หน้าแรก บทความสาระ
เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายอังกฤษ
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รป.ม (นโยบายสาธารณะ) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ อาจารย์ประจำ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
12 กันยายน 2553 16:52 น.
 
[1] บทนำ
       
เนื่องด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญปัญหาหนึ่งที่ประเทศอังกฤษได้ตระหนักเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลอังกฤษจึงได้นำกฎหมาย Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information อันเป็นกฎหมายสหภาพยุโรป มาอนุวัติการด้วยการออกกฎหมายมาใช้บังคับ (Implementation) โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุวัตรการและบัญญัติกฎหมาย Environmental Information Regulations 2004 (EIR) อันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญสองประการ กล่าวคือ ประการแรก เพื่อที่จะกำหนดและขยายขอบเขตแห่งสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ (Right for any person to request access to environmental information held by public authorities) เช่น ข้อมูลทรัพยากรทางน้ำ ข้อมูลทรัพยากรดิน หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับ องค์ประกอบทางชีวภาพ (Biological organisms) เป็นต้น นอกจากการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว กฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลอันเกี่ยวกับกิจกรรมของภาครัฐอันอาจมีผลกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงผลการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental economic analysis) ประการที่สอง กฎหมายดังกล่าว ยังได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของหน่วยงานหรือองค์กรของภาครัฐในการกำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการ สำหรับเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอันอาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน (Right for public authorities to take steps to proactively make environmental information available to the public)
       ดังนี้ บทความฉบับนี้ประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจ ในที่มาและเจตนารมณ์ของกฎหมาย Environmental Information Regulations 2004 (EIR) อันเป็นกฎหมายที่สนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการทางกฎหมายและสาระสำคัญของกฎหมายที่สนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การร้องขอข้อมูลข่าวสาร (Requests for information) ข้อยกเว้นต่างๆ (Exceptions) และ การอุทธรณ์และร้องทุกข์ (Complaints and appeals) ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว
       
       [2] เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข้าวสารทางสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ
       ประเทศอังกฤษเป็นอีกประเทศหนึ่งในโลก ที่รัฐบาลและประชาชนมีความตระหนักถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลพื้นฐานของสิทธิที่ที่จะรับรู้ (Right-to-know) และสิทธิในการร้องขอเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ (The right to request access to information) ของทางราชการที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจของเอกชน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริหารงานที่โปร่งใส่และตรวจสอบได้ของภาครัฐ (Transparency and accountability) ด้วยเหตุนี้แล้ว รัฐบาลของประเทศอังกฤษได้ตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (The Right to Access Information) ของภาครัฐ
       ดังนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ได้แก่ Data Protection Act 1998 (DPA 1998)(1) อันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลและ Freedom of Information Act 2000 (FOIA 2000)(2) ที่เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายให้ประชาชนสามารถร้องขอข้อมูลข่าวสารอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน นอกเหนือจากนี้ รัฐบาลอังกฤษได้ตรากฎหมาย Environmental Information Regulations 2004 (EIR 2004)(3) อันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Right to request access to information about the environment)
       ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบสิทธิของประชาชนได้ เช่น ปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมโดยมากภาครัฐจะเป็นผู้เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ ซึ่งแต่เดิมข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นเอกสารทางราชการที่ไม่สามารถเปิดเผยออกสู่สาธารณะได้ ผลที่ตามมา ทำให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ (The right to access environmental information held by public authorities)
       กฎหมาย Environmental Information Regulations 2004 (EIR 2004) เป็นกฎหมายที่รัฐบาลอังกฤษได้นำกฎหมายสหภาพยุโรป ได้แก่ Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information (4) มาอนุวัตรการและบัญญัติเป็นกฎหมาย EIR 2004 ที่วางหลักการเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประชาชน ทั้งนี้ Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information ถือเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปที่สำคัญยิ่งที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้วางกรอบและหลักเกณฑ์ที่เป็นสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน(5) และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย(6)
       นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการแล้ว ประชาชนอาจร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคลากรของภาครัฐหรือองค์กรอื่นๆและบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การอำนาจของภาครัฐ (Organisation or person under the control of a public authority who has environmental responsibilities) (7) ทั้งนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกหรือช่องทาง(8) ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อประชาชน
       
       [3] ขอบเขตของการบังคับใช้ Environmental Information Regulations 2004 (EIR 2004)
       กฎหมาย EIR 2004 ได้วางหลักการเพื่อขยายสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากกฎหมาย FOIA 2000 กล่าวคือ กฎหมาย EIR 2004 บัญญัติในเรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ(9) ทั้งนี้ กฎหมาย EIR 2004 บังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ (Public authority) ทุกหน่วยงานในประเทศอังกฤษ ตลอดไปจนถึงเวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ(10) โดยที่หน่วยงานภาครัฐตามความหมายในกฎหมาย EIR 2004 หมายถึง หน่วยงานราชการส่วนกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทางราชการอื่นๆ ตามที่หน่วยงานภาครัฐตามที่กฎหมาย FOIA 2000 ได้บัญญัติไว้(11) และหน่วยงานและบุคคลที่อยู่นอกเหนือจากกฎหมาย FOIA 2000 ได้บัญญัติไว้ กล่าวคือ รวมไปถึงบุคลากรของภาครัฐหรือองค์กรอื่นๆและบุคคลอื่นๆ ที่ใช้อำนาจรัฐหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ (any other body or other person, that carries out functions of public administration)(12) เช่น บริษัทรับเก็บขยะที่ดำเนินบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น หรือองค์กรหรือบุคคลอื่นที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามองค์กรที่ได้กล่าวมาข้างต้น (any other body or other person under the control of the aforementioned) เช่น พนักงานเก็บขยะที่ปฎิบัติหน้าที่ในบริการธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น(13)
       [3.1] บุคคลผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตาม EIR 2004
       กฎหมาย EIR 2004 บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องของบุคคลผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตามกฎหมาย EIR 2004 ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่ให้สิทธิแก่พลเมืองชาวอังกฤษและผู้มีถิ่นพำนักถาวรแล้ว แต่ยังกฎหมายดังกล่าวยังให้สิทธิแก่ชาวต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกับประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ที่ร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ส่วนได้เสียในผลกระทบของสิ่งแวดล้อมหรือในข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมหรือประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ว่าเหตุใดจึงต้องการข้อมูลดังกล่าวหรือต้องการข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการใด (Not required to prove an interest; or to say why he/she wants the information)(14)
       [3.2] ประเภทของข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมตาม EIR 2004
       
ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental information) ตามกฎหมาย EIR 2004 ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่(15)
       - ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพองค์ประกอบพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมของ อากาศ น้ำ ดิน สิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น (fauna) รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมด้วย
       - ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยและแพร่เสียง พลังงาน รังสี น้ำ และสสารต่างๆ
       - ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและกิจกรรมของภาครัฐ เช่น นโยบาย แผน และข้อตกลงที่มีผลกระทบหรืออันอาจมีผลกระทบต่อสภาพองค์ประกอบพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม
       - รายงานของภาครัฐ และการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของต้นทุนและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
       - ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ สิ่งเจือปนในห่วงโซ่อาหาร (contamination of the food chain)
       - ข้อมูลเกี่ยวกับการโยธาและโครงสร้างสิ่งปลูกสร้าง อันอาจกระทบต่อสภาพองค์ประกอบพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม(16)
       หากหน่วยงานภาครัฐได้รับคำร้องของประชาชนเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ร้องขอภายใน 20 วันนับแต่มีการร้องขอ แต่อย่างไรก็ดี กฎหมาย EIR 2004 ของอังกฤษ ได้กำหนดข้อยกเว้นต่างๆ (Exceptions)(17) ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม(18) และหากการร้องขอของประชาชนเข้าข้อยกเว้นต่างๆ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ หน่วยงานรัฐต้องทำคำชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้
       [3.3] สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ EIR 2004
       สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ EIR 2004 นั้น กล่าวคือ ประชาชนสามารถร้องขอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบครองโดยหน่วยงานราชการหรือผู้เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาแล้ว โดยการทำเป็นคำร้อง (requests) ในช่องทางต่างๆ(19) เช่น จดหมาย จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ โทรศัพท์ หรือพบกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้อมูลโดยตรง(20) ด้วยเหตุที่กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องทางให้ประชาชนใช้สิทธิในการร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมหลายช่องทางนั้น เป็นเพราะรัฐต้องการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเสรีและเป็นการสร้างบรรทัดฐานหรือแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลให้สู่สาธารณะมากยิ่งขึ้น (A culture of openness)
       แม้ว่ากฎหมาย EIR 2004 จะเปิดเสรีภาพให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐได้อย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำหนดข้อยกเว้นโดยหน่วยงานของรัฐอาจกำหนดให้มีแบบฟอร์มสำหรับร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดรูปแบบไว้โดยหน่วยงานรัฐนั้นๆเองก็ได้ (requirements regarding the form or format of the information)(21)
       นอกจากนี้แล้ว หากประชาชนไม่พอใจในการให้ข้อมูลของหน่วยงานราชการ ประชาชนอาจยื่นคำร้องหน่วยงานราชการนั้นๆและหน่วยงานรัฐต้องรับฟังและพิจารณาซ้ำ (reconsider) อีกครั้งเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้หน่วยงานรัฐต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลที่ร้องขอและชี้แจงต่อประชาชนผู้ร้องขอข้อมูลโดยสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของข้อมูลนั้น
       หากประชาชนที่ยืนคำร้องขอข้อมูลไม่พอใจในการให้ข้อมูลของภาครัฐในสองกรณีด้วยกัน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐให้ข้อมูลไม่ตรงกับความต้องการของผู้ยื่นคำร้องหรือหน่วยงานของรัฐได้ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริง (Wrongly withheld information or incorrectly handled a request)(22) ผู้ยื่นคำร้องสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (The Information Commissioner’s Office) เพื่อให้คณะข้อมูลข่าวสารพิจารณาคำอุทธรณ์และไต่สวนข้อมูลต่างๆของภาครัฐ(23) ในทางกลับกัน หากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ประชาชนตามที่ร้องขอได้ หน่วยงานของรัฐต้องทำคำชี้แจ้งว่าเหตุใดจึงไม่สามารถทำตามคำร้องของประชาชนได้หรืออธิบายถึงข้อยกเว้นตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้
       ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอโดยหน่วยงานของรัฐนั้น กฎหมายได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนภายใน 20 วันทำการ ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ประชาชนร้องขอหรือทำหนังสือปฏิเสธ ในกรณีที่ไม่สามารถให้ขอมูลตามคำร้องขอของประชาชนได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาอาจขยายออกไปไม่เกิน 20 วันทำการ ในกรณีของข้อมูลที่ประชาชนร้องขอมีความซับซ้อนและมีปริมาณที่มาก(24)
       นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐต้องจัดหาคำแนะนำหรือความช่วยเหลือสำหรับประชาชนผู้ร้องขอข้อมูลตามสมควร โดยอาจเสียค่าธรรมเนียมตามความเหมาะสมหรืออาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในกรณีที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีฐานข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้แล้วหรือประชาชนเพียงแค่ต้องการดูข้อมูลจากเอกสารหลักฐานของหน่วยงารรัฐเท่านั้น ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการร้องขอข้อมูลข่าวสารเอาไว้ (No appropriate limit) สำหรับการจัดหาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม(25)
       [3.4] หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมาย EIR 2004 กำหนด
       หน่วยงานภาครัฐของประเทศอังกฤษมีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเชิงรุก (Proactive dissemination of environmental information) โดยมีแนวทางการปฎิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวดังต่อไปนี้
       - หน่วยงานของรัฐต้องให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น
       - หน่วยงานของรัฐต้องจัดระเบียบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเชิงรุก (systematic dissemination) อย่างระบบต่อประชาชน
       - หน่วยงานภาครัฐควรกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำหรือมาตรฐานในการเผยแพร่ในเชิงรุก(26)
       - หน่วยงานภาครัฐอาจใช้หลักเกณฑ์การปฎิบัติการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามกฎหมาย Freedom of Information Act เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อม(27)
       [3.5] ข้อยกเว้นหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
       
หากมีข้อยกเว้นหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Exceptions to the duty to disclose environmental information) ตามที่กฎหมาย EIR 2004 บัญญัติไว้ หน่วยงานของรัฐอาจเลือกที่ปฏิเสธคำร้องของและไม่เปิดเผย (withhold) ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี หน่วยงานของรัฐต้องทำคำชี้แจ้งว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำตามคำร้องของประชาชนได้หรืออธิบายถึงข้อยกเว้นตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐไม่สามารถให้ข้อมูลได้ โดยอาศัยหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ (The public interest test)(28) มาปรับใช้ในกรณีที่ไม่สามารถให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนได้ กล่าวคือ หากข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดมีความสำคัญไปกว่าการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ (The exception outweighs the public interest in disclosing the information)(29) เช่น กรณีที่เปิดเผยข้อมูลแล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือ กรณีหากเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมนั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
       ข้อยกเว้นที่รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม มี 3 ประการ(30) ได้แก่ ประการแรก กรณีข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวหรือหน่วยงานของรัฐไม่สามารถระบุลักษณะของคำร้องขอได้ ประการที่สอง กรณีการร้องขอไม่สมควรแก่เหตุอย่างชัดเจน (manifestly unreasonable) เและประการที่สาม กรณีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวยังเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ (unfinished environmental information) หรือเป็นข้อมูลที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการทำให้สมบูรณ์ เช่น ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในระหว่างการทดลองหรือประมวลผลทางวิทยาศาสตร์ล้อม เป็นต้น(31)
       นอกจากนี้ กฎหมาย EIR 2004 ได้กำหนดข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะ(32) ในกรณีที่หากเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออาจกระทบต่อ
       - การทหาร, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน
       - กระบวนการยุติธรรมหรือความลับในกระบวนพิจารณาของศาล
       - ผลประโยชน์ของผู้จัดหาข้อมูล กรณีของข้อมูลที่จัดหาโดยอาสาสมัคร
       - สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญหา
       - ความลับทางการค้า
       - การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
       [3.6] ความแตกต่างระหว่างกฎหมาย EIR 2004 และกฎหมาย FOIA 2000
       
- Freedom of Information Act 2000 (FOIA 2000) เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายให้ประชาชนสามารถร้องขอข้อมูลข่าวสารทั่วไปอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควรที่กฎหมายกำหนดให้เก็บรักษาข้อมูลนั้นเป็นความลับ แต่สำหรับกฎหมายEnvironmental Information Regulations 2004 (EIR) อันเป็นกฎหมายที่มุ่งสนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะและมาตรการทางกฎหมายและสาระสำคัญของกฎหมายที่สนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม(33)
       - ในเรื่องของความแตกต่างในการขอขยายระยะเวลาในการพิจารณามอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐ กฎหมาย EIR 2004 วางหลักไว้ในกรณีที่ไม่สามารถให้ขอมูลตามคำร้องขอของประชาชนได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาอาจขยายออกไปไม่เกิน 20 วันทำการ ในกรณีของข้อมูลที่ประชาชนร้องขอมีความซับซ้อนและมีปริมาณที่มาก สำหรับกฎหมาย FOIA 2000 กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอขยายระยะเวลาโดยหากข้อมูลดังกล่าว หากเปิดเผยแล้วข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน กฎหมายดังกล่าวจึงให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการพิจารณา
       - คำร้องขอข้อมูลข่าวสารต้องทำได้ในหลายรูปแบบตามที่กฎหมาย EIR 2004 บัญญัติไว้ แต่สำหรับการ้องขอข้อมูลข่าวสารตามกฎหมาย FOIA 2000 ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
       - กฎหมาย EIR 2004 ได้บัญญัติในเรื่องการร้องขอข้อมูลข่าวสาร กล่าวคือ การร้องขอข้อมูลข่าวสารอาจเสียค่าธรรมเนียมตามความเหมาะสมหรืออาจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในกรณีที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีฐานข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้แล้วหรือประชาชนเพียงแค่ต้องการจะดูข้อมูลจากเอกสารหลักฐานของหน่วยงานรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ดี การร้องขอข้อมูลข่าวสารตามกฎหมาย FOIA 2000 ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำเอาไว้
       - กฎหมาย EIR 2004 เป็นกฎหมายที่มีข้อยกเว้นที่น้อยกว่ากฎหมาย FOIA 2000(34) และวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้ในกรณีใดบ้าง โดยเฉพาะกรณีที่หากเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนกฎหมาย FOIA 2000 กำหนดหลักเกณฑ์ของข้อมูลอันเข้าข้อยกเว้นไม่ให้เปิดเผยต่อผู้ร้องขอข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในขอบเขตที่กว้างกว่าและมากกว่ากฎหมาย EIR 2004 ในหลายกรณี เช่น ข้อมูลด้านความสัมพันธ์ภายในสหราชอาณาจักร (Relations within the United Kingdom) หรือ ข้อมูลอันอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของอังกฤษ (The financial and economic interests) เป็นต้น
       
       [4] หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย (Code of Practice on the discharge of the obligations of public authorities under the Environmental Information Regulations 2004)
       
รัฐบาลอังกฤษได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย (Code of Practice)(35) เพื่อเป็นหลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานราชการในการบังคับใช้กฎหมาย EIR 2004(36) ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนในการร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายจึงเสมือนหนึ่งเป็นคำแนะนำที่ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐสามารถปฏิบัติงานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี The Secretary of State อาจกำหนดหรือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละหน่วยงานก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปฏิบัติงานเพราะแต่ละหน่วยงานมีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและกระบวนการในการจัดหาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
       ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ (The aims of the Code) ดังต่อไปนี้
       - เพื่อจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย EIR 2004 โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติทางปกครอง (good administrative practice) ของหน่วยงานของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม ทั้งนี้รวมไปถึงความเหมาะสมในการส่งมอบข้อมูลข่าวสารที่ถูกร้องขอต่อหน่วยงานรัฐอื่นด้วย
       - เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายที่ดีในการเผยแพร่เชิงรุกของข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อม (good practice in proactive dissemination of environmental information)
       - เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางการปฏิบัติและการบังคับใช้ได้กำหนดคำแนะนำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามแนวทางที่การปฏิบัติที่ดีและชอบด้วยกฎหมาย (a matter of good practice)
       - เพื่อสร้างความมั่นใจในกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาสิทธิของบุคคลที่สาม (a third party) สำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการคุ้มครองข้อตกลงอันเป็นความลับในสัญญาและการยอมรับข้อมูลในทางลับจากบุคคลที่สาม
       - เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ (effective review) และกระบวนการวินิจฉัยอุทธรณ์ในคำวินิจฉัยด้านข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐ (appeal procedures of decision) ภายใต้กฎหมาย EIA 2004
       
       [5] บทสรุป
       กฎหมาย EIR 2004 ได้วางมาตรการทางกฎหมายในการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น การร้องขอข้อมูลข่าวสาร ข้อยกเว้นต่างๆ และการอุทธรณ์และร้องทุกข์ เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้มีแนวหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย (Code of Practice) อันเป็นแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์ที่กำหนดคำแนะนำที่ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามและก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนตามสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนประชาชนพึงจะได้รับเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิทธิที่ที่จะรับรู้ (Right-to-know) และสิทธิในการร้องขอเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (The right to request access to environmental information) จากหน่วยงานของรัฐ เพราะข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐ อาจมีความสำคัญต่อประชาชน เช่น ข้อมูลด้านมลภาวะประเภทต่างๆ อันอาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยและความสวัสดิภาพของประชาชนชาวอังกฤษ เป็นต้น
       
       เชิงอรรถ
       

       1. Data Protection Act 1998 (c. 29), See website: http://www.opsi.gov.uk/acts/acts1998/ukpga_19980029_en_9
       2. Freedom of Information Act 2000 (c. 36), See website: http://www.opsi.gov.uk/acts/acts2000/ukpga_20000036_en_1
       3. Statutory Instrument 2004 No. 3391, The Environmental Information Regulations 2004, See website: http://www.opsi.gov.uk/si/si2004/20043391
       4. Directive 2003/4/EC ได้ยกเลิกกฎหมาย Directive 90/313/EEC เพื่อเพิ่มสิทธิของประชาชนให้ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนในสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น โปรดดู Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information and repealing Council Directive 90/313/EEC, EUR-Lex Access to European Union law, See website: http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=CELEX:32003L0004:en:NOT และ Huge, D., ‘Freedom of access to information on the environment: the DOE Consultation Paper “Public access to environmental information held by public bodies”.’ (1992) L.M.E.L.R., 4(3), 74-80.
       5. ศาลสหภาพยุโรป (European Court of Justice) ได้ว่างหลักเกณฑ์เรื่องวัตถุประสงค์ของ EU Directive 2003/4/EC นี้ไว้เช่นกันในคดีCommune de Sausheim v Pierre Azelvandre (C-552/07) February 17, 2009
       6. Altaras, D., ‘The Environmental Information Regulations 2004 – an update.’ (2010) J.P.L., 3, 310-320.
       7. The basics, What are the Environmental Information Regulations?, See website: http://www.ico.gov.uk/what_we_cover/environmental_information_regulation/the_basics.aspx
       8. ทั้งนี้ การตีความของศาลสหภาพยุโรปได้ตีความวางหลักในเรื่องของการฝ่าฝืนกฎหมายการผังเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ด้วย โปรดูคดี Archer v The Information Commissioner, Appeal No: EA/2006/0037.
       9. Davis, W. R., ‘The Environmental Information Regulations 2004: limiting exceptions, widening definitions and increasing access to information?’ (2006) Env. L. Rev., 8(1), 51-58.
       10. สกอตแลนด์ได้บัญญัติกฎหมายเฉพาะในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนบังคับใช้เป็นของตนเองโปรดดู Scottish Statutory Instrument 2004 No. 520, The Environmental Information (Scotland) Regulations 2004, See website: http://www.hmso.gov.uk/legislation/scotland/ssi2004/20040520.htm
       11. Freedom of Information Act 2000 section 3 (Public authorities) and Schedule 1
       12. The Information Tribunal ของอังกฤษได้ตีความในคดีสองคดีที่ให้ผลของคำวินิจฉัยไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ คดี Port of London Authority v The Information Commissioner The Information Tribunal ได้วางหลักไว้ว่า Port of London Authority เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยพิจารณาจากความหมายของนิยามคำว่าหน่วยงานของรัฐ Regulation 2(2)(c) ที่กำหนดไว้ว่า Port of London Authority เป็นหน่วยงานของรัฐเพราะหน่วยงาน Port of London Authority มีการดำเนินงานหรือปฏิบัติการตามหน้าที่บริหารงานของรัฐ (functions of public administration) และกฎหมาย The Port of London Authority Act 1968 ก็ยังให้อำนาจแก่หน่วยงานในการดำเนินการบริการสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการท่าเรือในเมืองลอนดอน แต่ในทางตรงกันข้าม ในคดี Network Rail Ltd v The Information Commissioner กล่าวคือ the Information Tribunal ได้วางหลักไว้ว่า Network Rail Ltd ไม่ใช่หน่วยงานที่ดำเนินงานหรือปฏิบัติการบริการสาธารณะ แต่ถือเป็นองค์กรเอกชนที่มีการใช้อำนาจและการบริหารงานในฐานะองค์กรเอกชนจึงไม่เข้าความหมายนิยามตามความใน Environmental Information Regulations 2004 Regulation 2(2)(c) โปรดดู Environmental Information Regulations 2004 Regulation 2(2) (c) ‘Subject to paragraph (3), "public authority" means – ….any other body or other person, that carries out functions of public administration...’ และ Port of London Authority v The Information Commissioner, Appeal No. EA/2006/0062. และ Network Rail Ltd v The Information Commissioner, Appeal Nos EA/2006/0061 and EA/2006/0062.
       13. Environmental Information Regulations 2004 Regulation 2 (2) (Interpretation) (Public authorities)
       14. Environmental information regulations frequently asked questions, See website: http://www.defra.gov.uk/corporate/policy/opengov/eir/faq.htm
       15. Environmental Information Regulations 2004, See website: http://www.dfid.gov.uk/About-DFID/Finance-and-performance/Access-to-Information1/Environmental-Information-Regulations-2004/
       16. Environmental Information Regulations 2004 Regulation 2 (Interpretation)
       17. Environmental Information Regulations 2004 PART 3 (Exceptions to the duty to disclose environmental information)
       18. Boyle, S., ‘Environmental Information and the draft environmental information regulation 2004.’ (2004) Env. Liability, 12(5), 215-222.
       19. Environmental Information Regulations 2004 Regulation 6 (Form and format of information)
       20. หรืออาจใช้ทางเลือกโดยการยื่นคำร้องทางออนไลน์ได้เช่นกัน (online request form) โปรดดู The Freedom of Information Act 2000 and the Environmental Information Regulations 2004: Commons-specific information, See website: http://www.parliament.uk/site-information/foi/eir/commons-eir/ และ The Freedom of Information Act 2000 and the Environmental Information Regulations 2004: Commons-specific information, See website: http://www.parliament.uk/site-information/foi/eir/commons-eir/
       21. Your rights, See website: http://www.ico.gov.uk/what_we_cover/environmental_information_regulation/your_rights.aspx
       22. Environmental Information Regulations – when and how to complain, See website: http://www.ico.gov.uk/complaints/environmental_information_regulation.aspx
       23. Complaints, See website: http://www.ico.gov.uk/complaints.aspx
       24. Environmental Information Regulations 2004 Regulation 7 (Extension of time)
       25. การกำหนดค่าธรรมเนียมถือเป็นดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐ (Discretion to charge) และต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สมควรแก่เหตุ (The reasonableness of a charge) โปรดดูคดี Markson v The Information Commissioner, Appeal No. EA/2005/0014. ได้วางหลักไว้ว่า หน่วยงานของรัฐสามารถจัดให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการถ่ายสำเนาเอกสารได้ แต่ต้องเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สมควรแก่เหตุ (not exceed reasonable one)
       26. ทั้งนี้เป็นไปตาม European Directive (2003/4/EC) Article 7 (2)
       27. Freedom of Information Act 2000, CHAPTER 36, See website: http://www.legislation.gov.uk/ukpga/2000/36/contents
       28. โปรดดู คดี Office of Communications v Information Commissioner, Office of Communications [2009] EWCA Civ 90.
       29. ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษ (the Court of Appeal) ได้วินิจฉัยในเรื่องการพิจารณาประโยชน์สาธารณะหรือ the public interest requirement ไว้สองประการด้วยกัน ประการแรก กรณีที่มีข้อยกเว้นในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งล้อม (exceptions)ตามที่ Environmental Information Regulations 2004 Regulation 12 บัญญัติไว้ หากเข้าข้อยกเว้นมากกว่าสองกรณีขึ้นไป กรณีนี้จำต้องพิจารณาประกอบไปกับความเหมาะสมของเจตนารมณ์ของประโยชน์สาธารณะด้วย (the purpose of the public interest balancing exercise) ประการที่สอง แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์การวินิจฉัยเรื่องประโยชน์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานของรัฐอาจพิจารณาข้อพิจารณาที่เกี่ยวข้อง (relevant considerations) จาก Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information เช่น ความรับรู้ข้อเท็จจริงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เป็นต้น โปรดดู คดี Office of Communications v Information Commissioner, Office of Communications [2009] EWCA Civ 90.
       30. Environmental Information Regulations 2004 Regulation 12 (Exceptions to the duty to disclose environmental information)
       31. Responsibilities for public authorities, See website: http://www.ico.gov.uk/what_we_cover/environmental_information_regulation/your_legal_obligations.aspx
       32. Michales, P., ‘A guide to the Environmental Information Regulations 2004.’ (2004) E.L.M., 16(5), 252-262.
       33. Environmental Information Regulations A Quick Reference Guide Background of the Regulations, See website: http://www.defra.gov.uk/corporate/policy/opengov/eir/pdf/publicity/leaflet-publicauthorities.pdf
       34. Freedom of Information Act 2000 Part II Exempt information
       35. Code of Practice on the discharge of the obligations of public authorities under the Environmental Information Regulations 2004 (SI 2004 No. 3391), Issued under Regulation 16 of the Regulations,
       February 2005, See website: http://www.ico.gov.uk/upload/documents/library/environmental_info_reg/detailed_specialist_guides/environmental_information_regulations_code_of_practice.pdf
       36. Freedom of Information Act 2000 Regulation 16 (Issue of a code of practice and functions of the Commissioner)


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544