หน้าแรก บทความสาระ
ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์เพื่อตอบสนองการจัดทำบริการสาธารณะด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิริชัย มงคลเกียรติศรี LL.M. in Law (By Research) University of Aberdeen อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง LL.M. in Business Law De Montfort University นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ Leicester De Montfort Law School, UK
1 มกราคม 2555 19:54 น.
 
 [1] บทนำ
       ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands) หรืออาจเรียกว่าฮอลแลนด์ (Holland) หรือดัชต์ (Dutch) เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ได้บัญญัติในมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันภาวะน้ำท่วมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เนื่องด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (low-lying coastal areas) ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปโดยทั่วไป ดังนั้น ความหมายภายในชื่อประเทศเนเธอร์แลนด์จึงประกอบด้วย “เนเธอร์” (Nether) ซึ่งแปลว่า “ต่ำ” ซึ่งการที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลนี้ ทำให้ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศฮอลแลนด์ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมมาหลายครั้ง
       สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ เหตุการณ์คลื่นพายุซัดชายฝั่ง ในปี ค.ศ. 1953 (Storm surge disaster 1953)[1] อันทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1953 จากการที่พายุพัดจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ทำให้บริเวณชายทะเลในทางตอนเหนือของเมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยภาวะระดับน้ำทะเลหนุนสูงอันเกิดจากการพัดของพายุดังกล่าว ก่อให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นถึง 1,836 คนและบ้านเรือนประมาณ 4,500 หลังถูกทำลาย รวมไปถึงประชาชนกว่า 100,000 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยโดยชั่วคราว[2]  ทั้งนี้ แม้ว่าในขณะนั้นประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เตรียมพนังกั้นน้ำทะเล (sea dykes) เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง แต่อย่างไรก็ดี การเตรียมการสร้างพนังกั้นน้ำและเขื่อนเพื่อรับมือกับคลื่นพายุซัดชายฝั่งไม่เพียงพอ[3]และไม่ได้สัดส่วนกับปริมาณน้ำที่หนุนมาสูงมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้[4] นอกจากนั้น เทคโนโลยีด้านการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งการติดตั้งโทรศัพท์ตามบ้านในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ประกอบกับการเตือนภัยในสมัยนั้นมีเพียงการเตือนภัยจากวิทยุและโทรเลขเท่านั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมรับมือหรือหนีภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที[5] ซึ่งจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นดังกล่าว[6] รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงได้ทบทวนถึงความเสียหายจากเหตการณ์ที่เกิดขึ้นและวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดวิกฤติขึ้นอีกได้ในอนาคตหากไม่มีมาตรการและแผนรองรับเฉพาะในการป้องกันเหตุร้ายล่วงหน้า[7]
       เมื่อพิจารณาถึงสภาพภูมิประเทศในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของเนเธอร์แลนด์แล้ว ภูมิประเทศดังกล่าวประกอบด้วยพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta area) แม่น้ำไรน์ (Rijn) แม่น้ำเมิร์ซ (Maas) และแม่น้ำเชลดท์ (Schelde) อันเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่าเรือของเมืองรอตเตอร์ดัมค่อนข้างมาก[8] นอกจากนี้ เมืองรอตเตอร์ดัมยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและเป็นยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป[9] โดยการค้าระหว่างประเทศของเนเธอร์แลนด์สามารถทำรายได้แก่ให้แก่รัฐบาลและประชาชนประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างมหาศาล[10] แต่อย่างไรก็ดี พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลและจากบทเรียนของเหตุการณ์คลื่นพายุซัดชายฝั่ง ในปี ค.ศ. 1953 ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในอนาคต
       ภายหลังจากเกิดวิกฤติเหตุการณ์คลื่นพายุซัดชายฝั่ง ในปี ค.ศ. 1953 เพียงยี่สิบวัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta commission) ได้ประชุมและวางแผนร่วมกันในการหาทางออกและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันวิกฤติน้ำท่วมระยะยาว ซึ่งรัฐบาลและคณะกรรมการดังกล่าวได้พยายามทบทวนแผนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Dutch Delta Plan) ที่มีมาแต่เดิมว่ามีข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการป้องกันประการใดบ้างเพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
       ในการทบทวนแผนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำได้ให้ความเห็นว่าควรมีการจัดทำโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขึ้น (Delta Works หรือ Deltawerken) โดยโครงการดังกล่าวมีลักษณะเป็นโครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่อาศัยงบประมาณและกำลังคนจำนวนมาก เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาว ทั้งนี้ การสร้างโครงการดังกล่าวนอกจากต้องการที่จะปกป้องชีวิตและทรัพยสินของประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์แล้ว การก่อสร้างในโครงการดังกล่าวยังเป็นการป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของเมืองรอตเตอร์ดัมและเมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญของยุโรป[11] โดยการก่อสร้างตามโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ได้ก่อให้เกิดการสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมที่สามารถต่อสู้กับภาวะน้ำท่วมได้ในระยะยาว ได้แก่ ประตูกั้นน้ำ Haringvliet (Haringvlietsluizen) เขื่อน Brouwers (Brouwersdam) และการก่อสร้างพัฒนาปากอ่าวตะวันออก Eastern Schelde (Oosterschelde) ซึ่งสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมดังกล่าวยังอาจถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลกที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวดัชต์[12]
       ลักษณะสำคัญของโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขึ้น (Belang van de Deltawerken) มีหลายประการได้แก่
       -          โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขึ้นสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการรักษาสมดุลระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มเพื่อการเกษตร กล่าวคือ โครงการดังกล่าวเป็นการป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลมาสู่แหล่งน้ำจืดเวลามีภาวะน้ำท่วมและป้องกันไม่ให้น้ำจืดไหลลงสู่น้ำเค็มอันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศได้ เช่น การตายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นต้น[13]
       -          โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขึ้นการก่อสร้างพัฒนาปากอ่าวของโครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มศักยภาพในการกำจัดมลพิษหรือของเสียส่วนเกินออกไปจากน้ำจืดได้ โดยอาศัยกลไกของความแตกต่างระหว่างประตูระบายน้ำชนิดต่างๆ (sluice)[14]
       -          การก่อสร้างตามโครงการนี้ สามารถส่งเสริมการคมนาคมระหว่างเกาะและบริเวณคาบสมุทร ให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างเกาะต่างๆ ได้ เช่น การก่อสร้างสะพาน Zeeland Bridge[15] และอุโมงค์ Westerscheldetunnel[16] เป็นต้น
       -          โครงการดังกล่าวสามารถสนับสนุนการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ โดยในปี 1976 ประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่งสินค่าระหว่างท่าเรือรอตเตอร์ดัมและแอนต์เวิร์ป เพื่อก่อให้เกิดการความสะดวกต่อการดำเนินกิจกรรมพาณิชย์นาวีของเอกชนและความร่วมมือทางการค้าของทั้งสองประเทศ
       -          โครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และโครงการดังกล่าวยังเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าชมโครงการดังกล่าว อันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ทางหนึ่ง
       นอกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนาโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแล้ว ประเทศเนเธอร์แลนด์ยังได้พัฒนากฎหมายเฉพาะในการส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการทำงานของโครงการดังกล่าวและกำหนดแนวทางในการป้องกันภาวะน้ำท่วมในระยะยาวไว้อีกด้วย
       [2] กฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Flood Protection Law)
       [2.1] พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996
       รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้บัญญัติพระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 ขึ้นภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้กำหนดมาตรการในการวางแผนการป้องกันภาวะน้ำท่วมระยะยาว โดยมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการกำหนดขอบเขตของอุทกภัย (hydraulic boundary)[17] ซึ่งระบุขอบเขตของอุทกภัยจากภาวะน้ำท่วม โดยขอบเขตดังกล่าวอาจพิจารณาได้จากระดับน้ำและคลื่นทะเล
       สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการระบุขอบเขตดังกล่าว เพื่อเป็นการกำหนดความเสี่ยงและสร้างแนวทางในการป้องกันน้ำท่วมเพื่อประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนเมื่อเผชิญกับความเสี่ยงและภัยอันตรายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ ขอบเขตภาวะอุทกภัยจากภาวะน้ำท่วมอาจปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของภูมิอากาศและลักษณะภูมิประเทศได้และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทางธรรมชาติหรือจากการดำเนินการของโครงการดังกล่าว ดังนั้น พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมเบื้องต้นทุกๆห้าปี (5-yearly safety assessment of all primary flood defences) นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีการรายงานระดับความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการป้องกันภาวะน้ำท่วมทุกๆ ห้าปีและสิบปี[18] โดยมาตรฐานความปลอดภัยของกฎหมายฉบับนี้คำนวนได้จากมาตรฐานค่าเฉลี่ยของระดับน้ำที่สูงสุดต่อปี เพื่อนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมากำหนดมาตรการในการป้องกันน้ำท่วม[19]
       ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 ได้กำหนดสาระสำคัญในการกำหนดมาตรการป้องกันน้ำท่วมไว้สองประการดังนี้ ประการแรก มาตรการดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของพื้นที่บริเวณเขื่อนกั้นน้ำประเภทต่างๆในเนเธอร์แลนด์ (Dutch dike-ring area development)[20]  โดยการกำหนดให้มีความปลอดภัยดังกล่าวสามารถคำนวณได้จากมาตรฐานค่าเฉลี่ยของระดับน้ำที่สูงสุดต่อปี เพื่อนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาประเมินแนวทางในการรับมือและป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ ข้อมูลค่าเฉลี่ยดังกล่าวสามารถนำมากำหนดความเสี่ยงภัยบริเวณเขื่อนต่างๆ อันนำมาซึ่งการเตรียมการเพื่อวางแผนรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่ดีในอนาคต ผลที่ตามมาจากการกำหนดการคำนวณดังกล่าว ทำให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเนเธอร์แลนด์สามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ที่อยู่บริเวณเขื่อนดังกล่าวในการรับมือกับภาวะน้ำท่วม (economic value of the dike-ring area) และสามารถกำหนดแนวทางในการอพยพประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆเขื่อนดังกล่าวออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีหากประสบกับปัญหาอุทกภัย (possibilities for evacuation of the dike-ring area)[21] ประการต่อมา พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 ได้กำหนดมาตรการกำหนดระยะการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมทุกๆห้าปี (5-yearly safety assessment of all primary flood defences) เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดวิกฤติน้ำท่วม โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำการบริหารความเสี่ยง โดยอาศัยการประเมินความเสี่ยงทุกๆห้าปีมาสนับสนุนการคาดการณ์และพยากรณ์ระดับความรุนแรงของอุทกภัย   ซึ่งการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีต (past floods) สามารถนำมาสนับสนุนแนวทางในการกำหนดและแสวงหาแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายภาวะน้ำท่วมในอนาคต (the possible harmful consequences of future floods) อีกประการหนึ่ง
       [2.2] พระราชบัญญัติ Water Act 2009
       ต่อมารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และได้ตราพระราชบัญญัติ Water Act 2009 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญสองประการ ประการแรก พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ได้ถูกบัญญัติขึ้น เพื่อบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติเกี่ยวกับมลภาวะทางทะเล (Pollution of Sea Water Act) พระราชบัญญัติน้ำบาดาล (Groundwater Act) และ พระราชบัญญัติน้ำดื่ม (Drinking Water Act) เป็นต้น ประการต่อมา รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้รับเอาข้อบังคับแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสนับสนุนแนวคิดของการจัดการทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืน ได้แก่ ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำ (Directive 2000/60/EC of the European Parliament and of the Council establishing a framework for the Community action in the field of water policy) และข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงและจัดการภาวะน้ำท่วม (Directive 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks)
       พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วม ได้กำหนดแนวทางในการบริหารและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม โดยอาศัยแนวทางกำหนดขอบเขตของภาวะน้ำท่วม (flood extent) และประเมินความเสี่ยงที่ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์อาจเผชิญกับภาวะน้ำท่วมตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 ฉบับเดิมดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น  นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ยังได้เพิ่มสาระสำคัญได้กำหนดมาตรการในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการประเมินความเสี่ยวและจัดการภาวะน้ำท่วม มากำหนดแนวทางในการป้องกันและประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วม เช่น การประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมเบื้องต้น (Preliminary flood risk assessment) การกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม (Duty to identify flood risk areas) แผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม (Flood hazard map) และแผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (flood risk map) และการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (Flood Risk Management Plans) เป็นต้น
       [3] การปกป้องประโยชน์สาธารณะภายใต้กฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์ (Public Interest in Flood Protection Law)
       หลักการที่สำคัญของพระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และพระราชบัญญัติ Water Act 2009 ได้แก่ การรับมือกับภาวะน้ำท่วมและสามารถกำหนดแนวทางในการอพยพประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆเขื่อนดังกล่าวออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีภัยจากภาวะน้ำท่วมมาถึง กล่าวคือ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดกิจกรรมในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)[22] ของประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม และประชาชนทั่วไปที่อาจได้รับผลกระทบหากเกิดภาวะน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
       ดังนั้น ภายใต้พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และพระราชบัญญัติ Water Act 2009 ประเทศเนเธอร์แลนด์จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะ[23] ที่ประชาชนได้รับเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือกำลังจะเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติโดยการกำหนดขอบเขตของอุทกภัยดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นโดยอาศัยวิธีการต่างๆและรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาภัยจากธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและนำมาซึ่งการปกป้องประโยชน์สาธารณะและอนาคตของประเทศ[24] เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยจากภาวะน้ำท่วม  การก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคด้านชลประทานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น
       ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น กิจกรรมในการลดความเป็นไปได้ของภาวะน้ำท่วม (flood probability) และลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม (potential flood impact) ถือเป็นแนวทางในการกำหนดประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์สาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป
       [4] การตอบสนองการบริการสาธารณะด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์
       การบริการสาธารณะด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ที่กำหนดวิธีและแนวทางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจากภาวะน้ำท่วม คือ การกำหนดแนวทางในการสนับสนุนความต้องการของประชาชนในบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบที่ต้องการความปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายต่างๆ กัน เช่น มาตรการล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุอุทกภัย (Precautionary measures) มาตรการในการป้องกันภาวะน้ำท่วม (Preventive Action measures) และ การกระจายอำนาจในการป้องกันภัยน้ำท่วม (Decentralisation of Disaster Prevention and Mitigation Power) เป็นต้น  ทั้งนี้ กิจกรรมด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ต้องดำเนินและเฝ้าระวังภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมการประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ให้กระทำทุกๆห้าปี และการบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคด้านชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
       นอกจากนี้ การจัดทำบริการสาธารณะด้านป้องกันน้ำท่วม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่อาจทำให้ต้องปรับมาตรฐาน (adaptation) ในการป้องกันสาธารณะชนจากภาวะน้ำท่วมให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นหรือสูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่ได้รับอิทธิผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)[25] อันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น
       การพัฒนาระบบที่มุ่งเน้นการบริการสาธารณะ (Public service-oriented system) ภายใต้กฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์จึงสร้างแนวทางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจากภาวะน้ำท่วม โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้านการป้องกันภาวะน้ำท่วมและบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้จากลักษณะทางกายภาพของประเทศเนเธอร์แลนด์เองที่มีพื้นที่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเลค่อนข้างมากและมีความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะน้ำท่วมสูงได้โดยง่าย
       [5] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       [5.1] บทสรุปของการจัดการปัญหาอุทกภัยของประเทศเนเธอร์แลนด์
       จากบทเรียนของเหตุการณ์คลื่นพายุซัดชายฝั่ง ในปี ค.ศ. 1953 ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตระหนักถึงความเสี่ยงจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ที่อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในอนาคตอีก ดังนั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจอย่างอย่างรวดเร็วและเป็นการเร่งด่วนโดยใช้เวลาพิจารณาเพียงยี่สิบวันในการเสนอโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือ Deltawerken ขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวและการพัฒนามาตรการทางกฏหมายในการป้องกันภาวะน้ำท่วมที่ส่งผลมาถึงกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในฉบับปัจจุบัน โดยอาจสรุปข้อดีที่ได้รับจากการพัฒนามาตรการทางกฎหมายป้องกันภาวะน้ำท่วมของประเทศเนเธอร์แลนด์หลายประการ
       ประการแรก การที่รัฐบาลและคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ได้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะพัฒนาโครงการดังกล่าว ด้วยเพราะรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในฐานะผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศในการรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินทั้งในระดับอนุภาคและระดับมหภาค โดยเห็นได้จากการดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อปกป้องทรัพยกากรและประชาชนของประเทศเนเธอแลนด์ประการหนึ่งตลอดจนการตระหนักถึงความสำคัญของเมืองท่ารอตเตอร์ดัม ที่มีความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์และสหภาพยุโรปอีกประการหนึ่ง รัฐบาลและคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจึงมิได้รอช้าในการเสนอและพัฒนาโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ยังได้คำนึงถึงแนวทางในการพัฒนาโครงการดังกล่าวและแผนป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว จึงได้ออก พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และ พระราชบัญญัติ Water Act 2009 ในเวลาต่อมา เพื่อสนับสนุนขั้นตอนและแนวทางในการกำหนดวิธีและมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
       ประการที่สอง พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และพระราชบัญญัติ Water Act 2009 ถือเป็นกฎหมายมหาชนทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนากลไกในการป้องกันภาวะน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์อย่างแท้จริงและเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) โดยได้มีการกำหนดให้มีการประเมินการดำเนินการดังกล่าวและรายงานผลของการประเมินโครงการทุกๆ ระยะเวลาห้าปี ด้วยเหตุที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าวและนโยบายสาธารณะที่อยู่ภายใต้แนวทางการพัฒนาของกฎหมายทั้งสองฉบับ ย่อมทำให้เกิดการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะ  ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองทั้งประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมได้ เช่น ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำการค้าบริเวณชายฝั่ง Zeeland และประชาชนที่อาศัยบริเวณอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากภาวะน้ำท่วม เป็นต้น
       ประการที่สาม พระราชบัญญัติ Flood Protection Act 1996 และพระราชบัญญัติ Water Act 2009 เป็นมาตรการที่สนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะด้านการป้องกันและบรรเทาภัยจากภาวะน้ำท่วมที่สอดคล้องกับหลักการจัดทำบริการสาธารณะ กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวได้สนับสนุนการดำเนินโครงการป้องกันภาวะน้ำท่วมขนาดใหญ่ไม่ให้หยุดชะงัก โดยกำหนดมาตรการและขั้นตอนหลายประการที่ช่วยให้โครงการดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังช่วยให้มีการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
       [5.2] ข้อเสนอแนะ
       [5.2.1] จากวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายนของปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ประเทศไทยได้เห็นถึงอุปสรรคและปัญหารในการดำเนินการแก้ไขและการจัดการปัญหาน้ำของประเทศไทยอย่างยั่งยืน จากการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศเนเธอร์แลนด์ดังได้กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลไทยอาจอัญเชิญแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงตรัสไว้ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2538 ในการแก้ไขและการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทย ประกอบกับแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยื่นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้วางไว้ คือ การประเมินและการติดตามสถานการณ์ของปัญหาน้ำท่วมและแนวป้องกัน หรือมาตรการในการป้องกันน้ำท่วมในทุกๆ ระยะเวลาห้าปีมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย
       [5.2.2] ประเทศไทยควรจัดทำแผนการบริหารและจัดการน้ำเช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ โดยจะต้องมีการระดมความคิดจากทั้งฝ่ายข้าราชการผู้ปฏิบัติงานและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องร่วมกันในการกำหนดมาตรการป้องกันภัยและการรับมือล่วงหน้า (Precautionary measures) มาตรการเตือนภัย การอพยพ ตลอดจนมาตรการภายหลังจากอุทกภัยได้ผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการผังเมืองและบังคับการให้เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
       ดังนั้น การที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ตอบสนองต่อปัญหาจากวิกฤติน้ำท่วมที่เคยเผชิญ จนนำไปสู่การจัดทำโครงการขนาดใหญ่และมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในการป้องกันภาวะน้ำท่วม ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่หลายประเทศซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทย ในการเป็นต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการการป้องกันภาวะน้ำท่วมในระยะยาว
       

       
       

       

       [1] คลื่นพายุซัดชายฝั่ง (Strom surge) อันเป็นคลื่นจากพายุที่ก่อให้เกิดอิทธิพลที่มีผลต่อการการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมได้ (Flooding caused by surges) โปรดดู คำอธิบายเพิ่มเติมใน Met Office, Floods and flooding, available online at www.metoffice.gov.uk/education/teens/case-studies/floods
       

       

       [2] De Kraker, A. M. J., Flood events in the southwestern Netherlands and coastal Belgium, 2006, 1400-1953. Hydrol. Sci. J.51 (5), 913-929. และโปรดดูเพิ่มเติมใน Pauwels, O. B. Overstromingen in Assenede in 1808 en 1809. In: “Over den Vier Ambachten” 750 Keure 500 jaarGraaf Jansdijk (ed. by A. M. J. de Kraker, H. van Royen & M. E. E. de Smet), 221-227. Duerinck bv,Kloosterzande, The Netherlands, 1993.
       

       

       [3] ตัวอย่างของการรับมือกับคลื่นพายุซัดชายฝั่งไม่เพียงพอของประเทศเนเธอร์แลนด์ในเวลานั้น เช่น  การสร้างเขื่อนที่มีความสูงไม่เพียงพอ ความยาวโดยรวมของเขื่อนที่น้อยเกิดไป และการขาดการบำรุงรักษาเขื่อนที่ได้รับความเสียหายมาจากการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น  โปรดดูเพิ่มเติมใน Deltawerken Online, The North Sea flood of 1953, available online at www.deltawerken.com/The-Flood-of-1953/1523.html
       

       

       [4] McKinney, V., Sea Level Rise and the Future of the Netherlands, ICE Case Studies212. May, 2007, available online at http://www1.american.edu/ted/ice/dutch-sea.htm
       

       

       [5] Gerritsen, H., What happened in 1953? The Big Flood in the Netherlands in retrospect, available online at http://www.safecoast.org/editor/databank/File/What%20happened%20in%201953-2.pdf
       

       

       [6] วิกฤติน้ำท่วมจากเหตุการณ์คลื่นพายุซัดชายฝั่ง ในปี ค.ศ. 19 ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ เยอรมนีและเบลเยี่ยมด้วยเช่นกัน โปรดดู  Bliek, A.J. and Jansen,  M.H.P., FLOOD REDUCTION AND WATER QUALITY IMPROVEMENT BY A CONNECTIONBETWEEN THE EASTERN AND THE WESTERN SCHELDT, available online at  http://www.overschelde.nl/uk/paper.pdf
       

       

       [7] Jonkman S.N., Brinkhuis M., Kok M.  Cost benefit analysis and flood damage mitigation in the Netherlands, 2004, Heron Vol. 49 No. 1, pages 95-111.
       

       

       [8] Adriaanse, Ir. L. A., From fighting against to creating with water after the 1953 flood, available online at http://www.pa-international.org/documents/SynopsisFromfightingagainsttocreatingwithwaterafterthe1953flood-LeoAdriaanse.pdf
       

       

       [9] Beurs-World Trade Center Rotterdam, beurs - world trade center, available online at www.rotterdam.nl/tekst:beurs_-_world_trade_center
       

       

       [10] Chief  Marketing Office Rotterdam, Rotterdam World Story, available online at  http://www.rotterdamworldbrand.nl/media/Rotterdam%20World%20Story.pdf
       

       

       [11] Deltawerken Online, The Delta Works, available online at  www.deltawerken.com/23 
       

       

       [12] Ministerie van Verkeer en Waterstaat, The Delta Project for safety, wildlife, space and water, Directorate-General for Public Works and Water Management (the Rijkswaterstaat), 2001, pages 10 - 13. 
       

       

       [13] โปรดดูกลไกของการรักษาสมดุลระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มจากโครงการดังกล่าวได้ใน Haringvliet Sluices ajar, Information Bulletin, available online at http://www.zwdelta.nl/dynamisch/bibliotheek/130_0_NL_10183_Haringvlietkrant_UK4.pdf
       

       

       [14] นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการลำเลียงน้ำประปาของเนเธอร์แลนด์อีกทางหนึ่ง Kielen, N., Challenges in fresh water supply in the Netherlands in relation to the Delta Programme, which is aimed at creating a safe and attractive Netherlands, now and in the future, available online at http://www.water.ca.gov/climatechange/docs/NeeltjeKielen_AMS_MH.pdf    และ ‘The Netherlands lives with Water’ campaign tea, The Water Handbook 2004-2005, Ministry of Transport and Public Work, 2004, page 15-16.
       

       

       [15] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Deltawerken Online, Zeeland Bridge, available online at http://www.deltawerken.com/Zeeland-Bridge/338.html
       

       

       [16] นอกจากโครงการดังกล่าวสามารถช่วยส่งเสริมความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งแล้ว โครงการดังกล่าวยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐโดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของอุโมงค์ดังกล่าวด้วย (Toll Payments) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Westerscheldetunnel, Tarieven 2012, available online at http://www.westerscheldetunnel.nl/
       

       

       [17] Stalenberg, B., and Vrijling, J.K., Interaction Between Dutch Flood Protection and Urbanisation, International Symposium of Lowland Technology September 14-16 2006 in Saga, Japan, available online at http://www.tudelft.nl/live/binaries/504d248b-fadc-4351-a9aa-bd5c5a5d0f03/doc/ISLT%20paper%20bianca%20stalenberg.pdf
       

       

       [18] Stalenberg, B., and Vrijling, J.K., Adaptable Flood Defences, available online at http://www.tudelft.nl/live/binaries/504d248b-fadc-4351-a9aa-bd5c5a5d0f03/doc/WCAEBE%20paper%20bianca%20stalenberg.pdf
       

       

       [19] A.T.M.M. KIEFTENBURG, A. TIJSSEN, K. ROSCOE, F. DEN HEIJER AND E.H. CHBAB, Paper III-25, available online at http://www.icid2011.nl/files/pdf/Paper%20III-25%20Kieftenburg%20et%20al.pdf
       

       

       [20] Hoeksema, R., Designed for Dry Feet: Flood Protection and Land Reclamationa in the Netherlands,  American Society of Civil Engineer, 2006, page 127.
       

       

       [21] Ten Brinke, W. B. M. and Bannink B. A., Dutch Dikes and Risk Hikes. A Thematic Policy Evaluation of Risks of Flooding in The Netherlands, Bilthoven, RIVM.
       

       

       [22] Voogd, H., Combating flooding by planning: some Dutch experiences, available online at http://www.henkvoogd.nl/pdf/disP_164_Voogd.pdf
       

       

       [23] ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ยังได้บัญญัติหลักการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะไว้ใน รัฐธรรมนูญอันเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย โปรดดูเพิ่มเติมใน Kuks, S., The Evolution of the National Water Regime in the Netherlands, Center for Clean Technology and Environmental Policy, 2002, page 10.  
       

       

       [24] McKinney, V., Sea Level Rise and the Future of the Netherlands, ICE Case Studies 212. May, 2007, available online at http://www1.american.edu/ted/ice/dutch-sea.htm
       

       

       [25]Ligtvoet, W., Knoop, B. S., and Bouwman, A.,  Flood protection in the Netherlands: framing long-term challenges and options for a climate-resilient delta, Netherlands Environmental Assessment Agency, 2009, page 19.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544