หน้าแรก บทความสาระ
บทสรุปรายงานวิจัย เรื่อง แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนที่ 1)
ผศ. ณรงค์เดช สรุโฆษิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
12 กุมภาพันธ์ 2555 21:31 น.
 
1. ระเบียบวิธีวิจัย
              1.1 ความเป็นมาและความสำคัญปัญหา
                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ได้จำแนกการสิ้นสุดลงของพรรคการเมืองออกเป็น 3 ลักษณะอันได้แก่ (1) การสิ้นสภาพพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกรณีที่พรรคการเมืองมิได้ดำเนินการตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำรงสถานะพรรคการเมือง เช่น การไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน หรือไม่มีการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี โดยมิได้มีเหตุอันสมควร (2) การเลิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุต้องเลิกพรรคตามข้อบังคับพรรคการเมืองหรือมีการควบรวมพรรคการเมือง และ (3) การยุบพรรคการเมือง ซึ่งโดยหลักจะเป็นกรณีที่พรรคการเมืองกระทำผิดกฎหมายร้ายแรงเช่น กระทำการล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลทางกฎหมายของการสิ้นสุดลงของพรรคการเมืองทั้ง 3 ลักษณะไว้เป็นการเฉพาะ
                   ในทางทฤษฎีนั้น การสิ้นสุดลงของพรรคการเมืองในลักษณะที่ (1) และ (3) จัดว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันคือ เป็นการใช้อำนาจรัฐทำให้สถานะความเป็นพรรคการเมืองสิ้นสุดลงโดยที่สมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวมิได้สมัครใจ ดังเช่นที่เรียกกันในตำราของต่างประเทศว่า Forced Closure หรือ Involuntary Dissolution ซึ่งในงานวิจัยฉบับนี้ หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นตามบริบทของแต่ละเรื่อง โดยทั่วไป จะเรียกการสิ้นสุดลงของพรรคการเมืองในลักษณะที่ (1) และ (3) รวมกันว่า การยุบพรรคการเมือง เช่นที่ใช้ชื่องานวิจัยฉบับนี้ว่า แนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง เพื่อให้สั้น กระชับ และสะดวกแก่การอธิบาย ส่วนการสิ้นสุดลงของพรรคการเมืองในลักษณะที่ (2) ซึ่งเรียกกันว่า Voluntary Closure/ Dissolution นั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ ทั้งที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในข้อบังคับพรรค โดยระบุเกี่ยวกับเหตุแห่งการเลิกพรรคการเมือง หรือที่สมาชิกพรรคมาประชุมใหญ่ร่วมกันตกลงใจควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น
                   ปัญหาก็คือ เมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองในทางทฤษฎี ที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้แทนและประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อผลักดันอุดมการณ์ดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองไทยในความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการรวมกลุ่มของผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันทางการเมือง เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. และเป็นรัฐบาล สะท้อนลักษณะของพรรคการเมืองไทยที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชนชั้นนำในพรรคและทุนทางการเมือง ส่งผลให้พรรคการเมืองไทยไม่อาจพัฒนาไปถึงสภาพที่พึงประสงค์ตามทฤษฎีพรรคการเมืองดังกล่าวได้ สาเหตุหลักประการหนึ่งก็คือ การขาดกลไกที่เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง และความไม่ต่อเนื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กฎหมายเปิดช่องให้พรรคการเมืองถูกยุบหรือสิ้นสภาพได้ง่ายจนเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันและที่มีโครงสร้างและการบริหารงานภายในเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างแล้วซึ่งแม้จะมีเป็นส่วนน้อย การยุบพรรคการเมืองก็ยิ่งถือเป็นมาตรการที่กระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของสมาชิกคนอื่น ๆ ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการยุบพรรคเป็นผลมาจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายพรรคการเมืองโดยกรรมการหรือสมาชิกพรรคเพียงบางคน
                   ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาในเบื้องต้นว่า หลักเกณฑ์การยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมือง ทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและในกฎหมายพรรคการเมือง และที่เป็นผลจากการตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาพรรคการเมืองไทยหรือไม่ และเป็นหลักเกณฑ์ที่ละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนหรือไม่ เนื่องจาก ไม่เพียงแต่เฉพาะรัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมาจนถึงฉบับปัจจุบันได้รับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้เท่านั้น หากแต่ยังมีการรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคีอีกด้วย อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ฉะนั้น การพิจารณาขอบเขตการคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวจึงจำกัดอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยเพียงอย่างเดียวมิได้ หากแต่ต้องขยายให้ครอบคลุมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยด้วย เพราะแม้หลักเกณฑ์การยุบพรรคการเมืองบางข้อเป็นบทบัญญัติระดับรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจถือเป็นกรณีที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศได้[1]
                   นอกจากนั้น กระบวนการพิจารณาให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพและการยุบพรรคการเมือง ทั้งในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง และในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดปัญหาทางปฏิบัติ จนนำไปสู่ข้อสงสัยว่า มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประกันความเป็นธรรมให้แก่พรรคการเมือง กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคการเมืองมากน้อยเพียงไร สอดคล้องกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศดังกล่าวรับรองไว้หรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ผลทางกฎหมายของยุบพรรคการเมืองทั้งที่มีต่อพรรคการเมืองเช่น การห้ามใช้ชื่อหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแบบเด็ดขาดถาวรตลอดไปโดยไม่มีการจำแนกตามระดับความร้ายแรงของมูลเหตุแห่งการยุบพรรค และผลที่มีต่อกรรมการบริหารพรรคการเมืองเช่น การถูกห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่และเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ หรือถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ก็มีแง่มุมข้อพิจารณาทางกฎหมายหลายประการที่ต้องศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด ยิ่งไปกว่านั้น สมควรพิจารณาต่อไปอีกว่า มาตรการทางเลือกอื่น ๆ เช่น การเลิกหรือลดเงินอุดหนุนพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองนั้นพึงได้รับ การสั่งให้พรรคการเมืองยุติการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือการให้กรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดพ้นจากตำแหน่ง ให้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิทางการเมืองอื่น ให้รับผิดทางแพ่งหรือถูกดำเนินคดีอาญา มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงไรที่จะนำมาใช้ทดแทนการทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือการยุบพรรคการเมือง
        
              1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                         (1) เพื่อศึกษาหลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง ตลอดจนคำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา
                         (2) เพื่อศึกษาขอบเขตการคุ้มครองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในฐานะภาคีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่ผูกพันประเทศไทย
                         (3) เพื่อศึกษาหลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมือง และขอบเขตการคุ้มครองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรการทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจนำมาใช้แทนการทำให้ความเป็นพรรคการเมืองสิ้นสุดลงตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของต่างประเทศอันได้แก่ เยอรมนี สเปน ตุรกี และเกาหลีใต้ ตลอดจน สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่แม้ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีแต่ก็เป็นรากฐานสำคัญของหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล อันได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป
                         (4) เพื่อศึกษาปัญหาทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติอันเป็นผลมาจากการใช้และการตีความกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคหรือการสิ้นสภาพพรรคการเมืองที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
        
              1.3 สมมุติฐาน
                   หลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมืองที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากเกินสมควร อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันประเทศไทย
        
              1.4 ขอบเขตการศึกษาวิจัย
                   งานวิจัยนี้จะศึกษาถึงปัญหาของการยุบพรรคการเมืองไทยในภาพรวม และปัญหาเกี่ยวกับเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมืองและเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่มีประเด็นถกเถียงกันมากอยู่ ณ ปัจจุบัน อันได้แก่ เหตุการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และเหตุเกี่ยวกับรายงานการดำเนินกิจการและรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง โดยเน้นทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายพรรคการเมืองของประเทศ เยอรมนี สเปน และเกาหลีใต้ รวมทั้งหลักเกณฑ์การคุ้มครองเสรีภาพทางการเมืองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี
                   อนึ่ง งานวิจัยในลำดับถัดไป จะศึกษาถึงปัญหาเกี่ยวกับเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองของไทยในเหตุอื่น ๆ กระบวนการและผลของการยุบพรรคการเมือง ตลอดจนมาตรการทางเลือกอื่นที่อาจนำมาใช้ทดแทนการทำให้ความเป็นพรรคการเมืองสิ้นสุดลง
        
              1.5 ระเบียบวิธีศึกษาวิจัย
                         (1) วิจัยเอกสารทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การพัฒนาการเมืองไทย และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง โดยอาศัยการเปรียบเทียบกฎหมายและการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงสังคมวิทยา ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์บทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                         (2) วิจัยภาคสนามโดยการสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย
        
              1.6 ขั้นตอนการศึกษาวิจัย
                         (1) รวบรวมเอกสารและศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
                         (2) วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานวิจัย (ระยะที่หนึ่ง) เพื่อนำไปใช้ประกอบการสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่มย่อย
                         (3) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย อาทิ กรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บริหารและกรรมการพรรคการเมือง ผู้จัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านพรรคการเมืองและสิทธิทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อที่สาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
                         (4) จัดการประชุมทางวิชาการ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัย
                         (5) ปรับปรุงรายงานวิจัย
                         (6) จัดส่งผลงานและจัดพิมพ์เผยแพร่
        
              1.7 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
             (1) ได้รับทราบหลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมืองของประเทศไทยและของต่างประเทศ และขอบเขตการคุ้มครองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญต่างประเทศ และสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมิได้เป็นภาคี ตลอดจนมาตรการทางเลือกอื่นที่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของพรรคการเมืองได้โดยไม่จำต้องยุบพรรคหรือทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพไป
             (2) ได้รับทราบปัญหาทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติอันเป็นผลมาจากการใช้และการตีความกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมืองที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
             (3) ได้รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาอันเกิดจากหลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทการเมืองไทย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบพรรคการเมืองไทย อีกทั้งไม่ละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพอื่นจนเกินสมควร
              (4) มีหลักการที่จะนำไปกำหนดเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคและการสิ้นสภาพพรรคการเมือง เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกฎต่าง ๆ ดังกล่าวต่อไป
        
              1.8 หลักเกณฑ์การคัดเลือกประเทศต้นแบบการศึกษา
                   การศึกษาวิจัยโดยวิธีการเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศและนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงกฎหมายไทย โดยทั่วไป มักจะเลือกศึกษากฎหมายอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบสกุลกฎหมายหลักของโลก หรือไม่ก็ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายญี่ปุ่น แคนนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและมีระบบกฎหมายที่ก้าวหน้าไม่ด้อยกว่าประเทศต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ดี ในการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองนั้นจำเป็นจะต้องจำกัดการศึกษาไว้แต่เฉพาะกฎหมายของประเทศที่สามารถเทียบเคียงกันได้กับกฎหมายพรรคการเมืองไทย เพื่อให้งานวิจัยฉบับนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติ โดยผู้วิจัยอาศัยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ในการคัดเลือกประเทศต้นแบบการศึกษา
        
                         1.8.1 การมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับพรรคการเมือง
                   การควบคุมการดำเนินการของพรรคการเมืองโดยรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ อันได้แก่[2]
                    (1) การจัดตั้งและการสิ้นสุดลงของพรรคการเมือง
                    (2) การทำหน้าที่ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งเช่น การคัดเลือกผู้แทนของพรรคเพื่อส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง การส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบสัดส่วน การหาเสียงเลือกตั้ง ฯลฯ และ
                    (3) การเงินของพรรคการเมือง และการให้ความสนับสนุนทางการเงินและอื่น ๆ แก่พรรคการเมืองโดยรัฐ เพื่อลดทอนโอกาสทุจริตของบรรดานักการเมือง และเพื่อให้ระบบการเมืองโดยรวมเกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น
                    หลายประเทศควบคุมพรรคการเมืองเฉพาะในลักษณะที่ 2 ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง (Electoral Law) หรือกฎหมายว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง (Election Campaign Law) ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Countries) ส่วนมากมักจะควบคุมทั้งลักษณะที่ 2 และ 3 โดยอาศัยทั้งกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง และกฎหมายเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองหรือการสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ แต่กระนั้นก็ดี ยังมีอีกหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยเผชิญปัญหาที่มาจากพรรคการเมือง หรือประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ (New Democracies) จะควบคุมทั้ง 3 ลักษณะ โดยมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ (Comprehensive Political Parties Laws) ดังเช่นสเปน โปรตุเกส รัสเซีย โรมาเนีย ตุรกี เกาหลีใต้ ยูเครน อาร์เจนติน่า ฯลฯ ซึ่งการควบคุมพรรคการเมืองทั้ง 3 ลักษณะเช่นนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
                     ด้วยเหตุที่กฎหมายพรรคการเมืองไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ว่ามานี้ ดังนั้น งานวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเฉพาะกฎหมายของประเทศที่ควบคุมพรรคการเมืองทั้ง 3 ลักษณะเป็นหลัก
        
                         1.8.2 การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งการจัดตั้ง
                         ในประเทศประชาธิปไตยดั้งเดิมเช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมัน การรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิตามธรรมชาติของบุคคล (Natural Rights) ไม่จำเป็นต้องอาศัยการรับรองจากรัฐ[3] ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนได้ และหากกลุ่มที่เรียกว่าพรรคการเมืองนี้ต้องการมีสถานะนิติบุคคลเพื่อให้มีสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ก็มักจะไปจดทะเบียนจัดตั้งในรูปสมาคม (Association) ในทางตรงกันข้าม ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยเผชิญวิกฤติการณ์ทางการเมืองอันเป็นผลมาจากพฤติการณ์ของพรรคการเมืองเช่น สเปน โปรตุเกส ตุรกี เกาหลีใต้ หรือเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก อาทิ รัสเซีย โรมาเนีย อาร์เมเนีย ฯลฯ ซึ่งมุ่งหมายจะสถาปนาระบบหลายพรรคการเมือง (Multi-party System) ให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมั่นคง ภายหลังที่ตกอยู่ภายใต้ระบบการเมืองพรรคเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์ มานานกว่าครึ่งศตวรรษ การรวมตัวกันของบุคคลเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองในกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการควบคุมและในด้านการส่งเสริมพรรคการเมือง ดังนั้น การรวมกลุ่มจัดตั้ง “พรรคการเมือง” จึงถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งกับภาครัฐก่อน จึงจะมีสถานะนิติบุคคล “พรรคการเมือง” และจึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้ ซึ่งประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มที่ว่านี้ด้วย
                         จริงอยู่ที่ระบบกฎหมายของอังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนนาดา และอีกหลายประเทศ ยอมรับว่า การรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิตามธรรมชาติของบุคคล และไม่จำเป็นต้องอาศัยการรับรองจากรัฐ แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเลือกตั้งโดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อ (Proportional Representation/ Party List) ความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการเงินของพรรคการเมืองให้เกิดความโปร่งใส และการให้การสนับสนุนแก่พรรคการเมืองโดยรัฐ ก็เป็นสาเหตุให้ประเทศเหล่านั้นกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียน ขึ้นทะเบียน หรือจดแจ้งกับภาครัฐก่อน จึงจะเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้งในนาม “พรรคการเมือง” ได้ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมิได้บังคับให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล “พรรคการเมือง” ก่อนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่น ๆ ก็ตาม
                   ตัวอย่างเช่น อังกฤษบังคับให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง มิเช่นนั้น ไม่สามารถใช้คำว่า “พรรค” ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ และย่อมไม่ได้รับการจัดสรรเวลาออกอากาศวิทยุและโทรทัศน์ที่จัดให้แก่พรรคการเมือง[4] ฯลฯ หรือหลังจากที่นิวซีแลนด์ได้นำการเลือกตั้งระบบผสมแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional - MMP) มาใช้ จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการเลือกตั้งก่อนที่จะส่งสมาชิกลงแข่งขันในนามของพรรค (Party Vote) หรือการเลือกตั้งแบบสัดส่วนได้ มิเช่นนั้น แม้พรรคการเมืองจะสามารถส่งสมาชิกลงสมัครเลือกตั้งได้ แต่ก็จะจำกัดไว้เฉพาะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (Constituency Candidate - Electorate Vote) เท่านั้น[5]
                      ด้วยเหตุที่กฎหมายพรรคการเมืองไทยกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องจดแจ้งการจัดตั้งกับนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต. ก่อนที่จะมีสถานะนิติบุคคลและสามารถดำเนินกิจกรรมใด ๆ ในนามพรรคการเมืองนั้นได้ งานวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาแต่เฉพาะกฎหมายของประเทศที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายไทยในข้อนี้
        
                         1.8.3 การมีบทบัญญัติและคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
                         ในบรรดาหลาย ๆ ประเทศที่มีกฎหมายพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ มักจะบัญญัติเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคการเมืองไว้ในกฎหมายด้วย บางประเทศเช่น เชด  (Chad) บัญญัติเหตุยุบพรรคการเมืองไว้กว้าง ๆ คือ เมื่อกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยอาจร้องขอให้ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองได้ [6] คล้ายคลึงกับกฎหมายของเอริเทีย (Eritrea)[7] แต่ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มักจะบัญญัติเหตุเพิกถอนออกจากทะเบียน เหตุยกเลิกการจดทะเบียน หรือเหตุยุบพรรคการเมืองกระบวนการพิจารณาวินิจฉัย และผลที่สืบเนื่องตามมาไว้อย่างละเอียด และที่สำคัญ การมีตัวอย่างคดีที่ศาลตัดสินยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองย่อมช่วยให้เข้าใจแนวทางการปรับใช้ตัวบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีได้ดียิ่งขึ้น
                         งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาแต่เฉพาะกฎหมายของ (ก) ประเทศที่บัญญัติเกี่ยวกับเหตุ กระบวนการ และผลของการยุบพรรคการเมืองโดยละเอียด และที่มี (ข) คดีตัวอย่าง ดังเช่นที่ปรากฏในกฎหมายพรรคการเมืองและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญของไทย
        
                         1.8.4 การเป็นต้นแบบในการจัดทำยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองไทย
                         พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ประเทศไทยรับสืบทอดมาจากประเทศตะวันตกเช่นเดียวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกฎหมายพรรคการเมืองไทยก็เป็นผลจากการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายพรรคการเมืองของต่างประเทศ กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ เยอรมนี ตุรกี และเกาหลีใต้ ความข้อนี้ ปรากฏชัดในบันทึกความเห็นของศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในการพิจารณาตรวจร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาถูกตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511[8] นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... โดยคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผู้วิจัยร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย ก็ได้มีการแจกจ่ายกฎหมายพรรคการเมืองของอังกฤษ เยอรมนี และเกาหลีใต้ให้แก่กรรมาธิการและอนุกรรมาธิการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
                         งานวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาที่กฎหมายของประเทศซึ่งใช้เป็นต้นแบบในการยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองไทย
        
                     1.8.5 ประวัติศาสตร์และบริบททางการเมือง
                   แม้งานวิจัยฉบับนี้จะศึกษาหลักนิติศาสตร์เพื่อเสนอแนะแนวทางปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองโดยอาศัยวิธีการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงกฎเกณฑ์ (Normative Analysis of Law) เป็นหลัก แต่ในการศึกษาก็จำต้องอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือแม้แต่เศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาศัยวิธีการวิเคราะห์กฎหมายเชิงประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาควบคู่กันไปด้วย (Historical and Sociological Study of Law) ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อเสนอต่าง ๆ สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมา ปรากฏชัดแล้วว่า การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศเพื่อจัดทำยกร่างกฎหมายไทยหลายฉบับ ไม่สอดรับกับสภาพสังคมไทย จึงไม่เพียงแต่มิได้แก้ไขปัญหา หากแต่กลับยิ่งบ่มเพาะปัญหาโดยเฉพาะที่เป็นผลมาจากความแตกต่างเหลี่อมล้ำระหว่างประเทศต้นแบบและประเทศไทยทั้งในแง่ระบบกฎหมายและวัฒนธรรมทางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
                      ในการนี้ หากพิเคราะห์เฉพาะประเด็นการยุบพรรคการเมือง จะพบว่า เหตุผลหลักของการกำหนดให้มีการยุบพรรคการเมืองก็คือ พรรคการเมืองเป็นภยันตรายคุกคามระบอบการเมืองการปกครองนั้น ๆ เสียเอง เช่นที่อด๊อฟ ฮิตเลอร์ใช้พรรคนาซี (Nazi Party) หรือที่เบนนิโต้ มุสโสลินีใช้พรรคฟ๊าสซิสต์แห่งชาติ (National Fascist Party) เป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจการเมืองผ่านการเลือกตั้ง จากนั้น จึงค่อย ๆ สถาปนาระบอบเผด็จการขึ้น[9]็จการ็ หรือสภาพปัญหาปัจจุบันในรัสเซียและสเปนที่กำลังเผชิญกับปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้น Chechen และแคว้น Basque โดยลำดับ ซึ่งมีการใช้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองอย่างเปิดเผย ไปพร้อม ๆ กับการก่อการร้าย ยูเครนและประเทศในยุโรปตะวันออกอื่น ๆ หลายประเทศที่กลุ่มผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์พยายามรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์เดิม[10] เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่จะนำกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองมาศึกษาก็น่าจะมีประสบการณ์หรือกำลังเผชิญอยู่กับภัยคุกคามจากพรรคการเมือง สมดังคำกล่าวที่ว่า กฎหมายย่อมมีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาของสังคม
                       อย่างไรก็ดี หากคำนึงแต่เฉพาะกรณีของประเทศที่เผชิญกับปัญหาพรรคการเมือง และมีการใช้มาตรการยุบพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาดังกล่าวแต่เพียงด้านเดียว โดยไม่พิจารณาถึงระดับพัฒนาการของประชาธิปไตย ซึ่งให้น้ำหนักความสำคัญแก่พรรคการเมืองในฐานะสื่อกลางระหว่างรัฐกับประชาชน ตลอดจนความหลากหลายทางการเมืองอันเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตยที่จะธำรงรักษาไว้ได้ก็แต่เฉพาะภายใต้บริบทการมีหลายพรรคการเมืองและการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพของพรรคการเมืองเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว จะกลายเป็นว่า ไปนำกฎหมายของประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian Regime) มาเป็นต้นแบบในการศึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมายไทย อันอาจเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งมิใช่เป้าประสงค์ของงานวิจัยฉบับนี้ที่มุ่งหมายให้กฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของไทยสอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย
                     ดังนั้น การคัดเลือกประเทศโดยอาศัยหลักเกณฑ์ประวัติศาสตร์และบริบททางการเมืองของประเทศนั้น ๆ  จึงต้องพิจารณาจากสองปัจจัยคือ (ก) เผชิญหรือเคยเผชิญกับปัญหาระบบการเมืองที่พรรคการเมืองเป็นต้นเหตุ และใช้มาตรการยุบพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ (ข) เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับระดับสากลว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ในการนี้ ผู้วิจัยจะอาศัยดัชนีชี้วัดการเคารพหลักนิติรัฐของปี ค.ศ. 2008 ในโครงการตัวชี้วัดธรรมาภิบาลระดับโลกของธนาคารโลก (The Worldwide Governance Indicators project - WGI)[11] และดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย ค.ศ. 2008 (Democracy Index 2008) ของวารสาร The Economist[12] เป็นฐานในการประเมิน โดยมุ่งศึกษากฎหมายของประเทศที่ได้คะแนนในระดับสูงกว่าหรือเท่ากับประเทศไทยทั้งสองดัชนี กล่าวคือ ดัชนีชี้วัดการเคารพหลักนิติรัฐต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 54 และดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยต้องได้ระดับ Full Democracy หรือระดับ Flawed Democracy ที่มีคะแนนไม่ต่ำกว่า 6.81 จากคะแนนเต็ม 10.00
        
                     1.8.6 ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล
                    อนึ่ง แม้ว่าบางประเทศเช่น โปรตุเกส หรือโรมาเนีย จะมีลักษณะหลายอย่างเข้าหลักเกณฑ์การคัดเลือกประเทศต้นแบบการศึกษาเช่น มีกฎหมายพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องจดทะเบียน มีบทบัญญัติและคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่หลากหลาย แต่ด้วยความที่มีเอกสารในภาษาไทยและภาษาอังกฤษน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถศึกษาให้ครบถ้วนทุกมิติที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการวิเคราะห์ได้ ดังนั้น ความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยในการเลือกกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ขึ้นมาเป็นต้นแบบการศึกษา
                     จากการพิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้น พบว่า มีเพียงเกาหลีใต้ประเทศเดียวที่ครบทุกหลักเกณฑ์ ปัจจัยการพิจารณาชี้ขาดต่อมาคือ เรื่องความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และพิจารณาคัดเลือกประเทศที่เข้าหลักเกณฑ์มากที่สุด คือ 5 ข้อ ได้แก่ เยอรมนี สเปน และตุรกี ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกศึกษากฎหมายพรรคการเมืองและคดียุบพรรคการเมืองของ 4 ประเทศนี้ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย ทั้งในมิติเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง กระบวนการยุบพรรคการเมือง และผลของการยุบพรรคการเมือง รวมทั้งมาตรการทางเลือกอื่น ๆ เพื่อใช้ทดแทนการยุบพรรคการเมือง ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น อาจนำกฎหมายพรรคการเมืองและคดียุบพรรคการเมืองของประเทศเหล่านั้นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นเรื่อง ๆ ไป เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง
                       อนึ่ง ประเทศเยอรมนี แม้ไม่มีหลักเกณฑ์การบังคับให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล “พรรคการเมือง” แต่กฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันก็มีจุดเด่นตรงที่เป็นต้นแบบของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับต่าง ๆ ค่อนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองและหลักประชาธิปไตยซึ่งพร้อมที่จะป้องกันตนเอง (Militant Democracy)[13] สเปนนั้น แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่าเป็นต้นแบบในการจัดทำยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับหนึ่งฉบับใดของไทยหรือไม่ แต่สเปนก็เพิ่งจะปรับปรุงเหตุยุบพรรคในกฎหมายพรรคการเมือง เมื่อปี ค.ศ. 2002 ให้ตอบสนองต่อการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้นโดยมีพรรคการเมืองเคลื่อนไหวอยู่หน้าฉากประสานกับกลุ่มก่อการร้ายหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน[14] จึงมีความน่าสนใจในตัวเองอยู่ไม่น้อย และสำหรับตุรกีนั้น แม้จะมีค่าดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยต่ำกว่าประเทศไทยคือ มีอยู่ที่ 5.69 จัดอยู่ระดับ Hybrid regime แต่ก็มีดัชนีชี้วัดการเคารพหลักนิติรัฐสูงกว่าของไทยร้อยละ 2  แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ตุรกีมีคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองจำนวนมากขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และคดีสำคัญ ๆ ก็มีการเสนอคำร้องต่อไปยังศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ซึ่งมักจะตัดสินให้ตุรกีแพ้คดี จนเป็นเหตุให้ตุรกีต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองในประเด็นนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว[15]
       

       
       

       

       [1] นอกจากนั้น โปรดดู รัฐธรรมนูญ 2550, ม. 257; และบทที่ 2 หัวข้อ 2.2 ในหน้าที่ 41.
       

       

       [2] Biezen, Ingrid van (2008). ‘Party Regulation and Constitutionalization: A Comparative Overview’, ใน Per Nordlund and Ben Reilly (eds.), Political Parties and Democracy in Conflict-Prone Societies: Regulation, Engineering and Democratic Development, (Tokyo: UN University Press, 2008), น. 25 - 47.
       

       

       [3] อันที่จริง นักกฎหมายสำนักปฏิฐานนิยม (Positivism) อาจโต้แย้งได้ว่า เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นเสรีภาพที่รับรองโดยกฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้น การรวมกลุ่มของบุคคลในแต่ละครั้ง ไม่ว่าเป็นการถาวรหรือชั่วคราว ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับการรับรองจากรัฐอีก
       

       

       [4] United Kingdom: Political Parties, Elections and Referendums Act 2000, §22 และ §37 (1); และโปรดดู Bradley and Ewing, Constitutional and Administrative Law, (London: Longman, 14 edition, 2007), น. 162 - 163.
       

       

       [5] New Zealand: Electoral Act 1993 No. 87, §62, §143, §146, และ §166; และโปรดดู  Andrew Geddis, “The Unsettled Legal Status of Political Parties in New Zealand,” New Zealand Journal of Public and International Law, (Vol. 3 June 2005), น. 105.
       

       

       [6] Chad: Act No. 45 of 14 December 1994 on charter of political parties, art. 37, art. 39 - 40.
       

       

       [7] Eritrea: Proclamation on the Formation of Political Parties and Organizations No. 2001, art. 17.
       

       

       [8] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2512), น. 88 - 91.
       

       

       [9] Gregory H. Fox, and Georg Nolte, “Intolerant Democracies,” Harvard International Law Journal (Vol. 36 Winter, 1995) น. 10 - 11.
       

       

       [10] Alexei Trochev, “Ukraine: Constitutional Court Invalidates Ban on Communist PartyInternational Journal of Constitutional Law, (Vol. 1, July, 2003).
       

       

       [11] โครงการตัวชี้วัดธรรมาภิบาลระดับโลกของธนาคารโลกนี้สำรวจข้อมูล 202 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี ค.ศ. 1996 - 2008 โดยอาศัยเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่ (ก) ความสำคัญและความรับผิดชอบต่อประชาชน (ข) ความมั่นคงทางการเมืองและการปราศจากการใช้ความรุนแรง (ค) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (ง) คุณภาพของระบบควบคุมกำกับของภาครัฐ (จ) การเคารพหลักนิติรัฐ และ (ฉ) การควบคุมการคอร์รัปชั่น โปรดดู http://info.worldbank.org/governance/wgi/index.asp เข้าถึงข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2553
       

       

       [12] ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของวารสาร The Economist สำรวจจาก 167 ประเทศทั่วโลก โดยใช้เกณฑ์ (1) การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (2) ความมั่งคงปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (3) อิทธิพลของต่างชาติที่มีต่อรัฐบาล และ (4) ความสามารถของข้าราชการในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ จากนั้น จึงประมวลผลแบ่งเป็น 4 ระดับจากมากไปหาน้อยได้แก่ Full Democracy, Flawed Democracy, Hybrid Regime, และ Authoritarian Regime ตามลำดับ โปรดดู http://www.economist.com เข้าถึงข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2553
       

       

       [13] Andras Sajo, “From Militant Democracy to the Preventive State?,” Cardozo Law Review, Vol. 27, No. 5 (April 2006) น. 2262.
       

       

       [14] Victor Ferreres Comella, “The New Regulation of Political Parties in Spain, and the Decision to Outlaw Batasuna,” ใน András Sajó (ed.), Militant Democracy, (Utrecht: Boom Eleven International, 2004) น. 133 - 134.
       

       

       [15] Opinion on the Constitutional and Legal Provisions Relevant to the Prohibition of Political Parties in Turkey, adopted by the Venice Commission at its 78th Plenary Session (13 - 14 March 2009) [CDL-AD (2009) 006] §54; และ Yusuf Sevki Hakyemez และ Birol Akgun, “Limitations on the Freedom of Political Parties in Turkey and the Jurisdiction of the European Court of Human Rights,” Mediterranean Politics, Vol. 7 No. 2 (Summer 2002) น. 54 - 68.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544