หน้าแรก บทความสาระ
น้ำท่วม : โอกาสในวิกฤติ
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
6 พฤศจิกายน 2554 18:08 น.
 
ในวิกฤติน้ำท่วมปี พ.ศ.2554 นี้ ใครจะก่นด่า คร่ำครวญ โยนความผิดให้คนนั้นคนนี้ว่าเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยก็ตาม แต่ผมกลับมองเห็นโอกาสในวิกฤตินี้ เพราะหากเราสังเกตให้ดี การผจญอุทกภัยในครั้งนี้คนไทยเราค่อนข้างจะมีสติและรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว บางคนอาจจะมองว่าอาจจะเป็นเพราะความเชื่อในคำสอนของพุทธศาสนา แต่ไม่จริงทีเดียวนักเพราะน้ำท่วมในครั้งนี้ท่วมไปหมดไม่ว่าจะเป็นบ้านสวนไร่นาของพี่น้องชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรืออิสลาม(โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยุธยาและหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ) ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยใน พ.ศ.นี้โดยเฉพาะที่คนไทยเราส่วนใหญ่แล้วยังเป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่
       เราอาจจะไม่มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดดังเช่นชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยสีนามิ แต่ในเรื่องของน้ำใจ ผมเชื่อว่าคนไทยที่มีให้กันไม่ได้ด้อยกว่าแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของขอทานที่ควักเงินออกจากกระป๋องใส่ตู้บริจาคตีพิมพ์ลงหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald ของออสเตรเลียที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ที่ไม่ค่อยมีน้ำใจให้กันเท่าใดนักก็เว้นแต่ฝ่ายค้านกับรัฐบาลที่ฉวยโอกาสทุกท่าที่จะโจมตีกันและกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อทั่วไป โดยฝ่ายค้านก็ว่าฝ่ายรัฐบาลบริหารไม่เป็น ยักยอกของบริจาค ฝ่ายรัฐบาลก็โจมตีฝ่ายค้านว่ามัวแต่เล่นการเมืองไม่ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วม มิหนำซ้ำหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยังดอดหนีไปเที่ยวมัลดีฟเสียอีก ฯลฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองแบบน้ำเน่าที่ควรจะหายไปกับกระแสน้ำในครั้งนี้ได้แล้ว
       แน่นอนว่าคนก็คือคนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือคนชาติอื่น ที่ยังมีการลักเล็กขโมยน้อย มีการเบียดบังเอาของบริจาคไปให้พรรคพวกของตนหรือเข้ากระเป๋าตนเองก็คิดว่าคงจะมีบ้าง เพราะพวกนี้คือสัตว์นรกในร่างคนที่ไม่ต้องรอให้ตายไปก่อน ผลกรรมย่อมตามสนองให้เห็นทันตาอยู่แล้ว แต่เหนืออื่นใดคือการมองโลกในแง่ดีของคนไทยที่แม้ว่าในตอนแรกอาจจะเครียดอยู่บ้างเพราะการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมวยเพราะต้องคอยตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นวันๆ และเครียดที่ต้องคอยลุ้นว่าเมื่อใดน้ำจะมาถึงตนเสียที แต่เมื่อน้ำท่วมเข้ามาจริงๆแล้วกลับไม่มีการจลาจลหรือเกิดความวุ่นวายกันมากนัก อาจมีบ้างประปรายในเรื่องของคันกั้นน้ำที่ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการให้อีกฝ่ายสร้างเพราะจะไปท่วมเฉพาะที่ของตนเอง แต่ในที่สุดก็ไม่ลุกลามใหญ่โตแต่อย่างใดเพราะน้ำท่วมเสมอหน้ากันไปหมด
       หากเราจะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการมองโลกในแง่ดี ด้วยการคิดเสียว่าน้ำท่วมครั้งนี้
       1)เป็นการเปิดโอกาสให้พระโพธิสัตว์หรือผู้ใจบุญได้ปฏิบัติหน้าที่ เช่น คนจนได้ช่วยแรง คนรวยได้ช่วยเงิน เป็นต้น
       2) เราได้มีโอกาสอยู่พร้อมกันทั้งบ้าน หลังจากไม่ได้ดูทีวีด้วยกันมานานแล้ว ใช้ชีวิตช้าลง ไม่ต้องออกไปไหน
       3)ทำให้เรารู้ว่าสิ่งของต่างของเรานั้นสิ่งไหนมีความจำเป็นที่แท้จริงกับเรา เพราะเวลายกสิ่งของขึ้นสูงเราจะเลือกสิ่งนั้น อันไหนไม่สำคัญก็เอาไว้ยกทีหลังเพราะมันหนักและขี้เกียจ แต่หากจำเป็นต้องอพยพ เราจะนึกออกว่าอะไรคือของจำเป็นจริงๆกับเรา หรือเราคิดถึงสิ่งใดบ้างเมื่อต้องสละบ้านเรือนมา
       4)หากไม่ได้อพยพไปไหนก็ทำให้เราเป็นอิสระในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ต้องกลัวข้างบ้านรำคาญเพราะเสียงดัง ด้วยเหตุว่าข้างบ้านอพยพไปหมดแล้ว
       5)ทำให้เราเรียนรู้วิธีใช้น้ำอย่างฉลาด เช่นใช้น้ำกันน้ำได้ เพราะเราสามารถใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำวางได้ และถ้าต้องลุยออกจากบ้าน เราก้เอาถุงพลาสติกเล็กๆมัดรวมกันหลายถุงแล้วใส่ถุงใหญ่มัดอีกที แล้วทำเป็นทุ่นเกาะ ออกมาปากทางหมู่บ้านได้
       6)ทำให้รู้วิธีซักผ้าเองด้วยมือ เพราะเครื่องซักผ้าถูกยกขึ้นที่สูงไปแล้วเพื่อหนีน้ำ และทำให้รู้คุณค่าของเสื้อผ้าแต่ละชุดที่จะใส่อีกด้วย
       7)ได้ออกกำลังกายหลังจากที่ไม่ได้ออกกำลังมานาน เพราะจะต้องวันๆได้แต่ยกของ กรอกน้ำ วิดน้ำ ฯลฯ
       8)ได้อยู่กับบ้านมากขึ้น เพราะต้องเฝ้าระวัง ต้องกับสิ่งของที่มี ออกไปช็อปปิงเพิ่มก็ไม่ได้ ทำให้เรารู้ว่าสมบัติข้าวของที่เรามีนั้นมากมายเกินกว่าจะระวังได้ทั่วถึง ในทางกลับกันก็เป็นช่วงระยะเวลาที่ดีที่เราจะต้องโละสิ่งของที่ไม่จำเป็นทิ้งไปบ้าง หรือเลือกที่จะเก็บอะไรไว้
       9)ข้อดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเราได้รอดพ้นภัยของซองกฐิน ผ้าป่า ที่ทำให้จิตใจเราต้องขุ่นมัวเมื่อถูกยัดเยียดหรือถูกบังคับโดยอ้อมให้ทำบุญในสิ่งที่เราไม่อยากทำ และเราจะไม่ต้องได้บาปเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องก่นด่าในใจต่อผู้ที่เอาซองมาให้
       10)ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นกับการดูแผนที่แม่น้ำคูคลอง ทั้งจากการศึกษาด้วยตนเองและจากการดูโทรทัศน์(สำหรับบ้านที่ยังดูได้) อีกทั้งยังทำให้เรารู้ที่มาออกๆรายการกันนั้นน่ะ ใครมีกึ๋นหรือไม่มีกึ๋น
       11)ทำให้เรารู้สึกตัวเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เพราะต้องระวังภัยและศึกษาวิธีเอาตัวรอดจากสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น งู จระเข้ ปลิง ยุง ฯลฯ
       12)เป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนทักษะการว่ายน้ำหลังจากเรื้อไปนาน
       13)ทำให้ได้บรรยากาศหรือประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากขึ้นรถมาลงเรือแทน
       14)ทำให้ปัสสาวะง่ายขึ้น คือ ฉี่ลงน้ำ(กรณีอยู่บนบ้าน)หรือฉี่ในน้ำเสียเลย(กรณีลุยน้ำ)
       15)ทำให้สวนที่บ้านเลิกรก เพราะตอนที่น้ำท่วมก็ราบเรียบโล่งตา หลังจากน้ำลดก็ต้องจัดใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องสวยกว่าเก่า(ถ้ายังไม่หมดตัวเสียก่อน)
       16)ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น(อันนี้ดีมาก) กรณีที่ต้องอยู่เงียบๆคนเดียวเป็นเวลานานๆ
       17)ทำให้เราได้รู้จักผู้คนมากขึ้นในกรณีที่ต้องไปอยู่ที่ศูนย์อพยพฯ แม้ว่าบางคนโทรศัพท์มือถือจะหายก็ตาม ก็ถือเสียว่าอย่างน้อยที่ชาร์จแบตเตอรียังอยู่ คราวต่อไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่รุ่นเดียวกันจะได้มีที่ชาร์จ 2 อัน
       18)ทำให้หมดปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสีต่างๆ ไม่ว่าสีเหลือง สีแดง หรือสีสลิ่ม เพราะไม่มีเวลามาคิดเรื่องพวกนี้ ทำให้ต้องหันหน้าเข้าหากันโดยอัตโนมัติ(ยกเว้นไอ้พวกที่ไม่ถูกน้ำท่วมที่ยังหลงละเมอเพ้อพกอยู่ แต่ก็น้อยแล้ว)
       จากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่นึกขึ้นได้ และผมเชื่อว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ อยู่ที่เราจะสามารถมองเห็นและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตเราได้มากน้อยแค่ไหน เพียงได ใช่ไหมครับ
       -------------------
       หมายเหตุ - ภาพ/ข่าว ประกอบบทความ
       http://www.smh.com.au/world/floods-bring-thais-together-as-rivals-put-conflict-aside-20111014-1lp8v.html


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544