ระบบศาลไทย |
|
|
|
อาจารย์โชต อัศวลาภสกุล
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
|
|
|
|
|
|
|
|
|
การปกครองประเทศในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น ล้วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เรียกว่า กฎหมาย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชนในรัฐ
อำนาจบริหาร คือ อำนาจหน้าที่ในการบริหารปกครองประเทศโดยนำเอากฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติไปบังคับใช้กับประชาชน
อำนาจตุลาการ คือ อำนาจในการตรวจสอบว่า กฎหมายต่าง ๆ ได้รับการเคารพและปฏิบัติตามหรือมีการละเมิดกฎหมายเหล่านั้นหรือไม่[๑]
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[๒] และรับหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓ วรรคแรก บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ อาจกล่าวได้ว่า องค์กรหลักที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของไทยทั้งสามฝ่ายนั้น ได้แก่ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ[๓]
อย่างไรก็ตาม นอกจากองค์กรหลักที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของไทยทั้งสามฝ่ายดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังได้กำหนดขึ้นไว้ในหมวด ๑๑ ให้มีองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมิได้อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรหลักทั้งสามนั้น เรียกว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ๔ องค์กร และ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ อีก ๓ องค์กร รวมเป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งสิ้น ๗ องค์กร
องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๑ ประกอบด้วย
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ๔ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ๓ องค์กร ได้แก่ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ดังนั้น ในปัจจุบัน องค์กรหลักของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่
๑) รัฐสภา
๒) คณะรัฐมนตรี
๓) ศาล
๔) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ศาล จึงเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่สำคัญในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ อำนาจตุลาการ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๐ ว่าด้วย ศาล กำหนดให้มีศาลทั้งสิ้น ๔ ระบบ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
การจำแนกรูปแบบของระบบศาลในต่างประเทศนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ระบบ คือ ระบบ ศาลเดี่ยว และระบบ ศาลคู่
ระบบศาลเดี่ยว เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีประเภทอื่น ๆ ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้กันมากที่สุด ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา
ระบบศาลคู่ เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น ส่วนคดีปกครองแยกให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ข้อพิจารณาของระบบศาลคู่ คือ การแยกระบบของผู้พิพากษาและการแยกองค์กรศาลปกครองออกจากระบบศาลยุติธรรม ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน[๔]
การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแบ่งระบบศาลออกเป็น ๔ ระบบ เช่นนี้แสดงว่า ระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบศาลคู่ แยกเป็นอิสระจากกัน มีผู้พิพากษาหรือตุลาการของแต่ละศาลโดยเฉพาะ จะย้ายจากศาลหนึ่งไปดำรงตำแหน่งในอีกศาลหนึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละคดีได้รับการวินิจฉัยโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายและลักษณะคดีแต่ละประเภทเหล่านั้นเป็นผู้ชี้ขาดตัดสิน ด้วยวิธีพิจารณาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ปัญหาใดอันเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจวินิจฉัยโดยศาลธรรมดาได้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย[๕]
ศาลทั้งสี่ระบบย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ซึ่งต่อไปจะได้กล่าวถึงศาลในแต่ละระบบโดยเน้นไปที่อำนาจหน้าที่ ดังนี้
๑. ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งอย่างศาลอื่น[๖] โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๐ ส่วนที่ ๒
ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียว ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก ๘ คน รวมเป็น ๙ คน (มาตรา[๗] ๒๐๔)
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่[๘]พิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้
๑.๑ พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองใด จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ (มาตรา ๖๕ วรรคสาม)
๑.๒ วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง)
สั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการดังกล่าว (มาตรา ๖๘ วรรคสาม) ซึ่งมีผลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำการดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง (มาตรา ๖๘ วรรคท้าย)
๑.๓ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วแต่กรณี หรือไม่ (มาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง)
๑.๔ วินิจฉัยว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลงนั้น มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม หรือไม่ (มาตรา ๑๐๖ (๗))
๑.๕ พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๔๑)
๑.๖ วินิจฉัยว่า ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา ๑๔๗ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ (มาตรา ๑๔๙)
๑.๗ พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๑๕๔)
๑.๘ พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๑๕๕)
๑.๙ พิจารณาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ ได้มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ (มาตรา ๑๖๘ วรรคเจ็ด)
๑.๑๐ วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) หรือไม่ (มาตรา ๑๘๒ ประกอบมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒)
๑.๑๑ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดใดตราให้ใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ หรือได้ตราขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (มาตรา ๑๘๕)
๑.๑๒ วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาว่า หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศฉบับใด มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่ (มาตรา ๑๙๐)
๑.๑๓ พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๑)
๑.๑๔ วินิจฉัยคำร้องจากบุคคลซึ่งอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๒)
๑.๑๕ พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป (มาตรา ๒๑๔)
๑.๑๖ วินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๓๐ หรือไม่ (มาตรา ๒๓๓)
๑.๑๗ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอพร้อมด้วยความเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๔๕ (๑))
๑.๑๘ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอพร้อมด้วยความเห็น ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๕๗ (๒))
๒. ศาลปกครอง (Administrative Courts)
แต่เดิมนั้น ระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบศาลเดี่ยว ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ รวมทั้งคดีปกครอง ภายหลังเมื่อประเทศไทยได้ปฏิรูปการเมืองโดยการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ขึ้น รัฐธรรมนูญ[๙]จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองแยกต่างหากจากศาลอื่น ๆ ในลักษณะศาลคู่ ส่งผลให้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ โดยเริ่มจัดตั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดขึ้นพร้อมกันในวันดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการที่ประเทศไทยเริ่มต้นใช้ระบบศาลคู่และมีหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองของศาลอย่างเป็นรูปธรรมโดยผลของพระราชบัญญัติดังกล่าว[๑๐]
ปัจจุบัน ศาลปกครองมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชั้น ได้แก่ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น แต่ในอนาคตอาจจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้[๑๑]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดอำนาจของศาลปกครองไว้ใน มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยบัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น
จากถ้อยคำตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ที่ว่า ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ นั้น อำนาจของศาลปกครองมีเป็นประการใดจึงพิจารณาได้จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสำคัญ ซึ่งมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ได้แยกประเภทคดีปกครองออกเป็น ๖ ประเภท[๑๒] ดังนี้
๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
คดีที่มีการฟ้องต่อศาลปกครองนั้นอาจเป็นการฟ้องในเรื่องคำสั่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสั่งทางปกครอง หรืออาจเป็นกรณีที่กฎหรือการกระทำอื่นใดของทางราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ
๖) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ส่วนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดไว้ใน มาตรา ๙ วรรคสอง (๑) (๒) และ (๓) ซึ่งการบัญญัติไว้ดังกล่าว มีความมุ่งหมายที่จะกำหนดข้อยกเว้นเฉพาะคดีที่มีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) (๒) หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลตาม (๓) ไม่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง[๑๓] คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองจึงอาจสรุปได้ดังนี้[๑๔]
๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร (มาตรา ๙ วรรคสอง (๑))
๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (มาตรา ๙ วรรคสอง (๒))
๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ (มาตรา ๙ วรรคสอง (๓))
๔) คดีที่มีกฎหมายตัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ
๓. ศาลทหาร (Military Courts)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๘ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖ แบ่งศาลทหารออกเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด
สำหรับศาลทหารชั้นต้น พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๗ แบ่งออกเป็นศาลจังหวัดทหาร ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใด ๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
แต่คดีต่อไปนี้ ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔
๑) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
๒) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
๓) คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว
๔) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๕ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๙๖/๒๕๔๑)
บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ กำหนดไว้ ดังนี้
๑) นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
๒) นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามกฎหมายอาญาทหาร
๓) นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการ หรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๔) นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๕) ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำการอยู่ในหน่วยทหาร
๖) พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณอาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
๗) บุคคลที่ต้องขัง หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
๘) เชลยศึก หรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร[๑๕]
นอกจากนี้ ยังมีศาลทหารในกรณีไม่ปกติ เรียกว่า ศาลอาญาศึก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อมีการรบ การสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และเมื่อหน่วยทหารหรือเรือรบอยู่ในยุทธบริเวณ (ซึ่งกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ตั้งอยู่กับหน่วยทหารหรือเรือรบในยุทธบริเวณทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีเขตอำนาจเฉพาะหน่วยทหารที่อยู่ในยุทธบริเวณ[๑๖] มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจนั้น โดยไม่จำกัดตัวบุคคลและอัตราโทษ เมื่อศาลอาญาศึกพิพากษาแล้วไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น[๑๗]
๔. ศาลยุติธรรม (Courts of Justice)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๘ บัญญัติว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงเปรียบเสมือนเป็น ศาลทั่วไป ซึ่ง อาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ เห็นว่าเป็นศาลหลักของประเทศ[๑๘] ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหารเปรียบเสมือนเป็น ศาลเฉพาะ กล่าวคือ คดีใดเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลทหาร บุคคลผู้ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลก็จะต้องเสนอคดีต่อศาลนั้น และคดีนั้นย่อมมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนคดีใดมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร ซึ่งเป็นศาลเฉพาะแล้ว คดีนั้นย่อมเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลทั่วไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๙๖/๒๕๔๘ จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๔ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้มีขึ้น การดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคล และเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่ง ถ้าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอคดีย่อมนำคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๒) บัญญัติว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๑ บัญญัติว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษากล่าวอ้างว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เกี่ยวกับการไม่รับสมัครสอบโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
การศึกษาเรื่องระบบศาลนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ โดยมีศาลอยู่ด้วยกัน ๔ ระบบ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ซึ่งศาลทั้งสี่ระบบของประเทศไทย ล้วนแต่เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการเหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ตรงที่แต่ละศาลมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีคนละประเภทกัน ดังนั้น การเสนอคดีต่อศาล บุคคลผู้ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องพิจารณาก่อนว่า คดีของตนนั้นเป็นคดีประเภทใดและอยู่ในอำนาจของศาลระบบใด เพราะหากเสนอคดีไม่ถูกต้องตามระบบศาล ศาลนั้นก็ย่อมที่จะไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
บรรณานุกรม
ชาญชัย แสวงศักดิ์. คำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๕.
โชต อัศวลาภสกุล. ๒๕๕๔. การควบคุมตรวจสอบฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง. แหล่งที่มา: http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1565 ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔.
บรรเจิด สิงคะเนติ. หลักกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายปกครอง. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๘.
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๗ กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๕๓.
ฤทัย หงส์สิริ. ศาลปกครองและการดำเนินคดีในศาลปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๖.
วิชัย ตันติกุลานันท์. คำอธิบายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๗ กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์อักษร, ๒๕๕๑.
สมหมาย จันทร์เรือง. ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๕๓.
สิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ และสถาพร สระมาลีย์. กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองชั้นสูง (เอกสารประกอบการบรรยาย). กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป..
อำพน เจริญชีวินทร์. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครองฯ. พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพฯ: นิติธรรม, ๒๕๔๕.
[๑]สิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ และสถาพร สระมาลีย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองชั้นสูง (เอกสารประกอบการบรรยาย), (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ม.ป.ป.), หน้า ๑.
[๒]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒.
[๓]โชต อัศวลาภสกุล, ๒๕๕๔, การควบคุมตรวจสอบฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง, แหล่งที่มา: http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1565 ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔.
[๔]บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายปกครอง, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๘), หน้า ๑๗๑.
[๕]ไพโรจน์ วายุภาพ, คำอธิบายระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๕๓), หน้า ๒๔.
[๖]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๔.
[๗]คำว่า มาตรา ในข้อ ๑. นี้ หมายถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา.
[๘]ไพโรจน์ วายุภาพ, เรื่องเดิม, หน้า ๒๕-๒๖.; สมหมาย จันทร์เรือง, ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๕๓), หน้า ๒๙-๓๑.
[๙]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๖-๒๘๐.
[๑๐]ชาญชัย แสวงศักดิ์, คำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๕), หน้า ๗๕-๙๕.
[๑๑]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคท้าย.
[๑๒]ฤทัย หงส์สิริ, ศาลปกครองและการดำเนินคดีในศาลปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๖), หน้า ๓๙-๗๓.
[๑๓]อำพน เจริญชีวินทร์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครองฯ, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, ๒๕๔๕), หน้า ๑๒๕.
[๑๔]ฤทัย หงส์สิริ, เรื่องเดิม, หน้า ๗๓-๘๐.
[๑๕]ไพโรจน์ วายุภาพ, เรื่องเดิม, หน้า ๒๙-๓๐.
[๑๖]สมหมาย จันทร์เรือง, เรื่องเดิม, หน้า ๖๓-๖๔.
[๑๗]วิชัย ตันติกุลานันท์, คำอธิบายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิมพ์อักษร, ๒๕๕๑), หน้า ๔.
[๑๘]ไพโรจน์ วายุภาพ, เรื่องเดิม, หน้า ๒๖.
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|