หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ
คุณกนก แสงวิทยา นักกฎหมายภาครัฐ
25 กันยายน 2554 21:17 น.
 
เมื่อนายชัช  ชลวร ลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่  และการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๘ คนที่เหลือร่วมกับนายชัชประชุมและเลือกกันเองให้นายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยนายชัชยังคงเป็นดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญในการการใช้รัฐธรรมนูญในยุคนี้
                 ปัญหาข้อแรก นายชัช ชลวร พ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้ว จะเห็นได้ว่า
       (๑) มาตรา ๒๐๙(๓) บัญญัติถึงการลาออกของทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก มาตรา ๒๐๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีต่อไปได้หากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า ๕ คน ตามมาตรา ๒๑๖  ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตรงส่วนใดที่บัญญัติว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย จึงจะพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชจึงพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
       (๒) เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง บัญญัติให้มีการดำเนินการเลือกบุคคลมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๓๐ วัน หลังจากนั้นมาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ บัญญัติให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวประชุมร่วมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ ๘ คนและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อทูลเกล้าฯต่อไปตามมาตรา ๒๐๔ วรรคสามและวรรคสี่
       (๓) กรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๐๙ ทั้ง ๗ กรณี เช่น ตาย, มีอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ , ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ล้วนแล้วแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น  กรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกก็เป็นกรณีหนึ่งในการที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกรณีอื่น ๆ ในมาตรา ๒๐๙ และรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยจึงจะพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นเมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานและตุลาการในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีในศาลรัฐธรรมนูญลาออก  ประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่มีตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเหตุให้ทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้
       (๔) หากนายชัชยังคงทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จะมีปัญหาต่อไปว่าจะต้องมรพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่  เพราะมาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่งและวรรคสี่บัญญัติให้ต้องโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  แต่นายชัชไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งใหม่  ส่วนที่นายชัชได้รับเลือกครั้งก่อน ก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งไปแล้ว  หากไม่ต้องโปรดเกล้าฯ ก็ขัดต่อมาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่งและวรรคสี่
       (๕) หากรัฐธรรมนูญยอมให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแสดงเจตนาลาออกจากตำแหน่งเฉพาะประธานศาลโดยยังคงให้ดำรงตำแหน่งตุลาการต่อไปได้ ย่อมเป็นเหตุให้ตุลาการศาลสามารถฮั้วกันเป็นประธานศาลคนละปีครึ่งปีจนครบทั้งหมด ๙ คน ย่อมทำให้งานของศาลรัฐธรรมนูญไม่พัฒนา
       (๖) กรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกแล้วจะมีผลอย่างไร รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องพ้นจากศาลรัฐธรรมนูญไป  แตกต่างจากกรณีสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา  สมาชิกภาพของ สส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกภาพของ สว. เริ่มแต่วันเลือกตั้งในกรณี สว. เลือกตั้ง หรือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาในกรณี  สว. สรรหา โดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เพียงแต่ก่อนเข้ารับหน้าที่ สส. หรือ สว. ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น  การลาออกจาก สส. หรือ สว. ทำให้สมาชิกภาพของ สส. หรือ สว. สิ้นสุดลง (มาตรา ๑๐๖(๓) และมาตรา ๑๑๙(๓))  ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาต้องมีโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้ง (มาตรา ๑๒๔ วรรคหนึ่ง) นอกจากประธานสภาทั้งสองจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว การลาออกจากตำแหน่งประธานสภายังทำให้ประธานสภาทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภาไปด้วย(มาตรา ๑๒๔ วรรคสี่ (๒)) รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้สมาชิกภาพของ สส.หรือ สว. ของประธานสภาผู้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย กล่าวคือ สมาชิกภาพ สส. หรือ สว. ของประธานสภาทั้งสองผู้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อประธานสภาผู้นั้นได้ลาออกจาก สส. หรือ สว. ไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากกรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกดังกล่าว  ส่วนกรณีอื่น ๆ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น หัวหน้าห้องเรียนลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าห้องเรียน ย่อมไม่ขาดจากความเป็นนักเรียนไปด้วยในตัว เพราะโดยลักษณะของการเป็นนักเรียน จะพ้นจากความเป็นนักเรียนก็ต่อเมื่อได้ลาออกหรือถูกไล่ออกจากความเป็นนักเรียน  การลาออกจากหัวหน้าห้องเรียนจึงไม่มีผลให้ผู้ลาออกต้องพ้นจากการเป็นนักเรียนไปด้วย
       นายชัช  ชลวร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ  นายชัชจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้
       ปัญหาข้อหลัง การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ ๘ คน ร่วมประชุมกับนายชัช  ชลวร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และเลือกกันเองให้นายวสันต์ สร้อย-พิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง และวรรคสี่  ประกอบมาตรา ๒๐๔ วรรคสามแล้ว นายชัช  ชลวร พ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว  ไม่มีอำนาจเข้าร่วมประชุมและเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่  ทั้งการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก็ไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้าร่วมประชุมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ ๘ คน และเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ  การประชุมและเลือกนายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ไม่มีผลทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ได้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544