หน้าแรก บทความสาระ
“นิติธรรม” ไม่ใช่ “นิติทำ”
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด http://www.facebook.com/verapat.pariyawong
31 กรกฎาคม 2554 21:31 น.
 
คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดมั่นใน “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ที่พร่ำสัญญาไว้
        
       “หลักนิติธรรม” ต้องเป็นมากกว่าคำสวยหรูที่หยิบมาอ้างจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และต้องเป็นหลักการสูงสุดในการปรองดองและบริหารประเทศ เพื่อมิให้การปรองดองเป็นเพียงการปลอกและดองกติกาไว้ขณะผู้มีอำนาจจัดสรรประโยชน์ระหว่างกัน
        
       ผู้เขียนย้ำว่า “หลักนิติธรรม” นั้น มิได้แปลว่าสิ่งใดหากมีกฎหมายบอกไว้อย่างเสมอภาคสิ่งนั้นจะถูกต้องเป็นธรรมเสมอไป กล่าวคือ “นิติธรรม” ไม่ใช่ “นิติทำ” ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายเท่าเทียมกันแล้วจะทำอะไรก็ได้
        
       หากจะแปล “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law” ตามรัฐธรรมนูญไทยให้ชัด อย่างน้อยต้องแปลความรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ให้ครบถ้วนทั้งมาตรา กล่าวคือ “หลักนิติธรรม” ต้องควบคู่กับ “หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” และ “หลักการแบ่งใช้อำนาจ”
        
       หลักการเหล่านี้อาจเรียกว่า “หลักนิติธิปไตย” ซึ่งหมายถึง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ปวงชนเป็นใหญ่ ย่อมต้องปกครองด้วยกฎหมายที่เคารพเจตจำนงและสิทธิเสรีภาพของปวงชน มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจของปวงชนตามกฎหมายอย่างสมดุล อีกทั้งสอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและประเพณีการปกครอง
        
       และต้องมิใช่กฎหมายที่สร้างขึ้นโดยผูกขาด ไม่ว่าจะโดยอำนาจบริหารที่ขาดการตรวจสอบ อำนาจเผด็จการทางรัฐสภา หรืออำนาจตุลาการที่ตีความกฎหมายอย่างไร้มาตรฐาน และต้องมิใช่การอาศัยเสียงข้างมากกดขี่สิทธิพื้นฐานของเสียงข้างน้อย (กล่าวคือต้องเคารพทั้ง majority rules และ minority rights)
        
       (อนึ่ง “หลักนิติธิปไตย” ดังกล่าวย่อมมีสาระใกล้เคียงกับ “หลักนิติธรรม” ตามแนวคิดแบบอังกฤษหรือ “หลักนิติรัฐ” ตามแนวคิดภาคพื้นยุโรป ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมคำอธิบายเรื่องไว้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/rule-of-law)
        
       ยกตัวอย่างให้ชัด สมมติวันหนึ่งมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดบางกลุ่มอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า ก็มิได้แปลว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ทันที
        
       แต่ต้องพิจารณาถึงหลักนิติธิปไตยให้ถ่องแท้ อาทิ กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งตรงกันข้ามกับเจตจำนงของประชาชนในการปรองดองหรือไม่ และเป็นการบั่นทอนอำนาจฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนาจตุลาการในการพิจารณาคดีจนทำให้การแบ่งใช้อำนาจเสียสมดุลหรือไม่ ทั้งนี้ร่างหรือกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวย่อมสามารถถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตีความให้ร่างหรือกฎหมายดังกล่าวตกไปได้
        
       ในทางตรงกันข้าม หากกระบวนการปรองดองหมายถึงการอาศัยประชามติเพื่อเยียวยาแก้ไขการลงโทษอย่างอยุติธรรมที่สืบผลมาจากความไม่ชอบธรรมของอำนาจนอกระบบอันไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน อันเป็นการกดขี่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด อีกทั้งลุแก่หลักสมดุลแห่งการใช้อำนาจ ซึ่งล้วนไม่ชอบด้วยหลักนิติธิปไตยมาแต่ต้น ย่อมถือเป็นกรณีการปรองดองที่ต่างจากตัวอย่างการนิรโทษกรรมที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง
        
       นอกจากนี้ คุณยิ่งลักษณ์จะพูดถึงหลัก “นิติธรรม” เพียงเฉพาะเรื่องปรองดองหรือนิรโทษกรรมไม่ได้ แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องยึดหลักการดังกล่าวอย่างเสมอต้นแสมอปลายในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลา
        
       ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหาร ดั่งที่เคยมีนายกรัฐมนตรีตั้ง “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ไว้ หรือการเร่งรัดสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องภาษีที่ดิน ที่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผลักดันเข้าสภาได้สำเร็จ หรือการใช้กฎหมายสนับสนุนประสิทธิภาพของศาล ดังที่อดีตประธานศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยให้ผู้พิพากษาเพิ่มเวลาทำงานเพื่อช่วยกันพิจารณาคดีที่มีค้างในศาลเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทยในสายตาชาวต่างชาติ โดยปราบปรามแหล่งมั่วสุมที่กลาดเกลื่อนทั่วประเทศและโจษจันจนขายหน้าไปทั่วโลก ฯลฯ
        
       ที่สำคัญ หากคุณยิ่งลักษณ์เชื่อในหลักการเหล่านี้จริง นับแต่วันแรกที่แถลงนโยบายต่อสภา คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความกล้าหาญในฐานะผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธลัทธิรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง และไม่ปล่อยให้ใครกล้าตบเท้าทับรัฐธรรมนูญและตบหน้าประชาชนได้
        
       ในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. ยังมีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ทำนองว่า “การปฏิวัติ” (รัฐประหารยึดอำนาจ) ยังเป็นทางเลือกในสังคมไทย อีกทั้งกล่าวเชิงข่มขู่ว่า “แม้ทหารทุกคนไม่มีใครอยากจะปฏิวัติแต่ถ้ามีปัจจัย…ทหารก็จะต้องมาทบทวนบทบาทกันอีกครั้ง”
        
       เมื่อมีผู้ดูถูกเหยียบหยามการตัดสินใจของปวงชนและรัฐธรรมนูญเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดคุณยิ่งลักษณ์และผู้แทนปวงชนในสภาต้องออกมาร่วมกันประณามบุคคลดังกล่าว และไม่ปล่อยให้การปรามาสสติปัญญาทางประชาธิปไตยของปวงชนเป็นเรื่องปกติอีกต่อไปในสังคมไทย
        
       ขอฝากให้คุณยิ่งลักษณ์คิดให้หนักแน่นว่า สิ่งต่างๆที่คุณยิ่งลักษณ์ลงมือทำนับแต่วันแรกจะเป็นเครื่องวัดว่าในวันสุดท้าย ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะถูกขานเป็นตำนานจากชั้นตำราประถมไปถึงบทกวีในพิพิธภัณฑ์ หรือจะเหลือเพียงชื่ออันเจ็บปวดที่ประชาชนคนไทยลืมไม่ลงแม้ไม่อยากจะนึกถึงก็ตาม
       ---


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544