ทำไม ! นักวิชาการจึงมองต่างมุม |
|
|
|
คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์
นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี
|
|
20 พฤศจิกายน 2554 17:37 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
กระผมได้อ่านบทความของคุณวีรพัฒน์ ปิรยวงศ์ เรื่อง ล้างไม่ล้างรัฐประหาร : ๓ ปุจฉา ถึง ๓๐ อาจารย์ และ เรื่อง ๓ คำเตือนที่คนไทยต้องรู้ ฉบับเต็ม ที่เขียนถึงข้อความคิดของอาจารย์ทั้ง ๗ ท่านที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติราษฎร์และความเห็นต่างของอาจารย์ทั้ง ๒๓ ท่านนั้นแล้ว ทำให้กระผมในฐานะลูกศิษย์จึงตั้งคำถามว่า ทำไมนักวิชาการจึงมองต่างมุม และขออนุญาตเขียนตามที่กระผมเข้าใจ โดยเข้าใจว่า...
ฝ่ายแรก ฝ่ายคณะนิติราษฎร์ มีแนวความคิดว่า เราต้องไม่ยอมรับการกระทำใดที่ไม่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย ต้องยกเลิกและทำใหม่ให้ถูกต้องตามหลักวิชา
ฝ่ายที่สอง ฝ่ายอาจารย์ ๒๓ ท่าน กลับเห็นว่าเมื่อมีผล ก็ต้องมีเหตุ (จึงมีเหตุผล) ตามหลักวิชาเช่นกัน
โดยฝ่ายแรกเห็นว่า ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการที่ถูกต้องมาก่อน หากกระบวนการไม่ถูกต้องไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายที่สองเห็นว่า ประชาธิปไตย หากไม่กระทำเพื่อส่วนรวม มีประโยชน์แอบแฝง ทุจริตคอร์รัปชั่นทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องแล้ว ไม่เป็นประชาธิปไตย
สรุปเบื้องต้น : (ตามความเข้าใจของกระผม) ความเห็นของนักวิชาการทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายก็เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยตามหลักสากลนั่นเอง แต่อาจมีแนวคิดหรือกระบวนการที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับอดีตกาลที่มีนักคิดนักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่คิดหาวิธีที่จะให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนที่แท้จริง จึงได้คิดหาวิธีที่จะให้ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น จึงได้เกิดระบบการปกครองอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าเป็นระบบสังคมนิยม (พรรคเดียว) คือ การปกครองแบบเผด็จการกับการปกครองแบบประชาธิปไตย (เดิม) เป็นสองระบบสองฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในที่สุด คือ หมายความว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถบรรลุไปยังจุดประสงค์หรือมุ่งหมายของกระบวนการนั้นได้ คือ ก่อให้เกิด ๒ ความเห็น หรือ สองทฤษฎีประชาธิปไตยเช่นในอดีตกาลหรือไม่
ในบทความของคุณวีรพัฒน์ ได้ทิ้งท้ายด้วยวลีอมตะที่ว่า การค้นหากติกาปกครองที่แน่นอนและเป็นธรรมนั้น พึงแสวงจาก มนุษย์ดังที่เป็นและกฎหมายดังที่ควรเป็น (en pregnant les homes tells quails sent, et les Lois tells quells prevent ere) เป็นแง่คิดไว้นั้น ข้าพเจ้าขออนุญาตหยิบยกมาเปรียบเทียบกับสังคมไทยโดยขอเริ่มต้นดังนี้ การเมืองไทยยังมีการปฏิวัติ รัฐประหารถึงแม้จะมีนักการเมืองที่มาจากระบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแล้วก็ตาม (ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน) เหตุผลหลักทุกครั้งที่คณะปฏิวัติรัฐประหารยกมากล่าวในการปฏิวัติรัฐประหารว่านักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่นตลอดมา ทั้งนี้เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ส.ส.ร. จึงได้สร้างระบบตรวจสอบมากขึ้น แต่ทำไมระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ก็พบว่าอำนาจบริหารไปครอบงำองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ และอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนและเป็นอำนาจสูงสุดในระบบรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนเองได้ อำนาจทหารจึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ก่อให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างมหันต์ (กล่าวคือ เป็นอำนาจนอกระบบที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมมาถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยที่มาจากประชาชนเสียเอง) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เป็นการไม่ยอมรับหรือไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ซึ่งมาจากประชาชนเป็น "คณาธิปไตย โดยคนกลุ่มน้อย บริบทแห่งสังคมต่าง ๆ นี้ ถือว่าอยู่ในความหมายมนุษย์ดังที่เป็น ใช่หรือไม่ หรือว่าสังคมแตกแยกเพราะรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ ทำให้เกิดสังคมแบ่งพรรคแบ่งพวกในทางการเมืองของหมู่ประชาชน ฉะนั้น สังคมที่แตกแยกทางความคิดในปัจจุบัน ถือว่า มนุษย์ดังที่เป็น ใช่หรือไม่ หรือทั้งสองอย่าง ก็คือ มนุษย์ดังที่เป็น ขออนุญาตตั้งคำถามในฐานะศิษย์ถามอาจารย์ทั้งสองฝ่ายในข้อเขียนนี้ด้วย
โดยสรุป... นักวิชาการทั้งสองฝ่ายมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกัน คือประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั่นเอง แต่กระผมมองว่ากระบวนการที่จะไปเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยของแต่ละฝ่ายต่างกันเท่านั้น (คือ ถือทฤษฎีมาก่อนเพื่อแก้ไขความเป็นจริง กับการถือความเป็นจริงมาก่อนแล้วเข้าสู่ทฤษฎี) กระบวนการของนักวิชากรแต่ละฝ่ายดังกล่าวเป็นหลักวิชาการทำให้ประชาชนเข้าใจยาก สับสน และงง ว่าจะเชื่อฝ่ายใดดี สังคมเกิดความแตกแยก แตกความคิดในหลักประชาธิปไตยในที่สุด กระผมในฐานะศิษย์จึงหวังว่าอาจารย์นักวิชาการซึ่งเป็นชนชั้นนำของประเทศ คงนำความคิดมาแก้ไขปัญหาของชาติและเป็นพลังชี้นำให้สังคมเข้าใจตรงกันเพื่อให้การเมืองไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงต่อไป อนึ่งขอบันทึกเป็นเหตุการณ์ไว้ด้วยว่า ขณะที่เขียนข้อเขียนนี้ เกิดอุทกภัยในภาคกลางครั้งใหญ่ บ้านของผู้เขียนก็ถูกน้ำท่วมบ้าน รัฐบาลจะแก้ปัญหาให้เราอย่างไร !
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|