ต้องวิพากษ์ ปรีดี พนมยงค์ ได้ |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
|
|
|
|
|
|
|
อนุสนธิการตั้งคำถาม ๑๕ ข้อ ของสมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อ นิติราษฎร์ โดยคำถามข้อหนึ่งระบุว่า ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป.,อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ ซึ่งส่งผลให้ลูกสาว อ.ปรีดี และผู้ที่เห็นแย้งกับสมคิดออกมาโต้แย้งอย่างมากมาย จนถึงกับเดินขบวนให้ปลดออกจากตำแหน่งอธิการบดีในข้อหาฝักไฝ่เผด็จการไปเลยก็มี
แต่ประเด็นที่พูดถึงกันส่วนใหญ่แล้วก็มุ่งแก้ต่างไปในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่ง อ.ปรีดีเป็นแกนนำสำคัญของคณะราษฎร์ในฝ่ายพลเรือน และในกรณีนี้ก็เป็นที่ยุติในเชิงวิชาการแล้ว่าเป็นการ ปฏิวัติ(revolution)มิใช่รัฐประหาร(coup d'état)เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งระบบโดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มิใช่การใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งหากทำสำเร็จก็เรียกว่า รัฐประหาร(coup d'état)หากทำไม่สำเร็จก็กลายเป็น กบฏ(rebellion)ไป
น่าเสียดายและเสียเชิงเป็นอย่างยิ่งที่ สมคิดไม่ยอมชี้แจงข้อสอบถามของลูกสาว อ.ปรีดีและนักวิชาการค่ายอื่นๆที่สนับสนุนนิติราษฎร์ แต่ใช้วิธีการหนีหน้าโดยการลบข้อความออกจากเฟซบุ๊กของตนเองทิ้งไปเสียอย่างน่าละอายและหมดรูปของนักวิชาการในระดับศาสตราจารย์ทางกฎหมายและอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มี อ.ปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ
ในความเห็นของผมแล้วประเด็นอยู่ที่มิใช่ว่า อ.ปรีดี จะถูกวิพากษ์ไม่ได้และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกสาว อ.ปรีดีจะออกมาตอบโต้ ผมคิดว่า เราเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการต่อ อ.ปรีดี ซึ่งนอกจากจะเป็นรัฐบุรุษแล้วยังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะย่อมสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการได้ เหมือนที่นักวิชาการหลายคนเคยวิพากษ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, พระยาอนุมานราชธนมาแล้วหรือแม้แต่รัชกาลที่ ๕ ก็ยังถูกวิจารณ์โดย ส.ศิวรักษ์ในที่สาธารณะในเชิงวิชาการในหลายต่อหลายครั้ง
หากนักวิชาการเรายังมีความจำไม่สั้นเกินไปนัก เราน่าจะจำกรณี กบฏวังหลวงหรือที่เรียกว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492ซึ่งเป็นคำเรียกของ อ.ปรีดี โดยเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ของกลุ่มประชาธิปไตยพลเรือนซึ่งก็คือกลุ่มการเมืองที่แวดล้อม อ.ปรีดี หรือกลุ่มที่ถือเอา อ.ปรีดี เป็นผู้นำและแกนกลาง โดยมุ่งที่จะประสานกำลังหลัก 2 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ ฝ่ายทหารเรือและเสรีไทย ซึ่งเป็นความพยายามในการรื้อฟื้นอำนาจที่สูญเสียไปก่อนการรัฐประหารใน พ.ศ.2490
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เวลา 20.00น.อ.ปรีดี และเสรีไทยได้ขนอาวุธขึ้นฝั่งที่หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเตรียมกำลัง จากนั้นเวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดสถานีวิทยุ กรมประชาสัมพันธ์พญาไท และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีฯ
พร้อมกันนั้นได้ออกคำสั่งปลด พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทั้งยังสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพลไม่ว่าในกรณี ใด ๆ นอกจากจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่ จากนั้นหน่วยอื่น ๆ ก็ลงมือปฏิบัติการในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในพระบรมมหาราชวัง ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นำทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดได้เมื่อเวลา 21.00 น. จากนั้น อ.ปรีดี, ทวี ตะเวทิกุล, พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกำลังส่วนอื่น ๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายจากธรรมศาสตร์เข้าพระบรมมหาราชวังและใช้เป็นศูนย์บัญชาการ
จนถึงครึ่งวันแรกมีแนวโน้มที่ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จะได้รับชัยชนะ เพราะบุคคลสำคัญทั้งของฝ่ายคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันไม่ติดและติดต่อกันไม่ได้เลย แม้ว่าหลายคนจะเตรียมการต่อสู้ แต่ก็ไม่รู้ทิศทางไม่รู้ที่มั่นของฝ่ายยึดอำนาจและไม่ทราบสถานการณ์ที่เป็นจริง แต่ความคลาดเคลื่อนของฝ่าย อ.ปรีดีอยู่ที่ว่า กำลังนาวิกโยธินจากสัตหีบ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังหลักเข้ายึดและควบคุมตามสถานที่สำคัญนั้นมาไม่ทันตามกำหนดนัดหมายที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เสียตั้งแต่ระยะครึ่งคืนแรก เพราะเนื่องจากยกกำลังมาแล้วมาติดน้ำลงที่ท่าข้ามแม่น้ำบางปะกงต้องรอเวลาน้ำขึ้น ทำให้ข้ามฝั่งแม่น้ำมาได้ไม่ทันเวลา
ดังนั้น ตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มติดต่อกันได้และตั้งตัวติด และได้ออกประกาศยืนยันว่ารัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่ และได้มีการสู้รบกันจนในที่สุดฝ่าย อ.ปรีดีต้องถอนกำลังออกจากพระบรมมหาราชวัง ในท้ายที่สุดการสู้รบระหว่างฝ่ายทหารบกและทหารเรือก็ยุติลงในเวลาประมาณ 10.30 น.ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และถือได้ว่าขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ได้ล้มเหลวลง กลายเป็น กบฏวังหลวง และผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ มีผู้เสียชีวิตเป็นทหารบก 4 คน ทหารเรือ 3 คน และประชาชนในเขตพญาไท 3 คน
ส่วน อ.ปรีดี ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายทหารเรือ โดยจัดเรือยนต์บรรทุกเพื่อนในขบวนการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฟากธนบุรีโดยปลอดภัย หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ อ.ปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 และลอบเดินทางไปยังประเทศจีน หลังจากนั้นก็ลี้ภัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นานถึง 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนสิ้นอายุขัย รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี
กล่าวโดยสรุป ก็คือ อ.ปรีดีก็เคยทำ รัฐประหารเหมือนกัน ถึงแม้จะเรียกชื่อว่า ขบวนการประชาธิปไตยฯโดยให้เหตุผลว่าเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่ทำไม่สำเร็จจึงกลายเป็น กบฏไป ส่วนจะถูกต้องด้วยเหตุผลหรือไม่อย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ว่ากันไป ซึ่งเราก็ควรที่จะวิพากษ์ได้ เพราะ อ.ปรีดีก็เคยวิพากษ์ตัวท่านเองไว้จนถือได้ว่าเป็นวาทะประวัติศาสตร์ว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ"
ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ อ.ปรีดีจะถูกวิพากษ์ แม้ว่าเราจะเคารพนับถือท่านอยู่อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจก็ตาม ใช่ไหมครับ
------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|