หน้าแรก บทความสาระ
องค์การมหาชน : ผลผลิตจากการปฏิรูประบบราชการตามแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ. 2540-2544) (ตอนที่ 2)
คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9 ตุลาคม 2554 18:36 น.
 
3.2.2.สภาพการณ์และสภาพปัญหาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533
                          พ.ศ.2533 องค์การมหาชนหน่วยแรกที่มีการแสดงเจตนาอย่างชัดเจนในกระบวนการ     นิติบัญญัติว่า ประสงค์จะให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หลังจากนั้นไม่นานก็มีองค์กรของรัฐเช่นเดียวกันเกิดขึ้นตามมา โดยการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งอีกจำนวน 10 องค์กร[1] ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเงิน นอกจากการตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งแล้วนั้น ก็มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรรัฐบาล พ.ศ.2496 อีกจำนวน 4 องค์กร[2] ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน องค์การสวนพฤกษศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และองค์การจัดการน้ำเสีย
                               องค์กรของรัฐประเภทที่สามที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้ง ณ ช่วงเวลานี้มีจำนวน 15 องค์กร ถ้ารวมกับองค์การที่จัดตั้งก่อนพ.ศ.2533 อีก 12 แห่ง จะกลายเป็น  27 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงาน ของรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นเฉพาะกรณีเป็นรายไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมในขณะนั้น แต่ต่างก็มีเหตุผลพิเศษที่ชัดเจนในการปฏิเสธที่จะไม่ใช้รูปแบบระบบส่วนราชการ อีกทั้งหลายแห่งก็ยังกำหนดชัดเจนว่าไม่ใช้รูปแบบรัฐวิสาหกิจด้วย แต่ทั้งนี้ ด้วยที่ว่ากฎหมายเหล่านี้ได้ตราขึ้นในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้เป็นปัญหาในการจัดวางโครงสร้างรวมถึงมาตรฐานกลางของระบบองค์กรของรัฐประเภทที่สามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมามีเพียงการเปลี่ยนแปลงการปรากฏตัวของปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดระบบองค์กรภาครัฐประเภทที่สามเท่านั้น แต่มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรากฐานของปัญหาแต่อย่างใด
                           ทั้งนี้ สภาพของปัญหาที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา สามารถแยกพิจารณาเป็น 2 ประการ ดังนี้[3]
       1) ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างการจัดองค์กรภาครัฐ
       แม้จะมีการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่มีแบบอย่างมาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีอีกหลายหน่วยงานก็ตาม แต่การตราพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรเหล่านี้ก็ยังมิได้มีการจัดวางระเบียบในทางกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าวแต่อย่างใด ยังคงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กรและยังมิได้มีการสถาปนาระบบและโครงสร้างขององค์กรนี้ภายในโครงสร้างองค์กรภาครัฐ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาด้านมาตรการรวมถึงมาตรฐานในการกำหนดจำนวนเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้ทั้งในด้านสถานภาพขององค์กรประเภทที่สาม สถานภาพของผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ด้านอำนาจกำกับดูแลหรือควบคุมจากฝ่ายรัฐโดยผ่านรัฐมนตรีผู้รักษาการ ด้านสิทธิและอำนาจพิเศษต่างๆในแง่กระบวนการปฏิบัติหน้าที่ หรือแง่การคุ้มครองทรัพย์สินขององค์กรหรือการจัดตั้ง การบริหารนโยบายและการกำหนดแนวทางที่สำคัญให้แก่องค์กร รวมถึงการไม่มีองค์กรกลางผู้รับผิดชอบภารกิจในการประสานนโยบายและกำหนดทิศทางองค์กร กล่าวได้ว่าปัญหาต่างๆข้างต้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการจัดระบบองค์กรภาครัฐอันเกิดจากการไม่มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์กลางขององค์กรประเภทที่สามนี้อย่างชัดเจน
       2) ปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรของรัฐประเภทที่สาม
                               เนื่องจากการยอมรับการเกิดขึ้นขององค์กรรัฐประเภทที่สามในขณะที่ยังไม่มีการจัดวางระบบทางกฎหมายรองรับสถานะขององค์กร สถานภาพพนักงาน ความสัมพันธ์ตลอดจนการได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อองค์กรประเภทที่สามนี้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสถานภาพขององค์กรอันเนื่องมาจากยังไม่มีความชัดเจนในระบบกฎหมายไทยที่ระบุองค์กรของรัฐประเภทที่สามนี้ควรมีสถานะและมีสิทธิหรืออำนาจพิเศษอย่างไร เมื่อยังมิได้มีกฎหมายกลางกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยอำนาจตีความกฎหมายเฉพาะเรื่องในทุกครั้งที่เกิดปัญหา ในด้านการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐเนื่องจากเมื่อสถานภาพทางกฎหมายไม่ชัดเจน จึงลำบากในการของบประมาณแผ่นดินซึ่งจะต้องส่งไปคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาสถานภาพขององค์กรนั้นๆ จึงจะมีผลให้สามารถรับงบประมาณโดยตรงได้ อีกทั้งการไม่มีกฎหมายรองรับสถานะนี้ ยังส่งผลให้องค์กรของรัฐประเภทที่สามเกิดปัญหาด้านการค้ำประกันการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ทั้งๆที่องค์กรเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างทั้งในแง่สถานะ อำนาจหน้าที่หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรที่ได้รับสนับสนุนจากกระทรวงการคลังแต่อย่างใด
                   จากความพยายามที่จะจัดตั้งองค์กรประเภทที่สามและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น องค์กรของรัฐประเภทนี้แทนที่จะสามารถแบ่งเบาภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะหรือจะสามารถเป็นทางเลือกในการกำหนดนโยบายของรัฐในการจัดตั้งองค์กรรับผิดชอบในภารกิจต่างๆได้ กลับเป็นปัญหามากกว่าอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนและไม่สามารถเป็นองค์กรที่จะจัดทำภารกิจใหม่ๆของรัฐได้ ดังนั้นหากยังไม่มีการพัฒนารูปแบบมาตรฐานและหลักเกณฑ์กลางในเรื่องสถานะทางกฎหมายและความสัมพันธ์กับรัฐขององค์กรประเภทนี้ขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทยแล้ว การที่โครงสร้างของการจัดระบบองค์กรภาครัฐเพื่อรองรับภารกิจในการบริการสาธารณะจะถูกบิดเบือนไปจากการที่เดิมเป็นการที่รัฐต้องจัดตั้งองค์กรเอกชนซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับสถานะอำนาจและสิทธิหน้าที่มาเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะแทนตน ก็คงจะเป็นกรณีที่ต้องเกิดขึ้นและนำมาซึ่งความวุ่นวายในกระบวนการบริหารงานภาครัฐ รวมทั้งการที่ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาด้านต่างๆของรัฐหรือการดำเนินงานหรือนโยบายเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ มักจะมีปัญหาความสลับซับซ้อน ความขัดแย้งในการดำเนินการ    การทับซ้อนความรับผิดชอบในระหว่างส่วนราชการซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าและไม่ยืดหยุ่น[4] จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์กลางในเรื่องสถานภาพขององค์กรรัฐประเภทที่สาม ที่เรียกว่า “องค์การมหาชน” ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนี้โดยเร็วเพื่อจัดการกับปัญหาดังที่กล่าวมา
       3.2.3.สภาพการณ์การจัดตั้งองค์การมหาชนโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
                               เมื่อได้มีการยอมรับองค์กรประเภทที่สามนี้เพื่อจัดทำภารกิจบริการสาธารณะของรัฐที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจไม่สามารถรองรับได้ ประกอบกับการบริหารราชการตามมาตรา 230 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้กำหนดให้การจัดระบบ รวม ยุบหรือโอนส่วนราชการ ที่เป็นนิติบุคคลต่างๆ โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นทำให้การจัดตั้งและดำเนินการให้มีองค์กรของรัฐประเภทที่สามในรูปแบบองค์กรมหาชนจึงไม่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งสำหรับแต่ละองค์กร แต่สามารถดำเนินการโดยตรากฎหมายกลางให้อำนาจแก่รัฐบาลเมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องตั้งองค์การมหาชน ก็ให้ดำเนินการแต่เพียงตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์การมหาชนนั้น
                               การตรากฎหมายกลางเพื่อวางระบบองค์กรของรัฐประเภทที่สามขึ้นภายในโครงสร้างองค์กรภาครัฐของประเทศไทย ได้มีความพยายามผลักดันให้มีการดำเนินการมาเป็นเวลานาน จนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2540 เห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ.2540-2544) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการเพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิรูประบบราชการไทยซึ่งการออกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนอิสระนั้น เป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะสั้นของวิธีการที่ 2 ตามหลักการที่ 1 แห่งแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการฉบับนี้ด้วยตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
                               จากนั้น ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชนอิสระ พ.ศ….จึงถือกำเนิดขึ้น จากความเห็นชอบของคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้มาเรื่อยๆตามกระบวนการทางนิติบัญญัติจนถึงสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกในขณะนั้นเป็นประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว ซึ่งต่อมาเมื่อได้ผ่านการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชนอิสระ พ.ศ…. จึงได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 9 ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากประกาศเป็นต้นไป
        
       3.3.บริการสาธารณะที่จัดทำโดยองค์การมหาชน
                 อย่างที่กล่าวข้างต้น องค์การมหาชนถือเป็นองค์กรของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีภารกิจจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 จึงได้พยายามจัดแบ่งภารกิจที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนมิให้ซ้ำซ้อนกับภารกิจทางปกครองที่ควรเป็นของส่วนราชการและภารกิจทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ควรเป็นของรัฐวิสาหกิจ สามารถสรุปลักษณะสำคัญเป็น 2 ประการ ดังนี้[5]     
       3.3.1.ภารกิจไม่ควรซ้ำซ้อนกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจ
       ประเภทของบริการสาธารณะที่องค์การมหาชนสามารถจัดทำซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การมหาชนนั้น จะต้องเป็นบริการสาธารณะที่มีลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 คือจะต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
                               1) การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา        
                               2) การศึกษาอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ       
                               3) การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม       
                               4) การพัฒนาและส่งเสริมการกีฬา           
                               5) การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย การถ่ายทอดและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี           
                               6) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  
                               7) การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข          
                               8) การสังคมสงเคราะห์  
                               9) การอำนวยบริการแก่ประชาชน 
                               10) การดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์อื่น     
                               จะสังเกตได้ว่าบริการสาธารณะตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเน้นหนักไปในทางสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้ ความในตอนท้ายของบทบัญญัติดังกล่าวก็ยังเปิดไว้อย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมไปถึงการอำนวยการอื่นๆเพื่อประชาชนอีกด้วย รวมถึงกฎหมายมาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ในวรรคท้ายอีกด้วยว่า กิจการที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนจะต้องไม่เป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก ซึ่งการกำหนดข้อแตกต่างในเรื่องวัตถุประสงค์นี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างองค์การมหาชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสาธารณะกับรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไร
                               อย่างไรก็ตามหากจะกำหนดห้ามมิให้องค์การมหาชนแสวงหากำไรเสียเลย ก็อาจมีผลทำให้องค์การมหาชนไม่สามารถหารายได้มาเลี้ยงตัวเองได้ อันจะทำให้องค์การมหาชนต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นภาระแก่รัฐมากเกินไป ดังนั้น ในกฎหมายดังกล่าวจึงมีบัญญัติไว้ในมาตรา 13 ว่า “ภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์การมหาชนให้องค์การมหาชนมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบำรุงค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินกิจการได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง”
                 3.3.2.ภารกิจอาจมีลักษณะถาวรหรือชั่วคราว
                          ภารกิจที่จะจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาดำเนินการนั้น อาจเป็นเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการถาวร เช่น การให้บริการทางสาธารณสุข หรืออาจเป็นภารกิจที่มีลักษณะชั่วคราวโดยมีระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการดำเนินการที่แน่นอน เช่น การจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศซึ่งมีกำหนดเวลาในการเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน หรือจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมกำลังในการแก้ไขปัญหาใดๆ เป็นต้น ทั้งนี้ในกรณีที่จะมีการจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นเป็นการชั่วคราว พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติรองรับไว้ในมาตรา 7 ข้อ 10 ว่า “การยุบเลิกองค์การมหาชนในกรณีที่องค์การมหาชนตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะกิจหรือตั้งขึ้นโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด” และมาตรา 44 ข้อ 1 และ 2 ว่า “องค์การมหาชนเป็นอันยุบเลิกในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  1)เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง2)เมื่อการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นเสร็จสิ้นลงและรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นได้ประกาศยุติการดำเนินการขององค์การมหาชนนั้นในราชกิจจานุเบกษา”
        
       4.การบริหารและการดำเนินงานขององค์การมหาชน
        
       4.1.โครงสร้างการบริหารงานและองค์ประกอบ
                 โครงสร้างการบริหารงานโดยทั่วไปขององค์การมหาชน ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารงานทั่วไปของหน่วยงาน และผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานและเป็นผู้บังคับบัญชาของบุคลากรในองค์การมหาชน
                   4.1.1.คณะกรรมการ
                               มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ได้ให้นิยามของ “คณะกรรมการ” ไว้ว่า หมายถึง “คณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารและเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การมหาชนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง” จึงหมายความว่าองค์การมหาชนอาจมีองค์การที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นได้ เช่น สภา คณะมนตรี เป็นต้น[6]
                          โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ จะต้องเป็นไปตามมาตรา 19 ของกฎหมายดังกล่าว คือ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1) ประธานกรรมการ 2) กรรมการ 3)ผู้อำนวยการ ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการจะมีจำนวนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง แต่ต้องไม่เกิน 11 คน อาจมาจากผู้แทนของส่วนราชการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งก็ได้แต่ต้องมีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการ และจะต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐรวมอยู่ด้วยเพื่อเปิดโอกาสให้มีตัวแทนภาคเอกชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค  ภาคประชาชนเข้ามาเป็นกรรมการได้[7]
                               ทั้งนี้ ประธานกรรมการและกรรมการองค์การมหาชนจะต้องมีคุณสมบัติรวมถึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระบุไว้ในมาตรา 20 ของกฎหมายดังกล่าว ดังนี้
       1) มีสัญชาติไทย
                               2) มีอายุไม่ต่ำกว่าและไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์         
                               3) มีคุณวุฒิและประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการขององค์การมหาชนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง   
                               4) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
                               5) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ      
                               6) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง         
                               7) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง           
                               ความใน 1) มิให้ใช้บังคับแก่กรรมการชาวต่างประเทศซึ่งองค์การมหาชนจำเป็นต้องแต่งตั้งตามข้อผูกพันหรือตามลักษณะของกิจการขององค์การมหาชนนั้น
                               นอกจากนั้นในมาตรา 21 ยังได้บัญญัติรับรองหลักการเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการไว้อีกด้วย[8] โดยระบุกรอบของความประพฤติของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้ว่า “ประธานกรรมการและกรรมการขององค์การมหาชนใดจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับองค์การมหาชนนั้นหรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการขององค์การมหาชนนั้นทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่องค์การมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น”
                               ส่วนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนั้น มีบัญญัติไว้ในมาตราที่ 22 ว่า
                          “ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่งมีวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปี
                          ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลงหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
                          เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่งหากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
                          ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้”
                          ทั้งนี้ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่งจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 23 ของกฎหมายดังกล่าว[9] ที่สำคัญคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารงานควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริการงานทั่วไป ออกระเบียบข้อบังคับ ประกาศ และข้อกำหนดเกี่ยวกับองค์การมหาชนในเรื่องต่างๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ว่า
                               “คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลองค์การมหาชนให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง    
                         
1) กำหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานขององค์การมหาชน
                         
2) อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินขององค์การมหาชน         
                         
3) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไปตลอดจนออกระเบียบข้อบังคับประกาศหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับองค์การมหาชนในเรื่องดังต่อไปนี้  
                                    (
) การจัดแบ่งส่วนงานขององค์การมหาชนและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว  
                                    (
) การกำหนดตำแหน่งคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งอัตราเงินเดือนค่าจ้างและเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน        
                                    (
) การคัดเลือกการบรรจุการแต่งตั้งการถอดถอนวินัยและการลงโทษทางวินัยการออกจากตำแหน่งการร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนรวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างขององค์การมหาชน 
                                    (
) การบริหารและจัดการการเงินการพัสดุและทรัพย์สินขององค์การมหาชน
                                    (
) การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน         
                                    (
) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
                         
4) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกำหนด”
                 4.1.2.ผู้อำนวยการ
       มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ได้ให้นิยามของ “ผู้อำนวยการ” ไว้ว่า หมายถึง “ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารสูงสุดซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การมหาชน” โดยมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ระบุเพิ่มเติมว่า “ให้องค์การมหาชนมีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งจะเรียกชื่อตำแหน่งเป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งก็ได้” จึงอาจเรียกว่า ผู้ว่าการ ผู้จัดการ หรืออธิบดีก็ได้[10]รวมถึงในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ได้มอบอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการให้คณะกรรมการอีกด้วย เพื่อให้คณะกรรมการมีอำนาจในการควบคุมดูแลการบริหารของผู้อำนวยการได้อย่างแท้จริง
       มาตรา 28 ของกฎหมายดังกล่าว ระบุให้ “ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งและต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่องค์การมหาชนได้เต็มเวลา” โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 29 ว่า “ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน” และการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 30[11]
       ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการองค์การมหาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ขององค์การมหาชน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของ คณะกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง ตามบัญญัติในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 รวมถึงวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังระบุว่า “ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการขององค์การมหาชน”
       อีกทั้งมาตรา 32  ได้บัญญัติถึงอำนาจของผู้อำนวยการอีกว่า
       “ผู้อำนวยการมีอำนาจ
       1) บรรจุแต่งตั้งเลื่อนลดตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนออกจากตำแหน่งทั้งนี้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
       2) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การมหาชนโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบข้อบังคับข้อกำหนดนโยบายมติหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด”
       4.2.ระบบงบประมาณ
       เงินทุนในการดำเนินกิจการบริการสาธารณะขององค์การมหาชน จะมีที่มาได้ 6 ช่องทาง ดังที่มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 กำหนดทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนประกอบด้วย
       1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา
       2) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
       3) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
       4) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจาก ต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
       5) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้ จากการดำเนินการ
       6) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินขององค์การมหาชน
       เมื่อพิจารณาหลักการพื้นฐานขององค์การมหาชนที่จะต้องไม่ดำเนินการทางอุตสาหกรรมหรือการค้าซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบการในเชิงพาณิชย์ดังกรณีรัฐวิสาหกิจ จะเห็นว่าแหล่งรายได้หลักที่จะมาเป็นทุนดำเนินการขององค์การมหาชนย่อมจะมาจากงบประมาณแผ่นดินที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีและค่าธรรมเนียมหรือรายได้ที่ได้จากการดำเนินการตามมาตรา 13 ของกฎหมายดังกล่าวที่ว่า “ภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์การมหาชนให้องค์การมหาชนมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบำรุงค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินกิจการได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง” นั่นเอง[12] 
       รวมถึงข้อ 3) ก็ได้ระบุวิธีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์การมหาชนที่ชัดเจนว่าต้องเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่จัดสรรให้เป็นรายปีตามความเหมาะสมอันเป็นข้อยืนยันความเป็นอิสระในทางการบริหารงบประมาณขององค์การมหาชนเพราะเงินอุดหนุนทั่วไปซึ่งรัฐจะต้องจัดสรรให้เป็นงวดเดียวในแต่ละปีนั้น อยู่ภายใต้กรอบดุลยพินิจขององค์กรบริหารองค์การมหาชนที่จะตัดสินใจในเรื่องประเภทและจำนวนการใช้จ่ายได้เองตามความเหมาะสม[13] เพราะว่าการเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งมีความคล่องตัวกว่าการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการมาก แต่มิได้หมายความว่าองค์การมหาชนจะใช้จ่ายเงินเพื่อการใดก็ได้ จึงมีกฎหมายบังคับไว้ดังที่มาตรา 17 กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า “การใช้จ่ายเงินขององค์การมหาชนให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการขององค์การมหาชนโดยเฉพาะการเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด”
       นอกจากนี้ การบริหารงบประมาณที่ได้มาในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปที่มีความเป็นอิสระในการใช้จ่ายและเป็นการได้งบประมาณมาทั้งก้อนโดยไม่จำเป็นต้องส่งงบประมาณส่วนที่ใช้จ่ายไม่หมดคืนคลังเป็นรายปีดังเช่นงบประมาณของส่วนราชการตามวิธีปฏิบัติปกติของงบประมาณของส่วนราชการ ตามมาตราที่ 14 ว่า “บรรดารายได้ขององค์การมหาชนไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ส่งผลให้องค์การมหาชนมีความคล่องตัวในระบบงบประมาณและการบริหารการเงินการคลังโดยไม่ต้องขอตั้งงบประมาณล่วงหน้าเป็นรายปีสำหรับการดำเนินงานในแต่ละเรื่อง[14]
                 อีกทั้งมาตรา 18 ยังระบุถึง “การกู้ยืมเงินการถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วนการเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่นการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”
        
       4.3.ระบบบริหารงานบุคคล
                 กล่าวได้ว่าบุคลากรขององค์การมหาชนนั้น สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่[15] เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบุคลากรประจำขององค์การมหาชน และลูกจ้างซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ อาจเป็นลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวก็ได้ โดยตามมาตรา 31 ที่กล่าวไปข้างต้น เจ้าหน้าที่และลูกจ้างจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้อำนวยการ
                   ทั้งนี้ คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน ต้องเป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ว่า
       “เจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแล้วยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย
       1) มีสัญชาติไทย
       2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
       3) สามารถทำงานให้แก่องค์การมหาชนได้เต็มเวลา
       4) ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานหรือลูกจ้างของราชการส่วนท้องถิ่น
       5) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 4) 5) และ6) ”
       อีกทั้งเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับองค์การมหาชนหรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการขององค์การมหาชน ดังวรรคสองของมาตราดังกล่าว ว่า “ให้นำความในมาตรา20วรรคสองและมาตรา21มาใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนโดยอนุโลม”
       เนื่องจากองค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ ดังนั้นในแง่ของการจัดตั้งและรับโอนบุคลากรจากข้าราชการหรือบุคลากรในภาครัฐไปปฏิบัติงานในองค์การมหาชน บุคลากรที่จะสมัครไปปฏิบัติงานอาจเกิดความกังวลไม่มั่นใจในเรื่องความมั่นคงในการปฏิบัติงานและความมั่นคงขององค์การมหาชนเอง พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะสนับสนุนให้บุคลากรในภาครัฐไปปฏิบัติงานให้องค์การมหาชนไว้หลายประการ[16] โดยทั้งนี้สามารถจำแนกหลักการปฏิบัติงานในองค์การมหาชนออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกัน ดังนี้
        
       4.3.1.การปฏิบัติงานในองค์การมหาชนเป็นการถาวร
                 ในส่วนนี้จะมีการระบุถึงการมาปฏิบัติงานในองค์การมหาชนเป็นการถาวรในกรณีที่กล่าวไปข้างต้น คือ กรณีที่บุคลากรของหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งถูกโอนกิจการไปเป็นขององค์การมหาชน และอีกกรณีคือ กรณีทั่วไป[17]
                   4.3.1.1.กรณีที่บุคลากรของหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งถูกโอนกิจการไปเป็นของ              องค์การมหาชน
                 มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือลูกจ้างของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา9[18]ถ้าสมัครใจจะเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนให้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาและจะต้องผ่านการคัดเลือกหรือการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” ซึ่งการกำหนดให้ต้องมีการคัดเลือกหรือการประเมินบุคลากรที่ขอเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนนั้น มาจากสภาพข้อเท็จจริงที่ว่าองค์การมหาชนจะต้องสร้างและพัฒนาระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นให้ได้ ดังนั้น องค์การมหาชนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับเอาบุคลากรในหน่วยงานของรัฐเดิมทั้งหมดมาเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างเพราะหากยอมเป็นเช่นนั้น องค์การมหาชนอาจมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากงานราชการหรือส่วนราชการในรูปแบบเดิมก็เป็นได้[19]
                   เมื่อมีการเปลี่ยนสถานะไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนแล้ว มาตรา 11 ก็ได้กำหนดสถานภาพที่สามารถได้รับสิทธิในเรื่องบำเหน็จบำนาญตามสถานภาพเดิมของตนด้วย ว่า
                   “ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนตามมาตรา10เป็นข้าราชการ ให้ถือว่าออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วแต่กรณี
       ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนตามมาตรา10เป็นลูกจ้างของส่วนราชการให้ถือว่าออกจากงานเพราะทางราชการยุบเลิกตำแหน่งหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง
       เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ตามข้อบังคับขององค์การมหาชนข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการผู้ใดเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนตามมาตรานี้ประสงค์จะให้นับเวลาราชการหรือเวลาทำงานในขณะที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างต่อเนื่องกับเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนแล้วแต่กรณีก็ให้มีสิทธิกระทำได้โดยแสดงความจำนงว่าไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญ
       การไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญตามวรรคสามจะต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่โอนสำหรับกรณีของข้าราชการให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการสำหรับกรณีของลูกจ้างให้กระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อผู้ว่าจ้างเพื่อส่งต่อไปให้กระทรวงการคลังทราบ”
                   4.3.1.2.กรณีทั่วไป
                   บุคคลทั่วไปที่จะสมัครเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชน จะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผ่านการคัดเลือกตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด ตามมาตรา 24 3) ข) และ ค)
       4.3.2.การปฏิบัติงานในองค์การมหาชนเป็นการชั่วคราว
                          มาตรา 36 ของกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า
       “เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานขององค์การมหาชนรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม             พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอาจขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในองค์การมหาชนเป็นการชั่วคราวได้ทั้งนี้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้นแล้วแต่กรณี
       เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างขององค์การมหาชนตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใดๆและให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในองค์การมหาชนสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี”
       อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มาปฏิบัติงานชั่วคราวสามารถจะขอกลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิมได้ ตามมาตรา 37 ว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา36ขอกลับเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในสังกัดเดิมภายในกำหนดเวลาที่อนุมัติให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติตามมาตรา36”
                 ทั้งนี้ทั้งนั้น สวัสดิการรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นที่บุคลากรขององค์การมหาชนจะได้รับ เป็นไปตามมาตรา 7 8) ซึ่งกำหนดให้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนแต่ละแห่งด้วย อีกทั้งคณะกรรมการองค์การมหาชนแต่ละแห่งก็มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวตามมาตรา 25 3) จ) อีกด้วย
                   และแม้ว่ากิจการขององค์การมหาชนจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น แต่บุคคลากรก็ต้องได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่างๆดังกล่าวด้วย ตามที่บัญญัติในมาตรา 38[20]  หมายความว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเหล่านี้ก็ย่อมเป็นมาตรฐานระดับต่ำสุดที่รัฐจะพึงให้แก่บุคลากรขององค์การมหาชนด้วยนั่นเอง
                   ที่สำคัญ สิทธิประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2536 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์การของรัฐ หรือพนักงานหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่องค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกันจึงมีสิทธิที่จะขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้เช่นกัน[21]
        
       4.4.ความสัมพันธ์ระหว่างองค์การมหาชนกับรัฐ
                 สืบเนื่องจากการที่องค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินภารกิจจัดทำบริการสาธารณะบางประการโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ทำให้องค์กรมหาชนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐในลักษณะกำดับดูแล[22] แต่รายงานการจัดสรรงบประมาณและการกำกับดูแลองค์การมหาชนย่อมต้องเป็นไปโดยเคารพหลักการของความเป็นอิสระในการดำเนินงานขององค์การมหาชน แต่ความป็นอิสระในการดำเนินงานนั้น ไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวเอง หากแต่เป็นเพียงวิธีการไปสู่จุดมุ่งหมายอันได้แก่ การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลตามภารกิจที่รัฐได้มอบหมายให้ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดระบบตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพขององค์การมหาชนไว้ในกฎหมายด้วย
                   ทั้งนี้ รัฐกับองค์การมหาชนจะมีความสัมพันธ์ใน 2 กรณี คือ การกำกับดูแลและ               การตรวจสอบประเมินผล[23]
                   4.4.1.การกำกับดูแลที่เคารพความเป็นอิสระ
                               การกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายภายใต้กรอบนโยบายของรัฐนั้น มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการกำกับดูแลของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชนแต่ละองค์กรไว้ว่า “ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนใดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายและให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชนนโยบายของรัฐและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับองค์การมหาชนนั้นเพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้องค์การมหาชนชี้แจงแสดงความคิดเห็นทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำขององค์การมหาชนที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชนนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับองค์การมหาชนนั้นตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการได้”
                               จากบทบัญญัติข้างต้นหมายความว่าองค์การมหาชนอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของรัฐมนตรีในลักษณะเดียวกันกับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมิได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของรัฐมนตรีดังเช่นในกรณีของส่วนราชการ ดังนั้น องค์การมหาชนจึงมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน นโยบายของรัฐ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับองค์การมหาชนนั้น[24]  ซึ่งในส่วนของมติคณะรัฐมนตรีนี้ หมายความว่ารัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีไม่อาจนำมติคณะรัฐมนตรีที่มีลักษณะทั่วไปที่มิได้มุ่งจะให้ใช้บังคับกับองค์การมหาชนนั้นโดยตรงมาใช้บังคับกับองค์การมหาชนได้นั้นเอง[25]
                               อีกทั้งมาตราที่ 41 ของกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดว่า “ให้องค์การมหาชนทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งรายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานขององค์การมหาชนในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการโครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า” อีกด้วย
                 4.4.2.ระบบการตรวจสอบและประเมินผลที่เน้นประสิทธิภาพ
                          พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานตามหลักสากลรวมถึงระบบตรวจสอบภายในสำหรับการบริหารงานไว้ ในมาตรา 39 ว่า
       “การบัญชีขององค์การมหาชนให้จัดทำตามหลักสากลตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดและต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและการพัสดุขององค์การมหาชนตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง    
                           
ในการตรวจสอบภายในให้มีผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชนทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะและให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเว้นแต่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
       นอกจากนี้ยังได้กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดทำและการตรวจสอบบัญชีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีขององค์การมหาชนทุกแห่งไว้ในมาตรา 40 ของกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย ว่า
       “ให้องค์การมหาชนทำงบดุลงบการเงินและบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี       
                          
ในทุกรอบปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินขององค์การมหาชนโดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ประหยัดและได้ผลตามเป้าหมายเพียงใดแล้วทำบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีต่อคณะกรรมการ”
       ทว่าหลักการสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของการตรวจสอบประเมินผลที่เน้นประสิทธิภาพสำหรับองค์การมหาชน ที่จะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับการตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพของการปฏิบัติภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะตามที่รัฐมอบหมายขององค์กรอื่นๆของรัฐด้วย คือ การกำหนดให้มีระบบประเมินผลขององค์การมหาชนขึ้นเป็นเฉพาะ[26] ดังมาตรา 42 ของกฎหมายนี้ ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การมหาชนโดยให้องค์การมหาชนมีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการตามความเหมาะสมภายใต้การกำกับดูแลโดยมีเป้าหมายที่แน่ชัดให้องค์การมหาชนอยู่ภายใต้ระบบการประเมินผลขององค์การมหาชนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเว้นแต่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจะกำหนดระบบการประเมินผลไว้เป็นอย่างอื่น”
                          ระบบการประเมินผลขององค์การมหาชนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนี้ มีความหมายว่า องค์การมหาชนทุกแห่งจะต้องเข้าสู่ระบบการทำข้อตกลงประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เข้าจัดทำข้อตกลงและติดตามประเมินผลประสิทธิภาพขององค์การมหาชน ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติภารกิจขององค์การมหาชนไว้ล่วงหน้า รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้บรรลุตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนั้น ซึ่งหากเมื่อครบสัญญาแล้ว องค์การมหาชนสามารถบรรลุตามเกณฑ์ที่ตกลงไว้ล่วงหน้า รัฐก็อาจเพิ่มความสนับสนุนทางงบประมาณหรือความสนับสนุนในด้านอื่น ในทางกลับกันหากไม่สามารถบรรลุผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รัฐก็อาจมีการพิจารณาจำกัดการเพิ่มของงบประมาณสำหรับองค์กรนั้นๆหรืออาจใช้มาตรการในการบริหารบุคคลดำเนินการกับผู้บริหารองค์การมหาชนที่ขาดประสิทธิภาพ[27] ดังที่ระบุในมาตราที่ 30  ข้อ 3 ที่ให้ผู้อำนวยการ พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้ คือ “ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ”
       ทั้งนี้ กรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ 2549 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดกรอบการประเมินผลใน 4 มิติ ดังนี้[28]
       1) ด้านประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน โดยเป็นการแสดงผลลัพธ์และผลสำเร็จหรือความสามารถในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ และบรรลุพันธกิจ ยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ขององค์การมหาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน
       2) ด้านคุณภาพการให้บริการ ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการในการบริการที่มีคุณภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ
                   3) ด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน ซึ่งแสดงถึงความสามารถหรือประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงาน
                   4) ด้านการกำกับดูแลกิจการและพัฒนาองค์กร ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการก้าวสู่ อนาคต หรือการเตรียมพร้อมบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความพร้อมในการสนับสนุนยุทธศาสตร์และพันธกิจ
       โดยแต่ละมิติของการประเมินผลข้างต้น ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเท่ากันเนื่องจากองค์การมหาชนแต่ละแห่งมีภารกิจที่แตกต่างกัน
                              
       4.5.การยุบเลิก
                 การยุบเลิกขององค์การมหาชน จะเป็นไปตามกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ดังนี้
                   1) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินกิจการขององค์การมหาชน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
       2) เมื่อการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นเสร็จสิ้นลง และรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนนั้นได้ประกาศยุติการดำเนินการขององค์การมหาชนนั้นในราชกิจจานุเบกษา
       3) ในกรณีนอกจาก 1) และ 2) เมื่อรัฐบาลเห็นควรยุบเลิกการดำเนินกิจการขององค์การมหาชน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกายุบเลิก
       ทั้งนื้ ให้สภาพนิติบุคคลขององค์การมหาชนดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า “ทรัพย์สินขององค์การมหาชนเป็นทรัพย์สินของรัฐและเมื่อมีการยุบเลิกองค์การมหาชนให้มีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชีรวมทั้งการโอนหรือการจำหน่ายทรัพย์สินที่ยังคงเหลืออยู่และการจัดการเกี่ยวกับบุคลากรขององค์การมหาชนทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”
        
       5.สรุป
        
       องค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะรูปแบบที่สามโดยแยกออกมาจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามวิธีการหนึ่งในการปฏิรูประบบราชการตามแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ.2540-2544) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
       จากลักษณะขององค์การมหาชนที่แยกจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจออกมาเป็นรูปแบบที่สามนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภารกิจขององค์การมหาชนเองที่ไม่มีลักษณะการบริหารที่เป็นส่วนราชการหรือลักษณะที่มีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เป็นของรัฐวิสาหกิจ หากแต่องค์การมหาชนจะมีภารกิจใน 2 ลักษณะ คือ 1) ภารกิจลำดับรองของรัฐที่ไม่ใช่ภารกิจด้านเศรษฐกิจ การพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม แต่เป็นภารกิจพื้นฐานทางด้านสังคม เช่น การส่งเสริมการศึกษาวิจัย การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น 2) ภารกิจอื่นของรัฐที่มีลักษณะเฉพาะหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภารกิจพื้นฐานทางการปกครองสมัยใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐมีความจำเป็นต้องทำแต่ไม่ใช่ภารกิจพื้นฐานที่รัฐทำเป็นประจำอยู่แล้ว
       ทั้งนี้ องค์การมหาชนในฐานะที่เป็นผลผลิตของแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการฉบับแรกของไทยนั้น จะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
       1) การบริหารที่คล่องตัว กล่าวคือ องค์การมหาชนจะมีการบริหารงานภายใต้หลักการกำกับ ดูแลของคณะกรรมการ ดังนั้นจะมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ รวมทั้งรูปแบบการบริหารภายในที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละองค์กร ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการ
       2) ดึงดูดความสนใจ กล่าวคือ เนื่องมาจากรูปแบบการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัวรวมถึงมีรูปแบบการจ้างงานที่เป็นสัญญา ทำให้เงินเดือนขององค์การมหาชนไม่เหมือนกับของส่วนราชการ จึงเป็นการดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน
       3) ช่วยพัฒนาระบบราชการ กล่าวคือ การจัดตั้งองค์การมหาชนนั้น มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับหน่วยงานภาครัฐเดิมซึ่งได้แก่ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาระบบราชการให้เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในการจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนและประเทศชาติ
        
        
       เอกสารอ้างอิง
        
       จุมพล หนิมพานิช, 2548. การบริหารจัดการภาครัฐใหม่ : หลักการ แนวคิด และกรณีตัวอย่างของ            ไทย. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
       ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ : องค์การมหาชน            และหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ. กรุงเทพฯ : นิติธรรม.
       _______________, 2552. คำอธิบายกฎหมายปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
       ทศพร ศิริสัมพันธ์, 2549. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารราชการแนวใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักงาน          คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ.
       โภคิน พลกุล, 2530, สิงหาคม. “นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส,” ใน วารสารกฎหมายปกครอง,         ปีที่ 6 ฉบับที่ 2, น.30.
       นันทวัฒน์ บรมานันท์, 2552, กฎหมายปกครอง. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
       __________________, 2552. หลักกฎหมายปกครองเกี่ยวกับการสาธารณะ. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
       __________________, 2553. รวมกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติ. กรุงเทพฯ:
                   วิญญูชน.
       แผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ.2540-พ.ศ.2544).
       พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542.
       เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ, 2546. กำเนิดระบบราชการและการปฎิรูปในยุคคลาสสิก. กรุงเทพฯ :           สงวนการพิมพ์.
       สมาน รังสิโยกฤษฏ์. 2546. การบริหารราชการไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.
       สมคิด เลิศไพฑูรย์, 2532, ธันวาคม. “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับองค์การมหาชนอิสระ,” ใน วารสาร          นิติศาสตร์, ปีที่ 19 ฉบับที่ 4, น.59-78.
       สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะ, 2546, กรกฎาคม. โครงการศึกษาความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยน            สถานภาพสถานศึกษาของรัฐเป็นองค์การมหาชน. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
       สวัสดิ์ สุคนธรังษี, ----. “ระบบราชการ ปัญหาความสัมพันธ์กับภาคเอกชน.” ใน อุทัย เลาหวิเชียร และ    ประทาน คงฤทธิศึกษากร (บรรณาธิการ) การบริหารรัฐกิจ บทความทางวิชาการ.คณะรัฐ-    ประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์.
       สันสิทธิ์ ชวลิตธำรง, 2546. หลักการบริหารรัฐกิจ กับระบบราชการไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์            พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
       สุรพล ลี้นิติไกรพจน์, 2535. มหาวิทยาลัยไทยในรูปแบบองค์การมหาชน : กรณีตัวอย่างของ         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
       สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. องค์การมหาชน : แนวคิด รูปแบบ และวิธีการบริหารงาน. กรุงเทพฯ :    สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ สำนักงานก.พ..
       _______________, 2543. ความเป็นไปได้และแนวทางการตรากฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชน.    กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมปฏิรูประบบราชการ สำนักงาน ก.พ..
       สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. คู่มือการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการ            ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549.
       อัมพร ธำรงลักษณ์(บรรณาธิการ), 2553. การบริหารปกครองสาธารณะ : การบริหารรัฐกิจใน        ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
       เอกวิทย์ มณีธร, 2551. ระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนของไทย. กรุงเทพฯ : ห้าง     หุ้นส่วนจำกัด เวิลด์เทรด ประเทศไทย.
        
        
       

       
       

       

       [1] รายละเอียด โปรดดู เพิ่งอ้าง, น.55-79.
       

       

       [2] เพิ่งอ้าง.
       

       

       [3] เพิ่งอ้าง, น.91-105.
       

       

       [4] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2552. คำอธิบายกฎหมายปกครอง, น.222-223.
       

       

       [5] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.212-215.
       

       

       [6] เพิ่งอ้าง, น.227.
       

       

       [7] เพิ่งอ้าง, น.228.
       

       

       [8] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.30.
       

       

       [9] มาตรา 23 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
       (1) ตาย
       (2) ลาออก
       (3) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
       (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21
       

       

       [10] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.232.
       

       

       [11] มาตรา 30 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
       1) ตาย
       2) ลาออก
       3) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ
       4) คณะกรรมการให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
       5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
       6) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นผู้อำนวยการ
       มติของคณะกรรมการให้ออกจากตำแหน่งตาม 4) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่โดย ไม่นับรวมตำแหน่งผู้อำนวยการ
       

       

       [12] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.236.
       

       

       [13] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.36.
       

       

       [14] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.236.
       

       

       [15] เพิ่งอ้าง, น.237.
       

       

       [16] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.32-35.
       

       

       [17] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.238-244.
       

       

       [18] มาตรา 9 ในกรณีที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อดำเนินกิจการหนึ่งกิจการใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐใดอยู่แล้ว ซึ่งจะมีปัญหาการซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันในการดำเนินกิจการและคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุมัติให้มีการโอนอำนาจหน้าที่ กิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นให้แก่องค์การมหาชนที่จะจัดตั้งขึ้น ให้อำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นโอนไปเป็นขององค์การมหาชนในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนมีผลใช้บังคับเว้นแต่เงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างประจำที่ ยังคงมีผู้ครองตำแหน่งอยู่ในสังกัดส่วนราชการใดให้ยังคงเป็นของส่วนราชการ นั้นต่อไปจนกว่าจะมีการยุบตำแหน่งนั้น ๆ
       สิทธิตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิทธิในการใช้หรือสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนมีผลใช้บังคับ
       

       

       [19] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.33.
       

       

       [20] มาตรา 38 กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
       ทั้งนี้ผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
       

       

       [21] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.35.
       

       

       [22] เพิ่งอ้าง.
       

       

       [23] นันทวัฒน์ บรมานันท์, 2552. อ้างแล้ว, น.180-181.
       

       

       [24] ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2549. อ้างแล้ว, น.245.
       

       

       [25] สุรพล นิติไกรพจน์, 2542. อ้างแล้ว, น.37.
       

       

       [26] เพิ่งอ้าง, น.38-39.
       

       

       [27] เพิ่งอ้าง, น.39.
       

       

       [28] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ. คู่มือการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549, น.2-3.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544