ความเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษา: มองนโยบายและกฎหมายสหภาพยุโรปเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน |
|
|
|
อาจารย์ ดร. ชวนิดา สุวานิช
ค.บ. (เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา) กศ.ม. (เทคโนโลยีการศึกษา) กศ.ด. (เทคโนโลยีการศึกษา) อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
น.บ. น.ม. (กฎหมายมหาชน) LLM in Business Law นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร
|
|
17 มิถุนายน 2555 20:07 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
[1] บทนำ
การศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรป (Higher education in Europe Union) มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพประชาชนของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป เพื่อให้ประชาชนกลายมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพทางความรู้และทักษะขั้นสูงในอนาคต นอกจากนี้ การศึกษาระดับอุดมศึกษายังมีบทบาทที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปยังนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาไปถ่ายทอดหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคมและประเทศที่ตนอาศัย
ทั้งนี้ ในสหภาพยุโรป (European Union) ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาถึงสี่พันแห่งด้วยกัน โดยมีจำนวนนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันดังกล่าวเป็นจำนวนสิบเก้าล้านคนและมีบุคลากรที่ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาประมาณกว่าหนึ่งล้านหน้าแสนคน[1] ซึ่งจากสถิติดังกล่าวอาจเห็นได้ว่ามีจำนวนประชาชนในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปแต่ละประเทศเป็นจำนวนมากที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อแสวงหาความรู้อันเป็นการสร้างโอกาสหรือทางเลือกหนึ่ง ที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไปในอนาคตทั้งทางด้านการงานและชีวิตส่วนตน
ดังนั้น การที่ประชาชนจำนวนมากเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปประกอบด้วยนักศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากความหลากหลาย (Diversity) ที่แตกต่างกัน เช่น อายุ ความพิการ เพศ ศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น[2] นอกจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปประกอบด้วยนักศึกษาที่มีที่มาอันหลากหลายและแตกต่างแล้ว สถาบันอุดมศึกษาในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปยังประกอบไปด้วยบุคลกรประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรประเภทสายวิชาการหรือบุคลากรประเภทสายสนับสนุนที่เข้ามาทำงานระหว่างประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและประกอบอาชีพในมหาวิทยาลัยภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ย่อมประกอบด้วยความหลากหลายทางความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและความหลากหลายทางลักษณะบุคคลเฉพาะอันทำให้เกิดความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มสหภาพยุโรปอีกประการหนึ่ง
สำหรับเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเดินทางมาศึกษา[3]หรือทำงานข้ามประเทศได้[4] นั้นคือ การเปิดเสรีภาพทางการศึกษา (Freedom of education) โดยประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปได้เปิดโอกาศให้นักศึกษาต่างชาติสามารถเดินทางเข้ารับการศึกษาประเทศของตนได้หรือยอมให้ประชาชนของตนไปศึกษายังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ประชาชนของประเทศที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปยังสามารถเดินทางเพื่อประกอบอาชีพหรือโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มได้ ซึ่งถือเป็นเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน (Freedom of movement) ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญของแรงงานที่เป็นนักวิชาการและผู้มีความรู้เฉพาะด้าน อันจะเกิดประโยชน์ด้านต่างๆในอนาคตต่อประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น การวิจัยและการถ่ายทอดความชำนาญทางวิชาชีพ เป็นต้น
ดังนั้น การเปิดเสรีภาพทางการศึกษาและเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นักศึกษา บุคลากรสายวิชาการ บุคลากรสายสนับสนุน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เป็นต้น โดยแม้ว่าความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาจากการเปิดเสรีภาพที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จะส่งผลดีต่อระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเป็นการศึกษาขั้นสูง แต่อย่างไรก็ดี ความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาอาจก่อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม (Unfair treatment) หรือการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อนักศึกษาหรือบุคลากรมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุจากลักษณะของความหลากหลายของแต่ละบุคคล เช่น อายุ เพศ สีผิว เชื้อชาติ ความพิการและรสนิยมทางเพศ เป็นต้น[5]
ด้วยประการนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Union) และประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรปจึงได้แสวงหาแนวทางและกำหนดมาตรการต่างๆ ร่วมกันเพื่อขจัดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติจากสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[6] เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ามาศึกษาและเป็นแรงงานในมหาวิทยาลัยของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป[7] อันเป็นการสร้างความเท่าเทียม (Equality) เพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรม (Equal treatment) และปราศจากการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยอันเป็นต้นสังกัดในกรณีต่างๆ
[2] ความเสมอภาคในมหาวิทยาลัยภายใต้สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีกรอบนโยบายที่สำคัญหลายประการด้วยกันในการสนับสนุนเสรีภาพในการศึกษาและเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น นโยบายที่ทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นสากลมากยิ่งขึ้น (Internationalisation of higher education) และนโยบายสนับสนุนทำให้การศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปมีการขยายตัวและลักษณะภารกิจที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น (Modernization of European’s higher education systems) เป็นต้น ซึ่งนโยบายของสหภาพยุโรปเหล่านี้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายของนักศึกษาหรือพนักงานในมหาวิทยาลัยที่มีที่อันแตกต่างกัน ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2000 สหภาพยุโรปจึงได้กำหนดนโยบายทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเฉพาะหลายประการที่สนับสนุนให้สหภาพยุโรปมีความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม[8] เช่น อายุ เพศ สีผิว เชื้อชาติ ความพิการและรสนิยมทางเพศ เป็นต้น
[2.1] นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตและการทำงานอันเป็นวาระในการทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น (Supporting growth and jobs - an agenda for the modernisation of Europe's higher education systems)[9]
ในสหภาพยุโรปประกอบด้วยมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัยที่ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกและมหาวิทยาลัยท้องถิ่น โดยสหภาพยุโรปต้องการที่จะขยายขอบเขตของความหลากหลายทางการศึกษาให้กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ความหลายหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือการบริหารจัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องการการกำหนดภารกิจและยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการส่งเสริมการจัดการความหลากหลายในมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษามีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น[10]
แม้นโยบายนี้จะได้กล่าวถึงแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการความหลายหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการสร้างความเท่าเทียมบนความหลากหลายของผู้คนหรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่อย่างไร
[2.2] นโยบายจากเอกสารประกอบการนิเทศเกี่ยวกับ ‘นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตและการทำงานอันเป็นวาระในการทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น’ (Accompanying document to the Communication "Supporting growth and jobs: an agenda for the modernisation of Europe's higher education systems")[11]
เอกสารประกอบการนิเทศดังกล่าวได้ขยายความในเรื่องแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการความหลายหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่าควรมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายสหภาพยุโรป (Legal framework) ในการเสริมสร้างและสนับสนุนให้มีการบูรณาการความหลากหลายระหว่างระบบการศึกษาต่างๆและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและตลาดแรงงานในอนาคต โดยต้องมีการตอบสนองความหลากหลายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ (Effective) และเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (innovative) เช่น การเปิดโครงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางบุคลากรทางการวิจัยและการเปิดโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นต้น
เอกสารประกอบการนิเทศยังได้ระบุในเรื่องของข้อมูลด้านแรงงาน (University employment) ความหลากหลายด้านเพศของนักศึกษา (Gender balance) พื้นฐานทางสังคมของนักศึกษา (Social background) และข้อมูลด้านอายุของนักศึกษา (Age profile)[12] ของมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรป โดยเอกสารดังกล่าวได้วิเคราะห์แนวโน้มของความแตกต่างทางความหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษากับแนวทางในการพัฒนาการแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์จากนักศึกษา แต่มิได้กล่าวถึงความเท่าเทียมกันจากพื้นฐานของความหลากหลายของผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัยแต่อย่างไร
[2.3] นโยบายการสร้างความเป็นสากลของสถาบันอุดมศึกษา (The internationalisation of higher education)[13]
สหภาพยุโรปมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือและบูรณาการสอดคล้องในการพัฒนาระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในสหภาพยุโรปได้มีความเป็นอยู่และคุณภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น ในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา สหภาพยุโรปจำเป็นต้องสร้างกลไกของความร่วมมือทั้งระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันและระหว่างประเทศสหภาพยุโรปกับประเทศนอกสหภาพยุโรปเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัย ที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ นโยบายการสร้างความเป็นสากลของสถาบันอุดมศึกษาได้กำหนดแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างความโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีการศึกษาในเรื่องของความหลากหลายทางภารกิจและศักยภาพของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อสร้างความโปร่งใส (Transparency instrument) ให้สามารถจัดการกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีธรรมาภิบาล[14]
แม้จะมีการพิจารณาในเรื่องของความโปร่งใส่บนความหลากหลายความหลากหลายทางภารกิจและศักยภาพของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกลุ่มสหภาพยุโรปให้มีความเป็นนานาชาติหรือความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ได้กำหนดลงไปว่าเมื่อเข้าไปสู่ความเป็นสากลแล้ว จะมีการจัดการความหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาที่มีที่มาแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติ เพศ อายุ ความเชื่อและปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความหลายหลายของนักศึกษาแต่ละบุคคลและกลุ่มอย่างไร
[2.4] นโยบายจากรายงานความก้าวในด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (Report on progress in quality assurance in higher education)[15]
นโยบายของสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางอย่างกว้างๆ ในการประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวคือ มหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปต้องสนับสนุนให้มีการสร้างกระบวนการในการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณภาพทางการศึกษาและกระบวนการในการประเมินคุณภาพทางการศึกษาว่าการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปและภาพรวมทางการศึกษาของทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นอย่างไร[16] เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลการศึกษา เช่น การสร้างมาตรฐานของกรอบคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรป (European Qualifications Framework - EQF) และการสร้างเครือข่ายประกันคุณภาพทางการศึกษาของสหภาพยุโรป (European Quality Assurance Networks - EQAN) เป็นต้น
แม้ว่า นโยบายดังกล่าวจะได้กล่าวถึงเครื่องมือในการกำหนดการประกันคุณภาพทางการศึกษา (Quality assurance infrastructure) ในหลายกรณี แต่อย่างไรก็ดี นโยบายจากรายงานดังกล่าวไม่ได้กำหนดเชิงรายละเอียดในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและความเท่าเทียมของนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอันเป็นการตรวจสอบเรื่องพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและผู้มีส่วนได้เสียทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างแนวทางในการประเมินผลกระทบที่เกี่ยวกับความเท่าเทียม (Equality Impact Assessment) เป็นต้น
[2.5] นโยบายจากรายงานมติสภาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2007 ว่าด้วยเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลก (Report on the Council Resolution of 23 November 2007 on Modernising Universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy)[17]และนโยบายจากเอกสารประกอบรายงานจากมติคณะมนตรี 23 พฤศจิกายน 2007 ว่าด้วยเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลก (Accompanying document to the report on the Council Resolution of 23 November 2007 on Modernising Universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy)[18]
นโยบายสหภาพยุโรปจากรายงานและเอกสารประกอบการรายงานมติสภาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2007 ว่าด้วยเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลก ได้วางแนวทางให้มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปพัฒนาองค์กรให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเสริมสร้างโอกาศของความท้าทายในการพัฒนาและการขจัดอุปสรรค์ในอนาคต เช่น การออกแบบหลักสูตรในมหาวิทยาลัยให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่[19] เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี แม้นโยบายของสหภาพยุโรปจะแสวงหาแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยและขจัดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปธรรมาภิบาลทางการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ได้กำหนดหรือระบุในเรื่องของความทันสมัยกับความสอดคล้องกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการปราศจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าความทันสมัยอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมโดยตรง แต่ในบางกรณีความทันสมัยอาจช่วยให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมได้ เช่น การพัฒนาทางลาดชันโดยอาศัยกลไกอัตโนมัติสำหรับติดตั้งไว้เพื่อนักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
[2.6] นโยบายว่าด้วยการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลก (Modernising universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy)[20]
นโยบายของสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเป็นเลิศในระดับอุดมศึกษาทั้งในด้านการวิจัยและการพัฒนาเครื่อข่ายทางวิชาการเพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปสามารถแข่งขันและมีส่วนร่วมในระดับโลกได้ โดยสหภาพยุโรปต้องส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโดผ่านระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปมีมาตรฐานระดับสูงและสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการตอบสนองต่อตลาดแรงงานในอนาคตจากนักศึกษาที่จบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการก้าวสุ่ตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปต้องกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นในให้กับอาจารย์และนักศึกษาเพื่อให้เสริมการการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด (Most equitable participation) ในการเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงและการวิจัยขั้นสูง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งการส่งเสริมดังกว่าต้องไม่คำนึงถึงความพิการ (Disabilities) เพศ (Gender) รายได้ (Income) สถานะทางสังคม (Social) และภูมิหลังทางภาษา (Linguistic background)
ดังนั้น นโยบายว่าด้วยการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลกจึงได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ในการเป็นนักวิจัยและนักศึกษาในฐานะที่เป็นผู้เรียนรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาโดยไม่อาจคำนึงถึงหรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอาศัยความแตกต่างของลักษณะต่างๆของบุคคลตามที่นโยบายฉบับนี้ได้ระบุไว้ อันเป็นการสร้างให้มหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปมีความทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อรองรับความร่วมมือและการสนับสนุนความเป็นเลิศทางวิชาการในอนาคต
[2.7] นโยบายการมอบวาระในการทำให้สถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปมีความทันสมัยยิ่งขึ้นสำหรับมหาวิทยาลัย การศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (Delivering on the modernisation agenda for universities: education, research and innovation)[21]
นโยบายฉบับนี้ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดอนาคตของตนเองในอนาคตสำหรับมุ่งไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสามารถป้อนนักศึกษาเข้าไปสู่ตลาดแรงงานได้ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษาและบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของสหภาพยุโรปและเพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยได้บริหารจัดการตนเองอย่างเป็นอิสระ (Autonomy) และโปร่งใส่ (Accountability) ในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยต้องจัดทำยุทธศาสตร์และปฏิรูประบบเงินทุนเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาในการแข่งขันทางการศึกษาในอนาคต
ฉะนั้น มหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกต้องกำจัดอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น (Break down the barriers) เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนให้เกิดโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศ เป็นต้น
แม้ว่านโยบายฉบับนี้จะระบุในการการสร้างมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัยและสามารถป้อนแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ได้ระบุเรื่องความเท่าเทียมหรือการปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงความหลายหลายเฉพาะบุคคลแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับนโยบายว่าด้วยการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลกที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติหรือไม่อาศัยความหลากหลายของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ
[2.8] นโยบายการขยายความร่วมมือของสหภาพยุโรปในการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Further European cooperation in quality assurance in higher education)[22]
สหภาพยุโรปมีนโยบายในการขยายความร่วมมือในการประกันคุณภาพการศึกษาสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ก็เพื่อแสวงหาแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกับ โดยประเทศสมาชิกควรกำหนดระบบประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายในประเทศ (Internal quality assurance systems) ตามที่สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานและแนวทางเอาไว้ นอกจากนี้ รัฐสมาชิกควรจัดตั้งองค์กรรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการประกันคุณภาพการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ (Domestic Quality Assurance Agencies) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างมาตรฐานมหาวิทยาลัยจากระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในประเทศให้มีมาตรฐานระดับเดียวกันและองค์กรของรัฐในแต่ละประเทศควรประสานความร่วมมืกกันเพื่อสร้างมาตรฐานร่วมกันให้มีมาตรฐานในระดับยุโรปในอนาคต (List of European Register of Quality Assurance Agencies)
ประเทศรัฐสมาชิกควรส่งเสริมให้หน่วยงานประกันคุณภาพหรือรับรองมาตรฐานทางการศึกษาทำงานหรือประเมินการศึกษาอย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐหรือฝ่ายการเมืองเพื่อเป็นกำหนดมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทราบถึงมาตรฐานที่แท้จริงในการปรับปรุงมาตรฐานที่ดีที่พึ่งจะเป็นในอนาคตในแต่ละประเทศ ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานในการสนับสนุนความหลากหลาย (Diversity) และนวัตกรรม (Innovation) ที่สถาบันการศึกษาในประเทศต่างๆ พึ่งกระทำ
แม้ว่านโยบายฉบับนี้ได้กำหนดในเรื่องความหลากหลายเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี ความหลากหลายดังกล่าวมิใช่ความหลากหลายในลักษณะบุคคลที่ต้องได้รับการส่งเสริมให้เท่าเทียม เช่น อายุ เพศ ความเชื่อและความพิการ เป็นต้น แต่ความหลากหลายในกรณีนี้ หมายถึง ความหลากหลายวิธีการและกระบวนการภายในของแต่ละชาติในการประเมินมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีความแตกต่างกัน
[2.9] นโยบายความร่วมมือสหภาพยุโรปจากเบอร์เจนถึงลอนดอน (From Bergen to London - The EU Contribution)[23]
นโยบายฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางในสร้างมาตรฐานกรอบคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรป (European Qualifications Framework) และการประกันคุณภาพทางการศึกษาของสหภาพยุโรป (European Quality Assurance) โดยการกระทำหรือการปฏิบัติกิจกรรมทั้งการสร้างกรอบคุณวุฒิและการประกันคุณภาพดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งกับสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆของประเทศสมาชิกควรส่งเสริมให้การศึกษาระดับอุดมศึกษามีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น (Modernization) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ต่อการบริหารจัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านอื่นๆอีก เช่น การกำหนดระยะเวลาในการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Period of study) ความร่วมมือด้านการวิจัย (research) และความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นของโลก (Cooperation with other parts of the world) เป็นต้น
แม้นโยบายดังกล่าวได้กำหนดคำว่าความหลากหลายไว้ในนโยบายดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ความหลายหลายดังกล่าวเป็นความหลากหลายจากการกำหนดการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปที่ได้รับการประเมินมาตรฐาน (European Ranking System) โดยอาศัยเกณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ภาษาที่ในการเรียนการสอน วิชาที่เรียน ข้อมูลมหาวิทยาลัย การบริการ การวิจัยและคุณภาพการสอน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี นโยบายสหภาพยุโรปฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงความหลากหลายในฐานะที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของบุคคลที่จะส่งเสริมในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาและบุคลากรในสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด ซึ่งในอนาคตอาจนำมาตรฐานในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาบรรจุเข้าไปในนโยบายของสหภาพยุโรปหรือจัดทำนโยบายเฉพาะในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยโดยตรงมาเป็นเกณฑ์หนึ่งในการจัดลำดับมหาวิทยาลัยด้วย
[2.10] นโยบายการระดมพลังสมองของสหภาพยุโรปเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปสร้างความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ลิสบอน (Mobilising the brainpower of Europe: enabling higher education to make its full contribution to the Lisbon Strategy)[24]
นโยบายการระดมพลังสมองของสหภาพยุโรปเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปสร้างความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ลิสบอนที่มุ่งเน้นนโยบายการสร้างความรู้ นวัตกรรมและการเพิ่มประสิทธิภาพทุนมนุษย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปควรส่งเสริมความหลากหลายในระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศซึ่งประกอบด้วยกระบวนการในการปฏิรูปผ่านความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรอื่นๆ
นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายนี้ประเทศสมาชิกต้องความน่าสนใจให้กับการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับนักศึกษาผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาที่มีคุณภาพสูง การให้ข้อมูลข่าวสารที่ดี ความหลากหลายที่เป็นเยี่ยมในการเรียนและการสอน โดยเฉพาะการเรียนการสอนและการบริการจากมหาวิทยาลัยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีคุณภาพสูงและนักศึกษาแต่ละคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดยง่าย เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในการเรียนและบูรณาการในการเรียนรู้ให้เข้ากับตลาดแรงงานและการใช้ชีวิตในสังคมในอนาคต
แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงความหลากหลายและความเท่าเทียมกันของนักศึกษาในกรณีที่นักศึกษามีความแตกต่างกันทางความหลากหลายในลักษณะส่วนบุคคล แต่นโยบายฉบับนี้มุ่งเน้นเพียงแค่ความหลากหลายของการทำมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัยโดยอาศัยหลักสูตรและเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นส่วนช่วย ซึ่งนโยบายฉบับนี้อาจเป็นผลดีต่อนักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะมีความหลากหลายหรือความแตกต่างประการใดก็อาจได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยร่วมไปถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยด้วย
[2.11] นโยบายเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมความรู้ของยุโรป (The role of the universities in the Europe of knowledge)[25]
นโยบายฉบับนี้ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปสร้างแนวทาการปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices) รวมไปถึงองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างระบบอุดมศึกษาให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นโยบายฉบับนี้ได้ระบุว่าสถาบันอุดมศึกษาในสหภาพยุโรปควรอาศัยหลักการขั้นพื้นฐานในการกำหนดสิทธิและความเท่าเทียมของนักศึกษาภายใต้หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย (An essential element of democracy to guarantee equality for all citizens) ซึ่งหลักการดังกล่าวถือเป็นการเสริมสร้างสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาที่มีความแตกต่างกันให้สามารถได้รับการปฏิบัติและบริการจากมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติภายใต้แนวคิดที่ว่า การศึกษาสำหรับทุกคน (Education for everybody) ทั้งนี้ นโยบายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายที่มีถ้อยความที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเท่าเทียมสำหรับนักศึกษามากที่สุด
[2.12] นโยบายความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับประเทศที่สามในเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Strengthening cooperation with third countries in the field of higher education)[26]
นโยบายความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับประเทศที่สามในเรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นนโยบายที่ต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกับประเทศที่สามที่อยู่นอกสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญสองประการ ได้แก่ ประการแรก นโยบายดังกล่าวส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพสูงในประเทศที่เป็นคู่พัฒนาและประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรปผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งกันและกัน ประการที่สอง นโยบายดังกล่าวสนับสนุนให้มีสหภาพยุโรปเป็นศูนย์กลางในการศึกษาที่เป็นเลิศและเป็นศูนย์กลางในการอบรมวิจัยทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ได้กำหนดในเรื่องของการเสริมสร้างความเท่าเทียมของมนุษย์หรือการจัดการความหลากหลายของทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่อย่างไร
แม้สหภาพยุโรปจะมีนโยบายที่กล่าวถึงในเรื่องของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในระดับอุดมศึกษา เช่น นโยบายเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมความรู้ของยุโรปและ] นโยบายว่าด้วยการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ทันสมัยเพื่อการแข่งขันของสหภาพยุโรปในเศรษฐกิจระดับโลก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี นโยบายทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรปหรือประชาคมยุโรปเดิมหลายฉบับยังขาดมิติและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันภายใต้นโยบายของสหภาพยุโรป อันทำให้สหภาพยุโรปขาดการบูรณาการหรือการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ภายในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ดังนี้ สหภาพยุโรปจึงควรกำหนดนโยบายด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างความเท่าเทียม (Equality) เพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรม (Equal treatment) และปราศจากการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยอันเป็นต้นสังกัดในกรณีต่างๆ ในอนาคตให้มีความชัดเจนและบรรยายกรอบแนวทางการปฏิบัติเชิงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
[3] กฎหมายสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในมหาวิทยาลัย
จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น สหภาพยุโรป (European Union) ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษาถึงสี่พันแห่งด้วยกัน โดยมีจำนวนนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันดังกล่าวเป็นจำนวนสิบเก้าล้านคนและมีบุคลากรที่ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาประมาณกว่าหนึ่งล้านหน้าแสนคน ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงประกอบด้วยความหลากหลายของประชาชนประเทศสมาชิกที่เข้ารับการศึกษาและบริการทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหภาพยุโรปยังจ้างบุคลากรประเภทต่างๆ เพื่อเข้ามาดำเนินกิจกรรมด้านการให้บริการทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนอกเหนือจากนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหภาพยุโรปแล้ว สหภาพยุโรปยังได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายสหภาพยุโรปที่ประกอบด้วยข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายภายในประเทศให้เป็นแนวทางเดียวกัน (Harmonisation) ภายในกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้ เมื่อสมาชิกได้นำข้อบังคับสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในมหาวิทยาลัยไปอนุวัติการ (implementation) ทำให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้แนวคิดและปรัชญาของข้อบังคับและกฎหมายสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในมหาวิทยาลัย
ฉะนั้น สหภาพยุโรปจึงได้ตราข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองความหลายหลายของลักษณะบุคคลเพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค โดยมีการผสานแนวคิดในการขจัดการเลือกปฏิบัติ (Anti-discrimination) และบรรจุแนวคิดดังกล่าวในข้อบังคับของสหภาพยุโรป เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำข้อบังคับดังกล่าวไปอนุวัตรการเป็นกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นหลักประกันสำหรับประชากรประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปประการหนึ่ง ว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐในเรื่องของความเสมอภาคภายในมหาวิทยาลัย อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างธรรมาภิบาลในสถาบับการศึกษาระดับอุดมศึกษา
สำหรับข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในมหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันอุดมศึกษานั้น อาจจำแนกได้เป็นข้อบังคับสองประเภทที่สำคัญด้วยกัน ได้แก่ ประเภทแรก ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคอันเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศสหภาพยุโรปโดยทั่วไป ประเภทที่สอง ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในด้านแรงงานหรือความเท่าเทียมภายใต้แรงงานสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัด ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อลูกจ้างประเภทต่างๆ เช่น พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนประเภทต่างๆ เป็นต้น
[3.1] ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างบุคคลโดยไม่คำนึงถึงสีผิวและชาติพันธุ์ (Council Directive 2000/43/EC implementing the principle of equal treatment between persons irrespective of racial or ethnic origin)[27]
ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างบุคคลโดยไม่คำนึงถึงสีผิวและชาติพันธุ์เป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศสมาชิกในการขจัดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติโดยอาศัยความแตกต่างทางชาติพันธุ์และสีผิว ทั้งนี้ ข้อบังคับดังกล่าวยังส่งเสริมหลักการสำคัญ ได้แก่ สิทธิของบุคคลที่จะถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (Right to equality before the law) และคุ้มครองบุคคลจากการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Protection against discrimination) นอกจากข้อบังคับดังกล่าวได้กล่าวถึงหลักการขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวยังสนับสนุนให้ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงาน (Employment) และการศึกษา (Education) อีกด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองบุคคลจากการเลือกปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับอันเป็นส่วนหนึ่งของการบริการด้านการศึกษาและมีการจ้างแรงงานภายในสถาบันดังกล่าวด้วย
[3.2] ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการบัญญัติกฎหมายเพื่อการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในด้านการจ้างแรงงานและการทำงาน (Council Directive 2000/78/EC establishing a general framework for equal treatment in employment and occupation)[28]
ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการบัญญัติกฎหมายเพื่อการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในด้านการจ้างแรงงานและการทำงานได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการต่อต้านการเลือกปกิบัติที่อาศัยหลักการพื้นฐานทางด้านเสรีภาพ (Liberty) ประชาธิปไตย (Democracy) การเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Respect for human rights and fundamental freedoms) และหลักนิติธรรม (Rule of law) มาบัญญัติเป็นข้อบังคับเพื่อให้ประเทศสมาชิกอนุวัตรการข้อบังคับดังกล่าวให้กลายเป็นกฎหมายภายในประเทศในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานและตลาดแรงงาน ดังนั้น การจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพต่างๆ จึงต้องถูกปฏิบัติโดยอาศัยพื้นฐานของความเท่าเทียมเพื่อให้ทุกคนได้สามารถอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในสังคมแรงงานในสหภาพยุโรปและขจัดการอาศัยเหตุแห่งเพียงความแตกต่างด้าน อายุ เพศ ความพิการ ความเชื่อ สีผิวและชาติพันธุ์มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบุคคลที่อยู่ในสังคมแรงงาน
นอกจากข้อบังคับดังกล่าวยังได้สร้างหลักการทั่วไปในการคุ้มครองแรงงานและการทำงานแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวยังได้กำหนดกลไกอื่นๆ ในการเยี่ยวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติ (Effective remedies in the event of discrimination) อันเป็นทางเลือกในการสร้างความเสมอภาคและความสงบสุขในสังคมแรงงาน เช่น การเสริมมาตรการในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางแรงงาน (Justice procedure) และการเสริมมาตรการในการเข้าถึงกระบวนการประนีประนอมทางแรงงานในลักษณะต่างๆ (Conciliation procedures) เป็นต้น
ดังนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในรัฐสมาชิกที่อนุวัตรการกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้เป็นกฎหมายของตนอาจได้ประโยชน์จากการอนุวัตรการข้อบังคับในกรณีการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานภายในมหาวิทยาลัย อันเป็นการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นแรงงานในสังคมแรงงานให้มีโอกาสได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติของหน่วยงานต้นสังกัดหรือผู้บังคับบัญชาโดยอาศัยเหตุแห่งเพียงความแตกต่างทางด้าน อายุ เพศ ความเชื่อ ชาติพันธุ์ สีผิวและความพิการทางกาย มาเลือกปฏิบัติหรือตัดโอกาสทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
[3.3] ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักความเท่าเทียมระหว่างเพศในการเข้าถึงสินค้าและบริการ (Council Directive 2004/113/EC implementing the principle of equal treatment between men and women in the access to and supply of goods and services)[29]
ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักความเท่าเทียมระหว่างเพศในการเข้าถึงสินค้าและบริการเป็นข้อบังคับที่ว่าด้วยการห้ามการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศชายและหญิงในการเข้าถึงสินค้าและบริการจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดให้ประชาชนในรัฐสมาชิกสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ให้บริการ ซึ่งในกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมทางเพศนอกจากในเรื่องของแรงงาน (Equal treatment for men and women outside the labour market) ที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพศชายและเพศหญิงต้องได้รับการปฏิบัติหรือได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากการขายสินค้าหรือการบริการต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น การเลือกปฏิบัติทางตรง การเลือกปฏิบัติทางอ้อม การล่วงละเมิดในกรณีทั่วไป และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
แม้ว่าข้อบังคับดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดให้บังคับใช้โดยตรงด้านการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ข้อบังคับต่างๆอาจส่งผลต่อมหาวิทยาลัยในฐานะที่ต้องปฏิบัติทางด้านการค้าขายและการให้บริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหรือการให้บริการอื่นๆ ที่สนับสนุนทางการศึกษา เช่น การให้บริการสถานออกกำลังกายโดยเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถสมัครสมาชิกได้ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เป็นต้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยจำต้องคำนึงถึงบทบาทของตนในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการหรือผู้ขายสินค้าที่นอกเหนือไปจากภารกิจหลักในด้านการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิง
[3.4] ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการจ้างแรงงานและอาชีพ (Council Directive 2006/54/EC on the implementation of the principle of equal opportunities and equal treatment of men and women in matters of employment and occupation)[30]
สหภาพยุโรปได้กำหนดข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการอนุวัตรการหลักความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการจ้างแรงงานและอาชีพเพื่อสร้างแนวทางในการอนุวัตรการหลักความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงในตลาดแรงงาน (Gender equality in the labour market) โดยห้ามเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเงื่อนไขด้านเพศมากำหนดการจ้างงานและสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น การรับบุคคลเข้าทำงาน การเลิกจ้าง การฝึกอบรม และการเลื่อนขั้น เป็นต้น นอกจากนี้ นายจ้างไม่อาจเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนโดยอาศัยความแตกต่างทางเพศมาเป็นตัวกำหนดฐานเงินเดือนหรืออัตราเงินเดือนอีกด้วย
ดังนั้น มหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัดของบุคลกรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ควรตระหนักถึงหลักความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการจ้างแรงงานและอาชีพเพื่อเสริมสร้างบรรทัดฐานที่ดีในสังคมแรงงาน เช่น มหาวิทยาลัยไม่อาจอ้างเหตุจากการลาคลอดบุตรของพนักงานธุรการหญิงในการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานผู้นั้นให้แตกต่างจากคนอื่น เป็นต้น
[4] มองนโยบายและกฎหมายสหภาพยุโรปเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การก้าวจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN) ไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 ย่อมเปิดเสรีในทุกๆ ด้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยผลที่ตามมาจากการเปิดเสรีอาเซียน ได้แก่ การเปิดเสรีภาพภายใต้กรอบความร่วมมือในทุกๆด้านก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน (Freedom of movement) และการเปิดเสรีภาพในการศึกษา (Freedom of education) ให้กับประชาชนในกลุ่มประชาคมอาเซียน ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการที่เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการและเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมการศึกษาและการเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียนภายใต้การเปิดเสรีอาเซียน
ดังนั้น การเปิดเสรีภาพทางการศึกษาและเสรีภาพด้านอื่นๆ ภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ย่อมทำให้มีผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเดินทางและไปมาหาสู่ระหว่างประเทศได้ ทั้งในระยะสั้นเพื่อทำวิจัยหรือศึกษาเรียนรู้ในโครงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการ และในระยะยาวเพื่อศึกษาหาความรู้ในหลักสูตรต่างๆ ภายใต้กรอบแนวคิดความร่วมมือของประชาคมอาเซียนที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งรับไปปฏิบัติ ซึ่งการเปิดเสรีภาพทางการศึกษาจากการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนย่อมทำให้ประชาชนของประเทศในกลุ่มประชาคม มีเสรีภาพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น เช่น การให้สิทธิในการขอหนังสือเดินทางระยะสั้นสำหรับคนชาติอาเซียนสำหรับการอำนวยความสะดวกการออกวีซ่าและการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานมีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอาเซียน เป็นต้น[31]
การเปิดเสรีภาพทางการศึกษาจากการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนย่อมทำให้ประชาชนของประเทศในกลุ่มประชาคม มีเสรีภาพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ย่อมทำให้มีประชาชนทางการศึกษาจากหลายเชื้อชาติและหลายวัฒนธรรมในประชาคมอาเซียนเดินทางและไปมาหาสู่ระหว่างประเทศมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความหลากหลาย (Diversity) ของประชาชนในประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียน เช่น อายุ ความพิการ เพศ ศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาในประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียนอาจเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแล้ว การศึกษาของประเทศในกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียน ภายหลังจากปี พ.ศ. 2558 ยังต้องส่งเสริมการศึกษาบนฐานแห่งความหลากหลายของประชาชนในประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย เพื่อสอดรับกับการเปิดเสรีระหว่างประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ที่สนับสนุนการศึกษา
จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ประชาคมอาเซียนในอนาคตจึงควรกำหนดนโยบายหรือกรอบความร่วมมือ ที่สอดรับกับการเปิดเสรีภาพทางการศึกษาและเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อรองรับความหลากหลาย (Diversity) ที่แตกต่างกันของประชาชนในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนด้านต่างๆ เช่น อายุ ความพิการ เพศ ศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น อันอาจส่งผลดีต่อการพัฒนาความร่วมมือในการศึกษาและสามารถสร้างบุคคลกรที่มีศักยภาพรองรับการแข่งขันระหว่างภูมิภาคที่ต้องอาศัยบุคคลากรทางการศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาที่ชำนาญและเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนศึกษา โดยนโยบายหรือกรอบความร่วมมือที่ประชาคมอาเซียนด้านการศึกษาที่อาจถูกกำหนดขึ้นในอนาคต ควรมีการป้องกันและบรรเทาผลร้าย ที่อาจเกิดขึ้นมากจากความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติ ต่อนักศึกษาหรือบุคลากรมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ด้วยเหตุจากลักษณะของความหลากหลายของแต่ละบุคคล เช่น อายุ เพศ สีผิว เชื้อชาติ ความพิการและรสนิยมทางเพศ เป็นต้น
[5] บทสรุป
ดังนั้น นโยบายหรือกรอบความร่วมมือที่ประชาคมอาเซียนด้านการศึกษาที่อาจถูกกำหนดขึ้นในอนาคต ควรมีการกำหนดมาตรการการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกประชาคม ในการป้องกันและบรรเทาผลร้าย ที่อาจเกิดขึ้นมากจากความหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรประเภทต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษา อันอาจนำมาซึ่งปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติ ต่อนักศึกษาหรือบุคลากรมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุจากลักษณะของความหลากหลายของแต่ละบุคคล เช่น อายุ เพศ สีผิว เชื้อชาติ ความพิการและรสนิยมทางเพศ เป็นต้น
เป้าหมายที่สำคัญในการสร้างนโยบายหรือกรอบความร่วมมือของสหภาพยุโรปด้านการต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อบุคลากรทางการศึกษาหรือนักศึกษาที่ประกอบด้วยความหลากหลายของแต่ละบุคคลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นแนวทางที่สำคัญประการหนึ่งที่ประชาคมอาเซียนสามารถดำเนินหรือรับเอาแนวความคิดตามกรอบแนวคิดหรือนโยบายต่างๆ ของสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนอาจคำนึงถึงข้อบกพร่องหรือจุดด้อยของนโยบายและกฎหมายสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษามาเรียนรู้และศึกษา เพื่อปรับปรุงนโยบายและกรอบแนวทางการปฏิบัติระหว่างประเทศสมาชิกให้ดีมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากในอนาคตชาติสมาชิกประชาคมอาเซียนสามารถสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมการศึกษาได้แล้ว ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อความร่วมมือระดับประชาคมด้านอื่นๆด้วย เช่น การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น เพราะเมื่อคนเรามีความเท่าเทียมกันมาจากรากฐานของสังคมการศึกษาที่เท่าเทียมแล้ว ก็ย่อมพร้อมเปิดใจยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างของผู้อื่น อันนำมาซึ่งประโยชน์ในการร่วมกันพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนและสร้างความสามัคคีในระดับประชาคมต่อไปในอนาคต
[2] ในปัจจุบัน การที่สหภาพยุโรปได้เปิดเสรีภาพในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเสรีภาพในการเดินทาง ทำให้เปิดโอกาศให้กับประชาชนในการเดินทางเพื่อมาศึกษายังต่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปได้จัดให้มีโครงการมอบทุนสนับสนุนการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น ทุน Erasmus Mundus ที่สนับสนุนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เป็นต้น
[3] Pobjoy, J. and Spencer, S., ‘ Equality for all? The relationship between immigration status and the allocation of rights in the United Kingdom’, European Human Rights Law Review, 2012, 2, 160 - 175.
[4] Adam, S. and Elsuwege, P.V., ‘ Case Comment Citizenship rights and the federal balance between the European Union and its Member States: Comment on Derci’, European Law Review, 2012, 37 (2), 176 - 190.
[5] Gearty, C., ‘ Is attacking multiculturalism a way of tackling racism - or feeding it? Reflections on the Government’s Prevent Strategy’, European Human Rights Law Review, 2012, 2, 121 - 129.
[6] Waddington, L., ‘ Future prospects for EU equality law: lessons to be learnt from the proposed Equal Treatment Directive’, European Law Review, 2011, 36 (2), 163 - 184.
[7] O’ Brien, C., ‘ Equality’s false summits: news varieties of disability discrimination, excessive equal treatment and economically constricted horizons’, European Law Review, 2011, 36 (1), 26 - 50.
[9] European Commission, Communication from the Commission to the European Parliament, the Council, the European Economic and Social Committee and the Committee of the Regions Supporting growth and jobs - an agenda for the modernisation of Europe's higher education systems, European Commission, Brussels, 2011, p 2.
[11] European Commission, Accompanying document to the Communication "Supporting growth and jobs: an agenda for the modernisation of Europe's higher education systems", European Commission, Brussels, 2011, p 4.
[13] Council conclusions of 11 May 2010 on the internationalization of higher education (2010/c 135/04)
[14] โปรดดู Agree that ข้อ 4 ใน Council conclusions of 11 May 2010 on the internationalization of higher education (2010/c 135/04)
[15] Commission of the European Communities, Report on progress in quality assurance in higher education, European Commission, Brussels, 2009, p 2.
[17] Council of the European Union, Report on the Council Resolution of 23 November 2007 on Modernising Universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy, Council of the European Union, Brussels, 2008, p 2.
[18] Council of the European Union, Accompanying document to the report on the Council Resolution of 23 November 2007 on Modernising Universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy, Council of the European Union, Brussels, 2008, p 2.
[20] Council of the European Union, Modernising universities for Europe's competitiveness in a global knowledge economy, Council of the European Union, 2007, Brussels, p 2.
[21] Council of the European Union, Delivering on the modernisation agenda for universities: education, research and innovation, Council of the European Union, 2006, Brussels, p 2.
[22] Recommendation of the European Parliament and of the Council of 15 February 2006 on further European cooperation in quality assurance in higher education (2006/143/EC)
[23] European Commission, From Bergen to London - The contribution of the European Commission to the Bologna Process, European Commission, Brussels, 2007, p 2.
[24] Commission of the European Communities, Communication from the Commission Mobilising the brainpower of Europe: enabling universities to make their full contribution to the Lisbon Strategy, European Commission, Brussels, 2007, p 2. และ Resolution of the Council and of the Representatives of the Governments of the Member States, meeting within the Council, on mobilising the brainpower of Europe: enabling higher education to make its full contribution to the Lisbon Strategy (2005/C 292/01)
[25] Commission of the European Communities, The role of the universities in the Europe of knowledge, European Commission, Brussels, 2003, p 14.
[26] Commission of the European Communities, Strengthening cooperation with third countries in the field of higher education, European Commission, Brussels, 2001, p 4.
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|