รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะความคิดของคณาธิปไตย ๒ |
|
|
|
คุณภาคภูมิ อนุศาสตร์
นักวิชาการอิสระ |
|
6 พฤศจิกายน 2554 18:07 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีในภายหน้านั้น ข้าพเจ้าใคร่จะเห็นผู้มีส่วนได้เสียในอำนาจรัฐได้ให้ความสำคัญหรืออาจจะพูดได้ว่า ตระหนักต่อการต้องแก้ไขดังกล่าว อันเนื่องมาจากทุกอักษรที่ปรากฏล้วนแต่มีคุณค่าในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ควรดำรงรักษา เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ของเราทั้งสิ้น
โดยอีกประเด็นที่ควรให้ความสนใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ จะทำอย่างไรจะให้รัฐไทยพ้นจากวงจรอุบาทที่เราท่านต่างก็ทราบกันดี แต่ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใด ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้จนทำให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม วงจรดังกล่าวไม่สามารถที่จะสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงแต่กลับเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้ประชาชนซึมซับต่อระบบอำนาจนิยม ในตอนที่แล้วข้าพเจ้าได้นำเสนอแนวคิดเพื่อไม่ให้ประกาศของคณะปฏิวัติหรือคณะใด ๆ ที่ยึดอำนาจรัฐและเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง มีผลบังคับเป็นกฎหมายโดยเฉพาะในชั้นที่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญอันได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายสูงสุดแห่งรัฐ ในบทความนี้ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอว่า เราควรกำหนดให้มีผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยมีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ โดยในที่นี้ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นสองส่วน ดังนี้
๑. การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ควรจะมีผู้ที่ทำหน้าที่นี้ และในทัศนะของข้าพเจ้าผู้นั้นจะต้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยรวมตลอดถึงผู้ใช้อำนาจนั้นเพื่อหยุดยั้งการทำลายรัฐธรรมนูญ โดยในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา[๑] เกาหลีใต้[๒] เป็นต้น กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นประมุขของรัฐ ข้าพเจ้าก็มีความเห็นคล้อยตามด้วยเหตุผลต่อไปนี้
๑) ประมุขของรัฐมีสถานะหรืออำนาจเหนือบางประการที่สามารถยับยั้งการกระทำทางกฎหมายรวมถึงในบางประเทศได้กำหนดให้ประมุขของรัฐมีฐานะเป็น จอมทัพ ผู้บัญชาการของกองทัพ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ซึ่งในกรณีนี้ประมุของรัฐก็ยิ่งสามารถที่จะยับยั้งการกระทำในทางกายภาพที่มีความต้องการในทางล้มล้างรัฐธรรมนูญในฐานะดังกล่าวได้
๒) ประมุขของรัฐมีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญอันเนื่องแต่โดยส่วนใหญ่ประมุขของรัฐจะมีที่มาจากฉันทานุมัติของคนส่วนใหญ่ภายในรัฐนั้น ๆ หรือไม่ก็เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งก็เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน
แต่เราก็ไม่ควรที่จะให้ประมุขแห่งรัฐต้องทำหน้าที่ดังกล่าวโดยลำพัง อันเนื่องมาจากในระบอบประชาธิปไตยประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และอำนาจอธิปไตยดังกล่าวถูกใช้ผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยในส่วนของไทยได้มีปรากฏอยู่ในส่วนที่ ๑๓ ในมาตรา ๖๘ และมาตรา ๖๙ แต่ก็มิได้บัญญัติให้ชัดเจนลงไปว่าเป็นหน้าที่ของใคร
ในส่วนนี้เราอาจจะกำหนดว่า มาตรา...ประมุขแห่งรัฐ รัฐสภา รัฐบาล ตุลาการ ข้าราชการทุกประเภทและประชาชนมีหน้าที่ในการพิทักษ์และปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น[๓] อันเป็นรัฐชาติตะวันออกเช่นเดียวกับเรา
๒. การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกละเมิด ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องในทางการเมือง แต่ในทางการปฏิบัติและบังคับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการใช้กฎหมายโดยตรง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรทางการเมืองเข้ามาใช้อำนาจนี้ และจะเป็นองค์กรอื่นไม่ได้นอกจากองค์กรตุลาการหรือศาล ด้วยเหตุผลที่ว่า
๑) เป็นการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยทำให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายต่าง ๆ ที่ใช้อำนาจรัฐ
๒) ทำให้เกิดองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่ขจัดปัญหาอันเนื่องมาแต่รัฐธรรมนูญ
เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในที่นี้อาจจะกำหนดว่า มาตรา.... ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทอันเนื่องมาจากข้อกล่าวอ้างว่ากฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติ หรือการกระทำนั้น ๆ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและ ไม่มีผู้ใดริดรอนการใช้สิทธิในการนำคดีสู่ศาลดังกล่าวได้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้มีข้อพึงระวังว่า องค์กรตุลาการเองก็ต้องถูกตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจากประชาชน หรือรัฐสภา
ท้ายนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าในการออกแบบโครงสร้างทางสังคมการเมืองของไทยเรานั้นควรที่เราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่เคยผ่านประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่ได้เปลี่ยนผ่านสังคมการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญนิยม หรือแม้แต่ระบอบใดที่จะเป็นเยี่ยงอย่างแก่สังคมการเมืองไทยได้ โดยตัดการใช้กำลังตามอำเภอใจออกไปและเอาตรรกะ มโนธรรม ทั้งหลายมาหลอมรวมเปรียบเสมือนการสร้างองค์พระปฏิมาสักองค์หนึ่งที่เราพึงจะให้สวยงามลึกซึ้งที่สุด และให้ความเคารพศรัทธา และพึงสงวนรักษามิให้ผู้ใดมาทำลายหรือละเมิด คือรัฐธรรมนูญที่สามารถประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาขนได้อย่างแท้จริง
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|