มาตรการทางกฎหมายกีฬาเพื่อควบคุมการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษ |
|
|
|
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
น.บ. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รป.ม. (นโยบายสาธารณะ) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ LL.M. in Business Law Leicester De Montfort Law School นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร |
|
26 กุมภาพันธ์ 2555 20:58 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
[1] บทนำ
เกมกีฬาฟุตบอลยุคใหม่ได้ถูกพัฒนาการในประเทศอังกฤษมาเป็นเวลานาน ทำให้มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬาชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ย่อมมีที่มาจากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งกันระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลและนักกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับชั้นต่างๆ จากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมได้ แม้ว่าประเทศอังกฤษมีการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Football Association-FA) ในปี ค.ศ. 1869 อันเป็นองค์กรการกีฬา (Sport governing body) มีหน้าที่ในการกำหนดและบัญญัติกฎและข้อบังคับกีฬาฟุตบอล เพื่อให้เกิดมาตรฐานในเกมส์กีฬาฟุตบอลในระดับชั้นต่างๆ (Football rules and league management) และทำหน้าที่บัญญัติกฎเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของกีฬาฟุตบอลแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติของบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล
ปัญหาการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลเหยียดผิว (Racism) ถือเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งในเกมกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะเกมกีฬาฟุตบอลของอังกฤษประกอบด้วยผู้เล่นหลายเชื้อชาติและหลากวัฒนธรรม[1] ซึ่งการแสดงออกด้วยการกระทำการเหยียดผิว (racist abuse) นอกจากทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสื่อมเสียทำให้ผู้ถูกเหยียดผิวโกรธหรือเจ็บแค้นน้ำใจ การเหยียดผิวยังถือเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับสมาคมกีฬาในระดับชั้นต่างๆ และกฎหมายอาญาทางการกีฬาที่ก่อให้เกิดความผิดฐานเหยียดผิว (racist offences)
นอกจากเหตุการณ์การเหยียดผิว (racist incidents) ในการกีฬาจะก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจแก่ผู้เสียหายจากการเหยียดผิวแล้ว หากไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใดๆ ที่มาบังคับใช้ในเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลแล้ว ย่อมก่อให้เกิดการไร้ระเบียบวินัยในเกมกีฬาฟุตบอลและขาดธรรมภิบาลกีฬา ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะขึ้นเพื่อควบคุมการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษระหว่างผู้นักกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ โดยถือเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงในกีฬาฟุตบอลประการหนึ่ง[2]
ดังนั้น บทความฉบับนี้ประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจ ในหลักการของข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและสาระสำคัญของกฎหมายทางอาญาและกฎหมายการกีฬาของประเทศอังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษระหว่างผู้นักกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ เช่น กฎหมาย Football Spectators Act 1989 กฎหมาย Football (Offences) Act 1991 กฎหมาย Crime and Disorder Act 1998 และกฎหมาย Football (Offences and Disorder) Act 1999 เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เขียนประสงค์ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาได้รับทราบและตระหนักถึงปัญหาของการกีฬาเฉพาะด้าน เพื่อนำไปสร้างหรือกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลของประเทศไทยในอนาคต
[2] การเหยียดผิวกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ
[2.1] เสรีภาพการโยกย้ายถิ่นฐานนำไปสู่ความหลากหลายทางเชื้อชาติ
นักกีฬาอาชีพตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีเสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานเพื่อเหตุผลต่างๆทางด้านการกีฬา (Freedom of Movement) เช่น การเดินทางไปชมกีฬาฟุตบอล การเดินทางไปฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอล และการเดินทางเพื่อไปประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งเสรีภาพในการเดินทางหรือการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักกีฬาพึงได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ต้องการจะดำรงชีพของตนเองโดยการประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอล
ทั้งนี้ สนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 165 (Treaty on the Functioning of the European Union หรือ Lisbon Treaty) ได้กำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปว่าด้วยการสนับสนุนความร่วมมือด้านการกีฬาระหว่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดแนวทางในการขจัดปัญหาการเหยียดผิวหรือการกีดกันด้านชาติพันธุ์ด้วย (abolition of any discrimination) นอกจากนี้ สนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 45 ยังได้กำหนดแนวทางด้านเสรีภาพการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงานของประชาชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (freedom of movement of workers)[3] ดังนั้น นักกีฬาฟุตบอลที่แข่งขันอยู่ในสังกัดสโมสรกีฬาฟุตบอลในกลุ่มสหภาพยุโรปจึงได้รับการสนับสนุนให้สามารถโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพภายใต้หลักสนธิสัญญาลิสบอน
นอกจากนี้ สมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา (European Commission White Paper on Sport) ได้กำหนดแนวทางในเรื่องของเสรีภาพเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาอาชีพในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[4] เพื่อกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐาน[5]หรือการเดินทางเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลภายในตลาดกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[6] เช่น การโอนย้ายผู้เล่นระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (transfer players) เป็นต้น ทั้งนี้ เอกสารสมุดปกขาวดังกล่าวยังได้ให้กำหนดแนวทางในการต่อต้านการเหยียดผิว (racial discrimination) ระหว่างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่เป็นผู้เล่นในสโมสรหรือทีมในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอีกด้วย
ภายใต้หลักการของสนธิสัญญาลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬาที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มนุษย์มีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ[7] ย่อมทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่มีถิ่นฐานอยู่นอกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ย้ายมาทำการแข่งขันระดับต่างๆในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป[8] เช่น การย้ายจากประเทศอื่นในกลุ่มสหภาพยุโรปมาสู่การแข่งขันระดับต่างๆในประเทศอังกฤษ เป็นต้น อันถือเป็นการสนับสนุนแนวความคิดของการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อก่อให้เกิดตลาดเดียว (European Common Market) อีกประการหนึ่ง[9]
ดังนั้น ผลที่ตามมาจากแนวทางตามสนธิสัญญาลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา คือ การเกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติระหว่างผู้เล่น (Racial diversity) ในสโมสรกีฬาฟุตบอลเดียวกันหรือต่างสโมสรกีฬาฟุตบอล อันก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาสโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีการจ้างแรงงานนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติเข้ามายังประเทศอังกฤษหลายประการ ประการแรก นักกีฬาฟุตบอลจากต่างชาติที่มีทักษะดี อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาผู้เล่นของสโมสรท้องถิ่นที่ย้ายมาสังกัดให้ดีขึ้นได้ ด้วยการถ่ายทอดทักษะและเทคนิคที่ตนเองได้รับการฝึกฝนมาจากประเทศของตน ประการที่สอง การย้ายสังกัดของผู้เล่นต่างชาติที่มีทักษะสูงภายในการแข่งขันกีฬาระดับต่างๆ ย่อมทำให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลหรือสมาชิกสโมสรกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ มีความสนใจในกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆมากขึ้น ส่งผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ (Sponsors) ในระดับการแข่งขันต่างๆด้วย
แม้จะมีผลดีจากความหลากหลายทางเชื้อชาติระหว่างผู้เล่นดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น แต่อย่างไรก็ดี ความหลากหลายทางเชื้อชาติอาจทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งกันระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลและนักกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับชั้นต่างๆ จากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมได้ ทั้งนี้ ความหลากหลายทางเชื้อชาติระหว่างผู้เล่นหรือผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาจก่อให้เกิดการแสดงออกด้วยการกระทำการเหยียดผิว (Racist abuse) นอกจากทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสื่อมเสียทำให้ผู้ถูกเหยียดผิวโกรธหรือเจ็บแค้นน้ำใจ ทั้งนี้ เมื่อการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับต่างๆ ประกอบด้วยนักกีฬาและผู้ชมกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ มาขึ้น ย่อมทำให้เกิดปัญหาของการเหยียดผิว ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรง[10]ระหว่างนักกีฬาฟุตบอลหรือผู้ชมกีฬาฟุตบอลในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอล อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของสังคมการกีฬาได้[11]
ด้วยพัฒนาการที่ยาวนานของกีฬาฟุตบอลอาชีพของประเทศอังกฤษและมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลเป็นจำนวนมาก เช่น นักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล บุคลลากรสนับสนุนการแข่งขัน สโมสรกีฬาฟุตบอล และองค์กรของภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในแต่ละระดับชั้น เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษและองค์กรกีฬาฟุตบอลของอังกฤษในระดับต่างๆ (Football Governing Bodies)[12] จึงได้พยายามแสวงหากฎระเบียบทางการกีฬาและมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษ ทำให้การแข่งขันและการเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ กฎระเบียบและมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังสร้างธรรมภิบาลทางการกีฬาเพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมการกีฬาไปสู่อนาคตได้อีกประการหนึ่ง
[2.2] การเหยียดผิวลักษณะต่างๆในกีฬาฟุตบอลของอังกฤษ
การเหยียดผิวที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลนั้น แท้จริงแล้วมีหลายลักษณะหรือหลายเหตุการณ์ด้วยกัน (racist incidents) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการกระทำและบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและองค์กรกีฬาฟุตบอลในระดับชั้นต่างๆ ได้พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล เพราะนอกจากการป้องกันการเหยียดผิวจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมกีฬาแล้ว การป้องกันการเหยียดผิวยังอาจเป็นการป้องกันการกีดกันด้านต่างๆ (Discrimination) ที่อาจส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนอันถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลด้วย เช่น เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในการจ้างงาน (Unequal employment conditions) ชาติพันธุ์นิยม (Ethnocentrism) และความหวาดกลัวผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Islamophobia) เป็นต้น
การกระทำการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลสมัครเล่นและการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพ ยังประกอบด้วยการกระทำหลายลักษณะในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นการกระทำการเหยียดผิวระหว่างนักกีฬาฟุตบอลด้วยกันเอง การกระทำการเหยียดผิวระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลกับนักกีฬาฟุตบอลและการกระทำการเหยียดผิวระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอื่นๆ เช่น[13]
- การกระทำการดูหมิ่นและเหยียดหยาม (racist chants and slanders) ต่อผู้เล่นกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอลทั้งต่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามของทีมตนเองและผู้เล่นฝ่ายเดียวกับตนเอง
- การส่งเสียงโห่ร้องหรือล้อเลียน (monkey sounds) ต่อผู้เล่นผิวสี เมื่อผู้เล่นดังกล่าวกำลังครอบครองลูกฟุตบอล
- การขว้างปาสิ่งของหรือเปลือกกล้วยลงไปในสนามกีฬาฟุตบอล
- การถ่มน้ำลายและการเทเบียร์ราดผู้เล่นกีฬาฟุตบอลผิวสี
- การใช้คำพูดและการส่งสัญลักษณ์ที่มีความหมายในทางลบต่อผู้เล่นกีฬาฟุตบอลหรือผู้ชมกีฬาฟุตบอลฝ่ายตรงกันข้าม
- การใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมหรือการวิพากวิจารย์โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่อผู้เล่นกีฬาฟุตบอล เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี องค์กรกีฬาฟุตบอลในระดับชั้นต่างๆ ได้ทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติหลายองค์กร ได้รับรู้ปัญหา(Awareness) และพยายามหาแนวทางในการขจัดปัญหาการเหยียดผิวระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลหรือระหว่างนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องในกีฬาฟุตบอลด้วยวิธีการกำหนดกฎเกณฑ์และข้อบังคับทางการกีฬา นอกจากนี้ สื่อมวลชนด้านกีฬายังมีบทบาทที่สำคัญในการตรวจสอบและนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเหยียดผิวระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลหรือระหว่างนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องในกีฬาฟุตบอล[14] (media attention) ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น การนำเสนอภาพข่าวที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและการวิเคราะห์ข่าวสารด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
[3] ข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษกับการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association - FA) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1863 ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานในกีฬาฟุตบอลโดยกำหนดกฎและข้อบังคับต่างๆ ที่สมาคมหรือสโมสรฟุตบอลทั้งหลายในประเทศอังกฤษต้องปฏิบัติตามโดยกฎและข้อบังคับของกีฬาฟุตบอลได้กำหนดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดกฎของเกมกีฬาฟุตบอล (Laws of the Game) และกฎของสมาคมดังกล่าว (The Rules of The Association) สามารถกำหนดมาตรการในการลงโทษ (penalize) สโมสรฟุตบอลหรือนักกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนกฎหรือข้อบังคับของสมาคม
นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษยังก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเล่นเกมกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นธรรม (Fairplay) ภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬา (Sports Governance) ที่ว่าเกมกีฬาไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นกีฬาฟุตบอลอาชีพและผู้ชมกีฬาฟุตบอล ต้องประพฤติและปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบของสมาคมฟุตบอลและกฎหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้[15] เช่น การกำหนดมาตรการป้องกันความรุนแรงระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอล เพื่อไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลแสดงพฤติกรรมรุนแรงหรือก่ออาชญากรรม เป็นต้น
ในส่วนของการป้องกันการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ กฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับต่างๆ ใช้ความรุนแรงในการชมกีฬาฟุตบอล (Prevent spectator violence and hooliganism on English football grounds) เช่น การห้ามใช้วาจาดูหมิ่นเชื้อชาติและเหยียดผิวผู้ชมกีฬาฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น
ดังนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษจึงได้บัญญัติข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและกฎของเกม (Rules of the Association and Laws of the Game) ขึ้น[16] เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและมาตรการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของอังกฤษ โดยรวมไปถึงหลักเกณฑ์และข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษกับการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ซึ่งข้อบังคับฉบับนี้ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษสามารถบังคับใช้กับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆในอังกฤษ เช่น บาร์เคลย์ พรีเมียร์หรือพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ (Barclays Premier League) ที่เป็นฟุตบอลลีกระดับชั้นที่สูงที่สุดในการแข่งกีฬาฟุตบอลอาชีพของอังกฤษและฟุตบอลลีก (Football League) ที่ประกอบด้วยเอ็นพาวเวอร์แชมเปียนชิพ (Npower Championship) เอ็นพาวเวอร์ลีก 1 (Npower League 1) และเอ็นพาวเวอร์ลีก 2 (Npower League 2) เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อบังคับฉบับนี้ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษสามารถนำมาบังคับใช้กับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆในอังกฤษหรือลีกระดับต่างๆของอังกฤษ ถือเป็นไปตามหลักสายการการบังคับบัญชา (Football Pyramidal System) ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลสามารถควบคุมและออกกฎเพื่อกำกับดูแลการแข่งขันในระดับต่างๆหรือลีกต่างๆ โดยลีกต่างๆต้องออกระเบียบและกฎของการแข่งขันไม่ให้ขัดหรือแย้งกับระเบียบและกฎของสมาคมกีฬาฟุตบอล[17]
ข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและกฎของเกม ได้กำหนดส่วนอันเป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษไว้ ได้แก่
[3.1] บันทึกความเข้าใจของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Memorandum of Association)
บันทึกความเข้าใจของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่ได้กำหนดข้อตกลงให้สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและสโมสรฟุตบอลต่างๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทของอังกฤษ ได้แก่ กฎหมาย Companies Acts ฉบับปี ค.ศ.1862 - 1989 โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้กำหนดแนวทางและวัตถุประสงค์ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่ได้กำหนดให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีหน้าที่ในการกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลที่มีความสมบูรณ์และสามารถกำหนดแนวทางในการกำหนดข้อบังคับและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นธรรมและเพื่อป้องกันการละเมิดกฎและข้อบังคับต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาฟุตบอล ทั้งนี้ การกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลอังกฤษภายใต้การดำเนินงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษ ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันการเลือกปฏิบัติ(discrimination) บนพื้นฐานของความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ และความพิการทางกาย[18]
[3.2] กฎของสมาคมกีฬาฟุตบอล (Rules of the Association)
กฎของสมาคมกีฬาฟุตบอลได้กำหนดเกี่ยวกับพฤติกรรมทั่วไปในกีฬาฟุตบอล (General behavior) ที่ได้กำหนดแนวทางให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ได้กระทำการต่างๆให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมและไม่สร้างความเสื่อมเสียต่อเกมกีฬาฟุตบอล โดยรวมไปถึงพฤติกรรมความรุนแรง พฤติกรรมที่คุกคามและการใช้ถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น (insulting words) อันถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล[19] นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมกฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Regulatory Commission) สามารถพิจารณาบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนกฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ[20]โดยการแบ่งแยกสีผิวและชาติพันธุ์ [21] ของผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลในระดับชั้นต่างๆ
ทั้งนี้ หากมีนักกีฬาฟุตบอลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลกระทำการดูหมิ่นเชื้อชาติหรือเหยียดผิวนักกีฬาฟุตบอลคนอื่นหรือผู้เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขันอื่นๆ ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล อันเป็นการฝ่าฝืนกฎของสมาคมกีฬาฟุตบอลดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น คณะกรรมการกำกับกิจการฟุตบอลของสมาคมกีฬาฟุตบอล (Regulatory Commissions of the FA) มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดกฎของสมาคม[22] โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจในการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนและกำหนดโทษทางการกีฬาแก่ผู้กระทำความผิด เช่น โทษห้ามแข่งขันกีฬาฟุตบอลตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด (Stay of the match suspension) และโทษปรับ (Fine) เป็นต้น[23]
[3.3] กฎการขึ้นทะเบียนและควบคุมผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Regulations for the Registration and Control of Referees)
สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในการสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการตัดสินกฎและกติกาต่างๆของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬาด้วย ดังนั้น กฎการขึ้นทะเบียนและควบคุมผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงถูกบัญญัติขึ้น เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการตัดสินการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับต่างๆ (Referees) ซึ่งสโมสรกีฬาฟุตบอลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษ (Affiliated associations) มีหน้าที่ต่างปฏิบัติตามกฎการขึ้นทะเบียนและควบคุมผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลอังกฤษเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการตัดสินที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันและสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของอังกฤษ
นอกจากนี้ กฎการขึ้นทะเบียนและควบคุมผู้ตัดสินของสมาคมฟุตบอลอังกฤษยังได้กำหนดมาตรฐานในการตัดสินกีฬาฟุตบอลโดยการตัดสินกีฬาฟุตบอลของผู้ตัดสินในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) จากความแตกต่างทาง เพศ รสนิยมทางเพศ สถานะทางครอบครัว สถานะทางการเงิน ความเชื่อทางศาสนา การพิการทางกาย และรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันทางสีผิวและเชื้อชาติในการตัดสินกีฬาฟุตบอลอีกด้วย[24]
[3.4] นโยบายด้านความเท่าเทียมของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Football Association Equality Policy)
สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษได้กำหนดนโยบายด้านความเท่าเทียมของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและกฎของเกม ค.ศ. 2010-2011 ที่ได้กำหนดให้สมาคมกีฬาฟุตบอลต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน (Commitment) ในการขจัดการกีดกันด้านเชื้อชาติและสีผิว ทั้งนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำอันเป็นการกีดกันด้านสิทธิและทางการกีฬาฟุตบอลต้องได้รับการเยียวยาจากนโยบายและข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ทั้งนี้ หากมีผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลได้การกระทำการละเมิดที่เกียวกับการเหยียดผิว (racially based harassment) บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับการลงโทษในอัตราโทษที่เหมาะสมกับพฤติการประกอบการกระทำนั้นๆ ภายใต้กฎหมายหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมของมนุษย์หรือ Equality Act 2010[25] ของอังกฤษ[26]
นอกจากนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษยังได้กำหนดนโยบายที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและผู้อำนวยการด้านธรรมาภิบาลกีฬาฟุตบอลและข้อบังคับ (Board of the FA and the Director of Football Governance and Regulation) ในการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติเพื่อกำจัดการกีดกันสิทธิทางกีฬาฟุตบอลในรูปแบบต่างๆ
[3.5] บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีพิจารณาการฝ่าฝืนกฎและข้อบังคับ (Memorandum of Procedures)
เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและกฎของเกมดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท (Disciplinary Commission) ที่ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษ มีอำนาจดุลพินิจในการวินิจฉัยความผิดเกี่ยวกับการกีดกันด้านเชื้อชาติและสีผิว เพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำอันเป็นการกีดกันด้านสิทธิและทางการกีฬาฟุตบอล (act of discrimination) ต้องได้รับการเยียวยาจากนโยบายและข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลอังกฤษตามหลักเกณฑ์ในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีพิจารณาการฝ่าฝืนกฎและข้อบังคับ[27]
นอกจากแล้วบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีพิจารณาการฝ่าฝืนกฎและข้อบังคับที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องข้อพิพทางที่เกี่ยวกับการกีดกันทางเชื้อชาติและสีผิว สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษยังได้กำหนดคู่มือการดำเนินการทางวินัยของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษ (FA Discipline Handbook) เพื่อกำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการพิจารณาข้อพิพาทของสมาคมกีฬาฟุตบอล เช่น การกล่าวหา การลงโทษ การปรับ และการอุทธรณ์ เป็นต้น[28]
[3.6] มาตรฐานกฎของสโมสรฟุตบอล (Standard Club Rules)
สมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษได้จัดทำมาตรฐานกฎของสโมสรฟุตบอลอังกฤษขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดทำกฎและข้อบังคับของสโมสรกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ให้มีความสอดคล้องและมีมาตรฐานเดียวกันในการกำหนดปทัสถานเพื่อสร้างธรรมาภิบาลกีฬาฟุตบอลภายใต้หลักเกณฑ์และข้อบังคับแบบเดียวกัน โดยมาตรฐานกฎของสโมสรฟุตบอลอังกฤษได้กำหนดข้อแนะนำว่ากฎแต่ละข้อของสโมสรกีฬาฟุตบอลต่างๆ ควรมีข้อบังคับประการใดบ้าง (Suggested rules)[29] ซึ่งข้อบังคับแต่ละข้อของสโมสรกีฬาฟุตบอลต่างๆ ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษและกฎของเกมรวมไปถึงนโยบายความเท่าเทียมและข้อบังคับในเรื่องการเลือกปฏิบัติอีกด้วย
[4] มาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษในความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษ
รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษ[30] ในความผิดฐานเหยียดผิวโดยทั่วไปและการเหยียดผิวที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิว (Racist behavior)[31] ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายใต้สังคมที่ประกอบด้วยการอาศัยอยู่ของผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายภาษาและหลายวัฒนธรรมมาอยู่รวมกันและเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Human dignity) ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นในสังคมโดยไม่ถูกกีดกันหรือแบ่งแยกชาติพันธุ์และสีผิว สำหรับมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษในความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษประกอบด้วยกฎหมายอังกฤษที่สำคัญหลายฉบับ ดังต่อไปนี้
[4.1] กฎหมาย Public Order Act 1986
กฎหมาย Public Order Act 1986[32] ภาคสาม[33] กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของการควบคุมการเหยียดผิวจากพฤติกรรมการยั่วยุให้เกลียดชังทางเชื้อชาติหรือสีผิว (incitement to racial hatred)[34] ที่กำหนดให้ผู้กระทำการอันเป็นการยั่วยุให้ผู้อื่นถูกเกลียดชังทางเชื้อชาติหรือกระทำการเหยียดผิว โดยการคุกคาม การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม และการดูหมิ่น (threatening, abusive or insulting) โดยเจตนาก่อให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ได้ถูกบัญญัติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมพฤติกรรมการยั่วยุให้เกลียดชังทางเชื้อชาติหรือเหยียดผิวโดยทั่วไป อันอาจทำให้ผู้ที่ถูกกระทำได้รับความเกลียดชังจากสังคมหรือถูกเลือกปฏิบัติจากบุคคลทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ไม่รวมการเหยียดหยามทางศาสนาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้อันเป็นการเฉพาะ
[4.2] กฎหมาย Football Offences Act 1991
กฎหมาย Football Offences Act 1991 มาตรา 3[35] ได้กำหนดความผิดฐานการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลไว้เป็นการเฉพาะ (racist chants at football matches) ที่ได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการป้องกันการเหยียดผิวภายในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ เช่น พรีเมียร์ลีก เป็นต้น โดยการกระทำความผิดดังกล่าวอาจเป็นการกระทำความผิดโดยมีผู้กระทำความผิดเพียงคนเดียวหรือมีตัวการร่วมกันในการกระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต้องมีการกระทำ เช่น การเหยียดสีผิว(colour) เหยียดเชื้อชาติ (race) เหยียดสัญชาติ (nationality) รวมไปถึงเหยียดฐานะความเป็นพลเมือง (citizenship) และ ต้นกำเนิดหรือที่มา (national origin) เป็นต้น ซึ่งโดยมากความผิดฐานนี้ ผู้ที่ถูกดูเหยียดผิวมักเป็นคนผิวดำและชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ
กฎหมาย Football Offences Act 1991 มาตรา 3 ได้กำหนดโทษของผู้กระทำความผิดฐานนี้ไว้ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลต้องถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าชมหรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลทั้งในประเทศและต่างประเทศ (banned from attending football matches both in this country and abroad) โดยการออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มีพฤติกรรมเหยียดผิว (Banning Order) เพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มีพฤติกรรมเหยียดผิว เช่น การออกคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล (banning orders to surrender their passports) เป็นต้น
[4.3] Crime and Disorder Act 1998
กฎหมาย Crime and Disorder Act 1998 เป็นกฎหมายที่กำหนดขอบเขตของฐานความผิดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากการเหยียดผิวและเชื้อชาติ นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ถูกแก้ไขโดย กฎหมายอาชญากรรมการก่อการร้ายและความมั่นคง หรือกฎหมาย Anti-terrorism Crime and Security Act 2001 ที่ได้ขยายขอบเขตของฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวและเชื้อชาติอีกด้วย เช่น การกระทำการเหยียดผู้คนศาสนาอื่นๆ เป็นต้น[36]
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการคุ้มครองศักดิ์ศรีของมนุษย์ สองกลุ่มที่สำคัญด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก กลุ่มคนผิวสีและต่างชาติพันธุ์ (Racial group) กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวได้สร้างมาตรการในการคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิว ให้ได้รับความคุ้มครองจากการเหยียดผิวหรือการดูหมิ่นเชื้อชาติ[37] ประการที่สอง กลุ่มคนที่นับถือศาสนาที่ต่างกัน (religious group) กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้ยังมุ่งประสงค์ที่คุ้มครองบุคคลที่ต่างศาสนาและความเชื่อ (religious belief) จากการดูหมิ่นจากคนที่นับถือศาสนาที่แตกต่างจากตนเอง โดยผู้ที่กล่าวอ้างสิทธิและศักดิ์ศรีของตนได้รับการกระทบจากการเหยียดผิวหรือดูหมิ่นศาสนา จะต้องมีหน้าที่นำสืบหรือกล่าวอ้างพฤติกรรมความเป็นปรปักษ์ (Hostility) จากผู้กระทำความผิดตามกฎหมายฉบับดังกล่าว[38]
[4.4] Racial and Religious Hatred Act 2006
กฎหมาย Racial and Religious Hatred Act 2006 ได้กำหนดมาตรการเฉพาะในการควบคุมการยุยงให้เกิดความเกลียดชังระหว่างผู้มีความเชื่อทางศาสนาหรือนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน (Stirring up religious hatred) โดยถือเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่แตกต่างจากกฎหมายทั้งสามฉบับที่ได้กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้ได้สร้างมาตรการเฉพาะในการกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำการยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นศาสนา โดยการกระทำในลักษณะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการดูหมิ่นศาสนาอื่นๆ เช่น การเขียน การใช้ถ้อยคำ และการแสดงพฤติกรรมอื่นๆที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น อันเป็นแสดงเจตนาการยุยงให้เกิดความเกลียดชังศาสนาอื่นๆ ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องมีการแสดงเจตนาที่จะกระทำความผิดดังกล่าว
[5] ความสัมพันธ์ระหว่างข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลกับกฎหมายอาญาทางการกีฬา
จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ทั้งข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกฎหมายอาญาทางการกีฬาในการควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันในการควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวที่มีสาเหตุมาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอล ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล เช่น การเหยียดผิวระหว่างนักกีฬาฟุตบอลกับนักกีฬาฟุตบอลด้วยกันและการเหยียดผิวระหว่างนักกีฬาฟุตบอลกับผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งการเหยียดผิวหรือเชื่อชาติในลักษณะต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดความบาดหมางและผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ถูกเหยียดผิว นอกจากนี้ ยังถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกฎหมายอาญาทางการกีฬา
ข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกฎหมายอาญาทางการกีฬาแม้จะมีความแตกต่างกันในด้านที่มา กล่าวคือ ข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษมีฐานมาจากความสัมพันธ์ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทของอังกฤษหรือกฎหมาย Companies Acts 1862 ถึง1989 สถานะของสมาคมฟุตบอลอังกฤษเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน โดยสมาคมฟุตบอลที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลที่สามารถกำหนดข้อบังคับนิติบุคคลในการควบคุมสมาชิกของตนและผู้เกี่ยวข้องกับการกีฬาฟุตบอล (Self-regulation) ในทางตรงกันข้าม กฎหมายอาญาทางการกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวถือเป็นกฎหมายที่ภาครัฐได้ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางการกีฬาหรือป้องกันเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงในทางการกีฬาได้และได้กำหนดโทษทางอาญาไว้อย่างชัดเจน เช่น การออกคำสั่งห้ามเพื่อควบคุมผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มีพฤติกรรมเหยียดผิว เป็นต้น
แม้ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยโทษที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติของสมาคมกีฬาฟุตบอลของอังกฤษดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น (Sporting tribunal’s disciplinary decision) สามารถวินิจฉัยข้อพิพาทหรือกำหนดโทษทางกีฬาตามข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษที่ว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล แต่อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยข้อพิพาทหรือกำหนดโทษทางกีฬาของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาศาลอังกฤษและกฎหมายอาญาทางการกีฬาภายใต้หลักกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)[39] นอกจากนี้ ในประเด็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรืออาจกระทบต่อสาธารณะชน (Public function) ศาลอังกฤษแก้ไขหรือกลับคำวินิจฉัยของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษหรือองค์กรกีฬาอื่น (Judicial review of Sports Governing Bodies) ที่ได้วินิจฉัยมาก่อนแล้ว
[6] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
กฎหมายกีฬาและกฎหมายอาญาทางการกีฬาของอังกฤษได้กำหนดมาตรการหลักที่สำคัญในการควบคุมการเหยียดผิวที่อาจก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือพฤติกรรมอื่นๆที่ไม่เหมาะสมในเกมกีฬาฟุตบอลอื่นๆ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในกีฬาฟุตบอลไม่ว่าจะเป็น ผู้ชมกีฬาฟุตบอล นักกีฬาฟุตบอลอาชีพ กรรมการตัดสินกีฬาฟุตบอล และผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอล ต้องตระหนักถึงผลร้ายของพฤติกรรมการเหยียดผิวและเชื้อชาติและตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการกีฬาที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิว ดังนั้น การกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งกันระหว่างผู้ชมกีฬาฟุตบอลและนักกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับชั้นต่างๆ จากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม ย่อมก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันหรือเกมกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ นอกจากนี้ การคุ้มครองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอล ย่อมไม่ควรถูกกีดกันหรือแบ่งแยกชาติพันธุ์และสีผิว
ทั้งนี้ ข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลอังกฤษว่าด้วยการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษในความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันในการควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิว ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายใต้สังคมที่ประกอบด้วยการอาศัยอยู่ของผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายภาษาและหลายวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันได้และสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลในการแข่งขันระดับต่างๆในประเทศอังกฤษ เช่น การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (FA Premier League) และการแข่งขันแชมป์เปี้ยนชิพอังกฤษ (Football League Championship) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าภาคเอกชนของประเทศไทยได้มีการพัฒนาฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก (Sponsor Thai Premier League) ที่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับประเทศ โดยการแข่งขันดังกล่าวได้ประกอบด้วยกฎและข้อบังคับต่างๆเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลในด้านต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนากฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการแข่งขันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ทั้งนี้ เกมการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องหลายระดับที่มีที่มาจากหลายเชื้อชาติและสีผิว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎระเบียบเพื่อควบคุมพฤติกรรมการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลของไทยในระดับต่างๆ ที่ประกอบด้วยผู้เล่นกีฬาฟุตบอลอาชีพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมการกีฬาและก่อให้เกิดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่เป็นธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬาฟุตบอล
แม้จะมีแนวคิดจาก บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ที่เป็นองค์กรเอกชนหลักในการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ในการจัดทำและพัฒนาระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันพฤติกรรมการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอล แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐของไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายอาญาทางกีฬาเป็นการเฉพาะเพื่อสอดคล้องกับควบคุมพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ที่กำลังมีพัฒนาการของการแข่งขันในระดับต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยการแข่งขันในระดับต่างๆได้มีการว่าจ้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลไทยในระดับต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีความจะเป็นที่ต้องมีการจัดทำมาตรการทางกฎหมายกีฬาทางอาญาหรือกฎหมายมหาชนทางการกีฬาเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดมาตรการทางอาญาในการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดฐานเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลหรือเกมกีฬาฟุตบอล เพื่อสร้างปทัสถานที่ดีสำหรับการเล่นกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นธรรมภายใต้หลักธรรมภิบาลกีฬาฟุตบอลในอนาคต
[1] นอกจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพ ยังไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ (Ethnicity) ของผู้เล่นกีฬาฟุตบอลแล้ว การแข่นขันกีฬาฟุตบอลอาชีพมิได้จำกัดชนชั้นของผู้เล่นกีฬาฟุตบอลด้วย โปรดดูเพิ่มเติมใน Phillips, C. and Rod, E., Reading difference differently? Identity, epistemology and prison ethnography, British Journal of Criminology, 2010, 50 (20), 360-376.
[2] นอกจากนี้ กรรมกาธิการยุโรป (European Commission) มีบทบาทต่อการควบคุมการใช้ความรุนแรงในเกมกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอล (Football grounds) ทั้งนี้ รวมไปถึงปัญหาการเหยียดผิวที่อาจเป็นอันตรายต่อบทบาทและค่านิยมทางการกีฬา ที่มุ่งเน้นความสามัคคีและการแข่งขันที่เป็นธรรมภายใต้พื้นฐานค่านิยมของสหภาพยุโรปที่มุ่งเน้นให้การกีฬา เป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสามัคดีระหว่างนักกีฬาที่มาจากต่างเชื้อชาติและภาษา โปรดดู Griffiths, S. and Drew, J., Developing the European dimension in Sport, Entertainment Law Review, 2011, 22(5), 136-140.
[3] European Commission, Communication from the Commission to the European Parliament, the Council, the European Economic and Social Committee and the Committee of the Regions, 2011, p 2.
[4] European Commission, White Paper on Sport, European Commission, 2007, p 8.
[5] Commission of the European Communities, Commission Staff Working Document Action Plan "Pierre De Coubertin": Accompanying Document to the White Paper on Sport, Commission of the European Communities, p 3.
[7] นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานไว้เพื่อปกป้องสิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่างๆ โดยศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (European Court of Justice) ภายใต้กฎของสมาคมกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ โปรดดู คีด Dona v. Mantero [1976] ECR 1333 และ คดี Case C-415/93 Union Royale Belge Sociétés de Football Association and others v Bosman [1995] ECR I-4921
[8] แม้ว่าความตกลงลิสบอนและสมุดปกขาวของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยการกีฬา ได้สนับสนุนแนวคิดของเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลเพื่อการแข่งขันในระดับชั้นต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี สมาคมกีฬาฟุตบอลต่างๆ ได้กำหนดเกณฑ์หรือข้อบังคับทางกีฬาที่มีผลผูกพันสโมสรกีฬาฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เกณฑ์หรือข้อบังคับตามหลักระดับชั้น (hierarchy structure of competitions) เช่น กฎ UEFA 'Home Grown Player Rules ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปและกฎ FIFA 6+5 Rule ของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการจำกัดจำนวนของผู้เล่นจากต่างประเทศในสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่น เป็นต้น โปรดดูเพิ่มเติมใน Majani, F., An excavation into the legal deficiencies of the FIFA 6 Plus 5 rules and the UEFA home-grown players rule in the eye of European Union Law, (2009) International Sports Law Journal 1/2, 19-25.
[9] Consequences of the Bosman Judgment, memorandum from Commissioners Van Miert, Flynn and Oreja, SEC (96) 212 of 2 February 1996.
[10] Beloff, M. J., Kerr, T. and Demetriou, M., Sports law, Hart, Oxford, 1999, page 33.
[11] Greenfield, S. and Osborn, G., Law and sport in contemporary society, Routledge: London, 2000, page 183.
[12] Taylor, M., The leaguers : the making of professional football in England, 1900-1939, Liverpool University Press, Liverpool, 2005, page 3.
[13] แท้จริงแล้วการกีดกันทางการกีฬา (Discrimination) ได้เกิดขึ้นในหลายลักษณะ ซึ่งองค์กรกีฬาในระดับต่างๆ พยายามแสวงหาแนวทางในการป้องกันโดยอาศัยหลักความเท่าเทียมภายใต้กฎเกณฑ์ทางการกีฬา โปรดดูเพิ่มเติมใน European Union Agency for Fundamental Rights, Racism, ethnic discrimination and exclusion of migrants and minorities in sport: The situation in the European Union, European Union Agency for Fundamental Rights, 2010, page 30.
[14] ผู้เกี่ยวข้องในที่นี้ อาจหมายความรวมทั้ง ผู้เล่น (player) ผู้ชมการแข่งขัน (spectator) ผู้ฝึกสอน (coach) กรรมการ (referees) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (officials)
[15] Garland, J. and Rowe, M., Racism and Anti-Racism in Football, Entertainment and Sports Law Journal, 2005, 2(1), 111-112.
[16] โดยการออกกฎดังกล่าว ถือเป็นการออกกฎเกณฑ์และข้อบังคับตามหลักการออกกฎเพื่อควบคุมตนเอง (Self-regulation) กล่าวคือ องค์กรกีฬาต่างๆสามารถออกกฎเพื่อใช้สร้างหลักเกณฑ์สำหรับกีฬาชนิดต่างๆและควบคุมเพื่อให้มีการเล่นกีฬาทั้งกีฬาอาชีพและสมัครเล่นอย่างถูกต้องและสร้างเกมกีฬาที่เป็นธรรม (Fairplay) โปรดดูเพิ่มเติมใน Hornby, S., Sport in the EU: has self-regulation a future in the light of the Bosman case?, International Trade Law & Regulation1995, 1(5), 181-185. และโปรดดู Slack, T. and Parent, M. T., Understanding Sport Organizations The Application of Organization Theory, 2nd , Illinois, Trevor Stack and Milena M. Parent, 2006, page 64.
[17] ตัวอย่างเช่น ข้อบังคับของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฤดูกาลที่ 2011/12 (Premier League Season 2011/12) ข้อที่ 23 ส่วนที่ห้า ที่ได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่อง นโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในกีฬาฟุตบอล (Anti-Discrimination Policy) เป็นต้น โปรดดู Barclays Premier League, Premier League Handbook Season 2011/12, Football Association Premier League, 2011, page 396.
[18] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Memorandum of Association, Rule E 3 (2)(b)
[19] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Rules of the Association, Rule E 3 (1)
[20] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Rules of the Association, Rule E 3 (4)
[21] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Rules of the Association, Rule E 3 (2)
[22] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Rules of the Association, Rules E3(1) และ E3(2) (General Behavior)
[24] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Regulations for the Registration and Control of Referees, Preamble
[26] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Football Association Equality Policy
[27] Rules and Regulations of The Association Season 2011-2012, Memorandum of Procedures, Rule 7.7
[28] Football Association, Discipline Handbook 2011/2012 Season, Football Association, 2011, page 2.
[29] Football Association, Discipline Handbook 2011/2012 Season, Football Association, Standard Club
[30] Beloff, J. M., Editorial, International Sports Law Review, 2004, 3(Aug), 63-64.
[31] Gardiner, S., Racism and British sport, Sport Law Bulletin, 2003, 6(4), 1-2, 8.
[33] กฎหมายฉบับนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากอนุสัญญาแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) ที่วางหลักเกณฑ์ในด้านเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ตามมาตรา 10 แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 17 ของอนุสัญญาดังกล่าว ได้วางหลักเกณฑ์ว่าการแสดงออกด้านต่างๆต้องไม่กระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น เช่น พฤติกรรมการเหยียดผิว เป็นต้น
[34] Deards, E., ‘ Human rights for football hooligans?’, (2002) European Law Review, 27 (2), 206-217.
[37] โปรดดูคำวินิจฉัยที่ชาวอินเดียซิกซ์ ได้รับการเหยียดผิวและเชื้อชาติในดคี Mandla (Sewa Singh) and another v Dowell Lee and others [1983] 2 AC 548 ที่ศาลอังกฤษได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่อง Racial group จนนำไปสู่การบัญญัติมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในอังกฤษ นอกจากนี้ โปรดดูคำพิพากษาของศาลอังกฤษ ในคดี DPP v McFarlane (2002) EWHC 485 คดี DPP v Woods (2002) EWHC และคดี R v Rogers (2007) 2 W.L.R. 280 ที่ศาลอังกฤษได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องการเหยียดผิวและการเหยียดศาสนาไว้
[38] Rose, G. and Burney, E., Racist offences - how is the law working? The implementation of legislation on racially aggravated offences in the Crime and Disorder Act 1998, Home Office Research, 2002, pages 107-108.
[39] O’Leary, L., The RFL’s ‘club-trained rule’: the case for judicial review, International Sports Law Review, 2009, 2, 15-20.
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|