หน้าแรก บทความสาระ
ออก พ.ร.ก.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปใช้ ปี 40 ทำไม่ได้
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
31 กรกฎาคม 2554 21:31 น.
 
ผมไม่อยากเชื่อว่าข่าวจากคอลัมน์บุคคลในข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่รายงานว่า นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 และเชื่อว่าประชาชนจะเลือกรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วหลังจากนั้นก็ให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้นั้นเป็นความจริง
       ที่ผมไม่อยากจะเชื่อเพราะนายมานิตย์นั้นเป็นถึงอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มีคนเคารพนับถืออยู่เป็นจำนวนมาก(หนึ่งในนั้นก็หมายความรวมถึงผมด้วย)จะเสนอความเห็นออกมาเช่นนั้น เพราะด้วยเหตุหลักการพื้นฐานง่ายๆที่มีการเรียนการสอนอยู่ในวิชากฎหมายเบื้องต้นว่าด้วยศักดิ์ของกฎหมายนั้นรัฐธรรมนูญอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่าพระราชกำหนดนั่นเอง
       คำว่า “ศักดิ์ของกฎหมาย” (Hierarchy of Law) หมายถึงลำดับขั้นของกฎหมาย หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น พิจารณาได้จากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย หมายความว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีลำดับชั้นของกฎหมายในระดับใด ให้พิจารณาจากองค์กรที่ออกกฎหมายฉบับนั้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ คือ รัฐสภา แต่บางกรณีในประเทศที่ด้อยพัฒนาและล้าหลังก็อาจมีองค์กรอื่นเป็นผู้จัดทำกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญได้ เช่น คณะรัฐประหารออกธรรมนูญการปกครอง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นต้น
       ผลของการจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
       1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่า หรือกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าได้ให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติ ซึ่งก็เท่ากับว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ส่วนพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเป็นกฎหมายลูกบท
       2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะมีเนื้อหาที่เกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์กฎหมายสูงกว่าให้ไว้ไม่ได้ มิฉะนั้น จะไม่มีผลบังคับใช้
       3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีการขัดหรือแย้งกัน จะต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามาใช้บังคับไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะออกเป็นกฎหมายก่อนหรือหลังกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า
       ในส่วนของกฎหมายไทยที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับจะมีศักดิ์ของกฎหมายหรือ ลำดับชั้นของกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       ส่วนพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เหล่านี้เป็นกฎหมายที่อาศัยพระราชบัญญัติในการออกเป็นกฎหมาย 
       เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยจึงเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
       1) รัฐธรรมนูญ
       2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย
       3) พระราชกฤษฎีกา
       4) กฎกระทรวง
       5) กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายฉบับใด กฎหมายฉบับอื่นจะบัญญัติโดยมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ    พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ฯลฯ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับใช้
       พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี   จะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยหลังจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว จะต้องนำพระราชกำหนดมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะสิ้นผลไป แต่ การดำเนินการใด ๆ ก่อนที่พระราชกำหนดจะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่า พระราชกำหนดนั้นสิ้นผลไปก็ตาม
       พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ฯลฯ พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย
       ในอดีตรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลของการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวว่าเนื่องจากเกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีออกเป็น 2 ฝ่าย ด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย(ฝ่ายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ต้องการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อีกฝ่ายซึ่งมีเสียงส่วนมากไม่ปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน การที่สภาผู้แทนราษฎรพยายามดำเนินการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยมีลักษณะประดุจการพลิกแผ่นดินเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว
       แต่ผลที่ตามมาคือการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ให้มีการเปิดสภาเหมือนเดิม จนในที่สุดพระยามโนปกรณ์ฯต้องไปสิ้นชีวิตที่ปีนังในท้ายที่สุด
       ซึ่งเป็นตัวอย่างของการรัฐประหารเงียบด้วยการใช้พระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่ต่ำกว่าไปยกเลิกหรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า ซึ่งไม่ถูกต้องตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
       หรือว่าจะเอากันอย่างนั้น ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่เอาด้วยครับ
        
       ----------------
        
        
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544