ปกิณกะ: ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วมของประเทศเยอรมนี |
|
|
|
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
LLM in Business Law, De Montfort University นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ (สาขากฎหมายสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต, สหราชอาณาจักร
อาจารย์กาญจนา ลังกาพินธุ์
MSc in Sustainable Waste Management, University of Central Lancashire นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
|
|
|
|
|
|
|
|
|
[1] บทนำ
ประเทศเยอรมนีหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเคยประสบปัญหาน้ำท่วมมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเยอรมันครั้งหนึ่งได้แก่ วิกฤติน้ำท่วมบริเวณลุ่มแม่น้ำ Elbe แคว้น Saxony ในเดือนสิงหาคมของฤดูร้อนปี 2002 อันเป็นหายนะขั้นรุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมัน โดยวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากภาวะฝนตกหนักติดต่อกัน (heavy rainfall) อันก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมที่รุนแรง (disastrous floods) ซึ่งประมาณน้ำฝนจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำ Elbe เพิ่มสูงขึ้น[1]
ทั้งนี้ ผลของหายนะดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คนและบาดเจ็บอีก 110 คน และประชาชนอีกประมาณ 100,000 คน ต้องอพยพจากบ้านเรือนชั่วคราว โดยมีการประมาณการความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง6.2 พันล้านยูโร โดยภาคธุรกิจกว่า 12,000 แห่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ นอกจากนี้ Dresden เมืองหลวงของแคว้น Saxony ยังได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมดังกล่าว โดยคิดมูลค่าความเสียหายรวม 340 ล้านยูโร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเมือง Dresden โดยโรงเรียน 61 แห่งถูกทำลายและโรงพยาบาลอีก 21 แห่งได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้[2]
จากวิกฤติดังกล่าวทำให้ประเทศเยอรมันได้พัฒนาโครงการของภาครัฐต่างๆ[3] ที่อยู่ภายใต้แนวคิดพื้นฐานในการป้องกันภัยล่วงหน้า (Precautionary) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) [4] เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาและรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศเยอรมันในอนาคต เช่น โครงการ ELLA (The project ELLA) ที่กำหนดแนวทางในการวางผังเมืองและการใช้ที่ดิน เพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น[5]
ดังนั้น จากวิกฤติน้ำท่วมดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ประเทศเยอรมันจึงได้บัญญัติกฎหมายในการควบคุมภาวะน้ำท่วมโดยเฉพาะ ได้แก่ กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005[6] (Gesetz zur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes) ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2005 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในระดับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาของภาครัฐที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมที่แม่น้ำ Elbe ในฤดูร้อนปี 2002 ซึ่งกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วมดังกล่าวได้กำหนดให้รัฐ (Länder) ต่างๆ[7] ในประเทศเยอรมันกำหนดจำนวนพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ ต้องมีการกำหนดความเสี่ยงจากความเสี่ยหายจากภาวะน้ำท่วมของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงในบริเวณต่างๆ เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงและประเมินความเสียหายของภาวะน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ รัฐต่างๆ ต้องมีหน้าที่ในการเเจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของภาครัฐ
สำหรับพื้นที่ลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูง อาจถูกประเมินความเสี่ยงภายในกำหนดเวลาทุกๆห้าปี และสำหรับที่ราบที่อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมได้ง่าย อาจต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในทุกๆ เจ็ดปี โดยประชาชนต้องมีส่วนรวมในกระบวนการประเมินนี้ นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนียังกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมระยะยาวในหนึ่งร้อยปีข้างหน้า (100 - year flood) เพื่อกำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในระยะยาวและเพื่อให้สามารถแสวงหาแนวทางในการป้องกันล่วงหน้า ไม่ให้ผลร้ายเกิดขึ้นในอนาคต[8]
[2] สาระสำคัญของกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 (Gesetz zur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes)
กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 (Gesetz zur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes) เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ไข[9]กฎหมายทรัพยากรน้ำ (Gesetz zur Ordnung des Wasserhaushalts (Wasserhaushaltsgesetz - WHG))[10] จากการที่กฎหมายทรัพยากรน้ำไม่สามารถตอบสนองต่อกลไกของโครงการจัดการน้ำท่วมระยะยาวได้และไม่สามารถส่งเสริมมาตรการในการส่งเสริมการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ได่กำหนดมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญที่เสริมประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำท่วม (Hochwasserschutz) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังต่อไปนี้
[2.1] หลักการในการควบคุมน้ำท่วม (Grundsätze des Hochwasserschutze) [11]
ในกรณีที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการในการจัดการแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ ในการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภายในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว จะได้รับผลร้ายหรือภัยอันตรายจากภาวะน้ำท่วมน้อยที่สุด ทั้งนี้ บริเวณที่มีความเสี่ยงที่อาจจถูกน้ำท่วมหรือประสบอุทกภัยอาจได้รับการบรรเทาหรือลดความเสี่ยงเพื่อลดความเสียหายและป้องกันความเสี่ยหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้หรือเหตุผลต่างๆ บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อป้องกันน้ำท่วม ต้องดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและเพื่อลดความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม โดยเฉพาะการหามาตรการในการใช้ประโยชน์จากที่ดินในการลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม นอกจากนั้น อาจปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่อาจเป็นทางผ่านสำหรับน้ำท่วมได้ เพื่อสนับสนุนให้สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤติหรือภาวะน้ำท่วม
นอกจากนี้ กฏหมายระดับรัฐ (Landesrecht) ต้องกำหนดวิธีและแนวทางในการปฏิบัติการเพื่อป้องกันน้ำท่วมสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและควรกำหนดแนวทางในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงความเสี่ยงและภัยจากภาวะน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น การเดือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนเกิดภาวะน้ำท่วม ย่อมเป็นการกำหนดแนวทางในการคาดการณ์สำหรับรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในอนาคต
[2.2] มาตรการในการป้องกันราบน้ำท่วมถึง (Überschwemmungsgebiete)[12]
กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับที่การป้องกันที่ราบน้ำท่วมถึง กล่าวคือ ที่ราบน้ำท่วมถึง คือ บริเวณระหว่างแหล่งน้ำผิวดินกับพนังกั้นน้ำหรือชายฝั่งและบริเวณอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วมหรือเกิดการไหลของน้ำระหว่างภาวะน้ำท่วมได้ ซึ่งบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงดับกล่าวอาจถูกใช้สำหรับบรรเทาภาวะน้ำท่วมหรือเก็บกักน้ำท่วมได้
ดังนั้น กฎหมายระดับรัฐของสหพันธรัฐเยอรมันต้องกำหนดบริเวณแหล่งน้ำหรือพื้นที่จากแหล่งน้ำที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมหรือคาดว่าจะได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ กฎหมายระดับรัฐจะต้องกำหนดมาตรการในการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบ เกี่ยวกับภาวะของน้ำเหล่านั้นและการปรับสภาวะของแหล่งน้ำเหล่านั้นเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ ในกรณีแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมระดับธรรมดา กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้กฎหมายระดับรัฐวางกรอบการประเมินความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงภายในทุกๆหนึ่งร้อยปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งแผนการประเมินความเสี่ยงฉบับแรกต้องแล้วเสร็จภายใน 10 พฤษภาคม 2012 แต่ในกรณีแหล่งน้ำดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเผชิญภาวะน้ำท่วมระดับสูง กฎหมายกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมให้แล้วเสร็จภายใน 10 พฤษภาคม 2010 ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบถึงการกำหนดขอบเขตของที่ราบน้ำท่วมถึง อันเป็นการให้ประชาชนได้ทราบถึงความเสี่ยงและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงที่ประชาชนอาจอาศัยอยู่หรือประกอบกิจกรรมอยู่ต่อไป
นอกจากกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ให้อำนาจรัฐบาลในการปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วมแก่รัฐบาลกลางสหพันธรัฐแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้แต่ละรัฐ (Länder) จะต้องกำหนดขอบเขตของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงและบัญญัติข้อบังคับ (Regulations) ต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมเท่าที่จำเป็น โดยข้อบังคับของแต่ละรัฐควรระบุมาตรการดังต่อไปนี้
- แนวทางในการป้องกันและปรับปรุงโครงสร้างระบบนิเวศของแหล่งน้ำต่างๆและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
- แนวทางในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
- แนวทางในการรักษาและเยียวยาพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ
- แนวทางในการควบคุมทิศทางและปริมาณของน้ำจากภาวะน้ำท่วม
- แนวทางในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม
นอกจากนี้กฎหมายระดับรัฐยังต้องกำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- วิธีการจัดการกับสารอันตรายที่อาจไหลลงสู่หรือเจือสู่น้ำท่วมเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม รวมไปถึงการกำหนดวิธีติดตั้งระบบป้องกันความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม (floodproof) ของระบบทำความร้อนจากน้ำมัน (Oil heating systems) และยับยั้งไม่ให้มีการติดตั้งระบบหรือเครื่องทำความร้อนโดยใช้น้ำมันใหม่ เพราะเครื่องทำความร้อนโดยใช้น้ำมันอาจได้รับความเสียหายและก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำได้ง่ายเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม
- วิธีการป้องกันการหยุดชะงักของการส่งน้ำประปาและการระบายน้ำทิ้งจากครัวเรือนเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เพื่อเป็นการประกันว่าประชาชนจะมีน้ำใช้ในระหว่างที่เผชิญภัยน้ำท่วมหรือประสบวิกฤติน้ำท่วม
- วิธีการกำหนดมาตรการในการการอนุญาตเปิดและปิดน้ำ ในกรณีที่มีความเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลกเป็นอย่างสูง เช่น การเวลาการจ่ายน้ำ การกำหนดบริเวณที่สามารถจ่ายน้ำได้ และการกำหนดคุณภาพน้ำประปาจากภาวะน้ำท่วม เป็นต้น
กฎหมายระดับรัฐต้องกำหนดวิธีการออกคำสั่งที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรหรือการป่าไม้ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการฟื้นฟูและรักษาพื้นที่เหล่านั้น
นอกจากนี้ กฎหมายการใช้ที่ดินและกฎหมายการเกษตรควรกำหนดวิธีการบรรเทาและป้องกันการพังทลายที่อาจเกิดขึ้นหรือผลกระทบต่อสภาพน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำต่างๆ ในบริเวณที่ราบน้ำท่วม เช่น หากเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง อาจก่อให้เกิดการไหลของสารอันตรายจนทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำได้ในขณะหรือภายหลังจากที่เผชิญต่อภัยน้ำท่วม เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายการใช้ที่ดินและกฎหมายการเกษตรในข้างต้นอาจกำหนดข้อยกเว้นสำหรับกรณีของการวางแผนการใช้ที่ดินสำหรับการวางแผนจัดทำท่าเรือหรือการจัดทำอู่ต่อเรือบริเวณชายฝั่ง โดยในการกำหนดวางแผนดังกล่าวต้องกำหนดไว้ในแผนการใช้ที่ดินในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือหรือกิจการพาณิชยนาวีต่างๆ รวมไปถึงท่าเรือสินค้าทั้งระหว่างประเทศและชายฝั่ง ท่าเรือประมง และท่าเรือโดยสาร ถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งและการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในรัฐต่างๆประการหนึ่ง ดังนั้น กฎหมายการใช้ที่ดินและกฎหมายการเกษตรในแต่ละรัฐจำต้องกำหนดข้อยกเว้นเพื่อให้อุตสาหกรรมที่กล่าวมาสามารถได้รับการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมหรือวิกฤติน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ข้อยกเว้นดังกล่าวที่กฎหมายกำหนด เช่น การสร้างพื้นที่รองรับน้ำท่วมต้องไม่ถูกกระทบและไม่ถูกทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำท่วม เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐในการกำหนดการอนุญาตเป็นรายกรณี โดยเจ้าหน้ารัฐที่มีอำนาจอาจใช้อำนาจดุลพินิจ (Genehmigung durch die zuständige Behörde) เพื่อวินิจฉัยในกรณีที่การก่อสร้างหรือการพัฒนาที่ดินดังกล่าว มีผลกระทบต่อการควบคุมน้ำท่วมหรือการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมน้อยหรือการก่อสร้างดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการควบคุมน้ำท่วมหรือการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอาจทำคำสั่งทางปกครองในการอนุญาตเป็นกรณีไป โดยกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ดังต่อไปนี้
- กรณีที่ไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการควบคุมน้ำท่วมหรือการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม
- กรณีที่ไม่มีผลกระทบในในด้านลบต่อระดับน้ำและทางไหลของน้ำเวลาเกิดภาวะน้ำท่วม
- กรณีที่การก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรการในการควบคุมน้ำท่วมในปัจจุบัน
- กรณีที่สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือการก่อสร้างเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมน้ำท่วม
ทั้งนี้ กรณีที่มีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการควบคุมหรือการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้ดุลพินิจให้เอกชนที่ดำเนินการก่อสร้างหรือพัฒนาที่ดินดังกล่าวชดเชยความเสียหายหรือการทำการอันเป็นการเยียวยาความเสียหาย โดยกำหนดข้อจำกัดหรือกำหนดให้เอกชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ (oder wenn die nachteiligen Auswirkungen durch Auflagen oder Bedingungen ausgeglichen werden können)
นอกจากนี้ กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ยังได้กำหนดให้แต่ละรัฐบัญญัติกฎหมายในการกำหนดพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยการกำหนดดังกล่าวต้องมีการจัดทำแผนที่และกำหนดมาตรการในการป้องกัน โดยการจัดทำแผนที่และการกำหนดมาตรการในการป้องกันดังกล่าว ย่อมเป็นการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี หากการความเสี่ยงจากการกำหนดขอบเขตที่ราบน้ำท่วมถึง ไปกระทบกับประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ (Wohl der Allgemeinheit) ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการชดเชยความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะนั้นด้วย เพื่อให้ไม่ให้การจัดการความเสี่ยงหรือการควบคุมภาวะน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยทั่วไป
[2.3] มาตรการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมได้ง่าย (Überschwemmungsgefährdete Gebiete)[13]
กฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 ได้กำหนดมาตรการในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่มีเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ง่าย (Flood-prone zones) ได้แก่ พื้นที่ที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงที่บริเวณแหล่งน้ำหรือพื้นที่จากแหล่งน้ำที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมหรือคาดว่าจะได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมได้ง่าย ดังนั้น การกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมได้ง่ายหรือมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับความเสียหายเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยหากเกิดกรณีที่มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการควบคุมโดยกลไกและเครื่องมือทางชลประทาน (public flood control facilities) หรือการที่พนังกั้นน้ำ (dykes) ไม่สามารถต้านทานน้ำท่วมได้ กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้กำหนดดังกล่าวต้องมีการจัดทำแผนที่และกำหนดมาตรการในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อสาธารณะ
นอกจากนี้ กฎหมายระดับรัฐ จะต้องกำหนดมาตรการเท่าที่จำเป็นในการจัดการพื้นที่ที่อาจเสี่ยงกับภาวะน้ำท่วมได้ง่าย เพื่อป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่อาจกระทบต่อสาธารณะชน
[2.4] มาตรการกำหนดแผนควบคุมน้ำท่วม (Hochwasserschutzpläne)[14]
กฎหมายของรัฐต่างๆ จะต้องกำหนดแผนในการควบคุมทางน้ำและการไหลของน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ที่อาศัยการควบคุมน้ำท่วมเชิงเทคนิคและการชลประทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำและการกำหนดแผนในการควบคุมน้ำท่วม (Hochwasserschutzpläne) ที่เหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดแผนในการควบคุมน้ำท่วมดังกล่าว ต้องกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมในการควบคุมภาวะน้ำท่วมให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดหรือความเสี่ยงที่ได้สัดส่วนกับระบบการป้องกันน้ำท่วมหรือระบบชลประทานที่ภาครัฐได้พัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงสถิติของวิกฤติน้ำท่วมที่ประเทศเยอรมนีได้รับมาหนึ่งร้อยปีเป็นอย่างต่ำ เพื่อสนับสนุนการประเมินแนวโน้มในการเกิดภาวะน้ำท่วมในอนาคต โดยแผนการควบคุมดังกล่าวจะต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อรองรับหรือกักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภาวะน้ำท่วมในอนาคต นอกจากนี้ อาจมีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาพนังกั้นน้ำและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถรองรับภาวะน้ำท่วมได้
นอกจากนี้ เมื่อรัฐต่างๆ จำทำแผนในการควบคุมน้ำท่วมสำเร็จแล้ว กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้รัฐต่างๆ มีหน้าที่ในการจัดพิมพ์แผนดังกล่าวเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนได้ทราบถึงแนวทางในการบริหารความเสี่ยงและรับมือภาวะน้ำท่วม อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐต่างๆได้แจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้ทราบเมื่อแผนในการรับมือถูกเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง ทั้งนี้ รัฐต่างๆต้องจัดทำแผนในการควบคุมน้ำท่วมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2009
[2.5] มาตรการส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการลุ่มน้ำท้องถิ่น (Kooperationin den Flussgebietseinheiten)[15]
กฎหมายของแต่ละรัฐ จะต้องกำหนดแนวทางความร่วมมือในการควบคุมน้ำท่วมในระดับท้องถิ่นและระหว่างรัฐต่างๆ ในสหพันธรัฐ โดยเฉพาะความร่วมมือในการวางแผนการควบคุมน้ำท่วมและมาตรการในการป้องกันต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือกันในการควบคุมน้ำในระหว่างส่วนราชการต่างๆ และระหว่างรัฐแต่ละรัฐ
[3] บทสรุป
ความสำเร็จของประเทศเยอรมันในการบัญญัติกฎหมายปรับปรุงการควบคุมน้ำท่วม ค.ศ. 2005 นั้นคือ การสร้างมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับโครงการของภาครัฐต่างๆในควบคุมภาวะน้ำท่วม โดยอาศัยแนวคิดพื้นฐานในการป้องกันภัยล่วงหน้า (Vorsorglich) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Nachhaltige Entwicklung) นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังสร้างกลไกที่สำคัญห้าประการดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและการควบคุมน้ำท่วม โดยกำหนดให้รัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนีและรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐมีแนวทางที่สอดคล้องและสามารถประสานความร่วมมือกัน (Kooperationen) ในระหว่างรัฐต่างๆในสหพันธรัฐได้ อ ทั้งนี้ แม้ว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้และไม่สามารถควบคุมหายนะจากธรรมชาติได้ แต่อย่างไรก็ดี การสร้างมาตรการในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมเป็นการสร้างการเตรียมการที่ดี เพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดหรืออาจจะเกิดขึ้น
[4] กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ และคุณ Philipp Hamann จาก Johannes Gutenberg - Universität Mainz ที่ได้กรุณาช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาษาเยอรมันและหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้เขียน มา ณ โอกาศนี้
[1] Teichmann, M. and Berghöfer, A., River Elbe flood regulation options withecological benefits, Germany, The Ecomonics of Ecosystems & Biodiversity, 2010, page 1.
[2] Richter, S., Huber, K. R., and Lechner, U., THE ELBE FLOOD 2002 A CASE STUDY ON C2 SYSTEMS AND INTER-ORGANISATIONAL COORDINATION, Universität der Bundeswehr München, 2009, page 1.
[4] Petrow, T. et al, Improvements on Flood Alleviation in Germany: Lessons Learned from the Elbe Flood in August 2002, ENVIRONMENTAL MANAGEMENT, Volume 38, Number 5, 717-732.
[8] โปรดดูเพิ่มเติมใน Wolfgang Köc, Adaptation to Flood Risks through Legal Rulemaking Developing the Law of Flood Control in Germany and the EU, Conference Risk and Planet Earth2 - 4 March, 2009, University of Leipzig, Helmholtz, available online at http://www.uni-leipzig.de/risikoerde2009/ppt/Koeck.pdf
[9] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes Artikel 1 (Änderung des Wasserhaushaltsgesetzes)
[11] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes § 31a
[12] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes § 31b
[13] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes § 31c
[14] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes § 31d
[15] Gesetzzur Verbesserung des vorbeugenden Hochwasserschutzes § 32
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|