กฎ UEFA Home-Grown Player Rules กับความท้าทายในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพ: บทเรียนจากยุโรปสู่ไทย |
|
|
|
อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยงน.บ. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รป.ม. (นโยบายสาธารณะ) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ LL.M. in Business Law Leicester De Montfort Law School นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) Leicester De Montfort Law School, UK อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk |
|
|
|
|
|
|
|
|
[1] ความนำ
ในอดีตที่ผ่านมา นักกีฬาฟุตบอลอาชีพย่อมมีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน (Freedom of Movement) จากประเทศของตนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพหรือเพื่อเพิ่มทักษะทางกีฬาฟุตบอลให้สูงขึ้น โดยเสรีภาพในการเดินทางหรือการโยกย้านถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ย่อมถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปพึงได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ต้องการจะดำรงชีพของตนเองโดยการประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอล
สนธิสัญญาลิสบอน (Treaty on the Functioning of the European Union หรือ Lisbon Treaty) มาตรา 45 ได้สนับสนุนให้ประชาชนในสหภาพยุโรปมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อการทำงานของประชาชนภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยมาตราดังกล่าวได้สนับสนุนให้ประชาชนมีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อใช้แรงงานหรือเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ (freedom of movement of workers)[1] นอกจากนี้ สนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 165 ได้กำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปว่าด้วยการสนับสนุนความร่วมมือด้านการกีฬาระหว่างประเทศ โดยแนวทางดังกล่าว รวมไปถึงการขจัดปัญหาการกีดกันทางเชื้อชาติและสีผิวต่อการประกอบอาชีพอีกประการหนึ่ง (abolition of any discrimination)
ฉะนั้น จากข้อความในสนธิสัญญาลิสบอนดังกล่าว ที่สนับสนุนให้ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อใช้แรงงานหรือเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ โดยอาชีพต่างๆ อาจรวมความไปถึงเสรีภาพของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลหรือเพื่อการพัฒนาทักษะทางกีฬาฟุตบอลเพื่อการประกอบอาชีพ กล่าวคือ นักกีฬาฟุตบอลอาชีพสามารถมีเสรีภาพเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อการทำงานภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปตามหลักเกณฑ์ของสนธิสัญญาดังกล่าว
นอกจากนี้ สมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา (European Commission White Paper on Sport) ได้กำหนดแนวทางในเรื่องของเสรีภาพเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาอาชีพในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[2] เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐาน[3]หรือการเดินทางเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลภายในตลาดกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[4] เช่น การโอนย้ายผู้เล่นระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (Transfer players) เป็นต้น
ภายใต้หลักการตามสนธิสัญญาลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬาที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มนุษย์มีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ[5] นักกีฬาฟุตบอลอาชีพสามารถโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่มีถิ่นฐานอยู่นอกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ย้ายมาเล่นในการแข่งขันระดับต่างๆในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[6] เช่น การย้ายจากประเทศอื่นในกลุ่มสหภาพยุโรปมาสู่การแข่งขันระดับต่างๆในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดในการสนับสนุนให้นักกีฬาฟุตบอลอาชีพมีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานย่อมถือเป็นการสนับสนุนแนวความคิดของการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อก่อให้เกิดตลาดเดียว (European Common Market) อีกประการหนึ่ง[7]
ดังนั้น ผลที่ตามมาจากการวางหลักเกณฑ์ตามสนธิสัญญาลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา ทำให้เกิดผลดีต่อวงการกีฬาฟุตบอลของสหภาพยุโรปหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก นักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติที่มีทักษะดี อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาผู้เล่นของสโมสรท้องถิ่นที่ย้ายมาสังกัดให้ดีขึ้นได้ ด้วยการถ่ายทอดทักษะและเทคนิคที่ตนเองได้รับการฝึกฝนมาจากประเทศของตน ประการที่สอง การย้ายสังกัดของผู้เล่นต่างชาติที่มีทักษะสูงภายในการแข่งขันกีฬาระดับต่างๆ ย่อมทำให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลหรือสมาชิกสโมสรกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ มีความสนใจในกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆมากขึ้น ส่งผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ (Sponsors) ในระดับการแข่งขันต่างๆ อันเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพทางธุรกิจของสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพ ประการสุดท้าย การสนับสนุนเสรีภาพในการโยกย้ายนักกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศย่อมเป็นการขจัดการกีดกันด้านเชื้อชาติและสีผิว เพราะนักกีฬาฟุตบอลหลายเชื้อชาติและต่างสีผิวสามารถร่วมทำการแข่งขันในเกมกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลในนามของสโมสรที่สังกัดเดียวกันได้
แต่อย่างไรก็ดี การให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติที่มีทักษะดี อาจก่อให้เกิดผลกระทบและปัญหาต่อการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือผู้เล่นท้องถิ่นหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก การให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติมากจนเกิดขอบเขต อาจส่งผลกระทบต่อนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นหรือนักกีฬาฟุตบอลที่เป็นประชาชนภายในประเทศนั้น (Domicile players) เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติมาแข่งขันแย่งงานกับนักกีฬาฟุตบอลในท้องถิ่น อันส่งผลต่อการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลที่เป็นคนในชาตินั้นๆ ประการที่สอง การให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติที่มีทักษะดีย่อมเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้สโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและศักยภาพทางธุรกิจสูงได้ประโยชน์จากการให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติดังกล่าว[8] เพราะสโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพทางธุรกิจดีย่อมสามารถว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติในอัตราค่าตอบแทนที่สูงและสามารถว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติที่มีทักษะสูงได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทีมที่มีศักยภาพทางธุรกิจปานกลางหรือมีศักยภาพทางธุรกิจต่ำ ย่อมไม่อาจว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติที่มีทักษะการเล่นสูงเป็นจำนวนมากหรือไม่อาจว่าจ้างได้เลย เพราะไม่มีงบประมาณในสโมสรเพียงพอต่อการว่าจ้าง ดังนั้น จึงอาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมทางการกีฬา (Unfair sports competition) ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดของสโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีนักกีฬาฟุตบอลชาวต่างประเทศที่มีศักยภาพและมีทักษะสูงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการเล่นกีฬาฟุตบอลให้ทัดเทียมสโมสรที่มีชื่อเสียงได้ ประการสุดท้าย การให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติที่มีทักษะดีโดยปราศจากกลไกการควบคุมจากองค์กรกีฬาฟุตบอลและภาครัฐ อาจทำให้เกิดการการไม่สมดุลในการแข่งขัน (unfair competitive balance) ระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจของสโมสรกีฬาฟุตบอลกับการสนับสนุนการพัฒนาผู้เล่นกีฬาฟุตบอลที่เป็นประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ (education and training of young football players) เพราะหากเปิดโอกาสให้มีการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติที่มีทักษะสูงมาทำการแข่งขันในการแข่งขันระดับต่างๆ ย่อมทำให้การพัฒนาศักยภาพการกีฬาเยาวชนท้องถิ่นเป็นไปโดยล่าช้าเพราะนักกีฬาท้องถิ่นย่อมได้รับความสนใจน้อยจากสโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีชื่อเสียง[9]
ดังนั้น สมาคมฟุตบอลยุโรป (Union of European Football Associations หรือ UEFA) จึงได้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์และมาตรฐานในการจำกัดเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลยุโรป ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและเป็นการจำกัดการแย่งงานของนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติจากนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นภายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งสมาคมฟุตบอลยุโรปได้กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นกฎ (Rules) ของสมาคมอันถือเป็นกฎอันเป็นลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมฟุตบอลอาชีพในสหภาพยุโรปและเป็นแม่แบบของกฎของสมาคมกีฬาฟุตบอลหรือองค์กรจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพในอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา
[2] กฎ UEFA Home-Grown Player Rules
กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ได้กำหนดให้สโมสรฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีก (UEFA Champions League) และยูฟ่ายูโรป้าลีก (UEFA Europa League)[10] จำกัดจำนวนขั้นต่ำของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพชาวต่างชาติ (Limit on the amount of foreign football players) เพื่อให้นักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติมีสัดส่วนไม่เกินตามที่สมาคมฟุตบอลยุโรปกำหนดไว้ นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลยุโรปยังได้กำหนดอัตราส่วนของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาจากสโมสรท้องถิ่นให้ประกอบด้วยผู้เล่นที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นขั้นต่ำ โดยผู้เล่นดังกล่าวต้องได้รับการฝึกฝนในประเทศ (home-grown players)
จุดมุ่งหมายของกฎ UEFA Home-Grown Player Rules ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาจากสโมสรท้องถิ่น โดยกฎดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนการผลิตนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เพื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติหรือเพื่อเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในอนาคต โดยอาศัยการจำกัดสัดส่วนของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติ เพื่อให้สโมสรกีฬาฟุตบอลต่างๆ หันมาสนใจการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสโมสรฟุตบอลอาชีพขนาดใหญ่ไม่ให้ว่าจ้างเพื่อสะสม (hoard) จำนวนผู้เล่นกีฬาฟุตบอลชาวต่างชาติเพื่อผูกขาดการครองตำแหน่งทีมที่ชนะในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลยุโรป โดยกฎ UEFA Home-Grown Player Rules สามารถเปิดกว้าง (openness) และสร้างความเป็นธรรม (fairness) ให้กับการแข่งขันในระดับสหภาพยุโรปได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนากฎดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพขนาดใหญ่กับสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว กฎดังกล่าวยังถือเป็นกฎที่กำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพของท้องถิ่นต่างๆ หันมาสนใจกับการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นรุ่นใหม่อีกประการหนึ่ง เพื่อสร้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติได้
[2.1] สาระสำคัญของกฎ UEFA Home-Grown Player Rules
กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ได้กำหนดให้สโมสรฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันในการแข่งขันระดับแชมเปี้ยนส์ลีกและยูฟ่ายูโรป้าลีกจำกัดจำนวนนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาในท้องถิ่นขั้นต่ำไว้ (minimum of homegrown players) เป็นจำนวน 8 คน จากนักกีฬาฟุตบอลอาชีพในสโมสรที่ลงทะเบียนเข้าแข่งขันในการแข่งขัน (man squad) ทั้งหมด 25 คน[11] นอกจากนี้ กฎดังกล่าวบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและอายุ (regardless of nationality or age) ของนักกีฬาฟุตบอลที่ได้รับการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ โดยกฎดังกล่าวได้กำหนดให้นักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่จะกลายมาเป็นนักกีฬาที่ได้รับการพัฒนาในบ้านในอนาคตต้องได้รับการพัฒนามาจากสโมสรฟุตบอลในแต่ละท้องถิ่นภายในระยะเวลาขั้นต่ำสามปีหรือสามฤดูกาลแข่งขัน
ทั้งนี้ สโมสรฟุตบอลท้องถิ่นที่เข้าร่วมการแข่งขันที่จัดโดยสมาคมฟุตบอลยุโรปต้องกำหนดจำนวนนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นหรือผู้เล่นท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาในท้องถิ่น (Locally trained players)[12] โดยต้องกำหนดให้ผู้เล่นรุ่นเยาว์ที่ต้องการพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพของสโมสรท้องถิ่นที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมกับสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในประเทศของผู้เล่นนั้น สำหรับในส่วนของการกำหนดวิธีการสังกัดสโมสร นักกีฬาฟุตบอลที่ได้รับการพัฒนามาจากท้องถิ่นอาจสังกัดสโมสรท้องถิ่นเดียวกับสโมสรที่ผู้เล่นท้องถิ่นสังกัดหรือต่างสโมสรกัน ซึ่งสโมสรท้องถิ่นนั้นๆต้องที่ตั้งอยู่ในประเทศเดียวกับนักกีฬาฟุตบอลดังกล่าวได้รับการฝึกฝน[13]
กฏดังกล่าวยังได้กำหนดระยะเวลาที่นักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นสังกัดสโมสรฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นเป็นเวลาสามปีหรือสามฤดูการแข่งขัน (Period of three full football seasons) ระหว่างช่วงอายุ 15 ปี ถึง 21 ปี ซึ่งอาจจะสังกัดสโมสรท้องถิ่นเดียวกับสโมสรที่ผู้เล่นท้องถิ่นสังกัดหรือต่างสโมสร โดยไม่ว่าจะเป็นสโมสรเดียวกันหรือต่างสโมสร จำต้องพิจารณาช่วงอายุและจำนวนปีที่สังกัดต่อสโมสรท้องถิ่นนั้นๆ
ทั้งนี้ แม้ว่ากฎ UEFA Home-Grown Player Rules ได้กำหนดสัดส่วนของการพัฒนาผู้เล่นท้องถิ่นหรือนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นไว้ในอัตราส่วนที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ในการลงแข่งขันภายในสนามกีฬาฟุตบอลระดับแชมเปี้ยนส์ลีกและยูฟ่ายูโรป้าลีก สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถเลือกให้ผู้เล่นที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติหรือผู้เล่นที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาในสโมสรท้องถิ่นสามารถลงแข่งขันในการแข่งขันภายในสนามได้ โดยขึ้นกับดุลพินิจและการวางแผนเกมการเล่นฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้นๆ สำหรับการแข่งขันในแต่ละครั้ง
[2.2] ความท้าทายในการพัฒนากีฬาฟุตบอลยุโรปภายใต้กฎ UEFA Home-Grown Player Rules
การบังคับใช้กฎ UEFA Home-Grown Player Rules อาจส่งผลดีต่อการพัฒนานักฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์ (Talented young people in football sport) ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เป็นตัวแทนของสโมสรท้องถิ่นที่ได้พัฒนาและสนับสนุนแก่นักกีฬาฟุตบอลอาชีพให้ได้รับการพัฒนาจากสโมสรท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้ การสนับสนุนแนวทางในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาในสโมสรท้องถิ่น (Home-grown players) ก็เพื่อสร้างบุคลากรทางการกีฬาฟุตบอลจากท้องถิ่นให้มีศักยภาพภายใต้การฝึกฝนจากสโมสรท้องถิ่นและเพื่อเป็นการสนับสนุนให้สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพศูนย์ฝึกอบรมกีฬาฟุตบอลอาชีพ (Efficient football training centres) ในการรองรับการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาจากสโมสรท้องถิ่นเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพทักษะสูงในอนาคต
นอกจากการกำหนดช่วงระยะเวลาให้นักกีฬารุ่นเยาว์ที่มีช่วงอายุระหว่าง15 ปีถึง 21 ปีต้องสังกัดสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นเป็นระยะเวลาสามปีหรือสามฤดูการแข่งขันเพื่อพัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่ได้รับการพัฒนาจากสโมสรท้องถิ่น จะส่งผลดีต่อการพัฒนาการฝึกฝนทักษะของนักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ท้องถิ่นแล้ว กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ยังสามารถสร้างสมดุลทางการแข่งขัน (balance of competitions) กล่าวคือ สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันที่สโมสรฟุตบอลยุโรปจัดขึ้นย่อมต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานหรือมาตรฐานของกฎเดียวกันทั้งหมด ทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างโอกาสในการจ้างงานนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติและโอกาสในการจ้างงานนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นที่เป็นผู้เล่นที่พัฒนามาจากการฝึกฝนจากสโมสรในท้องถิ่นย่อมไม่แตกต่างกันมากนัก
ดังนั้น กฎ UEFA Home-Grown Player Rules จึงถือเป็นความท้าทายของสมาคมฟุตบอลยุโรปในการพัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์ที่มีทักษะทางกีฬาฟุตบอลสูงให้ก้าวไปสู่นักกีฬาฟุตบอลอาชีพ อันส่งผลดีต่อตัวนักกีฬาฟุตบอลเองและส่งผลดีต่อการสร้างมาตรฐานการแข่งขันภายใต้โอกาสและความเท่าเทียมระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพที่เข้าร่วมการแข่งขันการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีกและยูฟ่ายูโรป้าลีกดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
[2.3] ข้อโต้แย้งด้านสิทธิมนุษยชนทางการกีฬากับกฎ UEFA Home-Grown Player Rules
แม้ว่ากฎ UEFA Home-Grown Player Rules อันถือเป็นกฎที่มีลักษณะเฉพาะทางการกีฬา จะส่งผลดีต่อแนวทางในการพัฒนาเป็นผู้เล่นที่ถูกพัฒนาจากการฝึกฝนของท้องถิ่นและการสร้างสมดุลทางการแข่งขัน[14]ระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพที่สมาคมฟุตบอลยุโรปได้จัดขึ้น แต่อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎดังกล่าวต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนทางการกีฬาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพ (freedom of movement) โดยกฎดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ระหว่างนักกีฬาฟุตบอลที่ได้รับการพัฒนาจากท้องถิ่นนั้นๆและนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติ[15] ทั้งนี้ ปัญหาของกฎดังกล่าวอาจจำแนกได้เป็นสี่ประการ
ประการแรก กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ถือเป็นกฎที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนทางการกีฬาขั้นพื้นฐานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพหรือเสรีภาพการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานของประชาชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (freedom of movement of workers) กล่าวคือ กฏดังกล่าวได้จำกัดสิทธิของนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติในการโยกย้ายถิ่นฐานในการทำงาน อันถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 45 (Lisbon Treaty)[16] ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการให้เสรีภาพการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานของประชาชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[17]
ประการที่สอง กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ขัดต่อสนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 165 (Lisbon Treaty) ที่ได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องของแนวทางในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยหลักเกณฑ์ของความแตกต่างในเรื่องของสัญชาติของบุคคล[18] โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปว่าด้วยการสนับสนุนความร่วมมือด้านการกีฬาระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดแนวทางในการขจัดปัญหาการกีดกันบุคคลจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติและสัญชาติ[19]
ประการที่สาม กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ขัดต่อสนธิสัญญาประชาคมยุโรป (EC Treaty) มาตรา 39 มาตรา 81 และ 82 เพราะกฏดังกล่าวก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (unfair competition)[20] ซึ่งกฎดังกล่าวจำกัดการแข่งขันทางธุรกิจการกีฬาของสโมสรกีฬาฟุตบอลในสหภาพยุโรป[21] กล่าวคือ กฏดังกล่าวไม่เปิดโอกาสให้มีการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลอาชีพอย่างเสรีภายใต้แนวคิดของตลาดเดียวของสหภาพยุโรปที่สนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะทางการกีฬาสูง
ประการสุดท้าย กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ขัดหรือแย้งต่อนโยบายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการให้เสรีภาพกับบุคคลากรทางการกีฬาในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพหรือเสรีภาพการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานด้านกีฬา โดยสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา (European Commission White Paper on Sport)[22] อันถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายทางการกีฬาของสหภาพยุโรปได้กำหนดแนวทางในเรื่องของเสรีภาพเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของบุคลากรทางการกีฬาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[23] กล่าวคือ สมุดปกขาวได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐาน[24] หรือการเดินทางเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลภายในตลาดกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[25] เช่น การโอนย้ายผู้เล่นระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (transfer players) เป็นต้น
ดังนั้น จากปัญหาของการบังคับใช้กฎ UEFA Home-Grown Player Rules ของสมาคมฟุตบอลยุโรปย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของนักกีฬาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลียงไม่ได้ กล่าวคือ กฎดังกล่าวยังถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังถือเป็นการขัดแย้งต่อแนวความคิดของการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อก่อให้เกิดตลาดเดียว (European Single Market) อีกประการหนึ่งโดยการปิดกั้นเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป[26]
[3] การนำกฎ UEFA Home-Grown Player Rules มาปรับใช้กับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพของไทย
ฟุตบอลอาชีพของไทยกำลังเจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ไทย พรีเมียร์ลีก ที่จัดการแข่งขันและกำหนดข้อบังคับการแข่งขันโดย บริษัท ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก จำกัด เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจำนวนของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างประเทศที่เข้ามาทำการแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆของประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าของการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมการกีฬาฟุตบอลของประเทศไทยได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติ ให้เข้ามาทำการแข่งขันในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น องค์กรทางการกีฬาทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมแสวงหาแนวทางและกำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติหรือปัญหาในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาฟุตบอลที่เป็นคนไทย เพื่อให้นักกีฬาฟุตบอลชาวไทยได้รับประโยชน์จากการพัฒนาธุรกิจกีฬาและอุตสาหกรรมกีฬามากที่สุด
[3.1] แนวทางการปรับใช้กฎ Home-Grown Player Rules ในประเทศไทย
สำหรับการนำเอากฎ UEFA Home-Grown Player Rules มาปรับใช้กับแนวทางการสร้างมาตรฐานในการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทยในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ในการบัญญัติกฎที่มีข้อความในลักษณะคล้ายคลึงกันกับกฎ UEFA Home-Grown Player Rules สำหรับการแข่งขันในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งองค์กรกีฬาฟุตบอลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จํากัดล้วนสามารถมีส่วนในการผลักดันให้มีการบัญญัติกฎอันมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับกฎของสโมสรฟุตบอลยุโรปดังที่กล่าวมาในข้างต้น
[3.1.2] ประโยชน์ของการว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาแข่งขันในการแข่งขันระดับต่างๆ ในประเทศไทย
การแข่งขันในระดับต่างๆของไทยในอนาคตอาจมีการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลต่างประเทศกันมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพของไทยต้องการดึงดูดผู้ชมกีฬาฟุตบอลและต้องการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากหลายช่องทาง เช่น การอุดหนุนของสปอนเซอร์ การขายสินค้าที่ระลึกและการซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งการมีการว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติที่มีทักษะสูงหรือมีชื่อเสียงย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อภาคธุรกิจการกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ นักกีฬาฟุตบอลต่างชาติอาจช่วยพัฒนาทักษะนักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์หรือนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นอื่นๆ ด้วยการถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์จากประเทศที่นักกีฬาฟุตบอลต่างชาตินั้นเคยมีประสบการณ์ในการแข่งขันในต่างประเทศและเทคนิคการเล่นกีฬาฟุตบอลที่เคยได้รับมาจากการฝึกซ้อมทักษะต่างๆในต่างประเทศ
[3.1.2] ผลกระทบของการว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาแข่งขันในการแข่งขันระดับต่างๆ ในประเทศไทย
แม้ว่าการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติจะมีประโยชน์ต่อวงการฟุตบอลดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่ก็อาจมีข้อพิจารณาหรือข้อโต้แย้งบางประการเฉกเช่นประสบการณ์ที่สหภาพยุโรปได้เคยพบ จนนำมาซึ่งการบัญญัติกฎ UEFA Home-Grown Player Rules ซึ่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเปิดเสรีภาพในการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างชาติให้เข้ามาแข่งขันในการแข่งขันในระดับต่างๆในประเทศไทย ได้แก่ ประการแรก หากเปิดเสรีให้มีการว่าจ้างนักกีฬาต่างชาติให้มาทำการแข่งขันในการแข่งขันในระดับต่างๆ ของประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหานักกีฬาฟุตบอลต่างชาติที่มีทักษะสูงมาแย่งงานนักกีฬาฟุตบอลชาวไทยที่มีทักษะสูงหรือมีทักษะปานกลางแต่เตรียมตัวพัฒนาเพื่อก้าวเป็นนักกีฬาทักษะสูง ประการที่สอง หากมีนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติมาก อาจทำให้สโมสรท้องถิ่นของไทยขาดความสนใจในการสร้างนักกีฬาท้องถิ่นมากขึ้น โดยสโมสรท้องถิ่นอาจไม่สนใจจัดตั้งหรือพัฒนาศูนย์การฝึกกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นที่มุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะเยาวชนเพื่อเติบโตเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นต่อไปในอนาคต โดยสโมสรท้องถิ่นต่างๆ อาจทำเพียงรอจังหวะในการจ้างนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติที่มีทักษะดี เพื่อเข้ามาแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆของประเทศโดยปราศจากแรงจูงในในการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่นในอนาคต ประการสุดท้าย แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ภายใต้หรือเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้านต่างๆ รวมไปถึงด้านการกีฬา ดังนั้น การร่วมตัวระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อก้าวเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในอนาคต อาจก่อให้เกิดกฎหรือข้อบังคับเฉพาะเรื่องที่ให้เสรีภาพในการเดินทางมาประกอบอาชีพของประชาชนที่อยู่ภายในประเทศที่เป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนได้อย่างเสรี ด้วยประการนี้ หากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการฟุตบอลไทยบัญญัติกฎอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎ UEFA Home-Grown Player Rules ดังนั้น การบังคับใช้กฎดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพเพื่อการประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพได้
[3.2] ข้อควรพิจารณาเมื่อนำกฎ Home-Grown Player Rules มาบังคับใช้ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพ
ดังนั้น หากองค์กรกีฬาฟุตบอลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและออกกฎเกณฑ์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่ากฎ Home-Grown Player Rules ที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ ในโลก เช่น กฎ FIFA Home-Grown Player Rules กฎ UEFA Home-Grown Player Rules และ กฎ Barclays Premier League Home-Grown Player Rules เป็นต้น ย่อมอาจมีทั้งประโยชน์และผลกระทบจากากรบังคับใช้กฎดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อนักกีฬารุ่นเยาว์ที่จะก้าวขึ้นหรือพัฒนามาสู่นักกีฬาฟุตบอลอาชีพของท้องถิ่นและของประเทศต่อไปในอนาคต
[4] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การพัฒนาการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆของประเทศไทยที่ประกอบด้วยจำนวนนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพท้องถิ่นหรือผู้เล่นท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาในท้องถิ่น (Locally trained players) ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โดยภาคธุรกิจการกีฬา ได้แก่ สโมสรกีฬาฟุตบอลต่างๆ อาจมีความสนใจในด้านผลกำไรและผลประโยชน์ที่ได้รับกับความคุ้มค่าของจำนวนเงินที่ลงทุน มากกว่าการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์หรือนักกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น ดังนั้น ย่อมถือเป็นความท้าทายในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลอาชีพโดยอาจนำเอาบทเรียนของสหภาพยุโรปจากการบังคับใช้กฎ UEFA Home-Grown Player Rules มาเปรียบเทียบกับแนวทางในการพัฒนาฟุตบอลไทยและอนาคตของอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลไทยที่กำลังดำเนินไปสู่อนาคตได้
[1] European Commission, Communication from the Commission to the European Parliament, the Council, the European Economic and Social Committee and the Committee of the Regions, 2011, p 2.
[2] European Commission, White Paper on Sport, European Commission, 2007, p 8.
[3] Commission of the European Communities, Commission Staff Working Document Action Plan "Pierre De Coubertin": Accompanying Document to the White Paper on Sport, Commission of the European Communities, p 3.
[5] นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานไว้เพื่อปกป้องสิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่างๆ โดยศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (European Court of Justice) ภายใต้กฎของสมาคมกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ โปรดดู คีด Dona v. Mantero [1976] ECR 1333 และ คดี Case C-415/93 Union Royale Belge Sociétés de Football Association and others v Bosman [1995] ECR I-4921
[6] แม้ว่าความตกลงลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา ได้สนับสนุนแนวคิดของเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลเพื่อการแข่งขันในระดับชั้นต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี สมาคมกีฬาฟุตบอลต่างๆ ได้กำหนดเกณฑ์หรือข้อบังคับทางกีฬาที่มีผลผูกพันสโมสรกีฬาฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เกณฑ์หรือข้อบังคับตามหลักระดับชั้น (hierarchy structure of competitions) เช่น กฎ UEFA 'Home Grown Player Rules ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปและกฎ FIFA 6+5 Rule ของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการจำกัดจำนวนของผู้เล่นจากต่างประเทศในสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น เป็นต้น โปรดดูเพิ่มเติมใน Majani, F., An excavation into the legal deficiencies of the FIFA 6 Plus 5 rules and the UEFA home-grown players rule in the eye of European Union Law, (2009) International Sports Law Journal 1/2, 19-25.
[7] Consequences of the Bosman Judgment, memorandum from Commissioners Van Miert, Flynn and Oreja, SEC (96) 212 of 2 February 1996.
[8] Lynam, I., ‘ 6+5 analysis of whether the proposal is fit for purpose’ (2009) W.S.L.R., 7(5), 14-16.
[9] Miettinen, S. and Parrish, R., 'Nationality Discrimination in Community Law: An Assessment of UEFA Regulations Governing Player Eligibility for European Club Competitions (The Home-grown Player Rule)' (2007) E.S.L.J.,5 (2).
[10] การแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีก (UEFA Champions League) และยูฟ่ายูโรป้าลีก (UEFA Europa League) เป็นการแข่งขั้นฟุตบอลอาชีพในระดับภูมิภาคยุโรปที่จัดและควบคุมการแข่งขันโดยสมาคมฟุตบอลยุโรป ดังนั้น สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพในที่เข้าร่วมการแข่งขันในการแข่งขันในการแข่งขันทั้งสองระดับ ต้องดำเนินการต่างๆให้เป็นไปตามกฎที่สมาคมกีฬาฟุตบอลยุโรปบัญญัติไว้ นอกจากนี้ สโมสรกีฬาฟุตบอลอาชีพต่างๆ ยังต้องปฏิบัติตามกฎของสมาคมกีฬาฟุตบอล (National Football Associations) หรือองค์กรกีฬาฟุตบอลอาชีพ (Football Governing Bodies) ในระดับต่างๆด้วย โปรดดูเพิ่มเติมใน Hornby, S., ‘ Sport in the EU: has self-regulation a future in the light of the Bosman case?’, International Trade Law & Regulation1995, 1(5), 181-185. และโปรดดู Slack, T. and Parent, M. T., Understanding Sport Organizations The Application of Organization Theory, 2nd , Illinois, Trevor Stack and Milena M. Parent, 2006, page 64.
[11] Manville, A., ‘The UEFA, the home-grown player rule and the Meca-Medina judgement of the European Court of Justice’ (2009) I.S.L.J., 1/2, 25-34.
[14] Bailey, D., ‘ The Independent Sports Review: Part 2’, S.L.A. & P., 2006, Aug, 5-9.
[15] Griffiths, S. and Drew, J., ‘ Developing the European dimension on sport’, Ent. L. R., 2011, 22 (5), 136 - 140.
[16] European Commission, Communication from the Commission to the European Parliament, the Council, the European Economic and Social Committee and the Committee of the Regions, 2011, p 2.
[17] Gardiner, S. and Welch, R., ‘ Bosman - there and back again: the legitimacy of playing quotas under European Union sports policy’, E.L.J., 2011, 17 (6), 828 - 849.
[18] Miettinen, S. and Parrish, R., 'Nationality Discrimination in Community Law: An Assessment of UEFA Regulations Governing Player Eligibility for European Club Competitions (The Home-grown Player Rule)' (2007) E.S.L.J.,5 (2).
[19] Majani, F., ‘ An excavation into the legal deficiencies of the FIFA 6 Plus 5 rule and the UEFA homegrown players rule in the eyes of the European Union law’, I.S.L.J., 2009, 1/2, 19-25.
[20] Manville, A., ‘ The UEFA, the home-grown player rule and the Meca-Medina judgement of the European Court of Justice’ (2009) I.S.L.J., 1/2, 25-34.
[21] Martins, B. R., ‘ Freedom of movement in relation to sport’, I.S.L.J., 2007, 1/2, 100 - 105, 107.
[22] Carr, A., ‘ A sporting chance - how EU law applies to the rules of sporting associations’, Comp. L.J. 2010, 9 (3), 358 - 370.
[23] European Commission, White Paper on Sport, European Commission, 2007, p 8.
[24] Commission of the European Communities, Commission Staff Working Document Action Plan "Pierre De Coubertin": Accompanying Document to the White Paper on Sport, Commission of the European Communities, p 3.
[26] โปรดดูคดีที่ศาลยุติธรรมยุโรปได้วินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพของนักกีฬาฟุตบอล (Freedom of movement for workers) ในคดี Case C-415/93 Union royale belge des sociétés de football association ASBL v Jean-Marc Bosman, Royal club liégeois SA v Jean-Marc Bosman and others and Union des associations européennes de football (UEFA) v Jean-Marc Bosman และคดี Case C-519/04 P. David Meca-Medina and Igor Majcen v. Commission of the European Communities
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|