เกร็ดความรู้การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส |
|
|
|
อาจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในขณะนี้ ประเทศฝรั่งเศสกำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยจะมีการจัดการเลือกตั้ง ในรอบแรก วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2012 ที่ผ่านมา และรอบที่สอง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2012 ซึ่งครั้งนี้ ก็มีผู้ประกาศตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส 10 ด้วยกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายพรรคการเมืองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครจากพรรคฝ่ายซ้ายจัด (Front de gauche) พรรคกรีน (Europe Ecologie les verts) พรรคสังคมนิยม (Parti socialiste) หรือพรรคการเมืองกลางๆ เช่น พรรค (Mouvement democrate) หรือ พรรค Union pour un movement populaire (UMP) ที่สนับสนุนประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน ตลอดจนพรรคขวา เช่น Front national ก็สนับสนุนผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (suffrage universel direct) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้ใช้ระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (คือได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่า 50%) แบ่งเป็นสองรอบ หากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็นำผู้สมัครที่ได้ลำดับ 1 และ 2 มาเลือกตั้งในรอบที่สอง รูปแบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีดังกล่าวมิได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งแต่ปีที่บังคับใช้ คือปี ค.ศ. 1958 (ซึ่งเดิมใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อม) หากแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1962 โดยผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติของประชาชนในการเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง
คุณสมบัติและเงื่อนไขของการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
ผู้ที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป (การกำหนดอายุ 18 ปี ขึ้นไปนี้ เพิ่งได้รับการแก้ไขจากเดิมต้องมีอายุ 23 ปีขึ้นไป ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 14 เมษายน 2011 ที่ผ่านมา) และเงื่อนไขที่สำคัญเพื่อป้องกันมิให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากจนเกินไป หรือใช้โอกาสการเลือกตั้งนี้เพื่อโปโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จัก กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการลงชื่อสนุบสนุนอย่างเป็นทางการจากนักการเมืองของฝรั่งเศส (ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน élu) ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับสหภาพยุโรป ไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป จาก 30 จังหวัดเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เป็นผู้สมัครที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มิใช่เพียงแต่ภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการลงชื่อเป็นผู้สนับสนุนหรือเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนี้ เป็นการลงชื่อจากนักการเมืองโดยอิสระ และไม่มีผลผูกผันใดๆกับผู้ลงชื่อสนับสนุนแต่อย่างใด ผู้เขียนเคยได้ทราบมาว่า มีนายกเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหลายต่อหลายคนที่ลงชื่อสมับสนุนผู้สมับรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เสียงข้างน้อย หรือบุคคลที่มาจากหลายๆได้มีโอกาสเข้ามาสมัครเลือกตั้งได้บ้าง เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเคารพเสียงข้างน้อยตามระบอบประชาธิปไตย
การส่งรายชื่อผู้สับสนุนจะต้องส่งให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนในรัฐกิจจานุเบกษา ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดให้วันหาเสียงเลือกตั้งวันสุดท้ายคือวันเสาร์ที่ 21 เมษายน เพื่อจะให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบแรกวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น จำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบสองขึ้น ระหว่างผู้ที่คะแนนอันดับที่ 1 และ 2 ซึ่งก็คือ นาย François Hollande ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งคือ 28,6 % และอันดับสอง เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนาย Nicolas Sarkozy ได้คะแนน 27,3 % คงต้องติดตามกันต่อไปสำหรับการเลือกตั้งในรอบที่สอง ที่จะจัดให้มีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคมนี้
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|