หน้าแรก บทความสาระ
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) คือทางออกประเทศไทย
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
10 ตุลาคม 2553 20:47 น.
 
หนึ่งในแนวความคิดของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้ล่วงลับเน้นย้ำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับผม คือ แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) เพราะพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าปัญหาของประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy)ในปัจจุบันคือการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการที่ได้คนที่เป็นตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของผู้คนในสังคม
       ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจการเมืองและวงศาคณาญาติ ดังจะเห็นได้จากที่แม้ว่าบางคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วยังสามารถส่งหุ่นเชิดที่เป็นลูกเมียญาติมิตรเข้ารับสมัครและได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยถ้วนหน้า ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ ใดใดในอันที่จะแสดงให้เห็นว่ามีกึ๋นพอที่จะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนได้เลย
       โอกาสของประชาชนในชนชั้นล่างหรือผู้ยากจนหาเช้ากินค่ำที่จะเข้าไปมีบทบาทในสภานิติบัญญัติหรือ   มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ จึงได้มีการพยายามหาทางแก้ไขโดยการเสนอรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั่นเอง
       นักคิดคนสำคัญที่เสนอแนวความคิดนี้คือ เจอเกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) ที่มีแนวคิดว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นมิได้อยู่ที่การไปร้องขอมาจากอำนาจที่อยู่เหนือตัวเรา หรือเป็นคำสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา หากแต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันและพยายามเข้าใจกันของทุกฝ่าย
       ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่พลเมืองที่ได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
       การปรึกษาหารือ หรือ Deliberative มีที่มาจากกระบวนการที่ใช้ระบบลูกขุน หรือสภานิติบัญญัติและองค์กรอื่นๆที่ทำหน้าที่ตัดสินใจหลังจากปล่อยให้มีกระบวนการถกเถียงสนทนาเพื่อแสวงหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกันได้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม
       ต่อมาคำว่าการปรึกษาหารือ หรือ Deliberative ได้พัฒนาความหมายไปสู่รูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อการเห็นพ้องต้องกัน(Consensus)ที่ประชาชนได้จากกระบวนการปรึกษาหารือ มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่า           การตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว
       ตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในต่างประเทศก็คือการประชุมเมือง(Town Meeting)ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบNew England ที่อยู่ทางย่านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือของคนในชุมชนที่แสวงหาเจตนารมณ์ร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ มากกว่าในการตัดสินโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระบวนการปรึกษาหารือนี้คล้ายๆกับประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็นและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของชุมชนดังเช่นประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในอดีต
       แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การประชุมแบบTown Meeting ทำได้ยาก กระบวนการปรึกษาหารือหรือDeliberativeจึงได้มีการดัดแปลงไปใช้วิธีการต่างๆให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ เช่น
       1)      การเวทีเสวนาแบบเปิด(Open Forum) เพื่อสนทนาถกเถียงโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานหรือกลุ่มของตนเอง แต่เปิดกว้างให้สาธารณะหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดเวทีสาธารณะโดยมีนักวิชาการเป็นตัวกลางหรือทำหน้าที่เป็นประธาน เช่น การจัดเวทีสภาประชาชนชาวเชียงใหม่ของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นหรือการจัดเวทีผู้แทนพบประชาชนของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย(National Democratic Institute) เป็นต้น
       2)      การเปิดเวทีแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรืออินเตอร์เน็ต เช่น การเปิดให้แสดงความคิดเห็นในรูปแบบของการเสนอนโยบายประชาชนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นต้น
       3)      การใช้วิธีการ Deliberative Polling ที่จะสามารถบอกเราได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สาธารณชนทั้งหมดคิดกับประเด็นต่างๆเกี่ยวกับนโยบายหรือเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประชาชนได้มีโอกาสขบคิดกันอย่างกว้างขวาง(Extensive Reflection) และได้มีหนทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งวิธีนี้อาจพอเทียบเคียงได้จากหลักการใช้วิธีการจับฉลากสุ่มเลือก(Lottery)แบบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ หรือหลักการแนวความคิดที่ให้มีคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College)ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งการใช้คณะลูกขุนพลเมือง(Citizens’ Juries) เป็นต้น
        
       กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) เน้นที่การถกเถียงปรึกษาหารือกันก่อนในหมู่ประชาชนทั่วไปก่อนที่จะตัดสินใจทางเมือง เช่น การที่จะปรองดองหรือไม่ปรองดองตามแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอ หรือการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนี้เล็งเห็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ผ่านมาที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสได้ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายต่างๆที่ฝ่ายการเมืองนำเสนอมิหนำซ้ำยังไม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากผู้คนในชุมชน ไม่ได้มีโอกาสซักถามถามถึงที่มาที่ไปของนโยบายต่างๆ ว่าทำไมต้องใช้นโยบายนั้นๆ และมีความเป็นไปได้มมากน้อยแค่ไหนรวมถึงผลกระทบต่างๆที่ตามมาของการใช้นโยบายนั้นๆ
        
       เราสามารถนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) นี้มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยเราในปัจจุบันได้ทั้งระดับชุมชนและระดับชาติที่สถานการณ์เต็มไปด้วยความแตกแยกในปัจจุบันนี้ ซึ่งผมคิดว่าหากเราได้มีการนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) มาใช้แล้ว โศกนาฏกรรมทางการเมืองในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่
        
       ยังไม่สายเกินไปที่เราจะนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) มาใช้ในการแก้ปัญหาความแตกแยกของสังคมไทยในปัจจุบันและใช้ในการแก้ไขปัญหาของการเป็นสภาผัวเมียในปัจจุบันนี้
        
       แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) นี้เป็นของใหม่ อาจจะเข้าใจยากสักนิดแต่คงไม่ยากเกินไป หากเราพยายามที่จะเข้าใจใช่ไหมครับ
        
       ----------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544