ท่วมหมื่นชื่อ: พลังประชาธิปไตยในวิกฤตน้ำท่วม |
|
|
|
คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ. นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด verapat@post.harvard.edu.
|
|
6 พฤศจิกายน 2554 18:08 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดท่วมหมื่นชื่อ facebook.com/10000flood เป็น แนวคิดไม่ปิดตาย ที่หวังผลิกวิกฤตอุทกภัย มาเป็นโอกาสประชาธิปไตย เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นสุขถ้วนหน้าและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
ความช่วยเหลือเวลานี้แม้จะมีมาก แต่ที่มากยิ่งกว่าอีกสองส่วน คือพวกเราที่ยังรอช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และพวกเราที่กะจะช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเสียที ยิ่งไปกว่านั้น การฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดต้องใช้เงินจำนวนมากและใช้เวลานาน ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งของ เช่น บ้านเรือนไร่นา เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูเชิงโครงสร้าง เช่น การกู้อุตสาหกรรม การช่วยเหลือผู้ตกงาน ตลอดจนการเยียวยาจิตใจซึ่งวันนี้ยังมีคำถามคาใจที่ไม่รู้จะเชื่อคำตอบของใคร
ล่าสุดรัฐบาลจะประกาศแนวทางใช้เงินมหาศาลฟื้นฟูประเทศ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากไหน หรือจะบริหารได้ดีอย่างไร
ในยามเช่นนี้ พวกเราซึ่งเป็นเจ้าของประเทศสามารถระดมพลังประชาธิปไตยเพื่อร่วมแก้วิกฤตได้ กล่าวคือ คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑ หมื่นคนขึ้นไป สามารถใช้สิทธิรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเยียวยาฟื้นฟูประเทศ และผลักดันผ่านรัฐสภาให้เป็นกฎหมายประชาชนฉบับแรกในประวัติศาสตร์ โดยพวกเราไม่ต้องและต้องไม่ให้รัฐบาลหรือนักการเมืองเป็นผู้กุมชะตาพวกเราไว้ฝ่ายเดียว และหากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดได้แรงบันดาลใจจากประชาชน ก็นำแนวคิดนี้ไปปรับปรุงและเสนอต่อสภาได้เช่นกัน
กฎหมายจากประชาชนท่วมหมื่นชื่อที่ว่า อาจมีหลักการดังนี้
หลักการรวมใจแบ่งเบาภาระ
พวกเราที่ไม่ได้เสียหายจากวิกฤตอุทกภัย หรือเสียหายน้อยมาก ยินยอมพร้อมใจให้รัฐบาลเก็บรายได้พิเศษ ตามกำลังจ่ายของแต่ละบุคคล เพื่อช่วยเยียวยาพวกเราส่วนที่ยังเสียหายอย่างสาหัส โดยวิธีที่ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เช่น การเพิ่มภาษีที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว หรือการเพิ่มค่าน้ำค่าไฟที่จ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว
การเก็บรายได้ควรยกเว้นไม่เก็บจากผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่เสียหายมาก และอาจยกเว้นไม่เก็บจากนิติบุคคลเพื่อไม่กระทบต่อการลงทุน และอาจเปิดช่องให้พวกเราสามารถนำเงินที่จ่ายให้รัฐบาลไปหักกลับคืนมาได้ โดยเรายินดีช่วยกันคนละไม้คนละมือ คนละเล็กละน้อยตามความสามารถ แต่ทำอย่างโปร่งใส เป็นระบบและพร้อมเพรียงกัน เพื่อระดมทุนแก้วิกฤตของประเทศ
ทั้งนี้ ท่วมหมื่นชื่อ ไม่ได้เสนอภาษีเพื่อลงโทษคนที่ไม่ถูกท่วม แต่เป็นข้อเสนอที่หวังอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน โดยทุกคนมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันตามกำลังความสามารถ เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ
หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
เงินที่รัฐบาลเก็บจากพวกเราไม่ได้ให้รัฐบาลนำไปใช้เองอย่างเดียว แต่ต้องแบ่งไปสนับสนุนอาสาสมัครหรือองค์กรท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง
หลักการประหยัด
นอกจากรัฐบาลจะเก็บรายได้เพิ่มจากพวกเราแล้ว รัฐบาลจะต้องเสนอมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายควบคู่กันไปอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งแจกแจงให้พวกเราทราบว่าได้ตัดงบประมาณส่วนใดจากโครงการใดเพื่อนำมาช่วยพวกเราและฟื้นฟูประเทศ ตลอดจนหลีกเลี่ยงหรือลดการก่อหนี้จากการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน
หลักการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
รัฐบาลสามารถนำรายได้ที่จัดเก็บไปใช้รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน เช่น การจ้างงาน การฟื้นฟูพัฒนาจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ การซ่อมแซมนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เงินกระจุกตัวอยู่กลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ
หลักการค้นหาความจริง
จัดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อรายงานพวกเราว่าวิกฤตครั้งนี้เกิดอะไรขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอมีอะไรบ้างที่จริงหรือไม่จริง มีอะไรบ้างที่พลาดพลั้งไป และประเทศไทยจะมีวิธีเตรียมตัวป้องกันรับมือปัญหาในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ กฎหมายอาจกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการอิสระ มิใช่ปล่อยเงียบจนเรื่องถูกกลบลบหายไป
หลักการป้องกันแก้ไขระยะยาว
กำหนดกรอบเวลาให้นำความจริงที่ได้รับการตรวจสอบมาตีแผ่พร้อมนำเสนอแผนการแก้ไขต่อประชาชนเพื่อรับฟังความเห็นและนำไปดำเนินการแก้ไขให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่นำขึ้นหิ้งแล้วลืมเหมือนทุกครั้ง
หลักการใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง
กฎหมายที่เสนอควรนำไปใช้ได้ต่อไปในอนาคตหากเกิดวิกฤตร้ายแรงอีก โดยเปิดช่องให้รัฐบาลขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อนำมาตรการพิเศษกลับมาใช้ได้เฉพาะคราวในกรอบเวลาที่จำกัด และเงินที่เก็บจากพวกเราไปก็เก็บไว้ในกองทุนเพื่อรับมือแก้ไขปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน
แนวคิดนี้ปฏิบัติได้จริงหรือ ?
ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยังไม่เคยมีร่างกฎหมายฉบับใดที่เสนอโดยประชาชนและผ่านสภาจนกลายมาเป็นกฎหมายที่ใช้ได้จริง ในทางหนึ่งจึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะอาศัยวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เป็นแรงเคลื่อนประชาธิปไตยไทยให้ก้าวไปอีกขั้น อย่างน้อยก็โดยกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมจดจำใบหน้าและนามสกุลของผู้ที่ปฏิเสธเสียงของประชาชน
แนวคิดที่กล่าวมาได้ถูกจัดทำเป็น ร่างพระราชบัญญัติรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ... โดยเป็นกฎหมายที่กำหนดกรอบหลักการให้รัฐบาลและรัฐสภาสามารถร่วมกันกำหนดมาตรการและรายละเอียดที่เหมาะสมว่าจะเก็บรายได้โดยวิธีใด นานแค่ไหน ใครได้รับการยกเว้นอย่างไร ฯลฯ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจพร้อมให้นำไปเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อสภา แต่ก็ยังมีประเด็นที่สามารถนำไปถกเถียง ปรับปรุง แก้ไขต่อไป อีกทั้งเสียงที่โต้แย้งด้วยเหตุผลอันหนักแน่นก็ย่อมมีคุณค่าทางประชาธิปไตยไม่น้อยไปกว่ากัน
จึงขอเชิญชวนพวกเราร่วมระดมความคิดเกี่ยวกับท่วมหมื่นชื่อและ ร่างพระราชบัญญัติรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ... ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ที่เพจ ท่วมหมื่นชื่อ http://www.facebook.com/10000flood
(ตัวอย่าง)
ร่าง
พระราชบัญญัติ
รวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย
พ.ศ. ....
__________
..................................
..................................
.................................
...............................................................................................................................................
โดยที่สมควรมีกฎหมายกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นธรรมและมีเอกภาพเพื่อขจัดอุปสรรคและช่วยเหลือให้ผู้เดือดร้อนจากวิกฤตสาธารณภัยสามารถดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างเสมอภาคตลอดจนรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหลังการเกิดวิกฤตสาธารณภัยอย่างทันท่วงที อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาวิกฤตสาธารณภัยในอนาคต
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๐ วรรคสี่ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๖ รวมถึงมาตรา ๗๑ และ มาตรา ๗๓ บัญญัติให้กระทำได้โดยการอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
...............................................................................................................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ....
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นเหตุยกเว้นหรือกระทบกระเทือนต่อการดำเนินการตามกฎหมายดังต่อไปนี้
(๑) กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๒) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
(๓) พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช ๒๔๘๗
(๔) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(๕) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง พ.ศ. ๒๕๕๔
(๖) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๘
(๗) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๔
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
ภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย หมายความว่า ภาวะที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศโดยความเห็นชอบของรัฐสภาตามพระราชบัญญัตินี้
กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายความว่า พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือกฎหมายที่ใช้บังคับแทน
กปภ.ช. หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองทุน หมายความว่า กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๔๔
คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย
สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากบทนิยามตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทนิยามตาม มาตรา ๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาใช้บังคับในพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ให้ตีความและใช้บังคับตามหลักการดังต่อไปนี้
(๑) หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามมาตรา ๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖
(๒) หลักการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการคลัง
(๓) หลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารจัดการภารกิจและทรัพยากร
(๔) หลักการแบ่งเบาและกระจายภาระอย่างเป็นธรรมและได้สัดส่วน
(๕) หลักการเร่งช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอที่สุดเป็นลำดับแรก
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และมีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ระเบียบ ข้อบังคับ หรือ ประกาศ นั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ เว้นแต่ จะมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องรอก่อนมีผลใช้บังคับ ก็ให้ถือตามระยะเวลาเช่นนั้น
หมวด ๑
กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย
__________
มาตรา ๗ ให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๘ เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๔๔
(๒) รายได้จากมาตรการพิเศษที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๙ การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๔๔ และเพื่อการต่อไปนี้
(๑) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๒) สนับสนุนค่าใช้จ่ายและทรัพยากรที่จำเป็นแก่อาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศลหรือบุคคลใดที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามระเบียบที่ กปภ.ช. กำหนด
(๓) ใช้จ่ายเพื่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตสาธารณภัยและการสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาวิกฤตสาธารณภัยในอนาคตตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐ ในระหว่างการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย ให้สำนักงานเปิดเผยข้อมูลการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุนต่อสาธารณะอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๑๑ นอกจากการควบคุมตรวจสอบภายในที่มีอยู่แล้ว ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุนทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
หมวด ๒
การประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย
__________
มาตรา ๑๒ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีสาธารณภัยเกิดขึ้นซึ่งรุนแรงถึงขั้นวิกฤตหรือกำลังจะถึงขั้นวิกฤต และจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือ เยียวยาเป็นการฉุกเฉิน แต่งบประมาณและทรัพยากรที่รัฐมีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรืออาจนำมาใช้จ่ายได้ไม่ทันการ หรืออาจก่อปัญหาต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการคลัง ในการนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการแก้ไขปัญหาไม่สมควรดำเนินการโดยการตราพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขอความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยก่อนดำเนินมาตรการตามพระราชบัญญัตินี้
การขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามวรรคหนึ่งต้องระบุระยะเวลาการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยและแผนมาตรการที่คณะรัฐมนตรีมุ่งหมายจะดำเนินการตามหมวด ๓ ของพระราชบัญญัตินี้พร้อมความเห็นจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับแผนมาตรการดังกล่าว ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
หลังมีการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเลิกหรือลดระยะเวลาการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย และให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขอความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อขยายระยะเวลาการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย โดยนำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ยกเลิก หรือการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยและแผนมาตรการที่เสนอต่อรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้นายกรัฐมนตรีรายงานความคืบหน้าและตอบคำถามเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการตามหมวดนี้ต่อรัฐสภาเป็นระยะจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย
มาตรา ๑๓ การประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยไม่ถือเป็นเงื่อนไขหรือกระทบกระเทือนต่ออำนาจการประกาศสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสถานการณ์เฉพาะตามกฎหมายอื่น
หมวด ๓
มาตรการรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย
__________
มาตรา ๑๔ ในระหว่างการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษทางภาษีอากรหรือเงินประกันสังคมเพื่อจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเท่าที่จำเป็นโดยต้องไม่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งต้องคำนึงถึงความสามารถในการรับแบ่งเบาภาระของแต่ละบุคคลและลักษณะความเป็นจริงของการจักเก็บภาษีอากรบางประเภทที่ไม่ทั่วถึงในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๕ หากมาตรการตามมาตรา ๑๔ ไม่เพียงพอหรือไม่ทันท่วงทีต่อการแก้ไขวิกฤตสาธารณภัย ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเป็นการเร่งด่วนโดยการให้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานทางปกครองผู้ให้บริการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคมมีอำนาจเพิ่มมูลค่าหนี้เกินกว่าความเป็นจริงในใบเรียกเก็บหนี้จากผู้ใช้บริการได้ และถือว่ามูลค่าหนี้ที่เกินมาดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ใช้บริการต้องชำระโดยปกติตามกฎหมายแต่ให้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานทางปกครองนำส่งเป็นรายได้เฉพาะส่วนดังกล่าวเข้ากองทุนโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการ
การดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่งต้องไม่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างมีนัยสำคัญและต้องมีวิธีการให้ผู้ที่ได้ชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเกินกว่าความเป็นจริงสามารถเลือกนำจำนวนเงินที่ชำระดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปหักกลบกับค่าบริการที่แท้จริงในภายหลังได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หากหน่วยงานทางปกครองผู้ให้บริการสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่งเท่าที่เหมาะสมและจำเป็นแก่หน่วยงานทางปกครองนั้น
มาตรา ๑๖ การดำเนินมาตรการตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการตัดลดค่าใช้จ่ายโดยหน่วยงานของรัฐซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการตัดลดรายจ่ายประกอบแผนมาตรการที่นำเสนอต่อรัฐสภา
มาตรา ๑๗ การดำเนินมาตรการตามหมวดนี้อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากแผนมาตรการที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อรัฐสภาได้เท่าที่จำเป็นและสมควรแก่เหตุ แต่การดำเนินมาตรการต้องสิ้นสุดภายในระยะเวลาที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เว้นแต่รัฐสภาจะเห็นชอบให้ขยายระเวลาดังกล่าวออกไป
หมวด ๔
มาตรการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
__________
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่วิกฤตสาธารณภัยอาจกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจนำเงินกองทุนมาใช้จ่ายเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้
การดำเนินมาตรการตามวรรคหนึ่ง จะดำเนินการในขณะมีการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย หรือภายหลังจากภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยสิ้นสุดลงก็ได้
มาตรา ๑๙ มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต้องมีวิธีการเพื่อรักษาความเป็นธรรมในกรณีที่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดพลอยได้รับประโยชน์เกินกว่าที่ควรจากมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๕
มาตรการสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาวิกฤตสาธารณภัยในอนาคต
__________
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่มีการประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุสมควรให้ตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุความรุนแรงของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นก็ดี ความพร้อม ประสิทธิภาพและการร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการจัดการกับปัญหาก็ดี ความเสมอภาคและเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายหรือป้องกันช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ดี ความขัดแย้งระหว่างชุมชนหรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็ดี หรือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาในระยะยาวก็ดี ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการอิสระชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อรายงานและให้คำแนะนำคณะรัฐมนตรีต่อไป
คณะกรรมการอิสระตามวรรคหนึ่งต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอย่างน้อยหนึ่งชุดซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยเพื่อร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบหรือแสวงหาข้อเท็จจริงด้วย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่แต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการอิสระดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อร้องขอต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการอิสระดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ โดยให้ถือว่าสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรติดรูปถ่ายที่ออกโดยราชการไม่ว่าจะหมดอายุแล้วหรือไม่เป็นหลักฐานประกอบการเข้าชื่อที่เพียงพอ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีกำหนด และหากการเข้าชื่อครบถ้วนและถูกต้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามนั้น
การเข้าชื่อตามวรรคสามนั้น ประชาชนผู้เข้าชื่อดังกล่าวจะร่วมกันเสนอรายชื่อผู้มีความเหมาะสมเป็นกรรมการอิสระไม่เกินสามรายให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตามความเหมาะสมไปพร้อมกันก็ได้
มาตรา ๒๑ ให้ กปภ.ช. มีหน้าที่จัดหาและส่งมอบข้อมูลให้คณะกรรมการอิสระตามมาตรา ๒๐ ตามที่คณะกรรมการอิสระร้องขอ
มาตรา ๒๒ ภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากคณะรัฐมนตรีได้รับรายงานข้อสรุปจากคณะกรรมการอิสระที่แต่งตั้งในแต่ละครั้ง ให้คณะรัฐมนตรีหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและบรรเทาวิกฤตสาธารณภัยในอนาคตและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อตัดสินใจดำเนินการต่อไป
หมวด ๖
การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย
__________
มาตรา ๒๓ เรื่องใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามหมวด ๓ และหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ที่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณา ให้เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
บทเฉพาะกาล
__________
มาตรา ๒๔ นับจากวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่ารัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบให้ประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยมีระยะเวลาหนึ่งปีตามแผนมาตรการตามมาตรา ๒๕ และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสระตามมาตรา ๒๐
มาตรา ๒๕ ให้ภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยตามมาตรา ๒๔ มีแผนมาตรการดังต่อไปนี้
[สำหรับพิจารณาโดยประชาชน คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา]
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
………………………....
นายกรัฐมนตรี
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|