หน้าแรก บทความสาระ
รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด ๓
คุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ นักวิชาการอิสระ
20 พฤศจิกายน 2554 17:37 น.
 
รัฐธรรมนูญนอกจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างทางการเมือง การปกครองและกำหนดความสัมพันธ์ขององค์กรตามโครงสร้างนั้นแล้ว หน้าที่อันสำคัญอีกประการหนึ่งและสำคัญมาก คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในรัฐอย่างเป็นธรรม จริงอยู่ที่ได้มีการบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐  แต่นั้นไม่เพียงพอและก็ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ
       ทั้งนี้ข้าพเจ้ามิได้หมายความถึงจะให้พลเมืองไทยทุกคนเท่ากันเหมือนกับนิยามทางคณิตศาสตร์ ที่ว่า นาย ก. = นาย ข. หาได้ไม่แต่หมายความว่า นาย ก.มีความเทียมเท่ากับนาย ข. ต่างหาก ในที่นี้สิ่งดังกล่าวข้างต้น เราอาจเรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือเปล่า ข้าพเจ้ารู้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้พลเมืองไทยมีความเทียมเท่ากัน โดยที่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการสร้างโอกาสให้กับพลเมืองไทยสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งบุคลิกภาพ ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ตามความสามารถของบุคคลนั้น ๆ
       โดยในทางทฤษฎีรุสโซให้ความเห็นถึงมนุษย์ในสภาพธรรมชาติ แม้จะมีอิสรเสรี แต่ก็ไม่มีความเสมอภาค[i] ส่วนล็อคให้ความเห็นที่สำคัญว่า มนุษย์มีอิสระและเสรี และเสมอภาคกันโดยธรรมชาติ[ii]ซึ่งเหมือนกับแนวคิดของฮอบส์ แต่ล็อคมองว่าเสรีภาพและความเสมอภาคนั้นไม่ได้มีอยู่จนไม่มีขอบเขตจนสามารถล่วงละเมิดในชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ จากที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นประการใดเสมอภาคหรือไม่ ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นสำคัญมากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญสถาปนาขึ้นมาจากการเมืองโดยแท้ และโดยที่คำว่า “การเมือง” มีผู้ให้ความหมายไว้อย่างหลากหลายดังเช่น
       เพนนอคและสมิธ(Pennock and Smith) กล่าวว่า การเมือง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคมที่ได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุบำรุงรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจ ในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม
                     เดวิด อีสต์ตัน(David Easton) กล่าวว่า การเมืองเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆให้แก่สังคงอย่างชอบธรรม (the authoritative allocation of values to society)
                     ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ (the competition for the authority to determine the authoritative allocation of values to society)
                      ณรงค์ สินสวัสดิ์ กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และ การใช้อำนาจทางการเมือง โดยอำนาจทางการเมืองหมายถึงอำนาจในการที่จะวางนโยบาย ในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และอำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่นๆในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
                      แต่ผู้ที่นิยามความหมายของคำว่าการเมืองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุด คือ ฮาโรลด์ ลาสเวลล์(Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันที่กล่าวว่า “การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร(Politics is,who gets “What”, “When”, and “How”)[iii]
       ฉะนั้นหน้าที่อันสำคัญยิ่งอีกประกาหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือ การกระจายความเสมอภาคไปสู่พลเมืองภายในรัฐ โดยรัฐธรรมนูญอาจจะกำหนดถึงสิ่งที่พลเมืองต้องได้ และได้เมื่อใดได้อย่างง่ายดาย แต่ได้อย่างไรและเท่าใดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงของเรานั้น จะหาความไม่อยุติธรรมในสังคมการเมืองอย่าได้หมาย ในที่นี้เราจะพูดให้เข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้เหตุผลเลย เพียงแต่ใช้สำนึกพื้นฐานแต่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม นั้นก็คือ ความพอใจของพลเมืองภายในรัฐ แต่หาได้เป็นความพอใจของบุคคลแต่ละคนไม่ หากเป็นความพอใจของบุคคลโดยรวมเทียบได้กับเจตจำนงค์ร่วมนั้นเอง ที่ทุกคนมีเหตุมีผลในการใช้ตรรกะ และมโนธรรม หยั่งรู้ได้ว่าตนเองควรได้เท่าใด และบุคคลอื่นควรได้เท่าใด บนพื้นฐานของความสามารถที่แตกต่างกัน ทว่าเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์และพลเมืองของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎเกณฑ์แห่งรัฐจะต้องสร้างโอกาสให้พลเมืองภายในรัฐได้ใช้ความสามารถของตนตามศักยภาพอย่างสมบูรณ์ โดยการสร้างระบบแห่งความสัมพันธ์อันเหมาะสมและเอื้อต่อการกระจายทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสัมฤทธิผล ทั้งนี้สิ่งที่ควรแบ่งปันให้เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง ไปทัศนะของข้าพเจ้าคือ ๑) การศึกษา อันเนื่องมาจากการศึกษาสามารถที่จะทำให้สถานะทางสังคมของราษฎรในรัฐเปลี่ยนแปลงได้ตามความสามารถอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะได้มีการกำหนดให้มีการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็หาได้เป็นเช่นนั้น ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ คุณภาพของการศึกษา โดยสามารถกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ดังนี้ มาตรา...การศึกษาภายในรัฐต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำเดียวกันในทุกระดับเป็นอย่างน้อย และพลเมืองมีสิทธิเท่าเทียมกันในการศึกษาเช่นว่านั้นตามความสามารถของตนเอง ความเป็นอิสระของสถาบันการศึกษาระดับสูงในทางวิชาการต้องได้รับการประกัน
       และ๒)ปัจจัยทางการผลิต อันประกอบไปด้วย
       

๑.       ที่ดิน (Land) ซึ่งใช้เป็นที่ของอาคารโรงงานที่ทำการผลิต รวมถึงทรัพยากรที่อยู่ในดิน โดยผลตอบแทนของที่ดินได้แก่ ค่าเช่า (Rent)
       

๒.     แรงงาน (Labour) หมายถึง ความคิดและกำลังกายของมนุษย์ได้นำไปใช้ในการผลิต โดยมีผลตอบแทนคือ ค่าจ้าง (Wage or Salary)
       

๓.      ทุน ( Capital) ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สิ่งก่อสร้าง และเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้ทุนยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
       

๓.๑ เงินทุน (Money Capital) หมายถึงปริมาณเงินตราที่เจ้าของเงินนำไปซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าจ้าง ค่าเช่า และดอกเบี้ย
       ๓.๒ สินค้าประเภททุน (Capital Goods) หมายถึง สิ่งก่อสร้าง รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเป็นต้น ผลตอบแทนจากเงินทุน คือ ดอกเบี้ย (Interest)
       

๔.   ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) หมายถึง บุคคลที่สามารถนำปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มา                             ดำเนินการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยอาศัยหลักการบริหารที่ดี การตัดสินใจจากข้อมูล              หรือจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างรอบคอบ รวมถึงความรับผิดชอบ ผลตอบแทน คือ กำไร (Profit)[iv]
                       ประมวลได้ว่า ที่ดินต้องมีการจัดการและจัดสรรที่เป็นธรรม แรงงานต้องได้รับความคุ้มครอง ทุนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกันต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม  ในที่นี้จะเน้นเรื่องของที่ดิน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ มาตรา ๑๐๔  กำหนดว่า ห้ามมิให้มีการยึดที่ดินและทรัพย์ของบุคคลเพื่อใช้เป็นวัตถุในการชำระหนี้  มาตรา ๑๑๐ ตรี กำหนดว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในการได้รับประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ตามความสามารถในการผลิตอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในระยะยาวโดยสิทธิดังกล่าวนี้จะต้องมีการคุ้มครองไว้เพื่อลูกหลานด้วย[v] ซึ่งทั้งที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐโดยรัฐธรรมนูญจะต้องคุ้มครองให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมให้พลเมืองสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ หรืออย่างในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเกาหลีก็มีการกำหนดเกี่ยวกับที่ดินไว้ในมาตรา ๑๒๑ (๑) รัฐพึงเพียรพยายามยึดถือหลักการเพื่อให้ที่ดินเป็นของเกษตรกร ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินเพื่อการเกษตร และห้ามมิให้มีการเช่าที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรม และมาตรา ๑๒๒ รัฐอาจจะกำหนดข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์ พัฒนาและอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพและสมดุลในที่ดินของชาติอันเป็นพื้นฐานสำหรับการเพิ่มผลผลิตและการดำรงชีวิตของพลเมือง ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมาย[vi] เหล่านี้คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการกระจายจัดสรร และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำคัญของชาติ สำหรับสิ่งที่อยากจะเห็นในรัฐธรรมนูญของเราคือการกำหนดให้มีรูปแบบของโครงสร้างและความสัมพันธ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้
       มาตรา...รัฐต้องคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชาติอย่างสมดุล ยั่งยืน
       บุคคลแต่ละคนมีหน้าที่ในการดำเนินการตามวรรคแรกร่วมกับรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       การบัญญัติกฎหมายให้มีการปฏิบัติตามวรรคแรก โดยอย่างน้อยต้องมีสาระในการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรเพื่อทำเกษตรกรรม ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยของประชาชน และการยึดที่ดินเพื่อการชำระหนึ้ และการเช่าที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรมจะกระทำมิได้
       สิ่งที่นำเสนออาจจะค่อนไปในทางสังคมนิยมแต่ในความคิดของข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะสมกับสังคมการเมืองไทยที่ในปัจจุบันยังอยู่ในวงจรที่ว่า “โง่ จน เจ็บ” และสภาพการแห่ง “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”ได้ดี แม้ว่า BILL COSBY จะกล่าว “เขาเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย กับการถูกสั่งให้กระจายความมั่งคั่ง (SPREAD THE WEALTH) และเบื่อคนที่ไม่รับผิดชอบชีวิตและการกระทำของตัวเอง และเบื่อหน่ายมาก ๆ ที่ได้ยินเขาเหล่านี้โทษภาครัฐ ฯ” [vii] ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ยากที่กล่าวว่าไม่จริง หากแต่ว่าก็ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบ และมานะ อุตสาหะในชีวิต แต่ก็ยังมีคุณภาพชิวิตที่ย่ำแย่อยู่
       


       
       

       

       [i] รองศาสตราจารย์ประหยัด หงส์ทองคำ.หน้า ๔ รัฐธรรมนูญ : ในมุมมองทางรัฐศาสตร์ www.kpi.ac.th/.../50-01%2002.(สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)
       

       

       [ii] เรื่องเดียวกัน หน้า ๓
       

       

       [iii] ชำนาญ จันทร์เรือง. การเมืองคืออะไร http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1242 (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)
       

       

       [iv] เศรษฐศาสตร์ทั่วไป http://reg.ksu.ac.th/teacher/sakkasam/lession2.html (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)
       

       

       [v] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์. www.senate.go.th/index-of-parliament/Infoes/norway0002.pdf  (สืบค้นเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)
       

       

       [vi] รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี. http://www.nrct-ebook.com/index.php/joomla-overview/cat_view/55-/56-.html (ค้นหาเมื่อ ๑๒ พฤศิกายน ๒๕๕๔)
       

       

       [vii] วรากรณ์ สามโกเศศ.(๒๕๕๔,๑๐ พฤศจิกายน).คำพูดโดนใจจากคนวัย ๘๓.มติชน, หน้า ๖.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544