หน้าแรก บทความสาระ
เมื่ออดีตผู้นำประเทศต้องคำพิพากษาให้จำคุก
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
1 มกราคม 2555 19:54 น.
 
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาศาลฝรั่งเศสได้มีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ว่าอดีตประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัก วัย 79 ปี มีความผิดข้อหายักยอกเงินหลวง ละเมิดความไว้วางใจของประชาชนและมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการใช้ภาษีประชาชนจ่ายเงินให้สมาชิกพรรคการเมืองและหัวคะแนนของตน โดยการทำสัญญาจ้างงานปลอมขึ้นมา 19 ตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง ในสมัยที่ชีรักดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีส ระหว่างปี 2533-2538 ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งทำให้นครปารีสเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 54 ล้านบาท โดยศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ หลังจากใช้เวลาในการค้นหาความจริงมาอย่างยาวนาน
       จากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ชีรักกลายเป็นอดีตผู้นำสูงสุดรายแรกของฝรั่งเศสที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญานับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ขณะที่จำเลยร่วมในคดีนี้อีก 9 คน ศาลตัดสินไปก่อนหน้านี้แล้วให้ 2 คนพ้นผิด ส่วนอีก 7 คนที่เหลือถูกตัดสินว่ามีส่วนช่วยให้ชีรักใช้ระบบตำแหน่งงานปลอมในเทศบาลนครปารีส เพื่อนำเงินจากเทศบาลนครปารีสไปจ่ายแก่คนใกล้ชิดที่มาช่วยงานการเมือง และหนึ่งในจำนวนนี้ คือ นายอแลง จุปเป อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาถูกตัดสินลงโทษจำคุก 14 เดือนโดยให้รอลงอาญาเมื่อปี 2547 และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 1 ปี ก่อนกลับเข้าสู่การเมืองจนก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปัจจุบัน
       เหตุที่คดีของอดีตประธานาธิบดีชีรักเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาเพราะชีรักได้ใช้เอกสิทธิ์ของการเป็นประธานาธิบดีของตนคุ้มกันมาโดยตลอดทำให้อายุความได้สะดุดหยุดอยู่ เมื่อเขาลงจากตำแหน่งจึงสามารถดำเนินคดีต่อไป
       ชีรักเริ่มเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยแรกเมื่อปี 2538 และได้เป็นประธานาธิบดีสมัย 2 อีกในปี 2545 ด้วยคะแนนนิยมอย่างถล่มทลายถึง 82% ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และที่โด่งดังที่สุดก็คือ การงัดข้อกับ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาคัดค้านการบุกอิรักในปี 2546 และหลังจากพ้นวาระประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2550 แล้วเขายังได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกตลอดชีพของสภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศสอีกด้วย
       ที่ผมยกกรณีของอดีตประธานาธิบดีชีรักขึ้นมานี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและความเป็นอิสระของศาลฝรั่งเศส และแสดงให้เห็นว่าแม้ผู้นำของเขาจะได้รับความนิยมสักปานใดก็ตาม ก็ไม่อาจรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ แม้ว่าในระหว่างดำรงตำแหน่งจะไม่สามารถดำเนินคดีได้ก็ตาม แต่เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วคดีก็ว่ากันต่อไป เพราะความนิยมทางการเมืองกับการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน
       แต่ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือท่าทีของอัยการที่ขอให้ศาลยกฟ้องคดีพัวพันคอร์รัปชั่นของชีรัก โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าตำแหน่งงานผีเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา แต่ศาลยืนยันที่จะนำคดีเข้าสู่การพิจารณา เพราะภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส ผู้พิพากษาสามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการไต่สวนได้ แม้อัยการจะคัดค้านก็ตาม
       จากกรณีของประธานาธิบดีชีรักในข้อกล่าวหาว่าทุจริตนั้นไม่ได้แตกต่างจากคดีของคุณทักษิณเท่าใดนัก แต่ที่แตกต่างก็คือฝรั่งเศสใช้กระบวนการของศาลปกติธรรมดา ไม่ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารโค่นล้มเพื่อเอาออกจากตำแหน่งแล้วตั้งคณะกรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นอริกับผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวนเพื่อหาความผิด มิหนำซ้ำยังมีการออกกฎหมายของคณะรัฐประหารย้อนหลังไปยุบพรรคการเมืองเสียอีกด้วย
       ภายหลังที่ศาลยุติธรรมฝรั่งเศสมีคำพิพากษา ชีรักออกแถลงการณ์ว่าเขาจะไม่อุทธรณ์ต่อในคดีนี้ เพราะสุขภาพและพละกำลังที่ถดถอยลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้เขาไม่เหลือเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายที่อาจกินเวลายาวนาน แต่เขาก็ยังยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตนเอง(ตามฟอร์ม) และหวังว่าความรู้สึกของประชาชนฝรั่งเศสที่มีต่อเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
       แต่กรณีของคุณทักษิณกลับตรงกันข้ามเพราะมีการดำเนินการทั้งสับขาหลอก ทั้งสับขาจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งการนิรโทษกรรม ตลอดจนการจุดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนและไม่เห็นด้วยบางส่วน
       ที่เห็นด้วยก็คือการถูกรัฐประหารเตะออกจากตำแหน่งแล้วตั้งคณะกรรมการที่เป็นอริกันมาสอบสวนแล้วยังมีการใช้กฎหมายย้อนหลังไปยุบพรรคการเมืองนั้นยอมรับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง และไม่มีประเทศไหนที่เจริญแล้วสามารถยอมรับได้เช่นกัน และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อลบล้างผลพวงของรัฐประหารให้หมดสิ้นไป ไม่ให้กลายเป็นตราบาปฝังใจอยู่ดังเช่นในปัจจุบันนี้
       ที่ไม่เห็นด้วยก็คือการพยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณและยอมแม้กระทั่งจะนิรโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี 91 ศพ เพียงเพื่อคุณทักษิณเพียงคนเดียว
       ความหมายของผมก็คือ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกเลิกกระบวนการที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 เสียทั้งสิ้น แล้วดำเนินคดีไม่ว่าจะกี่คดีก็ตามกับคุณทักษิณในช่องทางปกติเช่นเดียวกับคดีของอดีตประธานาธิบดีชีรักของฝรั่งเศส หากคุณทักษิณมีความผิดจริงก็ย่อมสมควรที่จะได้รับโทษไม่ว่าจะได้รับความนิยมทางการเมืองสักปานใดก็ตาม
       ที่สำคัญที่สุดนอกจากการนำเอาตัวคุณทักษิณมาพิจารณาคดีในกระบวนการปกติแล้ว ย่อมต้องดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี 91 ศพ เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุจนทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างมากมายเช่นนี้
       เมื่อทำได้ดั่งนี้แล้ว คงไม่ต้องให้ใครมากล่าวอ้างถึงความเป็นนิติรัฐหรือนิติธรรมให้เปลืองน้ำลาย เพราะสิ่งที่ผมเสนอนี้คือการเป็นนิติรัฐและนิติธรรมอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวแล้วอย่างที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้
        
       ----------------
        
        
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544