หน้าแรก บทความสาระ
ความเสมอภาคและความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 ของอังกฤษ
อาจารย์ ดร. ชวนิดา สุวานิช ค.บ. (เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา) กศ.ม. (เทคโนโลยีการศึกษา) กศ.ด. (เทคโนโลยีการศึกษา) อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. น.ม. (กฎหมายมหาชน) นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร
20 พฤษภาคม 2555 23:03 น.
 
[1] ความนำ
       สภาพก่อนปี ค.ศ. 2010 ประเทศอังกฤษประสบปัญหาหลายประการที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม อันส่งผลและก่อให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติ (discrimination) และการล่วงละเมิด (harassment) จากองค์กรหรือบุคคลที่มีสถานะภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่าต่อประชาชนหรือผู้ที่มีสถานะภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า เช่น การเลือกปฏิบัติของสถาบันการศึกษาต่อนักศึกษาเฉพาะกลุ่มหรือบุคคล เป็นต้น ซึ่งการเลือกปฏิบัติหรือการล่วงละเมิดย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       ดั้งนั้น ในปี ค.ศ. 2010 ประเทศอังกฤษได้บัญญัติกฎหมาย Equality Act 2010 อันเป็นมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดกลยุทธ์และมาตรการในการลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-economic inequalities) เช่น การกำหนดมาตรการในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานเพศชายและหญิง เป็นต้น โดยมาตรการที่กฎหมาย Equality Act 2010 กำหนด ก็เพื่อสร้างกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำที่ไม่ยุติธรรมและขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มความเสมอภาคของประชาชนหรือองค์กรเอกชนในการได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐหรือก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม
       นอกจากกฎหมาย Equality Act 2010 จะสร้างกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้เสริมสร้างวิธีการและกำหนดมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติภายในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education Institutions) โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดมาตรการที่ส่งผลกระทบโดยตรง (direct implications) ต่อสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของอังกฤษขจัดการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิดในลักษณะต่างๆ จากสถาบันอุดมศึกษาต่อนักศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาต่อบุคลากรทางการศึกษา เช่น พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลที่ตามมาจากการสร้างกลไกในการเสริมสร้างวิธีการและกำหนดมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติภายในสถาบันอุดมศึกษา ก็เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่แป็นธรรมต่อนักศึกษาหรือบุคลากรทางการศึกษาที่อาจมีความหลากหลาย (diversity) ที่อาจก่อให้เกิดเงื่อนไขที่อาจได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในการเลือกปฏิบัติจากลักษณะของบุคคลที่มีความแตกต่างในด้านต่างๆ (characteristics) เช่น อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรสระหว่างศึกษา การตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา การเหยียดผิว ศาสนา ความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ เป็นต้น
       ดังนั้น บทความฉบับนี้เขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความเสมอภาคและความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 โดยกฎหมายของอังกฤษดังกล่าวได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะอันอาจส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยและสามารถกำหนดเป็นแนวทางในการสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมจากความหลายหลายของลักษณะนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยในอนาคต
       [2] ความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในอังกฤษ
       สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศอังกฤษประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เช่น ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน และนักศึกษา เป็นต้น ที่คอยขับเคลื่อนให้การบริหารการศึกษาและธรรมาภิบาลการศึกษาสามารถดำเนินไปได้ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่างๆ ย่อมประกอบไปด้วยความหลากหลายตามลักษณะเฉพาะของบุคคล (Specific characteristic diversity) ที่ประกอบด้วยความหลากหลายทั้งในเรื่องของอายุ ความพิการทางกาย เพศ ความเชื่อ และศาสนา เช่น การเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ (discrimination because of pregnancy) เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษยังประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี อันมีที่มาจากเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน (freedom of movement) ของบุคคลากรทางการศึกษาที่สามารถประกอบอาชีพทางการศึกษาระหว่างประเทศและเสรีภาพในการเข้ามาศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาต่างชาติ ทั้งนี้ เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของบุคคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาทำให้เกิดผลดีหลายประการต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ กล่าวคือ เป็นการนำรายได้และเงินตราเข้าประเทศจากการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของนักศึกษาระดับต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาและการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ดี ความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาอันมีที่มาต่างกัน อาจทำให้ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมได้ เช่น ปัญหาการเหยียดผิวและปัญหาในการเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ เป็นต้น
       ดั้งนั้น ความหลากหลายทางอายุ ความพิการทางกาย เพศ ความเชื่อ และศาสนาของบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐควรได้รับการขจัดและป้องกันการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยของรัฐอันเป็นต้นสังกัดของบุคลากรทางการศึกษาและเป็นสถาบันที่นักศึกษากำลังศึกษาอยู่ โดยกระบวนการในการสร้างกลไกและกระบวนการเพื่อขจัดและป้องกันการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยควรถูกกำหนดในนโยบายทางการศึกษาของหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาว่าจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากความหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม
       [3] ความเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในอังกฤษ
       ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษประกอบด้วยผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตนหลากหลาย (Variety of characteristics) โดยผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตนหลากหลายดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น หากกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษหรือเข้าร่วมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของอังกฤษ ย่อมกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันถือเป็นการศึกษาขั้นสูง (Higher education) ของอังกฤษ ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะตนหลากหลายของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของอังกฤษ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอายุ ความพิการทางกาย เพศ ความเชื่อ และศาสนา ล้วนย่อมมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติทางกายของมนุษย์และความชอบหรือความศรัทธาในส่วนตน
       จากความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รัฐบาลอังกฤษจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปที่มีมีลักษณะเฉพาะตนหลากหลาย ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการศึกษาของรัฐ อันทำให้ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะหรือกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันหรือได้รับการบริการสาธารณะทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันภายใต้หลักเกณฑ์และข้อบังคับจากภาครัฐฉบับเดียวกัน โดยมหาวิทยาลัยของรัฐและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่สามารถเลือกปฏิบัติโดยปราศจากหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่รัฐได้กำหนดไว้ในเรื่องความเสมอภาคของประชาชนได้
       ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว นโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและประชาชนของรัฐผู้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมโดยไม่คำนึงถึงลักษณะเฉพาะตนหลากหลาย เช่น อายุ ความพิการทางกาย เพศ ความเชื่อ และศาสนา เป็นต้น[1] จึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันและความผูกพันว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยของรัฐต้องไม่กระทำการใดๆที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคของประชาชนและบทบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติเฉพาะ อาจต้องได้รับโทษตามที่มาตรการทางกฎหมายเฉพาะนั้นได้บัญญัติไว้
       ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงมีความจำเป็นในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อสร้างมาตรการเฉพาะในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ (Anti-discrimination) นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังต้องกำหนดขอบเขตของการกระทำหรือพฤติกรรมที่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย (Unlawful discrimination) ด้วย เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้ปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายเฉพาะและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังต้องออกกฎและข้อบังคับของสถาบันทางการศึกษาที่ไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการทางกฎหมายเฉพาะดังกล่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างหลักประกันให้กับพนักงานของมหาวิทยาลัยในระดับต่างๆและนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสถาบันการศึกษาของรัฐ ฉะนั้น การบัญญัติแนวคิดในการบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐก็เพื่อสร้างกลไกในการกำหนดลักษณะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง (protected characteristics)[2] เช่น อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรสระหว่างศึกษา การตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา การเหยียดผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ เป็นต้น[3]
       [4] กฎหมาย Equality Act 2010 กับความเสมอภาคและความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
       โดยสภาพก่อนปี 2010[4] กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายและความเสมอภาคของอังกฤษมีมากมายหลายฉบับกระจัดกระจายกันอยู่ เช่น กฎหมาย Equal Pay Act 1970 กฎหมาย Sex Discrimination Act 1975 และกฎหมาย Disability Discrimination Act 1995 เป็นต้น[5]  ทั้งนี้ การกระจัดกระจายของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและความหลายหลายของประชาชนเป็นสาเหตุให้การเข้าถึงกฎหมายของประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่สามารถรวบรวมกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน (harmonization) า เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมและคุ้มครองความหลากหลายจากหลายกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การกีดกันทางเพศ การเลือกปฏิบัติจากสีผิว ความเท่าเทียมในการจ้างงาน และรสนิยมทางเพศ เป็นต้น[6]
       ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ในปี 2010 รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมาย Equality Act 2010 อันเป็นบทบัญญัติที่ประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญในการรวบรวมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบทพื้นฐานของความหลายหลายความหลากหลายตามลักษณะของบุคคลที่มีความแตกต่างกันในด้านอายุ เพศ ความพิการทางกาย สีผิว ศาสนาและความเชื่อ[7] โดยความแตกต่างดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลที่อาจทำให้ประชาชนถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนอันถือเป็นการเปิดโอกาศให้มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากความหลากหลายตามลักษณะของบุคคล[8]
       [4.1] วัตถุประสงค์ของกฎหมาย Equality Act 2010
       กฎหมาย Equality Act 2010 มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่มุ่งเน้นการรวม (Harmonise) มาตรการทางกฎหมายในการต่อต้านการกีดกันและการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆเข้าไว้ด้วยกันและการเสริมสร้าง (Strengthen) มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเสริมสร้างความเท่าเที่ยมด้านสิทธิ เสรีภาพและโอกาศทางสังคมให้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องกำหนดแนวทางและแสวงหามาตรการเพื่อสอดรับกับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในทุกกรณี เช่น การบริการสาธารณะ การจ้างแรงงาน การศึกษาและการสมาคม เป็นต้น[9]
       โดยกฎหมายดังกล่าวได้ กำหนดลักษณะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรสระหว่างศึกษา การตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา การเหยียดผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และการแสดงออกทางเพศ เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรม (Unfair treatment) ที่กฎหมายได้กำหนดไว้[10] เช่น การห้ามเลือกปฏิบัติโดยตรงและทางอ้อม (Prohibits direct and indirect discrimination) การห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการทางกาย (Prohibits discrimination arising from a disability) และการห้ามล่วงละเมิด (Prohibits harassment) เป็นต้น[11]
       [4.2] สาระสำคัญของกฎหมาย Equality Act 2010 ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
       กฎหมาย Equality Act 2010 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2010 โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดมาตรการในการต่อต้านการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ (anti-discrimination)[12] โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อก่อให้เกิดธรรมาภิบาลทางการศึกษาอันนำมาซึ่งการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อสังคมทางการศึกษาที่ประกอบไปด้วยบุคลากรและนักศึกษาอันมีที่มาจากหลากหลายหรือมีลักษณะของบุคคลที่แตกต่างกันออกไป
       ทั้งนี้ กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 4[13] ได้กำหนดลักษณะของบุคคลที่กฎหมายได้คุ้มครองความหลากหลายของบุคคลที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะต่างๆ เสมอภาคกันภายใต้กฎหมายและการปฏิบัติโดยปราศจากการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยของรัฐหรือบุคคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้แก่ อายุ (age) ความพิการทางกาย (disability) การแปลงเพศ (gender reassignment) การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ (marriage and civil partnership) การตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร (pregnancy and maternity) สีผิว (race) ศาสนาและความเชื่อ (religion or belief)[14] เพศ (sex) รสนิยมทางเพศ[15] (sexual orientation)
       ฉะนั้น กิจกรรมบริการสาธารณะด้านการศึกษาและกิจกรรมทางธุรกิจที่จัดโดยมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศอังกฤษล้วนต้องเป็นไปตามกฎหมาย Equality Act 2010 กล่าวคือ การให้บริการทางการศึกษาให้แก่นักศึกษา การจ้างแรงงานภายใต้แรงงานสัมพันธ์[16] การให้บริการประเภทต่างๆแก่นักศึกษา ล้วนแล้วแต่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและปราศจากการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ภายใต้หลักเกณฑ์ในการห้ามปฏิบัติ (prohibited conduct) ที่กฎหมายฉบับนี้ได้วางหลักเอาไว้
       [4.2.1] หลักเกณฑ์ทั่วไปในการห้ามเลือกปฏิบัติ (Prohibited Conduct)[17]
       [4.2.1.1] การเลือกปฏิบัติทางตรง (Direct discrimination)
       กฎหมาย Equality Act 2010 ได้กำหนดเรื่องของการเลือกปฏิบัติโดยตรงใน มาตรา 13[18] โดยมาตราดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการเลือกปฏิบัติโดยตรง กล่าวคือ หากหน่วยงานใดหรือบุคคลใดเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยการเลือกปฏิบัติดังกล่าวต้องเข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้น้อยกว่ามาตรฐานหรือด้อยมาตรฐานกว่าที่พึ่งปฏิบัติต่อบุคคลทั่วไป ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้น้อยกว่ามาตรฐานหรือด้อยมาตรฐานกว่าที่พึ่งปฏิบัติต่อบุคคลทั่วไป โดยคำนึงถึงลักษณะของบุคคลที่กฎหมายได้คุ้มครองความหลากหลายของบุคคลที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะต่างๆ ทางด้าน อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ การแสดงออกทางเพศ เช่น การปฏิเสธไม่ให้นักศึกษาผู้พิการทางกาย เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นและการปฏิเสธไม่ให้พนักงานมหาวิทยาลัยอาวุโสไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมเพิ่มพูนทักษะทางคอมพิวเตอร์ โดยเปิดโอกาสให้เพียงพนักงานมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่เข้าอบรมเท่านั้น เป็นต้น
       นอกจากนี้ การเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 อาจแบ่งได้เป็นสามกรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีแรก การเลือกปฏิบัติโดยอาศัยพื้นฐานของความสัมพันธ์ (discrimination based on association) กล่าวคือ การเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเงื่อนไขของความผิดพลาดหรือความบกพร่องของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลผู้ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่มีบุตรวัยเด็กเข้าร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร เพียงเพราะเกรงว่าเด็กจะมีพฤติกรรมซุกซนหรือส่งเสียงดังในขณะดำเนินพิธีประสาทปริญญาบัตร เป็นต้น กรณีที่สอง การเลือกปฏิบัติโดยอาศัยความเข้าใจส่วนตน (discrimination based on perception) กล่าวคือ การเลือกปฏิบัติจากการอาศัยความเข้าใจส่วนตนหรือคาดเดาว่าบุคคลอื่นจะมีพฤติกรรมเป็นเช่นที่ตนคาดการณ์ และเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นโดยอาศัยความเข้าใจส่วนตนมาประกอบการเลือกปฏิบัติ เช่น การที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะร่วมงานหรือประสานงานกับนักศึกษาคนหนึ่ง เพียงเพราะคิดว่านักศึกษาคนนั้นเป็นผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (gay) เป็นต้น กรณีสุดท้าย การเลือกปฏิบัติจากลักษณะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองสองลักษณะขึ้นไป (combined discrimination หรือ dual protected characteristics) กล่าวคือ กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 14[19] ได้กำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติจากลักษณะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองสองลักษณะขึ้นไป เช่น การเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ให้ได้รับการเลื่อนขึ้นหรืออัตราเงินเดือน เพียงเพราะพนักงานมหาวิทยาลัยคนนั้นเป็นเพศหญิงและมีผิวดำ อันถือเป็นพฤติกรรมการเหยียดเพศและเหยียดผิว (combination) ในคราวเดียวกัน
       [4.2.1.2] การเลือกปฏิบัติทางอ้อม (Indirect discrimination)
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 19[20] ได้วางหลักเกณฑ์การเลือกปฏิบัติทางอ้อม กล่าวคือ แม้จะเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นกลาง (neutral) ในการกระทำต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี การปฏิบัตินั้นอาจเป็นการกระทบสิทธิทางอ้อมของผู้ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น แม้ว่ามหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนมาช่วยงานในเวลาพิเศษนอกเหนือจากเวลาทำงานทั่วไปทุกคน แต่คำสั่งดังกล่าวของทางมหาวิทยาลัยอาจไปกระทบสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยเพศหญิงและกำลังเลี้ยงดูบุตรวัยเด็กทางอ้อม เป็นต้น
       [4.2.1.3] การล่วงละเมิด (Harassment)
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 19[21] ได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการล่วงละเมิดในลักษณะต่างๆ อันอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ถูกละเมิดจากความหลากหลายหรือความแตกต่างของบุคคลหรือลักษณะเฉพาะของบุคคลแต่ละคนที่ควรได้รับการคุ้มครองและถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ การล่วงละเมิดภายใต้กฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วยการล่วงละเมิด เช่น การล่วงละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมโดยมุ่งหรือก่อให้เกิดผลกระทบจากการข่มขู่ การอาฆาต ทำให้อับอาย การปิดโอกาสไม่ให้มีการร้องทุกข์ การล่วงละเมิดต่อผู้ร้องเรียน และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
       จะเห็นได้ว่า กฎหมาย Equality Act 2010 มุ่งประสงค์จะคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดในลักษณะที่แตกต่างกันเพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันภายใต้ความหลากหลายของผู้คนในสังคม ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงต้องปฏิบัติกฎหมายดังกล่าว ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องกระทำการไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายฉบับดังกล่าว เช่น อาจารย์ไม่สามารถล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาได้หรืออาจารย์ไม่สามารถกล่าวเรื่องที่ส่อไปในทางเพศต่อนักศึกษาได้ อันถือเป็นการล่วงละเมิดนักศึกษาในทางหนึ่ง เป็นต้น
       [4.2.1.4] การทำให้บุคคลอื่นตกเป็นเหยื่อ (Victimisation)
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 27[22] ได้ว่างหลักในเรื่องของการทำให้บุคคลอื่นตกเป็นเหยื่อจากการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันทางหนึ่งทางใด ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เคยมีประวัติในการยื่นเรื่องเพื่อตรวจสอบอาจารย์มหาวิทยาลัยในการปฏิบัติหน้าที่ท่านหนึ่ง กลับถูกกีดกันโอกาศทางการศึกษาและบริการต่างๆ จากอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านอื่น เพียงเพราะเคยมีประวัติดังกล่าว เป็นต้น
       [4.2.2] การรับนักศึกษาเข้าศึกษาและการปฏิบัติต่อนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Admission and treatment of students
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 91[23] ได้ว่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่กำลังจะสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (admission) ซึ่งกระบวนการในการรับนักศึกษาเข้าศึกษานอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของทางมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัดในการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย นอกจากในเรื่องของการรับนักศึกษาเข้าศึกษาแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องไม่เลือกปฏิบัติกับนักศึกษาในอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าถึงประโยชน์จากการบริการทางธุรการและบริการทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เช่น นักศึกษาที่ร่างกายปกติและนักศึกษาที่ร่างกายพิการ ก็สามารถเข้าใช้สถานที่ออกกำลังกายของสถาบันการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น
       [4.2.3] การจ้างแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Employment)
       แม้ว่าประเทศอังกฤษจะมีมาตรการทางกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่คุ้มครองการเลือกปฏิบัติภายในสถานที่ทำงานอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านๆมาของประเทศอังกฤษไม่ได้ขยายหลักการในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของลูกจ้าง (employees) ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ดังนั้น กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 39[24] และมาตรา 40[25] จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อขยายสิทธิและเสรีภาพของลูกจ้างให้ได้รับความเท่าเทียมกันในระบบแรงงานสัมพันธ์และปราศจากการเลือกปฏิบัติจากนายจ้างหรือระบบการบังคับบัญชาภายในองค์กร เช่น การกำหนดมาตรการลงโทษนายจ้างที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศแก่ลูกจ้างและการห้ามไม่ให้เลือกปฏิบัติในกรณีที่มีการพิจารณาการเลื่อนขั้นของลูกจ้าง เป็นต้น
       ทั้งนี้ นอกจากกฎหมายดังกล่าวคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันจากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชา กฎหมายดังกล่าวยังมุ่งประสงค์ที่คุ้มครองผู้สมัครเข้าทำงาน (Applicants) ในองค์กรของภาครัฐและเอกชนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ
       จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศอังกฤษต้องปฏิบัติตามกฎหมาย Equality Act 2010 เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนได้มีโอกาสได้รับการปฏิบัติในด้านการจ้างแรงงานจากมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างเท่าเทียม ในฐานะที่ตนเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้สัญญาจ้างปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย (contract worker) เช่น การได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัยล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
       [4.2.4] การบริการให้บริการสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกของทางมหาวิทยาลัย (University facility service)
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 29[26] ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐในฐานะผู้ให้บริการทางการศึกษาและบริการที่เกี่ยวข้อง (service-provider) ต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเที่ยมในเรื่องของการขอใช้หรือการใช้ประโยชน์จากบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นโดยปราศจากการกีดกันที่ไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของนักศึกษาและบุคลากรดังกล่าว เช่น การมีคำสั่งห้ามบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาคารดังกล่าว เข้าไปใช้งานภายในบริเวณอาคารดังกล่าว เป็นต้น
       [4.2.5] สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Premises)
       สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีหอพักหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เก็บค่าบริการจากนักศึกษาต้องเก็บค่าบริการจากการใช้บริการจากอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่ารายเดือน รายปีหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและใช้บริการค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น จากบุคลากรและนักศึกษาที่อาศัยและพักอยู่ในสิ่งปลูกสร้างของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (leasehold and commonhold) ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 36[27] ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นของรัฐที่มีฐานะเป็นผู้ดูแล (controller) อสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวโดยต้องไม่มีนโยบาย ข้อบังคับหรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เอารัดเอาเปรียบและเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษา
       [4.2.6] การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์นันทนาการ (Recreational facilities)
       กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 93[28] ได้ว่างหลักในเรื่องของการห้ามการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาที่ต้องการเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาหรืออุปกรณ์เพื่อการนันทนาการ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยได้รับความเสมอภาคและปราศจากการกีดกันโอกาสในการใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาหรืออุปกรณ์เพื่อการนันทนาการต่างๆ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องไม่กระทำการใดๆ อันถือเป็นการล่วงละเมิดในกรณีต่างๆ ต่อผู้ต้องการเข้าใช้บริการของสิ่งอำนวยความสะดวกทางการกีฬาและอุปกรณ์เพื่อการนันทนาการด้วย
       [4.2.7] หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ (Public sector equality duty)
       นอกจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศอังกฤษถือเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะทางการศึกษาแล้ว สถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติต่อประชาชนที่มาเข้ารับการศึกษาขั้นสูงในระดับอุดมศึกษาของอังกฤษหรือประชาชนที่กลายมาเป็นบุคลากรสายวิชาการหรือสายสนับสนุนของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบริการสาธารณะทางการศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป
       ด้วยเหตุนี้ กฎหมาย Equality Act 2010 มาตรา 149[29] กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันเพื่อให้ประชาชนได้รับความเท่าเทียม สามประการด้วยกัน ประการแรก หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดต่างๆ การทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อ และกรณีอื่นๆที่ต้องห้ามตามกฎหมายฉบับนี้ ประการที่สอง หน่วยงานของรัฐควรส่งเสริมความเท่าเทียมทางโอกาสของกลุ่มผู้มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชมรมนักศึกษาพิการทางสายตา กลุ่มนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชา เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสให้ได้รับบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมและได้รับการสนับสนุนให้ได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ประการสุดท้าย หน่วยงานของรัฐควรส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ที่มีลักษณะที่ได้รับความคุ้มครองกับบุคคลทั่วไป เช่น เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีกายพิการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับนักศึกษาทั่วไป เป็นต้น
       [4.3] ข้อพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010
       จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อาจเห็นได้ว่ากฎหมาย Equality Act 2010 ฉบับนี้ ได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้ปฏิบัติต่อนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและปราศจากการเลือกปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของการบริการสาธารณะทางการศึกษา การบริการนักศึกษาด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และการจ้างงานกับสวัสดิการแรงงานของบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมวิชาการและการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่อย่างไรก็ดี กฎหมาย Equality Act 2010 อาจมีข้อพิจารณาเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาภายใต้กฎหมายฉบับนี้
       [4.3.1] ความเสมอภาคด้านอายุ (Age Equality)
       ปัญหาความเสมอภาคด้านอายุภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 ก่อให้เกิดข้อพิจารณาทางกฎหมายที่สำคัญสองประเด็นที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น กรณีการต่ออายุการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายสนับสนุนภายในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ การที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศอังกฤษพิจารณาขยายเวลาเกษียณอายุงาน (retirement age extension) ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายสนับสนุนเป็น 65 ปี โดยเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาขยายเวลาปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการพิจารณาขยายเวลาปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ การที่พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการพิจารณาให้ต่ออายุหรือขยายระยะเวลาเกษียณอายุการปฏิบัติงานอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ดุลพินิจในการไม่ต่ออายุการปฏิบัติงานหรือเกษียณอายุการปฏิบัติงานที่มีอคติหรือไม่เป็นธรรม จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างปัญหาธรรมาภิบาลทางการศึกษาในกฎหมายอังกฤษประการหนึ่ง[30] เป็นต้น
       [4.3.2] ความเสมอภาคสำหรับผู้พิการ (Disability Equality)
       แม้ว่ากฎหมาย Equality Act 2010 ของอังกฤษส่งเสริมให้ผู้มีความพิการทางกายสามารถมีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลที่มีร่างกายปกติและสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ[31] แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวอาจประสบปัญหาในการนำไปปรับใช้หรือบังคับใช้ในการปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้านต่างๆ[32] ตัวอย่างเช่น การออกข้อบังคับให้นักศึกษาต้องส่งงานในรูปแบบของเอกสารที่เป็นกระดาษพิมพ์ (paper formats) และต้องนำงานดังกล่าวมาส่งที่มหาวิทยาลัยด้วยตนเอง อาจส่งผลกระทบต่อนักศึกษาที่มีลักษณะพิการทางกายอันเป็นอุปสรรคต่อการจัดพิมพ์รูปเล่มที่เป็นเอกสารและการเดินทางมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ปัญหากรจัดสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับนักศึกษาที่มีกายพิการหรือมีความบกพร่องทางกายหรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับบรรยากาศในการเรียนในระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้พิการ ย่อมสามารถสร้างหรือส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้สำหรับผู้พิการได้ แต่อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งในประเทศอังกฤษยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ สำหรับนักศึกษาที่พิการทางกาย เป็นต้น[33]
       [4.3.3] การแปลงเพศ (Gender Reassignment)
       มหาวิทยาลัยของรัฐจำต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาหรือบุคลากรที่ได้รับการแปลงเพศแล้วให้เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 ดังนั้น มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในอังกฤษจึงต้องปฏิบัติต่อผู้ที่ได้รับการแปลงเพศเสมือนกับบุคคลทั่วไป นอกจากนี้แล้ว มหาวิทยาลัยในอังกฤษควรพิจารณาลักษณะทางกายหรือสุขภาพของผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการแปลงเพศโดยการผ่าตัดแปลงเพศ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขออนญาตจากผู้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัยเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศ การลางานหรือลาศึกษาเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศ หรือการขอลาพักฟื้นเนื่องมาจากการผ่าตัดแปลงเพศย่อมสมควรได้รับการอนุญาตจากมหาวิทยาลัยในฐานะนายจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัและมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของนักศึกษาที่ต้องการแปลงเพศ
       [4.3.4] การตั้งครรภ์และการมีบุตร (Pregnancy and Maternity)
       นักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐในอังกฤษต้องไม่ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยภายใต้กฎหมาย Equality Act 2010 โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในอังกฤษไม่สามารถอ้างเหตุจากการตั้งครรภ์หรือการมีบุตรของนักศึกษาในการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาดังกล่าว ให้มีการปฏิบัติแตกต่างจากนักศึกษาทั่วไป นอกจากนี้ นักศึกษาที่ใกล้คลอดบุตร กำลังคลอดบุตรหรือกำลังพักฟื้นภายหลังกระบวนการคลอดบุตรเสร็จสิ้น ย่อมได้รับการอนุโลมหรือผ่อนปรนจากมหาวิทยาลัยในเรื่องการขาดสอบ (miss examinations) หรือกำหนดวันสุดท้ายของการส่งงานต่ออาจารย์ (coursework deadlines)
       [5] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       [5.1] บทสรุป
       จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อาจเห็นได้ว่ากฎหมาย Equality Act 2010 ที่กำหนดมาตรการเฉพาะในการขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในวงการศึกษาและส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกันและปราศจากการกีดกันที่อาจสร้างความเหลื่อมล้ำที่ไม่ยุติธรรมในวงการศึกษา เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยและนักศึกษาได้รับการปฏิบัติที่ดีภายใต้ธรรมาภิบาลการศึกษาและกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ผลที่ตามมาจากการสร้างกลไกในการเสริมสร้างวิธีการและกำหนดมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติภายในสถาบันอุดมศึกษา ก็เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่แป็นธรรมต่อนักศึกษาหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่ประกอบด้วยความหลากหลาย (diversity) อันอาจก่อให้เกิดเงื่อนไขที่อาจได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในการเลือกปฏิบัติจากลักษณะความแตกต่าง (characteristics) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรสระหว่างศึกษา การตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา การเหยียดผิว ศาสนา ความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ เป็นต้น
       ฉะนั้น การกำหนดมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติทางตรงหรือการเลือกปฏิบัติทางอ้อม ล้วนแล้วแต่อำนวยประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิของพนักงานมหาวิทยาลัยและนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัยมีเสรีภาพในการกระทำการต่างๆ ตราบเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและต่างๆ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การสร้างกระบวนการรับนักศึกษาที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติและการจ้างแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นธรรม เป็นต้น
       แม้กฎหมาย Equality Act 2010 บัญญัติในเรื่องของการสนับสนุนการปฏิบัติต่อความหลากหลายของบุคคลลักษณะต่างๆและความเสมอภาคจากการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยของรัฐหรือองค์กรของรัฐ แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีข้อพิจารณาในปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมและความเสมอภาคของพนักงานมหาวิทยาลัยและนักศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป เช่น การต่ออายุการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายสนับสนุนภายในมหาวิทยาลัยให้เกษียณอายุการปฏิบัติงานเป็น 65 ปี เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในอนาคต
       [5.2] ข้อเสนอแนะ
       แม้ว่าประเทศไทยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่วางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์และมีกฎหมายฉบับต่างๆ ในการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาการขาดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของประชาชนที่มีความแตกต่างหรือมีลักษณะเฉพาะในเรื่องของ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรสระหว่างศึกษา การตั้งครรภ์ระหว่างศึกษา การเหยียดผิว ศาสนา ความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ ที่ควรได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนในระดับต่างๆ
       ทั้งนี้ ปัญหาความเท่าเทียมและความเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษาของไทยยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการขจัดและแก้ไขในอนาคต เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติและสามารถทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ได้แก่ พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา สามารถศึกษาและปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นธรรมจากกฎหมายที่กำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมและการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นสังกัดในการทำงานและการศึกษา ตัวอย่างเช่น การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่อเวลาราชการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (สำหรับการต่อเวลาราชการ 65 ปี ประจำในแต่ละปีงบประมาณ) ที่อาจเกิดการใช้ดุลพินิจไม่ชอบธรรมจากคณะกรรมการประเมินภายในสถาบัน และการจำกัดสิทธิในการแสดงออกทางเพศหรือการเลือกปฏิบัติต่อรสนิยมทางเพศต่อนักศึกษาเพศที่สามหรือความพึงพอใจในเพศวิถีของตนตราบเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย เป็นต้น
       นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทยอาจมีบทบาทในการให้การศึกษาและความรู้ต่อนักศึกษานานาชาติระดับภูมิภาคอาเซียนและนักศึกษานานาชาติจากภูมิภาคต่างๆของโลก จากผลของการเปิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการศึกษาภายใต้แนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้น การให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาของประเทศไทย จึงควรปรับเปลี่ยนในเรื่องของการรองรับความหลากหลายของนักศึกษาที่มีเชื้อชาติและลักษณะเฉพาะของตนอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ให้สามารถได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเมื่อได้รับการบริการทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาของรัฐ
       

       
       

       

       [1] นอกจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแล้ว สถาบันการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาเช่นเดียวกัน โปรดดูเพิ่มเติมใน Department of Education, The Equality Act 2010, 26 April 2012, available online at www.education.gov.uk/aboutdfe/policiesandprocedures/equalityanddiversity/a0064570/the-equality-act-2010
       

       

       [2] Equality Act 2010, Chapter 1
       

       

       [3] Solanke, I., ‘Infusing the Silos in the Equality Act 2919 with Synergy’, Industrial Law Journal, (2011), 40 (4): 336.
       

       

       [4] แต่เดิมประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการเลือกปฏิบัติมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่การออกฎหมายฉบับแรก ได้แก่ กฎหมาย Race Relations Act 1965 โปรดดู Legislation, Equality Act 2010, Introduction, Background and summary, available online at http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2010/15/notes/division/2/1
       

       

       [5] ก่อนปี 2010 ประเทศอังกฤษได้บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติ (Domestic discrimination law) จำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ กฎหมาย Equal Pay Act 1970 กฎหมาย Sex Discrimination Act 1975 กฎหมาย Race Relations Act 1976 กฎหมาย Disability Discrimination Act 1995 กฎหมาย Employment Equality (Religion or Belief) Regulations 2003 กฎหมาย Employment Equality (Sexual Orientation) Regulations 2003 กฎหมาย Employment Equality (Age) Regulations 2006 กฎหมาย Equality Act 2006 และ กฎหมาย Equality Act (Sexual Orientation) Regulations 2007
       

       

       [6] Ghaiwal, S., ‘Equality Act 2010 - New legislative framework’, Health and Safety at Work Newsletter, 2010, 16 (10). 
       

       

       [7] Equality and Human Rights Commission, What equality law means for you as an education provider - further and higher education, Equality and Human Rights Commission, 2011, p 10.
       

       

       [8] นอกจากนี้ กฎหมาย Equality Act 2010 ยังเป็นกฎหมายที่อนุวัตรการมาจากข้อบังคับสหภาพยุโรปในเรื่องของการต่อต้านการเลือกปฏิบัติภายในประเทศสมาชิก (domestic discrimination)เช่น ข้อบังคับสหภาพยุโรป Council Directive 2000/43/EC implementing the principle of equal treatment between persons irrespective of racial or ethnic origin และข้อบังคับสหภาพยุโรป Council Directive 2000/78/EC establishing a general framework for equal treatment in employment and occupation เป็นต้น โปรดดูเพิ่มเติมใน UK Legislation, Equality Act 2010 Explanatory Notes Revised Edition  August 2010, UK Legislation, 2010, p 3.
       

       

       [9] Office of Disability Issues, Equality Act 2010 Guidance, Office for Disability Issues, London, p 4.
       

       

       [10] Kallitsantsi, M., ‘The Equality Act 2010: an update’, Construction Law, (2010), 21, 10.
       

       

       [11] National Council for Voluntary Organisations, Equality Act 2010 overview, available online at http://www.ncvo-vol.org.uk/advice-support/people-hr-employment/equality-act-2010-overview/equality-act-2010-overview 
       

       

       [12] UK Legislation, Equality Act 2010, Introduction, available online at  http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2010/15/introduction
       

       

       [13] Equality Act 2010 section 4
       

       

       [14] รวมไปถึงการเคารพสิทธิการไม่นับถือศาสนาของบุคคลอื่นด้วย (lack of belief)
       

       

       [15] ในบางตำราหรือเอกสารทางวิชาการเรียก ‘เพศวิถี’
       

       

       [16] Lawson, A., ‘Disability and employment in the Equality Act 2010: Opportunities Seized, Lost and Generated’, Industrial Law Journal, (2011), 40 (4): 359.
       

       

       [17] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Equality Challenge Unit, Equality Act 2010 Implications for higher education institutions, Equality Challenge Unit, 2010, p 5-13.
       

       

       [18] Equality Act 2010 section 13
       

       

       [19] Equality Act 2010 section 14
       

       

       [20] Equality Act 2010 section 19
       

       

       [21] Equality Act 2010 section 19
       

       

       [22] Equality Act 2010 section 27
       

       

       [23] Equality Act 2010 section 91
       

       

       [24] Equality Act 2010 section 39
       

       

       [25] Equality Act 2010 section 40
       

       

       [26] Equality Act 2010 section 29
       

       

       [27] Equality Act 2010 section 36
       

       

       [28] Equality Act 2010 section 93
       

       

       [29] Equality Act 2010 section 149
       

       

       [30] โปรดดูเพิ่มเติมในคดี the Heyday Case, Case C-388/07 R (The Incorporated Trustees of the National Council on Ageing (Age Concern England)) v Secretary of State for Business, Enterprise and Regulatory Reform[2009] IRLR 373 (ECJ) และโปรดดูคำพิพากษาเพิ่มเติมใน  Equality and Human Rights Commission, Age Regulations legal challenge (the 'Heyday' case), available online at http://www.equalityhumanrights.com/legal-and-policy/legal-updates/age-regulations-legal-challenge-the-heyday-case/
       

       

       [31] Butlin, F. S., ‘The UN Convention on the Rights of Persons with Disabilities: Does the Equality Act 2010 Measure up to UK International Commitments?’, Industrial Law Journal, 40 (4): 428.
       

       

       [32] Keen, S., ‘The Equality Act 2010: Disability discrimination’, New Law Journal, 160, 1331.
       

       

       [33] Easton, C., ‘Revisiting the law on website accessibility in the light of the UK’s Equality Act 2010 and the United Nations Convention on the Rights of Persons with Disabilities’, International Journal of Law and IT, 20 (1): 9.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544