หน้าแรก บทความสาระ
ผู้มีอำนาจกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เฉพาะกรณีเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 50441790
เฉลิมพล สุมโนพรหม** ประธานคณะผู้ทำงานทางด้านกฎหมายของเครือข่ายพลังราม นายกสมาคมปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก่อตั้ง) นักศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ประธานนักศึกษา Ph.D.รุ่น 8) อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 10
27 มีนาคม 2554 21:46 น.
 
สืบเนื่องจากกรณีสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักปราบปรามทุจริตภาคการเมือง 2 มีมติการประชุมครั้งที่ 192-27/2553 วาระที่ 3.3วันที่ 27 เมษายน 2553 เรื่อง สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิมไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ ร่วมกันออกคำสั่งขยายระยะเวลาราชการให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี โดยมิชอบ ตามเรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 50441790
                   เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยมี นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ และ รศ.ดร. ธำรงสิน เจียรตระกูล อาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้กล่าวหา ได้กล่าวหาว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายวิชาการและวิจัย และ รศ.คิม ไชยแสนสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายบริหาร ร่วมกันออกคำสั่งขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ให้แก่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รศ.รำไพ สิริมนกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมิชอบ ทำให้ รศ.รังสรรค์ แสงสุข และรศ.รำไพ สิริมนกุล ได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญ จากการต่ออายุราชการ และได้รับผลประโยชน์จากเงินสมนาคุณตำแหน่ง
                   วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ คือ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
                   จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย
                   1.นางสาวสมลักษณ์    จัดกระบวนพล   กรรมการ ป.ป.ช. ประธานอนุกรรมการ
                   2.นายบดินทร์    เยี่ยมสมบัติ        อนุกรรมการ
                   3.นายดิเรก    ปัทมสิริวัฒน์         อนุกรรมการ
                   4.นายอุดมศักดิ์  ดุลยประพันธ์      อนุกรรมการและเลขานุการ
                   5.นายสาโรจน์   ปั้นแววงาม     อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                   6.นายธีรพงศ์  ยอดกุล       อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
                   เมื่อคณะอนุกรรมการทั้ง 6 ได้เริ่มทำการไต่สวนทันที โดยเริ่มต้นที่แจ้งคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รับทราบ เมื่อทำการไต่สวนแล้วเสร็จ คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ทำหน้าที่ไต่สวนได้มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ
                   ฝ่ายอนุกรรมการเสียงข้างมาก จำนวน 3 เสียง ประกอบด้วย นายบดินทร์ เยี่ยมสมบัติ อนุกรรมการ นายอุดมศักดิ์ ดุลยประพันธ์ อนุกรรมการและเลขานุการ และนายสาโรจน์ ปั้นแววงาม อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีความเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
                   ฝ่ายอนุกรรมการเสียงข้างน้อย จำนวน 2 เสียง ประกอบด้วย นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล ประธานอนุกรรมการ และนายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อนุกรรมการ มีความเห็นว่า การที่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ แม้เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ได้ขยายเวลาราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยให้แก่ตนเอง เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจาก รศ.รังสรรค์ แสงสุข สามารถที่จะเลือกดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือขยายเวลาราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัย อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ รศ.รังสรรค์ แสงสุข ได้ดำเนินการเพื่อให้มีการขยายเวลาราชการให้แก่ตนเองในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ต้องเสียงเงินจากการขยายเวลาราชการ ได้แก่ เงินตำแหน่งวิชาการ และเงินเดือนราชการ แม้ต่อมาภายหลับจะได้คืนเงินดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็ถือว่าได้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว เห็นว่าการกระทำของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคสาม และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
                   ส่วนนายธีรพงศ์ ยอดกุล อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ติดราชการไม่ได้ร่วมประชุมออกเสียงด้วย จึงขาดไป 1 เสียง
                   กล่าวโดยสรุป ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดไต่สวน ตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ในการประชุมสรุปผลการไต่สวนพร้อมแสดงความเห็นในสำนวนคดีดังกล่าว ผลปรากฏว่ามีคณะกรรมการฝ่ายเสียงข้างมากจำนวน 3 เสียง มีความเห็นว่า ข้อกล่าวหาตกไป คดีไม่มีมูลความผิด คณะกรรมการฝ่ายเสียงข้างน้อยจำนวน 2 เสียง มีความเห็นว่า คดีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรง และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนอีกหนึ่งเสียงไม่ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อลงคะแนน เพราะติดราชการ
                   หลังจากนั้นได้มีการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักปราบปรามการทุจริต ภาคการเมือง 2 ครั้งที่ 192-27/2553 วาระที่ 3.3 วันที่ 27 เมษายน 2553 ที่ประชุมลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้ คือ
                   ฝ่ายเสียงข้างมากจำนวน 7 เสียง มีความเห็นพ้องต้องกันว่า คดีนี้มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคสาม และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
                   ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้แก่ ศาสตราจารย์ เมธี ครองแก้ว เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า การกระทำของ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข มีเจตนาทุจริตในการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ อันจะมีมูลเป็นความผิดทางอาญา คงฟังได้เพียงว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 1082/2548 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้นมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคห้า
                   ประธานจึงสรุปว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคห้า และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
                   ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดี กับ รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี
                   หมายเหตุ ในการประชุมพิจารณาเรื่อง ตามวาระที่ 3.3 นี้ นายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. มิได้ร่วมพิจารณาวินิจฉัยด้วย
                   คดีนี้ ได้ปิดสำนวนลงเป็นเรื่องกล่าวหา คดีหมายเลขแดงที่ 08264553
                   ต่อมา วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 “น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 เมษายน ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 เมษายน ได้มีมติชี้มูลความผิดนายคิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) สมัยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มร.และพวก กรณีต่ออายุการเป็นข้าราชการให้กับนายรังสรรค์ แสงสุข สมัยเป็นอธิการบดี มร.หลังจากอายุครบ 60 ปี ออกไปอีก 5 ปี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มาตรา 18 และ 19 ที่การต่ออายุราชการจะทำได้เฉพาะตำแหน่งข้าราชการฝ่ายวิชาการเท่านั้น ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร ที่ประชุมจึงมีมติว่านายคิม นายรังสรรค์และพวก มีความผิดทางวินัยร้ายแรงและความผิดทางอาญา”(1) 
                   หลังจากนั้น นายไชยยศ จิรเมธากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผย ต่อสื่อมวลชนว่า “นายไชยยศ จิรเมธากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ดร.สุเมธ แย้มนุ่นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาออกจากราชการ ลงวันที่ 8 ก.พ.2554 จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2547 ซึ่งจะทำให้นายรังสรรค์ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลัง นอกจากนี้ ยังมี นายเฉลิมพล ศรีหงส์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2553 มีผลให้ต้องคืนบำเหน็จบำนาญย้อนหลัง และนายคิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้ง 3 รายมีความผิดวินัยร้ายแรงตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด กรณีความผิดวินัยร้ายแรงทุจริตต่อหน้าที่ขยายอายุราชการให้แก่นายรังสรรค์ แสงสุข ซึ่ง ดร.สุเมธได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความว่ามีอำนาจหรือไม่ และกฤษฎีกาตีความกลับมาว่าเป็นอำนาจของ สกอ. ดังนั้น ดร.สุเมธจึงมีคำสั่งดังกล่าวนายไชยยศกล่าวว่า ต่อจากนี้ สกอ.จะต้องส่งเรื่องไปยังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อรับทราบคำสั่ง และให้บุคคลทั้งสามออกจากตำแหน่งราชการ และ ให้ตั้งกรรมการเพื่อสรรหาอธิการบดีคนใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 รายยังมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ได้ภายใน 30 วัน” (2)
                   อีกทั้งยังมีสื่อสารมวลชนในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชนประเภททีวี ประเภทรายการวิทยุ ตลอดจนสื่อสิ่งพิมพ์แทบทุกฉบับ ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อทางอินเตอร์เน็ต ที่ต่างล้วนประโคมข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ต่างออกมาให้ข่าวกับสื่อสารมวลชนทุกสาขาในทำนองเดียวกันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการสอบสวนโดยใช้วิธีการไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ “สกอ.” นั้นก็ดำเนินการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ด้วยการลงโทษไล่ออก รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.คิม ไชยแสนสุข และ รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ นั้นชอบแล้ว
                   ไม่เว้นแม้แต่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเองก็ยังออกมาให้ข่าว ต่อสื่อสารมวลชนเช่นกัน แต่ให้ข่าว ความว่า “สำนักงานอัยการพิเศษ ได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า การขยายอายุราชการให้นายรังสรรค์ เป็นมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ใช่คำสั่งของบุคคลใดคนหนึ่ง อีกทั้งการแจ้งข้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสำนวน เห็นควรให้แจ้งข้อหาใหม่ จึงเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา”(3)
                   เห็นได้ว่า ในกรณีประเด็นปัญหาในคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นคดีข้อกล่าวหาเลขดำที่ 50441790 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และได้มีการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักปราบปรามการทุจริต ภาคการเมือง 2 ครั้งที่ 192-27/2553 วาระที่ 3.3 วันที่ 27 เมษายน 2553 จนออกเป็นคดีกล่าวหา คดีหมายเลขแดงที่ 08264553 ที่มีมติ เห็นว่า รศ.รังสรรค์ แสงสุข รศ.เฉลิมพล ศรีหงษ์ และ  รศ.คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 39 วรรคห้า และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นไม่เคยมีผู้ใดกล่าวถึง ประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรืออำนาจการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เลยแม้แต่รายเดียว แต่ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงประเด็นปัญหานี้ไว้แล้วเมื่อครั้งทำคำแถลงการณ์ของเครือข่ายรวมพลังราม ฉบับที่ 2 โดยตั้งเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ “ไม่มีผู้เสียหาย” เพราะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ใช่ผู้เสียหายอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนคำร้องและไม่มีอำนาจมีมติชี้มูลความผิดในคดีนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ด้วยระยะเวลาที่ใช้ในการร่างแถลงการณ์ดังกล่าวมีน้อยมาก จึงไม่อาจลงรายละเอียดในเหตุผล ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยกับเรื่องอำนาจการกล่าวหาบุคคลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ จึงขอถือโอกาสนำมาเขียนอธิบายความ ณ ที่นี้  กล่าวคือ
                   คดีนี้ผู้กล่าวหา คือ นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ และ รศ.ดร. ธำรงสิน เจียรตระกูล อาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราม ได้กล่าวหาตามเรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 50441790 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
                   ดังนั้นคดีนี้ ผู้กล่าวหาได้ยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แน่นอน
                   ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.25542 มาตรา 66 บัญญัติว่า “ในกรณีทีมีผู้เสียหายกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมาตรี รัฐมนตรี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิดวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.”
                   มาตรา 68 บัญญัติว่า  “ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องได้ ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีอำนาจยื่นคำร้องแทนผู้เสียหาย
       (1) ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากผู้เสียหายให้ยื่นคำร้องแทน
                   (2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ใน ความดูแลและไม่สามารถร้องเองได้
                   (3) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา ในกรณีผู้เสียหายตายหรือมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำร้อง เองได้ หรือไม่สามารถมอบอำนาจได้
       (4) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล ในกรณีผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล
                   (5) ญาติของผู้เสียหาย ในกรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคน ไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถทำหน้าที่ได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ”
                   ด้วยเหตุที่อ้างตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะยื่นคำร้องกล่าวหา หรือกล่าวโทษบุคคลใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นั้น บุคคลผู้นั้นจะต้องเป็น “ผู้เสียหาย” เท่านั้น
                   ซึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.25542 มาตรา 4 ได้ให้คำนิยาม ความหมายของคำว่า “ผู้เสียหาย” หมายความว่า “ผู้เสียหายจากการกระทำอันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น”
                   เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีความเสียหายของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หากเกิดมีขึ้นจริงแล้ว ผู้เสียหายที่แท้จริง ก็คือ “สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง” หาใช่บุคคลอื่นใดไม่ ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นนิติบุคคลที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ที่บัญญัติไว้ใน
                   มาตรา 4 ความว่า “ให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514 เป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นนิติบุคคล” และใน
                   มาตรา 18 บัญญัติว่า  “สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วๆปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้...”
                    เมื่อกรณีมีกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ที่กล่าวมานี้ ย่อมต้องทำให้ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหายได้ และการดำเนินกิจการทั้งหลายย่อมต้องขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหารสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แก่ นายกสภามหาวิทยาลัย หรืออุปนายกสภามหาวิทยาลัยกรณีนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อยู่ หรือไม่อาจทำการได้ และ/หรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกสภามหาวิทยาลัย
                   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ และ รศ.ดร. ธำรงสิน เจียรตระกูล อาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ใช่ผู้เสียหาย ที่จะกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
                   จริงอยู่แม้จะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 ที่ได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 22 ก. หน้า 4 วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ที่บัญญัติให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ คือ
                   มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   “มาตรา 66 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เว้นแต่ในกรณีที่ผู้กล่าวหามิใช่ผู้เสียหาย และคำกล่าวหาไม่ระบุพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะไม่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ได้
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งได้
                   บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการผู้ใช้หรือสนับสนุนด้วย”
                   มาตรา 7 ให้ยกเลิกมาตรา 67 มาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
                   แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 มาตรา 66 ที่แก้ไขใหม่จะบัญญัติ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เว้นแต่ในกรณีที่ผู้กล่าวหามิใช่ผู้เสียหาย และคำกล่าวหาไม่ระบุพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะไม่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ได้(4)
                   แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง กล่าวถึงเพียงเฉพาะกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น” ซึ่งในบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามความหมาย แห่งบทบัญญัติในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ได้บัญญัติให้ความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้ว่าหมายความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและ สมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้ หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะ บุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ” เมื่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในมาตรา 66 มิได้กล่าวถึงคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไว้ ทั้งๆ ที่คำๆนี้มีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 แต่เมื่อในมาตรา 66 มิได้กล่าวถึง ย่อมต้องมิอาจตีความไปถึงคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”ต้องให้มีอยู่ในมาตรา 66 แต่อย่างใดไม่
                   การตีความตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความกฎหมายที่มีลักษณะการบังคับใช้ในลักษณะเหมือนกับกฎหมายอาญา และกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่ง มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 35   มาตรา 40 มาตรา 41 มตรา 43 มาตรา 58 และมาตรา 62 องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไย ด้วยแล้ว ยิ่งต้องตีความด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง คือ ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทุกตัวอักษร เพราะบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้นล้วนมีผลต่อผู้ถูกกล่าวหาในทางที่เป็นโทษ และมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น
                   อีกทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 มาตรา 66 วรรคสอง ยังได้บัญญัติถึงเรื่องที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการวางระเบียบเกี่ยวกับการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งได้ (5) อีกด้วย เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายต้องการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. วางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 ไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย ในที่สุดความได้ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการวางระเบียบดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการออกเป็นระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 โดยข้อ  3 ในระเบียบดังกล่าวนี้ ได้มีบทบัญญัตินิยามให้ความหมายของคำว่า  “ผู้เกล่าวหา” ไว้โดยให้หมายความว่า “ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่มิใช่ผู้เสียหาย ซึ่งได้ยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.”
                   นอกจากนี้ในข้อที่ 5 ยังได้บัญญัติไว้ความว่า “ในกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.”
                   จากบทบัญญัติแห่งระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 ในข้อที่ 5 ดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่านับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เรื่องการกล่าวหาผู้กระทำความผิดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น” หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ตามข้อ 5 แห่ง ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ทันที และโดยเร็ว อย่างแท้จริง
                   แต่ด้วยเหตุที่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25 ตอน 95 ก. หน้า 18 ดังนั้นระเบียบดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้ นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป
                   เมื่อนำระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 มาพิจารณาประกอบกับคดีข้อกล่าวหาเลขดำที่ 50441790 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ในประเด็นปัญหาเรื่องผู้มีอำนาจกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีนี้แล้ว จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 ออกมามีผลบังคับใช้ภายหลังจากคำกล่าวหาของ นายวิวัฒน์ชัย กุลมาตย์ และ รศ.ดร. ธำรงสิน เจียรตระกูล อาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้กล่าวหาตามเรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 50441790 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งที่ 323/2550 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง
                   ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของประเด็นปัญหาตามข้อกฎหมายที่ว่า คดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือผู้กล่าวหาไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงเป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนคำร้องกล่าวโทษหมายเลขดำที่ 50441790 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดในคดีนี้
                   อนึ่งผู้เขียนได้ตั้งแนวทางข้อต่อสู้ในคดีนี้ไว้หลายประเด็น นอกจากประเด็นปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องที่ว่า “คดีนี้ไม่มีผู้เสียหายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำการไต่สวนได้” แล้วยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นตำแหน่งที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา 23 ซึ่งเป็นเรื่องการดำรงตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอายุราชการตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน ไม่สมควรนำมาบังคับใช้กับกรณีคดีนี้ร่วมกัน และยังมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายอื่นๆ อีกมาก ที่ได้เขียนยกร่างไว้แล้ว นอกจากนี้ผู้เขียนคิดว่าคดีนี้สามารถนำสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ในที่สุด
                   หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้พิจารณาด้วยความขอบพระคุณยิ่ง
        
        
        
        
        เชิงอรรถ
       1.ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 เวลา 20:29:00 นhttp://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538975760&Ntype
        2.ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์, 9 กุมภาพันธ์ 2554 11:04 น.http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000017476
        3.ที่มา : www.komchadluek.net,
       http://law.uplus-solution.com/news%20detail.php?bn%20id=163
        4.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 มาตรา 6 “มาตรา 66 วรรคหนึ่ง”
        5.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2550 มาตรา 6 “มาตรา 66 วรรคสอง”
               
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544