หน้าแรก บทความสาระ
มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ (ตอนที่ 2)
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รป.ม. (นโยบายสาธารณะ) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ LL.M. in Business Law De Montfort Law School, Leicester นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) De Montfort Law School, Leicester อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk
20 พฤศจิกายน 2554 17:36 น.
 
[4] กฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks)
       [4.1] ความเป็นมาของกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม
       ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหลายประเทศ เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับวิกฤติน้ำท่วมมาหลายประเทศ เช่น วิกฤติน้ำท่วมในมหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1910[1] และวิกฤติน้ำท่วมในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลีในปี ค.ศ. 1966[2] เป็นต้น ซึ่งวิกฤติน้ำท่วมในหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ ชีวิตและทรัพย์สิน
       นอกจากนี้ ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ย่อมเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป อันถือเป็น ภัยอันตรายจากสภาพอากาศ (climatic hazards) ที่กระทบต่อประชาชนในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ประการหนึ่ง ทั้งนี้ ภัยอันตรายจากสภาพอากาศถือเป็นเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายรูปแบบ เช่น ภาวะน้ำท่วมขึ้นอย่างช้าๆ จากระดับความสูงของแม่น้ำที่เพิ่มขึ้น (slow-onset riverine floods) ภาวะน้ำท่วมขึ้นอย่างฉับพลัน (rapid-onset (flash) floods) และการสะสมของปริมาณน้ำฝนประกอบกับระบบระบายน้ำที่ไม่ดี (accumulation of rainwater in poorly-drained environments) เป็นต้น
       จากเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตที่ผ่านมาประกอบกับสถิติวิกฤติน้ำท่วมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการคาดการณ์ว่าปัญหาน้ำท่วมอาจเกิดอย่างถี่ขึ้น และอาจเกิดวิกฤติน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศที่ประกอบด้วยภูมิประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (low-lying coastal)[3]  ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงได้แสวงหาแนวทางด้านนโยบายสหภาพยุโรปและมาตรการทางกฎหมายสหภาพยุโรป[4] เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการจัดการปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
       [4.2] ภาพรวมของกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม
       กฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks) เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2007 กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้จัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ในกรณีที่ทางน้ำ (water courses) เช่น แม่น้ำ คลอง และทางน้ำต่างๆ เป็นต้น และพื้นที่แนวริมชายฝั่ง (coast lines) มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ การจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมได้ถูกกำหนดขึ้นภายใต้มาตรการทางกฎหมายของสหภาพยุโรป ก็เพื่อกำหนดขอบเขตของภาวะน้ำท่วม (flood extent) และประเมินความเสี่ยงของมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและเพื่อเป็นการกำหนดการป้องกันพอเพียงต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญและกำหนดมาตรการประสานงาน ในการลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม[5] นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำท่วมและวางหลักเกณฑ์ในเรื่องกระบวนการผังเมืองอีกด้วย[6]
       กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดแนวทางที่สอดคล้องกับกฎหมายสหภาพยุโรปในการบริหารจัดการน้ำ (The Water Framework Directive)[7] โดยกำหนดให้แผนในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและแผนการจัดการแหล่งน้ำต้องมีความสอดคล้องกัน โดยผ่านกระกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (public participation procedures)[8] ในการจัดทำแผนต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม แผนที่น้ำท่วม และแผนรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมต่างๆ
       มาตรการทางกฎหมายสหภาพยุโรปดังกล่าว ยังได้วางแนวทางเพื่อก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือ (coordination) ระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก โดยประเทศในกลุ่มสมาชิกไม่ควรดำเนินการใดๆ เพื่อเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมต่อประเทศเพื่อนบ้าน (Member States shall in solidarity not undertake measures that would increase the flood risk in neighbouring countries.) นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปควรรวมมือกันในการพัฒนาแผนระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือรับมือกับภาวะน้ำท่วมในอนาคตร่วมกัน ทั้งนี้ รวมไปถึงการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการกำหนดวิธีการใช้ที่ดินที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมได้
       [4.3] อิทธิพลของกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมต่อกฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ของอังกฤษ
       หลักจากเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 (Flooding in the UK 2007) ที่ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษ ได้รับความสูญเสียจากมหันตภัยน้ำท่วมในครั้งนั้น รัฐสภาอังกฤษจึงได้บังคับใช้กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2009[9] โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นการอนุวัติ (Implement) กฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks) ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
       ทั้งนี้ กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ได้รวมเอา (incorporate) บทบัญญัติในกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม มาบังคับใช้ในอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกำหนดมาตรการในการการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดขั้นตอนที่สำคัญในการรับมือกับปัญหาวิกฤติน้ำท่วม โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่[10]
       [4.3.1] ขั้นตอนที่ 1: ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมเบื้องต้น (Preliminary flood risk assessment)
       กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 กำหนดขั้นตอนกำหนดแนวทางในการประเมินความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมเบื้องต้น (Preliminary flood risk assessment) โดยกำหนดให้สำนักสิ่งแวดล้อม (Environment Agency) มีหน้าที่ในการเตรียมแผนที่ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Duty to prepare preliminary assessment maps) ได้แก่ แผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม (flood hazard map) และแผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (flood risk map) และมีหน้าที่ในการเตรียมรายงานเพื่อการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Duty to prepare preliminary assessment reports) โดยต้องจัดทำรายงานภาวะน้ำท่วมโดยนำข้อมูลเกี่ยวกับทะเล แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำ มาพิจารณาในการประเมินความเสี่ยง[11] นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (lead local flood authorities) มีหน้าที่ในการเตรียมรายงานประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Duty to prepare preliminary assessment reports) ในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการทบทวน (review) รายงานประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและให้ความเห็นต่อรายงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอมา (recommendation)[12] เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับความเห็นจากการทบทวนของสำนักสิ่งแวดล้อมแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแก้ไข (revise) ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากความเห็นที่ได้รับกลับคืนมา
       กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ยังได้กำหนดรายละเอียดองค์ประกอบของแผนที่ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Preliminary assessment maps) โดยแผนที่ดังกล่าวต้องแสดงที่ตั้งลุ่มน้ำ (river basin) ที่มีรายละเอียด ได้แก่ เส้นขอบชายผั่งของแม่น้ำและสายน้ำย่อยๆ ในแต่ละพื้นที่ พื้นที่บริเวณชายฝั่ง ลักษณะทางกายภาพของพื้นดิน วัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินในแต่ละบริเวณ[13] นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดองค์ประกอบของรายงานประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมเบื้องต้น (Preliminary assessment reports) องค์ประกอบดังกล่าวต้องระบุรายละเอียดการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีต (past floods) และแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายภาวะน้ำท่วมในอนาคต (the possible harmful consequences of future floods) ทั้งนี้ องค์ประกอบของรายงานประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมเบื้องต้นยังต้องชี้แจงในเรื่องของผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมต่อสุขภาพประชาชน (human health) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic activity) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (the environment) และผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage)[14]
       สำหรับแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายภาวะน้ำท่วมในอนาคตในรายงานประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมเบื้องต้น ต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความเป็นไปได้เกี่ยวกับผลของภาวะน้ำท่วมในอนาคต (Possible consequences of future floods) ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพของพื้นดิน (topography) ที่ตั้งของทางน้ำประเภทต่างๆ (location of watercourses) พื้นที่ราบที่ใช้เก็บกักน้ำ (flood plains that retain flood water)[15] ลักษณะของทางน้ำประเภทต่างๆ (characteristics of watercourses) ประสิทธิภาพของการปฏิบัติต่างๆ เพื่อมุ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (effectiveness of any works constructed for the purpose of flood risk management) พื้นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยของประชาชน (location of populated areas) พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (areas in which economic activity) และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบันและระยะยาว (current and predicted impact of climate change)
       [4.3.2] ขั้นตอนที่ 2: ขั้นตอนในการระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูง (Identification of Significant Flood Risk Areas)
       กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 กำหนดขั้นตอนในการระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูง โดยกำหนดให้สำนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม (Duty to identify flood risk areas) ประการแรก สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมระดับชาติ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ต้องระบุความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำและความเสี่ยงที่สำคัญจากทะเล แม่น้ำสายหลัก และอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมยังต้องระบุบริเวณพื้นที่ที่อาจได้รับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมได้ (flood risk area)[16]
       ประการต่อมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในระดับท้องถิ่น โดยต้องทำความเห็นที่เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ของท้องถิ่นนั้นๆ และระบุบริเวณพื้นที่ที่อาจได้รับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมในฐานะที่มีบทบาทในการบริหารจัดการความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมระดับชาติและกำกับดูแลท้องถิ่น ต้องมีหน้าที่ในการทบทวน (Review) ต่อการกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมอาจให้คำแนะนำ (Recommend) แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ระบุพื้นที่ความเสี่ยงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม และพื้นที่ที่ไม่เกิดความเสี่ยงขึ้นเลย เพื่อเป็นการตรวจสอบและทำความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงร่วมกันทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น[17]
        
       [4.3.3] ขั้นตอนที่ 3: ขั้นตอนการจัดทำแผนที่กำหนดความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมและพื้นที่อันตายจากภาวะน้ำท่วม (Production of flood hazard maps and flood risk maps)
       สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่จัดทำแผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม (Flood hazard map) และแผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (flood risk map) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       [4.3.3.1] แผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม (Flood hazard maps)[18]
       สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการจัดทำแผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม (Flood hazard maps) ในแต่ละพื้นที่ โดยแผนที่เหล่านี้ต้องระบุถึงความเสี่ยงจากน้ำทะเล แม่น้ำสายหลักและแหล่งเก็บน้ำที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วม โดยแผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วมต้องกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญสามประการได้แก่ ขอบเขตภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น โดยรวมไปถึงระดับน้ำและความลึกของน้ำ (the likely extent of possible floods) ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำจากภาวะน้ำท่วม (the likely direction and speed of flow) และความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะน้ำท่วม ว่าเป็นภาวะน้ำท่วมระดับต่ำ ระดับกลางหรือระดับสูง (whether the probability of each possible flood occurring in low, medium or high)
       แต่อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นในกรณีสำนักสิ่งแวดล้อมไม่ต้องจัดทำแผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วม ในสองกรณี ได้แก่ กรณีที่ความเป็นไปได้ของภาวะน้ำท่วมในระดับกลางหรือสูงเกิดจากน้ำใต้ดินเท่านั้น (a medium or high probability flood caused only by groundwater) และกรณีที่ความเป็นไปได้ของภาวะน้ำท่วมในระดับกลางหรือสูงเกิดจากภาวะน้ำท่วมชายฝั่งที่มีการป้องกันอย่างเพียงพอ (a medium or high probability of coastal flooding if there is adequate flood protection)
       [4.3.3.2] แผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (Flood risk maps)[19]
       นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมยังมีหน้าที่ในการจัดทำแผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (Flood risk maps) จากแหล่งน้ำในแต่ละแห่ง โดยแผนที่ดังกล่าวต้องแสดงถึงพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ ต้องระบุหลักเกณฑ์สำคัญหกประการ ได้แก่ ประการแรก จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (the number of people living in the area who are likely to be affected in the event of flooding) ประเภทของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (the type of economic activity likely to be affected in the event of flooding) กิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ที่ดำเนินกิจกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการปล่อยมลพิษอันเนื่องจากการเกิดภาวะน้ำท่วม (any industrial activities in the area that may increase the risk of pollution in the event of flooding)[20] พื้นที่ที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (any relevant protected areas that may be affected in the event of flooding) พื้นที่ที่กำหนดมาตรการเฉพาะในการป้องกันเพื่อรักษาคุณภาพน้ำที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (any areas of water subject to specified measures or protection for the purpose of maintaining the water quality that may be affected in the event of flooding) และพื้นที่ที่อาจได้ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยผลกระทบดังกลางอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน (human health) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic activity) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (the environment) และผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage)
       ทั้งนี้ กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ยังได้ระบุให้จัดพิมพ์แผนที่กำหนดอันตรายจากภาวะน้ำท่วมและแผนที่กำหนดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม โดยกำหนดเงื่อนเวลาในการพิมพ์สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในแต่ละท้องถิ่น โดยต้องตีพิมพ์ก่อนวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2013
       [4.3.4] ขั้นตอนที่ 4: การจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (Flood Risk Management Plans)
       ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 กำหนดแนวทางในการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม โดยสำนักสิ่งแวดล้อมต้องมีหน้าที่ในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่มีความเสี่ยงหลัก (Significant flood risk) ได้แก่ ทะเล แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำท่วมอื่นๆ และภาวะน้ำท่วมที่มีความเสี่ยงหลัก โดยพื้นที่ความเสี่ยงนั้น อยู่ภายในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
       แผนดังกล่าวผู้จัดทำแผนต้องระบุรายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่ วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการในการวางแผนสำหรับการกำหนดเป้าหมายในการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้วัตตุประสงค์ดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของมาตรการทางกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ[21]หรือระดับอนุบัญญัติ (Act or subordinate legislation) ซึ่งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องระบุถึงมาตรการในการป้องกันภาวะน้ำท่วม (the prevention of flooding) การป้องกันประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่อาจถูกกระทบจากภาวะน้ำท่วม (the protection of individuals, communities and the environment against the consequences of flooding) และการเตรียมการพยากรณ์และเตือนภัยจากภาวะน้ำท่วม (arrangements for forecasting and warning)[22]
       ทั้งนี้ กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ยังได้ระบุให้จัดพิมพ์แผนบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่จัดทำโดยสำนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดเงื่อนเวลาในการพิมพ์สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในแต่ละท้องถิ่น โดยต้องตีพิมพ์ก่อนวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2015
       จากที่กล่าวมาในข้างต้น กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ที่ได้นำเอากฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks) มาอนุวัติการ   ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้วางแนวทางในการประสานความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูล[23]ระหว่างสำนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกำหนดมาตรการในการการจัดการและการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
       แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนหลักสี่ขั้นตอนที่กล่าวมาในข้างต้น ในการจัดการและการประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมตามแนวทางในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่มิใช่กฎหมายในการสร้างมาตรการเฉพาะ (Specific measures) และมิใช้การเสริมแนวคิดการตรากฎหมายเพียงฉบับเดียว (single unifying Act) ที่กำหนดชนิดของปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการมาตรการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อแนะนำประการที่ 28 ของ Pitt’s Review ดังที่ได้กล่าวในตอนท้ายในบทความตอนที่ 1 และเพื่อเพิ่มเพื่อสร้างหลักการต่างๆในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ยั่งยืน รัฐสภาอังกฤษจึงได้ตรากฎหมายเฉพาะ ได้แก่ กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ในเวลาต่อมา
       [5] กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       ภายหลังจากการจัดทำเอกสาร Pitt’s Review ที่เสนอการวางแผนเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤติการน้ำท่วมทั้งแผนเฉพาะหน้าและแผนระยะยาว รัฐบาลประเทศอังกฤษได้ตอบสนองแนวทางและข้อเสนอแนะของ Pitt’s Review ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม[24] รัฐสภาอังกฤษได้ตรากฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ขึ้น เพื่อสร้างหลักการต่างๆในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ยั่งยืน (The developing principles for sustainable flood)
       นอกจากนี้ กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (Department for Environment Food and Rural Affairs - defra) และสำนักสิ่งแวดล้อม (Environment Agency) ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อวิกฤติการน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่งของอังกฤษ (National flood and coastal erosion risk management strategy for England)[25] เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ภายใต้กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ในการแก้วิกฤติน้ำท่วมในระยะยาวอีกด้วยดังที่จะได้กล่าวต่อไปอีกประการหนึ่ง
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2010[26] เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วม ที่อาจกระทบต่อประชาชน ชุมชน ที่อยู่อาศัย และภาคธุรกิจ ทั้งนี้ การปกป้องดังกล่าวเพื่อเพิ่มมาตรการที่สำคัญในการควบคุมการเพิ่มราคาค่าบริการในการระบายน้ำจากผิวถนน[27] และคุ้มครองการส่งน้ำประปามายังผู้บริโภค[28] (unaffordable rises in surface water drainage charges and protects water supplies to the consumer) ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากสภาพเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างรุนแรง ( extreme weather) ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในอนาคต[29]  ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นมาตรการทางกฎหมายในการลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้บรรจุหลักการที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development)[30] ทั้งนี้ มาตรา 27 กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้วางหลักในเรื่องของ การจัดการความเสี่ยงของการกัดเซาะชายฝังและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมอย่างยั่งยืน กล่าวคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงของการกัดเซาะชายฝังและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืน ควรมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความร่วมมือกัน (contribution) ในการมุ่งถึงความสัมฤทธิ์ผลของการจัดการที่ยั่งยืน (the achievement of sustainable development) โดยอาศัยกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงภายใต้มาตรการทางกฎหมายที่กำหนดไว้[31] ดังนั้น กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 จึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานต่างๆและสร้างแนวทางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืนในการต่อสู้กับวิกฤติน้ำท่วมในอนาคตมากยิ่งขึ้น
       สำหรับหน่วยงานที่ตาม กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ที่กฎหมายกำหนดให้ประสานความร่วมมือในการบริหารความเสี่ยงในกรณีที่เกิดวิกฤติน้ำท่วม ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[32] สำนักทางหลวง กรรมาธิการและกรรมการในคณะต่างๆ
       [5.1] หลักการที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Significant Aspects of Sustainable Development)
       หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย[33] ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงถือเป็นแนวคิดในการพัฒนาที่พยายามตอบสนองต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเป็นผลเสียต่อคนรุ่นอนาคต โดยภาวะน้ำท่วมหรือวิกฤติน้ำท่วมถือเป็นภัยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลอังกฤษจึงมีหน้าที่ตอบสนองต่อหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนมาบรรจุในกฏหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันผลเสียต่อคนรุ่นต่อไป[34]
       ทั้งนี้ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ได้ถูกนำมาบรรจุในกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010[35]  โดยกำหนดองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการการบริหารความเสี่ยงในกรณีที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมประสานความร่วมมือ (contribute) เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ยั่งยืน[36] เช่น การพัฒนาระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน (Sustainable Drainage Systems - SUDs) และการพัฒนาหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมอย่างยั่งยืน (Sustainable Flood Management) เป็นต้น
       [5.2] การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืน (Sustainable flood and coastal erosion risk management)
       การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืนถือเป็นบริบทหนึ่งภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการบริหารจัดการดังกล่าว มุ่งเน้นให้เกิดมาตรการหลายประการทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดวิกฤติน้ำท่วมและรัฐบาลสามารถนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงจากวิกฤติน้ำท่วมได้[37]
       ทั้งนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืน ภายใต้กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ยังส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ภาคธุรกิจ และส่วนราชการสามารถประสานงานรวมกัน[38] ตามวัตถุประสงค์ต่อไปนี้[39]
       -          เพื่อให้ความเข้าใจในหลักการจัดการความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังนั้น การลงทุนในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       -          เพื่อกำหนดแผนที่ชัดเจนและสอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยง ดังนั้น ชุมชนและภาคธุรกิจจึงสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงด้วย
       -          เพื่อส่งเสริมให้มีนวัตกรรมการบริหารความเสี่ยงของการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนและสิ่งแวดล้อม
       -          เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแผนฉุกเฉินและการตอบสนองต่อภาวะน้ำท่วมมีประสิทธิภาพและชุมชนสามารถตอบสนองต่อการเตือนภัยน้ำท่วม
       -          เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้สามารถเยียวยาหลังจากที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว
       การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืน  ย่อมทำให้ลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและแสวงหาการปรับเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม อันก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืน โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย ย่อมเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแนวทางในการการลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดวิกฤติน้ำท่วม
       สำหรับตัวอย่างของการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืนตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 เช่น[40] การเพิ่มระดับความรับรู้ (awareness) ในความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมให้เกิดประชาชน ภาคธุรกิจและชุมชน การพัฒนาระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน (Sustainable drainage systems (SuDS)) และ ระบบเตือนภัยสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม กระแสน้ำไหลแรงและกรณีทะเลมีพายุ เป็นต้น
       [5.3] ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Contribution to Sustainable Development)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 27 ได้วางหลักการไว้ในเรื่องของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการรับมือหรือจัดการกับความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วม โดยกำหนดให้องค์กรต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบ (functions) ในการเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการปัญหาน้ำท่วมที่ยั่งยืน ดังนั้น
       องค์กรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืนตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น กรรมการการระบายน้ำภายใน สำนักทางหลวงและคณะกรรมมาธิการคณะที่เกี่ยวข้อง
        
       [5.4] ภาพรวมของของกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       รัฐสภาอังกฤษได้ประกาศใช้กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ในเดือนเมษายน 2010 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาหลักการจัดการความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืนโดยประชาชนและภาคธุรกิจ ย่อมมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยจากวิกฤติน้ำท่วมด้วยกันกับภาครัฐ โดยได้บรรจุมาตรการที่สำคัญหลายมาตรการ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
       [5.4.1] ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมแห่งชาติ (National Flood and Coastal Erosion Risk Management Strategy for England)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 7[41] ได้กำหนดหน้าที่ของสำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษ ในการจัดทำ ติดตามและปฏิบัติยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมแห่งชาติ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องระบุถึง
       -          องค์กรที่มีหน้าที่หลักในการบริหารความเสี่ยง (English risk management authorities) จากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมของอังกฤษ
       -          หน้าที่ (functions) การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม อาจถูกปฏิบัติโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่มีหน้าที่หลัก
       -          วัตถุประสงค์ (objectives) ของการบริหารความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมของอังกฤษ
       -          มาตรการต่างๆที่สามารถทำให้วัตถุประสงค์เหล่านั้นสัมฤทธิ์ผล (measures proposed to achieve)
       -          เวลาและวิธีการในการนำมาตรการต่างๆไปปฏิบัติ (how and when the measures are to be implemented)
       -          งบประมาณและประโยชน์ (costs and benefits) ที่ได้รับจากมาตรการต่างๆ และวิธีการในการใช้จ่ายงบประมาณ
       -          การประเมินผล (assessment) ของความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมว่าสามารถตอบสนองความมุ่งหมายของยุทธศาสตร์
       -          เวลาและวิธีการในการทบทวนยุทธศาสตร์ (how and when the strategy is to be reviewed)
       -          ผลกระทบในบัจจุบันและอนาคตของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (impact of climate change) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม
       -          วิธีที่ทำให้ยุทธศาสตร์สามารถมุ่งไปสู่ความสำเร็จของวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ (achievement of wider environmental objectives)
       สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ให้การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมแก่ องค์กรที่มีหน้าที่หลักในการบริหารความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมและสาธารณะชน เพื่อให้องค์กรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำยุทธศาสตร์ไปกำหนดแนวทางในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้ตามที่ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมและกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังเป็นการให้คำแนะนำแก่สาธารณชนในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกฎหมายดังกล่าว ทั้งในยามเหตุการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะน้ำท่วม
       นอกจากสำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ให้การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์แล้ว สำนักสิ่งแวดล้อมยังมีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดพิมพ์เผยแพร่บทสรุปยุทธศาสตร์ (Summary of the strategy) คำแนะนำในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ (Guidance about the application of the strategy) คำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับวิธีการที่องค์กรที่มีหน้าที่หลักในการบริหารความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมต้องดำเนินการปฏิบัติในการประสานความร่วมมือ (Cooperation) และอำนาจในการเรียกข้อมูล (Power to request information) (ภายใต้ มาตรา 13 (1) และมาตรา 14)
        
        
       [5.4.2] ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่น (English Local flood risk management strategies)     
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 9[42] ได้กำหนดหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่นขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางยุทธศาสตร์เฉพาะในการจัดการกับความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมท้องถิ่น (local flood risk) โดยความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมท้องถิ่นประกอบด้วยความเสี่ยงสามประการ ได้แก่ น้ำไหลบาหนาดิน (Surface Water Runoff) น้ำบาดาล (ground water) และทางน้ำทั่วไป (ordinary watercourse)
       ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่นต้องกำหนดถึงหลักการดังต่อไปนี้
       -          องค์กรที่มีหน้าที่หลักในการบริหารความเสี่ยง (Local risk management authorities) ของแต่ละท้องถิ่น
       -          หน้าที่ (functions) ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมอาจถูกปฏิบัติโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
       -          วัตถุประสงค์ (objectives) ของการบริหารความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่น
       -          มาตรการต่างๆ ที่สามารถทำให้วัตถุประสงค์เหล่านั้นสัมฤทธิผล(measures proposed to achieve)
       -          เวลาและวิธีการในการนำมาตรการต่างๆไปปฏิบัติ (how and when the measures are to be implemented)
       -          งบประมาณและประโยชน์ (costs and benefits) ที่ได้รับจากมาตรการต่างๆ และวิธีการในการใช้จ่ายงบประมาณ
       -          การประเมินผล (assessment) ของความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมว่าสามารถตอบสนองความมุ่งหมายของยุทธศาสตร์
       -          เวลาและวิธีการในการทบทวนยุทธศาสตร์ (how and when the strategy is to be reviewed)
       -          วิธีการสร้างร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม
       ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่นต้องมีความสอดคล้อง (Consistent) กับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 7
       ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่นแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชน นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดพิมพ์บทสรุป (Summary) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมของท้องถิ่น รวมไปถึงคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวและคำแนะนำในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย[43]
       [5.4.3] ประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ระดับชาติและท้องถิ่น (English effect of national and local strategies)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 11[44] ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ กล่าวคือ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย Flood and Water Management Act 2010 องค์กรที่มีหน้าที่ในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมต้องปฏิบัติการให้มีลักษณะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและคำแนะนำ เว้นเสียแต่ ในกรณีของบริษัทประปาที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และคำแนะนำของท้องถิ่นและกรณีที่สำนักสิ่งแวดล้อมที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ในการจัดทำ ติดตามและปฏิบัติยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม ตามมาตรา 7
       ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามยุทธศาสตร์และคำแนะนำในการบริหารความเสี่ยงจากชายฝั่งกัดเซาะและภาวะน้ำท่วมหรือการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บริษัทประปาและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติการให้มีลักษณะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและคำแนะนำดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
       [5.4.4] การประสานความร่วมมือและการเตรียมการรับมือ (Cooperation and arrangements)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 13[45] ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ต้องประสานความร่วมมือ (Cooperation) กับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม นอกจานี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องอาจแบ่งปันข้อมูล (information) กับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม
       องค์กรที่บริหารจัดการความเสี่ยง อาจเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมโดยอาศัยการปฏิบัติจากองค์กรอื่นๆ เพื่อปฏิบัติให้สมประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ องค์กรบริหารความเสี่ยงที่อื่นๆ หรือองค์กรที่ควบคุมทางน้ำต่างๆ (Navigation Authorities) ตามมาตรา 219 ของกฎหมาย Water Industry Act 1991[46]  ยกเว้นสำนักสิ่งแวดล้อมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายกำหนดหน้าที่เฉพาะไว้ในการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมระดับชาติและระดับท้องถิ่นตาม มาตรา 7[47] และมาตรา 9[48]
       สำหรับบทบาทและหน้าที่ขององค์กรที่มีหน้าที่จัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่ง อาจกำหนดให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ให้ตระเตรียมการในการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่ง ตามความเหมาะสม (appropriate consent) เพื่อปฏิบัติให้สมประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้
       นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษ ยังอาจกำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อให้สมประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้ โดยอาจมอบหน้าที่ในการปฏิบัติให้แก่ องค์กรปกป้องชายฝั่ง (Coast protection authority) องค์กรบริหารจัดการน้ำท่วมท้องถิ่น (lead local flood authority) หรือกรรมการระบายน้ำภายใน (internal drainage board)
       [5.4.5] อำนาจในการเรียกข้อมูล (Power to request information)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 14[49] ได้ให้อำนาจให้การเรียกข้อมูลแก่สำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษและองค์กรบริหารจัดการน้ำท่วมท้องถิ่นในการร้องขอข้อมูลจากประชาชน เพื่อที่นำข้อมูลมาใช้ในการประสานความร่วมมือประหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ทั้งนี้ การเรียกข้อมูลดังกล่าวต้องกระทำโดยอาศัยรูปแบบหรือวิธีการเฉพาะในการร้องขอข้อมูลและการเรียกข้อมูลต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
       [5.4.6] มาตรการทางในการเรียกข้อมูลจากประชาชน (Civil Sanctions)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 15[50] ได้กำหนดมาตรการทางแพ่ง (Civil Sanctions) ที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจในการเรียกข้อมูลไว้ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษและองค์กรบริหารจัดการน้ำท่วมท้องถิ่นในการร้องขอข้อมูลจากประชาชน แล้วประชาชนหรือบุคคลดังกล่าว ไม่ยอมเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษและองค์กรบริหารจัดการน้ำท่วมท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำนักสิ่งแวดล้อมอังกฤษและองค์กรบริหารจัดการน้ำท่วมท้องถิ่นอาจออกหมายเรียกเพื่อบังคับให้เปิดเผยข้อมูล (Enforcement notice) ทั้งนี้ หมายดังกล่าวต้องระบุถึงข้อมูลที่ต้องการร้องขอจากประชาชนให้ชัดเจน
       [5.4.7] เงินสนับสนุน (Funding)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 16[51] สำนักสิ่งแวดล้อมอาจให้เงินสนับสนุน (grants) รายจ่ายที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม โดยเงินสนับสนุนดังกล่าว อาจประกอบด้วยเงื่อนไขในจ่ายเงินสนับสนุน เช่น การคืนเงิน (repayment) และดอกเบี้ย (interest) เป็นต้น
        
       [5.4.8] การจัดเก็บภาษี (Levies)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 17[52] ได้กำหนดให้สำนักสิ่งแวดล้อม (Levying body) อาจมีอำนาจในการจัดเก็บภาษี (levies) ผ่านองค์กรจัดการภาวะน้ำท่วมท้องถิ่นสำหรับพื้นที่ที่สำนักสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วม โดยในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจภายใต้ มาตรา 74 แห่งกฎหมาย Local Government Finance Act 1988  ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีตามมาตรานี้ ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมภูมิภาค (Regional Flood and Coastal Committee)
       [5.5] หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [Role for Local Authorities]
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้มุ่งเน้นถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นพิเศษ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงให้ความสำคัญกับอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้องค์กรจัดการภาวะน้ำท่วมท้องถิ่นในแต่ละท้องที่ มีหน้าที่ในการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแก้ปัญหาล้าช้าและการปฏิเสธความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (This will avoid any delay or confusion about who is responsible) ทั้งนี้ บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบไปด้วย[53]
       [5.5.1] อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       กฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่องค์กรจัดการภาวะน้ำท่วมท้องถิ่นในการปฏิบัติงานเพื่อจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมจากน้ำไหลบ่าบนผิวดิน (Surface Runoff) และน้ำใต้ดิน (groundwater) ทั้งนี้ อำนาจในการปฏิบัติงานในการจัดการแหล่งน้ำทั่วไป (ordinary watercourses) ยังคงอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นและคณะกรรมการระบายน้ำภายในเช่นเดิม (internal drainage boards)
        
       [5.5.1.1] อำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลที่สาม (Designation of third party assets)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการระบายน้ำภายใน และสำนักสิ่งแวดล้อมในการกำหนดโครงสร้างและลักษณะของสิ่งปลูกสร้างที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมหรือการกัดเซาะชายฝั่ง (เช่น สิ่งก่อสร้างนั้นอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำหรือการออกแบบทำให้การระบายน้ำล่าช้า) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการสั่งให้เอกชนเคลื่อนย้ายโครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินเอกชน (private land) ซึ่งโครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการบริหารความเสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมได้
       ทั้งนี้ หากเอกชนไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจออกหมายบังคับ (Enforcement notice) ได้เพื่อบังคับให้เอกชนปฏิบัติตาม แต่อย่างไรก็ดี เอกชนอาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ในกรณีที่เอกชนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวหรือปฏิเสธความยินยอมให้กระทำต่อทรัพย์สินของตน[54]
       [5.5.1.2] อำนาจจัดการระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน (Sustainable drainage systems)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้กำหนดอำนาจจัดการระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน[55] ผ่านหน่วยงานให้ความยินยอมในการจัดการระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน หรือ SAB (SuDS Approving Body- SAB) อันเป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้  ซึ่ง SAB มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ความยินยอม (approval of proposed drainage systems) ในการนำเสนอระบบการระบายน้ำ ตามที่พัฒนาระบบระบายน้ำขึ้นใหม่หรือพัฒนาระบบระบายน้ำอันเป็นของเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยการให้ความยินยอมในการพัฒนาต้องกระทำก่อนที่ผู้พัฒนาจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหรือเริ่มพัฒนาภายใต้หลักเกณฑ์ดังที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ระบบระบายน้ำที่ยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนาตามความยินยอมของ SAB ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการระบายน้ำที่ยั่งยืนระดับชาติ (National standards for sustainable drainage) ตามนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องและกฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติไว้
       โดยการให้ความยินยอมในเรื่องการจัดการระบายน้ำของ SAB (drainage approval) ต้องพิจารณาประกอบกับความยินยอมด้านผังเมือง (planning permission) ซึ่ง SAB ของแต่ละท้องถิ่นสามารถพิจารณาร่วมกันกับสำนักผังเมืองในการพิจารณาเรื่องของการระบายน้ำที่ยั่งยืนประกอบกับลักษณะของผังเมืองในการพัฒนาระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน
        แต่อย่างไรก็ดี หน้าที่ของ SAB จะกำหนดการให้ความยินยอมในการพัฒนาระบบระบายน้ำที่ยั่งยืน โดยอาศัยคำแนะนำเกี่ยวกับผังเมืองจากสำนักผังเมืองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี SAB ไม่มีหน้าที่ก้าวล่วงไปกำหนดความยินยอมในเรื่องของการวางผังเมืองหรือการพัฒนาผังเมือง ทั้งนี้ การให้ความยินยอมเพื่อจัดการระบายน้ำที่ยั่งยืน ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ (timeframe)
       [5.5.2] หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       [5.5.2.1] หน้าที่ในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง (Duty to act consistently with local and national strategies)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ได้กำหนดหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (local flood risk management strategies) ซึ่งยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นที่จัดทำนั้น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นต้องเอื้อประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมระดับชาติและต้องสอดคลองการลักษณะความเสี่ยงของท้องที่ต่างๆ ที่มีลักษณะในการรับน้ำ (catchments) และลักษณะทางภูมิประเทศ (geography)ที่แตกต่างกัน
       [5.5.2.2] หน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดูแลการขึ้นทะเบียน (Duty to investigate and to maintain a register)
       กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 19[56] และมาตรา 21[57] ได้กำหนดหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในท้องที่ของตนและดูแลการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ
       ประการแรก  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในท้องที่ของตน (Investigate flooding incidents) ตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 19 ที่กำหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในท้องที่ของตนเพื่อกำหนดว่าหน่วยงานใดมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและกำหนดสิ่งที่ต้องทำหรือประสงค์ที่จะทำเพื่อเยี่ยวยาความเสี่ยหายจากภาวะน้ำท่วมหรือป้องกันไม่ให้ภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้น
       เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจัดพิมพ์เผยแพร่ผลของการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวและแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Publish the results of any investigation, and notify any relevant authorities) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาภาวะน้ำท่วมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
       ประการที่สอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินที่อาจเป็นอุปสรรค์ต่อการระบายน้ำ (Duty to maintain a register) ตามกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มาตรา 21 ที่กำหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขึ้นทะเบียนทรัพย์สินที่อาจเป็นอุปสรรค์ต่อการระบายน้ำ ซึ่งทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนนั้นอาจกระทบต่อความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม (a register of structures or features) เช่น อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการระบายน้ำ เป็นต้น โดยการขึ้นทะเบียนดังกล่าวถือเป็นดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
       นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล (a record of information) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่อาจอาจเป็นอุปสรรค์ต่อการระบายน้ำ รวมไปถึงข้อมูลการติดตามความเสี่ยง (ownership)[58] และรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซม (state of repair)
       [6] ข้อพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       แม้ว่าประเทศอังกฤษ ได้พัฒนากฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 และยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะน้ำท่วมแห่งชาติ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากสภาพเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างรุนแรง (extreme weather) [59]  ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมหรือวิกฤติน้ำท่วมอย่างเดียวเท่านั้น หากในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อาจก่อให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ซับซ้อน (Complex natural disasters) เช่น วิกฤติน้ำท่วมอาจเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว (earthquake) หรือในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นต้น โดยความเสี่ยงต่อวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างรุนแรงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคตหรือก่อให้เกิดมิติของความเสี่ยงหลายๆ กรณี ที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกันจากภัยพิบัติธรรมชาติ ดังนั้น แนวคิดในการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (mitigating environmental risk) โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายจึงอาจถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับการรับมือของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
       นอกจากนี้ หากประเทศใดในโลกเผชิญวิกฤติน้ำท่วมไปพร้อมๆ กับสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเมืองที่ซับซ้อนสูง (Complex political emergencies - CPEs)[60] ภายในประเทศ อาจก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม (humanitarian emergency) ที่มีปัจจัยมาจากองค์ประกอบทางการเมือง (political factors) อันเป็นปัญหาที่อาจตามมาอีกประการหนึ่ง เช่น การให้การช่วยเหลือประชาชนไม่ได้เป็นไปอย่างเท่าเทียมหรือทั่วถึง ด้วยเพียงเพราะลัทธิความเชื่อทางการเมืองหรือความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างระหว่างผู้นำและประชาชน ในประเทศเดียวกัน หรือการเกิดภาวะความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศระดับสูงพร้อมกับการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศอังกฤษย่อมไม่มีประสิทธิภาพ หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน (Cooperation) และแตกความสามัคคีระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐกับประชาชน หรือประชาชนด้วยกัน ย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคต
       [7] บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจเห็นได้ว่าการอนุวัติการกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการและประเมินความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม (DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks) มาสร้างขั้นตอนอันเป็นกลไกในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ภายใต้กฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 ของอังกฤษและการที่รัฐบาลประเทศอังกฤษได้ตอบสนองแนวทางและข้อเสนอแนะของ Pitt’s Review ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการบัญญัติกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 ขึ้น เพื่อสร้างหลักการต่างๆในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ยั่งยืน ล้วนแล้วแต่เป็นการหามาตรการในการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลร้ายจากภาวะและวิกฤติน้ำท่วมจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น
       ทั้งนี้ ความสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงสำหรับกฎหมาย Flooding Risk Regulations 2009 และกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 นั้นก็คือ การสร้างเป้าหมายเดียวกันที่กำหนดความร่วมมือร่วมมือ (cooperation) ระหว่างทุกภาคส่วน เช่น รัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และประชาชน เป็นต้น ในการมุ่งถึงความสัมฤทธิ์ผลของการจัดการที่ยั่งยืน โดยอาศัยกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงภายใต้มาตรการทางกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ดี หากปราศจากความร่วมมือที่แท้จริงจากทุกภาคส่วนหรือขาดการประสานความร่วมมือที่ดีแล้ว กฎหมายดังกล่าวย่อมขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้และทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงจากวิกฤติน้ำท่วมไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้
       แม้ว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้และไม่สามารถควบคุมหายนะจากธรรมชาติได้ แต่อย่างไรก็ดี การสร้างมาตรการในการรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญหรืออาจจะเผชิญในอนาคต ย่อมเป็นการสร้างการเตรียมการที่ดี เพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดหรืออาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จากบทเรียนของประเทศอังกฤษ ที่เคยได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากอุทกภัยมาหลายครั้ง โดยครั้งที่ร้ายแรงและส่งผลต่อภาคธุรกิจและประชาชนครั้งล่าสุด ได้แก่ น้ำท่วมในฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2007 โดยวิกฤติการน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนั้นได้รับความสูญเสีย
       แต่อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้นรัฐบาลและประชาชนชาวอังกฤษได้รับบทเรียนที่สำคัญและได้พัฒนามาตรการมาตรการทางกฎหมายเฉพาะ โดยตราในรูปแบบของพระราชบัญญัติเพียงฉบับเดียว (a single unifying Act) เพื่อกำหนดขอบเขตของความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ภายใต้แนวคิดของการบริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมที่ยั่งยืนและภายใต้อิทธิพลของกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องการจัดการวิกฤติน้ำท่วม
       ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินตามอังกฤษภายหลังจากเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 นั้นคือ การสร้างนโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ แต่เมื่อได้รับบทเรียนจากความเสียหายที่ยิ่งใหญ่แล้ว ควรนำบทเรียนจากความสูญเสียเหล่านั้นมากำหนดแนวทางในการสร้างมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
       นอกจากนี้ ความร่วมมือร่วมในและการประสานงานที่ดีระหว่างทุกภาคส่วน ย่อมก่อให้เกิดความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและการป้องกันสาธารณะภัยจากภาวะน้ำท่วม แต่หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศไทยแล้ว ย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาแนวทางเพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคต ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมืองต่างๆก็ดีและประชาชนชาวไทยทุกคน ไม่ว่าจะเลื่อมใสและศรัทธาในแนวทางการเมืองแบบไหน ควรหันหน้าเข้าหากันและประสานความร่วมมือในการจัดการรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมร่วมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่ยั่งยืนในอนาคต
       

       
       

       

       [1] โปรดดู Guardian, Flooding in Paris in 1910, Thursday 7 January 2010, available online at www.guardian.co.uk/weather/gallery/2010/jan/07/paris-france-great-flood-1910#/?picture=357771180&index=1
       

       

       [2] โปรดดู Telegraph, Venice's Great Flood in 1966 destroyed art and homes, Wednesday 09 November 2011, available online at www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/italy/3540719/Venices-Great-Flood-in-1966-destroyed-art-and-homes.html
       

       

       [3] Directorate General Health & Consumers, Flooding in Europe: health risks, available online at http://ec.europa.eu/health/climate_change/extreme_weather/flooding/index_en.htm
       

       

       [4] สหภาพยุโรปได้ตรากฎหมายสหภาพยุโรปในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลร้ายและภัยพิบัติอันอาจเกิดจากภาวะน้ำท่วมอันเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้แก่ กฎหมาย Directive 2000/60/EC of the European Parliament and of the Council of 23 October 2000 establishing a framework for Community action in the field of water policy กฎหมาย Directive 2008/56/EC of a framework for community action in the field of marine environmental policy (Marine Strategy Framework Directive) และกฎหมาย DIRECTIVE 2007/60/EC on the assessment and management of flood risks โปรดดู Kramer, L., Climate Change and EU legal initiatives regarding water availability, Journal for European Environmental & Planning Law, 2009, 6(4), 461-480.
       

       

       [5] การลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการกำหนดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Governance) และเป็นการสนับสนุนหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ประการหนึ่ง โปรดดูเพิ่มเติมใน Turner, S., Devolution as a barrier to environment reform: assessing the response to the review of environmental governance in Northern Ireland, Environmental Law Review, 2009, 11(3), 150-160.
       

       

       [6] European Commission Environment, A new EU Floods Directive, available online at http://ec.europa.eu/environment/water/flood_risk/index.htm  และ Herman, C., Will the Floods Directive keep our feet dry? Policies and regulations in the Flemish Region and Scotland, Water Law, 2010, 21(4), 156-166.
       

       

       [7] Bach, S., Perspective for European Water Management Law: Report of a conference in Brussels, 3 and 4 April 2008, Journal for European Environmental & Planning Law, 2008, 5(3/4), 341-348.
       

       

       [8] การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory action) ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โปรดดู Kirk, A. E. and Reeves, D. A., Regulatory agencies and regulatory change: breaking out of the routine, Environmental Law Review, 2011, 13(3), 155-168.
       

       

       [9] Department for Environment, Food and Rural Affairs, ARCHIVE: Flooding risk regulations 2009, available online at http://archive.defra.gov.uk/environment/flooding/policy/2009directive.htm
       

       

       [10] Environment Agency, Acting Flood Risk Manager - C. Flood Risk Regulations 2009, available online at  http://learning.environment-agency.gov.uk/courses/FCRM/capacity/legal/responsibility_209.html
       

       

       [11] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 9
       

       

       [12] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 10
       

       

       [13] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 11
       

       

       [14] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 12
       

       

       [15] บางตำราของสหรัฐอเมริกาอาจเรียกว่า “floodway” โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากกฎหมายมลรัฐโคโรลาโด (Colorado River Floodway Protection Act), U.S. Department of the Interior Bureau of Reclamation, Interim Report No. 1 Colorado River Basin Water Supply and Demand Study, available online at http://www.usbr.gov/lc/region/programs/crbstudy/Report1/ExecSumm.pdf
       

       

       [16] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 13
       

       

       [17] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 14
       

       

       [18] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 20
       

       

       [19] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 21
       

       

       [20] ตัวอย่างเช่น เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมใดเกิดภาวะน้ำท่วมแล้ว น้ำที่ท่วมอาจไปชะล้างสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จนอาจทำให้สารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำที่เกิดภาวะน้ำท่วมหรือบริเวณพื้นดินที่ประสบภาวะน้ำท่วมได้
       

       

       [21] ปัจจุบัน กฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายกำหนดมาตรการหลักในการบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม ได้แก่ กฎหมาย Flood and Water Management Act 2010
       

       

       [22] Flood Risk Regulations 2009 Regulation 27
       

       

       [23] Department for Environment Food and Rural Affairs and Welsh Assembly Government, Taking forward the draft Flood and Water Management Bill The Government response to pre-legislative scrutiny and public consultation, 2009, Department for Environment, Food and Rural Affairs, page 54.
       

       

       [24] Howarth, W., The Pitt Review and the Floods and Water Bill, 2008, 19(2), 51-52.
       

       

       [25]Environment  Agency and Department for Environment Food and Rural Affairs, National Flood and Coastal Erosion Risk Management Strategy for England, Environment  Agency, 2011, page 1.
       

       

       [26] British Property Federation, A British Property Federation briefing on: The Flood and Water Management Act 2010, available online at  www.bpf.org.uk/en/files/bpf_documents/commercial/BPF_briefing_on_the_Flood_and_Water_Management_Act_2010.pdf
       

       

       [27] โปรดดูเพิ่มเติมใน Ofwat , Surface water drainage charges: the current position Surface Water Drainage, available online at www.ofwat.gov.uk/consumerissues/chargesbills/prs_web_swdpos
       

       

       [28] โปรดดูเพิ่มเติมใน Ofwat , Supply and standards, available online at http://www.ofwat.gov.uk/consumerissues/rightsresponsibilities/
       

       

       [29] Department for Environment, Food and Rural Affairs, Flood and Water Management Act 2010, available online at  www.defra.gov.uk/environment/flooding/legislation/  
       

       

       [30] Department for Environment, Food and Rural Affairs, Guidance for risk management authorities on sustainable development in relation to their flood and coastal erosion risk management functions, Department for Environment, Food and Rural Affairs, 2011, page 4.
       

       

       [31] Oliver, R., The draft Flood and Water Management Bill 2009, Environmental Law & Management, 2009, 21 (3), 137-139.
       

       

       [32] องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละท้องถิ่น (local specialists) ควรช่วยเหลือและประสานในการนำการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมสำเร็จได้ โปรดดู บทวิเคราะห์ใน Legislative Comment, Flood and Water Management Act 2010,  Journal of Planning & Environment Law, 2010,  7, 863-864.  ซึ่งได้บรรยายภาพรวมของ ภาค 1(Flood and Coastal Erosion Risk Management) ภาค 2 (Miscellaneous)  และ ภาค 3 (General) ของกฎหมายฉบับดังกล่าว
       

       

       [33] Department for Environment, Food and Rural Affairs, Guidance for risk management authorities on sustainable development in relation to their flood and coastal erosion risk management functions, page 6.
       

       

       [34] โปรดดู หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ใน The Royal Academy of Engineering, Engineering for SustainableDevelopment: Guiding Principles, The Royal Academy of Engineering, The Royal Academy of Engineering, 2005, pages 9-10.
       

       

       [35] Howarth, W., Vision, Strategies and realisation, Environmental Law Review, 2008, 10(4), 310-318. 
       

       

       [36] Oliver, R., The draft Flood and Water Management Bill, Environmental Law & Management, 2009, 21(3), 137-139.
       

       

       [37] Department for Environment, Food and Rural Affairs and Environment Agency, Sustainable Flood and Coastal Erosion Risk Management Part 1 R&D Technical Report FD2015/TR1, Department for Environment, Food and Rural Affairs, 2011, page 12.
       

       

       [38] The Environment Agency, The National Flood and Coastal Erosion Risk Management Strategy for England, available online at https://consult.environment-agency.gov.uk/portal/ho/flood/fcerm/strategy
       

       

       [39] Construction Industry Research and Information Association, Defra Consultation on Flood and Coastal Erosion Risk Management and Flood and Water Act 2010, available online at www.ciria.org.uk/suds/news.htm 
       

       

       [40] โปรดดูตัวอย่างอื่นเพิ่มเติมใน  Department for Environment, Food and Rural Affairs, Guidance for risk management authorities on sustainable development in relation to their flood and coastal erosion risk management functions, page 6.
       

       

       [41] Flood and Water Management Act 2010 section 7
       

       

       [42] Flood and Water Management Act 2010 section 9
       

       

       [43] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Department for Environment Food and Rural Affairs and Environment Agency, Understanding the risks, empowering communities, building resilience National flood and coastal erosion risk management strategy for England Summary strategy, Environment Agency, 2011,  page 7. และ National Voice of Coastal Communities, National Flood and Coastal Erosion Risk Management Strategy for England, available online at  www.nvcc.org.uk/2011/05/national-flood-and-coastal-erosion-risk-management-strategy-for-england/
       

       

       [44] Flood and Water Management Act 2010 section 11
       

       

       [45] Flood and Water Management Act 2010 section 13
       

       

       [46] Water Industry Act 1991 section 219 (1) “navigation authority” means any person who has a duty or power under any enactment to work, maintain, conserve, improve or control any canal or other inland navigation, navigable river, estuary, harbour or dock.”
       

       

       [47] Flood and Water Management Act 2010 section 7 (1)
       

       

       [48] Flood and Water Management Act 2010 section 9 (1)
       

       

       [49] Flood and Water Management Act 2010 section 14
       

       

       [50] Flood and Water Management Act 2010 section 15
       

       

       [51] Flood and Water Management Act 2010 section 16
       

       

       [52] Flood and Water Management Act 2010 section 17
       

       

       [53] Department for Environment, Food and Rural Affairs, What does the Flood and Water Management Act mean for Local Authorities?, Published 21/07/2011, available online at http://archive.defra.gov.uk/environment/flooding/documents/policy/fwmb/fwma-local-authority-factsheet-110721.pdf
       

       

       [54] Flood and Water Management Act 2010 section 30 and schedule 1 (Risk Management: Designation of Features)
       

       

       [55] Flood and Water Management Act 2010 section 32 and schedule 3 (Sustainable Drainage)
       

       

       [56] Flood and Water Management Act 2010 section 19
       

       

       [57] Flood and Water Management Act 2010 section 21
       

       

       [58] Ownership ในกฎหมาย Flood and Water Management Act 2010 มิใช่แปลว่า กรรมสิทธิ์ ตามภาษาอังกฤษกฎหมายธุรกิจหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยโดยทั่วไป แต่ Ownership ในที่นี้ แปลตามภาษาอังกฤษกฎหมายประกันภัยและบริหารความเสี่ยง ที่แปลว่า การติดตามความเสี่ยง The Risk Management Guide, Risk Ownership, available online at www.ruleworks.co.uk/riskguide/risk-ownership.htm  ที่ Risk Owner อาจแปลว่า ผู้ติดตามความเสี่ยงหรือหน่วยงานอันเป็นเจ้าของความเสี่ยงนั้นๆ
       

       

       [59] บางตำราอาจเรียกว่า "severe weather"  โปรดดู Department for Environment, Food and Rural Affairs, Severe weather advice, available online at  www.defra.gov.uk/food-farm/animals/welfare/weather/
       

       

       [60] โปรดดูคำนิยาม “complex emergency” ใน World Health Organization, Definitions: emergencies,  available online at www.who.int/hac/about/definitions/en/index.html
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544