หน้าแรก บทความสาระ
เป็นที่สุด กับ ถึงที่สุด ของศาลปกครอง
คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด
10 ตุลาคม 2553 20:47 น.
 
                            โดยปกติคำพากษาหรือคำสั่งของศาล ย่อมจะถูกตรวจสอบ ทบทวนได้ ยกเว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดห้ามไว้     ในบทความนี้  จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงื่อนไขของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง     ซึ่งผู้เขียนได้ตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด  ประกอบกับกฎหมายของศาลปกครอง   ในส่วนที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่ง     ซึ่งการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น    ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ใน
                         มาตรา  73  การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด
       คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด
       ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้
       คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สุด
                      และตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ได้กำหนดไว้ใน
                         ข้อ  100  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่กฎหมายหรือระเบียบนี้มิได้กำหนดให้ถึงที่สุด ให้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 
                               คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ระเบียบนี้มิได้กำหนดให้อุทธรณ์ระหว่างพิจารณาได้ ให้อุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดจากศาล 
       
             ซึ่งกฎหมายและระเบียบข้อดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายในเรื่องของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยเฉพาะระเบียบข้อดังกล่าว ให้ถือหรือตรวจสอบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ศาลได้สั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542   หรือตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543  ว่า  การสั่งการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 นั้น  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ได้บัญญัติกำหนดให้ในกรณีนั้น ๆ   ถึงที่สุด หรือไม่    ถ้ามิได้กำหนดให้ถึงที่สุดแล้ว    ก็ย่อมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้  ตามระเบียบข้อ 100 ดังกล่าว   เมื่ออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้  ศาลปกครองสูงสุดก็ย่อมตรวจสอบการสั่งการนั้น ๆ ได้ ตามหลักการของการอุทธรณ์       ซึ่งในระเบียบฯ ดังกล่าว มีหลาย ๆ กรณีที่บัญญัติให้การสั่งการใด ๆ ถึงที่สุด  และนอกจากคำว่า ถึงที่สุดแล้ว ในระเบียบนั้นเอง ในการสั่งการบางเรื่อง ระเบียบนั้น ๆ ใช้คำว่า เป็นที่สุด  เช่น
                             ข้อ 30  การฟ้องคดีต่อศาลปกครองต้องยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 
                               คำฟ้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคดีนั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ คำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาให้เป็นที่สุด 
                       ข้อ 44  ผู้ถูกฟ้องคดีจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ คำฟ้องแย้งนั้นให้ถือเสมือนเป็นคำฟ้องใหม่ 

                               ในกรณีที่คำฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ให้ตุลาการเจ้าของสำนวนสั่งไม่รับคำฟ้องแย้ง คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด 
                       ข้อ 76  คำสั่งของศาลในการกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อ 
       บรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่าง 
       การพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา ให้กระทำโดยองค์คณะ โดยไม่ต้องมีคำแถลงการณ์ 
       ของตุลาการผู้แถลงคดี เว้นแต่องค์คณะจะเห็นสมควรให้มีคำแถลงการณ์ ในกรณีดังกล่าว 
       คำแถลงการณ์นั้นจะกระทำด้วยวาจาก็ได้ 
                               คำสั่งไม่รับหรือยกคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือคู่กรณีให้เป็นที่สุด 
                             ข้อ 82  ผู้ฟ้องคดีอาจถอนคำฟ้องในเวลาใด ๆ ก่อนศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีได้ การถอนคำฟ้องจะถอนเฉพาะบางข้อหาหรือบางส่วนของข้อหาก็ได้ 
                               การถอนคำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีถอน คำฟ้องด้วยวาจาต่อหน้าศาลในระหว่างการไต่สวนหรือการนั่งพิจารณาคดี ให้ศาลบันทึกไว้และให้ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน 
                               ในกรณีที่มีผู้ฟ้องคดีหลายคน ผู้ฟ้องคดีแต่ละคนอาจถอนคำฟ้องของตนได้  
       การถอนคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวให้มีผลเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ถอนคำฟ้องนั้น เว้นแต่กรณีที่ผู้ถอน คำฟ้องเป็นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีทุกคน การถอนคำฟ้องให้มีผลเป็นการถอนคำฟ้องทั้งคดี  ในการนี้  ศาลจะไต่สวนเพื่อให้ได้ความเป็นที่ยุติว่าการถอนคำฟ้องของผู้แทนดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีทุกคนก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องก็ได้ 
                               เมื่อมีการถอนคำฟ้อง ให้ศาลอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กับคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ในคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือคดีที่การพิจารณาต่อไปจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือการถอนคำฟ้องเกิดจากการสมยอมกันโดยไม่เหมาะสม ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำฟ้องก็ได้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำฟ้องให้เป็นที่สุด 
                         ข้อ 84  ในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก หากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ  
       ตามมาตรา 59 วรรคสอง ให้ยื่นต่อศาลก่อนวันนั่งพิจารณาคดีหรืออย่างช้าที่สุดในระหว่างการ 
       นั่งพิจารณาคดี 
                               คำแถลงตามวรรคหนึ่งจะยกข้อเท็จจริงที่ไม่เคยยกขึ้นอ้างไว้แล้วไม่ได้ เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในคดีซึ่งคู่กรณีผู้ยื่นสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นหรือพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่อาจเสนอต่อศาลได้ก่อนหน้านั้น แต่ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างแล้ว 
                               คู่กรณีมีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงที่ยื่นตามวรรคหนึ่งได้ โดยให้ศาลพิจารณาสั่งอนุญาตเท่าที่เกี่ยวข้องกับคำแถลงและจำเป็นแก่คดีเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด 
       
                   ซึ่งคำว่า ถึงที่สุด กับคำว่า เป็นที่สุด นั้น ย่อมแตกต่างกัน  เพราะหากเหมือนกันแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติกำหนดขึ้นมาทั้งสองคำ ให้แตกต่างกัน  การกำหนดสิทธิในการอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล  การอุทธรณ์ตามระเบียบของศาลปกครองในข้อ 100 นั้น  หากเป็นคำพิพากษาของศาลก็ย่อมจะพิจารณาได้ง่ายเนืองจากหากเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แน่นอนว่าย่อมต้องอุทธรณ์ต่อไปยังศาลสูง   แต่กรณีจะมีปัญหาในเรื่องของคำสั่ง ว่าจะอุทธรณ์ได้หรือไม่   ซึ่งในกระบวนพิจารณาของศาลก่อนมีคำพิพากษา จะมีคำสั่งต่าง ๆ ออกมา ไม่ว่าศาลจะสั่งเองหรือคู่กรณีมีคำขอ    คำสั่งต่าง ๆ เหล่านี้ บางคำสั่งจะอุทธรณ์ได้หรือไม่    จะต้องดูหลักเกณฑ์ในมาตรา 100 ประกอบด้วย หากคำสั่งใด มิได้กำหนดให้ถึงที่สุด  ก็อุทธรณ์ได้ตามระเบียบฯ ข้อ 100 แต่หากคำสั่งนั้น กำหนดว่า ให้เป็นที่สุด แล้ว จะอุทธรณ์ได้หรือไม่  คำว่า เป็นที่สุด ตามความเข้าใจของผู้เขียน นั้น  เห็นว่า  ก็ไม่ได้หมายความว่า  ถึงที่สุด   ตามระเบียบฯ ข้อ 100  เพราะหากเหมือนกันก็น่าจะใช้ถ้อยคำเดียวกัน   การใช้ถอ้ยคำให้แตกต่างกันย่อมมีนัยที่แตกต่างกัน  ซึ่งในทางปฎิบัติจากการตรวจสอบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  พบว่า  มีคู่กรณีจำนวนไม่น้อยที่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่กำหนดให้เป็นที่สุด ต่อศาลปกครองสูงสุด เช่น
                  คดีหมายเลขแดงที่ อ.177/2553 คดีหมายเลขดำที่ อ.403/2549
                  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผิดสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว กับผู้ฟ้องคดี (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชำระ เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งลงวันที่ 5 สิงหาคม 2540 อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนชดใช้ทุนตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงผิดสัญญา วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ แต่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการฟ้องคดีประเภทนี้จากเดิมสิบปีนับ แต่วันผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาเป็นหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยใน เรื่องดังกล่าวไว้ตามคำวินิจฉัยที่ 25/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยของคณะ กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ ศาลปกครองชั้นต้นอาจใช้ดุลพินิจรับ คำฟ้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีไว้พิจารณาตามที่มาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่กำหนดให้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่รับคำฟ้องคดีที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนด ระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วไว้พิจารณาเป็นที่สุด  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว และศาลปกครองสูงสุดก็ไม่มีอำนาจทบทวนการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งดังกล่าวของศาล ปกครองชั้นต้นได้  (คดีนี้ ศาลใช้คำว่า ไม่อาจอุทธรณ์คัดค้าน)                
                        คำสั่งที่ ร.258/2553 คำร้องที่ ร.495/2553
                       ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก) ได้อนุญาตให้บริษัท ศ. ก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนเสีย หาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าว พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างอาคารไว้เป็นการชั่วคราวจน กว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการ พิพากษาของผู้ฟ้องคดี คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ตามข้อ 76 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ดังนั้น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยข้อ 100 วรรคหนึ่ง และต้องห้ามตามกฎหมายหรือยื่นโดยผิดระเบียบ ตามข้อ 104 วรรคสอง แห่งระเบียบดังกล่าว (คดีนี้ ศาลใช้คำว่า เป็นคำอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยข้อ 100  ทั้ง ๆ ที่ ข้อ 100 บัญญัติว่า ถึงที่สุด มิได้ใช้คำว่า เป็นที่สุด )
                       คำสั่งที่ ร.183/2553 คำร้องที่ ร.303/2553
                       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการเขตบางนา) มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีหรือบุคคลใดใช้อาคารในส่วนที่ดัดแปลงโดยไม่ได้ รับอนุญาต และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารให้ถูกต้องตามรายการ 4 รายการด้วยกัน โดยให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแก้ไขและดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตกรุงเทพมหานคร) ซึ่งต่อมาได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง อาคารดังกล่าวเฉพาะบางรายการเท่านั้น นอกจากนี้ให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัย อุทธรณ์ดังกล่าว และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวด้วย ระหว่างพิจารณาคดี ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตภาย ใน 30 วัน ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน (กรณีที่กระทำโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น) และคำสั่งไม่รับคำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งให้ รื้อถอนอาคาร จึงถือว่าคำสั่งยกคำขอและคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ดังกล่าวของ ศาลปกครองชั้นต้นเป็นที่สุด ตามข้อ 73 วรรคสอง และข้อ 70 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตามข้อ 100 วรรคหนึ่ง และข้อ 104 วรรคสอง แห่งระเบียบดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งยกคำขอและคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นการขัดต่อระเบียบดัง กล่าว การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ( คดีนี้ศาลใช้คำว่า จึงต้องห้ามอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตามข้อ 100 วรรคหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ ข้อ 100 บัญญัติว่า  ถึงที่สุด มิได้ใช้คำว่า เป็นที่สุด)
                       คำสั่งที่ ร.129/2553 คำร้องที่ ร.559/2552
                       ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 (ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา) ตามคำสั่ง ที่ กท 8603/2995 ลงวันที่ 17 เมษายน 2551 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ระงับการใช้อาคาร 2 ชั้น ที่ก่อสร้าง อยู่บนที่ดินที่เช่าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดี จะถึงที่สุด ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้พิจารณาคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตาม ข้อ 70 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2543 ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด (คดีนี้ใช้คำว่า ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ )
                     คดีหมายเลขแดงที่ อ.8/2547 คดีหมายเลขดำที่ อ.6/2545
                      แม้การร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี จะขาดอายุความร้องทุกข์ตามนัยมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ แต่หากคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่าคำร้องทุกข์ที่ขาดอายุความดัง กล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอันควรแก่การแก้ไข อาจดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยได้ตามนัยมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว และเมื่อเรื่องร้องทุกข์นั้นได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครอง ชั้นต้นตามมาตรา 103 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ และศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่าการวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีจะเป็น ประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองชั้นต้นย่อมสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาย่อมเป็นที่สุดตาม ข้อ 30 วรรคสอง ของระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อุทธรณ์ว่า คดีของผู้ฟ้องคดีขาดอายุความตามกฎหมายแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับอุทธรณ์คำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาของศาลปกครอง ชั้นต้นไว้พิจารณาได้[1]
                 จากคดีที่กล่าวมาทั้งหมด  เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุด  แต่มิได้บัญญัติให้ถึงที่สุด ตามระเบียบฯ ข้อ 100 ข้างต้น   โดยหลักแล้วหากกฎหมายกำหนดให้เป็นที่สุด  ก็มิน่าจะอุทธรณ์ได้     แต่เมื่อพิจารณาหลักในการอุทธรณ์ที่กำหนดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่กฎหมายหรือระเบียบนี้มิได้กำหนดให้ถึงที่สุด ให้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด   แล้ว ก็อาจจะเกิดความสับสนได้        ซึ่งก็แปลกประหลาดมาก  หากว่ากันตามกฎหมายแล้ว หากคำสั่งนั้น  กฎหมายมิได้บัญญัติให้ถึงที่สุด   กฎหมายกำหนดไว้ให้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้      เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ถึงที่สุดแล้ว   ศาลกลับเอาข้อห้ามตาม ข้อ 100 มาใช้     ซึ่งตกลงแล้วสิทธิและข้อห้ามในการอุทธรณ์  ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุด หรือถึงที่สุดกันแน่   หรือทั้งสองคำเหมือนกัน        จากระเบียข้อดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้กับคู่กรณีได้      เพราะหากคู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งที่มิได้บัญญัติให้ถึงที่สุดตามข้อห้าม  แต่กลับถูกข้อห้ามนั้นมาบังคับกับคดีของตนเอง       ซึ่งระเบียบข้อดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า  ควรมีความชัดเจน  เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน.
       
                                 **************************************************
       

       
       

       

       [1]ข้อมูลย่อคำพิพากษาและคำสั่งจาก  http://www.admincourt.go.th 
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544