หน้าแรก บทความสาระ
หมายเหตุท้ายคดีรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 เรื่อง พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
23 เมษายน 2555 14:15 น.
 
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555
       เรื่อง พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       1. ข้อเท็จจริง
                   ศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งของจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 (พรบ. ขายตรง 2545) ซึ่งโต้แย้งว่า มาตรา 54 “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง และมาตรา 40 (5) ประกอบมาตรา 30
       2. บทกฎหมาย
       รัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”
       3. ข้อวินิจฉัย
                   ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า มาตรา 54 ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคสอง จึงเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ส่วนปัญหาตามมาตราอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
       4. เหตุผลประกอบการวินิจฉัย
                 “เห็นว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลการสันนิษฐานความผิดของจำเลย โดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อน เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา เนื่องจาก การสันนิษฐานว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ก็ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลผู้กระทำความผิดด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนิติบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึงการกทำหรือเจตนาของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่านิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลเท่านั้น กรณีจึงเป็นการสันนิษฐานไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิดด้วย อันมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ และบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นทั้งหมดทุกคน บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และยังขัดกับหลักนิติธรรมข้อที่ว่าโจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบความผิด นอกจากนี้ บทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น การถูกจับกุม หรือถูกคุมขัง โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บทบัญญัติมาตราดังกล่าวในส่วนที่สันนิษฐานความผิดอาญาของผู้ต้องหาและจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดเกี่ยวกับความผิดนั้น จึงขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง”
        
       5. หมายเหตุท้ายคำวินิจฉัย
                 5.1 คำวินิจฉัยนี้น่าจะเป็นคำวินิจฉัยแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยอ้างอิงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติและมีผลผูกพันประเทศไทยนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นเหตุผลประกอบข้อวินิจฉัยว่า มาตรา 54 พรบ.ขายตรง 2545 ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง
       แต่ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยโดยตรงว่า มาตรา 54 ขัดต่อ “สิทธิมนุษยชน” ตามปฏิญญาและกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่งกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเป็นคดีที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (2) เท่านั้น
                   5.2   แม้ประเทศไทยเป็นภาคีของ ICCPR แต่มิได้รับเอาพิธีสารทางเลือกฉบับที่ 1 (First Optional Protocol) ซึ่งเปิดช่องให้มีการเสนอคำร้องส่วนบุคคล (Individual Complaints) ไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee - HRC) ซึ่งเป็นองค์กรวินิจฉัยข้อพิพาทตามกติกาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ถูกละเมิดสิทธิตาม ICCPR โดยรัฐไทยจึงไม่อาจเสนอคำร้องส่วนบุคคลตามช่องทางนี้ได้
                   5.3 อนึ่ง เมื่อตรวจสอบฐานข้อมูลคำวินิจฉัย (Communication) ของ HRC ที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นในคดีอาญาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ที่รับรองไว้ในข้อ 14 วรรคสองของ ICCPR ความว่า “Everyone charged with a criminal offence shall have the right to be presumed innocent until proved guilty according to law.”
                   กลับไม่พบคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทสันนิษฐานความรับผิดอาญาของผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งตรงกับกรณีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้ และไม่พบว่า HRC เคยให้ความเห็นในลักษณะดังกล่าวไว้ในข้อสังเกตทั่วไปของข้อ 14 นี้ (General Comment No. 13: Equality before the courts and the right to a fair and public hearing by an independent court established by law (Art. 14): 13/04/1984)
                   ที่มา: http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/comments.htm
                   5.4 การเขียนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะมีข้อความไม่ครบถ้วน กล่าวคือ มีการอ้างอิงบทบัญญัติข้อ 11 ของปฏิญญาสากล UDHR ไว้อย่างชัดเจน แต่สำหรับ ICCPR ซึ่งผูกพันรัฐไทยโดยตรงในฐานะรัฐภาคีกลับเป็นเพียงการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ มิได้อ้างอิงระบุบทบัญญัติข้อ 14 วรรคสองข้างต้น (โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หน้า 3 - 4)
                   5.5 เมื่อค้นคว้าเปรียบเทียบกับแนวบรรทัดฐานของสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคอื่น คือ อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Convention on Human Rights and Fundamental Freedoms - ECHR) ที่รับรองหลักการ Presumption of Innocence ไว้ในข้อ 6 วรรคสอง ความว่า “Everyone charged with a criminal offence shall be presumed innocent until proved guilty according to law.”
                   กลับพบแนวบรรทัดฐานที่ตรงกันข้ามกับผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในคดีนี้ กล่าวคือ คดี AG v Malta, Application No. 16641/90, 10 December 1991 (unreported) คณะกรรมาธิการ (ซึ่งปัจจุบันถูกยุบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปแล้ว) ได้วินิจฉัยว่า
                   ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่สามารถพิสูจน์หักล้างได้ (Rebuttable Presumption) ที่ว่า “ให้กรรมการบริษัทต้องรับผิดในทางอาญา ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวถูกตัดสินว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่า มิได้รู้เห็นในการกระทำความผิด และได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว” มิได้ขัดหรือแย้งต่อข้อ 6 วรรคสองของ ECHR แต่อย่างใด
                   ที่มา: Harris, O’Boyle, et. al., Law of the European Convention on Human Rights (OUP. 2nd edition, 2009) หน้า 302.
                   5.6 อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้ เคยวินิจฉัยไว้ในคดี State v. Coetzee, [1997] 2 LRC 593 ด้วยมติ 7 ต่อ 4 (เฉพาะในประเด็นนี้) ว่า มาตรา 332 (5) แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา (Criminal Procedure Act) ที่ว่า “ให้กรรมการและพนักงานของบริษัทที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดอาญา ต้องรับผิดในฐานความผิดดังกล่าวด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดและมิอาจป้องกันการกระทำผิดดังกล่าวได้” (A director or servant of a corporate body is guilty of an offence committed by the corporate body unless it is proved that such person took no part in the commission of the offence and could not have prevented it.) ขัดต่อหลักข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 25 (3)(c)
       แต่ทั้งนี้ ตุลาการในเสียงข้างมากต่างเขียนความเห็นส่วนบุคคล (Concurring Opinion - เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยแต่ให้เหตุผลต่างออกไป) ในทำนองว่า  เป็นเพราะบทบัญญัตินี้กว้างขวางเกินไป
       ที่มา: Sujit Choudhry, GLOBALIZATION IN SEARCH OF JUSTIFICATION: TOWARD A THEORY OF COMPARATIVE CONSTITUTIONAL INTERPRETATION, Indiana Law Journal, (Summer, 1999, 819 -892) หน้า 846 - 851.
       และ OVERVIEW OF THE JUDGMENTS OF THE CONSTITUTIONAL COURT OF SOUTH AFRICA SINCE 1994 TO 2005 หน้า 14.
       http://www.constitutionalcourt.org.za/uhtbin/cgisirsi/0/0/x/503/9
       อนึ่ง รัฐบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของแอฟริกาใต้ที่แก้ไขเพิ่มเติมหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวและใช้บังคับอยู่ ณ ปัจจุบัน มีเนื้อความดังนี้
       “332. Prosecution of corporations and members of associations.—(1)...
                   (5) When an offence has been committed, whether by the performance of any act or by the failure to perform any act, for which any corporate body is or was liable to prosecution, any person who was, at the time of the commission of the offence, a director or servant of the corporate body shall be deemed to be guilty of the said offence, unless it is proved that he did not take part in the commission of the offence and that he could not have prevented it, and shall be liable to prosecution therefor, either jointly with the corporate body or apart therefrom, and shall on conviction be personally liable to punishment therefor.”
       ที่มา: http://www.lawlibrary.co.za
        
       5.7 นิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายสมมติขึ้น (Fiction Theory) ไม่มีตัวตน การกระทำการ การแสดงเจตนาทุกอย่างย่อมกระทำผ่านผู้แทนนิติบุคคล ในชั้นต้น นิติบุคคลได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา ฝ่ายอัยการโจทก์ต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่า นิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิด ปัญหาก็คือ เมื่อพิสูจน์เช่นนั้นได้แล้ว การผลักภาระการพิสูจน์ (Reverse Onus) กลับไปยังผู้แทนนิติบุคคล  ซึ่งกฎหมายขายตรงกำหนดให้เป็นตัว “กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น” ในทำนอง Rebuttable Presumption คือ บุคคลเหล่านั้นต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่า “ตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” จะขัดต่อหลัก Presumption of Innocence ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง หรือไม่
       ตุลาการฝ่ายข้างมาก 5 เสียง เห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ข้อวินิจฉัยดังกล่าวจะสมเหตุสมผลหรือไม่ เพียงไร คงต้องรอศึกษาจากความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการแต่ละท่าน โดยเฉพาะฝ่ายเสียงข้างน้อย อีก 4 ท่านโดยละเอียดอีกครั้ง
       5.8 ตุลาการเสียงข้างมากในคดีนี้ อ้างอิงถึง UDHR ข้อ 11 และ ICCPR (โดยไม่ระบุข้อ) เพื่อสรุปว่า หลัก Presumption of Innocence เป็นหลักนิติธรรมที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่สำหรับสาระปลีกย่อยของหลักการดังกล่าวในบางเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการผลักภาระการพิสูจน์ (Reverse Onus) กลับไปยังผู้แทนนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลถูกวินิจฉัยว่ากระทำความผิดอาญาแล้ว ยังไม่น่าจะใช่ “หลักนิติธรรมที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ” (โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หน้า 3 - 4 และ 6 และเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายต่างประเทศที่อ้างอิงไว้ข้างต้น)
       5.9 มีพระราชบัญญัติอื่น ๆ อีกนับร้อยฉบับที่มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกับมาตรา 54 พรบ. ขายตรง 2545 ที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ อาทิ
       - มาตรา 28/4 พรบ. สถานบริการ 2509
       - มาตรา 71 พรบ. ปุ๋ย 2518 
       - มาตรา 27 พรบ. น้ำมันเชื้อเพลิง 2521 
       - มาตรา 71 พรบ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ 2525
       - มาตรา 15 พรก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527
       - มาตรา 25 พรบ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535
       - มาตรา 144 พรบ. ประกันชีวิต 2535
       - มาตรา 301 พรบ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535
       - มาตรา 61 พรบ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542
       - มาตรา 60 พรบ. โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน 2550
       - มาตรา 153 พรบ. โรงเรียนเอกชน 2550
       - มาตรา 62 พรบ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 2551
       - มาตรา 76 พรบ. มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551
        
       กล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎหมายที่ควบคุมการประกอบอาชีพ - ธุรกิจ ภายใต้ระบบอนุมัติอนุญาตทุกฉบับมีบทบัญญัติในลักษณะนี้
       คดีที่ค้างอยู่ในศาลและคดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว ซึ่งตัดสินความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ โดยอาศัยบทบัญญัติลักษณะข้างต้น คงต้องอาศัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง ยกเป็นข้อต่อสู้ แต่ทั้งนี้ เนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้มีคำวินิจฉัยว่า มาตรา... แห่ง พรบ.... ต่าง  ๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ ณ วันนี้ คงต้องหาช่องทางเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211, 245 (1), 257 (2) หรือท้ายที่สุด มาตรา 212 เสียก่อน
       แต่ถ้าจะให้ดี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรรวบรวมรายชื่อกฎหมายและมาตราที่เกี่ยวข้องมัดรวมกันเป็นคำร้องตามมาตรา 245 (1) เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างจะได้ชัดเจนเสร็จสิ้นในคราวเดียว
       ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ยังจะเป็นมติ 5 ต่อ 4 อีกหรือไม่
       คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจึงสำคัญ ๆ มาก


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544