หน้าแรก บทความสาระ
เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ศาล
คุณณัฏฐ์ ภัคคภัทรกุล
5 ธันวาคม 2553 20:42 น.
 
 
       
       เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวเอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร ในเรื่อง “ความเห็นต่อการวิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่ามีเด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 58.9 ได้ระบุว่าไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ศาล [1] ผลสำรวจนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจถึงความเป็นสังคมประชาธิปไตยของบรรดาเยาวชนอนาคตของชาติ เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่เด็กเหล่านั้น (รวมถึงผู้ใหญ่อีกมาก) ไม่ทราบว่า คำพิพากษาของศาลนั้นสามารถวิจารณ์ได้ และการวิจารณ์คำพิพากษานั้นก็เป็นสิ่งที่ดีเสียด้วย
       
       ศาลนั้นเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยการวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยในศาลยุติธรรมนั้นจะเรียกผู้ตัดสินคดีว่าผู้พิพากษา แต่สำหรับศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะเรียกว่าตุลาการ แต่ไม่ว่าจะเป็นศาลใด ต่างก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ หน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งในการที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้มีความยุติธรรมนั้น บรรดาผู้พิพากษาและตุลาการก็ต้องมีอิสระ คือปราศจากการแทรกแซง ก้าวก่าย หรือควบคุมบังคับบัญชา จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือองค์กรอื่นใด อันเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการนี้ ก็มีการบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 197 ดังนี้
        
       มาตรา 197  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
       ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้  เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยหรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา เป็นกรณีที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้
        
       นอกจากนี้ ก็ยังมีหลักการสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย ในเรื่อง Judicial Immunity ที่เป็นเกราะคุ้มกันให้ผู้พิพากษาได้รับความคุ้มกันจากความรับผิดจากการใช้อำนาจตุลาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถตัดสินคดีพิพาทได้อย่างยุติธรรม โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากการกระทำตามหน้าที่ของตน    
                      
       ในคดี Randall v Brigham, 74 US (7 Wall.) 523 (1868) นั้น ศาลฎีกาของ US ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า “All judicial officers are exempt from liability in a civil action for their judicial acts done within their jurisdiction, and judges of superior or general authority are exempt from such liability even when their judicial acts are in excess of their jurisdiction, unless perhaps where the acts in excess of their jurisdiction are done maliciously or corruptly.”[2] (หมายถึง ผู้พิพากษานั้นจะไม่ต้องรับผิดหากเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการ ถึงแม้ว่าการใช้อำนาจตุลาการจะเกินเลยขอบเขตอำนาจไปบ้าง  เว้นเสียแต่ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวนั้น จะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือโดยทุจริต)
                      
       หลักความอิสระและความคุ้มกันจากความรับผิดในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษานี้เอง คงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ผู้พิพากษาและตุลาการนั้น ไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
                      
       ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ให้ความสำคัญกับทุกเสียงทุกความคิดเห็น คือ เป็นไปตามเสียงข้างมากแต่ไม่ละเลยเสียงข้างน้อยนั่นเอง การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีจึงเป็นหัวใจประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ ไม่ว่าจะเห็นด้วย เห็นคัดค้าน หรือเห็นแตกต่างเป็นอื่นอย่างไร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ เป็นเสรีภาพพื้นฐานประการหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี โดยมีการยอมรับอย่างกว้างขวางในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา19 (Universal Declaration of Human Rights Article 19 : Everyone has the right to freedom of opinion and expression; this right includes freedom to hold opinions without interference and to seek, receive and impart information and ideas through any media and regardless of frontiers.)
        
       สำหรับไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ก็ได้บัญญัติรับรองถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้
        
       มาตรา 45  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
       การจำกัด เสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
       .......
        
       นั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลไว้ไม่ว่าจะแสดงออกโดยวิธีใดๆ ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นนั้นไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนี้ย่อมหมายความรวมไปถึงการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำพิพากษาศาลด้วย
        
       อนึ่ง มีบางคนกล่าวว่าศาลท่านไม่อาจวิจารณ์ได้ การวิจารณ์จะเป็นความผิด แต่เมื่อพิจารณาถึงความรับผิดทางอาญาในการวิจารณ์ศาล เราจะพบว่ามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ม.198 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
        
       มาตรา 198 ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือ พิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของ ศาลต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
       จะเห็นว่าความผิดฐานดูหมิ่นศาลนั้น ในส่วนของการดูหมิ่นมีองค์ประกอบความผิดดังนี้
       1. เป็นการดูหมิ่น
       2.ศาลหรือผู้พิพากษา
       3. ในการิจารณาหรือพิพากษาของศาล
                      
       ซึ่งความผิดฐานดูหมิ่นศาลนี้ ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักเจตนาตามกฎหมายอาญา คือ ต้องมีเจตนาในการดูหมิ่นศาล โดยการดูหมิ่นนั้น เป็นการว่ากล่าวให้รู้สึกด้อยคุณค่าลง เช่น การด่าทอว่าร้ายด้วยถ้อยคำหยาบคาย ส่วนการวิจารณ์นั้นเป็นเพียงการติชม แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาล แม้ว่าจะเป็นการวิจารณ์ในส่วนกระบวนการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการทำคำพิพากษาก็ตาม ทั้งนี้เพราะ การวิพากษ์วิจารณ์มิใช่การดูหมิ่นนั่นเอง
                      
       ดังนี้แล้ว เมื่อไม่มีกฎหมายอื่นใดจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลแล้ว ย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้เสมอ (ซึ่งต้องไม่เกินขอบข่ายจนกลายเป็นการหมิ่นประมาทหรือการดูหมิ่นศาล) ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเสียหายต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตรงกันข้ามเสียอีก ที่การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา ค้นคว้า การแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ รวมไปถึงข้อบกพร่องในตัวคำพิพากษาที่อาจจะมีได้ จนอาจนำไปสู่การเปลียนแปลงกฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาในภายหลัง
                      
       ที่สำคัญที่สุด การวิพากษ์วิจารณ์ในคำพิพากษาของศาลนั้น ยังเป็นกระบวนการตรวจสอบองค์กรศาลโดยภาคประชาชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลนั้นไม่สามารถถูกบังคับบัญชาได้และการตรวจสอบก็ทำได้ยากเนื่องจากเป็นระบบปิด ภาคประชาชนจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบองค์กรศาล เมื่อเป็นเช่นนี้ การเข้าถึงคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยง่าย ภายหลังอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว คำพิพากษาต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสวิจารณ์ [3] จึงเป็นการตรวจสอบการทำงานขององค์กรศาลรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้การทำงานขององค์กรศาลนั้นมีประสิทธิภาพ และเป็นการตัดสินที่ถูกต้องเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
       

       
       

       
       

       [1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291185764&grpid=00&catid=&subcatid=

       
       

       [2] http://supreme.justia.com/us/74/523/case.html
        

       
       

       [3]องค์กรตุลาการกับประชาธิปไตย - ปิยบุตร แสงกนกกุล www.enlightened-jurists.com/directory/110/Piyabutr03.html
       
        

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544