หน้าแรก บทความสาระ
กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ต่อมาศาลแพ่งพิพากษาให้การซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกเป็นโมฆะ กรณีนี้ จะขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ไม่ได้
คุณเฉลิมพล สุมโนพรหม นักศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสมาคม ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต ทางสังคมศาสตร์ ม.รามคำแหง (ก่อตั้ง) ประธานนักศึกษาโครงการปรัชญาดุษฏีบัณฑิต ทางสังคมศาสตร์ ม.รามคำแหง รุ่น 8 ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัญฑิตทางกฎหมายมหาชน รุ่น 10 ม.ธรรมศาสตร์
9 ตุลาคม 2554 18:36 น.
 
สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วโลกถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำการรื้อฟื้นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี ขึ้นมาใหม่ โดยอ้างเหตุกรณีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษกแปลงพิพาท ระหว่างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้ตกเป็นโมฆะ ด้วยการกล่าวอ้างว่าเมื่อการซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ย่อมต้องแสดงว่าไม่เคยมีการซื้อขายที่ดินถนนรัชดาภิเษกเกิดขึ้น
       เรื่องเดิมมีอยู่ว่า นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ได้เป็นผู้นำเรื่องในคดีดังกล่าว เสนอต่อกองปราบปรามแต่ไม่เป็นผล ต่อมาภายหลังจากการทำรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้มีการออกประกาศฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐขึ้น
       ทำให้นายวีระ สมความคิด ได้มีโอกาสนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ “คตส.” ในที่สุด คตส. ได้รับเรื่องคดีนี้ไว้พิจารณา จากนั้นได้ทำการแต่งตั้งให้นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ เพื่อทำการไต่สวน จนในที่สุดคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีคำสั่งชี้มูลความผิด ว่า “พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้โดยกล่าวหาว่า ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งถือว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100(1) วรรค 3 ซึ่งต้องมีโทษตามมาตรา 122 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157”
       ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ในที่สุดพนักงานอัยการสูงสุดแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งฟ้อง พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดดังกล่าวข้างต้น ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามขั้นตอน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 สิงหาคม 2551
       สุดท้าย พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ตัดสินใจไม่ไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษาโดยที่ทั้งสองได้ตัดสินใจเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงได้ออกหมายจับ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เพื่อจะนำตัวมาฟังคำพิพากษา
       ในที่สุด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 เวลา 14.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาพร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ลับหลังจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100(1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 กาลเวลาได้ผ่านพ้นไปประมาณเกือบ 3 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษา
       ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 พันเอก ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่อาคารรัฐสภา ว่า “แม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีคำพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ นั้นเป็นการใช้อำนาจที่โดยมิชอบ แต่ปัจจุบันศาลแพ่งได้พิจารณาให้คู่สัญญาคืนเงิน คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่ากับว่าการซื้อขายที่ผ่านมานั้นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าการซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น ความผิดจึงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ศาลฎีกาต้องนำเรื่องดังกล่าวมาตัดสินใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นเรื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าศาลฎีกาจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเมื่อใด”(1)
                       ซึ่งในวันเดียวกัน ร.ต.อ. ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ความว่า “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พ.อ.อภิวันท์ ระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ ใหม่ว่า กรณีที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีนั้นไม่ใช่คดีทุจริต เพียงแต่เป็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ทั้งนี้ ต่อมาศาลแพ่งตัดสินใจว่าสัญญาการซื้อขายที่ดินระหว่างคุณหญิงพจมานกับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น
        ดังนั้นเท่ากับว่าไม่มีการซื้อขาย ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดเดิม และกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องคืนเงินให้แก่คุณหญิงพจมานเมื่อเป็นแบบนี้ กรณีที่ศาลฎีกาสั่งจำคุก 2 ปีนั้นจะทำอย่างไร ตนกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป คดีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องไปคิดกัน และยังไม่สามารถบอกได้ว่าศาลฎีกาฯ จะพิจารณาคดีใหม่หรือไม่”(2)
       ทันใดนั้นทางด้านพรรคฝ่ายค้าน โดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุสามารถรื้อคดีที่ดินรัชดา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีโทษจำคุก 2 ปี ขึ้นมาตัดสินใหม่ โดยอ้างคำพิพากษาศาลแพ่งสั่งให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ เสมือนความผิดไม่เกิดขึ้นว่า ไม่เข้าใจว่าคนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิมที่บอกว่าอ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น ถึงไม่เข้าใจถึงกระบวนการพิจารณาของศาล กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น มีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ ที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง ดังนั้นการที่ศาลแพ่งตัดสินให้คุณหญิงพจมานชนะคดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณหลุดพ้นไปด้วย(3)
       อีกทั้งยังมีนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกให้ข่าวเช่นกันโดย วันต่อมา (8 ก.ย.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อฟื้นการพิจารณาคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดจำคุก 2 ปีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ ว่า กฎหมายมีบทบัญญัติให้สามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขื้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 โดยการรื้อฟื้นคดีอาญานั้นก็เคยมีให้เห็น เช่น กรณีการจับผู้ต้องหา หรือจำเลยผิดตัว เหมือนคดีฆ่า น.ส.เชอรี่ แอน ดันแคน หรือเรื่องพยานหลักฐานเท็จ ขณะที่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาก็เป็นคดีอาญาเช่นกัน ซึ่งหากฝ่ายผู้แพ้คดีจะยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่ ก็ทำได้ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย ต้องการพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ บัญญัติ “จะบอกว่า คดีนี้รื้อฟื้นได้หรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นศาลและต้องพิจารณาเรื่องที่อาจจะเข้ามา จึงคงตอบไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการชี้นำในเรื่องที่กำลังเป็นคดี ดังนั้นถ้าจะมีการรื้อฟื้นคดีก็ต้องพิจารณาตามหลักที่มีกฎหมายบัญญัติ ” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว(4)
       และนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึง กรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นคดีที่ดินรัชดาภิเษก ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องโทษจำคุกว่า ในหลักการสามารถกระทำได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ร้องหรือผู้ต้องโทษจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่น่าเชื่อถือยื่นต่อศาล ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิพากษา ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีอยู่ศาลเดียวเด็ดขาด ดังนั้นผู้ร้องต้องไปร้องต่อศาลดังกล่าว และเหตุผลที่กล่าวว่า ทำได้ เพราะมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้น อย่างคดีของ น.ส.เชอรี่แอน ดันแคน ที่ถูกรื้อมาใหม่ จนสามารถได้ตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงในที่สุด ดังนั้นการรื้อคดีสามารถทำได้ แต่อยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะเห็นพ้องกับหลักฐานใหม่ที่ยื่นหรือไม่นายธนพิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการยื่นคำร้องเพื่อจะรื้อฟื้นคดีใหม่ได้นั้น มาตรฐานของศาลทุกศาลเหมือนกันหมด สามารถยื่นได้ทุกศาล แม้ว่าจะมีคำพิพากษาออกมาแล้วก็ตาม(5)
       จากเนื้อหาสาระทั้งหมดข้างต้น เห็นว่า เหล่าบรรดานักการเมืองฝ่ายหนึ่งต่างก็ล้วนพยายามในทุกวิถีทางที่จะตีความกฎหมายเพื่อให้เป็นคุณแก่พวกพ้องฝ่ายตน คือ พรรคเพื่อไทย ให้มากที่สุด แม้จะเอาสีข้างเข้าตีความก็ตามที ส่วนนักการเมืองอีกฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้าม คือ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตอบโต้ว่าการตีความกฎหมายดังกล่าวของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบ แต่หาได้ให้เหตุผลในทางวิชาการแต่อย่างใดไม่ ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างล้วนมีนักกฎหมายที่มีคุณภาพอยู่ในสังกัดพรรคทั้งสิ้น ที่กล่าวมานี้จึงถือเป็นเรื่องแปลกที่นักกฎหมาย เวลามีปัญหากันเรื่องข้อกฎหมาย เหตุใดจึงไม่ใช้เหตุและผล ตามหลักกฎหมายมาอธิบายความอย่างเป็นเหตุเป็นผลแทนการโต้เถียงกันด้วยคารม และใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล อย่างที่เห็น
       ผู้เขียนสมควรแล้วที่นักกฎหมายไทย โดยเฉพาะนักวิชาการทางด้านกฎหมาย จะต้องออกมาให้ความเห็นในลักษณะ “ฟันธง” กับประเด็นปัญหาในเรื่องดังกล่าว คือ “กรณีพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) ซึ่งต้องรับโทษตามบทบัญญัติในมาตรา 122 ซึ่งครั้นต่อมา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องโมฆะกรรม ให้สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาตกเป็นโมฆะ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษก จำนวน 4 โฉนด รวมเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ โดยอ้างเหตุในคำฟ้องว่าเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นความผิดและได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี(6) และศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและมีคำสั่งให้คุณหญิงพจมานคืนที่ดินที่พิพาทจำนวน 4 แปลง ให้แก่ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี(7)” ว่า คดีนี้สามารถที่จะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นมาพิจารณาพิพากษาใหม่ได้หรือไม่
                       โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ในฐานะนักวิชาการอิสระทางด้านกฎหมาย มีความเห็นว่าในกรณีดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นมาพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เพราะเหตุว่าคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยมีมูลความผิดจากการที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซื้อที่ดินที่รัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลแพ่งในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องโมฆะกรรม ให้สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาตกเป็นโมฆะ ซึ่งถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ทำให้มีความชัดเจนในประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้ว ประกอบกับด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ
                       ประเด็นปัญหาแรก ที่ต้องวินิจฉัย คือ กรณีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาลงโทษ จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญา นั้นเข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ที่จะทำให้สามารถรื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาพิพากษาใหม่ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาสาระของคดีดังกล่าวว่า
       1.ในชั้นพิจารณาคดีนี้ ได้พบว่ามีพยานบุคคล ที่เป็นพยานสำคัญแห่งคดีรายใดบ้างที่พิสูจน์จนคดีถึงที่สุดแล้วได้ว่า พยานบุคคลรายนั้นได้เป็นผู้เบิกความเป็นเท็จต่อศาล(8)
       กรณีตามประเด็นปัญหาในข้อนี้ จะต้องมีการฟ้องร้องพยานปากสำคัญที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาลงโทษ จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ในความผิดฐานเบิกความเท็จต่อศาล และในคดีที่ฟ้องร้องพยานปากสำคัญดังกล่าวนั้นคดีต้องถึงที่สุดแล้ว
       จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ทั้งหมดในคดีของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร คดีนี้แล้วทำให้ทราบว่า ในคดีอาญา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาลงโทษ จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตซื้อที่ดินที่รัชดาภิเษก ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 นั้นไม่ปรากฏว่า มีพยานโจทก์รายใดเบิกความเท็จต่อศาล ทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏว่ามีพยานในคดีดังกล่าวรายใดถูกฟ้องร้องต่อศาลฐานเบิกความเท็จต่อศาล เลยแม้แต่รายเดียว ในกรณีนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งต่อสังคมโลกแล้วว่า ในคดีดังกล่าวในข้อนี้ไม่มีกรณีประเด็นปัญหาว่ามีพยานเท็จเบิกความต่อศาล เพราะฉะนั้นในประเด็นปัญหาที่ว่าจะให้มีการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยอาศัยเหตุตาม พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) ย่อมไม่ได้เป็นอันขาด เพราะขาดองค์ประกอบตามที่กฎหมายบัญญัติด้วยเหตุนี้ จึงสามารถฟันธงได้เลยว่าในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีกำหนด 2 ปี ไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
       2. ในชั้นพิจารณาคดีนี้ได้มีพยานหลักฐานต่างๆ ที่ไม่ใช่พยานบุคคล และศาลได้อาศัยพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบในการพิจารณาและพิพากษาคดีอันถึงที่สุดดังกล่าว และในที่สุดพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นพยานหลักฐานปลอม หรือเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริง(9)
       เมื่อพิจารณาถึงพยานเอกสารและ/หรือวัตถุพยานในคดีอาญาในคดีของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร คดีนี้แล้วทำให้ทราบว่าพยานเอกสารและ/หรือวัตถุพยาน ล้วนเป็นพยานหลักฐานอันแท้จริงที่ศาลสามารถรับฟังได้ทั้งสิ้น เช่น สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนังสือให้ความยินยอมที่พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงว่าให้ความยินยอมที่จะให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้ และหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้ ตลอดจนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทที่ทำการซื้อขายในคดีนี้ ฯลฯ เป็นต้น ประกอบกับในเรื่องที่เกี่ยวกับพยานเอกสารและ/หรือวัตถุพยานในคดีอาญาในคดีนี้ ยังไม่เคยมีการฟ้องร้องเป็นคดีสู่ศาลในเรื่องพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ในคดีนี้มีการใช้พยานหลักฐานหรือวัตถุพยานในคดีอาญาปลอม หรือเป็นเท็จ หรือมีความไม่ถูกต้องตรงกันกับความเป็นจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถฟันธงได้เลยว่าในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีกำหนด 2 ปี ไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
       3.ปรากฏว่าได้พบพยานหลักฐานชิ้นใหม่ที่มีความสำคัญแก่คดีนี้อย่างยิ่ง ซึ่งหากได้นำมาสืบพิสูจน์ในคดีจนถึงที่สุดแล้ว พยานหลักฐานอันนั้นจะพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าผู้ต้องรับโทษอาญานั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด(10)
       เมื่อพิจารณาถึงพยานหลักฐานตามที่กล่าวอ้างกันว่าคดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษก ระหว่างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้ตกเป็นโมฆะ และเมื่อนิติกรรมตกเป็นโมฆะแล้วย่อมเท่ากับว่าไม่เคยมีการทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาท กันมาก่อนเลยนั้น ในกรณีตามประเด็นปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาว่า คดีอาญาที่ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี นั้นเป็นเพราะมีสาเหตุใด และเหตุที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องโมฆะกรรม ให้สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาตกเป็นโมฆะ นั้นมีความเกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับเหตุกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี หรือไม่
       เมื่อพิจารณาสำนวนคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี กับสำนวนคดีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาทตกเป็นโมฆะนั้น แล้วเห็นว่าทั้งสองคดีถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี นั้น เป็นเพราะเหตุทุจริตซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษก โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความเห็นว่า พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะกระทำความผิดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารให้ความยินยอมแก่คู่สมรส คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาท ซึ่งมีคู่สัญญา คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในความกำกับดูแลของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ศาลเห็นว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 แล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่ากรณีการซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาท ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้มีการลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ต้องยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลแพ่งในข้อหาหรือฐานความผิดโมฆะกรรม ด้วยการกล่าวอ้างในฟ้องว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกตกเป็นโมฆะเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกแปลงพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมาฟ้องให้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาทและให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวคืนให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง
       จากบทสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นของคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี กับคดีของศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 5379/2552 ที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกตกเป็นโมฆะและให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวคืนให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นคดีอาญาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง ทั้งนี้เพราะเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี เพื่อความสมบูรณ์แห่งคดีจึงมีเหตุจำเป็นที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ต้องยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นคดีต่อศาลแพ่งดังกล่าวเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาทตกเป็นโมฆะ เพื่อให้คดีทั้งสองคดีสำเร็จเสร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะเมื่อนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีความผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว นั่นคือ ความผิดในคดีอาญาสำเร็จเสร็จสิ้น เป็นไปตามองค์ประกอบของข้อกฎหมายครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ดังนั้นความผิดจึงสำเร็จบริบูรณ์แล้วโดยปราศจากข้อสงสัย และเมื่อศาลแพ่งพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะนั้น ก็เป็นไปเพื่อให้เป็นผลต่อเนื่องจากคดีอาญา จากการที่การทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในส่วนคดีทางแพ่งจึงต้องพิพากษาให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
       ดังนั้นในกรณีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาท อันเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งพยานหลักฐานที่มีขึ้นมาใหม่นี้เมื่อนำเข้าสืบพิสูจน์ในศาลจนถึงที่สุดแล้วจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา แต่อย่างใดไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถฟันธงได้เลยว่าในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีกำหนด 2 ปี ไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
       ประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมา คือ กรณีที่มีบุคคลบางคน บางกลุ่ม บางพวก โดยเฉพาะ พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่อาคารรัฐสภา ว่า “แม้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีคำพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก นั้นเป็นการใช้อำนาจที่โดยมิชอบ แต่ปัจจุบันศาลแพ่งได้พิจารณาให้คู่สัญญาคืนเงิน คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่ากับว่าการซื้อขายที่ผ่านมานั้นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าการซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น ความผิดจึงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ศาลฎีกาต้องนำเรื่องดังกล่าวมาตัดสินใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นเรื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าศาลฎีกาจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเมื่อใด” ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องอธิบาย เพื่อชี้แจงถึงกรณี หากสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ แล้วใครจะต้องเป็นผู้จัดทำและยื่นคำร้อง
       ในกรณีปัญหาว่าใครจะต้องเป็นผู้จัดทำและยื่นคำร้อง กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด นั่นเองเป็นบุคคลแรกที่สามารถเป็นผู้จัดทำและเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่(11) เห็นได้ชัดเจนแล้วว่ากฎหมายได้เขียนไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความเลยว่าคนแรกที่สุดที่จะเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อในส่วนนี้เห็นได้ชัดว่าผู้ยื่นคำร้องต้องไม่ใช่ศาลฎีกาที่จะต้องเป็นผู้หยิบยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองแต่อย่างใดไม่  ตามที่กล่าวอ้าง แต่ต้องเป็นตัวผู้ที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด นั่นเอง
       หากเป็นกรณีที่ผู้ที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด นั้นเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ แล้วบุคคลผู้มีสิทธิ์จัดทำและยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้นั้น ต้องเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล(12) ในกรณีนี้กฎหมายได้เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้เยาว์หมายถึงบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ คือ อายุยังไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ หากเป็นผู้ต้องรับโทษอาญาด้วยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นจำเป็นจะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม นั่นหมายถึง บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้จัดทำและยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ หากเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลผู้วิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลผู้วิกลจริตใดเป็นบุคคลไร้ความสามารถแล้ว บุคคลนั้นจะต้องอยู่ในความอนุบาลของบุคคลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล กล่าวโดยสรุปได้ว่าหากจะต้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในกรณีที่ผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถแล้ว ผู้มีสิทธิ์จัดทำและยื่นคำร้องต่อศาล คือ บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง และ/หรือ บุคคลผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้อนุบาลในกรณีบุคคลไร้ความสามารถเป็นผู้รับโทษอาญา ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ผู้ที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด นั้นเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ แล้วบุคคลผู้มีสิทธิ์จัดทำและยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้นั้นก็ไม่ใช่ศาลฎีกาที่จะต้องเป็นผู้หยิบยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองแต่อย่างใดไม่อีกเช่นกันตามที่กล่าวอ้าง
       และหากเป็นกรณีที่นิติบุคคลตกเป็นผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว กฎหมายยังได้บัญญัติไว้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งอีกว่า บุคคลผู้มีสิทธิ์จัดทำและยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ในกรณีนี้จะต้องเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น(13) ไม่ใช่ศาลฎีกาที่จะต้องเป็นผู้หยิบยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองแต่อย่างใดไม่อีกเช่นกัน
       อีกทั้งหากเป็นกรณีที่ผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องขอขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ นั้นจะต้องเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือภริยา ของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเท่านั้น(14) ในกรณีนี้ก็ไม่ใช่ศาลฎีกาที่จะต้องเป็นผู้หยิบยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองแต่อย่างใดไม่
       ตลอดจนกฎหมายยังได้บัญญัติไว้ต่อไปอีกว่า หากเป็นกรณีที่พนักงานอัยการมีความเห็นสมควร(15) หรือเป็นกรณีที่ตัวผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดเอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล ในกรณีผู้ต้องรับโทษอาญาเป็นผู้เยาว์ หรือผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีผู้ต้องรับโทษอาญาเป็นนิติบุคคล หรือบุพการี ผู้สืบสันดา สามีหรือภริยา ในกรณีผู้ต้องรับโทษอาญาถึงแก่ความตายก่อนยื่นคำร้อง(16) พนักงานอัยการจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เห็นได้ชัดเจนอีกว่านอกจากบุคคลทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นที่เป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้นั้นยังมีพนักงานอัยการเข้าไปอีกด้วย หาใช่ศาลฎีกาที่จะต้องเป็นผู้หยิบยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองแต่อย่างใดไม่
       

       สรุปได้อย่างชัดเจนว่าในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุณ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ในข้อหาหรือฐานความผิดทุจริตการซื้อที่ดินที่รัชดาภิเษก ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ประมูลซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษกแปลงพิพาทดังกล่าวตกเป็นโมฆะในกรณีนี้จึงไม่อาจที่จะยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้  และหากเป็นในกรณีที่สามารถยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้  ศาลฎีกาหรือศาลไหนๆ ก็ไม่อาจที่จะหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาเองได้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
       

       *เฉลิมพล สุมโนพรหม นักศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ประธานนักศึกษาโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายกสมาคมปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง, ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 10
       (1) ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2554
       (2) เรื่องเดียวกันกับ (1)
       (3) ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ประจำวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2554
       (4) ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2554 คอลัมน์ข่าวอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม
       (5) ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2554  
       (6) คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก
       (7) คำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 5379/2552
       (8) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
       (9) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม(1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงหรือ
       (10) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
       (11) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง (1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
       (12) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง (2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
       (13) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง (3) ) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
       (14) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง (4) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ
       (15) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง (5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม
       (16) พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 7 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 6 (5) พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องเมื่อเห็นสมควรหรือเมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 (1) (2) (3) หรือ  (4) ร้องขอก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานอัยการมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
        
        
                
                


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544