15
       

                74
       

        ปี 2554  จำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อ   
       

               99
       

               86
       

              212
       

             113
       

             161
       

              671
       

                      จำนวนสมาชิกวุฒิสภา 
       

               14
       

              14
       

                15
       

               15
       

                15
       

                73
       

        
        
       2.       ปัญหาและสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
        
                          จากการศึกษาการสรรหา ส.ว. ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา  พบว่ามีปัญหาและสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ ส.ว. ซึ่งมีคุณสมบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังนี้
        
                          2.1    ปัญหาการต้องรู้จักกรรมการสรรหา  จากตารางดังกล่าวจะเห็นว่าองค์กรมาลงทะเบียนเพื่อเสนอชื่อบุคคลในปี 2554 นี้มีจำนวนเพียง  671 องค์กร  ในขณะที่เมื่อปี 2551 มีจำนวนถึง 1,057 องค์กร  ลดลงจากเดิมเกือบ 40%  อีกทั้ง ส.ว. ชุดแรกได้รับการสรรหากลับเข้ามาในชุดที่สองถึง 31 คน  คิดเป็น 42% ของ สว. ที่มาจากการสรรหาจำนวน 73 คน   โดย ส.ว. ชุดแรกจำนวนดังกล่าวมีหลายคนที่ไม่มีผลงานและแทบไม่เข้าประชุมเลย  แต่กลับได้รับสรรหาเข้ามาเป็น ส.ว. อีกสมัย 
                          จากการสอบถามบุคคลหลายคนที่เคยเข้ารับการสรรหาในครั้งแรกแต่ไม่ประสงค์เข้ารับการสรรหาในครั้งที่สองพบว่า  บุคคลดังกล่าวตอบตรงกันว่า  “ไม่รู้จักกรรมการสรรหาคนใดเลย  จึงไม่อยากเสียเงินค่าธรรมเนียม 5,000 บาทสำหรับการเข้ารับการสรรหา  เพราะรู้ตัวเองจากประสบการณ์ครั้งที่แล้วว่าไม่มีโอกาสได้ถึงแม้ตนจะมีความรู้ความสามารถก็ตาม”  ซึ่งสอดคล้องกับการที่กรรมการสรรหาบางคนเคยกล่าวกับผู้ที่รู้จักว่า  “บุคคลที่เข้ารับการสรรหาถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถและเป็นที่รู้จัก เช่น  อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรืออดีตประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  แต่ตนไม่รู้จัก  ตนก็ไม่เลือก” 
                          ดังนั้นบุคคลซึ่งจะได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. จำนวนมากจึงต้องรู้จักกับกรรมการสรรหา  หรือมีบุคคลที่รู้จักกับกรรมการสรรหาเป็นผู้ฝากกับกรรมการสรรหาให้อีกทอดหนึ่ง  ทั้งๆ ที่ถูกต้องแล้ว  กรรมการสรรหาเองเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องศึกษาข้อมูลและเอกสารเพื่อทำความรู้จักกับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา  แล้วจึงเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติดีที่สุดให้เป็น ส.ว. เพื่อจะได้ไปปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ  สิ่งที่กล่าวมานี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข  โดยกรรมการสรรหาต้องเป็นผู้แก้ไขด้วยตนเอง  เพราะไม่มีใครมีอำนาจตามกฎหมายไปกำกับดูแลกรรมการสรรหาได้
        
                          2.2    ปัญหาการลงทะเบียนขององค์กรในภาคที่องค์กรนั้นไม่มีคุณสมบัติ  สำหรับองค์กรที่ลงทะเบียนในแต่ละภาคเพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาในภาคดังกล่าวนั้น  มีหลายองค์กรที่ได้ลงทะเบียนในภาคที่องค์กรนั้นไม่มีคุณสมบัติ  เช่น  มูลนิธิโพธิ์ง่วนตึ๊ง นครปฐม ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่จดทะเบียนในรูปของมูลนิธิ  สมาคมวิทยุสมัครเล่นนครสวรรค์ และมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม เป็นต้น ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับที่จดทะเบียนเกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพเลย   แต่กลับสามารถลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาควิชาชีพได้  สำหรับมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม นั้น  ปรากฏว่า  พล.อ.อ. วีรวิท  คงศักดิ์  ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรดังกล่าว  ได้รับการสรรหาให้เป็น สว. สำหรับองค์กรในภาควิชาชีพ   
                          แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 66  ได้บัญญัติไว้ว่า     
                          “นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  ภายใต้ขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย  ข้อบังคับ  หรือตราสารจัดตั้ง”
                         ดังนั้นนิติบุคคลใดๆ จึงดำเนินการนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ตามที่บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย  ข้อบังคับ  หรือตราสารจัดตั้ง  ไม่ได้  ดังได้มีแนวบรรทัดฐานตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  995/2491  801/2471   950/2491   และ  3340/2516   
                          นอกจากนี้ยังมีหลายองค์กรที่ลงทะเบียนในการสรรหา ส.ว. ชุดแรกเมื่อปี 2551  ในภาคหนึ่ง  แต่กลับลงทะเบียนในการสรรหา ส.ว. ชุดที่สองเมื่อปี 2554  ในภาคที่ต่างไป  เช่น  สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาควิชาชีพและได้เสนอชื่อ    พล.ต.อ. วงกต  มณีรินทร์  เข้ารับการสรรหา ส.ว. ชุดที่สอง  และได้รับการสรรหาให้เป็น สว.  แต่ในการสรรหา ส.ว. ชุดแรก สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ลงทะเบียนเป็นองค์กรภาควิชาการและได้เสนอชื่อ    พล.ต.ท. ยุทธนา  ไทยภักดี   เข้ารับสรรหา  และได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. 
                          สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข  โดย กกต. ต้องแก้ไขปรับปรุงระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการลงทะเบียนขององค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.  ให้เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์ว่าองค์กรลักษณะใดจึงจะลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาคใดได้
                          การกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับองค์กรในแต่ละภาคดังกล่าวไม่ได้เป็นการไปจำกัดสิทธิในการเสนอชื่อบุคคลขององค์กรใดๆ  เพราะหากองค์กรที่มาลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาคใดแล้ว  ผู้ทำหน้าที่รับลงทะเบียนตรวจสอบพบว่าองค์กรดังกล่าวมีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับองค์กรในภาคนั้น  องค์กรดังกล่าวก็ยังสามารถไปลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาคอื่นๆ ที่องค์กรดังกล่าวมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์  อย่างไรก็ตามองค์กรดังกล่าวย่อมสามารถลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาคหนึ่งภาคใดจากทั้งหมดห้าภาคได้  เนื่องจากองค์กรในห้าภาคประกอบด้วย  องค์กรในภาควิชาการ  ภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาควิชาชีพ  และภาคอื่น  ซึ่งครอบคลุมองค์กรทุกลักษณะอยู่แล้ว  จึงไม่ได้เป็นการตัดสิทธิองค์กรดังกล่าวในการลงทะเบียนและเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. แต่อย่างใด  หากเป็นเพียงให้องค์กรดังกล่าวไปลงทะเบียนเป็นองค์กรในภาคที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น
        
                          2.3    ปัญหาการที่บุคคลซึ่งได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. มีลักษณะต้องห้ามหรือเป็นผู้เสียสิทธิการเลือกตั้ง  สำหรับบุคคลที่ได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. ในชุดที่สองนั้น  มีบางคนมีลักษณะต้องห้ามหรือเป็นผู้เสียสิทธิการเลือกตั้ง  ได้แก่  นายสัก  กอแสงเรือง  นายศรีสุข  รุ่งวิสัย  และนายประจิตต์  โรจนพฤกษ์  ซึ่ง  กกต. มีมติภายหลังเมื่อเดือนมีนาคม 2555  ให้เสนอศาลฎีกาวินิจฉัยเพื่อเพิกถอนการสรรหา ส.ว. ของบุคคลทั้งสามและดำเนินการสรรหา ส.ว. ใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา 240  ประกอบมาตรา 134  แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550  โดยมีรายละเอียดของการมีลักษณะต้องห้ามหรือเป็นผู้เสียสิทธิการเลือกตั้งดังนี้ 
                          นายสัก  กอแสงเรือง  เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว. ของเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543  โดยมีสมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2543  ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  มาตรา 315 วรรคห้า (1)  แต่ นายสัก  กอแสงเรือง ได้รับการเสนอชื่อจากสภาทนายความเพื่อเข้ารับการสรรหาในวันที่ 6 มีนาคม 2554  จึงพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. ยังไม่เกินห้าปี ณ วันที่ได้รับการเสนอชื่อ     อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา 115 (9)
                          นายศรีสุข  รุ่งวิสัย  ขณะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. เป็นผู้เสียสิทธิการเลือกตั้งเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดนนทบุรี แทนตำแหน่งที่ว่าง  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2552  ส่วนนายประจิตต์  โรจนพฤกษ์  ขณะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. เป็นผู้เสียสิทธิการเลือกตั้งเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดปทุมธานี  แทนตำแหน่งที่ว่าง  เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552  บุคคลทั้งสองจึงเสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ตามมาตรา 26  ประกอบมาตรา 27  แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550
                          สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้นเนื่องจากคณะกรรมการสรรหา  และคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งขึ้น  รวมทั้งสำนักงาน กกต. ซึ่งทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหา  สามารถตรวจคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.  ว่ามีลักษณะต้องห้ามหรือเสียสิทธิการเลือกตั้งหรือไม่ได้อย่างละเอียดก่อนที่คณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาลงคะแนนเพื่อมีมติในการสรรหา  ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาจึงต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.  อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก
        
                               2.4  ปัญหาความไม่เป็นกลางโดยมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการสรรหา  บุคคลที่ได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. บางคนและองค์กรที่เสนอชื่อมีความเกี่ยวพันกับกรรมการสรรหาบางคน  เช่น  กรณีพล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ซึ่งเคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ในช่วงปี 2546-2550)  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ในช่วงปี 2550-2553)  และกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดแรกเมื่อปี 2551 มาก่อน  จึงเคยร่วมทำงานและรู้จักคุ้นเคยกับกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดที่สองในปี 2554 นี้  อย่างน้อยจำนวน 4 คน คือ  กรรมการสรรหา ส.ว. 3 คนซึ่งเคยร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดแรก  และอีกคนหนึ่งคือ นายปราโมทย์  โชติมงคล ซึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนั้น โดยนายปราโมทย์  โชติมงคล เคยเป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ในช่วงปี 2543-2548)  ซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  มาก่อน  ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ได้รับการเสนอชื่อจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ในองค์กรภาครัฐ  โดยที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรที่ นายปราโมทย์  โชติมงคล ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่  นอกจากนี้หลังจากที่ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา  นายปราโมทย์  โชติมงคล ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2554  ในโอกาสที่ตนครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินว่า  ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ประธานวุฒิสภา 
                          ตามมาตรา 130 วรรคสอง แห่ง  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550  บัญญัติให้ผู้ที่จะได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่  ซึ่งในครั้งนี้ต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 4 คะแนนจากทั้งหมด 6 คะแนน  ดังนั้นการที่ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  จะได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 4 คะแนนนั้น  กรรมการสรรหาซึ่งเคยร่วมทำงานและรู้จักคุ้นเคยกับ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ดังกล่าวข้างต้นจำนวนอย่างน้อย 2 คนจะต้องลงคะแนนเสียงให้  จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น  การที่ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  ได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว.  จึงมีปัญหาของความไม่เป็นกลางโดยมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์   
                          นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550   มาตรา 115 (9)  บัญญัติลักษณะต้องห้ามของผู้เข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ไม่ให้เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี  ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้ตำแหน่งหน้าที่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ตนเองได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.  ดังนั้นการที่ พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร  เคยเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดแรกเมื่อปี 2551 มาก่อน  แล้วกลับมาเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.  จึงไม่น่าจะเหมาะสมถึงแม้จะไม่มีกฎหมายห้ามการกระทำดังกล่าว  แต่หากดูเทียบเคียงเจตนารมณ์ของมาตรา 115 (9)  แล้ว  จะเห็นว่าอาจมีปัญหาของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนที่ผ่านมาในการดำเนินการใดๆ เพื่อให้ตนเองได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. ได้เช่นเดียวกัน 
                          ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร ยังถูกอัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในคดีดำหมายเลข อ.4290/2552  เมื่อวันที่  23 พ.ย. 2552 ว่า  เมื่อปี 2547  ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาได้ร่วมกับพวกสองคนซึ่งมี นายปราโมทย์  โชติมงคล รวมอยู่ด้วย  ออกระเบียบจ่ายเบี้ยประชุมลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนอันเป็นการขึ้นเงินค่าตอบแทนตัวเองเดือนละ 20,000 บาทโดยมิชอบ
                          นอกจาก พล.อ.ธีรเดช  มีเพียร แล้ว  ยังมี นายพิเชต  สุนทรพิพิธ  ซึ่งเคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา  (ในช่วงปี 2543-2547)  โดยเป็นผู้บังคับบัญชาของนายปราโมทย์  โชติมงคล  ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ในช่วงปี 2543-2548)   ทั้งนี้นายพิเชต  สุนทรพิพิธ  ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. จากองค์กรในภาควิชาการ  และได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. เป็นสมัยที่สอง  โดยในสมัยแรกได้รับการเสนอชื่อจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
                          นอกจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  แล้วยังองค์กรที่ลงทะเบียนเพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาหลายองค์กรเป็นองค์กรที่กรรมการสรรหาบางคนปฏิบัติหน้าที่อยู่  ได้แก่  สำนักงาน ปปช.  สำนักงานศาลปกครอง  และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน   สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นกลางของกรรมการสรรหา  และป้องกันมิให้มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาดำเนินการใดๆ เพื่อให้ตนเองได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. ในอนาคต  ในลักษณะเช่นเดียวกับที่มาตรา 115 (9)  ได้บัญญัติไว้  ซึ่งการจะแก้ไขปัญหานี้มีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
        
                          2.5    ปัญหาการกระจุกตัวของบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว.  หากพิจารณาจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาให้เป็น สว. ในชุดที่สองทั้งหมด  73 คน  จะพบว่ามี  อดีตตำรวจ  6 คน  อดีตทหาร  11 คน  อดีตข้าราชการพลเรือน  18 คน   รวมจำนวนอดีตข้าราชการทั้งหมดถึง  35 คน  คิดเป็น 48%   นอกจากนี้ยังมีนักกฎหมายถึง 11 คน  คิดเป็น 15%   ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาการกระจุกตัวของบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว.  จึงควรปรับปรุงแก้ไขให้ ส.ว. ที่ได้รับการสรรหามีองค์ประกอบจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน  เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา  โดยคณะกรรมการสรรหาควรพิจารณามีมติกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนก่อนเริ่มทำการสรรหา
        
                          2.6    ปัญหาความเป็นกลางของกระบวนการสืบสวนคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว.  เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติให้  ประธาน กกต. เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. โดยตำแหน่ง  และสำนักงาน กกต. ทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.  ในขณะที่  กกต. ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว. เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ไต่สวนวินิจฉัย  โดยมีสำนักงาน กกต. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ  จึงอาจทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว. มีปัญหาของความไม่เป็นกลางโดยมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว. ได้
                       ตามที่มาตรา 133  แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550  ได้บัญญัติว่า  ภายหลังการประกาศผลการสรรหาแล้ว  บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา  หรือสมาชิกองค์กรที่เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหา  หากเห็นว่าการสรรหาเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผล  เพื่อให้ กกต. ดำเนินการสอบสวนและพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป  ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะต่างๆ ว่าการสรรหาในชุดที่สองมีความไม่โปร่งใส  และอาจมีการกำหนดบุคคลที่จะได้รับการสรรหาให้เป็น สว. ไว้ก่อนแล้ว  นายสิทธิพล  ทวีชัยการ  เลขาธิการ กกต. ในขณะนั้นได้ออกมากล่าวต่อสื่อสาธารณะว่า  ผู้มีส่วนได้เสียกับการสรรหาสามารถขอทราบผลคะแนนในการสรรหาได้  แต่เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นหนังสือขอดูผลคะแนนดังกล่าวและข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง  นายสิทธิพล  ทวีชัยการ  กลับไม่ยอมเปิดเผยโดยอ้างว่า  ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้เปิดเผยได้  อีกทั้งยังมีพฤติกรรมส่อไปในทำนองดึงเรื่อง  ยิ่งไปกว่านั้นยังแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบว่าไม่ให้ดูคะแนนและข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องหลังจากที่เลย 30 วันไปแล้ว  ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องคัดค้านได้ทันกำหนด 
                          ปัญหาความไม่เป็นกลางโดยมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ดังกล่าวที่อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว. ได้  จึงต้องได้รับการแก้ไข  ซึ่งทางการแก้ไขทางหนึ่งอาจทำได้โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการสรรหาแก่ผู้มีส่วนได้เสียภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการสรรหา  และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งยกการคัดค้านการสรรหา ส.ว. ที่ตนร้องภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ กกต. มีคำสั่งดังกล่าว        
        
        
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544