หน้าแรก บทความสาระ
คุณ (ฆ่า) ค่าของความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
25 มีนาคม 2555 20:58 น.
 
La souveraineté ne peut être représentée,
        par la même raison qu’elle ne peut être aliénée ;
       elle consiste essentiellement dans la volonté générale,  
       et la volonté ne se représente point : elle est la même,  
       ou elle est autre ; il n’y a point de milieu.  
       
       Jean-Jacques Rousseau, Du contrat social ou Principes du droit politique, 1762
       
       อำนาจอธิปไตยย่อมไม่อาจแทนกันได้
       ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ไม่สามารถถูกถ่ายโอนกันได้
       เพราะคือนั่นคือแก่นสำคัญในเจตจำนงร่วมกัน และเจตจำนงนั้นไม่อาจถูกแทนได้
       มันเป็นของมันเองหรือไม่ก็เป็นอย่างอื่น ไม่อาจมีสิ่งที่อยู่ตรงกลาง
                                            
       ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, สัญญาประชาคมและหลักแห่งสิทธิทางการเมือง, 1762.
        
       
                 รัฐธรรมนูญในความหมายทั่วไปที่เข้าใจกัน หมายถึง กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งคำว่า “ความเป็นกฎหมายสูงสุด” หมายถึง สภาวะสูงสุดของกฎหมายที่อยู่สูงเหนือกฎหมายอื่นๆ ลำดับเช่นนี้มีเรียกว่า “ศักดิ์” หรือ “ชั้น” ของกฎหมาย โดยที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายสูงสุดนั้นมิได้
                
       เราจะพบว่า มีหลายๆ คำอธิบายที่กล่าวถึงเหตุผลของความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ ตัวอย่างเช่น คำอธิบายเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะรัฐธรรมนูญเป็น “สัญญาประชาคม” ที่สมาชิกในสังคมทุกคนร่วมตกลงกันสร้างขึ้นเป็นกฎเกณฑ์สูงสุดที่ใช้ในการปกครองสังคมนั้น     
       
                   คำอธิบายเชิงกระบวนการในการตรารัฐธรรมนูญ อธิบายว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพราะกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อแตกต่างไปจากกฎหมายอื่นๆ กล่าวคือ กฎหมายทั่วไปอาจตราขึ้นโดยรัฐสภาหรือฝ่ายบริหาร แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีกระบวนการจัดทำที่ระดมความคิดเห็นจำนวนมาก โดยมากมักจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น ประชาชนมีส่วนในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยในการร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ และมีกระบวนการพิเศษเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งลักษณะหรือกระบวนการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญนี้กลับไม่ปรากฏในการตรากฎหมายธรรมดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นกฎหมายสูงสุด 
       
                   คำอธิบายเชิงที่มาของอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะอำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองซึ่งจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นเป็นอำนาจสูงสุด ซึ่งก่อนมีรัฐธรรมนูญไม่มีเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆ ที่อยู่เหนือและผูกมัดอำนาจในการก่อตั้งระบบกฎหมายและระบบองค์กรทางการเมืองอยู่เลย ดังนั้น อำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองและให้กำเนิดรัฐธรรมนูญจึงเป็นที่มาโดยตรงของรัฐธรรมนูญในฐานะผู้สร้างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญจะสร้างองค์กรทางการเมือง (รัฐสภา/คณะรัฐมนตรี/ ศาล) โดยมอบหมายให้ใช้อำนาจต่างๆ (อำนาจนิติบัญญัติ / อำนาจบริหาร/ อำนาจตุลาการ)
       
                       คำอธิบายเชิงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ   รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะเป็นที่ก่อตั้งองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และแบ่งสรรอำนาจระหว่างองค์กรเหล่านั้นขึ้น อีกทั้ง รัฐธรรมนูญได้มีการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้น มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ทำให้เกิดดุลยภาพของอำนาจ เพื่อจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีมากเกินไป เพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลเป็นสำคัญ    
       
                 เมื่อเราถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ กฎหมายอื่นใดในระบบกฎหมายจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะหากยอมให้กฎหมายอื่นใดในระบบกฎหมายมีสถานะเหนือกว่าหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ย่อมเท่ากับเป็นการขยายอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติให้สามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะของฝ่ายนิติบัญญัติแล้วจะเห็นได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติเป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายให้ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญได้ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการใช้อำนาจ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญได้
       
                 นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปกปักรักษารัฐธรรมนูญไว้ให้เป็นกฎหมายสูงสุดได้จริง จึงเกิดการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Judicial review) ซึ่งหมายถึง การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำต่างๆ ของรัฐ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบการออกกฎหมายที่อาจขัดหรือแย้งต่อสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ โดยมีองค์กรพิเศษที่มีความเป็นอิสระ คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       
                 อย่างไรก็ดี หากเมื่อเราพิจารณารัฐธรรมนูญในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำกับดูแลสังคมการเมือง วางกรอบกติกาที่สำคัญ รัฐธรรมนูญก็อาจมีคุณค่าเป็นได้แค่เพียงกฎหมายสูงสุดในทางนิตินัย (de jure) เท่านั้น แต่หาได้มี “คุณค่า” สูงสุดของสังคมอย่างแท้จริงในทางพฤตินัย (de facto) ไม่ หากสังคมนั้นยังยึดติดกับอำนาจที่กำกับความคิด หรือ อคติความเชื่อเดิม แต่ปราศจากความคิดพื้นฐานในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษษย์ และตระหนักถึงว่าอำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน โดยไม่มีผู้ใดหรือวิธีการใดๆ ที่จะพรากอำนาจสูงสุดนี้ไปจากประชาชนได้  ความคิดพื้นฐานนี้ ถือว่าเป็น ปทัสถาน (Norms) ที่มี “คุณค่า” ที่เป็นหัวใจหรือสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกันของคนในสังคม และปทัสถาน (Norms) ที่มี “คุณค่า” นี้ ก็จะย่อมไม่มีวันถูกทำลายลงหรือถูกยกเลิกเพิกถอนโดยองค์กรใดหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งได้เลย
       
                 หากเมื่อไรก็ตาม สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันในทางพฤตินัยนี้กับ “คุณค่า” ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเจตจำนงร่วมกันอันสูงสุดของคนในชาติ ในการธำรงไว้ และปกป้องรักษาหลักการพื้นฐานดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญจะมี “คุณค่า” หรือไม่ หาใช่มีบทบัญญัติที่สวยหรูที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เท่านั้น หากแต่ “คุณค่า” ของรัฐธรรมนูญที่สูงที่สุดกลับจะอยู่ที่จิตใจของคนในสังคมที่มั่นคงที่จะตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของเจตจำนงร่วมกันของคนในสังคมต่อความเป็นสูงสุดของหลักการที่ยิ่งไปกว่า เหนือไปกว่าบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางใด ๆ ก็ตาม ย่อมไม่มีผู้ใดสามารถ “ฆ่า” คุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในสังคมนี้ได้เลย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544