หน้าแรก บทความสาระ
บทบาทของฝ่ายตุลาการในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
คุณพิภพ ภู่เพ็ง ศ.บ., ศศ.ม., น.บ. ,น.บ.ท.
20 พฤศจิกายน 2554 17:37 น.
 
วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549  มีการกล่าวอ้างถึงปัญหาแทรกแซงในกระบวนการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ  จนนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)  และได้มีการดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม  2550  ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ เห็นว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติและการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อน โดยจะเห็นผลได้จากการที่รัฐธรรมนูญมีการแยกหมวดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้โดยเฉพาะอย่างชัดเจน คือ ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และส่วนที่ 2 องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย องค์กรอัยการ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
                                       การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐเป็นหลักการสำคัญในการปกครองประเทศนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว จะต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือเพื่อควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ของรัฐในขณะเดียวกัน  ทั้งนี้ เพื่อมิให้องค์กรของรัฐซึ่งมีอำนาจปกครองหรืออำนาจมหาชนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่อย่างอำเภอใจหรือใช้ไปในทางที่มิชอบ (Abuse of  Power) รัฐธรรมนูญของไทยจึงได้ออกแบบกลไกต่าง ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้สามารถดำเนินการควบคุมอย่างครอบคลุมในกิจกรรมของรัฐในทุก ๆ ด้าน มีองค์กรควบคุมที่อิสระ และสามารถสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นในการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีของประชาชนได้  ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยให้มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง ครอบคลุม และเพิ่มขึ้นจากเดิมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ในหลาย ๆ กรณี  และการใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในหลายครั้งได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง  หรือการวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น
                                       สำหรับการสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยรูปแบบและกระบวนการสรรหา        ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) นั้น         ได้ปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญไปจากเดิมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)             2 ประการ คือ
       1. ลดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา และลดสัดส่วนของนักการเมืองหรือของตัวแทนจากพรรคการเมือง คงเหลือเพียงประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร   และตัดส่วนของตัวแทนนักวิชาการออกไปทั้งหมด แต่ไปเพิ่มจำนวนของฝ่ายตุลาการในองค์ประกอบของคณะกรรมการ         สรรหา ซึ่งได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกา หรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  รวมไปถึงบุคคลที่ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือก ที่แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ต้องมิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และต้องไม่เป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นในขณะเดียวกัน
                               2. ลดอำนาจของวุฒิสภาจากเดิมมีอำนาจในการพิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลที่เหมาะสมและสมควรเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ แต่ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)  วุฒิสภามีหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อมาให้พิจารณาเท่านั้น  กรณีวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบทั้งหมดหรือบางส่วน แต่หากคณะกรรมการสรรหามีมติยืนยันด้วยคะแนนเอกฉันท์หรือคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แล้วแต่กรณี ผลก็เป็นไปตามมติของคณะกรรมการสรรหา
       เมื่อวิเคราะห์การกำหนดสัดส่วน องค์ประกอบและจำนวนของกรรมการสรรหา                     ในกระบวนการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) จะพบว่า  ฝ่ายตุลาการมีสัดส่วนในองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล (ตามตำแหน่ง) โดยตรง ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด  หรือบุคคลที่มาจากผลการดำเนินการของฝ่ายตุลาการ ได้แก่ บุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก หรือบุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก  และหากพิจารณารายละเอียดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาแล้ว                     จะประกอบด้วยกลุ่มหลักเพียง 3 กลุ่ม ดังนี้
       1. กลุ่มตุลาการ ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด
       2. กลุ่มการเมือง ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
       3. กลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และมิได้เป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นในขณะเดียวกัน  ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลอื่นเช่นว่านี้  ก็เป็นบุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคัดเลือกเช่นกัน
                                       นอกจากนั้น หากพิจารณาบทบาทของฝ่ายตุลาการทางอ้อมในการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)  จะพบว่า ฝ่ายตุลาการเข้าไปมีส่วนสำคัญในองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอื่น ๆ ด้วย  ทั้งการที่ฝ่ายตุลาการเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา จำนวนไม่เกิน 74 คน)          โดยวุฒิสภานั้น เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งต่อไป  และรวมถึงการที่ฝ่ายตุลาการเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก จำนวน 5  คน ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คน (รวมประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน)  นอกจากนี้ ฝ่ายตุลาการยังเป็นคณะกรรมการสรรหา            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีกจำนวน 4 คน  ยิ่งทำให้เห็นบทบาทของฝ่ายตุลาการในกระบวนการสรรหาชัดเจนมากยิ่งขึ้น
                       และนอกเหนือจากการที่ฝ่ายตุลาการมีบทบาทและสัดส่วนในคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งเป็นผู้สรรหาด้วยตนเองในทางตรง และเป็นผู้ที่ลงคะแนนคัดเลือกบุคคลในที่ประชุมใหญ่ของตน ซึ่งถือว่าเป็นทางอ้อม ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)  ยังกำหนดให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทในการทำหน้าที่แทนผู้มีหน้าที่โดยตรงหรืออุดช่องว่างในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย ดังนี้
       1. กรณีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการเลือกตั้งไม่สามารถสรรหาผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและสมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งได้ตามกำหนดเวลา 30 วันหรือไม่ครบจำนวน 3 คน ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาจนครบจำนวน (นอกเหนือจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้สิทธิสรรหาแล้ว 2 คน) ภายในเวลา 15 วัน
       2. กรณีการสรรผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  หากคณะกรรมการสรรหาไม่อาจดำเนินการได้ภายในกำหนดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ  ก็ให้สิทธิที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 3 คน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน เป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการแทน
                                       3. กรณีฝ่ายตุลาการโดยประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดสามารถร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นการชั่วคราวได้   ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่งผลให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ถูกกล่าวหา จะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นมิได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว และในระหว่างนั้น หากมีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเหลืออยู่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้งหมด ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งได้จนกว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ตนดำรงตำแหน่งแทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าผู้นั้นกระทำความผิด ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 249 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
       
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544