กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 5 (หน้าที่ 2) |
 |
|
|
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
|
|
|
|
 |
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕ ในกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามกฎหมาย หรือไม่ (หน้า ๑๕)
□□ท่านจรัลเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) มิได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๖๒ แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงไม่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคในขณะนั้น ต้องถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามมาตรา ๖๙)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
◊◊ คำวินิจฉัย -ส่วนตน ของ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์
เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัย -ส่วนตน ของท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ผู้เขียนพบว่า ความเห็นท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ อยู่ในแนวทางเดียวกับ ความเห็นของท่านจรัล ภัคดีธนากุล แต่เขียนในลักษณะที่สั้นลง
ถ้าย้อนไปดูใน ประเด็นวินิจฉัยที่หนึ่ง (กระบวนการยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่) (หน้า ๖ - ๑๐ รวม ๓ หน้าครึ่ง) ก็จะพบว่า ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ก็มีความเห็นเหมือนกับท่านจรัล ภัคดีธนากุล คือ เห็นว่า การยุบพรรคการเมือง จะต้องเริ่มต้นด้วยการมี ความเห็นของ นายทะเบียนพรรคการเมืองก่อนการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ในกรณีนี้ นายทะเบียนยังไม่ได้ทำความเห็น (หน้า ๗) / การตั้ง ประเด็น สำหรับพิจารณาว่า ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้ง ที่ลงมติ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จะถือว่าเป็น ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้หรือไม่ (หน้า ๘) / การอธิบายในลักษณะอุปมาอุปมัย (ฉันใดก็ฉันนั้น) โดยเปรียบเทียบ อำนาจของประธานกรรมการที่ไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กับ การทำความเห็นส่วนตนของประธานกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็น นายทะเบียนพรรคการเมือง (หน้า ๙) / การอ้างความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง(ต่อท้ายบันทึกของคณะกรรมกรสอบสวนว่า )ว่า มิได้เป็น การวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรค แต่ความเห็นของนายทะเบียน เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ เท่านั้น (หน้า ๙) ฯสฯ [ หมายเหตุ ทั้งนี้ เว้นแต่ ข้อเท็จจริง ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เท่านั้น ที่ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มติมจากความเห็นของท่านจรัล ภัคดีธนากุลไว้(หน้า ๗) คือท่านสุพจน์ ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าว่า ในการประชุมวันนั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้เข้าประชุม ฯลฯ ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วใน ตอนที่ ๒ ของ ส่วนที่สามนี้ และผู้เขียนได้ ขอบคุณ ท่านสุพจน์ที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนี้ไว้แล้ว ]
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ฯ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือไม่
ในประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (หน้า ๑๐ - ๑๔ รวม ๔ หน้าครึ่ง) นี้ ก็เช่นเดียวกัน คือ ความเห็นของท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ จะอยู่ในแนวเดียวกับความเห็นของท่านจรัล ภัคดีธนากุล คือ มีการยกประเด็น เรื่อง การจัดทำป้ายก่อน(ที่ได้รับอนุมัติฯ) และ ประเด็นเรื่อง ขนาดของป้ายไม่ตรง (ตามที่ขออนุมัติฯ ) มาเป็นข้อพิจารณา
ในประเด็นวินิจฉัยที่สาม ท่านสุพจน์ ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ข้อเท็จจริง ในคดี(หน้า ๑๐ - ๑๑) และให้ความเห็นว่า โดยที่ กรณีข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ปกปิดซ่อนเร้นการรับเงินบริจาคเงินจากบริษัท ที พี ไอ โพลีนฯ ได้มีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้อง เป็นอีกคดีหนึ่ง และ โดยที่ในกรณีนี้ ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ได้ยอมรับว่า โครงการจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ริมทางหลวง (บิลล์บอร์ด) เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ดังนั้น ในคดีนี้ จึงเหลือ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย เพียงปัญหาเดียวว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) นำเงินที่ได้รับการสนันสนุน ไปใช้ในการทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด - จริง หรือไม่ หรือนำเงินนั้นไปใช้ทำอย่างอื่นหรือไปแจกจ่ายให้ญาติของผู้บริหารของพรรคผู้ถูกร้อง
♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน :การที่ท่านสุพจน์ ได้อ้างถึง กรณีข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกี่ยวกับการปกปิดการรับเงินบริจาคจากบริษัท ที พี ไอ โพลีนฯ ที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องเป็นอีกคดีหนึ่ง ได้นำไปสู่ ประเด็น สำคัญ ที่เรา (ท่านผู้อ่านและผู้เขียน) ควรจะต้องวิเคราะห์ไปพร้อมกับคดีนี้ คือ ประเด็น ว่า เพราะเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญ จีงไม่รวมการพิจารณาคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ; เพราะถ้าจะพิจารณาสภาพของคดีทั้งสองแล้ว จะเห็นว่า เหตุผลที่เป็น เงื่อนไข ในการสั่งการให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีนี้เข้าด้วยกัน ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๘ แห่ง ป.วิ.แพ่งและตามหลักกฎหมายทั่วไปในการพิจารณาของศาลนั้น มีอยู่อย่างชัดแจ้ง; ปัญหาจึงมีว่า เพราะเหตุใด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่รวมพิจารณาคดีทั้งสอง ; และผู้เขียนก็ต้องขอขอบคุณท่านสุพจน์ อีกครั้งหนึ่ง ที่ได้ remind ให้ผู้เขียนนึกถึงปัญหานี้ ]
□ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้ตั้งประเด็น ว่า (หน้า ๑๒) ผู้ร้อง(นายทะเบียน) เห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ฯ ไปใช้จ่ายทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด เป็นการใช้เงินที่ได้รับไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ โดย แยกได้เป็น ๒ กรณี คือ
(๑) กรณีผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้าง บริษัท เมซไซอะ ฯ (๒๓.๓ ล้านบาท) กรณีหนึ่ง ซึ่งผู้ร้อง(นายทะเบียน มี เหตุผลสนับสนุน ๒ ประการ คือ ประเด็นแรก จัดทำป้ายก่อน ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน (จาก ๑๙ ล้าน เป็น ๒๗ ล้านบาท) และประเด็นที่สอง ขนาดของป้ายไม่เป็นไปตามโครงการ (โดยในใบสำคัญการจ่าย ระบุเป็น ๑.๒ คูณ ๓.๔ เมตร แต่ตามโครงการ เป็น ๑.๓ คูณ ๓.๔ เมตร และ
( ๒) กรณีการออกใบสำคัญและใบส่งของ บริษัท เกิดเมฆ (กรณีของนางสาววาศินี) อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งผู้ร้อง(นายทะเบียน มี เหตุผลสนับสนุน ๒ ประการ คือ ประเด็นแรก จัดทำป้ายก่อน (ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน (จาก ๑๙ ล้าน เป็น ๒๗ ล้านบาท) และประเด็นที่สอง จากการตรวจสอบของผู้ร้อง(นายทะเบียน) ปรากฎว่า ในไบสำคัญจ่าย ไม่มีระบุขนาดของป้าย และไม่มีใบส่งของแนบประกอบรายงานการใช้จ่ายเงิน
● ประเด็นเรื่อง การจัดทำป้ายก่อน (ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน ฯ) ถือว่า เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ (และผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ) อ้างว่า ผู้ถูกร้องพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดทำป้ายไปก่อน วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ เพราะได้รับเงินสนับสนุน หลังวันดังกล่าว)
□ ท่านสุพจน์ เห็นว่า (หน้า ๑๒ - ๑๓ ) ) การจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า หากไม่เตรียมการไว้ก่อน ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทันการเลิอกตังที่จะมีขื้นในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ส่วนเรื่องการใช้จ่ายเงิน ที่อาจต้องมีการวางมัดจำหรือการจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าบางส่วน ก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นของส่วนราชการหรือในวงการธุรกิจ ที่จะมี เงินสำรองจ่าย ล่วงหน้า ; และเงินนั้น สามารถใช้เงินจำนวนอื่นที่มีจำนวนเท่ากัน ใช้ชำระราคาหรือใช้หนี้แทนกันได้ ไม่จำเป็นตัองใช้เงินก้อนเดียวกันหรือฉบับเดียวกันกับที่ได้รับอนุมัติ ;แม้จะได้รับเงินมาในรูปของธนบัตร ก็ไม่สามารถแยกแยะจดจำได้ว่า ธนบัตรฉบับใดเป็นฉบับที่เป็นเงินที่ได้รับจาก การสนับสนุน ; ยิ่งกรณีเป็นการโอนเงินทางบัญชี ไม่ว่าจะเป็นเงินจากแหล่งใด ก็จะไปรวมเป็นตัวเลขก้อนเดียวกันในบัญชี เวลาสั่งจ่ายเงินจากบัญชี ก็ไม่สามารถแยกได้ว่าจำนวนใดเป็นเงินที่ได้รับ การสนับสนุน หรือเป็นเงินของผู้อื่น ; การใช้ เงินสำรอง จ่ายไปก่อน ก็มีการปฏิบัติกันเป็นปกติ เช่น การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง เดินทาง ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ถือว่า การใช้เงินสำรองจ่ายไปแล้วมาหักล้างหนี้ในภายหลัง เป็นการใช้เงินผิดประเภทแต่อย่างใด
□□ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๓) ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงการไปเพียงลำพัง แต่ได้ยื่นขอเปลียนแปลงต่อผู้ร้อง(นายทะเบียน) เมื่ออนุมัติแล้ว ก็เท่ากับยอมรับว่า การจัดทำแผ่นป้ายของผู้ถูกร้อง ที่ได้ทำตามที่ขออนุมัติเปลี่ยนแปลง เป็นการถูกต้อง
● ในประเด็นเรื่อง ขนาดของป้าย ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) ถือว่าเป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือไม่
□ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ เห็นว่า(หน้า ๑๔) ขนาดของป้ายที่ปรากฎในใบเสร็จรับเงิน มีขนาดความกว้างน้อยกว่าความกว้างที่ได้รับอนุมัติ เพียง ๑๐ เซ็นติเมตร เมื่อพิจารณาจากป้ายทั้งแผ่น ก็คงไม่เห็น ; ซึ่งผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนยันว่า ขนาดของป้ายเป็นไปตามที่ได้ขออนุมัติ ประกอบกับไม่มีเหตุผลหรือประโยชน์อันใดที่จะทำให้ขนาดของป้ายต้องเล็กลงจากวัสดุที่จำหน่ายในท้องตลาด ; เหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของผู้ร้อง (นายทะเบียน)ในข้อนี้ จึงไม่มีน้ำหนักพอ
ในกรณีการจัดทำป้ายของบริษัทเกิดเมฆ ที่ผู้ร้องอ้างว่า ไม่มีการระบุขนาดของป้ายใน ใบสำคัญจ่ายและไม่มี ใบส่งของ แนบประกอบการจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงความผิดพลาดของงานด้านเอกสารเท่านั้น ไม่อาจรับฟังได้ ว่า การใช้จ่ายเงินทำป้ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
□□ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๔) พรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินที่ได้รับจาก กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง แผ่นป้ายฟิวเจอร์บอร์ดฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมัติ จากผู้ร้องแล้ว
ในตอนท้ายของการวินิจฉัย ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ นี้ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้กล่าวว่า (หน้า ๑๔) ส่วนที่ผู้ถูกร้อง(นายทะเบียนได้พยายามแสดงให้เห็นถึง ปัญหาขั้นตอนการจัดจ้าง / การรับจ่ายเงินค่าจ้างที่มีการรับจ้างช่วงนั้น ก็เป็นเรื่องภายในของขั้นตอนการจัดจ้าง ไม่มีผลลบล้าง การทำป้ายที่มีขึ้น จริง ให้เป็นว่า ไม่มีการทำป้ายจริง ได้
♦ [หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน :สรุปได้ว่า ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้วินิจฉัยในประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ นี้ โดยยกประเด็นพิจารณาใน ๒ ประเด็น คือ ประเด็นเรื่อง การจัดทำป้ายก่อน (ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน ฯ) และประเด็นเรื่อง ขนาดของป้าย ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุมัติ ; และท่านสุพจน์ ได้วินิจฉัยในแนวทางเดียวกับที่ท่านจรัล กำหนด คือ วินิจฉัยประเด็นว่า ผู้ถูกต้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ เป็นไปตามโครงการหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ได้มีการจัดทำป้าย / มีการใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ ตามที่ได้รับอนุมัติ(จาก กกต.) - จริง ]
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘) ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือไม่
● ประเด็น การตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินฯ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยอมรับแล้ว)
□ท่านสุพจน์ เห็นว่า รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการตรวจสอบ โดย สำนักงานสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ ที่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาวิชาชีพการบัญชี (ที่เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี อันเป็นเรื่องที่มีการยอมรับกันเป็นสากล)
□□ ท่านสุพจน์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๑๔ - ๑๕ ครื่งหน้า) พรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ยื่น รายงานการใช้จ่ายเงิน ต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ; และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบรายงานดังกล่าว โดย สำนักงานสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ ซึ่งได้รับรองความถูกต้องครบถ้วนแล้ว รวมทั้งผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง)ก็ได้ยอมรับแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการถูกต้อง
เฉกเช่นการจัดทำบัญชีและการจัดทำงบการเงินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ฯลฯ หากมีผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวอ้างว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง ก็เห็นหน้าที่ชองผู้กล่าวอ้าง พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕ ในกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามกฎหมาย หรือไม่
□□ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ เห็นว่า กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
◊◊ คำวินิจฉัย -ส่วนตน ของ ท่านนุรักษ์ มาประณีต
คำวินิจฉัย -ส่วนตน ของท่านนุรักษ์ มาประณีต มีความยาว ๘ หน้า แต่เป็นการพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นวินิจฉัยที่ ๑ และ ที่ ๒ ยาว ๕ หน้าครึ่ง และเป็นการพิจารณาประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ ที่ ๔ และ ที่ ๕ เพียง ๒ หน้าครึ่ง (หน้า ๖ - ๘)
เป็นที่สังเกตว่า ถ้าจะพิจารณาการวินิจฉัยของ ท่านนุรักษ์ มาประณีต ใน ประเด็นวินิจฉัย ที่๑ (กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่) (หน้า ๓ - ๖ ซึ่งมีความยาวถึง ๓ หน้าครึ่ง) ก็จะพบว่า ท่านนุรักษ์ มาประณีต มีข้อวินิจฉัยที่แตกต่างไปจากตุลาการ ๒ ท่านแรก อยู่บางประการ กล่าวคือ
□ท่านนุรักษ์ เห็นว่า(หน้า ๕) ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เมื่อ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วัน ตาม พรบ. ประกอบ รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง ตามเอกสารหมาย ร. ๒๓๑ การประชุมดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเพียงประเด็นเดียวว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองฟ้องผู้ถูกร้องตามข้อกล่าวหานี้ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง
□□ ท่านนุรักษ์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๖) (ข้อความเต็ม) ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่ามีความเห็นใด ๆ จาก นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดมีเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมือง (ก็)ยังมิได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ที่มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองฟ้องเป็นคดีนี้ จึงไม่ชอบ ตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้อง - ขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุปความได้ ก็คือ ท่านนุรักษ์ มีความเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะแต่ นายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้น ที่ไม่มีความเห็น (ว่า ผู้ถูกร้อง กระทำความผิดมีเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมือง) แต่ คณะกรรมการการเลือกตั้งเอง ก็ยังไม่มี ความเห็น (ว่า ผู้ถูกร้อง กระทำความผิดมีเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมือง) ด้วย
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุน ฯ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่) (หน้า ๖ - ๗ ยาว ๑ หน้าครึ่ง)
□□ ท่านนุรักษ์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๗) ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในปี ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ด้วยเหตุผลดังต่อนี้
● ประเด็น การตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินฯ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งแล้ว )
□ ท่านนุรักษ์ เห็นว่า(หน้า ๖) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตรวจสอบ รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในรอบปี ๒๕๔๘ โดยสำนักงานสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ ซึ่งได้รับรองว่าถูกต้องครบถ้วน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งก่อนรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ โดยไม่ปรากฎว่าผิดปกติ
□□ ท่านนุรักษ์ ถือว่า(หน้า ๖) เป็นการรับรองว่า การใช้จ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวของพรรคผู้ถูกร้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว และผลสรุปของ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ของกกต (นายอิสระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธาน) ว่า การตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินมีความถูกต้องและไม่พบพิรุธ และได้มีมติโดยเอกฉันท์ ให้ยกข้อกล่าวหาทั้ง ๓ ครั้ง
อีกทั้งในการตรวจสอบงบการเงินของผู้ถูกร้องในรอบปี ๒๕๔๘ ก็ปรากฎมีการทักท้วงในโครงการไอทีและมีการคืนเงินดังกล่าวแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า เป็นการตรวจสอบถึงความถูกต้องของการใช้จ่าย ๒๕๔๘มาแล้ว หากพบข้อเท็จจริงว่า พรรคผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินสนับสนันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ย่อมมีการทักท้วงตั้งแต่ในขณะนั้นเช่นกัน
● ประเด็นเรื่อง การจัดทำป้ายก่อน (ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวงเงิน ฯ) ถือว่า เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่
□ ท่านนุรักษ์ มาประณีต กล่าวถึงข้อเท็จจริง ว่า(หน้า ๗) พรรคผู้ถูกร้อง ได้รับการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิการยน ๒๕๕๓ ในวงเงิน ๑๙ .๐ ล้านบาท หากผู้ร้องจะขอปรับเปลียนวงงินมาเพิ่มอีก ๘.๐ ล้านบาทจากโครงการจัดทำป้ายบิลบอร์ด รวม เป็น ๒๗.๐ ล้านบาท ก็ย่อมสามารถทำได้ด้วยการขออนุมัติจาก คณะกรรมการกองทุน และเมื่อพรรคการเมืองทราบว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองย่อมมีความจำเป็นในการเตรียมการจัดทำป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า ข้อเท็จจริงปรากฎว่า พรรคผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์เตรียมการจัดทำป้าย โดยว่าจ้างผู้จัดทำป้ายตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ และมีการส่งมอบป้ายในปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นการใช้จ่ายที่อยู่ในวงเงิน ๒๗.๐ ล้านบาทตามที่คณะกรรมการกองทุนได้มีอนุมัติ ให้ปรับปรุงโครงการเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘
□□ ท่านนุรักษ์ วินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่า พรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ดำเนินโครงการและใช้จ่ายเงินไป ก่อนที่จะอนุมัติให้ปรับปรุงโครงการ
สำหรับเงินค่าจ้าง (หน้า ๗) ผู้รับจ้างจะนำไปใช้อย่างไร จะเสียภาษีหรือไม่ เห็นว่า ก็เป็นเรื่องของผู้รับจ้าง ; ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ จะนำเงินอื่นมาสมทบหรือใช้จ่ายเงินของตนเองไปก่อน มิใช่สาระสำคัญ เพียงแต่ใช้จ่ายให้ตรงกับโครงการที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น กับไม่ปรากฎว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)ทุจริตเบียดบังนำเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องเลย
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน(ปี พ.ศ. ๒๕๔๘) ตรงตามความจริง หรือไม่
□□ ท่านนุรักษ์ วินิจฉัย ว่า(หน้า ๘) ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่าย เงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ในปี ๒๕๔๘ ถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยเหตุผล ดังนี้
● ประเด็น การตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินฯ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งแล้ว )
□ ท่านนุรักษ์ เห็นว่า (หน้า ๘) ตาม มาตรา ๖๒ ของ พรบ. ๒๕๔๑ และ มาตรา ๘๒ ของ พรบ. ๒๕๕๐ กฎหมายมุ่งประสงค์ให้แยก การใช้จ่ายเงิน กับ การรายงาน ออกจากกัน ดังนั้น แม้จะรับฟังได้ว่า พรรคผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ ก็ตาม ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนของ รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน เป็นการเฉพาะ
□□ ท่านนุรักษ์ มาประณีต วินิจฉัย ว่า(หน้า ๘) (ข้อความเต็ม) พรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ยื่นรายงานการใช้จ่ายเงินต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ในรอบปี ๒๕๔๘ ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ; การที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบรายงานดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งก่อนรายงานให้คณะกรรมการทราบ ถือเป็นการตรวจสอบรายงานโดยตรงเป็นการเฉพาะ เมื่อตรวจสอบเห็นว่าเป็นรายงานที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ย่อมถือว่า ผู้ถูกร้อง ได้ดำเนินการ ตาม พรบ. ฯ ๒๕๔๑ มาตรา ๖๒ หรือ พรบ.ฯ ๒๕๕๐ มาตรา ๘๒ แล้ว
♦ [หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : ในประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ นี้ (หน้า ๘) ท่านนุรักษ์มาประณีต ได้ใช้เหตุผลเดียวกับ การวินิจฉัย ในประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (หน้า ๖) คือ ถ้ารายงานการใช้เงินสนับสนุนนั้น ได้ตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมาแล้ว และพรรคการเมืองได้ยื่นรายงาน ฯ ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็ถือว่า ผู้ร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ตาม มาตรา ๖๒ (พรบ. ฯ ๒๕๔๑) หรือ มาตรา ๘๒ (พรบ. ฯ ๒๕๕๐) แล้ว ]
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕ ในกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามกฎหมาย หรือไม่
□□ ท่านนุรักษ์ มาประณีต เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยข้างต้นว่า ผู้ถูกร้องมิได้กระทำผิด จึงมิต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
◊◊ คำวินิจฉัย -ส่วนตน ของ ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ตามที่ได้ทราบอยู่แล้วว่า ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เป็นตุลาการหนึ่งท่าน ในจำนวนตุลาการเสียงข้างมาก ๔ ท่าน ที่วินิจฉัยให้ยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง และเห็นว่า พรรคผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ไม่ได้กระทำผิด ตามข้อกล่าวหา ; แต่ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มี เหตุผล ในการยกคำร้องของนายทะเบียน ฯ โดยเฉพาะของตัวท่านเอง ที่แตกต่างไปจากตุลาการอีก ๓ ท่าน คือ ท่านอุดมศักดิ์ ให้ยกคำขอเพราะการยื่นคำขอของนายทะเบียนฯ เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด (๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎแก่นายทะเบียนฯ) ; ต่อไปนี้ เราลองมาดูว่า ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มีความเห็นในประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ และ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ อย่างไร
ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (หน้า ๑๔) เห็นสมควรพิจารณา ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ และ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไปพร้อมกัน (หน้า ๑๔ - ๒๕ รวม ๑๒ หน้า ; โดยท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตร ได้พิจารณาและวินิจฉัย ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (ในหน้า ๒๒ - ๒๔) และวินิจฉัย ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ (ในหน้า ๒๔ - ๒๕)
♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัย - ส่วนตนของท่านอุดมศักดิ์แล้ว เป็นที่น่าสังเกตุว่า การเขียนอธิบายเหตุผลและการรับฟังพยานของท่านอุดมศักดิ์ ดูจะมี แนวทางในการเขียนคำพิพากษา (คำวินิจฉัย) ที่ชัดเจนกว่า ตุลาการ ๓ ท่านแรก (ท่านจรัญ ภักดีธนากุล , ท่านนุรักษ์ มาประณีต , ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์) และมีการให้ ข้อเท็จจริง(ในสำนวนคดี) มากกว่าที่ปรากฎอยู่ใน คำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ (มาก) ]
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๓ (ผู้ถูกร้อง -พรรคประชาธิปัตย์ ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุน ฯ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ หรือไม่ และประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ (ผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์ จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน(ปี พ.ศ. ๒๕๔๘) ตรงตามความจริง หรือไม่
□ ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ได้เริ่มต้นด้วยการ ตั้ง ประเด็น ไว้อย่างชัดเจน ว่า(หน้า ๑๔) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เห็นว่า โครงการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ( ฟิวเจอร์บอร์ด) จำนวน ๒๗.๐ ล้านบาท ที่ไม่เป็นไปตามโครงการ และมี การรายงานการใช้จ่ายเงินต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง อยู่ใน ๒ รายการ คือ (๑) กรณีของบริษัทเมซไซอะ ใบสำคัญจ่ายค่าจัดทำป้ายให้บริษัทเมซไซอะ จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท โดยมิได้มีการใช้จ่ายเงินตามโครงการ รวมทั้งมีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม และบริษัทเมซไซอะได้จ่ายเงินส่วนใหญ่ให้กับบุคคลต่าง ๆ ที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และ(๒) กรณีบริษัทเกิดเมฆ (กรณีของนางสาววาศินี) จำนวน ๒.๐๙ ล้าน ใบสำคัญจ่ายค่าจัดทำป้ายให้แก่บริษัทเกิดเมฆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง
●● กรณีบริษัทเมซไซอะ (หน้า ๑๔ - ๑๘) ประเด็นมีว่า บริษัทเมซไซอะ (และบริษัทเกิดเมฆ) ได้มีการจัดทำป้ายโฆษณาให้กับผู้ถูกร้อง - จริง หรือไม่
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๑๗) บริษัทเมซไซอะ ได้มีการจัดทำป้ายโฆษณาให้กับผู้ถูกร้อง - จริง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ท่านอุดมศักดิ์ ฟัง พยานบุคคล ๓ คน (หรือกลุ่ม) ดังนี้ (๑) นายประจวบ สังขาว (๒) พยานบุคคลจากบริษัทหรือห้างที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การจัดทำป้าย จำนวน ๕ คน และ (๓)นางสาววลัยลักษณ์ ประสงค์ (ภริยาของนายประจวบ) กับ นายณัฐพล จิรวิสุทธิกุล ( พนักงานของบริษัท เมซไซอะ)
(๑) นายประจวบ สังขาว (หน้า ๑๔ - ๑๕) : นายประจวบ สังขาว กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมซไซอะ และต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น คณาปติ โดยนายประจวบ ได้ให้การไว้ ๔ ครั้ง : ครั้งแรก ให้การ กับ พนักงานสอบสวน (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ; ครั้งที่สอง ให้การ กับ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง ; ครั้งที่สาม ให้การต่อ คณะกรรมการตรวจสอบ ( นายทะเบียนแต่งตั้ง , คำวิ. กลาง หน้า ๔) ; และครั้งที่สี่ เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ในการให้การครั้งแรก (ต่อกรมสอบสวนพิเศษ) นายประจวบ สังขาว ให้การว่า(หน้า ๑๔) บริษัท เมซไซอะ รับงานจากผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ให้จัดทำป้ายหาเสียงฟิวเจอรบอร์ด จำนวน ๓๖๖ เขต แต่ละเขต ๒๕๐ - ๓๐๐ แผ่น ราคา แผ่นละ ๒๖๐ บาท โดยนายประจวบมีหน้าที่ออกแบบและผลิตป้าย โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ เดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แต่ไม่ได้ทำสัญญากับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)
โดยนายประจวบ นำเงินที่ได้รับจากบริษัท ทีพีไอ ฯ ที่ว่าจ้างให้นายประจวบให้ทำสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโฆษณาของบริษัท ทีพีไอ มาใช้เป็นเงินหมุนเวียน ; เมื่อจัดทำป้ายเสร็จแล้ว นายธงชัย ศรีคลชัย หรือ นายทีซี (ไม่ได้ระบุว่า คือใคร) จะเป็นผู้สั่งการให้นายประจวบจัดส่งไปยังเขตพื้นที่
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด นายประจวบจะเบิกจากนายธงชัย โดยเบิกจากบัญชีของบริษัทเมซไซอะ ฯ ที่บริษัท ทีพีไอ โพลีย โอนมาให้ ; และเมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ได้จ่ายเงินเป็นเช็ค จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท ตามใบเสร็จรับเงิน ให้กับบริษัทเมซไซอะ ฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานการรายงานการใช้เงินฯ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (หมายเหตุ เช็ค ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘, คำวิ.กลาง หน้า ๒๗)
ในการให้การครั้งที่สอง ( ต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง)(หน้า ๑๕) นายประจวบ ยืนยันว่า บริษัทเมซไซอะ ไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างกับผู้ถูกร้อง และมิได้มีการทำธุรกิจกันจริง การที่ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)สั่งจ่ายเช็ควงเงิน ๒๓.๓ ล้านบาท ก็เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการรายงานการใช้จ่ายเงินต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง
ในการให้การครั้งที่สาม (ต่อ คณะกรรมการตรวจสอบ ที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ตั้ง) (หน้า ๑๕) นายประจวบ สังขาว ได้กลับคำให้การที่ให้ไว้กับ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน โดยยืนยันว่า บริษัทเมซไซอะฯ ได้จัดทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ดแบบแบ่งเขตให้กับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จำนวน ๓๖๖ เขต เขตละ ๒๕๐ ป้าย และป้ายนโยบายหาเสียงอีก ๕๐๐๐๐ ป้าย ; และเงินที่ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) จ่ายเช็คจำนวน ๒๓ ล้านบาทเศษ นั้น เป็นค่าทำป้ายแบบเขตเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้รับเช็คแล้ว ก็โอนให้บุคคลต่าง ๆ เนื่องจากตนได้นำเงินของ บริษัททีพีไอ ที่จ้างให้บริษัท เมซไซอะ ทำสัญญารับจ้างประชาสัมพันธ์ มาใช้หมุนเวิยนใช้ในโครงการนี้
ในการเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ(ครั้งที่สี่) (หน้า ๑๕) นายประจวบสังขาว (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็น คณาปติ) ให้การเพิ่มเติมต่อศาล ว่า บริษัทเมซไซอะ ได้จัดทำ ป้ายแบบแบ่งเขต ให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) และอีกส่วนหนึ่งที่เป็น ป้ายนโยบาย ซึ่งจำนวน ๑๐๐๐๐๐ ป้าย บริษัทเมซไซอะ รับทำเพียง ๕๐๐๐๐ ป้าย ส่วนอีก ๕๐๐๐๐ ป้าย มีนายสุชาติ เกิดเมฆ หรือ เป๋ โปสเตอร์ เป็นผู้รับจัดทำ (กรณีของนางสาววาศินี) ; ในการจัดทำป้ายดังกล่าว ไม่ได้จัดทำสัญญากับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะในทางการเมือง การจัดทำป้ายจะให้คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นผู้จัดทำ
(๒) ท่านอุดมศักดิ์ ได้อ้างอิง พยานบุคคล จากการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนพิเศษ จำนวน ๕ คน สรุปได้ว่า(หน้า ๑๖) พยานบุคคล ซึ่งเป็น ผู้แทนหรือตัวแทน ของบริษัทหรือห้างที่ขายอุปกรณ์การจัดทำป้าย ทุกคนยืนยันว่า ได้ขายอุปกรณ์การจัดทำป้ายให้แก่ บริษัทเมซไซอะ ในช่วง ๕ เดือน ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๔๗ จนถึง ต้นปี ๒๕๔๘ โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ ๕ แสนบาท จนถึงกว่า ๔ ล้านบาท ได้แก่
นายไพจิตร มานะศิลป์ หุ้นส่วน(?) ของ บริษัท อุตสาหกรรมอีโค่พลาส (กิจการ - ผลิตอุปกรณ์สำนักงาน / แฟ้มพลาสติก /แผ่นพลาสติก) ประมาณต้น เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ ขายให้แก่บริษัทเมซไซอะ จำนวนหลายหมื่นแผ่น ไม่บอกจำนวนเงิน ; นายวุฒิพร แสนสารัมย์ อดีตผู้จัดการบริษัท มัลฟอร์ด พลาสติก (ขายฟิวเจอร์บอร์ด) ประมาณต้นปี ๒๕๔๘ ขายฟิวเจอร์บอร์ดให้แก่ บริษัทเมซไซอะ จำนวนเงินกว่า ๔ ล้านบาท ; นางเสาวณี เรืองปัญญาพจน์ (ไม่ระบุตำแหน่ง) บริษัทยูนิอิงค์ (กิจการค้าหมึกพิมพ์) ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ขายหมึกพิมพ์ ให้แก่ บริษัทเมซไซอะ จำนวนเงินกว่า ๕ แสนบาท ; นางนงเยาว์ จิระกานนท์ ไม่ระบุตำแหน่ง บริษัท วิลสัน สกรีน (กิจการหมืกพิมพ์) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ ขายหมึกพิมพ์ ให้แก่ บริษัทเมซไซอะ จำนวนเงินเกือบ ๒ ล้านบาท ) ; นางสุนี เพียรทวิรัชต์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วน วิเอส ซับพลาย เซอวิส (กิจการขายวัศดุอุปกรณ์การพิมพ์) ให้การว่า ประมาณ เดือนกันยายน ๒๕๔๗ ได้ขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้บริษัท เมซไซอะ ตามที่นายสนั่น ลูกจ้างของบริษัททองกมล (?) ซึ่งรับจ้างพิมพ์แผ่นป้าย ให้นายประจวบ) ได้มาบอก และบริษัท เมซ ไซอะ ได้จ่ายเช็คมาให้หลายงวด รวม ๗.๗ แสนบาท
♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : ท่านอุดมศักดิ์ ไม่ได้อ้างอิงหรือตรวจสอบ พยานเอกสาร ประกอบ คำให้การของพยานบุคคลเหล่านี้ ]
(๓) นางสาววลัยลักษณ์ ประสงค์ ภริยาของนายประจวบ และ นายณัฐพล จิรวิสุทธิกุล ฯ พนักงานของบริษัท เมซไซอะ ต่างยืนยันว่า บริษัทเมซไซอะ ได้รับจ้างทำป้ายหาเสียงให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) และได้นำพนักงานบางส่วนของบริษัทไปนั่งทำงานที่ทำการผู้ถูกร้อง
● ในประเด็นว่า บริษัทเมซไซอะ นำใบกำกับภาษี ของ บริษัทชัยชวโรจน์ จำกัด / บริษัท พีจีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด / ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินวัฒนา เอเชีย อินเตอร์ไพร์ส ซึ่งเป็นบริษัทที่กรมสรรพากรได้เพิกถอน ใบกำกับภาษี เนื่องจากไม่มีการประกอบการจริงมาแสดงนั้น นางสาววลัยลักษณ์ ประสงค์ ภริยาของนายประจวบ ยืนยันว่า บริษัทเมซไซอะ ฯ ไม่มีการซิ้อขายกับบริษัทดังกล่าว โดยเอกสารใบกำกับภาษีนั้น นายประจวบ เป็นผู้นำเอกสารมาให้ เพื่อจัดทำเอกสารในทางบัญขี
และนายประจวบ เบิกความต่อศาลว่า (หน้า ๑๗) ใบกำกับภาษีของบริษัททั้งสามดังกล่าว ตนเองจำไม่ได้ว่า ใครนำมาให้ และจำไม่ได้ว่า บริษัทดังกล่าวมี สถานที่ประกอบการ อยู่ที่ใด
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๑๗) เมื่อพิจารณาจากพยานบุคคลแล้วต่างให้การสอดคล้องกัน บริษัทเมซไซอะ ได้มีการจัดทำป้ายโฆษณาให้กับผู้ถูกร้อง - จริง มิฉะนั้นแล้ว บริษัทต่าง ๆ ที่ บริษัทเมซไซอะ ได้ซื้อวัศคุอุปกรณ์ คงจะไม่มีการยืนยันรับรองการซื้อวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว
● ประเด็น (ข้อนำสืบ ของผู้ร้อง) เรื่อง เส้นทางการโอนเงินจากบริษัท เมซไซอะ หลังจากที่บริษัท ฯ ได้รับเงิน (เช็ค)จาก พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๒๓.๓ ล้าน (หน้า ๑๗)
□ ท่านอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อนำสืบของผู้ร้อง(นายทะเบียน) ที่ว่า นายธงชัย คลศรีชัย เกี่ยวข้องสั่งการโอนย้ายเงินด้วยความเชื่อว่า มีความเชื่อมโยงทางการเงิน ระหว่าง บริษัท ทีพีไอ โพลีน กับ พรรคผู้ร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) นั้น ท่านอุดมศักดิ์ ได้ฟัง พยานบุคคล ๑ (หนึ่ง)คน คือ นายธงชัย คลศรีชัย ดังนี้
นายธงชัย คลศรีชัย (ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร) เบิกความต่อศาลว่า (นายธงชัย)ได้รับเงินค่าจ้างช่วงงานบางส่วน ต่อจากนายประจวบ(ไม่ได้ระบุ จำนวน) แล้วได้ชำระหนี้ต่อไปให้บุคคลอื่น โดยยืนยันว่า มีมูลหนี้ต่อกันจริง และไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการโอนย้ายเงิน ระหว่างบริษัท ทีพีไอ โพลีน กับ พรรคผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ )
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยว่า (หน้า ๑๗ - ๑๘) โดยที่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้แล้ว ว่า บริษัท เมซไซอะ ฯ รับจ้างจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ - จริง โดยมิได้ทำหนังสือสัญญาต่อกัน ; และ(เมื่อ)บริษัท เมซไซอะ ฯได้จัดทำป้ายให้ผู้ถูกร้องเสร็จแล้ว และผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) สั่งจ่ายเช็คขำระค่าจ้างให้เรียบร้อยแล้ว นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัท เมซไซอะ กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ย่อมเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปตามกฎหมาย
ส่วนเงินทุนที่(บริษัท เมซไซอะ)ใช้จ่ายในการจัดทำป้ายให้ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์นั้น จะเป็นเงินทุนของบริษัท เมซไซอะ เอง / หรือ ใช้เงินที่บริษัทฯ รับจ้างทำสิ่งพิมพ์และสื่อโฆษณา กับ บริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ / หรือเป็นเงินที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ บริจาคไห้แก่ผู้ร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) โดยผ่านบริษัท เมซไซอะ เป็นการ อำพราง เงินโดยมิได้มีการรับจ้างกันจริง เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ในคดีที่กล่าวหาว่า พรรคผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์ รับบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกคดีหนึ่ง ไม่ใช่ ประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยในในคดีนี้
♦ [หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : คำวินิจฉัย ของ ท่านอุดมศักดิ์ ทำให้มองเห็น ปัญหาในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างชัดเจน และสมควรที่จะต้องตั้งคำถาม ว่า เพราะเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญ(ตุลาการ) จึงไม่รวมการพิจารณาและสืบพยาน คดีที่กล่าวหาว่า พรรคผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์ รับบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน ฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ากับคดีนี้ ]
●● ประเด็นว่า (กรณีของนางสาววาศินี) กรณีการจัดทำป้ายโฆษณาและการออกใบเสร็จรับเงิน(เฉพาะค่าแรง) ของ บริษัทเกิดเมฆ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง ถูกต้องหรือไม่ (หน้า ๑๘ - ๒๑)
□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัยว่า(หน้า ๒๑) การออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าแรงงานในการรับจ้างจัดทำป้ายของนางสาววาศินี นางสาววาศินี จะให้ ใคร ออกใบเสร็จเพื่อลดภาระภาษีของตน หรือให้ผู้ใดรับจ้างช่วงต่อไปนั้น ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) มิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ด้วยเหตุผลดังนี้
ท่านอุดมศักดิ์ ได้ฟัง พยานบุคคล ๓ ราย (หรือกลุ่ม) ดังนี้ (๑) นางสาววาศินี (หรือ แอน) ทองเจือ [ ประกอบกับ นายสุชาติ เกิดเมฆ และ พยานบุคคล ซึ่งเป็นผู้แทนบริษัทหรือห้างที่รับจัดทำป้ายหรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการทำป้าย จำนวน ๓ คน ] และ (๒) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ (๓) นายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ ดังนี้
(๑) นางสาววาศินี (หรือ แอน) ทองเจือ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแมคเนท ชายน์ ได้ให้การ ๒ ครั้ง และมีความแตกต่างกัน ดังนี้
(ก) ครั้งแรก นางสาววาศินี ให้การต่อพนักงานสอบสอน กรมสอบสวนพิเศษ (หน้า ๑๘):
นางสาววาศินี ทองเจือ ให้การสรุปได้ว่า นางสาววาศินี ได้ติดต่อรับทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จำนวน ๒๕๐๐๐ แผ่น แผ่นละ ๑๘๐ บาท เป็นเงิน ๔.๕ ล้านบาท (?) ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้า เป็นเงินไม่น้อยกว่า ๑ ล้านบาท จาก นายธงชัย คลศรีชัย (ไม่ได้ระบุว่าเป็น ใคร); หลังจากได้รับเงินแล้ว ก็สั่งซื้อวัศดุอุปกรณ์ในการทำป้าย กับ บริษัทเกิดเมฆ / บริษัทลักกี้วันการพิมพ์ / ห้างหุ้นส่วนจำกัดฐิติกาญจน์ / นายกฤชพล หรือเฮียตั้ว) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างพิมพ์ป้าย โดยได้รับเฉพาะค่าแรง ; การจ่ายเงินให้กับบริษัท ฯ ใช้วิธีการนำเงินสดเข้าบัญชีผู้ประกอบการ โดยมีการออกหลักฐานใบเสร็จการรับเงินและหลักฐานทางบัญชีถูกต้อง ยกเว้น บริษัทเกิดเมฆ นางสาววาศินีขอให้ออกใบเสรํจรับเงินซึ่งเป็นค่าแรงในการจัดพิมพ์ป้าย
นายกฤชพล / นางณัฐวลัย บริษัทลักกี้วันการพิมพ์ / นายสุวัชต์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดฐิติกาญจน์ ต่างยืนยัน ว่า(หน้า ๑๘ - ๑๙) ได้รับจัดพิมพ์ป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์)ตามที่นางสาววาศินีว่าจ้าง โดยรับเฉพาะค่าแรงการพิมพ์ ส่วนวัสดุอุปกรณ์ นางสาววาศินีเป็นผู้จัดหามาให้
นายสุชาติ เกิดเมฆ กรรมการผู้จัดการบริษัทเกิดเมฆ ให้การว่า (หน้า ๑๙) ได้รับจ้างพิมพ์ป้ายโฆษณาหาเสียงจำนวน ๕๐๐๐ แผ่น เป็นเงิน ๕ แสนบาท (?) ส่วนวัศดุอุปกรณ์ นางสาวว่าศินี เป็นผู้จัดหามาให้ และนางสาววาศินี ได้ขอให้ออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน จำนวน ๒.๐๑ ล้านบาท (?) ให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)
(ข) ครั้งที่สอง นางสาววาศินี บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและการเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ :
นางสาววาศินี ทองเจือยืนยันว่า(หน้า ๑๙) ได้รับทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯ ให้ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จำนวน ๕๐๐๐๐ แผ่น แผ่นละ ๑๘๐ บาท เป็นเงิน ๙ ล้านบาท (?) โดยแบ่งงานให้ บริษัทเกิดเมฆ / บริษัทลักกี้วันการพิมพ์ / ห้างหุ้นส่วนจำกัดฐิติกาญจน์ / นายกฤชพล / นายสาธิต (?) จัดพิมพ์ป้ายคนละ ๑๐๐๐๐ แผ่น ซึ่งบริษัทหรือบุคคลดังกล่าวจะได้รับเฉพาะค่าแรงในการจัดพิมพ์
ต่อมา ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย)ต้องการให้นางสาววาศินี ออกใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานในการจ่ายเงินของพรรค แต่เนื่องจากในการรับจัดทำป้ายโฆษณา นางสาววาศินีไม่ได้คิดรวมค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ ๓ ไว้ นางสาววาศินี จึงได้ติดต่อขอให้บริษัท (ที่จำหน่ายวัสดุการพิมพ์ให้กับตน) เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)โดยตรง เพื่อลดยอดวงเงินการจ้างและภาระภาษี (ได้แก่ บริษัทอุสาหกรรมอีโค่พลาส จำนวนเงิน ๔.๖ ล้านบาท / บริษัท ป็อปปูล่า ฯ จำนวนเงิน ๑.๒ ล้านบาท / บริษัท วิลสันสกรีน จำนวนเงิน ๑.๐๑ ล้านบาท) ; ส่วนใบเสร็จรับเงินค่าแรงงาน นางสาววาศินี ได้ติดต่อให้ บริษัท เกิดเมฆ เป็นผู้ออกใบเสร็จ จำนวนเงิน ๒.๐๙ ล้านบาท
ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ได้สั่งจ่ายเช็คให้บริษัทดังกล่าว(ตามใบเสร็จรับเงิน) จำนวน ๔ ฉบับ ; หลังจากนั้น บริษัทดังกล่าวได้คืนเงินให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) โดยผ่าน นางสาววาศินี และนางสาววิศินีได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) เนื่องจากนางสาววาศินีได้รับเงินจากผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์และได้จ่ายเงินให้กับบริษัทดังกล่าวไปก่อนแล้ว
♦[หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : คำวินิจฉัย - ส่วนตัว ของท่านอุดมศักดิ์ เป็น คำวินิจฉัย - ส่วนตัว ฉบับเดียว ที่ให้ข้อเท้จจริง(ในสำนวนคดี)ว่า นางสาววาศินี ได้เคยให้การกับกรมสอบสวนพิเศษว่า ได้รับทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯกับผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จำนวน ๒๕๐๐๐ แผ่น แผ่นละ ๑๘๐ บาท เป็นเงิน ๔.๕ ล้านบาท แต่ในการเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ นางสาววาศินี ให้การว่า ได้รับทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯ ให้ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จำนวน ๕๐๐๐๐ แผ่น แผ่นละ ๑๘๐ บาท เป็นเงิน ๙ ล้านบาท (?) ; และถ้าจะพิจารณาจริง ๆ แล้ว บุคคลทั่วไป ย่อมไม่มีทางทราบได้ว่า ตามความเป็นจริง นางสาววาศินี ได้รับเงินค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน ๔.๕ ล้านบาท หรือ ๙ ล้านบาท เพราะมีแต่พยานบุคคล และเอกสารการจ่ายเงินค่าจ้าง (ที่ทำขึ้นภายหลังตามคำขอของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานประกอบในการรับเงินสนันนุนจากพรรคการเมือง) เว้นแต่ ตุลาการจะแสวงหาความจริงให้ปรากฎ]
(๒) นายบัญญัติ บรรทัดฐานเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ : นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เบิกความว่า(หน้า ๒๐) ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ว่าจ้าง นางสาววาศินี เป็นผู้จัดการทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯ จำนวน ๕๐,๐๐๐ แผ่น เป็นเงินประมาณ ๙ ล้านบาท : ราคาที่นางสาววาศินีเสนอมา ถูกกว่าบริษัทเมซไซอะ ; นางสาววาศินี อ้างว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดซื้อวัสดุ จึงขอให้ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินเมื่องานเสร็จแล้ว
ภายหลังจากการจัดทำป้ายเสร็จแล้ว ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ได้จ่ายเงิน ให้กับ บริษัทอุสาหกรรมอีโค่พลาส / บริษัท ป็อปปูล่า ฯ / บริษัท วิลสันสกรีน ตามจำนวนเงินที่นางสาววาศินีได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ ; ส่วนเงินที่เหลือประมาณ ๒ ล้านกว่าบาท ได้จ่ายค่าแรงในการจัดทำป้าย โดยนางสาววิศินีได้นำใบเสร็จรับเงินของบริษัทเกิดเมฆ ฯ มาเป็นหลักฐานในการรับเงิน
(๓) นายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น : นายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ์ ยืนยัน ว่า (หน้า ๒๐) นางสาววาศินีรับจ้างทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ส่วนที่นางสาววาศินีจะให้ใครเป็นผู้รับจ้างช่วงต่อ นั้น ไม่ทราบ
□ ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า (หน้า ๒๑) พิจารณาจาก พยานบุคคล ดังกล่าวแล้ว ให้การสอดคล้องกันว่า ผุ้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ว่าจ้างนางสาววาสินีทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ จำนวน ๕๐๐๐๐ แผ่น รวมเป็น ๙ ล้านบาท ; เมื่อมีการส่งมอบงาน นางสาววาสินีจัดทำไม่ครบตามจำนวนดังกล่าว (?) โดยนางสาววาศินีจะได้รับเงินเฉพาะค่าแรง ซึ่งนางสาววาศินีได้ว่าจ้างบริษัทเกิดเมฆ / นายกฤชพล / บริษัทลักกี้วันการพิมพ์ / ห้างหุ้นส่วนจำกัดฐิติกาญจน์ เป็นผู้จัดทำ ; โดยนางสาววาศินี ได้ให้บริษัทเกิดเมฆ เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินเฉพาะค่าแรงให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ; และมีหลักฐานเอกสารที่ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) จ่ายเช็คจากบัญชีกองทุนฯตามใบเสร้จรับเงินของบริษัทที่นางวาศินีได้สั่งซื้อวัสดุและอุปกรณ์
□ ท่านอุดมศักดิ์ เชื่อว่า (หน้า ๒๑) นางสาววาศินี ได้รับทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯ ให้กับผู้ถูกร้อง - จริง ; ส่วนในกรณีที่นางสาววาศินี ได้ใช้ใบเสร็จรับเงินของบริษัทเกิดเมฆ เพียงรายเดียว รับชำระเป็นค่าแรงให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) โดยรวมค่าแรงของบริษัทและบุคคลที่รับจ้างทั้งหมด ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า เป็นเรื่องของนางวาศินี ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) มิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย
● ประเด็นว่า (กรณีบริษัทเกิดเมฆ - นางสาววาศินี) เมื่อบริษัทเกิดเมฆ ฯ ได้รับเช็คจากผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) แล้ว บริษัทเกิดเมฆ ฯ ได้ออกเช็คสั่งจ่าย ๒ ฉบับ จำนวน ๒ ล้านบาทเศษ (เท่ากับยอดเงินที่ให้กับบริษัทเกิดเมฆ) ให้กับนางสาววาศินี และ
● ประเด็นว่า กรณีบริษัท อุตสาหกรรมอีโพลาส เมื่อได้รับเงินจากผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)แล้ว ได้ออกเช็ค ๕ ฉบับให้กับนางสาววาศินี
โดยทั้งสองกรณีนี้ นางสาววาศินี ได้ออกเช็ค ให้แก่ นายนิคม กลิ่นบุญรัตน์ ลูกจ้างบริษัทที่มี นายโชคชัย คลศรีชัย เป็นผู้ถือหุ้น
♦ [หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : ทั้งสองประเด็นนี้ ปรากฎอยู่ในการเบิกความของ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ (หน้า ๒๐ - หน้า ๒๑ ) ซึ่ง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ ตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่เคยรู้จัก กับ นายนิคม กลิ่นบุญรัตน์ และนายธงชัย (คลศรีชัย) ไม่เคยเล่าให้ฟัง ; ประเด็นเหล่า นี้ แสดงให้เห็นว่าถึง ข้อเท็จจริง(ในสำนวนคดี) ที่สำคัญ ที่ตกหล่นและไม่ปรากฎในคำวินิจฉัย (กลาง) ของศาลรัฐธรรมนูญ ]
● ประเด็น(ข้อนำสืบ)ว่า (กรณีของนางสาววาสินี) เมื่อพรรคประชาธิปัตย์จ่ายเช็ค เป็นค่าแรงให้บริษัทเกิดเมฆ และเป็นค่าวัสดุให้บริษัทที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่นางสาววาศินีสังซื้อแล้ว บริษัทผู้รับเงินได้คืนเงินให้ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านนางสาววาศินี หรือไม่ [อันเป็นการนำสืบของผู้ร้อง(นายทะเบียน) เพื่อให้เห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) มิได้ใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ฯ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ ] (หน้า ๒๑)
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๒๒) กรณี ไม่มี เหตุผล ที่บริษัทดังกล่าว จะต้องคืนเงินที่ได้รับ ให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) และกรณีข้อนำสืบดังกล่าว เป็นนิติสัมพันธ์ของนางสาววาศินี กับบริษัทผู้รับเงิน แม้นางสาววาศินีจะออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ นายนิคม กลิ่นบุญรัตน์ ลูกจ้างบริษัท ที่มีนายโชคชัย คลศรีชัย เป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม (แต่) ข้อเท็จจริงยังไม่อาจเชื่อมโยง ถึงผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ว่า รู้เห็นเกี่ยวข้องอย่างใด
ในประเด็นนี้ ท่านอุดมศักดิ์ ฟังพยานบุคคล ๒ คน คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นางสาววาศินี ดังนี้
(๑) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เบิกความต่อศาล ยืนยันว่า (หน้า ๒๒) นางสาววาศินี อ้างว่า ไม่มีเงินพอเพียงที่จะจัดซื้อวัสดุ จึงขอให้ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) รับรองต่อบริษัทที่จำหน่ายวัศดุว่า จะรับผิดชอบจ่ายค่าวัสดุให้เมื่องานเสร็จแล้ว และต่อมาผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้จ่ายเงินให้บริษัทผู้จำหน่ายวัสดุ และจ่ายค่าแรงให้กับบริษัท เกิดเมฆ หลังจากการทำป้ายเสร็จแล้ว
(๒) นางสาววาศินี ให้การ(ในทางนำสืบของผู้ร้อง)ว่า(หน้า ๒๒) นางวาศินีได้รับเงินล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ ล้านบาท จากนายธงชัย คลชัยศรี ซึ่งไม่ได้ความจากนายธงชัยว่า เกี่ยวข้องด้วยอย่างใด ; นางสาววาศินี ให้การต่อไปว่า เมื่อได้รับเงินแล้ว ได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำป้ายกับบริษัทผู้รับจ้างทำป้าย ๔ ราย โดย(นางสาววาศินี) ได้รับเฉพาะค่าแรง และให้การถึง วิธีการจ่ายเงิน ด้วยการนำเงินสดเข้าบัญชีผู้ประกอบการแต่ละราย และให้บริษัทเกิดเมฆ เป็นผู้ออกใบเสร็จค่าแรงทั้งหมดเพียงบริษัทเดียว ; นางสาววาศินี ไม่ได้ให้การถึงค่าวัสดุที่สั่งซื้อเป็นเงินอีกจำนวนมาก(นอกเหนือจากเงินที่ได้รับจากนายธงชัย) ว่า ผู้ใดเป็นผู้ชำระด้วยเงินจากแหล่งใด
□ ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า (หน้า ๒๒) กรณีจึงน่าเชื่อเจือสมกับการนำสืบของผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)ว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) เป็นผู้ชำระเงินค่าวัสุตามที่นางสาววาศินีร้องขอ : ส่วนค่าแรงที่อ้างว่าได้รับมาจาก นายธงชัย นั้น ข้อเท็จจริงในทางนำสืบไม่ได้ความว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) เกียวช้อง(กับนายธงชัย)ด้วยอย่างใด ; และรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ชำระเงินจำนวนใด ๆ ให้บริษัทผู้จำหน่ายวัสดุและบริษัทผู้รับค่าแรง ไปก่อนการจัดทำป้ายเสร็จแต่อย่างใด ; กรณีจึงไม่มี เหตุผล ที่บริษัทดังกล่าวจะต้องคืนเงินที่ได้รับให้กับผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) โดยผ่านนางสาววาศินี ดังทางนำสืบของผู้ร้อง (นายทะเบียน)
♦ [หมายเหตุ ข้อสังเกตของผู้เขียน : ผู้เขียนคิดว่า ในการพิจารณา ข้อเท็จจริง ในคดี ตุลาการน่าจะต้องวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวฟังได้หรือไม่ได้ ว่า มีการ คืนเงิน กัน จริงหรือไม่ ; มากกว่าที่จะให้ เหตุผล ว่า บริษัทไม่มีเหตุผลที่จะคืนเงิน (?) ]
■■ ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ ว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุน จากกองทุนเป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัคิ หรือไม่ (หน้า ๒๒ - ๒๔)
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๒๔) ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัคิ ด้วยเหตุผลดังนี้
□ ท่านอุดมศักดิ์ ได้พิจารณากรณีของบริษัทเมซไซอะ และ กรณีของนางสาววาศินี รวมกัน โดยท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า(หน้า ๒๒) ทั้งสองราย ได้มีการส่งป้ายโฆษณา ให้กับผู้ถูกต้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ จนถึงต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๘ การกระทำ ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องได้ว่าจ้าง บริษัทเมซไซอะ และ นางสาววาศินี เป็นผู้จัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามที่ตกลงกัน (จริง)
ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) จึงมีนิติสัมพันธ์ต้องให้สินจ้างตามที่ตกลงไว้ ผู้รับจ้างทั้งสองรายได้เริ่มดำเนินการและส่งมอบงานจนถึงเดือนมกราคม โดยยังไม่มีการจ่ายเงิน แต่มี การแจ้งหนี้ไว้ล่วงหน้า อันเป็นแนวปฏิบัติปกติในการประกอบธุรกิจทั่วไป
เมื่อผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ได้รับโอนเงินจากกองทุนฯ แล้ว ผู้ถูกร้องจึงได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเงิน ที่ได้มีการจ้างกัน - จริง (หน้า ๒๓) คือ ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์ ได้จ่ายเช็ค ให้แก่ ๔ บริษัท คือ บริษัทเมซไซอะ จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท ฯลฯ ; บริษัทอุตสาหกรรมอีโค่พลาส จำนวน ๔.๖๙ ล้านบาท ฯสฯ ; บริษัท ป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส จำนวน ๑.๒๘ ล้านบาท ฯลฯ ; และบริษัทเกิดเมฆ จำนวน ๒.๐๙ ล้านบาท ฯลฯ ; และ ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ (?) ผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์ ได้จ่ายเช็ค ให้แก่ บริษัทวิลสันสกรีน ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘ (?) เป็นค่าหมึกพิมพ์ และอื่น ๆ
●ในประเด็น ว่า การใช้จ่ายเงิน ก่อน โครงการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามโครงการฯ หรือไม่
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๒๓) แม้ว่า จะเป็นการจ่ายเงิน ก่อนที่ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุน ฯ ; เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงฯแล้ว ย่อมถือได้ว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้ใช้จ่ายเงินเป็นไปตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว
ประกอบกับ จำนวนป้ายที่บริษัทเมซไซอะ และ นางสาววาศินีจัดทำ เมื่อรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นแล้ว มีจำนวนป้ายมากกว่า ที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนฯ (หน้า ๒๓)
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๔ ว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) จัดทำ รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ของพรรคการเมือง ปี ๒๕๔๘ ถูกต้องตาม(ความ)เป็นจริง หรือไม่ (หน้า ๒๔)
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า (หน้า ๒๕) ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ถูกต้องตามความเป็นจริง ตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๒ แล้ว ด้วยเหตุผลดังนี้
● ประเด็น การตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินฯ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
□ ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า(หน้า ๒๔) มาตรา ๖๒ พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่บังคับพรรคการเมือง โดยมีจุดหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง เนื่องจาก กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง เป็นกองทุนที่ได้รับเงินมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี / เงินบริจาคของประชาชน / เงินที่รัฐสนับสนุน ; การใช้จ่ายเงินกองทุน ฯ ของพรรคการเมือง จึงต้องกระทำโดยสุจริต ถูกต้องตามความเป็นจริง ฯ รวมทั้งมีเอกสารหลักฐานการใช้จ่ายเงินเพื่อใช้ในการตรวจสอบหรือพิสูจน์ได้ว่า การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือไม่
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า(หน้า ๒๔ - ๒๕) ในกรณีนี้ ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ ได้ รายงานการใช้จ่ายเงิน โดยยื่นภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ; และ ตามข้อเท็จจริงปรากฎว่า การใช้จ่ายเงินตามโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯ และมีเอกสารหลักฐานในการจ่ายเงิน คือ หลักฐานในการจ่ายเช็ค อันเป็นนิติสัมพันธ์ที่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์ รวมทั้งมี ใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้อง ประกอบกับ บริษัท สอบบัญชีทรัพย์อนันต์ ที่ผู้ร้อง(นายทะเบียน)ได้ว่าจ้างให้เป็นผู้ตรวจสอบงบการเงินและรายงานการใช้เงินสนับสนุน โดยบริษัทดังกล่าว มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัคย์) ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ ในรอบปี ๒๕๔๘ (ซึ่ง) สอดคล้องและเป็นไปตามโครงการที่ได้รับการจัดสรร ฯ แล้ว
●ประเด็น ว่า ขนาดของป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นไปตามโครงการทีได้รับอนุมัติหรือไม่
□□ ท่านอุดมศักดิ์ วินิจฉัย ว่า(หน้า ๒๕) การอนุมัติโครงการ ตามแบบ กพก.๔ มิได้กำหนดขนาดรายละเอียดของป้าย และแบบรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ ก็มิได้มีการรายงานในเรื่องขนาดของป้าย ; เหตุที่ขนาดของป้ายมีความแตกต่างกัน เนื่องจากใบเสร็จรับเงินของบริษัทเมซไซอะ ระบุขนาดป้ายแตกต่าง จากใบเสร็จรับเงินของบรัษัท อุตสาหกรรม อีโค่ พลาส และชองบริษัทบ๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส ซึ่งก็มีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย มิใช่เป็นสาระสำคัญอันเป็นผลให้ การรายงานการใช้จ่ายเงินฯ ของผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธปัตย์ ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
■■ ประเด็นวินิจฉัยที่ ๕ ในกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามกฎหมาย หรือไม่
□□ ท่านอุดมศักดิ์ เห็นว่า(หน้า ๒๔) กรณีจึงไม่มีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) และไม่จำต้องพิจารณา ประเด็นที่ห้าอีกต่อไป
========================================
◊◊ กลุ่มที่สอง (ตุลาการกลุ่ม ที่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไ กระทำผิดตามข้อกล่าวหา)
ตุลาการกลุ่มนี้ ประกอบด้วย ตุลาการ ๒ ท่าน คือ ท่านชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และท่านบุญส่ง กุลบุบผา ซึ่งทั้ง ๒ ท่านได้วินิจฉัย ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้พิจารณา และต่อจากนั้น ทั้ง ๒ ท่านท่านก็ได้วินิจฉัยว่า ผู้ถุกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง
สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจ ก็คือ เมื่อผู้เขียนได้อ่านและสรุปสาระของท่านตุลาการกลุ่มแรก ๔ ท่าน (ท่านจรัล ภัคดีธนากุล ท่านนุรักษ์ มาปราณีต ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ และท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ) ที่มีความเห็นวินิจฉัย ว่า ผู้ถุกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แล้ว และเมื่อผู้เขียนมาอ่านและเริ่มสรุปสาระของท่านตุลาการกลุ่มที่สองอีก ๒ ท่าน ( คือ ท่านชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, และท่านบุญส่ง กุลบุบผา ) ผู้เขียนต้องขอสารภาพว่า ดูเหมือนว่า ข้อเท็จจริง ในสำนวนคดี ที่ท่านตุลาการทั้ง ๒ กลุ่มนี้นำมาวินิจฉัยคดี มีความแตกต่างกันได้อย่างที่คาดไม่ถึง ; ถ้าพูดกันเป็นภาษาชาวบ้าน ก็คือ เป็นหนังคนละม้วนนั่นเอง และนอกจากจะแตกต่างกันในสาระของข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีความแตกต่างกันใน การลำดับประเด็นและการให้เหตุผล อีกด้วย ; ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่าน ได้อ่านและพิจารณาด้วยตัวของท่านเอง
คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการ ๒ ท่านนี้ จะมีสาระสำคัญ ครบทั้ง ๓ ประเด็น คือ ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๓ ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๔ และ ประเด็นวินิจฉัย ที่ ๕ เพราะทั้งท่านตุลาการทั้ง ๒ ท่านนี้ ได้วินิจฉัยให้รับคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้พิจารณา และเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ; และเนื่องจากสาระของคำวินิจฉัย - ส่วนตน ของท่านตุลาการ ๒ ท่านนี้ มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ยากที่จะสรุปให้สั้นลงได้ ดังนั้น คำวินิจฉัย - ส่วนตนของท่านตุลาการสองท่านต่อไปนี้ จึงค่อนข้างยาว และสิ่งที่ผู้เขียนพอทำได้ ก็คือ การจัดเขียนย่อหน้าและแบ่งความ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
|
|
 |
|
|
|
|
|
|
|