ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน |
|
|
|
คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์
นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ตามที่หนังสือพิมพ์ลงพาดหัวว่า ฝ่ายการเมืองเล็งยุบ ‘ศาลรธน.’ ‘ตุลาการ’ หนุน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากไป มีอำนาจยุบพรรคการเมืองได้ด้วยทำให้ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย หรือว่าองค์กรศาลจะมีอำนาจยุบพรรคการเมืองตามสภาพความเป็นจริงหรือไม่ มิใช่ตามที่กฎหมายบัญญัติ หากกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้แล้ว หรือว่าประเทศไทยเหมาะสำหรับในรูปคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญเช่นเดิมเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์หลักของบ้านเมืองที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญตามที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรสูงสุดเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐบาล[1] แต่ทำไมจึงมีเหตุการณ์ถึงขนาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองท่านหนึ่ง สนับสนุนและกล่าวว่า ผมได้ยินว่ามีคนเริ่มคุยเรื่องนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเกียรติและศักดิ์ศรีของศาลรัฐธรรมนูญถูกย่ำยีอยู่อย่างนี้ ก็อาจจะแก้ไขให้ตั้งแผนกคดีรัฐธรรมนูญในศาลฎีกาหรือในศาลปกครอง โดยให้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรง ผมมองว่าก็จะเป็นผลดีมีความคล่องตัวเรื่ององค์คณะผู้พิพากษาเพราะมีผู้พิพากษามาก สามารถปรับเปลี่ยนกันเป็นองค์คณะได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเรื่องละเมิดอำนาจศาลด้วย ส่วนงานบริหารบุคคลก็อยู่ในการบริหารของศาลยุติธรรม หากเป็นจริงตุลาการคงไม่มีปัญหาแต่คนที่เดือดร้อนจะเป็นข้าราชการในสำนักงานศาลมากกว่าที่ต้องหาที่ทำงานใหม่ และยังกล่าวด้วยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเงินเดือนน้อยกว่าผู้พิพากษาอาวุโสเสียอีกและที่ตนมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเพื่อนฝูงผลักดันให้มาเป็น....ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่นักวิชาการและผู้ร่างรัฐธรรมนูญในบ้านเมืองเราจะต้องศึกษาเรียนรู้และพัฒนาให้เป็นองค์กรสูงสุดตามรัฐธรรมนูญที่แท้จริงมิใช่เพียงบัญญัติให้มีไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้นและก่อนที่จะมีเหตุการณ์นี้ก็มีนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ก็ยังพูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งแปลกปลอมในรัฐธรรมนูญต้องรื้อทิ้ง ถ้าเกียรติและศักดิ์ศรีของศาลรัฐธรรมนูญถูกย่ำยีอยู่อย่างนี้ดังที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพูดและเสนอให้ตั้งแผนกคดีรัฐธรรมนูญในศาลฎีกาหรือในศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่หลักในการปกป้องรัฐธรรมนูญ รักษาสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและคุ้มครองผลประโยชน์ประเทศชาติของมหาชนต้องเสื่อมลง
ในความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นศาลวิชาการ ไม่ใช่ศาลปฏิบัติการ ศาลวิชาการคือศาลที่ตุลาการต้องมีความรู้ทางหลักของรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายมหาชนอย่างลึกซึ้ง มิใช่ศึกษาและตีความเอาจากถ้อยคำในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติขึ้นแล้วนำมาวินิจฉัยดังเช่น คดีอาญาที่ต้องตีความไปตามที่บัญญัติไว้ หรือตีความไปตามพจนานุกรมเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีขึ้นเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ เป็นศาลการเมืองการปกครองต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้รวมทั้งหลักรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายมหาชนและที่สำคัญเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ตุลาการต้องนำมาปรับใข้อย่างเหมาะสมกับรัฐธรรมนูญเพื่อพัฒนาการเมืองการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยต่อไปทั้งนี้ตามแนวตีความนิติวิธีในระบบกฎหมายมหาชนของผู้ที่มีความรู้ที่ได้สั่งสมมา.... องค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้กระทำแทนของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญสูงสุดในการปกป้องรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต
องค์ประกอบและที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
มาตรา 255 ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนห้าคน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนห้าคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 257 จำนวนสามคน
มาตรา 257 การสรรหาและการเลือกตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 255 (3) และ (4) ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสี่คน เป็นกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 255 (3) จำนวนสิบคน และผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 255 (4) จำนวนหกคนเสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มติในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
องค์ประกอบและที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
มาตรา 204 ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนสามคน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวนสองคน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 จำนวนสองคน
ในกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้รับเลือกตาม (1) หรือ (2) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี เลือกบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 205 และมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ที่เหมาะสมจะปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี......
มาตรา 206 การสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 204 (3) และ (4) ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 204 (3) และ (4) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ......
(2) ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกตาม (1).....
ในกรณีที่ไม่อาจสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิตาม (1) ได้ภายในเวลาที่กำหนดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนสามคน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนสองคน เป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการตาม (1) แทน
เพื่อที่จะให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าขออนุญาตให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาดังกล่าวด้วยดังนี้
ข้อ1. องค์ประกอบในฐานะตุลาการวิชาการ
1.1 ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน หรือ ศาสตราจารย์เกียรติติคุณที่เชี่ยวชาญและสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนและยังปฏิบัติหน้าที่หรือเกษียณอายุมาแล้ว และมีผลงานทางกฎหมายที่เห็นเป็นประจักษ์ หรือ
1.2 รองศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วเป็นเวลา 7 ปี หรือ 6 ปี สำหรับผู้ที่จบการศึกษาชั้นปริญญาเอกที่เป็นรองศาสตราจารย์สอนกฎหมายในภาคหรือสาขากฎหมายมหาชนของรัฐหรือเอกชน และมีผลงานทางกฎหมายหรือเขียนหนังสือกฎหมายมหาชน ที่เห็นเป็นประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของนักกฎหมายมหาชน
การที่มีข้อ 1.2 เพิ่มด้วยก็เพื่อให้มีทางเลือก หากองค์ประกอบข้อ 1.1 ไม่มีหรือมีแต่เป็นผู้ที่ไม่ถนัดที่มาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคดี และที่ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย เนื่องจากเห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์หรือศาสตราจารย์ผู้ที่สอนรัฐศาสตร์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาการเมืองการปกครอง ซึ่งน่าเหมาะสมกับการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าและที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2540 กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์เป็นองค์ประกอบด้วย อาจเกิดจากความไม่พร้อมของนักกฎหมายมหาชน หรือนักกฎหมายมหาชนในประเทศไทยในขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอแต่มีนักรัฐศาสตร์อาวุโสมากกว่า
ที่มาของคณะกรรมการสรรหาขององค์ประกอบข้อ 1 (ตุลาการนักวิชาการ)
ให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ของรัฐหรือเอกชน ที่เปิดสอนภาคหรือสาขาวิชากฎหมายมหาชนตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึงคณะที่เปิดสอนปัจจุบันไม่เกิน 10 คณะ มาเป็นคณะกรรมการสรรหาและให้คณะนิติศาสตร์ทั้ง 10 คณะเป็นผู้ที่เสนอชื่อศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ดังกล่าวด้วยความยินยอมของผู้นั้นแห่งละ 1 คน ยื่นให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกประชุมคณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือกต่อไป
การที่ให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ทั้ง 10 คน เป็นกรรมการสรรหา เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงกฎหมายโดยตรงและรู้ว่าผู้ใดเป็นผู้ที่เหมาะสมมากที่สุด และบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อก็เป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญคัดเลือกมาแล้วรอบหนึ่ง
ข้อ2. องค์ประกอบในฐานะของผู้พิพากษาอาชีพ โดยมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาและจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดแห่งละ 2 คน รวม 4 คน
ข้อ3. หากองค์ประกอบข้อ 1 มีไม่ครบจำนวน หรือ องค์ประกอบข้อ 2 (ผู้พิพากษาอาชีพ) ไม่มีผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้รับการคัดเลือก ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณอายุหรือพ้นวาระดำรงตำแหน่งที่เคยปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้ และมีผลงานทางกฎหมายที่เห็นเป็นประจักษ์และสุขภาพแข็งแรงมาเป็นตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิโดยไม่มีวาระดำรงตำแหน่งแม้อายุจะเกิน 70 ปี แต่ให้ได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ตนได้ปฏิบัติหน้าที่นั้น ทั้งนี้ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้วยความยินยอมของผู้นั้น ภายใน 3 วัน เพื่อป้องกันข้อครหา และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องประกาศแจ้งว่าเพราะเหตุผลใดจึงมีหนังสือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้มาเป็นตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีผลงานทางกฎหมายที่เห็นเป็นประจักษ์ คืออะไร ให้สาธารณชนทราบด้วย
3.1 เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ
3.2 เคยเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน หรือศาสตราจารย์เกียรติติคุณที่เชี่ยวชาญและสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองมาแล้ว
หากสองตำแหน่งดังกล่าวไม่มี ให้พิจารณาตำแหน่งที่ 3.3 ต่อไป
3.3 เคยเป็นตุลาการศาลปกครองมาแล้ว
สุดท้าย ความเชื่อมโยงกับประชาชน ให้สภาสูง (วุฒิสภา) ให้ความเห็นชอบเพื่อทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
[1] ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รวมบทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำสั่งศาลปกครอง สำนักพิมพ์วิญญูชน 2547
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|