หน้าแรก บทความสาระ
ความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (ตอนที่๒)
คุณเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕
6 พฤษภาคม 2555 23:47 น.
 
ตอนที่ ๒: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีที่ชาวบ้านเขาหม้อยื่นฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและเงิน
        
       บทความชิ้นนี้เป็นตอนที่ ๒ ต่อจาก ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
       จากกรณีที่ศาลปกครองพิษณุโลกออกนั่งพิพากษาคดีระหว่างนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี  กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  คณะกรรมการเหมืองแร่  อธิบดีกรมป่าไม้  องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ - ๕ ตามลำดับ และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕  ที่ผ่านมา โดยมีคำพิพากษาว่า “ให้เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘  ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑  โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒  ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก”[1]
                       ในกระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณาคดีและคำพิพากษามีการยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลในเวลาต่อมา
       คดีนี้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
       ๑. เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘
       ๒. เพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
       ๓. เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๐๒.๔/๑๓๙๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑
       ๔. ขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง ๕ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว
       ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่กรณีในฐานะผู้ร้องสอดโดยนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดีมีคำขอมาพร้อมคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว และมีคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ดังนี้
        ๑. ให้ระงับการดำเนินการใดในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาท
       ๒. ให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้
       ๓. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองและเสียงที่เกินมาตรฐานรบกวน ก่อความรำคาญต่อชาวบ้านและชุมชน อีกทั้งกำหนดไม่ให้ทำให้เกิดสารพิษเจือปนในน้ำใต้ดินและลำคลองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างร้ายแรง
                       แต่หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอในเรื่องการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้ว (โปรดดูบทความ ตอนที่ ๑: ความร่วมมือระหว่างบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในการทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา) ศาลได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปโดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี  ผู้ถูกฟ้องคดี และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม  เรียกเอกสาร  ตรวจสอบสถานที่การทำเหมืองและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ  ตั้งคณะกรรมการพยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ การชี้แจงและให้ถ้อยคำส่วนใหญ่ในชั้นนี้ยังคงถกเถียงวนเวียนอยู่ในประเด็นเดิม ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่ ๑ แล้ว  แต่ก็มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามา ดังนี้  
        
                       ประเด็นแรก - กพร. ให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขโดยลำพังตนฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. และ คชก.
                                       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒  คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้การเพิ่มว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้พิจารณาแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ได้แก้ไขแล้วเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงแผนผังโครงการทำเหมืองมีความเหมาะสม ไม่กระทบกับข้อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดและความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้ถือปฏิบัติแล้ว[2] 
                       มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[3] และโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ มีเนื้อหาในส่วนที่ระบุถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขเหมือนกัน คือ หากผู้ถือประทานบัตรมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมชนิดแร่ หรือการดำเนินงานที่แตกต่างจากที่เสนอไว้ในรายงานฯ จะต้องเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำเหมืองและการดำเนินงานในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประกอบกับมาตรการป้องกันผลกระทบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน[4]
       จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองย่อมส่งผลกระทบต่อข้อกำหนดในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดและความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ได้ บ้านเมืองจึงได้สร้างดุลอำนาจทางกฎหมายขึ้นมา ดังที่ปรากฏสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๖๗ และอีกหลายมาตราที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับ ดูแลหรือวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ทำการตรวจสอบเอกสารที่สำคัญร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือดีที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง วิธีการทำเหมือง เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมชนิดแร่ หรือการดำเนินงานอื่นใดที่แตกต่างจากที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ประเมินหรือคาดการณ์ไว้ขึ้นมาในภายหลัง
       แต่ กพร. กลับใช้อำนาจโดยพลการ ไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ ทั้งที่อีไอเอ และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ สผ. และ คชก. กำหนดเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนเพื่ออนุมัติให้ความเห็นชอบอีไอเอนั้น ล้วนเป็นเงื่อนไขบังคับให้ กพร. หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาสั่งอนุญาตประทานบัตร หรือต่อใบอนุญาตอื่นใดต้องปฏิบัติตาม โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย แต่ กพร. กลับไม่นำแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่งให้กับ สผ. ให้ความเห็นชอบก่อน ตามที่ระบุไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
        
                       ประเด็นที่สอง - การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ      
                                       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒  ให้การเพิ่มว่า กรณีการทำประชาคมหมู่บ้านตามที่ผู้ฟ้องคดี กล่าวอ้างนั้น เป็นการชี้แจงรายละเอียดโครงการของผู้ร้องสอดให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงผลดีหรือผลเสียและแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งความเห็นดังกล่าวจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕  มิใช่การขอความเห็นชอบหรือการทำประชามติ แม้ว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยมีเสียงข้างมากก็เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นเท่านั้น และการให้ความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ก็เป็นเพียงความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เช่นกัน ไม่มีผลผูกพันให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่นำความเห็นดังกล่าวมาประกอบเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น[5]  
                       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒  ให้การเพิ่มเติมในทำนองเดียวกันอีกว่า การประกาศคำขอประทานบัตรตามมาตรา ๔๙  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  การจัดทำประชาคมหมู่บ้านหรือการรับฟังความคิดเห็น  การขอความเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม มิใช่ว่าหากประชาชนเสียงข้างมากเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องถือตามแต่อย่างใด เนื่องจากการอนุญาตหรือไม่ต้องพิจารณาตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ นำความเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาส่วนหนึ่งเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ กำกับดูแลการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จึงมีเหตุอันสมควรที่จะออกประทานบัตรได้[6]
                       จากคำให้การของ กพร. ได้ทำให้เห็นทัศนคติที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐหน่วยงานหนึ่งว่ามีมุมมองต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นไร นั่นคือเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนมีสถานะเป็นเพียงความเห็นที่นำมากำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่เท่านั้น ซึ่งเป็นการให้บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงแค่ร่วมมือกับโครงการที่อยู่ระหว่างการให้ความเห็นชอบหรือได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัติในส่วนของกิจการเหมืองแร่ กพร. จะนำความเห็นของประชาชนไปกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่เอาไว้ในเงื่อนไขในการให้อนุญาตประทานบัตร  และในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอีไอเอ เนื่องจาก กพร. มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ด้วย  แต่หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ปรากฎสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา ๖๗ และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจะต้องประกอบด้วย ๕ ข้อเป็นอย่างน้อย คือ (๑) การให้ข้อมูลข่าวสาร  (๒) การรับฟังความคิดเห็น  (๓) ความเกี่ยวข้อง โดยให้ประชาชนร่วมเสนอแนะแนวทางที่นำไปสู่การตัดสินใจ (๔) ความร่วมมือ โดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนกับรัฐในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และ (๕) การเสริมอำนาจแก่ประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ 
         สิ่งที่น่าแปลกใจต่อท่าทีของ กพร. ที่เห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแค่ความเห็นประกอบเงื่อนไขอนุญาตให้ประทานบัตร และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่บรรจุอยู่ในอีไอเอที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็คือ กพร. ให้การต่อศาลว่าได้นำความเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่ทำไม กพร. จึงให้ความเห็นชอบกับแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขโดยพลการฝ่ายเดียวได้โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเห็นของประชาชนที่ กพร. นำมากำหนดไว้ในมาตราการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ข้อหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ. ด้วย 
       ประเด็นความสงสัยจึงมาจบอยู่ตรงที่ว่า แท้จริงแล้ว กพร. ให้ความสำคัญต่อความเห็นของประชาชนในขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตรงไหนบ้างหรือไม่  สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือในเมื่อขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีสถานะเป็นกฎหมาย หรือเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย ดังที่ได้ปรากฏสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา ๖๗ และมาตราอื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อ กพร. เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแค่ความเห็นประกอบเงื่อนไขอนุญาตให้ประทานบัตร และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่บรรจุอยู่ในอีไอเอที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว เท่านั้น จึงเท่ากับว่า กพร. ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมให้ถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่
        
                       ประเด็นที่สาม - โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งในส่วนเหมืองแร่และโรงถลุงแร่
                                       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒  ให้การเพิ่มเติมต่อศาลว่า กรณีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่เปิดเผยว่าโครงการของผู้ร้องสอดติด ๑ ใน ๑๐  ของโครงการที่เข้าข่ายที่มีผลกระทบต่อชุมชนนั้น เป็นความจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เห็นว่า โครงการหรือกิจการที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓  ซึ่งโครงการของผู้ร้องสอดมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศดังกล่าว แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตัน ต่อวัน ขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศดังกล่าวที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแจ้งให้ผู้ร้องสอดดำเนินการตามประกาศดังกล่าวแล้ว[7]
                       ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือ อธิบดี กพร. ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทำนองเดียวกันอีกว่า ส่วนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น โครงการหรือกิจการที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องพิจารณาตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓  และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าว โครงการทำเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดไม่เข้าข่ายเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่ต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตและโลหะทองคำ เพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลำดับที่ ๕.๓ ของประกาศดังกล่าวซึ่งผู้ร้องสอดได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้วและจะจัดทำรายงานสรุปความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชน พร้อมทั้งคำชี้แจงและนำเสนอขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทราบและเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน และในปัจจุบันยังมิได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมแต่อย่างใด[8]
                       จะเห็นได้ว่า กพร. ทุ่มเททำงานหนักมากเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่มีความเห็นใดเลยของ กพร. ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย และไม่มีความเห็นใดของ กพร. อีกเช่นกัน ที่แสดงความห่วงใย เอื้ออาทรต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง แม้สักนิดเดียว โดยเฉพาะประเด็นนี้จะเห็นการบิดเบือนข้อมูลอย่างรุนแรงหลายประการประกอบกัน    
       ในเบื้องแรก กพร. ให้ความช่วยเหลือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มที่โดยให้การต่อศาลว่าโครงการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง รวมอยู่ด้วย ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓  ที่ออกตามความมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่ต้องจัดทำรายงาน EHIA แต่อย่างใด  แต่ในประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ระบุไว้ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตทองคำมีรายละเอียดอยู่ในข้อ ๒.๒ ว่า การทำเหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ (associated mineral) และข้อ ๕.๓ ว่า อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำหรือสังกะสี  ดังนั้น เมื่อดูรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าโครงการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง รวมอยู่ด้วย ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ที่ต้องจัดทำ EHIA  ด้วยเหตุว่าในคำพิพากษาฉบับเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำว่า แหล่งแร่ทองคำของผู้ร้องสอดมีการกำเนิดแบบสายแร่อุณหภูมิต่ำ โดยแร่ทองคำจะเกิดร่วมกับสายแร่ควอร์ต-อาดูลาเรีย  แร่คาร์บอเนต  และมีแร่กำมะถันเกิดร่วมในปริมาณต่ำ ๆ และเกิดใต้ระดับผิวดินหรือดินลูกรัง สายแร่ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งในส่วนที่เป็นเม็ดแร่ทองคำอิสระ และที่เป็นเม็ดแร่ทองคำผสมอยู่กับแร่เงิน และฝังตัวอยู่ในเม็ดแร่ควอร์ตและแร่คาร์บอเนต นอกจากนี้ยังพบโลหะอื่น ๆ เช่น โครเมียม  แบเรียม  พลวง  สังกะสี  โมลิบดินัม  สารหนู  ซึ่งโลหะดังกล่าวมีสูงกว่าเปลือกโลกเล็กน้อยถึงปานกลาง มูลหินที่มีสายแร่ดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ กลุ่มมูลหินที่มีศักยภาพในการก่อฤทธิ์ให้เป็นกรดจะมีปริมาณกำมะถันมากกว่าคาร์บอเนต และกลุ่มมูลหินที่ไม่มีศักยภาพในการก่อฤทธิ์ให้เป็นกรดจะมีปริมาณคาร์บอเนตมากกว่ากำมะถัน โดยกรดในมูลหินอาจรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมจากการเปิดหน้าดินและหรือเกิดจากการชะล้างของกรดในกองมูลหินลงสู่ผิวดิน และอาจทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ในมูลหินรั่วซึมหรือชะล้างเข้าสู่สิ่งแวดล้อม[9]  และจากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินและการประเมินปริมาณธาตุโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ว่าจ้างภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๒  ที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กพร. ตามลำดับ นำมามอบให้ศาลนั้นระบุไว้ว่า จากข้อมูลคุณภาพน้ำผิวดินพบว่าปริมาณของซัลเฟตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะช่วงที่เกิดฝนตกทั้งนี้น่าจะเกิดจากการที่ฝนชะละลายซัลเฟอร์จากหินที่กองอยู่อยู่ในพื้นที่บริเวณรอบเหมืองลงสู่แหล่งน้ำผิวดินและบ่อน้ำใต้ดินระดับตื้นได้ จากข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินสันนิษฐานว่าบ่อเก็บกักกากแร่น่าจะเป็นแหล่งของมลสารเนื่องจากพบว่ามลสารที่ตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์บริเวณด้านท้ายของบ่อเก็บกากแร่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับมลสารที่ตรวจพบในบ่อที่อยู่ด้านเหนือของบ่อเก็บกักกากแร่ นอกจากนี้พบว่าปริมาณของสารหนู (As) ที่ตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์ไม่เกินมาตรฐานน้ำดื่ม (๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร) ยกเว้นบ่อที่ใกล้กับบ่อกักเก็บกากแร่ที่มีค่าใกล้เคียงค่ามาตรฐานน้ำดื่มและมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดช่วงการวัด (พ.ศ. ๒๕๔๙ - ๒๕๕๑) ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่น่าจะเกิดจากการปนเปื้อนจากบริเวณอื่นของพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นการปนเปื้อนเฉพาะพื้นที่และอาจเกิดจากการ oxidation ของแร่อาซีโนไพไรต์ (Arsenopyrite) ที่ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของปริมาณของ As ในบ่อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง[10]
       ข้อมูลที่ได้จากรายงานดังกล่าวก็เป็นที่แน่ชัดว่าแหล่งแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีอาร์เซโนไพไรต์เป็นแร่ประกอบ  ความจริงแล้วสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในข้อ ๒.๒ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวไม่สมควรวิเคราะห์เพียงว่าแหล่งแร่ทองคำหรือแร่โลหะอื่นมีอาร์เซโนไพไรต์เป็นแร่ประกอบหรือไม่  สาระสำคัญน่าจะอยู่ที่พิษของสารหนูในสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองมากกว่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสารหนู (Arsenic) ในรูปของธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างเสรีในธรรมชาติ หรือรูปของแร่ประกอบอาร์เซโนไพไรต์ (Arsenopyrite) ที่มีธาตุเหล็ก สารหนูและซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ตามสูตรเคมี FeAsS  ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับพิษของสารหนูจากทั้ง ๒ รูปแบบ  จึงทำให้ย้อนคิดไปตั้งแต่ช่วงก่อนประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวจะถูกประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓  ว่าทำไมถึงต้องทำให้ข้อความใน ๒.๒ ตามประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว มีความสลับซับซ้อนจนทำให้ยากต่อความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปด้วย ก็เพราะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนจงใจที่จะหลีกเลี่ยงพิษของสารหนูในรูปของธาตุอิสระ (As) ที่มีรายงานพบอยู่มากมายตามธรรมชาติบริเวณแหล่งแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ส่วนอาร์เซโนไพไรต์เท่าที่สำรวจดูเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ทองคำบริเวณแหล่งแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือ รวมทั้งตามชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำบริเวณเดียวกันไม่พบการกล่าวถึงอาร์เซโนไพไรต์เลย นี่ก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุรูปแบบหนึ่งของผู้มีความรู้ทางด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ และพวกวิศวกรรมเหมืองแร่ทั้งหลาย     
                       จะเห็นได้ว่าประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวมีเจตนาให้จัดทำรายงาน EHIA ทั้งในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำ ดังรายละเอียดในข้อ ๒.๒ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว และส่วนของโรงงานถลุงแร่ทองคำ ดังรายละเอียดที่ปรากฏในข้อ ๕.๓ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ดังนั้นเอง บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด จะต้องจัดทำรายงาน EHIA สองฉบับ คือ รายงาน EHIA ในส่วนกิจการเหมืองแร่ฉบับหนึ่งและส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายอีกฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนกิจการเหมืองแร่ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ตามเหตุผลที่ได้กล่าไป ต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามประทานบัตรรวมทั้งหมด ๙ แปล ไม่ใช่ทำรายงาน EHIA เฉพาะประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องขอให้เพิกถอนประทานบัตรในคดีนี้ แต่ต้องรวมอีก ๔ แปลง ฝั่งเพชรบูรณ์ที่ไม่ถูกนำมาฟ้องขอให้เพิกถอนประทานบัตรร่วมกับคดีนี้ด้วย ก็เพราะเป็นประทานบัตรชุดเดียวกันจากแหล่งแร่เดียวกัน ไม่ใช่จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่กำลังขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพียงฉบับเดียวตามคำให้การที่บิดเบือนต่อศาลของ กพร.
       ข้อบิดเบือนที่เป็นประเด็นต่อเนื่องกันอยู่ตรงข้อความที่ กพร. ให้การต่อศาลว่าปัจจุบันผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำ เพื่อให้มีกำลังการผลิต ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามข้อ ๕.๓ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้วโรงงานถลุงแร่ทองคำหรือโรงประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำมีกำลังการผลิตเกิน ๑,๐๐๐ ตันต่อวัน มาตั้งแต่ดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำและผลิตโลหะทองคำตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่อีไอเอได้รับความเห็นชอบมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ และได้รับอนุญาตประทานบัตรมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แล้ว โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มกำลังผลิตเป็น ๘,๐๐๐ ตันต่อวันมาได้สามสี่ปีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กพร. ให้การเท็จต่อศาล  สิ่งที่ กพร. ควรกระตือรือล้นทำตั้งแต่ที่ประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓  คือสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน มาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่มาสั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดทำ EHIA ตาม ๖๗ วรรคสองในช่วงที่บริษัทฯ ขอขยายโรงงานประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวันในช่วงนี้ เสมือนเป็นการสร้างภาพต่อศาลว่าได้กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างใกล้ชิดเป็นอย่างดีมาตลอด ไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ จากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น
                       ประเด็นต่อเนื่องเพิ่มเติมอยู่ตรงที่ กพร. และ สผ. หรือ คชก. ยังมิได้อนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตโลหะทองคำ จากกำลังการผลิต ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน แต่อย่างใด แต่ทำไมบริษัทฯ ถึงได้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำจาก ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน ได้ โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔  และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒  โดยคาดว่าขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำร่างรายงาน EHIA เสนอให้กับ สผ. และ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้ ซึ่งตามหลักการแล้วการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังโครงการทำเหมืองหรือกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเป็นเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญที่จะต้องปรากฏอยู่ในรายงานอีไอเอ หรือกรณีโครงการอาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ก็ต้องเป็นการจัดทำรายงาน EHIA  เพื่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมจะได้ประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างรอบคอบครบถ้วน ไม่ใช่จัดทำรายงานอีไอเอ หรือ EHIA โดยไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังโครงการทำเหมืองหรือกรรมวิธีประกอบโลหกรรมปรากฏอยู่ด้วย
       และยิ่งเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน เกือบเสร็จหมดแล้ว โดยติดตั้งอุปกรณ์พร้อมใช้งานได้ รอเพียงการเปิดระบบเท่านั้น แต่กำลังจัดทำรายงาน EHIA เพื่อขอความเห็นชอบ และขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานตามหลัง โดยมี กพร. วางเฉยต่อพฤติกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมายของบริษัทฯ
        
                                                      
        
        
       

       
       

       

       [1] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๘๕ (หน้าสุดท้าย) ย่อหน้าสุดท้าย
       

       

       [2] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๓ บรรทัดที่ ๕ - ๑๑ ของย่อหน้าแรก
       

       

       [3] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓  ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑  โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ผู้ฟ้องคดี หรือนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย - ผู้เขียน
       

       

       [4] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โครงการเหมืองแร่ทองคำ “ชาตรีเหนือ” ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด  คำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๔๖, ๔ข๖/๒๕๔๖ และ ๑/๒๕๔๗ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และ คำขอประทานบัตรที่ ๑-๔/๒๕๔๗ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์. เล่มที่ ๑ : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. จัดทำโดย บริษัท เอส.พี.เอส. คอนซัลติ้งเซอร์วิส จำกัด. ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙, บทที่ ๕ มาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบ
       

       

       [5] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๔ ย่อหน้าแรก
        
       

       

       [6] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๔ ย่อหน้าสุดท้าย - หน้า ๓๕ บรรทัดที่ ๑ - ๖
       

       

       [7] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๖ ย่อหน้าสุดท้าย - หน้า ๓๗ บรรทัดที่ ๑ และ ๒
       

       

       [8] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๔๑ บรรทัดที่ ๑๗ ถึง ๒๗ - หน้า ๔๒ บรรทัดที่ ๑ ถึง ๙
       

       

       [9] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๔๒ ย่อหน้าแรก
       

       

       [10] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๕๑ ย่อหน้าที่สอง - หน้า ๕๒ บรรทัดแรกถึงบรรทัดที่ ๔
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544