หน้าแรก บทความสาระ
ความรับผิดทางอาญาของแพทย์ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
คุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ ๔ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
19 ธันวาคม 2553 17:18 น.
 
                ภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ได้เกิดปรากฎการณ์ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในวงการสาธารณสุขของประเทศไทยนั่นก็คือการพร้อมใจกันออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวของบรรดาบุคลากรด้านสาธารณสุขจำนวนมาก รวมถึงมีการแสดงความเห็นระหว่างบรรดานิสิตนักศึกษาแพทย์และนักเรียนที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นแพทย์ในอนาคต ในเชิงต่อต้านกฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
                       สาเหตุที่บรรดากลุ่มบุคลาการด้านสาธารณสุขยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นั้น มีมากมายหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การทุจริตคอรัปชั่นจากกองทุนชดเชยความเสียหาย , การทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เป็นต้น แต่สาเหตุประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่บุคลากรด้านสาธารณสุขหลายๆคนกังวลและหวั่นใจอยู่ลึกๆนั้นก็คือ ความสงสัยในข้อที่ว่า “กฎหมายฉบับนี้จะทำให้โอกาสในการติดคุกของบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่” นั่นเอง
                       แท้จริงแล้วต้องกล่าวว่าระบบกฎหมายของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงในการรับโทษตามกฎหมายของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ จึงได้สร้างระบบคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยมีการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนี้
                       “ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้.....
       (๒) ส่งเสริม สนุบสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ”
       จะเห็นได้ว่าในมาตรา ๘๐ วรรค ๒ ตอนท้าย มีความหมายในทำนองที่ว่า ถ้าหากบุคลากรด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รอบคอบ ตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมแล้ว ก็จะไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในกรณีกลับกันถ้าหากบุคลากรด้านสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมแล้วนั้น ก็มีโอกาสที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้มาใช้บริการสาธารณสุขด้วย
       ที่กล่าวว่า หากปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพแล้วจะต้องรับผิดตามกฎหมายนั้น หมายถึงทั้งความรับผิดทั้งทางแพ่ง (ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน) และทางอาญา อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงในแง่ของคดีอาญาเท่านั้น
       ในทางกฎหมายอาญา บุคคลที่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลที่ประกอบวิชาชีพเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส หรือบาดเจ็บธรรมดานั้น จะต้องรับผิดตามที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนดเอาไว้ เช่น
       “ มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
       “ มาตรา ๓๐๐ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
       “ มาตรา ๓๙๐ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
       ตัวอย่างความผิดที่ยกมานี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่บุคลากรสาธารณสุขอาจจะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือเรียกง่ายๆว่าจากการกระทำโดยประมาทนั่นเอง ซึ่งศาลก็จะใช้ดุลยพินิจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป
       อย่างไรก็ตาม ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้วางบทบัญญัติที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับการรับโทษทางอาญาของบุคลากรด้านสาธารณสุข ไว้ในมาตรา ๔๕ ดังนี้คือ
       “ มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความคิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๙ การชดใช้เยียวยาความเสียหายและการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณาประกอบด้วย ในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้”
       จะเห็นได้ว่ามาตรา ๔๕ ของร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้บังคับศาลให้พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย กล่าวคือ ถึงแม้จะฟังได้ว่าแพทย์หรือบุคลากรอื่นๆด้านสาธารณสุข กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นจริง แต่ศาลจะยังไม่สามารถลงโทษแพทย์หรือบุคลากรอื่นๆด้านสาธารณสุขได้ เพราะว่า   มาตรา ๔๕ บังคับให้ศาลพิจารณาถึง ประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี และอีกหลายๆปัจจัย ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร ก่อนที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการให้ดุลยพินิจศาลที่กว้างขวางมาก ในการที่จะไม่ลงโทษแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขอื่นๆ อีกทั้งยังให้อำนาจศาลที่จะลงโทษน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ลงโทษจำเลยเลยก็ได้ ดังนั้น โอกาสที่บุคลากรด้านสาธารณสุขที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิชาชีพหรือกระทำการโดยประมาท จะต้องรับโทษทางอาญานั้น จึงลดน้อยลงไปเพราะกฎหมายฉบับนี้
       นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับนี้ ยังได้สร้างกองทุนจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข สามารถมาขอรับเงินจากกองทุนได้ทันทีที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว ซึ่งมาตรการนี้อาจมีผลกระทบต่อการใช้ดุลยพินิจของศาลในการลงโทษจำเลยไม่มากก็น้อย เพราะในความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายนั้น ถ้าหากโจทก์ได้รับการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยบ้างแล้ว ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการลดโทษหรือรอการลงโทษจำเลยก็เป็นไปได้
       จะเห็นได้ว่าในแง่ของคดีอาญานั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้ทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขมีโอกาสติดคุกติดตารางกันมากขึ้น ในทางกลับกัน หากมีการฟ้องร้องบุคลากรด้านสาธารณสุขแล้วนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือช่วยให้โอกาสที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาลงโทษนั้น มีน้อยลงไปอีกเสียด้วย
       ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมานี้ คงพอจะทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่กำลังหวั่นใจว่าตนอาจมีโอกาสติดคุกเพิ่มขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ สบายใจได้ว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น รวมถึงคงจะทำให้บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นแพทย์ในอนาคต กลับมามีความมั่นใจและเดินตามความฝันของตนต่อไปได้อย่างแน่วแน่มั่นคงอีกครั้งหนึ่ง


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544