|
|
|
|
ครั้งที่ 277 |
6 พฤศจิกายน 2554 18:15 น. |
|
|
|
|
ครั้งที่ 277
สำหรับวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายนถึงวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2554
นิวไทยแลนด์
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในความทุกข์ระทมเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้เรียกว่า มหาอุทกภัย ภาพของผู้คนที่ต้องหนีน้ำท่วมในสภาพต่างๆปรากฏอยู่ตามสื่อทั้งไทยและเทศคงจะยังอยู่ในความทรงจำของเราไปอีกนานครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติซึ่งก็ถูกนำไปใช้อ้างอิงในหลาย ๆ ที่ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็จะยังคงเกาะติดเรื่องมหาอุทกภัยต่อเพราะอย่างไรเสีย เรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องอยู่กับชีวิตประจำวันของเราไปอีกช่วงระยะหนึ่งครับ
คนไทยที่มีความทุกข์จาก มหาอุทกภัย น่าจะมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนเสียหายไปเรียบร้อยแล้วกับกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่นั่งเฝ้ารออยู่อย่างไร้อนาคตว่าน้ำจะท่วมเมื่ิอไร สำหรับคนกลุ่มแรกนั้นคงไม่ต้องพูดอะไรมากเพราะในเมื่ิอน้ำท่วมไปแล้ว ทรัพย์สินคงได้รับความเสียหายไม่มากก็น้อย งานการก็คงไม่ได้ทำหรือทำได้ไม่ได้เต็มที่ รอเวลาว่าเมื่อไรน้ำลดก็จะต้องซ่อมแซมที่อยู่อาศัย คนเหล่านั้นจึงอยู่ในสภาพที่ต้องเอาตัวรอดและพยายามหาทางทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีเคยเป็นในชีวิตก่อนน้ำท่วมกลับไปเหมือนเดิมให้เร็วที่สุดซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าเมื่อไร ? กลุ่มที่สองต่างหากเป็นกลุ่มที่กำลังปั่นป่วนและสร้างปัญหาให้กับสังคมอยู่ในเวลานี้เพราะในเมื่อคนกลุ่มนี้ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่มีข่าวออกมาวันละหลายร้อยรอบว่าอย่างไรเสียน้ำก็จะต้องท่วมอย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่ทราบว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง เรื่องนี้จึงทำให้คนกลุ่มหลังว้าวุ่น แล้วยิ่งพอมีเวลาเตรียมตัวรับน้ำท่วมนานก็ยิ่งคิดมาก วิตกกังวลไปเสียทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้าน เรื่องรถ หรือเรื่องอาหารการกิน ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้สึกไม่คล่องตัวไปเสียทั้งหมดเพราะไม่ทราบว่าเมื่อไรน้ำจะท่วมเสียทีครับ !!!
คนกลุ่มที่สองนี้ส่วนใหญ่คือคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะมีวันที่น้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้ ด้วยความที่เป็นเมืองหลวง ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของทุก ๆ ด้านของประเทศ อย่างไรเสียคงปลอดภัยเป็นแน่ แต่วันนี้คงไม่มีใครคิดเช่นนั้นแล้วเพราะน้ำได้ท่วมพื้นที่รอบๆกรุงเทพมหานครไปจนเกือบหมดแล้ว ส่วนในเขตกรุงเทพมหานครเองก็ถูกน้ำท่วมไปหลายเขตและในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ น้ำจำนวนมากกำลังค่อยๆคืบคลานไหลจากบริเวณรอบๆกรุงเทพมหานครเข้ามาสู่ใจกลางของกรุงเทพมหานครอย่างช้า ๆ สร้างความปริวิตกให้กับผู้คนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในฐานะคนกรุงเทพมหานคร ผมพบว่าเราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมหาอุทกภัยน้อยมาก การรับรู้ข้อมูลน้อยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือกรณีวันหยุดพิเศษเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด 4 วันเป็นวันหยุดราชการ จากนั้นก็มีการเชิญชวนให้คนในกรุงเทพมหานครออกไปนอกกรุงเทพมหานครซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าให้ออกไปทำไม ? การเดินทางออกไปนอกกรุงเทพมหานครของคนกลุ่มใหญ่สร้างปัญหาตามมามากมายเพราะมีถนนหลายสายที่ถูกน้ำท่วม ทำให้เกิดปัญหารถติดอย่างหนักในหลายเส้นทาง ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ทิ้งกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งขึ้นสูงมากก็ท่วมออกมาบนพื้นผิวจราจรที่อยู่แถบริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่บ้างแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนมากนักเพราะเป็นวันหยุดราชการ ผู้คนส่วนใหญ่วิตกเรื่องน้ำท่วมจึงอยู่กับบ้านเฝ้าติดตามข่าวสาร น้ำท่วมอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ลง พอน้ำลงทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับกลายเป็นปกติตามเดิม ผู้คนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างปกติ พอวันหยุดพิเศษ 4 วันผ่านไป ผู้คนส่วนหนึ่งก็เริ่มทยอยกลับกรุงเทพฯในขณะที่น้ำที่ท่วมก็เริ่มทยอยเข้ามาในกรุงเทพฯ อย่างช้า ๆ เช่นกัน การที่น้ำเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับประชาชนมากเพราะทุกคนต้องการอยู่อย่างปลอดภัย ในเมื่อรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่พอจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงทำให้เราได้เห็นภาพของผู้คนหนีน้ำท่วมกันไปเรื่อยๆ แม้แต่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ของรัฐบาลเองก็ยังไม่รอด ต้องหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่อื่น ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากการขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำและชัดเจนนั่นเองครับ นอกจากนี้แล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลข่าวสารก็ยังมีเรื่องที่น่าแปลกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ แม้ว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้จะเกิดขึ้นมาเป็นนานหลายเดือนและหลายจังหวัดรวมทั้งในช่วงวิกฤติของกรุงเทพมหานครเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ประชาชนกลับไม่มี ช่องทางพิเศษ ที่จะติดตามข่าวน้ำท่วมได้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาก็ได้แค่อาศัยดูข่าวบางเวลาในบางช่องเท่านั้นเองที่ทำให้สามารถรับรู้ข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมในที่ต่างๆได้ ในวันนี้ รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับการข่าวให้มาก ๆ เพราะทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครต้องการทราบเหมือน ๆ กันว่า น้ำจะท่วมบริเวณใดบ้างท่วมเมื่อไรสูงขนาดไหนและท่วมนานเท่าไรครับ
ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ น้ำเริ่มท่วมเข้ามาจวนจะถึงใจกลางของกรุงเทพมหานครแล้ว ส่วนบางจังหวัดที่น้ำท่วมไปแล้วกว่า 3 เดือนก็เริ่มที่จะกลับสู่สภาวะปกติ งานสำคัญที่ตามมาที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือ การแก้ปัญหาหลายมิติในเวลาเดียวกันครับ
การแก้ปัญหาระยะสั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องคิดเพื่อหาทางออก การแก้ปัญหาระยะสั้นก็คือทำอย่างไรที่จะป้องกันรักษาสถานที่สำคัญๆของประเทศเอาไว้ได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้น้ำท่วมกระทบคนน้อยที่สุด การแก้ปัญหาระยะสั้นคงทำอะไรไม่ได้มากแล้วเพราะในปัจจุบันน้ำท่วมไปจนเกือบหมดแล้ว การแก้ปัญหาระยะสั้นจึงควรไปอยู่ตรงที่ทำอย่างไรจึงจะทำให้น้ำลดลงเร็วที่สุดครับ
การแก้ปัญหาระยะกลางได้แก่การทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิม นี่คือ
สิ่งที่เป็นภาระที่หนักที่สุดของทั้งประชาชนและทั้งรัฐบาล เมื่อน้ำลด บ้านเรือนที่อยู่อาศัยต้องได้รับการซ่อมแซมให้กลับไปอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยได้ สิ่งที่น่าวิตกก็คือ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งหลายมีเพียงพอที่จะรองรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลายหมื่นหลังหรือไม่มีช่างเพียงพอที่จะเข้าไปทำงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือไม่เพราะเป็นที่แน่นอนว่า ทุกคนต่างก็อยากทำให้บ้านเรือนของตัวเองกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันเร็วที่สุด เช่นเดียวกับสถานที่ทำงานหรือโรงงานต่าง ๆ ที่ก็ต้องรีบทำให้สถานที่ของตนกลับมาเหมือนเดิมเพื่อที่จะได้เริ่มทำงานต่อไป คนงานที่หยุดงานไปเป็นเวลานานก็จะได้กลับไปทำงานมีรายได้อย่างเดิม
ไม่ทราบว่า ในส่วนของรัฐบาลได้มีการเตรียมการในเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างหรือยังครับ เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มัวแต่ประชุมกับนักธุรกิจภาคเอกชนเพื่อเตรียมฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งอย่างไรเสียก็อย่าลืมนึกถึงเรื่องช่างเรื่องวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและซ่อมแซมบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนหลายล้านคนต้องการใช้หลังน้ำลดด้วยนะครับ หาไม่แล้ว เมื่อน้ำลดก็จะต้องเกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างแน่นอน นั่นก็คือการขาดแคลนช่างขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเช่นอิฐหินดินทรายหรือปูน เป็นต้น การขาดแคลนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็วและส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วยครับ
สำหรับในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาวนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์หลายฉบับมีใจความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะดำเนินการตั้ง "โครงการนิวไทยแลนด์" ขึ้นมาฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด โดยโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 6 - 8 แสนล้านบาทครับ
ผมอ่านข่าวดังกล่าวด้วยความชื่นชมคนที่คิดคำพวกนี้เพราะฟังดูแล้วมีความไพเราะ มีอนาคต มีความหวัง มีความฝัน เป็นคำที่น่าจะมี พลัง พอที่จะเรียกความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของรัฐบาลกลับมาได้บ้าง แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ใครจะเป็นผู้ทำโครงการ นิวไทยแลนด์ ครับ เพราะผมไม่คิดว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งใครๆก็รู้ว่า ล้มเหลว ในการบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมในครั้งนี้จะสามารถ สร้างประเทศไทยขึ้นมาใหม่ได้ครับ ไปๆ มา ๆ โครงการที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลก็อาจจะกลายเป็นอภิมหาโครงการทุจริตดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการใหญ่ ๆ ของประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เป็นได้ครับ
แม้จะยังไม่มีคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมว่าคืออะไร แต่สำหรับผมนั้น นิวไทยแลนด์น่าจะเป็นโครงการที่ประกอบด้วยหลายส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในทุกๆด้านไม่จำกัดเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเท่านั้น นิวไทยแลนด์น่าจะเป็นโครงการที่ปรับประเทศให้เข้าสู่ระบบของความเป็นอารยประเทศดังเช่นประเทศอื่น ๆ น่าจะเป็นการปรับโครงสร้างและระบบต่างๆของประเทศทุกโครงสร้างและทุกระบบให้ทำงานอย่างบูรณาการสอดคล้องประสานกันมากกว่าจะไปมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างและระบบเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้แล้ว นิวไทยแลนด์ยังควรรวมถึงการปรับโครงสรัางทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบให้กับประเทศชาติและประชาชนด้วย ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือการทำให้ ระบบนิติรัฐกลับคืนมาสู่ประเทศไทยดังเดิมด้วยครับ!!!
นอกจากนี้แล้ว เรื่องบางเรื่องก็ต้องถูกหยิบยกมาพิจารณาหาทางแก้ไขด้วยเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สมบูรณ์แบบและมีระบบ ไม่ต้องดูอื่นไกลนะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อคราวเกิดคลื่นยักษ์สึนามิกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อคราวเกิดมหาอุทกภัยดูช่างต่างกันลิบลับ ในขณะที่คนญี่ปุ่นสงบ รู้จักแบ่งปัน รู้จักประโยชน์สาธารณะ คนไทยบางส่วนกลับแย่งกันกักตุนอาหารกักตุนสินค้าเพื่อตัวเองและครอบครัวบางรายก็กักตุนเพื่อนำไปขายต่อราคาแพงๆมีคนจำนวนมากนำรถไปจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะโดยไม่สนใจผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นมีคนบางกลุ่มพังคันกั้นน้ำเพื่อให้ทุกคนเดือดร้อนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โครงการนิวไทยแลนด์ จึงควรต้องรวมไปถึงการปรับ จิตสำนึก ของพี่น้องร่วมชาติของเราบางส่วนให้หันกลับมานึกถึง ประโยชน์สาธารณะมากกว่านึกถึง ประโยชน์ส่วนตัวด้วย
ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวนั้น โครงการ นิวไทยแลนด์ ต้องรวมถึงการปรับระบบผังเมืองใหม่ทั้งหมดซึ่งคงต้องมีการเวนคืนพื้นที่จำนวนมากเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่พักน้ำ การกำหนดเขตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ขวางทางน้ำหรือการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณที่ลุ่มที่ต้องมีการรื้อใหม่ทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่ามีสิ่งที่ ขวางทางน้ำอีกดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว รวมทั้งบรรดาบ้านจัดสรรหรือหมู่บ้านหลาย ๆ แห่งที่ตั้งอยู่บนที่ลุ่มและเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในปีต่อ ๆ ไปด้วยที่โครงการนิวไทยแลนด์จะต้องเข้าไปจัดการให้เข้าที่เข้าทางครับ
เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากสำหรับโครงการ นิวไทยแลนด์ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานจำนวนมากประชาชนจำนวนมากและใช้เงินจำนวนมาก รวมไปถึงคงต้องใช้ระยะเวลานานทีเดียวกว่าจะทำสำเร็จ สิ่งที่รัฐบาลพยายามเสนอจึง"น่าจะ"เป็นเพียงความฝันระยะยาวหรือไม่ก็เป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลหลังจากที่ถูกน้ำพัดหายไปเสียจนเกือบหมด !!!!!
ถ้าจะให้ง่ายที่สุด ที่จะทำได้สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียงปัญหาเดียวก็คงจะอยู่ที่การสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรที่รัฐบาลควรต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพราะอีกไม่กี่เดือน น้ำก็จะมาอีกแล้วครับ การบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำการปรับแก้ผังเมืองใหม่ในบางพื้นที่รวมไปถึงการขุดลอกแม่น้ำและคูคลองต่างๆ น่าจะเป็นทางแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทำได้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดครับ ส่วนในระยะยาวนั้นคงต้องรอฟังรัฐบาลขายฝันโครงการ นิวไทยแลนด์กันต่อไปครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยที่สมควรทำการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นบทความเรื่อง "มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของประเทศอังกฤษ (ตอนที่ 1)" ที่เขียนโดยอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง บทความที่สองเป็นตอนที่สองของบทความเรื่อง "รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะความคิดของคณาธิปไตย ๒" ที่เขียนโดยคุณภาคภูมิ อนุศาสตร์ บทความที่สามเป็นบทความที่เขียนโดยคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เรื่อง "ท่วมหมื่นชื่อ: พลังประชาธิปไตยในวิกฤตน้ำท่วม" และบทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "น้ำท่วม : โอกาสในวิกฤติ" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|