ความผิดปกติในการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ |
|
|
|
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1. ความเป็นมา
ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดอยู่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินจะประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการกำกับดูแลสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินจะปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันในการออกระเบียบหรือประกาศในการบริหารงานสำนักงาน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีเลขาธิการหนึ่งคนซึ่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากตำแหน่งหนึ่ง โดยมีอำนาจหน้าที่พอสรุปได้ดังนี้
1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องที่มีต่อข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
2) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องในกรณีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล
3) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งภายใต้อำนาจของวุฒิสภา
4) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
5) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี
รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือต่อศาลปกครองในกรณีที่เห็นว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลตามข้อ 1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
นอกจากนี้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง รวมทั้งอาจได้รับเลือกในการเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนของประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดเพื่อเป็นกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง จึงได้มีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 243 ซึ่งได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ เมื่อคัดเลือกได้บุคคลแล้วให้เสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อดังกล่าว ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว การลงมติให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ หากคณะกรรมการสรรหาไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาและมีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้ส่งรายชื่อนั้นให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติที่ยืนยันมติเดิมไม่เป็นเอกฉันท์ ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว
2. ความผิดปกติในการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่
ในการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่เนื่องจากนายปราโมทย์ โชติมงคล ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาได้มีมติให้เปิดรับสมัครผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2544 ในเวลาราชการ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ และสมัครได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้นเพียง 7 คน ประกอบด้วย 1. นายประวิช รัตนเพียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 2. นายพินิจ พิชยกัลป์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและร้อยเอ็ด 3. นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและพิษณุโลก 4. นายนิพันธ์ ชลวิทย์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม 5. พล.ต.ต. เกริก กัลยาณมิตร อดีตสมาชิกวุฒิสภา 6. พ.ท. (แพทย์หญิง) กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. 7. พล.ต.ต. ภาณุรัตน์ มีเพียร รอง ผบช.น. ที่ปรึกษารองประธานรัฐสภา ในวันที่ 9 กันยายน 2554 ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาได้มีมติเลือก นายประวิช รัตนเพียร ให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหาจะต้องเสนอผลการสรรหาต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภาและพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนั้นจึงนำเรื่องกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
หากดูโดยผิวเผินจะเห็นว่าการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้เป็นไปอย่างปกติ แต่ที่จริงแล้วการสรรหาในครั้งนี้มีความผิดปกติในขั้นตอนการเปิดรับสมัครผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีการเปิดรับสมัครเพียง 7 วัน รวมทั้งไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึงภายในในระยะเวลาอันสมควร ทำให้บุคคลจำนวนมากที่ประสงค์จะสมัครเป็นผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ทราบเรื่องดังกล่าว หรือทราบก็เมื่อพ้นเวลารับสมัครดังกล่าวไปแล้ว ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตำแหน่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือแม้นกระทั้งสมาชิกวุฒิสภา ยิ่งไปกว่านั้นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย จึงควรมีการเปิดรับสมัครในระยะเวลาที่นานพอสมควร และมีการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึงภายในระยะเวลาอันสมควร แต่การเปิดรับสมัครในครั้งนี้มิได้เป็นเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากมีผู้มาสมัครเพียง 7 คน เฉลี่ยแล้ววันละ 1 คน
หากย้อนไปดูการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งก่อนหน้าช่วงปลายปี 2552-ต้นปี 2553 ในครั้งนั้นมีการเปิดรับสมัครจำนวน 13 วัน ในช่วงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 - 6 มกราคม 2553 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยมีผู้มาสมัครจำนวนทั้งสิ้น 20 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นส่วนใหญ่ เช่น ดร.ศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนั้น นายประวิช รัตนเพียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายจเด็จ อินสว่าง อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.อ.อ. อดิเรก จำรัสฤทธิรงค์ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในขณะนั้น และพล.อ. ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาในครั้งนั้นได้ลงคะแนนเลือกโดยใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งบุคคลที่จะได้รับเลือกต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดซึ่งคือจำนวน 4 เสียง ในการลงคะแนนรอบที่ 1 ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามที่กำหนด จนกระทั้งถึงรอบที่ 5 จึงปรากฏว่า ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ได้รับคะแนนเสียงชนะ นายประวิช รัตนเพียร ด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียง จึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแทน พล.อ. ธีรเดช มีเพียร ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง จะเห็นว่าในการสรรหาครั้งนี้มีการเปิดรับสมัครถึง 13 วัน อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ดีพอสมควร ทำให้มีผู้มาสมัครจำนวน 20 คนซึ่งคิดเป็นเกือบ 3 เท่าของการสรรหาในครั้งล่าสุด และยังมีการเปิดเผยผลการลงคะแนนของคณะกรรมการสรรหาให้สาธารณะได้รับทราบด้วย
การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในช่วงปลายปี 2552-ต้นปี 2553 ตามที่กล่าวมาแล้ว มีจำนวนวันที่รับสมัคร 13 วันซึ่งได้ปรับเพิ่มจำนวนวันจากการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในอีกครั้งก่อนหน้าช่วงปี 2551 ซึ่งในครั้งนั้นเปิดรับสมัครจำนวน 7 วัน ในระหว่างวันที่ 11-17 ก.ค. 2551 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และมีการประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดี ทำให้มีผู้มาสมัครจำนวนทั้งสิ้นถึง 81 คนซึ่งคิดเป็นเกือบ 12 เท่าของการสรรหาในครั้งล่าสุด
3. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
จากข้อมูลและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้มีความผิดปกติและไม่เหมาะสมในขั้นตอนการรับสมัครทั้งในจำนวนวันรับสมัครที่ปรับลดจากครั้งก่อนหน้า 13 วัน เหลือเพียง 7 วัน และในการไม่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึงภายในระยะเวลาอันสมควร จนทำให้มีผู้สมัครจำนวนเพียง 7 คนเท่านั้น อันทำให้น่าเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้มีการทราบเรื่องการเปิดรับสมัครสำหรับการสรรหาในครั้งนี้ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ที่มาสมัครซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ได้รับการวางตัวไว้แล้วมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า นายประวิช รัตนเพียร ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกในครั้งนี้เคยลงสมัครมาแล้วในครั้งก่อนหน้านี้ โดยในครั้งนั้นคณะกรรมการสรรหาต้องมีการลงคะแนนเลือกกันถึง 5 รอบ และปรากฏว่า นายประวิช รัตนเพียร แพ้ ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ด้วยคะแนน 2 ต่อ 4 จึงไม่ได้รับเลือก
การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้มีความผิดปกติและไม่เหมาะสมในขั้นตอนการรับสมัครดังกล่าว อีกทั้งตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตำแหน่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ หรือแม้นกระทั้งตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จึงขอเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่านได้พิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน และหากเห็นพ้องว่ามีความผิดปกติและไม่เหมาะสมในขั้นตอนการรับสมัครดังกล่าว ขอได้โปรดพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาในครั้งนี้เพื่อที่ประธานรัฐสภาจะได้ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ตามขั้นตอนที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 243 การที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ที่สะท้อนให้สาธารณะได้รับทราบและตระหนักว่าการสรรหากรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดๆ หรือตำแหน่งอื่นๆ จะต้องมีการดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมและมีมาตรฐานในการปฏิบัติ รวมทั้งมีความโปร่งใส
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|