หน้าแรก บทความสาระ
ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด
คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ นบ. นม, นบท, ป.บัณฑิตกฎหมายมหาชน (ธรรมศาสตร์)
4 ธันวาคม 2554 18:35 น.
 
1. ความนำ
       หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคล โดยหลักการสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความรับผิดที่อยู่บนพื้นฐาน “ความผิด (Fault) ซึ่งเป็นไปตามหลัก “ไม่มีความรับผิด ถ้าปราศจากความผิด” (Liability as  a result of fault) และความรับผิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความผิด (without fault) ซึ่งตามหลักกฎหมายแพ่งเรียกว่า ความรับผิดโดยเด็ดขาด (Strict liability) หรือในทางกฎหมายปกครองที่เรียกกันว่า ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด  (La responsabilité sana faute)
       ความรับผิดโดยปราศจากความผิดหรือความรับผิดเด็ดขาด หมายความว่า ความรับผิดของบุคคลที่จะต้องชดใช้ความเสียหายในการกระทำของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่เป็นความผิดหรือไม่ได้เจตนาหรือประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ ไม่จำต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ ถ้าได้การกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ต้องรับผิด ฉะนั้นความรับผิดเด็ดขาดหรือความรับผิดโดยปราศจากความผิด โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีเพียงแต่พิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยไม่จำต้องพิสูจน์ความผิดของบุคคลนั้น เมื่อพิสูจน์ความเสียหายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยก็จะรับผิดชดใช้ความเสียหาย จะพิสูจน์ตนเองไม่ผิดไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายจะกำหนดให้พิสูจน์ความผิดเฉพาะเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดกรณีเรียกว่า ข้อสันนิษฐานความผิดทางกฎหมาย (présumption légale de faute)[1]
       ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย บัญญัติความผิดเด็ดขาดหรือความรับผิดโดยปราศจากความผิด เช่น ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์หรือวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ความรับผิดในการกะทำของสัตว์ (มาตรา 433) ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง (มาตรา 436)  ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากสิ่งตกหล่นจาก (มาตรา 436) ความรับผิดอันเกิดจากยานพาหนะ (มาตรา 437) ความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น (มาตรา 425/427)
       ความรับผิดของรัฐที่อยู่บนพื้นฐานความผิดหรือความรับผิดของรัฐฐานละเมิด มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับความรับผิดของบุคคลฐานละเมิดตามหลักกฎหมายแพ่ง ส่วนหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิด จะตรงกันข้ามกับความรับผิดที่อยู่บนพื้นฐานความผิด ในบทความนี้จะไม่ถึงกล่าวหรืออธิบายความรับผิดความรับผิดที่อยู่บนพื้นฐานความผิดหรือความรับผิดฐาน “ละเมิด” แต่กล่าวเฉพาะแต่ความรับผิดโดยปราศจากความผิด
       2. ความรับผิดเด็ดขาดของรัฐตามกฎหมายเยอรมัน[2]
       ความรับผิดของรัฐในระบบกฎหมายเยอรมันโดยทั่วไปแล้วตั้งอยู่บนรากฐานทางความคิดที่สำคัญสองฐานความคิด ประการแรกเป็นความรับผิดของรัฐสำหรับการกระทำของข้ารัฐการในตำแหน่งซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น (ความรับผิดทางละเมิดของฝ่ายปกครอง) ประการที่สองเป็นความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ปัจเจกชนที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จะต้องอุทิศประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ความรับผิดที่กล่าวมานี้จะเป็นความรับผิดตามหลักกฎหมายมหาชนก็ต่อเมื่อรัฐได้กระทำการในแดนของกฎหมายมหาชนเท่านั้น หากรัฐกระทำการในระบบกฎหมายเอกชน รัฐย่อมต้องรับผิดตามหลักเกณฑ์เดียวกับเอกชนทั่วไป
       ความรับผิดทางละเมิดของรัฐตามกฎหมายปกครองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำนั้นเป็นการกระทำในแดนของกฎหมายมหาชนทั้งนี้โดยข้ารัฐการได้ละเมิดหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับการกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่สาม และข้ารัฐการผู้นั้นกระทำละเมิดโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ และการกระทำดังกล่าวเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐจะเข้ามารับผิดแทนข้ารัฐการของตนในกรณีที่การละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อ ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้ได้รับความเสียหายไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลอื่นใดได้ทั้งนี้ตามมาตรา 839 (1) และ (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
       สำหรับความรับผิดของรัฐอันเนื่องมาจากการที่ปัจเจกชนได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการที่ต้องสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การถูกเวนคืนนั้น จะเป็นกรณีที่รัฐรับผิดสำหรับการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องที่รัฐต้องรับผิดตามหลักความรับผิดทางละเมิด อย่างไรก็ตามศาลเยอรมันได้ขยายหลักความรับผิดของรัฐในกรณีนี้ไปยังการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนอกจากความรับผิดสำหรับการกระทำละเมิดและความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่ปัจเจกชนที่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจาการกระทำของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ระบบกฎหมายเยอรมันยังยอมรับให้ปัจเจกชนมีสิทธิเรียกร้องให้รับปฏิบัติการขจัดความเสียหายที่เกิดแก่ตนด้วย สิทธิเรียกร้องกรณีนี้ต่างจากความรับผิดที่ได้กล่าวมาตรงที่ปัจเจกชนไม่ได้มุ่งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแทนหรือค่าทดแทนความเสียหาย แต่เรียกร้องให้รัฐกระทำการหรืองดเว้นการการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สิทธิของตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับฟื้นคืนดี
       ในระบบกฎหมายเยอรมันยังมีการอภิปรายกันถึงความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนอีกด้วยว่าจะมีได้หรือไม่ ความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนหมายถึง ความรับผิดของรัฐในการชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพการณ์อันตรายเป็นพิเศษที่ฝ่ายปกครองได้ก่อให้เกิดขึ้นErsnst Forsthoff ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นดังกล่าวขึ้นในช่วง ค.ศ. 1950 ถึง 1960 เห็นว่าความรับผิดดังกล่าวมีได้ เช่น กรณีที่ตำรวจติดตามจับกุมคนร้ายและเกิดการยิงต่อสู้กัน กระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพลาดไปถูกบุคคลที่สามซึ่งเข้ามาในบริเวณที่มีการยิงต่อสู้กันโดยบังเอิญ เหตุผลที่ Forsthoff เรียกร้องให้ยอมรับข้อความคิดว่าด้วยความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนก็เนื่องจากสำหรับ Forsthoff กรณีที่กล่าวมานี้เป็นกรณีที่บุคคลที่สามผู้เสียหายไม่อาจเรียกร้องให้รัฐรับผิดได้ไม่ว่าจะโดยอาศัยหลักเรื่องการเวนคืน หรือหลักการล่วงล้ำสิทธิอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นพิเศษ เนื่องจากการเวนคืนหรือการล่วงล้ำสิทธิอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นพิเศษจะต้องเป็นกรณีที่รัฐมุ่งประสงค์ตั้งใจเช่นนั้นซึ่งกรณีตามตัวอย่างนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่ตำรวจตั้งใจจะยิงบุคคลที่สามกรณีนี้เป็นกรณีที่ Forsthoff เห็นว่ามีช่องว่างเกิดขึ้นในระบบความรับผิดของรัฐ และต้องการอุดช่องว่างดังกล่าวโดยอาศัยข้อความคิดว่าด้วยความรับผิดโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแนวคำพิพากษาของศาลในช่วงเวลาต่อมาแล้วจะเห็นได้ว่าศาลเยอรมันไม่ได้ใช้หลักความรับผิดโดยเด็ดขาดของรัฐตามกฎหมายมหาชนตามที่ Forsthoff เสนอโดยพิพากษาให้รัฐรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์อันตรายเป็นพิเศษซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจมหาชน แต่ได้สร้างข้อความคิดว่าด้วยความรับผิดสำหรับการกระทำเสมือนการเวนคืนและขยายความรับผิดของรัฐสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิทธิอื่นใดที่ไม่ใช่สิทธิในทรัพย์สินเป็นพิเศษออกไปให้ครอบคลุมถึงการกระทำของรัฐที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยประสงค์จงใจด้วย เช่น กรณีที่สัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกซึ่งเป็นสัญญาณไฟอัตโนมัติเกิดบกพร่องและแสดงสัญญาณไฟเขียวทุกด้านทำให้รถยนต์ที่แล่นมาชนกันกลางสี่แยก เช่นนี้รัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์นั้น เพราะกรณีนี้เป็นกรณีที่รัฐล่วงล้ำสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นใด เช่น สิทธิในร่างกาย และทำให้เกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่ประสงค์จงใจก็ตาม (รัฐไม่มีอำนาจให้สัญญาณไฟเขียวทุกด้านพร้อมกัน) ทั้งนี้ตามหลักความรับผิดสำหรับการกระทำเสมือนการเวนคืน และตามหลักความรับผิดสำหรับการกระทำเสมือนการล่วงล้ำสิทธิอื่นใดที่ทำให้ผู้ทรงสิทธิเสียหายเป็นพิเศษ โดยการสร้างสถาบันความรับผิดขึ้นมาจากหลักการเวนคืนและการล่วงล้ำสิทธิอื่นใดที่ทำให้ผู้ทรงสิทธิเสียหายเป็นพิเศษเช่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนขึ้นอีกดังที่ Forsthoff เสนอ
       ในปัจจุบันนี้เราอาจกล่าวได้ว่าความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะทั่วไปยังไม่มีในระบบกฎหมายเยอรมัน มีแต่ความรับผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายมหาชนเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดให้รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อสถานการณ์อันตรายพิเศษขึ้น เช่น ความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินทหาร ความรับผิดบางส่วนของมลรัฐและสหพันธ์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู รวมตลอดถึงความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการทางอาญาโดยไม่ถูกต้อง เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการพิพากษาลงโทษหรือจับกุมคุมขังบุคคลที่ไม่มีความผิด เป็นต้น
       จะเห็นได้ว่า ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดของประเทศเยอรมันมีเพียงข้อเสนอของนักนิติศาสตร์เท่านั้น แต่ในระบบศาลปกครองเยอรมันยังไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งแตกต่างจากระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศสที่สภาแห่งรัฐได้พัฒนาหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดของฝ่ายปกครองมายาวนานดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
       3. ความรับผิดโดยปราศจากความผิดของฝ่ายปกครองตามกฎหมายฝรั่งเศส
       สภาแห่งรัฐประเทศฝรั่งเศสได้พัฒนาหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของรัฐ โดยแบ่งออกเป็น “ความรับผิดของรัฐโดยมีการกระทำความผิด” (La responsabilité pour faute) อันเกิดจากการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐให้แก่ประชาชนซึ่งมีหลักเกณฑ์ความรับผิดหลักภาระการพิสูจน์ความผิดเช่นเดียวกับหลักกฎหมายแพ่งว่าความผิดรับผิดทางละเมิด และ“ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากการกระทำความผิด” (La responsabilité snas faute) ซึ่งเป็นความรับผิดที่มีทฤษฎีความรับผิดโดยเฉพาะ แยกต่างห่างจากความรับผิดโดยเด็ดขาดตามหลักกฎหมายแพ่ง และมีขอบเขตเงื่อนไขความรับผิดที่ค่อนข้างเคร่งครัด
       สภาแห่งรัฐได้เริ่มวางหลัก“ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากการกระทำความผิด” (La responsabilité snas faute)  ปี ค.ศ. 1895 ในคดี C.E, 21 juin 1895, CAMES เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดของรัฐในกรณีที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความผิดของผู้ใดเลย กล่าวคือ ผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้น ขณะเดียวกันความเสียหายก็ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของหน่วยงาน ซึ่งตามหลักกฎหมายแพ่งนั้น ผู้เสียหายไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงาน แต่ เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากบริการสาธารณะ หลักกฎหมายที่นำมาปรับใช้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นหลักกฎหมายแพ่ง ดังนั้น เมื่อความเสียหายดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมหนึ่งในการป้องกันประเทศ ตุลาการผู้แถลงคดีโรมิเออ (Romieu) จึงเสนอว่า “เป็นหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองที่จะพิจารณาคดีโดยใช้จิตสำนึกของศาลที่สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกันระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินบริการสาธารณะ โดยเฉพาะรัฐ จำต้องเป็นหลักประกันในแก่เจ้าหน้าที่ของตนต่อความเสี่ยงภัยที่บุคคลนั้นอาจได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่มีความผิด หน่วยงานจำต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ดังกล่าว”[3]
       ทฤษฎีพื้นฐานของความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดมี 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคม (Théorio du risqué spécial et socializé)  และทฤษฎีความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะ (Théorio du l’éegalité des citoyens devant les charges pubiques) แต่หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดอ้างอิงอยู่กับทฤษฎีความเสี่ยงภัยเพียงอย่างเดียว[4]  ซึ่งทั้งสองทฤษฎีมีขอบเขตความผิดรับและเงื่อนไขของความรับผิดที่แตกต่างกัน ดังนี้
       3.1 ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามฐานทฤษฎีเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคม
       สภาแห่งรัฐได้พัฒนาหลักกฎหมายความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามทฤษฎีเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคม (Théorio du risqué spécial et socializé) ขึ้นเป็นลำดับแรก โดยตามทฤษฎีนี้  รัฐจะต้องรับผิดต่อเอกชนในกรณีที่รัฐมีภาระหน้าที่บางลักษณะที่มีคามเสี่ยงภัยหรืออันตรายโดยสภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายเป็นกรณีพิเศษแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งตัวบุคคลผู้กระทำกิจรรมนั้นเองและตัวบุคคลภายนอก[5] และเมื่อได้เกิดความเสียหายขึ้นแม้โดยที่รัฐมิได้กระทำความผิดใดๆ ก็ควรต้องให้ฝ่ายปกครองเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายนั้น กล่าวอีกนัยคือ กรณีที่ในการดำเนินกิจกรรมทางปกครอง ฝ่ายปกครองใช้วิธีการหรือเครื่องมือที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการนั้นอันเป็นวิธีการหรือเครื่องมือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยสภาพ หากราษฎรได้รับความเสียหายจากวิธีการหรือเครื่องมือนั้น ฝ่ายปกครองต้องรับผิด ทั้งนี้โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ผู้เสียหายมีหน้าที่พิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลหรือความเสียหายที่ได้รับเท่านั้น ฝ่ายปกครองจะอ้างเหตุเพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดได้เพียงแต่ว่าความเสียหายนั้นผู้เสียหายก่อขึ้นเองหรือเป็นเหตุสุดวิสัย[6]
       ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามฐานทฤษฎีเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคม ได้แก่กรณีต่อไปนี้[7]
       1) ความเสี่ยงภัยเนื่องจากสภาพการทำงาน เช่น การทำงานหลอมเหล็กเพื่อการผลิตอาวุธ
       2) ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการครอบครองและใช้วัตถุระเบิดหรือการดำเนินกิจกรรมที่เสี่ยงภัย เช่น การเก็บรักษาวัตถุระเบิดในคลังใกล้กับเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน การให้บริการจำหน่ายก๊าชหุ่งต้มตามท่อเข้าไปในอาคารบ้านเรือนประชาชนแล้วเกิดระเบิดขึ้น เป็นต้น
       คดี C.E., 28 mars.1919, Regnault - Desroziers ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คลังเก็บระเบิดและวัตถุอันตรายของทหารได้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ ผลของการระเบิดยังทำให้ทรัพย์สินของเอกชนเสียหายเป็นจำนวนมากด้วย ปรากฏว่า ราชการทหารได้เก็บวัตถุระเบิดในคลังดังกล่าวโดยมิได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้อาศัยข้างเคียงเมื่อเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น ผู้เสียหายทั้งหลายจึงฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับจากราชการทหารต่อสภาแห่งรัฐ สภาแห่งรัฐได้วินิจฉัยว่า การเก็บวัตถุระเบิดและวัตถุอันตรายในคลังเก็บอาวุธดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการกระจายแจกจ่ายอาวุธไปยังท้องถิ่นห่างไกล การดำเนินการนี้เป็นความจำเป็นในทางการทหารขณะเดียวกันการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดอุบัติเหตุอันทำให้เกิดความเสียหายขึ้น โดยมิได้เกิดจากสงคราม รัฐต้องรับผิดแม้ความเสียหายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยรัฐไม่มีความผิดก็ตาม[8]
       สำหรับความรับผิดจากทรัพย์ที่อันตรายโดยสภาพหรือวัตถุอันตราย แนวโน้มของสภาแห่งรัฐที่ตัดสินไปแนวเดียวกับศาลยุติธรรมคือ การนำหลักความรับผิดตามหลักข้อสันนิษฐานความผิดทางกฎหมาย (la présumption de responsabilité) เมื่อเป็นกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุของเครื่องจักรกล รวมถึงวัตถุอันตรายตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1384 (ซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 437 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย) มาปรับใช้เป็นการสร้างหลักการขึ้นใหม่คือ หลักความรับผิดที่เกิดจากวัตถุ (une responsabilité du fait des choses)[9]
       3) ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใช้อาวุธอันตราย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
       คดี C.E. Ass, 24 juin.1949, Consorts Lecomte ข้อเท็จจริงในคดีนี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1945 เวลาประมาณ 5 ทุ่ม ที่มุมถนนระหว่างถนนแวร์ซายส์และถนนเอ๊กเซลแมนส์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ล้อมจับกุมรถยนต์คันหนึ่งซึ่งฝ่าฝืนสัญญาณให้หยุดรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพุ่งเข้าชนเพื่อฝ่าด่านตรวจ ตำรวจนายหนึ่งได้ยิงปืนเพื่อสกัดคนขับรถคันดังกล่าว กระสุนปืนกระเด็นถูกทางเท้าและแฉลบไปถูกนายเลอคองต์ (Leconte)ซึ่งยืนอยู่หน้าบาร์ เสียชีวิต สภาแห่งรัฐได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับคำ ฟ้องโต้แย้งเมืองปารีสนั้นจากสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมืองปารีสไม่ต้องรับผิดในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายเป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องที่เมืองปารีสเป็นผู้ถูกฟ้องคดีจึงชอบแล้ว  ส่วนคำฟ้องโต้แย้งรัฐนั้น สภาแห่งรัฐวินิจฉัยว่า แม้ว่าโดยหลัก บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องรับผิดในความเสียหาย ก็ต่อเมื่อ ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำผิดที่มีลักษณะร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ของตนในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ฝ่ายปกครองต้องรับผิดแม้จะไม่มีการกระทำความผิดในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยได้ใช้อาวุธหรือเครื่องมือใดๆ ที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยเป็นพิเศษต่อบุคคลหรือทรัพย์สินและความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าที่เอกชนจะรับไว้ได้เองเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ตาย แม้ความตายของนาย Lecomte จะมิได้เกิดจากความผิดร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ แต่รัฐก็ต้องรับผิด ในอุบัติเหตุดังกล่าว แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ศาลยังไม่อาจกำหนดจำนวนความเสียหายให้ได้ จึงสั่งให้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณากำหนดจำนวนความเสียหาย[10]
           ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใช้อาวุธอันตราย นี้แม้จะมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมก็พิพากษาให้รัฐรับผิดโดยปราศจากความผิดตามหลักความรับผิดของฝ่ายปกครองตามที่สภาแห่งรัฐได้พิพากษา เช่น คำพิพากษา Civ. 1re 10 juin 1986, cons. Pourcel : ตำรวจใช้อาวุธปืนในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต[11]
       4) ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการใช้วิธีการที่อันตราย เช่น การบังคับให้ประชาชนต้องรับผิดวัคซีนตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับและเกิดความเสียหายแก่บุคคลจากการได้รับวัคซีนั้น เช่น  ฝ่ายปกครองต้องรับผิดในกรณีที่ผู้เสียหายติดเชื้อ HIV จากการรับถ่ายเลือดจากโรงพยาบาลของรัฐ (คดี CE Ass 13 juillet 1967 Département de la Moselle) หรือ กรณีการให้การบำบัดอบรมศึกษาแก่เยาวชนที่ต้องโทษคดีอาญาในสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยขึ้นแก่ผู้อาศัยใกล้เคียงอันเป็นผลจากการหลบหนีโดยง่ายของเยาวชน (คดี C.E. 3 Février 1956, Thouzellier และคดี C.E. 19  Décembre 1969, Étabilissement) หรือ กรณีการทดลองให้ผู้ป่วยซึ่งอยู่ระหว่างการบำบัดในโรงพยาบาลโรคจิตออกไปใช้ชีวิตนอกโรงพยาบาลปะปนกับประชาชน (คดี C.E. 13    Juillet 1967, Départment de la Moselle)[12]
       คดี C.E. Ass, 10 avr 1992, Epoux V,ในคดีนี้ นาง V. ผู้ฟ้องคดีได้เข้าไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยคณะแพทย์ได้ใช้วิธีการทำคลอดโดยการผ่าตัดดมยาสลบ วิธีการดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับเคราะห์จากกระบวนการแพทย์หลายประการ เพียงการทำคลอดโดยวิธีผ่าตัดก็มีความเสี่ยงต่อความดันและระบบการเต้นของหัวใจของคนไข้แล้ว และการดมยาสลบก็มีผลต่อความดันของคนไข้เช่นเดียวกัน เมื่อมีการให้ยาแก่คนไข้เกินขนาดก่อนทำการผ่าตัด ทำให้ในครึ่งชั่วโมงต่อมา คนไข้เกิดอาการความดันต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ และมีอาการคลื่นไส้อาเจียร และต่อมายังคงมีการให้คนไข้ดมยาสลบ ทำให้ความดันของคนไข้ลดต่ำเป็นครั้งที่สอง เมื่อผ่าตัดทำคลอดเสร็จแล้ว ความดันของคนไข้ได้ลต่ำลงอีก แพทย์ได้รักษาตามวิธีการทางการแพทย์แล้ว แต่ไม่ดีขึ้นกลับทรุดลงจนเป็นเหตุให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายคนไข้ไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งเพื่อทำการรักษาและคนไข้พ้นขีดอันตราย แต่ผลจากการหยุดเต้นของหัวใจไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทำให้มีผลต่อการทำงานของสมอง และทำให้คนไข้มีอาการโคมาหลายวัน จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาลแรก
       สภาแห่งรัฐได้วินิจฉัยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งตัดสินโดยอ้างหลักเดิมเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครองในกิจการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ว่า ฝ่ายปกครองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากความผิดร้ายแรงเท่านั้น ดังนั้น ศาลปกครองชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง แต่สภาแห่งรัฐวินิจฉัยให้โรงพยาบาลต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล โดยความเสียหายไม่จำต้องเกิดจากความผิดร้ายแรงของโรงพยาบาล[13]
       คดี Bianchi ลงวันที่ 9 เมษายน 1993 ของสภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่า แม้ฝ่ายปกครองจะไม่ได้กระทำความผิด แต่เมื่อปรากฏว่า การรักษาพยาบาลโดยวิธีนั้นมีความเสี่ยง และต่อมาได้ก่อให้เกิดความเสียหายที่มีลักษณะพิเศษ หากปรากฏว่าความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการรักษาพยาบาลดังกล่าว โดยคนไข้มิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนั้น และความเสียหายนั้นเกิดขึ้นตามความคาดหมาย และมีลักษณะที่รุนแรงโรงพยาบาลต้องรับผิดในผลของความเสียหายที่เกิดแก่คนไข้ของตน[14]
       5) ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่  หรือ อุบัติเหตุจากการทำงานที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายปกครอง เช่น ครูที่กำลังตั้งครรภ์คงได้รับมอบหมายให้สอนหนังสือในโรงเรียนที่กำลังมีโรคหัดระบาด เป็นเหตุให้ทารกเกิดมาพิการ (คดี C.E. 6 Novembre 1968, Dame Saulze)[15]  เป็นต้น
       ความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่นี้แม้จะมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมก็พิพากษาให้รัฐรับผิดโดยปราศจากความผิดตามหลักความรับผิดของฝ่ายปกครองเช่นกัน คดีสำคัญที่เป็นรากฐานอ้างอิงคือ คดี Dr. Giry (Civ. 2e 23 novembre 1956)  คดีนี้มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายแพทย์ Giry ได้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับบาดเจ็บจากการระเบิด  ศาลฎีกา (la Cour de cassation) พิพากษาวางหลักว่าในกรณีนอกเหนือจากที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เรียกร้องความรับผิดของรัฐได้ ทั้งนี้โดยการนำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดขององค์กรฝ่ายปกครอง (les règles de la responsabilité de la puissance publique) มาใช้ในการพิจารณาคดีโดยเทียบเคียง โดยใช้หลักความรับผิดโดยไม่จำต้องมีความผิดเกิดขึ้นที่ถูกสร้างขึ้นมาตามคำพิพากษาบรรทัดฐานของสภาแห่งรัฐเพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการดำเนินบริการสาธารณะกับองค์กรฝ่ายปกครอง[16]
       อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการตรารัฐบัญญัติเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการทำงาน ลงวันที่ 1898 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหลักประกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบำนาญในเหตุทดแทนเพราะความพิการ หรือหลักประกันอื่นตามกฎหมายทั่วไปว่าด้วยอุบัติเหตุจากการทำงาน อันเป็นการยกเลิกหลักการความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในเสี่ยงภัยจากการทำงาน แต่หลักความรับผิดนี้ยังใช้อยู่กับกรณีอาสาสมัคร โดยเฉพาะกับพลเมืองผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุที่กระทำการช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในระหว่างอันตรายด้วย (คดี C.E. 16 Novembre 1946,  Commune de St - Priest - la - Plaine)[17]
       6) ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะเป็นการชั่วคราวและเป็นอาสาสมัคร
       ในการจัดทำบริการสาธารณะ หากเจ้าหน้าที่ประจำได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ สภาแห่งรัฐได้วางหลักไว้ว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ประเภทชั่วคราวหรือกับอาสาสมัคร อันเนื่องมาจากการทำงานปกติในกิจการที่เสายงภัยให้แก่หน่วยงานของรัฐกลับมิได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับเจ้าหน้าทีประจำ[18] ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานที่ตนรับอาสา แม้ว่าฝ่ายปกครองจะไม่ได้กระทำความผิด
       คดี C.E. Ass, 22 nor.1946, Commune de St - Priest - la - Plaine, ในคดีนี้ เทศบาลเมือง St.-Priest-la-Plaine ได้จัดงานขึ้นและรับสมัครอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่จุดดอกไม้ไฟ ต่อมา อาสาสมัครสองคนได้รับบาดเจ็บในขณะทำงานดังกล่าว เพราะดอกไม้ไฟระเบิดก่อนเวลา โดยอาสาสมัครดังกล่าวมิได้ประมาท ดังนั้น ความเสียหายที่ได้รับเกิดจากการที่อาสาสมัครเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเป็นงานที่เขาได้รับมอบหมายจากนายกเทศมนตรีให้จัดทำ เทศบาลจึงต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นและเทศบาลมิได้โต้แย้งคำสั่งของสภาจังหวัดที่ตนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย สภาแห่งรัฐได้วินิจฉัยว่า เทศบาลต้องรับผิดในความเสียหายทั้งหมด ดังนั้น คำสั่งของจังหวัดที่ให้เทศบาลรับผิดเพียงสองในสามของความเสียหายจึงไม่ชอบ เมื่อเทศบาลมิได้โต้แย้งจำนวนค่าเสียหายที่กำหนดโดยสภาจังหวัด ดังนั้น จึงให้คงจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวไว้ และให้เทศบาลชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายทั้งจำนวน รวมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้นำคดีไปฟ้องร้องยังสภาจังหวัด และให้เทศบาลรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีทั้งหมด[19]
       ความรับผิดของรัฐกรณีอาสาสมัครที่ช่วยรัฐในการดำเนินการบริการสาธารณะจะต้องมีเงื่อนไข 5 ประการ แยกเป็นเงื่อนไขเชิงบวก 3 ประการ และเงื่อนไขเชิงลบ 2 ประการ ดังนี้[20]
       เงื่อนไขเชิงบวก 3 ประการ ได้แก่
       ประการแรก การปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครผู้เสียหายต้องอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่เป็นเพียงผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมของรัฐ เช่น ผู้สมัครเข้าแข่งขันเกมส์กีฬาของเทศบาล หรือคนที่มาดูการจุดพลุและดอกไม้ไฟ
       ประการที่สอง งานในหน้าที่ที่อาสาสมัครผู้เสียหายปฏิบัติดังกล่าวต้องเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการให้บริการสาธารณะของรัฐ
       ประการที่สาม การปฏิบัติงานของอาสาสมัครผู้เสียหายต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมอบหมายให้ปฏิบัติทั้งโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายหรือเป็นงานป้องปัดภัยสาธารณะที่มีมาฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสั่งให้ปฏิบัติ
       เงื่อนไขเชิงลบ 2 ประการ ได้แก่
       ประการแรก บุคคลผู้เสียหายนั้นต้องไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทใดๆ
       ประการที่สอง ความเสียหายที่บุคคลดังกล่าวได้รับต้องมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือเจตนาของตนเอง ทั้งนี้ต้องมิใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย
       3.2 ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามฐานทฤษฎีความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะ
       ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามทฤษฎีความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะ (Théorio du l’éegalité des citoyens devant les charges pubiques)  สภาแห่งรัฐได้พัฒนาขึ้นภายหลังทฤษฎีทฤษฎีเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคม โดยทฤษฎีความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะมีรากฐานจากหลักความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป  มีสาระสำคัญว่า ในกรณีที่การให้บริการสาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ได้ก่อให้เกิดภาระหนักหน่วงหรือเกิดความเสียหายพิเศษแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง และการให้บริการสาธารณะนั้นเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องปฏิบัติและการปฏิบัติงานดังกล่าวไม่ปรากฏความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ทว่าได้เกิดความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณะระหว่างประชาชนด้วยกัน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับภาระเกินสมควรกว่าบุคคลทั่วไปจะต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขจากรัฐ[21]
       ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามทฤษฎีความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะนี้ โดยมากจะเป็นความรับผิดในกรณีที่รัฐมีอำนาจกระทำการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ผลของการกระทำการดังกล่าวก่อให้เกิดภาระสาธารณะที่ไม่เสมอภาคต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลทำให้ได้รับความเสียหายพิเศษ ซึ่งสภาแห่งรัฐได้วางหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดตามทฤษฎีนี้ไว้ 6 กรณี ได้แก่
       1) ความรับผิดอันเกิดจากการตรากฎหมาย (Responsabilité du fait des lois)
       ตามปกติการตรากฎหมายถือเป็นการประกาศเจตจำนงขององค์กรอำนาจอธิปไตยซึ่งสามารถทำได้โดยอิสระและไม่อาจสร้างความรับผิดด้วยประการใดๆ ให้แก่รัฐได้ แต่ว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผลของกฎหมายอาจก่อให้เดความเสียหายเป็นการเฉพาะต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้รับทราบล่วงหน้า ในกรณีนี้สภาแห่งรัฐมีความเห็นว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบังคับใช้รัฐบัญญัติโดยฝ่ายปกครองนั้น สมควรที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายตามหลักความเสมอภาคเบื้องหน้าภาระสาธารณะของประชาชน อย่างไรก็ดี สภาแห่งรัฐวินิจฉัยว่าเฉพาะแต่ความเสียหายที่มีลักษณะผิดปกติเท่านั้นที่ศาลจะรับพิจารณาให้ และจะต้องปรากฏด้วยว่ารัฐบัญญัติฉบับนั้นไม่มีบทบัญญัติห้ามความรับผิดของรัฐไว้ล่วงหน้า[22]
       คดีC.E. Ass, 14 jen.1938, Société anonyme des produits laitiers “La Fleurette” คดีนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 1934 เกี่ยวกับการปกป้องผลิตภัณฑ์นม โดยห้ามมิให้ผลิต นำ เสนอ ขายหรือจำหน่าย ส่งออกหรือนำ เข้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ “ครีมเทียม” ที่มิได้ทำจากนม โดยมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกับผู้บริโภคนม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมนม แต่ทำให้บริษัทของผู้ฟ้องคดีไม่อาจผลิตสินค้าที่มีชื่อว่า “การ์ดีน” ต่อไปได้ เพราะสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะตามนิยามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ แต่ไม่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายหรือในกระบวนการบัญญัติกฎหมาย และสถานการณ์อื่นๆ ของเรื่องนี้ ไม่ปรากฏว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องการให้ผู้เสียหายต้องรับภาระ ที่โดยปกติเขาไม่จำต้องรับ และภาระนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องรับภาระนี้ จากเหตุผลดังกล่าว บริษัท La Fleurette จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากรัฐเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับจากผลของกฎหมายฉบับข้างต้น แต่จากสำนวนการสอบสวนศาลไม่สามารถกำหนดจำนวนความเสียหายให้ได้ จึงให้ผู้ฟ้องคดีไปยังกระทรวงเกษตรเพื่อให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้กำหนดจำนวนความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ[23]
       ก่อนคดีนี้ สภาแห่งรัฐเคยวางหลักว่ารัฐ ไม่ต้องรับผิดโดยสิ้นเชิงจากการกระทำทางนิติบัญญัติ ซึ่งคดีที่วางหลัก คือ คดี ดูชาเธอเล็ต (C.E. 11 มกราคม 1838, Duchâtelet) ซึ่งมีกฎหมายออกมาห้ามการผลิตยาสูบปลอม วัตถุประสงค์เพื่อประกันการผูกขาดการเก็บภาษีสรรพสามิต แต่มิได้เพื่อพิทักษ์สุขภาพอนามัยของประชาชนจากยาสูบปลอมแต่อย่างใด และต่อมาได้มีคดีโมรอค (C.E. 5 กุมภาพันธ์ 1875, Moroge) เดินตามแนวนี้ โดยคดีนี้เป็นกรณีมีกฎหมายออกมาเพื่อประโยชน์ของรัฐในการผูกขาดการเก็บภาษีไม้ขีดไฟ สภาแห่งรัฐได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่ารัฐไม่อาจรับผิดในผลของกฎหมายที่ออกมาเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยการห้ามดำเนินการในอุตสาหกรรมบางประเภท เว้นแต่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้รัฐต้องรับผิด  สำหรับฝ่ายวิชาการ ก็ได้สนับสนุนแนวคำวินิจฉัยเดิมดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลความมีลักษณะทั่วไปของการกระทำทางนิติบัญญัติและอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ลาแฟร์ริแอร์(Laferrière) ได้กล่าวว่า “กฎหมาย (รัฐบัญญัติ) เป็นการกระทำของอำนาจอธิปไตยและลักษณะของอำนาจอธิปไตย คือ การบังคับได้กับทุกคนโดยไม่มีผู้ใดสามารถร้องขอค่าชดเชยจากการนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติแต่เพียงผู้เดียวที่สามารถจะกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายได้เมื่อได้พิจารณาจากลักษณะและความหนักเบาของความเสียหาย รวมทั้งความจำเป็นและฐานะทางการคลังของรัฐ” เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสยังอยู่ในระบบรัฐไม่ต้องรับผิด (irresponsabilité de l’Etat) แต่หลักรัฐไม่ต้องรับผิดค่อยๆ ลดบทบาทลงเรื่อยๆ คดี La Fleurette เป็นคดีกลับหลักเดิมและวางหลักเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐเสียใหม่ โดยสภาแห่งรัฐพิพากษาให้รัฐรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย โดยไม่จำต้องมีกฎหมายกำหนดให้รัฐรับผิดอีกต่อไป[24]
       2) ความรับผิดอันเกิดจากการทำสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ (Responsabilité du fait des conventions internationales)
       สภาแห่งรัฐได้ปรับใช้หลักความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดจากการกทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐฝรั่งเศสกับรัฐต่างประเทศอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ต้องไม่ปรากฏว่าสนธิสัญญานั้นเองหรือรัฐบัญญัติซึ่งอนุวัติการตามสนธิสัญญาฉบับนั้น มีข้อความบัญญัติห้ามไม่ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และประการที่สอง ความเสียหายที่เอกชนได้รับนั้นจะต้องมีความรุนแรงและมีลักษณะพิเศษ[25]
       นอกจากนี้ ความรับผิดดังกล่าวจะต้องไม่เข้าข่ายข้อจำกัดอีก 2 ประการ คือ ประการแรก สนธิสัญญานั้นต้องมีการลงนามผูกันตามสนธิสัญญาและมีการดำเนินการให้สนธิสัญญามีสภาพบังคับเป็นกฎหมายภายในของรัฐเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว และ ประการที่สอง ความรับผิดของรัฐจะต้องเกิดจากความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากกฎหมายซึ่งรองรับบังคับการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เกิดจากตัวสนธิสัญญาเอง
       คดีC.E. Ass, 30 mars 1966, Cie.Gén.d’énergie radio - électrique, ในคดีนี้ บริษัท Compagnie générale d’énergie radioélectriqne เป็นเจ้าของสถานีวิทยุกระจายเสียง “Poste parisien” ซึ่งถูกเยอรมันเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองภายหลังสงคราม บริษัทฯ จึงฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐฝรั่งเศส ในความเสียหายที่เขาได้รับเพราะไม่สามารถเข้าครอบครองและดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงได้ ซึ่งเหตุที่ผู้ฟ้องคดีอ้างนั้นมีสองประการ
       ประการแรก ผู้ฟ้องคดีอ้างรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 30 เมษายน 1946 ที่กำหนดให้รัฐฝรั่งเศสต้องรับผิดชอบในค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการเข้ายึดและครอบครองทรัพย์สินของเอกชนเพื่อนำมาใช้เป็นที่อยู่หรือที่ตั้งค่ายของทหารเยอรมัน ซึ่งประเด็นนี้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่เข้าองค์ประกอบที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้
       ประการที่สอง ผู้ฟ้องคดีอ้าง อนุสัญญาระหว่างประเทศ (Convention de La Haye) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 1907 เกี่ยวกับกฎหมายและจารีตประเพณีในการสงคราม ซึ่งกำหนดว่า กิจการต่างๆ ในพื้นที่ที่มีสงคราม(.......) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูล ข่าวสาร(........) แม้จะเป็นของเอกชนก็อาจถูกยึดได้ แต่เอกชนจะต้องได้รับการชดใช้ตามอนุสัญญาฉบับนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ของเยอรมัน แต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ลงนามในข้อตกลงสองฉบับซึ่งมีเนื้อหาทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายต้องล่าช้าออกไป ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อความเสียหายที่ตนต้องรับภาระสาธารณะมากว่าพลเมืองคนอื่น
       สภาแห่งรัฐวางหลักว่า ความรับผิดของรัฐอาจมีขึ้นบนฐานพิจารณาของความรับผิดชอบในภาระสาธารณะที่พลเมืองต้องมีอย่างเท่าเทียมกัน โดยรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากอนุสัญญาที่ทำระหว่างฝรั่งเศสกับรัฐต่างประเทศและได้มีการให้สัตยาบันซึ่งทำให้อนุสัญญาเข้ามาในระบบกฎหมายภายในแล้ว ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขสองประการ ประการแรก ต้องไม่ปรากฏว่าอนุสัญญานั้นเองหรือกฎหมายฉบับใดๆ ได้กำหนดไม่ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและ ประการที่สอง ความเสียหายที่ได้รับนั้นจะต้องรุนแรงและมีลักษณะพิเศษ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ฟ้องคดีมีลักษณะทั่วไป คือ ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสทุกคนล้วนได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องคดี ความเสียหายที่ได้รับจึงไม่มีลักษณะเฉพาะและพิเศษที่รัฐจะต้องรับผิด จึงพิพากษายกฟ้อง[26]
       3) ความรับผิดอันเกิดจากการออก “กฎ” ที่ชอบด้วยกฎหมาย (Responsabilité du fait des  réglements légaux) เช่น เทศบาลมีประกาศเทศบัญญัติห้ามขายของและห้ามคนเดินเท้าในบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและค้าขาย เพื่อสงวนทางเดินให้แก่คนขี้ล่อเดินล่อเท่านั้น เป็นเหตุให้พ่อค้าขายของที่ระลึกซึ่งตามปกติขายสินค้าอยู่ในเส้นทางเดินเท้าหมดโอกาสค้าขาย สภาแห่งรัฐพิพากษาให้ฝ่ายปกครองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พ่อค้า[27]
       4) ความรับผิดอันเกิดจากการที่ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล  (Responsabilité du fait des  l’inexécution des decisions de justice)
          ในบางกรณีและบางสถานการณ์ รับอาจปฏิเสธไม่บังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลได้ หากการใช้ดุลพินิจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม การใช้ดุลพินิจเช่นนี้เป็นการกระทำที่ปราศจากความผิด แต่การกระทำดังกล่าวทำให้สิทธิในทรัพย์สินของเอกชนเสียหาย เอกชนจึงมีสิทธิได้รับการเยียวยาจากฝ่ายปกครองตามทฤษฎีว่าด้วยความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะ สภาแห่งรับมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้องคดีในจำนวนที่เหมาะสมได้[28] เช่น ฝ่ายปกครองปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ให้ขับไล่กลุ่มผู้ประท้วงที่ยึดโรงงานอกจากโรงงาน ด้วยเหตุเพื่อป้องกันความวุ่นวายและรักษาความสงบเรียบร้อย (คดี C.E. 21 Juillet 1989, Consorts Hautbuis)[29]
       คดี C.E., 30 nov.1923, Couitéas, ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินในตูนีเซียที่ถูกประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งบุกรุกและเข้าครอบครองที่ดินของตน และศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาแล้วว่าทีดินเป็นของผู้ฟ้องคดีและให้ขับไล่ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินการตามคำพิพากษาปฏิเสธไม่บังคับตามคำพิพากษาให้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการบังคับตามคำพิพากษาต้องใช้กำลังเข้าดำเนินการ ซึ่งการใช้กำลังอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเพราะผู้ครอบครองที่ดินเข้าใจว่าตนมีความชอบธรรมในการครอบครองที่ดินดังกล่าวเพราะได้ครอบครองที่ดินนั้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อสภาแห่งรัฐสภาแห่งรัฐได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธไม่บังคับตามคำพิพากษาให้นั้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและเพื่อความปลอดภัยสาธารณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีหน้าที่ต่อประเทศที่อยู่ในความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี ประชาชนก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐ โดยหากตนเป็นผู้ชนะคดี ก็มีสิทธิที่จะเชื่อถือว่ารัฐจะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาและปฏิเสธที่จะใช้กำลังบังคับ หากเห็นว่าการใช้กำลังบังคับจะทำให้เกิดอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม ซึ่งความเสียหายที่เกิดจากการปฏิเสธดังกล่าวไม่อาจผลักให้เป็นภาระของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นหน้าที่ของศาลที่จะกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบหากพ้นขอบเขตนี้ไป ผู้ต้องรับผิดคือฝ่ายปกครอง
       สภาแห่งรัฐจึงวินิจฉัยว่า การปฏิเสธใช้กำลังเข้าบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของฝ่ายปกครอง เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม แต่การกระทำดังกล่าวทำให้สิทธิในทรัพย์สินของเอกชนเสียหาย เอกชนจึงมีสิทธิได้รับการเยียวยาจากฝ่ายปกครอง การที่ฝ่ายปกครองปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการปฏิเสธโดยไม่ชอบ สภาแห่งรัฐจึงสั่งให้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีในจำนวนที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย[30]
       ความรับผิดอันเกิดจากการที่ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล นำมาปรับใช้แก่กรณีฝ่ายปกครองปฏิเสธการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย (คือ กรณีการละเลยต่อหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย) เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยด้วย เช่น การที่ฝ่ายปกครองปฏิเสธที่จะดำเนินการฟ้องร้องคดีให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยขัดต่อกฎหมายว่าด้วยผังเมือง สภาแห่งรัฐวินิจฉัยว่า แม้การปฏิเสธจะชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพิเศษและไม่ปกติแก่เจ้าของอาคารข้างเคียงได้ จึงให้ฝ่ายปกครองจ่ายค่าเสียหาย (คดี C.E. 20 Mars 1974, Navarra)[31]
       5) ความรับผิดในกรณีมีความเสียหายอันเกิดจากงานโยธาสาธารณะ (La responsabilité poue dommages permants de travaux publics)
       กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการจัดการงานโยธาสาธารณะต่างๆ เช่น การก่อสร้างถนน หรือก่อสร้างอาคารสาธารณะของรัฐ ความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของฝ่ายปกครอง หากแต่การกระทำงานตามปกติของฝ่ายปกครองอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เช่น มีมลพิษทาเสียงหรือทุกข์ภาวะทางทัศนียภาพต่อบริเวณใกล้เคียงกับการก่อสร้าง กรณีเช่นนี้ฝ่ายผู้เสียหายอาจเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองรับผิดได้ และสภาแห่งรัฐจะใช้ทฤษฎีเรื่องความรับผิดในกรณีเกิดความไม่เสมอภาคเพื่อภาระสาธารณะระหว่างประชาชนมาปรับแก่คดี[32]
       6) ความรับผิดในมาตรการทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่ใช้บังคับกับกิจการเอกชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ตรวจแรงงานได้ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้บริษัทหนึ่งเลิกจ้างลูกจ้างส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา รัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเอกชนจากการไม่เลิกจ้างดังกล่าว แม้คำสั่งปฏิเสธไม่เลิกจ้างจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม (คดี C.E. 27 Nov 1947, Société Boulenger)[33]
       3.3 เงื่อนไขการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย
       การชดเชยใช้ค่าเสียหาย (La réparation du dommeage) ในคดีความรับผิดของฝ่ายปกครองในกฎหมายปกครองจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป ๒ ประการ คือ มีการแบ่งแยกระหว่างการเยียวยาความเสียหายตามความเป็นจริง (La réparation en nature) ซึ่งได้แก่การทำให้สิ่งดังกล่าวกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนที่จะได้รับความเสียหาย กับ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (l’ indemnistion) ซึ่งได้แก่ การจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายตามจำนวนความเสียหายที่ได้รับ[34]
       สำหรับเงื่อนไขการยาเยียวชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความรับผิดโดยปราศจากความผิด มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับความรับผิดที่อยู่บนฐานความผิดหรือความผิดฐานะละเมิด ซึ่งมีเงื่อนไขของความเสียหาย 3 ประการ คือ[35]
       ประการแรก ลักษณะของความเสียหาย ความเสียหายที่จะได้รับการเยี่ยวยาทางแพ่งต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอน (être certain) เป็นปัจจุบัน (être actuel) และเป็นความเสียหายโดยตรง (direct)
       1) ความเสียหายที่แน่นอนต้องเป็นรูปธรรมและคำนวณเป็นเงินได้ เช่น ความเสียหายทางวัตถุ ได้แก่ ความเสียหายแก่เงิน ทรัพย์สินถูกทำลาย รายได้ลดลง หรือคุณค่าของสิ่งของหรือวัตถุลดลง หรือเกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ได้แก่ การได้รับอันตรายแก่กายหรือชีวิต แต่นับแต่ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา สภาแห่งรัฐได้ยอมรับว่าความเสียหายทางจิตใจ อันได้แก่ ความโศกเศร้าเสียใจเพราะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความเสียใจอันเกิดจากการสูญเสียความงามหรือเสียโฉมอัปลักษณ์ และการเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง สามารถเยียวยาให้ชดใช้เป็นเงินได้เสมือนความเสียหายที่เป็นรูปธรรม
       2) ความเสียหายที่รัฐต้องรับผิดชอบมีเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (être actuel) แต่สภาแห่งรัฐเห็นว่าความเสียหายอาจเกิดจากการสูญเสียความเป็นไปได้บางอย่างที่อาจมีขึ้นในอนาคตก็ได้ เช่น สุญเสียโอกาสสำคัญที่จะได้รับคัดเลือกในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้าทำงานหรือสูญโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางการบางอย่าง เป็นต้น
       3) ความเสียหายต้องเป็นความเสียหายแก่ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ความเสียหายแก่ทารกอันเกิดจากการทำแท้โดยสมัครใจของมารดาไม่อาจเรียกร้องเอาจากรัฐได้ และความเสียหายต้องเกิดแก่บุคคลหรือผู้ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ ตัวอย่างเช่น สามีหรือภรรยาซึ่งมิได้สมรสตามกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสของผู้เสียหาย ศาลถือว่าได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
       ประการที่สอง  ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีกฎหมายรับรองคุ้มครองให้
        หากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายของผู้เสียหาย หรือเป็นกรณีที่มีกฎหมายรองรับ สภาแห่งรัฐไม่วินิจฉัยให้ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เช่น การเข้าใช้พื้นที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเกิดความเสียหายจากการใช้พื้นที่ หรือการเข้าไปในสถานที่ที่ไฟไหม้ซึ่งมีป้ายสัญญาณเตือนห้ามเข้า แต่ผู้เสียหายฝ่าฝืนป้ายสัญญาณเพื่อความปลอดภัยแกล้วเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
       ประการที่สาม  มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและความเสียหาย
        ความเสียหายนั้นต้องเป็นความเสียหายโดยตรง (être direct) จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง หรือการกระทำของฝ่ายปกครองก่อให้เกิดความเสียหายนั้นโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของรัฐกับความเสียหาย  (La lien de causalité) และความสัมพันธ์ต้องเป็นความสัมพันธ์อย่างแคบและชัดเจนแน่นอน
       ในบางกรณีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับความเสียหายอาจไม่แน่นอนชัดเจน แต่สภาแห่งรัฐอาจพิพากษาให้รัฐยังคงต้องรับผิดในความเสียหายได้ โดยอาศัยทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ทฤษฎี คือ
       1) ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไข (Théorie de l’équivalence des conditions) ตามทฤษฎีนี้ถือว่า หากการกระทำนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้กระทำต้องรับผิดในความเสียหายนั้น เพราะหากมี่การกระทำนั้น ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น แม้จะมีเหตุอื่นที่มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วยก็ตาม ต้องถือว่าทุกๆ เหตุมีความสำคัญเท่าเทียมกัน [36]
       ในการพิจารณาของสภาแห่งรัฐตามทฤษฎีนี้ จะพิจารณาชั่งน้ำหนักสาเหตุทุกสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แล้วเลือกสาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่เป็นเงื่อนไขของความเสียหาย ในกรณีเช่นนี้ หากการกระทำอันเป็นเงื่อนไขที่มีน้ำหนักมากที่สุดนั้นเป็นของรัฐ ศาลจะพิพากษาให้รัฐเป็นผู้รับผิดในความเสียหาย
       2) ทฤษฎีเหมาะสม (Théorie de la causalité adéquate) ตามทฤษฎีนี้ถือว่า ในบรรดาเหตุทั้งหลายที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น ในแง่ความรับผิดของผู้กระทำใดๆ แล้ว เฉพาะแต่เหตุที่ตามปกติย่อมก่อให้เกิดผลเช่นนั้นเท่านั้นที่ผู้กระทำจะต้องรับผิด[37]
       ในการพิจารณาของสภาแห่งรัฐตามทฤษฎีนี้ ศาลจะพิพากษาว่าการกระทำใดในบรรดาการกระทำทั้งหมดที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดกับผลมากที่สุด ในกรณีการกระทำของรัฐใกล้ชิดกับผล คือความเสียหายที่เกิดขึ้นมากที่สุด สภาแห่งรัฐจะพิพากษาให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายนั้น
       แต่เงื่อนไขความเสียหาย กรณีความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดเนื่องจากเสี่ยงภัยพิเศษและเพื่อสังคมหรือเนื่องจากความเสมอภาคของบุคคลต่อภาระสาธารณะ จะต้องมีความเสียหายลักษณะพิเศษ[38]หรือความเสียหายอันเป็นผิดปกติทั่วไป ที่แตกต่างจากความเสียหายทั่วไปที่บุคคลทั่วไปได้รับด้วย
       3.4 ข้อยกเว้นความรับผิดรัฐตามทฤษฎีสถานการณ์พิเศษ (La théorie des circonstances exceptionnelles)
       ในเหตุการณ์บางอย่างที่มีความสำคัญและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างมาก หากฝ่ายปกครองซึ่งจะเข้ามาแก้ไขปัญหาต้องปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็จะทำให้ฝ่ายปกครองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อให้การทำหน้าที่ฝ่ายปกครองมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ ฝ่ายปกครองจึงต้องเลือกตัดสินใจที่จะดำเนินการบางอย่างที่มีผลเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์พิเศษ (la théorie des circonstances exceptionnelles)จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินการของฝ่ายปกครองที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จุดเริ่มต้นของทฤษฎีมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ฝ่ายปกครองต้องกำหนดมาตรการบางอย่างเกินไปจากอำนาจตามปกติของตนเพื่อต่อสู้และรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นข้อยกเว้นของหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง[39]
       ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เกิดจากการ “ยอมรับ” ของสภาแห่งรัฐ ในการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองที่เกินกรอบที่กฎหมายกำหนด คือคำพิพากษา ลงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1918 คดี Heyriès ที่เกี่ยวข้องกับการที่ฝ่ายปกครองออกรัฐกฤษฎีกาเพื่อระงับการบังคับใช้หลักเกณฑ์ทางกฎหมายบางประการที่เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์สงคราม และคำพิพากษา ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 คดี Doles et Laurent ที่ฝ่ายปกครองออกกฎห้ามผู้หญิงเข้าไปในสถานบริการบางแห่ง ซึ่งในคดีหลังนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนในคำพิพากษาว่า อำนาจของตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะและความปลอดภัยจะแตกต่างกันระหว่างในยามสงบกับในยามสงคราม ซึ่งในยามสงครามจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าเพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะและความปลอดภัยได้ผลเต็มที่[40]
       พื้นฐานความคิดของทฤษฎีสถานการณ์พิเศษ มาจากหลักการที่สำคัญประการหนึ่งที่กำหนดหน้าที่ของฝ่ายปกครองให้ต้องดูแลรักษาให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นภายในรัฐและให้บริการสาธารณะต่างๆ ดำเนินไปตามปกติ ซึ่งภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐที่ละเว้นไม่ได้ (Negative function of state)[41] ภายใต้สถานการณ์ร้ายแรงเช่นนั้น การที่จะให้ฝ่ายปกครองเคารพกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายเคร่งครัดเหมือนภาวะปกติก็คงจะไม่ได้ เพราะในสถานการณ์เหล่านั้นความจำเป็นย่อมเป็นกฎหมาย (Nécessité fait loi)[42]  ดังนั้น หากการปรับใช้บทบัญญัติของกฎหมายอาจจะมีผลทำให้ฝ่ายปกครองไม่อาจรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมได้ ฝ่ายปกครองอาจระงับการปฏิบัติตามกฎหมายไว้ได้ชั่วคราว ผลก็คือ ยกเว้นอำนาจบังคับใช้ของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายปกติ และเริ่มการบังคับใช้ของหลักเกณฑ์ทางกฎหมายพิเศษกับการกระทำทางปกครองนั้น[43]  การกระทำของฝ่ายปกครองภายใต้สถานการณ์พิเศษ การกระทำนั้นอาจถูกถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ( คือเป็น Légalité d’exception) ก็ได้[44]
       การกระทำของฝ่ายปกครองในสถานการณพิเศษที่จะถูกถือว่าชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีองค์ประกอบสามประการ กล่าวคือ
       1) จะต้องมีข้อเท็จจริงอันจัดว่าเป็นสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้นจริง เช่น ภาวะสงคราม ภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด จลาจลวุ่นวาย ในอาณาบริเวณกว้างและเป็นเวลานานจนทำให้การบริการสาธารณะสะดุดลง เป็นต้น
       2) สถานการณ์เช่นว่านั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ฝ่ายปกครองไม่อาจปฏิบัติตามหลักความชอบด้วยกฎหมายได้ดังเช่นสถานการณ์ปกติ
       3) ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้มาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสถานการณ์ยกเว้นดัง กล่าวนั้น ต้องคุ้มค่าเพียงพอ เช่น ทำไปเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเพื่อความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ[45]
       ทฤษฎีสถานการณ์พิเศษที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการนอกเหนือกรอบความชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงอันเป็นสถานการณ์พิเศษทำให้ถือว่าการกระทำของฝ่ายปกครองชอบด้วยกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดรองรับ ซึ่งต่างจากกรณีการประกาศกฎอัยการศึกและการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดอำนาจหน้าที่และรายละเอียดการใช้อำนาจเอาไว้[46]
       อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พิเศษนั้นมีผลเพียงทำให้การกระทำที่ในสถานการณ์ปกติอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกถือว่าชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่มิได้หมายความการกระทำของฝ่ายปกครองในสถานการณ์พิเศษจะไม่ถูกตรวจสอบโดยศาล โดยปกติศาลจะตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงอันถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ สถานการณ์พิเศษนั้นยังคงดำรงอยู่ในขณะที่มีการกระทำทางปกครองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่สำคัญคือศาลจะตรวจสอบว่ามาตรการที่ฝ่ายปกครองกระทำลงไปนั้นพอสมควรแก่เหตุในสถานการณ์พิเศษนั้นหรือไม่[47]
       สำหรับในกรณีสถานการณ์พิเศษในเรื่อง “วิกฤติการณ์” เช่น การจลาจล การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ ศาลจะตรวจสอบการกระทำทางปกครองภายใต้หลักพื้นฐานสำคัญสองประการคือ ประการแรก เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือ การกระทำในขณะที่มีวิกฤติการณ์นั้นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองวิกฤติการณ์คือการระงับหรือทำให้วิกฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง และประการที่สอง วิธีการที่นำมาใช้ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว[48]
       ในเรื่องความรับผิดของรัฐทางปกครอง ทฤษฎีสถานการณ์พิเศษมีผลต่อความรับผิดของรัฐ กล่าวคือ การกระทำบางอย่างถ้ากระทำในสถานการณ์ปกติอาจจะเป็นความผิดได้ แต่ถ้าเป็นกรณีสถานการณ์พิเศษอาจทำให้กากระทำที่เป็นความผิดถูกถือว่าไม่ผิด ทำให้ฝ่ายปกครองหลุดพ้นจากความรับผิดได้[49] กล่าวคือ กรณีการฟ้องร้องให้รัฐรับผิดเนื่องจากการกระทำความผิดในสถานการณ์พิเศษ รัฐอาจหลุดพ้นความรับผิดเพราะการกระทำของรัฐดังกล่าวถูกถือว่าชอบด้วยกฎหมายคือไม่เป็นความผิดนั้นเอง แต่บางกรณีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ได้กระทำในสถานการณ์พิเศษ แม้จะไม่เป็นความผิดแต่ก็ก่อให้ความรับผิดทางปกครองโดยที่มาหลักความเสี่ยงภัยได้ สำหรับเรื่องเขตอำนาจศาล ตามกฎหมายฝรั่งเศส กรณีการกระทำที่กระทบต่อทรัพย์สินหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม หากเป็นการกระทำในสถานการณ์พิเศษถือว่าเป็นเพียงความผิดธรรมดา คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (สภาแห่งรัฐ) (คำพิพากษาศาลขัดกัน คดี 27 Mars 1952, Dame de la Murette)[50]
       4. ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามกฎหมายไทย
       ตามระบบกฎหมายปกครองไทยซึ่งส่วนมากได้รับอิทธิผลมาจากหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศส  รวมทั้งหลักกฎหมายความรับผิดของฝ่ายปกครอง โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติคดีที่อยู่เขตอำนาจศาลปกครองในกรณีความรับผิดของฝ่ายปกครองไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีความรับผิดฐานะละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า กับกรณีความรับผิดอย่างอื่น ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติเพียงว่าคดีละเมิดและคดีความรับผิดอย่างอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง มิได้บัญญัติถึงเนื้อสาระของหลักเกณฑ์ความรับผิด การชดใช้ความเสียหาย  จึงพบว่าศาลปกครองไทยได้ใช้บัญญัติความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณา  สำหรับความรับผิดอย่างอื่นนั้นเท่าที่ปรากฏเป็นคดีที่คำพิพากษาศาลปกครองเผยแพร่จะมีแต่คดีความรับผิดในกรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดโดยปราศจากความผิดเช่นกัน เนื่องจากการเวนคืนเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนแก่ผู้ถูกเวนคืน[51] ดังเช่นคดี
       - การปรับลดเงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.168/2549)
       - การเริ่มนับระยะเวลาใช้สิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.194/2549)
       - การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินที่ถูกเวนคืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.198-อ.200/2549)
       - การพิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.29/2549, อ.269/2549)
       - การกำหนดเงินค่าทดแทนในกรณีที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับความเสียหายจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.49/2550)
       - การกำหนดเงินค่าทดแทนในกรณีที่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บางส่วน และส่วนที่เหลือมีราคาลดลง  (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.155/2550)
       - การนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามนัยมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการเวนคืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.171/2550)
       - การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง114 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.290/2550)
       - การพิจารณาคำอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนสำหรับที่ดินซึ่งมีสภาพและทำเลที่ตั้งใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอุทธรณ์อย่างเท่าเทียมกัน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.307/2550)
       - การพิจารณาหลักเกณฑ์ค่าทดแทนตามที่มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ มีราคาแตกต่างกัน หน่วยงานทางปกครองต้องพิจารณาใช้ราคาที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.352/2551)
       -  การกำหนดค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลืออันมีราคาลดลง เมื่อมีการเวนคืนที่ดินเพียงบางส่วนและที่ดินส่วนที่เหลือใช้ประโยชน์ได้จำกัด อันทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือมีมูลค่าลดลง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.430/2551)
       ส่วนความรับผิดอย่างอื่น ในกรณีความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด ยังไม่มีปรากฏคำพิพากษาศาลปกครองที่เผยแพร่แต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยืนยันได้ว่า ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาในกรณีความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามแนวหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศสหรือไม่ แต่ผู้เขียนเห็นว่า หากมีการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด แนวโน้มที่ศาลปกครองไทยจะเดินตามหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศสว่าด้วย หลักความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดมีอยู่มาก เพราะหลักความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิดตามหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศสเป็นหลักกฎหมายทั่วไป แม้จะมิได้มีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ศาลปกครองไทยสามารถนำมาปรับใช้ในคดีได้ อีกทั้งในการร่างกฎหมายนี้ผู้ร่างได้กำหนดความรับผิดอย่างอื่นตามแนวคิดของระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศส โดยปล่อยให้ศาลปกครองเป็นผู้พิจารณาว่ากรณีอื่นใดบ้างที่จะเป็นกรณีความรับผิดอย่างอื่นนอกจากความรับผิดทางละเมิด[52] ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติให้ความรับผิดอย่างอื่น เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลปกครองพัฒนาหลักกฎหมาย ความรับผิดโดยปราศจากความผิดของฝ่ายปกครองนั้นเอง
        
       5. บทส่งท้าย
       การฟ้องรัฐให้รับผิด ทั้งความรับผิดในกรณีกระทำความผิด และความรับผิดโดยปราศจากความผิด จะต้องพิจารณาเงื่อนไขของความรับผิดทั้งสองกรณีให้รอบครอบ ทำการรอบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่พอเพียงจะให้เห็นว่ารัฐได้กระทำความผิด หรือ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของรัฐแม้รัฐจะไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้น กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ น้ำท่วมช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน (มิใช่เดือน พฤศจิกาคม) พ.ศ. 2554 หากจะฟ้องให้รัฐรับผิดในกรณีที่เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำของรัฐได้แก่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องมีข้อเท็จจริงที่รับว่า ถ้าฟ้องฐานละเมิด จะต้องได้ความจริงว่ารัฐได้กระทำความผิดอย่างไร ได้แก่  การคาดการณ์ปริมาณน้ำผิดพลาด การให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางไหล ทิศทางของน้ำ ปริมาณน้ำ การให้คำมั่นที่ไม่ถูกต้อง เช่น ผู้เสียหายที่นำรถไปจอดที่สนามบินดอนเมือง ที่รัฐมนตรีให้คำมั่นว่าน้ำไม่ท่วมแน่นอน หรือการแจ้งไม่เตือนให้ป้องกันล่วงหน้าพอสมควร หรือ การให้คำมั่นสัญญาจนประชาชนหลงเชื่อ แต่ผลไม่เป็นไปตามคำให้มั่นๆ เช่น การป้องกันน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือปกปิดข้อมูลความจริงที่ควรจะแจ้ง หรือผันน้ำไม่เป็นไปตามระบบที่ควรจะเป็นหรือปล่อยปะละเลยให้ประชาชนทำลายระบบการจัดการน้ำประตูระบายน้ำหรือแนวกันกั้นน้ำ  หรือผู้ที่บริหารจัดการน้ำไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบน้ำและระบบชลประทาน เป็นต้น ถึงแม้จะพิสูจน์ความผิดของรัฐได้ แต่ถ้ารัฐสามรถพิสูจน์ได้ว่า ภัยพิบัติธรรมชาติที่ประสบนี้เป็นภัยร้ายแรงเกินกว่าคาดหมาย โดยที่รัฐได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมือในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถป้องกัน ก็อาจจะเข้าทฤษฎีสถานการณ์พิเศษ ซึ่งมีผลทำให้รัฐมีอำนาจพิเศษและอาจทำให้การกระทำบางอย่างซึ่งปกติถือว่าผิดกฎหมายหลายเป็นชอบด้วยกฎหมาย และหากเป็นเหตุสุดวิสัยก็ทำให้รัฐพ้นผิดไปได้  แต่ถ้าฟ้องให้รัฐรับผิดอย่างอื่นหรือความรับผิดโดยปราศจากความผิด ก็ต้องพิสูจน์ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายนั้นเป็นการกระทำของรัฐที่ทำให้ตนต้องรับภาระสาธารณะ(รองรับน้ำท่วม)เกินกว่าปกติของบุคคลทั่วไปหรือรับภาระแทนประชาชนอื่นเพื่อให้ประชาชนหรือท้องอื่นมีความปลอดภัยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจอันก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในภาระสาธารณะ ซึ่งรัฐต้องรับผิดแม้จะพิสูจน์ว่าตนไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม แต่รัฐอาจจะหลุดความรับผิดก็ได้ ถ้าพิสูจน์ได้วาเป็นเหตุวิสัย เกินกว่ากำลังความสามารถของรัฐที่จะรับได้ อาจทำให้รัฐหลุดพ้นความรับผิดหรือรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในสัดส่วนที่น้อยลงก็ได้ รวมทั้งจะต้องพิสูจน์ความเสียหายที่รับว่าเกิดจากผลการกระทำของรัฐ ซึ่งตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินในคดีละเมิดจะพิจารณาว่า ผลเสียหายเช่นนั้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำนั้นหรือไม่ กล่าวอีกนัยคือ ถ้าผู้กระทำพิจารณาว่าผลเสียหายนั้นเป็นผลธรรมดาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ไกลกว่าเหตุ ไม่ไกลว่าความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไปจะคาดเห็นได้หรือไม่ กล่าวโดยสรุปศาลไทยถือหลักความเสียหายต้องเป็นผลโดยตรงของการกระทำและไม่ไกลกว่าเหตุ หมายความว่า “ผลโดยตรง” คือ ผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง และคำว่า “ไม่ไกลกว่าเหตุ” คือ ไม่มีเหตุใดมาสอดแทรกทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลขาดตอนลง[53] ซึ่งในกรณีเหตุภัยพิบัติธรรมชาติน้ำท่วมครั้งนี้ อาจมีปัญหาว่าน้ำที่ท่วมนั้นเป็นผลจากการกระทำของรัฐโดยตรงหรือไม่ เพราะโดยหลักน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการกระทำของรัฐ แต่ถ้าการกระทำของรัฐมีผลทำให้น้ำท่วมนานกว่าเดิมหรือการผันน้ำจาการกระทำของรัฐเข้าในเขตบางพื้นน้ำท่วมจากที่คาดหมายว่าจะไม่ท่วม ดังนี้พอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของรัฐ ซึ่งจะต้องรอการพิสูจน์และการตัดสินของศาลต่อไป
       แต่ในการฟ้องคดีก็จะต้องได้ความว่าการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายใดในดำเนินการ ซึ่งถ้าใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจปกครอง แต่การฟ้องจะเข้ากรณีใช้อำนาจกฎหมายหรือละเลยหน้าที่ไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติตามสมควรหรือไม่ก็ขึ้นอยู่พยานหลักฐาน ซึ่งถ้ามีการฟ้องกรณีนี้ก็จะเปิดโอกาสให้ศาลปกครองไทยได้พัฒนาหลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐต่อไปด้วย  
       

       
       

       

       [1] ไพจิตร ปุญญพันธ์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด, พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2538. หน้า 3.
       

       

       [2] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “รายงานการวิจัย เรื่อง ความรับผิดของรัฐในระบบกฎหมายเยอรมัน” เสนอ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พฤษภาคม 2547, หน้า VII, 91-93.
       

       

       [3] บุบผา อัครพิมาน (แปลสรุปและเรียบเรียง), คำวินิจฉัยและข้อสังเกตในคดีเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครองในระบบกฎหมายฝรั่งเศส, ศูนย์ศึกษากฎหมายปกครองเปรียบเทียบ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง ใน , http://www.admincourt.go.th/00_web/09_academic/document/foreign1.pdf . หน้า 7
       

       

       [4] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, รายงานวิจัยเรื่อง หลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศส, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอต่อ สำนักงานศาลปกครอง, ตุลาคม 2545. หน้า 272.
       

       

       [5] วรวุฒิ ทวาทศิน. “กฎหมายปกครองของประเทศฝรั่งเศสกับระบบกฎหมายจารีตประเพณี” ใน คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง สำนักฝึกอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2543.หน้า 593.
       

       

       [6] วิษณุ วรัญญู, ปิยะศาสตร์ ไขว้พันธุ์ และเจตน์ สถาวรศลีพร, ตำรากฎหมายปกครองว่าด้วยกฎหมายปกครองทั่วไป, ตำราตามโครงการพัฒนาตำรานิติศาสตร์ด้วนกฎหมายมหาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ตุลาคม 2551, หน้า 74.
       

       

       [7] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ, (1 ตุลาคม 2552), หน้า 296-297.
       

       

       [8] บุบผา อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 13
       

       

       [9] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 273.
       

       

       [10] เรื่องเดิม, หน้า 22.
       

       

       [11] เจตน์ สถาวรศีลพร, “ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ ที่มิใช่เกิดจากการกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารในระบบกฎหมายฝรั่งเศส : ความรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำในกระบวนการยุติธรรม” ใน http://www.admincourt.go.th/00_web/09_academic/document/03_technical_papers/190352_02.pdf , หน้า 5.
       

       

       [12] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 273.
       

       

       [13] บุบผา อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 30.
       

       

       [14] เรื่องเดิม, หน้า 30-31.
       

       

       [15] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 273.
       

       

       [16] เจตน์ สถาวรศีลพร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 4.
       

       

       [17] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 272.
       

       

       [18] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 299
       

       

       [19] บุบผล อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 26.
       

       

       [20] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 299-300.
       

       

       [21] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 297.
       

       

       [22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 297-298.
       

       

       [23] บุบผา อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 24.
       

       

       [24] เรื่องเดิม, หน้า 24-25
       

       

       [25] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 298.
       

       

       [26] บุบผา อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 16.
       

       

       [27] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 298.
       

       

       [28]เรื่องเดิม, หน้า 298-299.
       

       

       [29] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 274.
       

       

       [30] บุบผา อัครพิมาน, เรื่องเดียวกัน,หน้า 27.
       

       

       [31] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 274.
       

       

       [32] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 299.
       

       

       [33] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 274.
       

       

       [34] เรื่องเดิม, หน้า 276.
       

       

       [35] รายการศึกษาวิจัย เรื่อง วิเคราะห์คำพิพากษาคดีปกครองของศาลปกครองต่างประเทศ, หน้า 300-302.
       

       

       [36] ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2550, หน้า 79.
       

       

       [37] ไพจิตร ปุญญพันธ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 37.
       

       

       [38] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน. หน้า 275.
       

       

       [39] นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2553, หน้า 318.
       

       

       [40] เรื่องเดิม, หน้า 318.
       

       

       [41] สมยศ เชื้อไทย, หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2550. หน้า 126-127.
       

       

       [42] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ที่มาของกฎหมายมหาชนและหลักความชอบด้วยกฎหมาย, ใน คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา, 2543,หน้า 118-119.
       

       

       [43] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน.หน้า 83-84.
       

       

       [44] วิษณุ วรัญญู, ปิยะศาสตร์ ไขว้พันธุ์ และเจตน์ สถาวรศีลพร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 57.
       

       

       [45] ปิยบุตร แสงกนกกุล, บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, ใน  http://www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=886
       

       

       [46] วิษณุ วรัญญู, ปิยะศาสตร์ ไขว้พันธุ์ และเจตน์ สถาวรศีลพร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 59.
       

       

       [47] เรื่องเดิม, หน้า  60.
       

       

       [48] สุรพล นิติไกรพจน์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 85.
       

       

       [49] เรื่องเดิม. หน้า 85.
       

       

       [50] เรื่องเดิม, หน้า 85.
       

       

       [51] ชาญชัย แสวงศักดิ์, คำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวีพิจารณาคดีปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2550,หน้า 152.
       

       

       [52] เรื่องเดิม, หน้า 152.
       

       

       [53] สุมาลี วงษ์วิทิต, กฎหมายว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2546, หน้า 94-95.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544