ระบบกึ่งรัฐสภาเพื่อการพัฒนาประเทศตามแนวเสนอของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์
นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี |
|
27 กุมภาพันธ์ 2554 22:37 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
บทความนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นสรุปข้อความที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ตามที่ท่านศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เสนอและให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองการปกครองของไทยไว้ หากไม่ตรงหรือเข้าใจไม่ถูกต้องข้าพเจ้าต้องขออภัยและขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยให้ความกระจ่าง เนื่องจากข้าพเจ้ามิใช่ผู้เชี่ยวชาญ (ท่านอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมหาชนที่แท้จริง) และทุ่มเท เสียสละพัฒนาองค์กร กฎหมายมหาชนของประเทศตลอดอายุรับราชการของท่านและให้ความรู้ ชี้แนะ เตือนสติแก่วงการนักกฎหมายและสังคมตลอดมา จึงนับได้ว่าท่านอาจารย์เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งอนุชนนักกฎหมายรุ่นหลังจะต้องยึดถือปฏิบัติ
ระบบสถาบันการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ
หลักประชาธิปไตย - สมาชิกสภาผู้แทนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง การบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง (ก่อน) เป็นการขัดหลักประชาธิปไตย (สิทธิทางการเมือง) และหลักความเท่าเทียมกันซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การไม่ปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียมากกว่า (ดูผลเสียที่ ศ.อมรได้วิเคราะห์ไว้)
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนใช้วิธีเลือกตั้ง เขตเดียวเบอร์เดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าควรให้เขตเดียวนั้นเป็นเขตใหญ่ด้วย (เนื่องจากสภาพปัจจุบันยังมีการซื้อเสียงจำนวนมาก เมื่อการเลือกตั้งพัฒนาขึ้นแล้ว จะแก้ให้เขตเล็กลงก็ได้)
หลักถ่วงดุลอำนาจ - สภาผู้แทนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เป็นรายบุคคล ได้เท่านั้น (เฉพาะกรณีนายกรัฐมนตรี) ถ้าสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีให้ยุบสภาไปพร้อมกัน (เป็นการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย) ตามระบบกึ่งรัฐสภา
- สมาชิกสภาผู้แทนมีอำนาจยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบการกระทำของนายกรัฐมนตรีได้ต่อ ป.ป.ช.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใน
กรณีที่มีการรับฟ้องในกระบวนการนี้ นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทน โดย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องวินิจฉัยคดีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่รวดเร็วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนยื่นคำร้องให้ตรวจสอบนี้ นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาไม่ได้ (ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะมีสมาชิกสภาผู้แทนรวมกันตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป ยื่นคำร้องเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯพิจารณาพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน ๔๕ วัน)
หลักประชาธิปไตย - สมาชิกสภาผู้แทนไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ขัดกับหลัก ประชาธิปไตย (หลักความเท่าเทียมกัน) ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย (ส.ส.ร.ปี 2540 ชี้แจงว่าเนื่องจากไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้กำหนดคุณสมบัติให้ ส.ส.สูงขึ้นคือ จบขั้นต่ำปริญญาตรี ส.ส.ร. จึงลงมติให้ ส.ส. ต้องจบการศึกษาปริญญาตรี)
หลักประชาธิปไตย - สมาชิกสภาผู้แทน ต้องมีความอิสระจะตกอยู่ในอาณัติของผู้ใดหรือพรรคการเมืองใด (หลักถ่วงดุลอำนาจ) ไม่ได้ พรรคการเมืองจะมีมติให้ ส.ส.ลงมติในสภาตามที่พรรคต้องการไม่ได้ ไม่ว่าเป็นมติรับร่างกฎหมาย ,มติไม่ไว้วางใจ ดังเช่น รัฐธรรมนูญ (ฉบับเริ่มแรก) พ.ศ. ๒๔๗๕
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวสยามมิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆหรือที่เรียกว่า หลักอิสระจากอาณัติใดของผู้แทนปวงชน (free mandate)[1] หรือที่ ศ.อมร เรียกว่าส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระตามมโนธรรม - conscience สรุปก็คือ การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของผู้นั้นและเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอยู่ด้วย พรรคการเมืองนั้นจะลงมติว่าสมาชิกของพรรคได้กระทำการโดยขัดกับข้อบังคับหรือมติของพรรคไม่ได้ (จะเป็นการที่พรรคการเมืองนั้นนั่นเองที่กระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญ) หรือที่เรียกกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ในสภาต้องยิ่งใหญ่กว่าการเป็นสมาชิกพรรค
(จะเห็นว่าสอดคล้องกับหลักที่จะบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคไม่ได้) ข้อสังเกต -หลักอิสระนี้เป็นหัวใจของระบบรัฐสภา คือเป็นหลักที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ต้องควบคุมฝ่ายบริหาร เป็นหลักถ่วงดุลอำนาจ
ฝ่ายบริหาร -ภาวะการเป็นผู้นำของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ)
หลักประชาธิปไตยแบบรัฐสภา - นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทน แต่ไม่จำเป็นต้อง
(หลักถ่วงดุลอำนาจ) บังคับว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การบังคับโดยกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. (เท่านั้น)นั้น เท่ากับทำให้ระบบมีความไม่สมดุลเกิดขึ้น คือ ระบบรัฐสภา (ซึ่งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมิได้แยกจากกันแล้ว) ระบบคานอำนาจจะเสียดุลไป และการบังคับจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี(ดูการวิเคราะห์ของ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์) ระบบรัฐสภาเพียงต้องการให้ฝ่ายบริหารต้องมาจากสภาผู้แทนเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ฝ่ายบริหารต้องเป็น ส.ส. แต่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทน (ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย) การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องคัดเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทน เมื่อสภาผู้แทนคัดเลือก (โดยเสียงข้างมาก) ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องไปคัดเลือกคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศต่อไป ทั้งนี้ ถ้านายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ที่สภาผู้แทนคัดเลือก หรือนายกรัฐมนตรีคัดเลือกรัฐมนตรีจาก ส.ส. ข้าพเจ้าเห็นว่าจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.ด้วยตาม
หลักการขัดกันในหน้าที่ หรือหลักถ่วงดุลอำนาจ โดยสรุปตามหลักของของระบบรัฐสภา ก็คือฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) ต้องได้รับความยินยอมจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทน) เท่านั้น การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องกระทำในที่ประชุมของสภาผู้แทนและโดยเปิดเผย เมื่อดำเนินการตามนี้แล้ว ถือว่านายกรัฐมนตรีมาจากประชาชนแล้ว ข้อสังเกต (สมัยก่อนนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากที่ประชุมสภาผู้แทนเลือก หรือที่พูดกันว่าไปจัดตั้งหรือเฟ้นหาตัวนายกรัฐมนตรีในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง เมื่อสภาไม่ได้คัดเลือกจะถือว่านายกรัฐมนตรีมาจากประชาชนไม่ได้)
หลักถ่วงดุลอำนาจ - หากรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ถูกลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีต้องถอดถอนและเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีใหม่ เพราะการตรวจสอบ รัฐมนตรี โดยหลักการ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการทำงานของรัฐมนตรีทุกคน เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นเป็นผู้คัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็น รัฐมนตรี ด้วยตนเอง โดยสรุปก็คือเนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง นั่นเอง (ระบบกึ่งรัฐสภา)
- นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภา (ระบบรัฐสภา)
หลักแบ่งแยกอำนาจ - รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าเห็นว่าถึงแม้ภายหลังพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีได้แยกตัวออกไป ก็ให้ถือว่ารัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) ของนายกรัฐมนตรียังคงบริหารประเทศต่อไปได้และยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากสภาผู้แทนเสียงข้างมากตั้งแต่แรก ตามหลักแบ่งแยกอำนาจ (ระบบกึ่งรัฐสภา)
- ฝ่ายบริหารมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ได้ หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นชอบให้ตรากฎหมายของฝ่ายบริหาร ข้าพเจ้าเห็นว่าฝ่ายบริหารไม่ต้องลาออกหรือยุบสภาเพียงต้องขอความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติให้มากขึ้นในการเสนอร่างกฎหมายครั้งใหม่ ตามหลักแบ่งแยกอำนาจ (ระบบกึ่งรัฐสภา)
หลักตรวจสอบและถ่วงดุล - ส่วนในร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เงินงบประมาณเป็นเงินที่รัฐบาลใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารเงินงบประมาณจึงเป็นการกระทำทางบริหาร แต่เงินประมาณดังกล่าวเป็นเงินที่ฝ่ายบริหารจัดเก็บจากประชาชน จึงต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรู้และตรวจสอบได้ด้วยในภายหลัง จึงกำหนดให้เงินงบประมาณเสนอเป็นร่างกฎหมายเพื่อผ่านรัฐสภา ข้าพเจ้าเห็นว่าร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ฝ่ายบริหารเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัตินั้นไม่จำเป็นต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ เพียงแต่เสนอให้รัฐสภาได้รับรู้และอภิปรายกันทั่วไปชี้แนะตั้งข้อสังเกตให้แก่รัฐบาลเพื่อติดตามตรวจสอบได้ในภายหลัง เมื่อรัฐสภาได้อภิปรายร่างงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป
(หลักการตรวจสอบ) - ในกรณีที่เกิดวิกฤตไม่สามารถแก้ไขทางรัฐสภาได้ และฝ่ายบริหาร(นายกรัฐมนตรี)ไม่ประสงค์จะประกาศยุบสภา ข้าพเจ้าเห็นว่าควรให้นายกรัฐมนตรีถวายการลาออกจากตำแหน่งต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เพี่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยให้นายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการตั้งแต่ง และให้นายกรัฐมนตรีรักษาการต้องไปขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนภายใน ๓๐ วัน หากไม่ได้เสียงสนับสนุนข้างมาก จากสภาผู้แทน ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศยุบสภาต่อไป (ระบบรัฐสภา)
สรุป การปฏิรูปการเมืองได้ปฏิรูปมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกปี ๒๕๔๐ โดย ส.ส.ร.ที่เรียกว่า ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน และส.ส.ร. ปี ๒๕๕๐ ห่างกัน๑๐ ปีพอดี ครั้งต่อไปจะเป็นครั้งที่ ๓ ฉะนั้นหากครั้งที่ ๓ ใช้ในรูป ส.ส.ร .กันอีกไม่ทราบว่าจะปฏิรูปการเมืองของประเทศได้หรือไม่ เพราะ ส.ส.ร. ปี ๒๕๔๐ ใช้รูปแบบเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน ๗๖ คน และจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองรวม ๙๙ คน ซึ่งสังคมเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยมาเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่หลากหลาย แต่เมื่อจำนวนกรรมการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมีจำนวนมากก็ต้องใช้เสียงข้างมากตัดสินโดยไม่ยึดหลักของระบบมาทำความเข้าใจ หรือนำเอาแต่คำประชาพิจารณ์ของประชาชนที่ไปรับฟังมาว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่มาบัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญอาจทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่อาจปฏิรูปการเมืองได้ เช่นการบัญญัติให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องจบชั้นปริญญาตรีตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน หรือการบัญญัติให้มี ส.ว.มาจากเลือกตั้งจากฐานประชากรแบบเดียวกับส.ส.จำนวน ๒๐๐ คน ซึ่ง ส.ส.ร.เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยจึงลงมติเสียงข้างมากในขั้นตอนสุดท้ายให้เลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด โดยไม่ยึดหลักของระบบ ในที่สุดวุฒิสภาก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ที่เรียกว่า สภาทาส ไม่ใช่สภาตรวจสอบหรือถ่วงดุลแต่อย่างใด (ข้อสังเกต ในขณะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนเพื่อการทำประชาพิจารณ์นั้น กำหนดให้มี ส.ว.สองประเภท คือ สมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนไม่เกินสามในสี่ของสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักถ่วงดุลอำนาจในระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่ไม่ได้รับความยอมรับ)
ซึ่งท่าน ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เห็นว่าควรใช้รูปแบบที่มีคณะกรรมการจำนวนไม่มาก แต่ต้องมีวิธีให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยตลอดการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ และขั้นสุดท้ายต้องให้ประชาชนลงมติว่าจะรับร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการปกครองประเทศหรือไม่ และท่านได้ให้สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการฯ เกี่ยวกับวิธีของท่านด้วยว่า ขั้นตอนในการ (ปฏิรูปการเมือง) ของผม จึงไม่เหมือนกับของอาจารย์ท่านอื่น เพราะผมไม่ได้คิดว่า ผมจะเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ผมเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองด้วยการ (คิด) ว่าจะมีผู้ใดหรือองค์กรใดที่มีความรู้ความสามารถและอยู่ใน (สถานภาพ) ที่เป็นกลางในการออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะเป็นการปฏิรูปการเมือง (ได้ดีที่สุด)แล้วผมก็แก้ไขรัฐธรรมนูญจัดตั้ง (องค์กร) นี้ขึ้นพร้อมทั้งกำหนดกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีความโปร่างใส-transparency แล้วให้องค์กรนี้ทำความเข้าใจในกลไกต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนทั่วไป ; และหลังจากนั้นผมก็จะรอ (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ที่จะมาจากการออกเสียงประชาลงมติของประชาชนทั้งประเทศ
แต่อาจารย์ท่านอื่น ท่านเหล่านี้จะเริ่มต้นด้วยการ (คิด) ด้วยตนเองว่า (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ควรจะเป็นอย่างไรมีกลไกอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาประเทศได้ ; พวกคุณคงจะเห็นว่าความคิดของผมกับความคิดของท่านอาจารย์เหล่านั้นแตกต่างกัน โดยสรุปก็คือ ผมบอกกับพวกคุณว่า เรามาช่วยกันคิดกันว่า ใครควรจะเป็นคนที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ให้เขามาทำ ตามกระบวนการที่โปร่งใส แต่ไม่ใช่เราเอาทำเอง ; ผมไม่ได้บอกพวกคุณว่า ให้มาช่วยกันคิดเขียน (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ว่าควรจะเป็นอย่างไร มีบทบัญญัติอะไรบ้าง ; แล้วก็มาเถียงกันว่า ของใครถูก ของใครผิด ของใครจะดีกว่ากัน จนหาข้อยุติไม่ได้ ; พิจารณาดูให้ดีนะครับ ประเด็นไม่เหมือนกัน[2] ข้าพเจ้าเห็นว่าตรงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดของประเทศฝรั่งเศส ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ได้ให้ความรู้ว่า ประธานาธิบดี sarkozy ได้ออกรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อ คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆ ของสาธารณรัฐที่ ๕ มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น องค์ประกอบของคณะกรรมการได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรี Edouard Baladur ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพเพราะเดิมก่อนหน้านี้ก็เป็นนักวิชาการที่เขียนหนังสือการเมืองการปกครองจำนวนมาก เป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งและเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐด้วย ส่วนรองประธานอีก ๒ คน ก็คือ นาย Jack Lang อดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกรัฐสภา และเป็นอดีตอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยปารีส10 รองประธานคนที่สองคือ นาย Pierre Mazeaud อดีตประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่วนกรรมการอีก ๑๐ คนนั้น เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน ๖ คน อีก ๔ คนมาจากตัวแทนสภายุโรปและจากอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ โดย ศ.นันทวัฒน์ เน้นให้เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้มีจำนวนไม่มาก แต่ทุกคนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเช้ามาทำการศึกษาว่าจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอย่างไร และว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะมีที่มาจากฝ่ายการเมือง คือ ประธานาธิบดีและรัฐบาลเสนอขอให้มีการแก้ไข แต่ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดจากการทำงานของนักวิชาการที่มีความรู้และมีความเป็นกลาง ทำงานภายใต้บรรยากาศทางวิชาการ จัดทำข้อเสนอที่มีเหตุผลและมีคำอธิบายได้อย่างชัดเจน ผ่านการให้ความเห็นจากองค์กรของรัฐสภาและพรรคการเมืองมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ ฝ่ายและฝ่ายประชาชน
ฉะนั้น ถ้าอนาคตจะมีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นจริง (ปฏิรูปประเทศไทย) และประชาชนของเราซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ยอมเสียสละ (ไม่ใช่นักการเมืองเพราะเข้าใจธรรมชาติของนักการเมืองที่ต้องทำแบบนั้น เนื่องจากถูกกระทำจากประชาชนและมีผลกระทบกับนักการเมืองมากที่สุด) ข้าพเจ้าเชื่อว่าประเทศไทยคงไม่สามารถจะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ฉบับปฏิรูปประเทศ) ได้เพราะประเทศไทยมีปัญหาทั้งสองด้าน ซึ่งท่าน ศ.อมร อธิบายว่าประเทศสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี Woodrow Wilson มีปัญหาเรื่องระบบกฎหมายมหาชนที่เป็นพื้นฐานในการบริหารราชการ ทำให้มีนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง ทุจริตคอรัปชั่นเป็นจำนวนมาก ประธานาธิบดี Wilson ได้สร้างระบบกฎหมายมหาชน แก้ปัญหาให้สหรัฐอเมริกาโดยได้ ปฏิรูปกฎหมายระบบบริหารราชการ แต่สหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาจากระบบสถาบันการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องปฏิรูปการเมือง เพราะรัฐบาลของเขาใช้ระบบ แบบประธานาธิบดี ที่ฝ่ายบริหารของเขาแยกจากฝ่ายนิติบัญญัติและถ่วงดุลอำนาจกันอยู่แล้ว ประธานาธิบดีและพลเมืองเขาเข้มแข็งและมีคุณภาพ ส่วนประเทศฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แตกต่างกัน ปัญหาของประเทศฝรั่งเศสมาจากระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญที่เป็นระบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารไม่แยกออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ จึงทำให้ ส.ส.แย่งกันมาเป็นรัฐมนตรี และแย่งอำนาจกันเอง จนการเมืองของประเทศไม่มีเสถียรภาพ จน ส.ส.และประชาชนจึงได้ไปเชิญนายพลเดอโกลล์ให้กลับเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ และมอบอำนาจให้นายพลเดอโกลล์แก้รัฐธรรมนูญ แต่ประเทศไทยมีปัญหาทั้ง ๒ ปัญหารวมกัน
และ.....สุดท้ายข้าพเจ้าเชื่อว่าประเทศไทยคงจะมีแต่ ส.ส. ที่มีทัศนคติหรือหรือเพียงพิมพ์ในปฏิทินแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๔ เป็นคำกลอนว่า ไม่พายเรือให้โจรนั่ง คอรัปชั่นต้องหมดไป ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ หัวใจคือประชาชน เท่านั้น
[1] ดู ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , การคุ้มครอง ส.ส.ในฐานะผู้แทนปวงชนไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมือง บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี 2548 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] บทสัมภาษณ์ พัฒนาการของศาลปกครองไทย โดยกองบรรณาธิการวารสารวิชาการศาลปกครอง พ.ศ. 2552 (บทสัมภาษณ์สุดท้าย) ในเว็บไซด์ ศาลปกครอง และ เว็บไซด์ เครือข่ายกฎหมายมหาชน
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|